แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ
ท่านอธิการบดี ท่านอาจารย์ ข้าราชการและนักศึกษาและผู้ฟังทั้งหลาย วันนี้เรามีรายการสนทนาธรรมในหัวข้อเรื่อง ธรรมะในชีวิตประจำวัน โดยท่านอุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง ขอเรียนเชิญท่านอาจารย์ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
ท่านอธิการบดี เพื่อนอาจารย์และข้าราชการ ที่มีความสนใจในธรรม วันนี้นับว่าเป็นครั้งแรกตั้งแต่ดิฉันจากรามคำแหงไปเป็นเวลา4 ปี ที่ได้มีโอกาสกลับมาที่รามคำแหงอีก แล้วก็การกลับมาในวันนี้ ก็รู้สึกว่าเป็นการกลับมาด้วยความระลึกถึงท่านอธิการ อาจารย์ เพื่อนอาจารย์แล้วก็ข้าราชการที่อยู่ที่นี่ ฉะนั้นจึงมีความยินดีที่เราจะได้มีโอกาสมาสนทนาธรรมกัน ทีนี้หัวข้อของเราบอกว่าเป็นการสนทนาธรรม แต่ก็จะเป็นกลายว่า ดิฉันพูดคนเดียวในตอนแรกนะคะ แต่ในตอนต่อไป หลังจากที่ดิฉันได้พูดจบแล้ว ก็ขอเรียนเชิญทุกๆท่าน ได้โปรดซักถามหรือได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อจะได้ให้สมกับชื่อของรายการวันนี้ว่า เป็นการสนทนาธรรม
01:28หัวข้อที่เลือกจะพูดในวันนี้ก็คือธรรมะในชีวิตประจำวัน ก่อนอื่นก็อยากจะขอพูดก่อน ว่าชีวิตคืออะไร ถ้าหากจะถามทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ว่า ชีวิตคืออะไร เชื่อว่าทุกท่านจะมีคำตอบอยู่ในใจว่าชีวิตคืออะไร แต่คำตอบอันนั้นจะเหมือนกันหรือไม่ นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่เราจะต้องคิดกันนะคะ ถ้าเราไปถามชีวิตของคนแต่ละคน ถ้าถามว่าชีวิตของนักดื่ม เขาจะบอกว่าชีวิตนี้คือการดื่มเหล้า ถ้าไปถามชีวิตของนักการเมือง เขาก็จะบอกว่าชีวิตนี้เพื่อการเมือง ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ถ้าไปถามชีวิตของคนอื่นๆ เหมือนอย่างเช่น ชีวิตในหลายชีวิตของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์นะคะ อย่างเช่นชีวิตของ “เจ้าลอย” ใครที่เคยอ่านเรื่องเจ้าลอย ในเรื่องของหลายชีวิตของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ก็จะต้องบอกว่าชีวิตนี้เป็นกำไร กำไรที่เอาแต่จะเบียดเบียนคนอื่นเท่านั้น โดยไม่คิดว่าคนอื่นจะได้รับความเดือดร้อนหรือความทุกข์จากการกระทำของตนเพียงใด ถ้าไปถามชีวิตของ “ทองโปรย” ในเรื่องหลายชีวิตก็จะบอกว่าชีวิตนี้คือความสมปรารถนาตามความอยากของตัวเอง ความอยากนั้นจะเป็นความเบียดเบียนใครก็ไม่คิดอีกเหมือนกัน ขอแต่ให้สมปรารถนา แล้วเมื่อความสมปรารถนานั้นมันเกินไปจนกว่าจะไขว่คว้าหาได้ ก็เลยไปจบชีวิตของตัวเองที่คุ้มสำเภาด้วยการจมน้ำตายเมื่อเวลาที่เรือล่ม
03:11มีใครคนหนึ่งเขาพูดไว้นานแล้วนะคะ แต่ก็จำไม่ได้ ที่เขาบอกว่า “ชีวิตนี้คือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง” เป็นคำพูดที่มีมานานเต็มที แต่เราจะต่อสู้กับอะไร ใครเคยคิดบ้าง การต่อสู้นี้ต่อสู้กับอะไร เราต่อสู้กับศัตรูที่เราเห็นตัวหรือ เราต่อสู้กับศัตรูที่เราไม่เห็นตัว นอกจากจะไม่เห็นตัวแล้ว ยังไม่รู้อีกด้วยซ้ำไปว่า ศัตรูนั้นคือใครและคืออะไร ศัตรูที่เรากำลังจะต่อสู้ และที่พึงควรจะต่อสู้อย่างที่สุด ก็ควรจะเป็นศัตรูอันมีชื่อว่ากิเลสนั่นเอง แต่ในตอนนี้ เดี๋ยวนี้ จะยังไม่พูดถึงในเรื่องของกิเลสนะคะ แต่อยากจะพูดว่าในทางธรรมะนั้น เมื่อพูดถึงชีวิต ชีวิตคืออะไร ในทางธรรมะ ชีวิตคือ กายกับจิต กายคือร่างกายที่เรามองเห็นอยู่นี้กับ จิตเท่านั้นเอง ชีวิตนี้คือกายกับจิต ไม่ใช่อย่างอื่น กายที่เรามองเห็น แล้วเราก็ยึดถือว่านี่เป็นตัวเรา มีชื่ออย่างนี้ อย่างนี้ มีตำแหน่งหน้าที่การงานอย่างนี้ อย่างนี้ มีรูปร่างหน้าตาสะสวย หล่อเหลา งดงาม อย่างนี้ อย่างนี้ เรายึดถือ เอาเพียงเท่านี้ว่าเป็นเรา แล้วก็จิตที่มีความรู้สึกอยากได้ใคร่ดีเช่นนั้น เช่นนี้ เราก็ยึดเอาว่านี่เป็นเรา นี่คือชีวิตในความหมายของธรรมะคือ กายกับจิตเท่านั้น ทีนี้ถ้าเรามาดูว่า ชีวิตนี้คือกายกับจิต เราจะทำอย่างไรกับชีวิตนี้จึงจะให้ชีวิตนี้เป็นชีวิตที่พัฒนาไปสู่ความที่น่าพึงปรารถนา ไปสู่ความที่น่าพึงปรารถนา คืออะไร ก็คือความพ้นจากความทุกข์ที่มันกัดกร่อนจิตใจของคนเราอยู่ในทุกวันนี้ ฉะนั้น ความหมายของชีวิตที่เราพูดกันในตอนนี้ ก็คือ หมายถึงว่า กายกับจิตที่เป็นต้นเหตุ ทำให้เราต้องวิ่งวน ว่ายเวียนอยู่ในขณะนี้นั้น
05:21ทีนี้ธรรมะคืออะไร ธรรมะคืออะไร ก็อาจจะตีความหมายกันได้หลายอย่าง ในที่นี้ก็อยากจะขอพูดว่า ธรรมะคือความถูกต้องที่เป็นคุณประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่เป็นโทษแก่ฝ่ายใด ธรรมะคือความถูกต้องที่เป็นคุณประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่เป็นโทษแก่ฝ่ายใด ที่ว่าเป็นคุณประโยชน์แก่ทุกฝ่ายไม่เป็นโทษแก่ฝ่ายใด หมายความว่าอย่างไร เช่น เป็นต้นว่า เราจัดการเลี้ยงดูเพื่อนฝูง เพื่อนฝูงอิ่ม แล้วก็ไม่อึดอัด ไม่ถึงกับอิ่มหนำ จนกระทั่งลุกไม่ขึ้น อิ่มแล้วก็ไม่อึดอัด ตัวผู้เลี้ยงก็มีความอิ่มเอิบในการที่ได้เลี้ยง มีความอิ่มเอิบ มีความเบิกบาน เพราะใจไม่ต้องคอยกระวนกระวายว่า เมื่อไรฉันถึงจะมีเงินมาใช้หนี้ในการที่เอาเงินจำนวนนี้ไปขอยืมเขามา แล้วก็มาจัดการเลี้ยง นี่ก็เรียกว่าเป็นคุณประโยชน์แก่ทุกฝ่ายเพราะเหตุว่าผู้รับเลี้ยงก็อิ่ม ไม่อึดอัด ผู้ให้เลี้ยงก็มีความอิ่มเอิบ เบิกบาน
06:28หรืออย่างในการทำงาน เมื่อทำงานไปแล้วงานนั้นเป็นคุณประโยชน์แก่เพื่อนร่วมงาน งานนั้นเป็นคุณประโยชน์แก่ส่วนรวม และผู้กระทำก็มีความสุขในการกระทำนั้น ไม่มีสิ่งใดที่เป็นความทุกข์ที่ต้องให้คิดใคร่ครวญ หรืออย่างเช่นในการเขียนหนังสือ ถ้าหากว่าผู้เขียน อย่างเช่นเราอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน นักเขียนข่าวคอลัมน์คนใด เขียนข่าวขึ้นมาและข่าวนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านเป็นข่าวที่เป็นไปในทางสร้างสรรค์ ผู้เขียนก็สบาย ผู้อ่านก็ได้รับความรู้ โดยผู้เขียนไม่ต้องไปนั่งมีความรู้สึก Guilty ในใจว่าที่เราทำอย่างนี้ถูกต้องไหม ที่เราเขียนอันนี้ใช้ได้ไหม นี่คือความหมายของความถูกต้องในทางธรรม ไม่ใช่ความถูกต้องตามมาตรฐานของฉัน ไม่ใช่ความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของฉัน คือเอาตัวฉันเข้ามาเป็นเกณฑ์ตัดสิน เช่นนั้นไม่ใช่ความถูกต้องอันเป็นธรรมนะคะ
07:31 นอกจากว่าความหมายของธรรมะ จะหมายถึงความถูกต้องที่เป็นคุณประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่เป็นโทษแก่ฝ่ายใดแล้ว เราก็หมายได้อีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมะนั้นคือศิลปะของการดำรงชีวิต ให้พัฒนาตามครรลองของชีวิตแต่ละขั้นตอนของตน ความหมายของธรรมะอีกอันหนึ่ง ก็คือศิลปะของการดำรงชีวิตให้พัฒนาไปตามลำดับของขั้นตอนของชีวิตนั้น ทีนี้พอบอกว่าพัฒนาไปตามลำดับ เราจะเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ ในการที่เราจะบอกว่าตามลำดับ เอาวัยเป็นเกณฑ์ เช่นวัยเด็กเล็ก วัยเด็กโต วัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่ วัยแก่ชรา ได้หรือไม่ มันก็จะไม่มาเป็นมาตรฐาน ที่เราจะเอามาใช้ได้ ฉะนั้นก็ขอเรียนเสนอในที่นี้นะคะว่า ถ้าหากเราจะพูดกันถึงว่าศิลปะธรรมะคือศิลปะในการครองชีวิต ให้พัฒนาไปตามลำดับขั้นตอนของชีวิตแล้ว สิ่งที่เราควรนำมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าจะพัฒนาไปตามลำดับขั้นตอนอย่างไร สิ่งนั้นคือคำว่าหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่อะไรบ้าง เช่น หน้าที่ของความเป็นลูก ที่เราดูหน้าที่ของชีวิตคนเราที่เกิดมา ในชั่วชีวิตหนึ่งนี้จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงหน้าที่ของคำว่าเป็นลูกได้ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของ เป็นลูก เมื่อเป็นลูกในวัยเล็กจะทำหน้าที่อย่างไร เป็นลูกในวัยโตทำหน้าที่อย่างไร เป็นลูกในวัยหนุ่มสาว ในวัยเป็นผู้ใหญ่จะทำหน้าที่อย่างไร ต่อบิดามารดาของตน จึงจะเรียกว่าได้ใช้ศิลปะของการครองชีวิตนั้น เป็นไปอย่างพัฒนา ซึ่งอันนี้เชื่อว่าทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ก็คงจะตอบเองได้นะคะว่า หน้าที่ของลูกในแต่ละวัยนั้นควรจะเป็นอย่างไรต่อบิดามารดาของตน หรือหน้าที่ของศิษย์ที่จะพึงมีต่อครูอาจารย์ เดี๋ยวนี้เราได้ยินกันบ่อยๆ สมัยที่ดิฉันเป็นเด็กไม่เคยมีหรอกที่จะบอกว่า “ลูกศิษย์บังเกิดเกล้า” แต่นี่ก็ได้ยินมาเป็นสิบสิบปีแล้ว สิบปี สิบกว่าปีมาแล้วที่บอกว่าลูกศิษย์บังเกิดเกล้า ไม่ว่าจะในระดับไหน ระดับประถมก็ดี ระดับมัธยมก็ดี ระดับอุดมก็ดี เหมือนกัน มันหมายความว่าอะไรนะคะ
10:08 เพราะฉะนั้นคนคนหนึ่งที่เกิดมา เมื่อเรามีหน้าที่เป็นลูก พอเติบโตต้องไปรับการศึกษา มีหน้าที่เป็นศิษย์ได้ทำหน้าที่ของศิษย์ในฐานะที่ยังเป็นนักเรียน นักศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษานั้นอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่ และเมื่อเติบโตออกไปเป็นผู้ใหญ่ ได้ทำหน้าที่ของตนอันพึงมีต่อครูอาจารย์อย่างถูกต้องสมควรแล้วหรือไม่ ถ้าทำถูกต้องสมควรก็เรียกว่าได้พัฒนาไปอย่างถูกต้อง
นอกจากหน้าที่ของการเป็นลูก เป็นศิษย์ แล้วก็หน้าที่ของการเป็นเพื่อน หน้าที่อันนี้เป็นหน้าที่อันหนึ่ง ที่มนุษย์ทุกคนจะพึงมี ไม่มีใครจะสามารถหลีกเลี่ยงพ้นในหน้าที่ของการเป็นเพื่อน เพราะว่าตั้งแต่ยังเล็กเราก็มีเพื่อนที่บ้าน อย่างเด็กเล็ก ก็มีเพื่อนที่บ้าน โตขึ้นก็มีเพื่อนที่โรงเรียน พอเติบโตขึ้นไปอีก ก็มีเพื่อนฝูงนานาชนิดจากสังคมในกลุ่มที่เราพบ ฉะนั้นจะทำอย่างไร จึงเรียกว่า ธรรมะ คือ ศิลปะของการดำรงชีวิตให้พัฒนาไปตามลำดับขั้นตอนของชีวิตนั้น ก็ถือเอาหน้าที่เป็นเกณฑ์ เช่น หน้าที่ในฐานะเป็นลูก หน้าที่ในฐานะเป็นศิษย์ หน้าที่ในฐานะเป็นเพื่อน หน้าที่ในฐานะเป็นพลเมือง พลเมืองที่ยังเป็นเด็กเล็ก จะมีหน้าที่ต่อชาติบ้านเมืองอย่างไร ต่อสังคมอย่างไร พอโตขึ้นพอเป็นผู้ใหญ่ จะมีหน้าที่เติบโตพัฒนาไปตามลำดับอย่างไร นอกจากนั้นก็จะมีหน้าที่ในฐานะที่เป็นสาวก สาวกที่ดีของพระศาสดา นี่เป็นหน้าที่อีกอันหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นศาสนิกชนของศาสนาใดก็ตาม ทำไมหน้าที่ของการเป็นสาวกจึงควรนำเข้ามากล่าวด้วย เพราะเหตุว่ามันมีความสำคัญตรงที่ว่า ถ้าหากบุคคลใดไม่มีความสำนึกในหน้าที่ของความเป็นสาวกของตนแล้วละก็ บุคคลนั้นกล่าวได้ว่า ขาดที่พึ่งอันถาวรที่มีอยู่ข้างใน เพราะฉะนั้น แม้เจตจำนงในเบื้องต้นจะมีว่าฉันจะทำหน้าที่ของลูกที่ดี ของศิษย์ที่ดี ของเพื่อนที่ดี ของพลเมืองที่ดี แต่เจตจำนงนั้นมันอาจจะคลอนแคลนได้ เพราะความที่ไม่มีที่พึ่งอันถาวร ที่อยู่ข้างในจิตของตนนะคะ ฉะนั้นนี่เป็นเพียงตัวอย่างที่บอกว่า ถ้าเช่นนั้น เราจะใช้อะไรที่จะให้มาเป็นเกณฑ์ในการที่จะพิจารณาว่า ศิลปะในการครองชีวิตให้พัฒนานั้นคืออะไร ก็คือดูในหน้าที่ที่จะพัฒนาไปตามขั้นตอน
ทีนี้ความหมายอีกอันหนึ่งที่อยากจะขอเรียนเสนอในที่นี้เกี่ยวกับธรรมะ ก็คือ ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือธรรมชาติ ท่านผู้ใดได้เคยคิดบ้างว่า ธรรมะคือธรรมชาติ ถ้าหากว่าท่านผู้ใดได้มองเห็นว่าธรรมะคือธรรมชาติ ท่านจะรู้สึกว่าเราอยู่กับธรรมะตลอดเวลา ตลอดเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ ตลอดเวลาที่ลมหายใจเรายังหายใจอยู่ ทุกลมหายใจเข้าออก เราอยู่กับธรรมะตลอดเวลา
13:23ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมชาติที่มันอยู่รอบนอกตัวเราก็ดี หรือธรรมชาติที่อยู่ในตัวเราก็ดี อันนี้คือธรรมะ เพราะอะไร เพราะเหตุว่ามันแสดงให้เราเห็นความเป็นธรรมดาของธรรมชาติอยู่เสมอๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ เรามองดูตัวเราเองนะคะ เรามองเห็นความเป็นธรรมะอันเป็นธรรมชาติในตัวของเราเองบ้างไหม ดิฉันนี่มองเห็นเสมอเลย เดี๋ยวนี้ไม่ได้ส่องกระจก ไม่ได้ส่องกระจกมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่มาอยู่ในสภาวะอย่างนี้ แต่ก็จำได้ว่าเมื่อก่อนนี้เราได้เคยส่องกระจกมา รูปร่างหน้าตาของเราเป็นอย่างไร มันมีสภาพของความแปรเปลี่ยนไปอย่างไร ถ้าหากว่าใครได้เคยถ่ายรูปเอาไว้ ตั้งแต่ยังเล็กๆ นะคะ ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เอารูปที่เล็กที่สุดแล้วก็เติบโตขึ้นมาตามลำดับ จนกระทั่งบัดนี้มาเรียงกันเข้า แล้วก็ลองมองดูจากรูปปัจจุบันต่อไปรูปที่เป็นอดีตนิดหน่อย นิดหน่อย จนถึงอดีตที่ไกลที่สุด มีความเหมือน มีความคงที่หรือไม่ นี่มันคือเป็นธรรมชาติที่แสดงตัวให้เราเห็นอยู่แล้ว
14:33ธรรมชาติของรามคำแหงก็เป็นธรรมะอย่างหนึ่งเหมือนกัน วันนี้เป็นครั้งแรกที่เข้ามา เป็นเวลาร่วม 4 ปี นี้ ก็มองเห็นรามคำแหง ธรรมชาติของรามคำแหงมีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ได้เรียนท่านอธิการว่า บัดนี้รู้สึกว่าพระรูปของพ่อขุนนั้นค่อนข้างจะเล็กกระจิ๋วหลิวไปเสียแล้ว เมื่อดูความพัฒนาของสภาพทั่วๆ ไปรอบรามคำแหง นี่เป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งที่เราจะมองเห็นว่ามันมีความเติบโต แต่ความเติบโตนั้นจะเป็นไปในทางลบหรือทางบวก นี่เป็นอีกกรณีหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม นี่คือธรรมชาติที่เราคลุกคลีอยู่ด้วยทุกลมหายใจ แต่เพราะเหตุว่าเราไม่ชอบมองดูธรรมชาติอันนี้ ยกเว้นว่าธรรมชาติอันนั้น มันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่รู้สึกว่าเป็นไปตามความพอใจของเรา นั่นแหละเราจึงจะอยากมอง แต่ถ้าหากว่าความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาตินั้นเป็นไปในทางอื่นเราจะไม่อยากมอง ก็เลยทำให้เรานี้เป็นคนหลง ไม่สามารถที่จะมองเห็นความเป็นจริงของธรรมชาติได้ ทั้งที่ธรรมชาตินี้เราจะมองดูได้จากตัวเราเอง แล้วก็มองดูได้จากสภาพของธรรมชาติที่ต้นหมากรากไม้ เขียวชอุ่ม ที่เป็นป่าเป็นธรรมชาติที่ผู้คนสร้างขึ้นเราจะมองเห็นถึงความแตกต่างได้เสมอนะคะ นี่ก็พูดสั้นๆ ถึงความหมายของธรรมะ ซึ่งอาจจะพูดกันได้หลายอย่าง ในที่นี้ดิฉันขอเสนอ 3 อย่าง
อย่างที่1 คือ ความถูกต้องอันเป็นคุณแก่ทุกฝ่าย ไม่เป็นโทษแก่ฝ่ายใด
อย่างที่ 2 คือ ศิลปะของการดำรงชีวิตให้พัฒนาไปตามขั้นตอนของชีวิต โดยดูเอาที่หน้าที่เป็นเกณฑ์
แล้วอย่างที่ 3 ธรรมะคือธรรมชาติ คือสิ่งที่เป็นธรรมดา เป็นไปตามธรรมดา ตามหลักหรือตามกำหนดกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
16:28ทีนี้ก็พิจารณาข้อต่อไปว่า แล้วทำไมเราจึงจะต้องมีธรรมะในชีวิตประจำวันด้วย ก็อยู่ดี มีสุข มีข้าวกิน มีบ้านอยู่ มีงานทำมีอะไรๆ ที่ดูจะเป็นหลักประกันในชีวิตแล้ว ทำไมจึงจะต้องมีธรรมะด้วย ก็ขอเสนอคำตอบแต่เพียงสั้นๆ ว่า เพื่อขจัดความห่อเหี่ยว ความแห้งใจ แล้วก็ความตายทั้งเป็น ให้แก่มนุษย์ ฉะนั้นมนุษย์จึงพึงมีธรรมะในชีวิตประจำวันของตนเพื่อที่จะได้พ้นเสียจากความห่อเหี่ยว จะได้พ้นเสียจากความแห้งใจ จะได้พ้นเสียจากความตายทั้งเป็น ท่านอาจารย์ ท่านข้าราชการทั้งหลาย ย่อมเข้าใจในความหมายของคำว่า ห่อเหี่ยว ความหมายของคำว่าความแห้งใจ ความหมายของคำว่า ตายทั้งเป็น ตายทั้งเป็น เรายังเดิน เรายังวิ่ง เรายังทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ เหมือนมนุษย์ทั้งหลายทำ แต่มันมีแต่ซากเท่านั้นที่ทำ ชีวิตจิตใจวิญญาณ มันไม่มีอยู่ มันมีแต่ซากเท่านั้นที่ทำ และในมนุษย์ทุกวันนี้ที่เราพบ ไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทย ไม่ใช่เฉพาะแต่ในสังคมเมืองไทย จะเป็นสังคมในโลกตะวันตก ตะวันออก หรือจะเป็น เหนือ ใต้ ก็จะมีอันนี้อยู่เสมอ ที่เราจะมองเห็นคนตายทั้งเป็นเดินเพ่นพ่านไปมา แม้แต่ในสังคมของรามคำแหง ใครจะกล้าปฏิเสธว่า ไม่มีคนที่เต็มไปด้วย จิตใจที่ห่อเหี่ยว เต็มไปด้วยความแห้งใจ แล้วก็เป็นคนตายทั้งเป็น ที่ยังคงเดินเกลื่อนกราด และถ้าหากว่าในสังคมใดประกอบไปด้วย คนที่มีคุณลักษณะเช่นนี้ ไม่ใช่คุณลักษณะ ขอโทษนะคะ ต้องใช้คำว่า “โทษลักษณะ” ประกอบด้วยโทษลักษณะเช่นนี้แล้ว สังคมนั้นจะพัฒนาไปได้อย่างไร จะเจริญไปได้อย่างไร แน่นอนที่สุดจะต้องเป็นสังคมที่เน่า โทรม ทรุด เหี่ยวแห้ง แล้วก็ตายไปในที่สุด อันนี้แหละ ธรรมะจึงเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนเรา เพื่อที่จะให้พ้นเสียซึ่งความห่อเหี่ยว ความแห้งใจและความตายทั้งเป็น และจะจาระไนออกไปเป็นรายละเอียดอะไรอีก ก็ยังมีอีกมากนะคะ ทีนี้ธรรมะในชีวิตประจำวันที่ควรรู้จักคืออะไร มีมากเพราะท่านทั้งหลายก็ได้ยินแล้วว่าในพระไตรปิฎกนั้นมีข้อพระธรรมถึง 84,000 พระธรรมขันธ์
19:07ดิฉันขอเสนอสั้นๆ เพียงประโยคเดียวว่า ธรรมะในชีวิตประจำวันที่ควรรู้จัก ก็คือการรู้จักลดกิเลส และเพิ่มโพธิ การรู้จักลดกิเลสและเพิ่มโพธิ เท่านี้เอง ถ้าใครสามารถลดกิเลสได้ และเพิ่มโพธิให้แก่จิตของตนได้ทุกขณะ คนผู้นั้นย่อมจะต้องเต็มไปด้วยความอิ่มเอิบ เบิกบาน แจ่มใส และเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งกายและจิต ลดกิเลสคืออย่างไร กิเลสคืออะไร
เราพูดกันอย่างง่ายๆ ว่ากิเลสคือสิ่งที่ มันสกปรก สิ่งที่มันมาทำให้จิตที่สะอาดที่ปกตินี้เป็นจิตที่เศร้าหมอง เศร้าหมอง ขุ่นมัว ขัดเคือง สารพัด นี่คือกิเลส อย่างที่เราได้ยินอย่างธรรมดาๆ ที่ฟังกันมาแล้วนะคะ ว่ากิเลสนั้นคือ ราคะ โทสะ โมหะ ราคะ หรือโลภะ คือความอยากได้ ความชอบใจ ความถูกใจ แล้วก็อยากได้ และอยากจะดึงเข้ามาไว้เป็นของเรา นี่คือสภาพหรือสภาวะ ของโลภะ ราคะ ถ้าเป็นโทสะ ความโกรธ ความเกลียดชัง อยากจะทำลาย อยากจะผลักมันออกไป อย่าเข้ามาใกล้ฉัน นี่คือสภาพของโทสะ มันเป็นอย่างนี้ ของกิเลสที่เรียกว่าโทสะ แต่ถ้าเป็นโมหะ มันคือความหลง แล้วก็ วนเวียน วนเวียนอยู่ที่นั่น ถ้าหากว่า เมื่อใด ท่านผู้ใด มีความรู้สึกว่า จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน แม้แต่จะหลับแล้วตื่นขึ้นมาก็ตาม ในจิตมันหมกมุ่นอยู่แต่ความคิดเรื่องเดียว ผลักมันเท่าไรก็ผลักไม่ออก ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับมันถึงจะแก้ไขได้ มันวนเวียนอยู่กับเรื่องนี้ จะเอาหรือไม่เอา จะใช้ได้หรือไม่ใช้ได้ จะทิ้งมันเสียหรือจะเอามันมาปรับปรุงใหม่ วนเวียนอยู่นั่น ขอได้โปรดทราบว่า ในขณะนั้น จิตอยู่ในสภาพของโมหะ คือความหลง งมงายที่ไม่รู้จริงว่ามันคืออะไร จึงไม่สามารถจะตัดสินใจได้ นี่คือสภาพของกิเลส ที่มันทำให้จิตใจของเรานั้นระส่ำระสาย กระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา เราจึงสมควรที่จะลดความมีกิเลสต่างๆ เหล่านี้ให้ลดลง นั่นก็คือ ลดสภาพของราคะ โลภะ โทสะและ โมหะให้มันลดลง ถ้าเราลดลงได้มากเท่าไรก็เท่ากับว่าในขณะนั้นได้มีการเพิ่มโพธิให้แก่จิต โพธิ ก็คือ หมายถึงปัญญา อย่างที่เราได้ยินในประวัติของพระพุทธองค์ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ใต้ต้นโพธิ์ แต่หลายท่านก็คงจะทราบว่า การที่เรากล่าวว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ใต้ต้นโพธิ์นั้น หาได้หมายความว่า ต้นไม้ต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น ชื่อว่าต้นโพธิ์ไม่ มันจะชื่อต้นตั้งหลายต้น พระพุทธเจ้ามีมาหลายพระองค์ที่ได้ตรัสรู้ ต้นไม้ต้นใดก็ตาม ที่พระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง คือหมายความว่า บุคคลคนหนึ่งที่กำลังแสวงหาหนทางที่จะตรัสรู้ ที่จะค้นพบให้พบสัจธรรมอันแท้จริง แล้วก็ไปตรัสรู้ที่ใต้ต้นไม้ต้นนั้น ต้นไม้ต้นนั้นจะได้ชื่อว่าต้นโพธิ์ เพราะเป็นต้นไม้แห่งปัญญา ผู้ที่จะตรัสรู้ หรือจะเห็นความจริงได้นั้นหมายความว่า ด้วยปัญญาข้างใน ฉะนั้นการที่บอกว่าเพิ่มโพธิก็คือเพิ่มปัญญา ให้จิตมีปัญญาที่จะมองเห็นความเป็นจริงของธรรมชาติ เพื่ออะไร เพื่อที่ได้ผ่อนคลายความรู้สึกที่จะยึดมั่นถือมั่น แล้วก็เอาเช่นนั้น เช่นนี้ ให้เป็นไปตามใจ เมื่อไม่ได้อย่างใจก็เป็นทุกข์ให้มันลดลง
23:01ทีนี้เราก็มามองดูนะคะว่า สิ่งที่จะต้องลดนั้น มันควรจะมีอะไรบ้าง ก็ดูว่าสิ่งอะไรละที่เป็นเหตุให้เป็นความทุกข์ สิ่งอะไรที่เป็นเหตุให้มีความทุกข์ เราก็ควรจะลดสิ่งนั้น ให้มันมีปริมาณน้อยลงๆ ๆ จนกระทั่งมันหมดไปได้ก็ยิ่งดีนะคะ ก็ขอให้ลองนึกดูว่า ในขณะที่นั่งอยู่ในห้องนี้จะมีท่านผู้ใดบ้างที่จิตใจไม่ได้อยู่ในห้องนี้ จิตใจอาจจะไปที่บ้าน อาจจะนึกถึงลูก อาจจะนึกถึงปัญหาในทางครอบครัว อาจจะนึกถึงปัญหาในทางการงานแล้วจิตนั้นก็คิด ปรุง ฟุ้งซ่าน ไปตามความคิดที่จูงไป ทั้งๆ ที่ห้องนี้เป็นห้องที่มีบรรยากาศ สบาย อากาศเย็น เรียกว่าสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไปควรจะชวนให้จิตใจของเราสบาย แต่จิตใจไม่ได้เป็นเช่นนั้น อย่างนี้ในทางธรรมท่านเรียกว่า “การปรุงแต่ง” ซึ่งเราปรุงแต่งกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราปรุงอาหารในครัว ออกมาอร่อย เป็นประโยชน์แก่คนทั้งหลาย แต่ถ้าเราปรุงแต่งความคิดขึ้นมา มันเป็นโทษอย่างยิ่งอย่างบางคนนั่งอยู่แล้วนึกถึงที่บ้าน แล้วก็นึกถึงเป็นห่วงว่า เอ๊ะ นี่คุณแม่อยู่ที่บ้าน เมื่อเช้าเห็นบ่นว่าไม่ค่อยจะแข็งแรง ป่านนี้เดินไปเดินมา อาจจะหกล้ม ตายจริงจะมีใครไปพาโรงพยาบาลรึเปล่า ฉันอยู่ไม่ได้แล้ว ฉันต้องไปก่อน ขับรถรีบวิ่งกลับไปดู ขับรถไปดูที่บ้าน คุณแม่ก็อยู่เรียบร้อย ไม่ได้เป็นอะไร ไม่ได้เจ็บป่วยอะไรเลย นี่อะไรล่ะที่พาให้เราวิ่งโลดเต้นไปถึงขนาดนั้น นี่เพราะความปรุงแต่งใช่หรือไม่
หรือทำงานไป จะมีโอกาสได้ 2 ขั้นไหมนะ ฉันก็ตั้งใจว่าฉันทำงานดี แล้วอันที่จริงมันก็เรียกว่า เป็นการ take turn คือหมุนเวียนกันมา มันควรต้องบรรจบครบรอบฉันแล้ว ฉันจะต้องได้ 2 ขั้น นี่ถ้าหากว่าฉันไม่ได้ 2 ขั้นนะ ก็เพราะผู้อำนวยการใช้ไม่ได้ คนคนนี้เป็นคนเห็นแก่ตัว เป็นคนเอาแต่พรรคพวกของตัว ฉันเห็นจะต้องไปหาพวกบ้างละ และฉันก็จะไม่ยอมอยู่ใต้ผู้อำนวยการคนนี้อีกต่อไป ก็ลุกขึ้นไปวิ่งชักชวน คนนั้น คนนี้ มาเป็นพวก ชี้แจงความไม่ดีของผู้อำนวยการ ทั้งๆ ที่ผู้อำนวยการยังไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วเมื่อปรากฏผลออกมาของการพิจาณาเงินเดือน เราก็ได้ 2 ขั้นตามที่เราควรจะได้ แต่อันที่จริงแล้วอยากจะวงเล็บว่าไม่ควรได้ ไม่ควรให้เลย เพราะว่าจากพฤติกรรมที่กระทำต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้ส่งเสริมให้กิจกรรมนั้นเป็นการกระทำที่ดีขึ้น นี่คืออะไร นี่คือความปรุงแต่ง จิตของคนเรานี่นะคะ มันอยู่เฉยๆ มันไม่ได้ทำอะไร แต่โมหะมันทำให้คนเรานี่ปรุงแต่ง คิดไปสารพัดต่างๆ นานา ในภาษาธรรมะท่านเรียกว่า สังขาร
25:54สังขารคือการปรุงแต่ง สังขารมีความหมายได้ 2 อย่าง อย่างหนึ่งคือ หมายถึง ร่างกาย ร่างกายของเราอย่างนี้ เราก็เรียกว่า สังขาร แล้วอีกอย่างหนึ่ง สังขารคือหมายถึง การปรุงแต่ง จิตที่คิดไปต่างๆ นานา คิดเพ้อฝัน สร้างวิมานใหญ่โตก็มี หรือว่าคิดปรุงไปต่างๆ ว่าเราอยู่ในโลกมนุษย์นี้ แต่แท้จริงกำลังตกหล่นลงไปอยู่ในนรก อย่างนี้ก็มี ซึ่งการคิดปรุงแต่งเช่นนี้ได้ทำให้คนเป็นบ้าไปมากแล้ว ใช่หรือไม่ใช่ ถ้าหากว่าเราได้มองเห็นว่ามันทำให้คนเป็นบ้าไปมากแล้ว เพราะการปรุงแต่ง สร้างทุกข์ให้แก่ตัวเอง ทั้งที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีปัจจัยเลยสักอย่างเดียว นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะลด หรือควรจะบั่นทอนลงไป บางทีอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ ในความปรุงแต่งที่ยกตัวอย่างเมื่อกี้นี้นะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของผู้ที่กำลังคิดว่าเราจะได้ 2 ขั้น นี้ เราจะมองเห็นว่า มีสิ่งหนึ่งที่มันแฝงอยู่ในใจของเขา เขาก็รู้ว่าเขาจะได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคิดไปว่า กลัวไม่ได้ นี่อะไรคือสาเหตุ สาเหตุก็คือ ความสงสัย ความลังเล ความสงสัย ความไม่แน่ใจ ซึ่งในภาษาธรรมะท่านเรียกว่านิวรณ์
ถ้าเราจะเปรียบกิเลสเหมือนไฟ เราก็เปรียบนิวรณ์ได้เหมือนควัน ควันนี่ มันไม่ไหม้ใครให้ดำเป็นตอตะโก สิ้นใจตายไปหรอก แต่ควันนี่มันทำความรำคาญใช่ไหมคะ ใครที่เคยไปนั่งใกล้กองไฟ ไกลๆ แล้วลมพัดควันมาทางเรา มันทำความรำคาญให้กับเรา เพราะฉะนั้น นิวรณ์นี่ท่านจึงเปรียบเหมือนกับควัน ฟังดูเหมือนกับว่าไม่น่ากลัว แต่แท้ที่จริงแล้วมันร้ายมาก เพราะอะไร เพราะไฟนี้ พอเราเห็นว่าเป็นไฟ แล้วฉลาดพอก็อาจจะหลีกเลี่ยง ไม่เข้าหาไฟ แต่ควันนี่มันไม่ชัดแจ้งเหมือนอย่างไฟ มันอาจจะรมเรา จนกระทั่งให้จิตใจ...