แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านจ่ออยู่ที่ลมหายใจเท่านั้น ในการปฏิบัติธรรมมีความสำคัญที่ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความพร้อม คือ เตรียมให้เกิดความพร้อม ความพร้อมในที่นี้เป็นความพร้อมทั้งทางกายและทางใจ ความพร้อมทางใจก็คือ การเตรียมใจให้เปิด เปิดพร้อมที่จะรับธรรมะ สิ่งใดที่กำลังมาข้องเกี่ยว มาผูกพันอยู่ในใจ สลัดสิ่งนั้นออกไปเสียเพราะขณะนี้ไม่ใช่จิตที่ใจจะไปข้องเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น การเตรียมพร้อมทางกายก็คือ มีร่างกายที่เบาสบาย ไม่อึดอัดเพราะอิ่ม ไม่อ่อนระโหยเพราะหิว ความร้อนจะมากระทบกายก็ให้รู้สึกว่าเป็นเช่นนั้นเอง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยตามกฎของธรรมชาติ กายที่พร้อมมีเครื่องนุ่งห่มที่เบาสบายที่ไม่คับไม่อึดอัด นั่งกายตรงในท่าขัดสมาธิ เพื่อให้ร่างกายมีความสมดุล คือท่อนบนของกายมีความสมดุล ตั้งตัวตรงได้มั่นคง ไม่เอนซ้ายไม่เอียงขวา มือขวาทับลงไปบนมือซ้ายที่วางอยู่บนตัก ไม่เกร็ง ไม่เกร็งที่มือ ไม่เกร็งที่แขน ไม่เกร็งที่ลำตัว ให้มีความผ่อนคลายเบาสบายเป็นธรรมชาติ แล้วกำหนดจิตจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจแต่อย่างเดียว ไม่ต้องกังวลกับยุงที่บินมาใกล้ตัว แม้จะกัดก็เช่นนั้นเอง ลองทำใจบริจาคทาน เมตตายุงที่หิวโหย ดึงจิตกลับมาอยู่กับลมหายใจแล้วจะลืมยุงที่บินเข้ามา แม้จะกัดจะรู้สึกได้นิดเดียวหรือไม่รู้สึกเลยถ้าจิตยิ่งสามารถจดจ่ออยู่กับลมหายใจ หน้าที่ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องกระทำในขณะจิตนี้ ในขณะจิตนี้ คือ การจดจ่ออยู่กับลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออก หายใจตามธรรมดาให้เป็นธรรมชาติ ช้าๆสบายๆ ไม่ต้องเอาจริงเอาจังจนเกินไป ให้รู้สึกเหมือนกับเราที่หายใจอยู่ตามธรรมดาตามปกติในชีวิตประจำวัน ให้รู้สึกอยู่อย่างนั้น เราไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ เราไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษเพราะลมหายใจเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่เกิด เราใช้มันเป็นเครื่องมือ เป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้ชีวิตนี้ดำรงอยู่เคลื่อนไหวได้
บัดนี้ เรากำลังทำการศึกษา ทำความรู้จักกับลมหายใจเพื่อที่จะสามารถใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุดยิ่งกว่าเพียงให้เคลื่อนไหวได้หรือให้มีชีวิตอยู่ นั่นคือ เรากำลังเรียนรู้เพื่อที่จะใช้มัน ให้สร้างสรรค์ความสงบให้เกิดขึ้นภายใน เรากำลังฝึกใช้ลมหายใจเพื่อเป็นเครื่องมือที่จะผูกจิต จิตที่ชอบดิ้นรน จิตที่ดิ้นรน ซัดส่ายซุกซนไม่ผิดอะไรกับลิงป่าลิงเถื่อนที่เค้าเพิ่งจับมาจากป่า เต็มไปด้วยพยศร้าย เกะกะเกเร หรือเหมือนกับช้างป่า เหมือนกับวัวป่า เหมือนกับม้าป่าที่ยังไม่ได้รับการฝึกหัด มันจึงจะเอาแต่ใจของมัน ดิ้นรนตามความอยากของมัน ยอมไม่ได้ หยุดไม่ได้ เย็นไม่ได้ มันจะเอาท่าเดียว เปรียบเหมือนกับปลาที่มันจะดิ้นลงน้ำท่าเดียว นี่เป็นจิตที่ยังเถื่อนอยู่ เป็นจิตที่ยังเป็นป่าอยู่ จะต้องทำการอบรมฝึกฝนมันให้เป็นจิตที่เชื่อง
เริ่มต้นด้วยการดึงมันมาจากความคิดที่ฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ ความคิดที่ไม่จำเป็น ที่เกินความจำเป็น ดึงมันมาให้มาอยู่เสียกับลมหายใจ ให้มันนิ่ง ให้มันสงบ ให้มันหนักแน่น จิตนี้จะได้ปลอดจากความวุ่นวายความระส่ำระสาย ดึงจิตที่มันดิ้นรนไปกับความรู้สึกความอาลัยอาวรณ์ในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม น่าชื่นชมน่าเบิกบานก็ตาม ชอกช้ำ ขมขื่น เจ็บปวดก็ตาม มันล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เกิดขึ้นแล้ว ดับไปแล้ว อย่าไปจำมัน อย่าไปเอาสัญญานั้นเข้ามาสู่ใจ ทำให้ใจเป็นทุกข์ ทำให้ใจตื่นเต้น ลิงโลด ทำให้ใจไม่สงบ ผิดไปจากความปกติของธรรมชาติของใจ ดึงมันกลับมาให้รู้อยู่กับลมหายใจทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก การเตรียมใจให้สะอาดจากความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง จากความสำคัญมั่นหมายตามสัญญาทั้งปวง จากความคิดที่ไม่หยุดนิ่ง กวาดมันออกไปให้เกลี้ยง เตรียมใจให้สะอาดให้เปิดพร้อมที่จะรับธรรมะเข้าสู่จิตด้วยการสร้างสรรค์ให้ความสงบเกิดขึ้นในจิตก่อน ด้วยการกำหนดจิต จดจ่ออยู่ที่ช่องจมูก รับลมหายใจที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ช่องจมูก ผ่านเข้าสู่ภายใน กำหนดจิตจดจ่อตามลมหายใจที่กำลังเคลื่อน ตามความเคลื่อนไหวของลมหายใจที่กำลังผ่านเข้าสู่ภายใน เอาความรู้สึกสัมผัสกับความเคลื่อนไหวของลมหายใจที่ผ่านเข้าสู่ภายในทุกขณะ ทุกขณะ ทุกขณะ ให้ต่อเนื่องไม่ให้ขาดตอน ลมหายใจไปถึงไหนให้จิตถึงตรงนั้นด้วย เมื่อลมหายใจหยุดจิตหยุด พร้อมกับตามความเคลื่อนไหวของลมหายใจที่กำลังผ่านออก ผ่านจากภายใน ผ่านสู่ช่องจมูก ออกไปภายนอก แล้วคงกำหนดจิตให้รออยู่ตรงนั้น จดจ่อจิตอยู่ตรงช่องจมูก พร้อมที่จะรับลมหายใจที่กำลังเคลื่อนเข้ามาสู่กายใหม่ จดจ่อจิต ตามลมหายใจที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ภายในให้ตลอดสาย ให้ตลอดสาย ไม่ให้คลาดไปจากจิตได้เลย ลมหายใจหยุดตรงไหนจิตหยุดด้วย ความรู้สึกหยุดด้วย กำหนดจิตให้สัมผัสกับความเคลื่อนไหวของลมหายใจที่กำลังผ่านเข้าผ่านออกทุกขณะให้ตลอดสายตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ภายในจนกระทั่งผ่านออกสู่ช่องจมูก
นี่คือหน้าที่ของผู้ปฎิบัติหรือภารกิจของผู้ปฏิบัติที่ต้องกระทำในขณะนี้ หายใจช้าๆให้เป็นธรรมชาติ อย่าเกร็ง อย่าข่มขู่บังคับใจตัวเองจนเกินไป ให้เป็นธรรมชาติเพื่อไม่ให้เครียด ไม่ให้อึดอัด ไม่ให้รู้สึกหงุดหงิดที่ตามลมหายใจไม่ได้ ที่ตามลมหายใจไมได้เพราะความที่ตั้งใจมากเกินไป หวังที่จะทำให้ได้ จะเอาความสงบให้ได้ อย่าทำอย่างนั้น จะปั้นความสงบด้วยมือหรือจะปั้นความสงบด้วยความคิดเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เกิดขึ้นไม่ได้ ความสงบจะเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีเดียวเมื่อใช้อานาปานสติภาวนา ที่ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือ ก็จงกำหนดจิต กำหนดความรู้สึก ให้สัมผัสอยู่กับลมหายใจให้ตลอดสาย เอาจิตผูกไว้กับลมหายใจ เอาลมหายใจเป็นเครื่องผูกจิต ตามมันให้ตลอดสายทั้งเข้าและออก นี่เป็นวิธีเดียวในขณะนี้ที่จะกำหนดจิตให้นิ่ง ให้หยุดดิ้นรน ให้หยุดซัดส่ายตามความคิดตามความรู้สึก ตามความจำได้หมายมั่น ขณะจิตนี้ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปยิ่งกว่าการจดจ่อจิตให้อยู่กับลมหายใจ ตามลมหายใจเข้าและออกทุกขณะให้ตลอดสาย นั่งตัวตรง ค่อยๆยืดตัวขึ้นทีละน้อยเพื่อให้ลมหายใจผ่านเข้าออกได้สะดวก เราใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดก็ต้องให้โอกาสที่ให้ลมหายใจผ่านเข้าออกได้สะดวก ถ้านั่งค้อมตัวเกินไป หลังงอหรือก้ม ลมหายใจก็จะผ่านเข้าออกไม่สะดวก หรือว่านั่งตัวตรงจนแอ่นหลังเกินไปก็จะทำให้เกิดอาการเกร็ง ปวดเมื่อยที่หัวไหล่หรือลำคอ เกิดความเครียด ฉะนั้นไม่ต้องตัวตรงจนแข็ง ให้เป็นตัวตรงที่สำรวมอย่างสบายๆเป็นธรรมชาติ ไม่ค้อมตัวลงจนก้ม อันจะเป็นทางที่จะให้เกิดความง่วงหงาวหาวนอนได้ง่าย เมื่อรู้สึกว่าความง่วงกำลังเข้ามา ยืดตัวตรง หายใจแรง หายใจให้แรง ขับไล่ความง่วงออกไป หรือถ้าความคิดมันติดตามมาไม่ยอมหยุด หายใจแรง ยาวแรง ไล่ความคิดนั้นออกไป ดึงจิตกลับมาอยู่กับลมหายใจ