แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บ่ายนี้ก็จะพูดถึงอริยสัจข้อสุดท้าย คือที่เรียกสั้นๆ ว่า “มรรค” แต่ถ้าเรียกให้เต็มก็จะเรียกว่า “ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ” เหมือนอย่างที่เขียนไว้ให้ดูบนกระดานนะคะ ทุกฺข แล้วก็ นิโรธ นั่นเอง แต่อ่านว่า ทุก-ขะ-นิ-โร-ทะ-คา-มิ-นี-ปะ-ติ-ปะ-ทา-อะ-ริ-ยะ-สัด นี่เป็นคำเต็มถ้าจะเรียก ถ้าจะเรียกสำหรับความจริงหรือว่าสัจจะข้อที่ ๔
ที่ท่านเรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ก็ลองแยกความหมายของคำดูนะคะ คำแรกที่ควรพิจารณาก็คือคำว่า “ปฏิปทา” ที่เราพูดกันอยู่เรื่อย เราต้องมีปฏิปทาในการทำอย่างนั้น ถ้าแปลอย่างทั่วๆ ไปหรืออย่างที่เรียกว่าแบบชาวบ้าน ปฏิปทาก็แปลว่าการเดินทาง คือมักจะหมายถึงว่าต้องมีการเดินทาง หรือแปลว่าการเดินทาง แต่ถ้าหากว่าความหมายของปฏิปทาในทางธรรมท่านหมายถึงการปฏิบัติ ให้มีปฏิปทาให้มากหน่อยสิ ก็คือมีความเข้มข้น มีความตั้งใจพากเพียรในการปฏิบัติหน่อย นั่นคือความหมายของปฏิปทา ทีนี้ความหมายของ “คามินี” คามินีหมายความว่าเป็นเครื่องให้ถึง เป็นเครื่องให้ถึงก็คือการปฏิบัติอย่างนี้จะเป็นเครื่องให้ถึง ถึงอะไร ก็คือถึงทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธก็คือถึงความจริงอันเป็นเครื่องดับทุกข์ ถึงความจริงอันเป็นเครื่องดับทุกข์ได้ถ้าปฏิบัติตามหนทางเช่นนี้นะคะ แล้วก็ความหมายของคำว่าความจริงก็คือต้องการจะเน้นให้เข้าใจว่า เมื่อเราพูดถึงความจริง ความจริงนี้มีอยู่ในทุกสิ่ง และทุกสิ่งในที่นี้ก็คือมีอยู่ในความทุกข์ คือสิ่งที่เราเรียกว่าทุกข์ ก็มีความจริงอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ อย่างที่เราได้พูดกันมาแล้วเมื่อพูดถึงทุกขสัจ และความจริงนี้ก็มีในเหตุให้เกิดทุกข์ในสมุทยสัจ และความจริงนี้ก็มีในความดับทุกข์คือนิโรธที่ได้พูดแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงความจริงก็คือ ถ้าปฏิบัติตามหนทางนี้ก็จะเป็นเครื่องให้ถึงความจริง คือสามารถจะเห็นความจริงที่มีอยู่ในทุกข์ เห็นความจริงที่มีอยู่ในเหตุให้เกิดทุกข์ และก็เห็นความจริงที่มีอยู่ในความดับทุกข์ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติก็ต้องพยายามที่จะให้เข้าถึงตัวจริงหรือตัวความจริงโดยการปฏิบัติหรือโดยปฏิปทา คือโดยการปฏิบัติ ไม่มีหนทางอื่น ไม่มีวิธีอื่น มีวิธีเดียวคือต้องโดยการปฏิบัติ
ฉะนั้นความสำคัญของความจริงที่เรากำลังกล่าวถึงนี้นะคะ ความสำคัญของความจริงในบรรดาความจริงทั้งหลายที่ถือว่าเป็นความจริงที่มีประโยชน์ที่สุดนะคะ นั่นก็คือความจริงที่เป็นอริยสัจ ที่เป็นยอดของความจริงทั้งหลายคือความจริงที่เป็นอริยสัจ ทำไมถึงว่าเป็นความจริงที่มีประโยชน์ที่สุด ก็เพราะว่าเมื่อผู้ใดรู้ความจริงอันประเสริฐนี้แล้ว ผู้นั้นจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากข้าศึก ไม่ต้องถูกทิ่มแทงด้วยข้าศึกให้เจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นความจริงอันประเสริฐ ฉะนั้นการที่จะมาศึกษาเรื่องของมรรค คือ ม-รร-ค ก็คือการมาศึกษาเพื่อให้รู้จักเรื่องการเดินทางของชีวิต การศึกษาเรื่องมรรคก็มารู้จักเรื่องการเดินทางของชีวิต มนุษย์ส่วนมากพอพูดว่าชีวิตคือการเดินทางก็เข้าใจ แต่ก็มักจะเข้าใจเพียงการเดินทางของร่างกายที่เปลี่ยนสถานที่จากเหนือไปใต้ จากที่ถนนเข้าบ้าน จากที่บ้านไปที่ทำงาน รู้แต่ว่าการเดินทางของทางกายหรือของรูปกาย มักจะรู้เพียงเท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอ แล้วก็เป็นการรู้ที่ไม่เกิดประโยชน์มากมายอะไรนัก แต่สิ่งที่ชีวิตควรจะรู้จักในเรื่องของการเดินทาง ก็คือต้องรู้ว่าชีวิตนี้ที่ประกอบด้วยกายจิต สิ่งที่เดินทางมาก เดินทางเร็ว เร็วเสียยิ่งกว่าสายฟ้าแลบอีก สิ่งนั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่าจิต คือการเดินทางภายใน ที่เกิดขึ้นภายใน มันรวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ ตามไม่ทันเลย เพราะฉะนั้นชีวิตเดินทางหรือชีวิตคือการเดินทางที่สำคัญก็คือการเดินทางที่ต้องรู้จักการเดินทางข้างใน หรือที่เรียกว่าการเดินทางด้วยจิต จะต้องรู้จักให้ดี ถ้ารู้จักดีแล้วก็จะสามารถสร้างทางชีวิตให้ถูกต้องได้ นั่นก็คือต้องรู้จักเรื่องของความทุกข์ ว่าทุกข์เกิดเพราะชีวิตภายใน หรือจิตเดินทางอยู่เรื่อยไม่ยอมหยุดเลย เดินทางด้วยความคิดด้วยความรู้สึก ด้วยตัณหาด้วยความอยาก อย่างที่เราพูดกันมามากมายแล้ว นั่นคือการเดินทางที่ไม่มีหยุดนิ่ง แล้วภายในก็ถูกกระตุกๆๆๆ อยู่เรื่อยตลอดเวลา ถูกกระตุกขาอยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นอันที่สงบนิ่งได้ ฉะนั้นจึงต้องรู้เรื่องของทุกข์ คือการเดินทาง ลักษณะอาการของทุกข์ และก็เหตุที่ให้เกิดทุกข์ และก็ความดับทุกข์ ท่านบอกว่าถ้าไม่มีการเดินทางแล้ว คือถ้าไม่มีปฏิปทา คือไม่มีการปฏิบัติแล้วทางจะมีไม่ได้ ทางจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีการปฏิบัติ ซึ่งต่างกันใช่ไหมคะ ต่างกันกับการเดินทางข้างนอก
การเดินทางด้วยร่างกายนี้เมื่อเห็นทางที่ใครเขาสร้างไว้ จะเป็นถนนใหญ่ จะเป็นถนนซอย จะเล็กจะน้อย เขามีอยู่แล้วก็เดินไป หรือไม่มีอะไรเดินแม้จะเป็นป่า ก็พยายามเอามีดเอาพร้าตัดทางเดินไป แล้วร่างกายนี้ก็พอจะผ่านไปได้ และส่วนมากมนุษย์ก็มักจะอาศัยทางที่คนอื่นเขาทำไว้แล้ว เพราะง่ายสะดวก แต่สำหรับการเดินทางข้างในหรือการที่จะศึกษาหาวิธีการเดินทางข้างในนั้น จำเป็นที่จะต้องเดินด้วยปฏิปทา คือด้วยการปฏิบัติ ถ้าไม่มีการปฏิบัติทางของชีวิตอันประเสริฐนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย จะไม่มี หาไม่ได้นะคะ ฉะนั้นผู้ใดที่จะมานั่งอยู่เฉยๆ แล้วก็บอกให้ทางมันเกิดแล้วฉันก็จะเดิน ไม่มีวันเกิด สำหรับทางข้างในนะคะจะไม่มีวันเกิด ถ้าจะเกิดก็จะเกิดแต่ทางถลำ ถลำพรวดไปทางโน้น ถลำพรวดไปทางนี้ พรวดไปทางไหนก็ร้อนเหมือนถูกไฟลวก ถึงแม้บางทีจะบอกว่าไม่ใช่ไฟเพราะว่าเย็น แต่ก็เป็นไฟเย็น เป็นน้ำแข็งแห้ง ซึ่งจะลวกให้สะบักสะบอม ให้ปวดเจ็บ ให้เผาไหม้เพียงใดก็ทำได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้น มรรค หรือการเดินทางที่ถูกต้องนั้น ท่านบอกว่าต้องรู้จักเดินทางอย่างอยู่เหนือความเป็นคู่ อย่างอยู่เหนือความเป็นคู่หรืออยู่เหนือสิ่งที่เป็นคู่ การที่จะอยู่เหนือสิ่งที่เป็นคู่หรือความเป็นคู่นั้น ก็หมายความว่าต้องเดินให้อยู่เหนือสิ่งที่คนในโลกเขายึดมั่นถือมั่นกัน ว่าเป็นบวกว่าเป็นลบ ว่าเป็นดีว่าเป็นชั่ว ว่าเป็นสุขว่าเป็นทุกข์ ซึ่งจะแยกออกเป็นสองทางเป็นคู่กัน ที่เราจะจับคู่กันได้ ที่มองเห็นในทางธรรมที่ท่านสรุปออกมาก็คือโลกธรรม ๘ ที่แยกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่น่าพอใจ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข คือพอมีลาภ มีทรัพย์สินเงินทอง ก็พอใจ ยศ ตำแหน่ง ศักดิ์ศรี พอใจ เป็นสุข ลาภ ยศ สรรเสริญ เมื่อมีทั้งลาภ มีทั้งยศ คำสรรเสริญยกย่องก็ตามมา จะจริงหรือไม่จริงก็เกิดขึ้น แล้วก็เมื่อได้ยินเสียงสรรเสริญเยินยอบ่อยๆ ลาภก็มี ยศก็มี ความสุขก็เกิดขึ้นในใจ ความสุขตามความยึดมั่นถือมั่น ตามสมมติสัจจะก็เกิดขึ้นในใจ นี่เรียกว่าสุขอยู่กับฝ่ายที่ยินดีพอใจตามที่ใจได้
แต่ขณะใดที่ความรู้สึกอีกด้านหนึ่งเกิดขึ้น เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็บอกว่านี่เป็นทางลบ เป็นสิ่งที่ไม่ต้องการ แต่จะต้องการหรือไม่ต้องการถ้าจิตของมนุษย์ยึดอยู่กับทางใดทางหนึ่ง คือจะเป็นบวกหรือเป็นลบ จะต้องได้ทั้งสองทางเสมอ ทำไมถึงจะต้องได้ทั้งสองทาง คือประเดี๋ยวบวกประเดี๋ยวลบ ประเดี๋ยวสุขประเดี๋ยวทุกข์ ก็เพราะกฎของธรรมชาติบอกอยู่แล้วว่าไม่มีสิ่งใดเที่ยงนะคะ ไม่มีสิ่งใดคงที่ เกิดแล้วก็ดับ ทนได้ยาก ทุกสิ่งล้วนไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยเสมอ นี่เป็นกฎธรรมชาติที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นถ้าหากว่าผู้ใดปล่อยให้จิตยึดอยู่ในสิ่งคู่ ไม่ว่าดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด บวกหรือลบ การเดินทางด้านในที่ถูกต้องที่ต้องฝึกฝนก็คือ การพยายามที่จะยกจิตหรือว่าขัดเกลาสิ่งที่จะมาดึงจิตให้ตกไปอยู่ในสิ่งคู่ เดี๋ยวก็เหวี่ยงไปซ้ายเดี๋ยวก็กระแทกไปขวาอย่างนี้เรื่อยๆ ดึงมันกลับมาให้มาอยู่ตรงกลาง ให้มาอยู่ตรงกลางเพื่อไม่ติดในบวกหรือไม่ติดในลบ ไม่ติดในสิ่งที่พอใจ ไม่ติดในสิ่งที่ไม่พอใจ โดยศึกษาในเรื่องของธรรมสัจจะจนสามารถมองเห็นว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง” อย่างที่เราว่าแล้ว และเมื่อสามารถทำได้มากจิตนี้ก็จะอยู่เหนือสิ่งที่เป็นคู่ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่ากี่คู่ก็ตามจะอยู่เหนือหมด และจะสามารถมองเห็นว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง” ถ้าจิตของผู้ใดสามารถพัฒนาฝึกฝนอบรมจนอยู่เหนือสิ่งคู่ จิตนั้นก็เรียกว่าดำรงอยู่ในหนทางแห่งมัชฌิมาปฏิปทา คือการปฏิบัติที่อยู่ในหนทางสายกลาง และเมื่อนั้นเมื่อทำได้ถึงขนาดนั้น มรรคที่เป็นธรรมดา คือมรรคเป็นทางเดินธรรมดาก็จะเป็น “อริยมรรค” คือเป็นหนทางอันประเสริฐ ประเสริฐเพราะช่วยให้สามารถมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างเหนือโลก เหนือโลกก็ไม่ต้องลอยบินไปไหนนะคะ ก็ยังคงเดินเหินตามถนนหนทางอยู่นี่ ทำงานทำการอยู่นี่ แต่ข้างในไม่เอา ไม่เอาอะไร ไม่เอาตามตัณหา ไม่เอาตามอุปาทาน ไม่อุปาทาน ไม่ยึดมั่น ไม่ต้องการ ไม่อยาก เพราะรู้เสียแล้วว่าดีก็เท่านั้นชั่วก็เท่านั้น อันเดียวกัน เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย ก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่จะรักษาใจให้อยู่กับความสงบ อยู่กับความนิ่งสนิท ด้วยความรู้เท่าทัน รู้เท่าทันมายาของกิเลส รู้เท่าทันมายาของตัณหา รู้เท่าทันมายาของอุปาทาน และก็รู้เท่าทันของความดีความชั่ว ความสุขความทุกข์ กำไรขาดทุน ซึ่งเชื่อว่าบรรดานักปั่นหุ้นนักเล่นหุ้นนะคะ ถ้ารู้จักมัชฌิมาปฏิปทาเสียหน่อยเท่านั้น ไม่ต้องขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวนาทีนี้นรก ชั่วโมงหน้าสวรรค์ เดี๋ยวจากสวรรค์ก็เปลี่ยนเป็นนรก ขึ้นลงๆๆ เพราะความยึดมั่นถือมั่น