แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฉะนั้นก็หันมาดูถึงเรื่องของอริยสัจข้อที่ 1 คือ ทุกขสัจ หรือความจริงเกี่ยวกับเรื่องของความทุกข์ ความจริงอันประเสริฐเกี่ยวกับเรื่องของความทุกข์ ความจริงอันประเสริฐเกี่ยวกับเรื่องของความทุกข์ ความทุกข์นี้ถ้าจะแปลตามพยัญชนะ คือ คำว่าทุกข์ ถ้าแปลตามพยัญชนะก็แปลว่า “ทนยาก ดูแล้วน่าเกลียด” ทนยาก ดูแล้วน่าเกลียด เหมือนอย่างต้นไทรที่อยู่ข้างหน้า ถ้าเรามองดูลำต้น ทนยากของต้นไทรแต่เป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมดา ก้อนหินที่เก่าคร่ำคร่า นี่ก็แสดงถึงสภาวะของความหมายของคำว่าทุกข์ คือ ทนได้ยาก ดูแล้วน่าเกลียด หรือจะเอาง่ายๆ ดูคนแก่ นึกถึงคุณย่า คุณยาย หรือว่าไปเที่ยวบ้านคนชรา อายุ 70-80 จะหาผิวพรรณเกลี้ยงเกลาเปล่งปลั่ง..ไม่มี มีแต่เหี่ยวย่นเป็นริ้วเป็นรอย ดวงตาที่เคยใสเหมือนดวงดาวก็กลายเป็นตาน้ำข้าว มองก็ไม่ค่อยจะเห็นอะไร นั่นแหละคือสภาวะของทุกขัง หรือสภาวะของทุกข์ที่แปลตามพยัญชนะว่า มันทนยาก มันดูแล้วน่าเกลียด ถ้าหากว่าผู้ใดดูอย่างชนิดที่รู้ในปรมัตถสัจจะก็จะเห็นว่านี่เป็นธรรมดา มันเป็นธรรมดาตามเหตุตามปัจจัยอย่างนั้นเอง แต่ถ้าผู้ใดยังไม่สามารถจะมองถึงความเป็นจริงตามธรรมชาติให้ซึ้งลงไปถึงของจริงได้ ทุกข์ที่แปลว่าทนได้ยากหรือดูแล้วน่าเกลียด มันก็จะนำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดทรมาน เจ้าตัวสิ่งนั้นเองอย่างคนแก่ คนแก่หลายคนที่เห็นบางทีแล้วน่าสงสาร น่าสงสารเพราะอะไร เพราะพยายามทำเป็นหนุ่มเป็นสาวยิ่งกว่าคนหนุ่มๆสาวๆเสียอีกเพราะกลัวเขาจะว่าแก่ กลัวเขาจะว่าแก่ ว่าทนได้ยาก น่าเกลียด คงเคยพบใช่ไหมคะ นั่นแหละเพราะในใจมีความรู้สึกเจ็บปวดทรมานถ้าหากว่าจะต้องแก่แล้วก็เหี่ยว ย่น ยับ ดูไม่ได้
เพราะฉะนั้นความหมายของทุกข์ก็คือทนยาก ดูแล้วน่าเกลียด นี่เป็นความหมายของทุกข์ตามตัวหนังสือนะคะ แต่ความหมายของทุกข์ในอริยสัจนั้นก็หมายถึงเจ็บปวด ทรมาน น่าเกลียด แล้วก็เป็นความว่างจากสารประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น นี่คือลักษณะของความทุกข์หรือความหมายของคำว่าทุกข์ มันเจ็บปวด ทรมาน มันเป็นสิ่งที่น่าเกลียด น่าเกลียดทั้งรูปธรรมแล้วก็น่าเกลียดทั้งความรู้สึกที่เป็นนามธรรม เพราะมันเจ็บปวดมันจึงน่าเกลียด มันไม่น่ารักน่าชม มันไม่มีความชื่นชมเบิกบาน มันจึงน่าเกลียด นอกจากน่าเกลียด มันยังเป็นความว่างจากสารประโยชน์ใดๆ ความว่างอันนี้ก็เหมือนกับความว่างที่เบาที่มันโหวง โหวงอยู่ในอกเพราะมันรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรเป็นที่หมาย ไม่มีอะไรที่เป็นหลักเลย ไม่ใช่ความว่างของจิตที่ว่างเพราะปฏิบัติจนเกิดนิพพิทา เกิดนิราคะแล้วก็ถึงนิโรธจึงว่างสนิท ไม่ใช่ว่างอย่างนั้น ว่างคนละอย่าง ว่างอย่างนั้นเป็นความว่างที่พร้อมไปด้วยสติ สมาธิปัญญา..กิเลส ตัณหา อุปาทานไม่เข้ามารบกวน แต่ว่างของทุกข์นี่เป็นความว่างที่รู้สึกเปล่าเปลี่ยว โดดเดี่ยว วังเวง มันโหวงอยู่ในหัวอก ไม่มีอะไรเลยจะยึดจะเกาะ ไม่มีอะไรเป็นที่หมาย ไม่มีอะไรเป็นหลัก นี่คือความหมายอย่างนี้นะคะ นี่คือความหมายของทุกข์ในอริยสัจ
ทีนี้อาการของความทุกข์มันมีจากอะไรบ้าง ก็เช่นความทุกข์ อาการของความทุกข์ที่เป็นไปตามธรรมชาติ อันที่จริงธรรมชาติไม่ได้บอกว่าเป็นทุกข์แต่จิตของมนุษย์ยึดเอาว่าเป็นทุกข์ ก็คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกร่ำไรรำพันต่างๆ เหมือนอย่างที่สวดมนต์ในบททำวัตรเช้า นั่นคือความทุกข์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ พอแก่ก็รู้สึกทุกข์ เจ็บก็รู้สึกทุกข์ ตายก็รู้สึกทุกข์ ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนไม่มีผู้ใดจะหลีกพ้นไปได้ แต่เมื่อใดที่เกิดกับตัวเอง หรือผู้เป็นที่รักที่ใกล้ชิดก็จะมีความระทม เจ็บปวด ขมขี่น แล้วก็เห็นมันเป็นสิ่งที่น่าเกลียด แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นความว่างที่ปราศจากสารประโยชน์
นอกจากนี้อาการของความทุกข์อีกอย่างหนึ่งก็คือ อาการของความทุกข์ที่เกิดขึ้นตามอำนาจของกิเลส ถ้าอย่างตามในบทสวดมนต์ก็บอกว่า ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ นี่คืออาการของความทุกข์ที่เป็นไปตามกิเลส กิเลสของความโลภ ความโกรธ ความหลง มันก็เลยทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้น พอประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจก็เป็นทุกข์ เจ็บปวด ขมขื่น ทรมาน ต้องพลัดพรากก็เจ็บปวดขมขื่น ทรมาน มีความโหยหาอาลัย มีความเปลี่ยวเปล่าวังเวงอยู่ภายในจิต ถ้าหากว่าจะแจกแจงออกมาเป็นอาการที่จะทำให้เห็นชัดนะคะ ว่าอาการของความทุกข์ตามกิเลสนั้นคืออะไรบ้าง ก็จะแจกแจงออกมาได้ว่า เป็นไปตามอาการของความรัก เป็นไปตามอาการของความโกรธ ตามอาการของความเกลียด ตามอาการของความกลัว ความตื่นเต้น ความวิตกกังวล ความอาลัยอาวรณ์ ความหึงหวง ความอิจฉาริษยา เหล่านี้เป็นต้น นี่เป็นอาการที่เป็นไปตามกิเลสที่จะเกิดในใจของมนุษย์เสมอ
เมื่อวานนี้เราก็ได้พูดว่าความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว อะไรสำคัญที่สุด อะไรเป็นต้นเหตุ ..ความรัก มันมาจากความรัก เหมือนอย่างในบทสวดมนต์ก็ยังบอกว่าประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ สิ่งที่ปรารถนาจะเป็นที่พอใจหรือไม่พอใจจึงปรารถนา..ก็ต้องพอใจ สิ่งที่รู้สึกพอใจ สิ่งที่รู้สึกรัก..จึงปรารถนา เมื่อไม่ได้ตามนั้นก็เป็นทุกข์ เห็นไหมคะ เพราะฉะนั้น เรื่องของความรักนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเพราะมันจะมาในรูปของความน่ารัก น่าเอ็นดู มันชวนให้เกิดความชื่นชม ติดอกติดใจ นี่เป็นอาการของความทุกข์ที่เกิดขึ้นตามอำนาจของกิเลสที่ควรระมัดระวัง ก็เชื่อว่าไม่ต้องอธิบายนะคะ คงจะเข้าใจ
นอกจากนี้ท่านบอกว่า การมาของความทุกข์ การมาของความทุกข์สู่จิตของมนุษย์นั้น มันอาจจะมาอย่างเปิดเผยก็ได้ อย่างซ่อนเร้นก็ได้
ถ้าอย่างเปิดเผยก็คืออย่างไร ความทุกข์ที่เข้ามาสู่มนุษย์อย่างเปิดเผยก็คืออย่างไร ใจมันมองเห็นเลยว่านี่ความทุกข์ นั่นก็คือประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจเมื่อไร..ทุกข์ นี่มันมาอย่างเปิดเผย เหมือนอย่างผู้หญิงหรือผู้ชายที่ถูกบังคับให้แต่งงานกับคู่ที่ตนไม่รักไม่ชอบและยิ่งมีผู้ที่ชอบอยู่แล้ว นั่นแหละเป็นทุกข์ มันมองเห็นชัดเลยนี่คือทุกข์แล้ว ก็จะบอกว่า..แหมนี่ เหมือนกับอยู่ในนรกชัดๆเลย ใช่ไหมคะ นี่คือทุกข์ หรือว่าตั้งใจแล้วว่าต้องสอบเข้าให้ได้..ไม่ได้ นี่ก็คือทุกข์ ตั้งใจว่าเวลาสำเร็จต้องเกียรตินิยม.. ไม่ได้ก็เป็นทุกข์ นี่มันเห็นชัด เรียกว่ามันมาอย่างเปิดเผย หรือว่าแน่ใจว่าตำแหน่งผู้อำนวยการคราวหน้าต้องเป็นของเรา กลายเป็นของคนอื่น ก็เป็นทุกข์ นี่เรียกว่ามาอย่างเปิดเผย
ถ้ามาอย่างซ่อนเร้นจะมาในรูปไหน ในรูปของสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ นั่นแหละ ระมัดระวัง อย่างที่เราพูดกันว่าให้ระมัดระวังสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ มาให้รัก..ก็อย่ารัก มาให้ชอบ..ก็อย่าชอบ มาให้ติดใจ..ก็อย่าติดใจ ซึ่งถ้าจะทำได้นี่ ทำได้ด้วยอะไร ทำได้ด้วยสติ จะต้องมีสติคุมใจอยู่เสมอ มิฉะนั้นพอน่ารักก็ต้องรัก น่าชอบก็ต้องชอบ น่าติดใจก็ต้องติดใจ มีรูปที่เอ็มมาโน เชอเว่นเขียนไว้รูปหนึ่ง เขาบอกว่า “ดอกไม้จัดคน” ไม่ทราบว่าติดอยู่ที่นี่หรือเปล่า ไม่ทันได้ดู ไม่ใช่ของเอ็มมาโน เชอเว่น ขอโทษ เป็นรูปของเซน เค้าเขียนว่าดอกไม้จัดคน เป็นรูปของเซน ธรรมดาระหว่างดอกไม้กับคน ใครจัด คนคือผู้จัดดอกไม้ อย่างดอกไม้ที่วางอยู่นี่ คนเป็นผู้จัด แต่เขาบอกว่าดอกไม้จัดคน มีปริศนาธรรมอะไรอยู่ที่นี่ ลองนึกดูสิคะ ดอกไม้จัดคน ดอกไม้เป็นสิ่งที่เป็นอย่างไร สวยงาม น่ารัก น้อยคนเหลือเกินที่จะเกลียดดอกไม้ ที่เห็นดอกไม้แล้วอยากขยี้ อยากโยนทิ้ง หรือว่าดุ เอาไปให้พ้นอย่าเอามาให้ฉัน ยกเว้นคน allergic (แพ้)กับกลิ่นหรือเกสรของดอกไม้ แต่โดยปกติแล้วดอกไม้เป็นที่รัก ที่น่ารักน่าชม มันให้ความสวยงามทั้งสี ทั้งกลิ่น คนก็ติดใจ ทีนี้เขาบอกว่าดอกไม้จัดคน จัดคนอย่างไร ที่ดอกไม้มาจัดคนได้ จัดได้อย่างไร ลองนึกสิคะ ที่เขาบอกว่าดอกไม้จัดคน จัดได้อย่างไร นึกออกไหมคะ เมื่อคืนนี้นอนหลับดีอยู่รึเปล่า คิดถึงใครบ้างรึเปล่า ถ้านอนไม่หลับเพราะคิดถึงใคร หรือคิดถึงเงินในธนาคาร เพราะดอกเบี้ยตอนนี้มันชักจะลดลง นี่เรามีอยู่เท่านี้มันจะได้ดอกเบี้ยสักเท่าไรนะ ทำยังไงถึงจะเพิ่มพูนนะ นั่นแหละ เราถูกสิ่งนั้นแหละจัด มันถึงทำให้เรานอนไม่หลับ จัดในที่นี้ไม่ได้ไปจัดคนลงแจกัน แต่จัดใจของคนนั้นให้เกิดความวุ่นวาย ให้เกิดความระส่ำระสาย ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ขึ้นในจิต แล้วโดยมากสิ่งที่ทำให้มนุษย์เกิดความทุกข์ขึ้นในจิตก็มักจะเป็นสิ่งที่เราชอบ เราพอใจ เราอยากได้ เราก็หวนคิดถึง นึกถึงอาลัยถึง มันก็เลยจัดเรา จัดเราให้นอนไม่หลับ จัดเราให้กินไม่ได้ จัดเราให้กลายเป็นคนบุ่มบ่าม ผลุนผลัน กลายเป็นคนไม่มีสติ กลายเป็นคนทำงานไม่มีประสิทธิภาพเพราะใจมันไปมัวผูกพันอยู่กับสิ่งที่ชอบที่พอใจ รูปภาพนี้เขาตั้งใจจะบอกว่า อะไรที่สวยๆงามๆ ที่น่ารัก จงระวัง จงระวังการที่จะตกไปเป็นทาสของมันได้ง่ายๆ ฉะนั้นที่บอกว่าอาการของความทุกข์ที่จะมาได้อีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือมาอย่างซ่อนเร้น ซ่อนเร้นอยู่ในคำว่าอะไร นึกสิคะ ซ่อนเร้นอยู่ในคำว่าอะไร “สุข” ใช่ไหมคะ ซ่อนเร้นอยู่ในคำว่า สุข
ท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ก็มีอายุกันพอสมควรทั้งนั้นนะ อย่างน้อยๆ ก็เชื่อว่าไม่น้อยกว่า 20 ปี บางท่านก็มากกว่านั้น เคยได้ประสบความสุขมาบ้างไหมคะในชีวิตนี้ ไม่มีใครบอกว่าสุขเลย แสดงว่าน่าสงสาร มีแต่ชีวิตที่จมอยู่ในความทุกข์ ไม่เคยพบความสุขเลย ทำไมถึงไม่กล้าบอกว่าพบความสุข เพราะอะไรถึงไม่กล้าบอกว่าได้พบความสุขคะ เพราะอะไร