แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ถ้ามีสิ่งใดที่จะเป็นคำถาม หรือความเห็นอะไร ก็เชิญเขียนได้นะคะ
นี่มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องของปฏิจจสมุปบาท สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูปอะไรอันนี้ ขอไว้ตอบในวันที่เราจะพูดกันถึงปฏิจจสมุปบาทนะคะ
คำถามต่อไปถามว่า เวลานั่งสมาธิบางทีรู้สึกว่าจิตจะสงบ เกิดอาการกลัวขึ้นมาจนทำให้จิตส่ายควรแก้ไขอย่างไร
กลัวอะไร ต้องถามตัวเรากลัวอะไร ที่ว่าในขณะที่นั่งสมาธิและจิตกำลังจะสงบแล้วกลัว กลัวความสงบอย่างนั้นรึ หรือกลัวว่าพอสงบแล้วมันจะไปไหน นี่วิจิกิจฉาใช่ไหมคะ วิจิกิจฉาเกิดขึ้นแล้วนี่เราพูดเรื่องนิวรณ์จบเดี๋ยวนี้ ก็เอานิวรณ์เข้ามาใช้เลยนะคะว่าที่เกิดความกลัวนี่ก็คือเกิดความสงสัย เกิดความไม่แน่ใจ สงสัยในการที่จะมาปฏิบัติสมาธิภาวนา ปฏิบัติทำไม ถึงแม้เราจะพูดกันแล้วถึงจุดมุ่งหมาย แต่ว่ามันอาจจะเกิดไม่แน่ใจ มันเพียงแต่ฟัง แต่ยังไม่ได้เอามาใคร่ครวญในใจ ว่าเออ อันนี้คือจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติสมาธิภาวนาแน่ เพราะฉะนั้นก็เกิดความสงสัย ก็ไม่มั่นใจในการกระทำ แล้วก็อาจจะสงสัยในวิธีการ วิธีการของการปฏิบัติว่าอย่างนี้จะถูกหรือเปล่า มันจะใช่ไหม ฉะนั้นในการปฏิบัติธรรม ท่านก็บอกว่าไม่ต้องสงสัย แต่ให้ลงมือปฏิบัติ ทดลองด้วยตัวเอง อ่านกาลามสูตรแล้วหรือยังคะ ที่มีอยู่ในหนังสือสีเขียว โปรดอ่านกาลามสูตรอีกทีหนึ่ง กาลามสูตรเป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นนักประชาธิปไตยอย่างยิ่งเลย ไม่เคยทรงบังคับผู้ใดให้เชื่อ แม้ในคำสอนของพระองค์ แต่ทรงแนะนำให้รับฟัง ใคร่ครวญแล้วนำมาปฏิบัติด้วยตนเอง เมื่อเห็นผลชัดแล้วจึงเชื่อ ไม่ว่าจะฟังอะไรจากใครทั้งนั้น ทั้งทางโลกและทางธรรม นำมาใคร่ครวญเสียก่อน เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ควรจะทดลองเสียก่อน แต่ทดลองให้ถูกวิธีตามที่เราพูดกันนะคะ และไม่ต้องมีเกิดอาการกลัว ขอรับรองว่าผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกต้อง ไม่เคยมีใคร ขอโทษใช้คำตรงๆว่าไม่มีใครเป็นบ้า เพราะว่ามีคนมาถามบ่อยๆ มาถามตัวดิฉันก็มี ไปเรียนถามท่านอาจารย์ก็มี ว่าที่เขาว่าปฏิบัติสมาธิภาวนาแล้วเป็นบ้าจริงไหม ท่านอาจารย์ท่านก็มักจะตอบว่า ถ้าจะบ้าอยู่แล้วต้องบ้า แต่ถ้ายังไม่บ้าไม่มีใครเป็นบ้าเพราะปฏิบัติสมาธิภาวนา ถ้าหากว่าปฏิบัติอย่างถูกทางนะคะ คำว่าถูกทางนี่คืออะไร เริ่มต้นก็คือตั้งแต่ความตั้งใจที่จะปฏิบัติ ถ้าหากจะปฏิบัติเพื่ออยากมีอิทธิฤทธิ์ อยากมีหูทิพย์ตาทิพย์ อยากรู้ชาติหน้าชาติหลัง อยากทำนายใครๆได้ นั่นผิดแล้ว ผิดตั้งแต่ต้นแล้ว เป็นมิจฉาทิฐิแล้ว เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องสมาธิภาวนาเพื่อขัดเกลาจิตให้สงบเยือกเย็นผ่องใส เป็นจิตที่สะอาดเกลี้ยงเกลา แล้วจะได้ถึงซึ่งความเย็นในถึงที่สุด
นี่คือจุดประสงค์ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าไปประสงค์อย่างนั้น ก็แน่ล่ะ ในขณะที่นั่งก็อยาก อยาก อยาก อยากจนมากๆ จนบางทีเกิดอาการของความเป็นมายาขึ้นในจิตใช่ไหมคะ อย่างที่เขาบอกว่าบางคนมาฝึกปฏิบัติเพื่ออยากจะเหาะได้ ตัวลอยแล้วก็เหาะได้ แล้วก็นั่ง นั่ง นั่งไป ก็เลยคิดว่าตัวเหาะได้ ก็เลยกระโจนจากหน้าต่างลงหลังคา ลงพื้น แข้งขาหัก สาหัสไปก็มี นี่คืออาการที่เกิดขึ้นความเป็นมายา นี่คืออยู่ในโมหะ อาการของโมหะเกิดขึ้น แล้วไม่เคยศึกษาไม่ดูจิตของตน แต่ถ้าฝึกปฏิบัติด้วยการอยู่กับลมหายใจ ดูลมหายใจ ตามลมหายใจด้วยสติ จิตนี้ไม่วอกแวกไปไหน ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องกลัว แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นอันตรายแก่จิตใจหรือในการปฏิบัติเลย จะมีอีกอันหนึ่งที่จะเกิดกลัวก็เป็นไปได้สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่บางท่าน ที่พอทำไป ทำไป ลมหายใจก็ละเอียดเข้า ละเอียดเข้า จนกระทั่งเหมือนกับไม่มีลมหายใจ ตอนนี้ตกใจ ตายแล้วมั้งนี่ ลมหายใจไม่ปรากฏอาจจะตายแล้วกระมัง ก็เลยหยุด ตกใจ ถ้าหากว่ามีสติก็หยุดเฉยๆ แล้วก็ไม่ทำอีก ดิฉันก็เคยเมื่อตอนที่หัดใหม่ๆ หัดเอง นึกสนใจก็หัดเอง ก็นั่งไป จิตก็สงบ พอสงบจนนิ่ง มันเกิดคำถามขึ้นมาในใจ เอ๊ะ นี่จะไปไหน เท่านั้นแหละตกใจ ก็ออกจากสมาธิ และก็ไม่เข้าไปอีกตั้งนานเลย เพราะว่าความตกใจ ทำเองอย่างไม่มีครูบาอาจารย์ที่จะแนะนำให้ถูกทาง ก็เป็นได้ แต่ถ้าหากว่าได้รับคำแนะนำบอกกล่าวอย่างถูกทาง ไม่เป็นอันตราย เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัว ถ้าหากว่าจะเกิดอาการกลัวด้วยมีสิ่งใดที่เกี่ยวพันอยู่ในจิต แล้วก็ยังสลัดมันไม่หลุด ก็อาจจะใช้แผ่เมตตาเพื่อให้กำลังใจ ที่มันสลัดไม่หลุด มันก็ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่ากำลังมีใครเขาไม่ชอบ มีใครเขาปองร้าย มีใครเขาคิดจะทำอะไรให้เราเคราะห์ร้าย ให้เราไม่ดี เพราะฉะนั้นก็แผ่เมตตาซะ สัพเพ สัตตา นั่นแหละก็ว่าไปพร้อมกับเอาใจไปอยู่ในถ้อยคำ ก็จะเกิดความชุ่มชื่น เมื่อเรามีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ทุกชีวิตทุกสรรพสิ่ง ก็ย่อมจะไม่มีผู้ใดที่จะปรารถนาร้ายหรือมุ่งร้ายต่อเรา ก็คิดแก้หลายๆ ทางนะคะ
คำถาม : บางครั้งเริ่มนั่งสมาธิ เปลือกตารู้สึกหนักมาก ปิดตาไม่ค่อยสนิท มีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง ที่จะทำให้หลับตาได้สนิทและก็เบาสบาย
ที่ในการนั่งสมาธินี้นะคะ อย่างที่ได้พูดไว้วันนี้ว่ายังไม่ต้องหลับตาก็ได้ถ้าเรารู้สึกยังไม่พร้อม ผู้ปฏิบัติใดรู้สึกว่าไม่พร้อมที่จะหลับตาและก็พยายามจะหลับตาจะรู้สึกเครียด ปวดหัวคิ้วเพราะว่าเราบังคับให้มันหลับในขณะที่ใจยังไม่อยากจะหลับ เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มนั่งสมาธิ โดยเฉพาะในการปฏิบัติขั้นที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 จะยังไม่หลับตาก็ได้ ไม่ต้องหลับตาเลยก็ได้ เพราะอย่างที่ดิฉันได้พูดแล้วเมื่อเช้าว่า ยังไม่หวังที่จะให้สงบ ไม่ต้องสงบ เพราะต้องการให้ทำงานให้เต็มที่ ให้จิตทำงานให้เต็มที่ เพราะฉะนั้นไม่ต้องหลับตาแต่ว่าโปรดทอดตาต่ำ เพื่อไม่ให้สายตาไปกระทบสิ่งโน้น สิ่งนี้ เกิดเป็นผัสสะ ทอดสายตาต่ำให้อยู่ที่หน้าตัก แล้วก็คงอยู่กับลมหายใจต่อไป ถ้าหากว่าปฏิบัติไปจนกระทั่งจิตมันรวมจริงๆ มันไม่ไปไหนมันอยู่กับลมหายใจ แล้วจิตก็จะค่อยสงบ เป็นสมาธิ ตามันหลับเอง ตอนนี้ตามันหลับเอง แล้วหลับสบายด้วย ไม่ใช่หลับสบายอย่างนอนนะคะ แต่หมายความว่ามันจะไม่รูสึกเครียด ไม่รู้สึกตึง และก็หนังตาก็ไม่หนัก และก็ไม่ร้อน และก็สบาย และจิตก็อยู่ในสมาธิ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ถ้ารู้สึกว่ายังหลับตาสนิทไม่ได้ก็ไม่ต้องหลับนะคะ ลืมตาไว้ก่อน
มีคำถามมาก็ขออนุญาตตอบเสียก่อน สมมติสัจจะทั้งฝ่ายดีและชั่วมีอยู่ เช่นคนทำดีหรือทำชั่ว สะอาดหรือสกปรก มันเป็นอย่างเดียวกันคือมาจากการกระทำของคนๆ เดียวกัน
ถ้าจะพูดอย่างนี้มันจะรวบรัดเกินไป สะอาดสกปรกมันก็เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะมันไม่คงที่ มันเปลี่ยนแปลงได้ มันไม่สะอาดตลอดกาล มันไม่สกปรกตลอดกาล ทั้งสะอาดและสกปรกตกอยู่ภายใต้กฏของอนิจจัง เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ ซึ่งความเกิดดับหรือความเปลี่ยนแปลงนี้ มันจะเป็นไปตามเหตุปัจจัยคือกฏอิทัปปัจจยตา มันจะเป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้นเราจึงเรียกว่ามันเป็นสมมติสัจจะ คือไม่ใช่สิ่งจริง ไม่ใช่สิ่งเที่ยง ไม่เหมือนปรมัตถสัจจะ ซึ่งจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเลย ทั่วโลกทั่วจักรวาลนี้จะต้องประสบหรือพบกับปรมัตถสัจจะ เพราะฉะนั้น ถ้าจะบอกว่าคือมาจากการกระทำของคนๆ เดียวกันเป็นการรวบรัดและอาจจะทำให้เข้าใจผิดได้
แต่สังคมมนุษย์จะนิยมสิ่งดีมากกว่าสิ่งชั่ว เราควรจะสร้างค่านิยมชนิดใด หากตามปรมัตถสัจจะที่มองเห็นว่าเป็นสิ่งเดียวกันให้กับสังคมที่เราเกี่ยวข้อง
ข้อนี้ จะต้องอธิบายว่า คือก่อนที่จะอธิบายอันนี้ ก็จะต้องเข้าใจว่ามนุษย์เราไม่เหมือนกัน แล้วก็เรื่องของธรรมะที่สอนกันอยู่หรือที่ประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในโลกนี้ ก็อาจจะบอกได้ว่า มี 2 ระดับ คือระดับศีลธรรมและระดับปรมัตถธรรม อย่างที่ประพฤติปฏิบัติกัน สอนอบรมกันที่บ้านก็ตามหรือว่าในโรงเรียนก็ตาม กล่าวได้ว่าสอนในระดับศีลธรรม ศีลธรรมก็คือการสอนให้มีศีล รักษาศีล 5 สมาทานศีล 5 สอนให้เป็นคนดี รู้จักทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ อย่าเบียดเบียนใคร ใช่ไหมคะ ที่เราสอนเราอบรมกันมา นี่เรียกว่าในระดับศีลธรรม เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติในระดับศีลธรรมก็ยังคงอยู่ในความยึดมั่นถือมั่น อยู่ในสมมติสัจจะอยู่นั่นเอง เพราะยังยึดว่า ดีต้องอย่างนี้ ไม่ดีคืออย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็มีการแบ่งแยก มีการแบ่งพวก มีการกีดกัน มีการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ มีการติโน่นตินี่ ซึ่งเมื่อเกิดอาการอย่างนี้ขึ้น จิตก็เป็นทุกข์ วุ่นวาย เพราะมันมีอาการแบ่งแยก มันมีอาการตัดสิน มันมีอาการสาวหาเหตุหาผล และหาเหตุหาผลนั้นก็ตามประสบการณ์ของตน ตามความชอบของตน อย่างนี้ก็เรียกว่าในระดับศีลธรรม คือสอนให้คนเป็นคนดีและก็ยึดมั่นในความดีนั้นโดยอัตโนมัติ โดยเจตนาหรือไม่เจตนาแต่มันก็เป็นไปโดยอัตโนมัติ ฉะนั้น ในระดับศีลธรรมนี้ ให้เรามาลองคิดดูว่าเพียงพอไหม ที่จะให้ติดอยู่ในแค่ของระดับศีลธรรม เราทุกคนทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้มีศีลธรรมแน่นอน เป็นผู้ที่อยู่ในระดับศีลธรรม และก็ชาวโลกอีกจำนวนมากก็อยู่ในระดับศีลธรรม คือเป็นคนดี มีศีล มีทาน ทำบุญ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ตามกำลัง แต่เขาเหล่านั้นยังดิ้นรนอยู่ในทะเลแห่งความทุกข์หรือเปล่า รวมทั้งเราด้วยในบางครั้งบางคราว ยังคงดิ้นรนอยู่ในทะเลแห่งความทุกข์หรือเปล่า คำตอบก็คือยังเป็นอยู่ใช่ไหมคะ ทั้งๆที่เป็นคนดีนี่แหละ และสังเกตไหมคะ คนดีร้องไห้มากกว่าคนชั่ว ร้องไห้มากกว่า เจ็บช้ำน้ำใจมากกว่า ขมขื่นทรมานเจ็บปวดมากกว่า จริงไหมคะ คนดี เพราะอะไร ในความเป็นคนดีก็อยากจะให้ อยากจะช่วยเหลือ อยากจะทำบุญทำทาน อยากจะเสียสละ และเวลาทำก็ทุ่มเทเต็มที่ คนโลภบางคนเคยพบนะคะ ทุ่มเทเต็มที่ กำลังกาย กำลังใจ ทรัพย์สินเงินทอง เวลา ทุ่มเทลงไปทำงานให้มันเสร็จ อยากจะให้เสร็จ อยากจะให้เกิดผลดีแก่คนนั้น แก่คนนี้ เต็มที่เลย เหน็ดเหนื่อยเรียกว่าสายตัวจะขาด เสร็จแล้วมานอนร้องไห้อยู่คนเดียว ทำไม? ก็ทำแล้วจะเหน็ดเหนื่อยแล้วทำไมถึงไม่ยิ้ม ทำไมถึงไม่พอใจ เรียกว่าลงทุนแล้วก็ขาดทุน สิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีอะไรเหลือเลย ทำไมไม่ยิ้ม ทำไมไม่พอใจ ทำไมยิ้มไม่ออก นึกได้ไหมคะ ทำไมถึงยิ้มไม่ออกเพราะอะไร เพราะมีความหวัง ถูกแล้วค่ะ เห็นไหมคะ ในขณะที่ทำไปก็จิบยาพิษไป ฉะนั้น พอทำจบก็เลยสลบอยู่กับยาพิษที่จิบ เพราะมันไม่สมหวังไงคะ คนดีทำแล้ว ทำดีแล้วแต่ก็ยังหวัง หวังจะได้รับความดีหรือผลดีตอบแทน ถึงแม้บางทีไม่หวังว่าจะได้เป็นวัตถุสิ่งของ แต่อย่างน้อยที่สุดมีคำชมให้มันชื่นใจเสียหน่อย แหมขอบใจนะ ขอบคุณนะ หรือรับรองว่าแหมนี่ถ้าไม่ได้เธอล่ะแย่เลย ให้มีความยกย่องสักหน่อย ก็ชื่นใจขึ้นมาเลย นี่คืออยู่กับความหวัง คนดียังต้องการสิ่งตอบแทน ยังมีตัณหาอยู่ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ในระดับศีลธรรมจึงไม่เพียงพอ แต่ถ้าเราไม่เอาเรื่องของศีลธรรมมาพูด คนบางคนเขารับรอง เขารับกันไม่ได้ เขายอมรับปรมัตถธรรมทันทีไม่ได้ ที่ยอมรับไม่ได้ก็เพราะไม่เคยเอาปรมัตถธรรมมาพูดกันนั่นเอง ไม่เอาปรมัตถธรรมมาพูดกันในครอบครัวหรือว่าในโรงเรียนหรือว่าในสังคม จะพูดกันแต่เรื่องเพียงแค่ของศีลธรรม คือยึดสิ่งคู่ เอาแต่ฝ่ายบวก เอาดี เอาสุข เอาสรรเสริญ เอาได้ เอากำไร เอาอะไรต่ออะไรที่เป็นทางฝ่ายบวก แล้วก็บอกว่าอย่าให้เสียนะ อย่าให้เสียนะ อย่าให้เป็นทุกข์ อย่าให้ขาดทุน อย่าให้ถูกว่า อย่าให้เสียหาย และก็จะสอนกันอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นจิตมนุษย์นี้ก็เกิดความยึดขึ้น และก็ยึดตามสมมติสัจจะ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้าใจอันนี้เรื่องของสมมติสัจจะ ปรมัตถสัจจะให้เข้าใจชัดเจน ต้องเข้าใจว่า เราจะแบ่งธรรมะออกได้เป็น 2 ระดับ อย่างหยาบๆ อย่างกว้างๆ คือระดับศีลธรรมที่จะใช้สำหรับคนทั่วไป แล้วก็บอกได้ว่าระดับศีลธรรมหรือศีลธรรมนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่สังคมต้องการ สังคมใดครอบครัวใดขาดศีลธรรม สังคมนั้นก็ย่อมจะเกิดกลียุคแน่นอน คนก็เบียดเบียนกัน ฆ่าฟันกัน ทำลายล้างกันยิ่งกว่าที่กำลังเป็นอยู่ ยิ่งกว่านี้ แต่ทีนี้ ถ้าเราจะนึกดูว่า นอกจากเราจะเห็นตัวอย่างแล้วว่า คนดีมีศีลธรรมเป็นทุกข์เจ็บปวดยิ่งกว่าคนชั่วแล้ว ทำไมคนดีบางคน เคยได้ยินบ้างไหมคะ ที่ออกอุทานมาว่า ไม่เอาแล้ว เลิกเสียทีเรื่องทำความดี ไม่ทำอีกแล้ว พอกันที ทำชั่วดีกว่า เคยได้ยินไหมคะ เราเคยได้ยินบ่อยๆ ทำไม เพราะอะไร เคยคิดหาเหตุผลไหมคะ อยู่ดีดี ทำดีมันก็ดีแล้ว ใครๆเขาก็ยกย่องว่าเป็นคนดี แล้วทำไมถึงมาสิ้นศรัทธากับความดี ศรัทธาของความดีมันถูกขุดรากหายไปไหน
เพราะอะไร เพราะขาดอะไร ก็เพราะไม่มีปรมัตถธรรมเป็นรากฐาน เพราะการสอนศีลธรรมหรือแค่จริยธรรมธรรมดาโดยไม่มีปรมัตถธรรมเป็นรากฐาน มันก็เหมือนต้นไม้ที่ขาดรากแก้ว มันล้มโค่นเอาได้ง่ายๆ พอลมพายุพัดมามันก็ล้มโค่น แต่ถ้ามีปรมัตถธรรมเป็นรากฐานหรือสอนให้เขารู้จักปรมัตถธรรมก็คือกฎของธรรมชาติ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กฎอิทัปปัจจยตา ว่าผลใดมันจะต้องเกิดจากเหตุ ประกอบเหตุอย่างใดผลมันจะเป็นอย่างนั้น ให้รู้จักเรื่องของธาตุ เรื่องของขันธ์ เรื่องของอายตนะ ปฏิจสมุปปบาท อริยสัจ 4 เป็นต้น รู้จักจริงๆ อย่างชนิดเอามาใคร่ครวญปฏิบัติ ผลที่สุดจิตของเขาที่ยึดมั่นถือมั่นในความดีที่ทำ ว่าฉันต้องอย่างนั้น ฉันต้องอย่างนี้ มันก็จะค่อยๆจางคลาย แล้วก็จะเหลือแต่ความสามารถที่จะกระทำ ความเต็มใจที่จะกระทำเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ใช่ไหมคะ นี่คือปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ศีลธรรมที่ขาดปรมัตถธรรมเป็นรากฐาน มันหลุดลุ่ยได้ง่ายๆ มันพังถลายได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้สิ่งที่สังคมต้องการหรือเราผู้เป็นนักบวชควรจะหยิบยื่นให้แก่สังคม ก็คือสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรม ให้เขารู้จักกัน เราไม่รู้จักกันเพราะเราบอกแต่ว่ามันยาก มันสูง มันลึก เข้าไม่ถึง แล้วผลเป็นอย่างไงของความขี้ขลาด ขี้ขลาดที่ไม่กล้าจะเข้า กลัวจะเข้าไม่ถึง สังคมก็เลยเต็มไปด้วยปัญหามากขึ้น คนกำลังจะเสื่อมศรัทธาต่อศีลธรรม คนกำลังจะเสื่อมศรัทธาต่อพระศาสนา เพราะผู้ที่อยู่ในวงการของนักบวชเองไม่น้อยมากลัวเสียเอง เพราะนักบวชเองกลัวเสียเอง คนที่อยู่ข้างนอกก็ต้องบอก ดูสินั่นคนบวชแท้ๆยังกลัวเลย แล้วเขาจะกล้าเข้ามาหาปรมัตถธรรมได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ดิฉันคิดว่าจำเป็นและสำคัญที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องของปรมัตถธรรม ถ้าเราไม่ศึกษาปรมัตถธรรม สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ ศูนย์เปล่า ถ้าพระองค์ทรงทราบด้วยวิถีทางใด จะรู้สึกนี่เป็นความล้มเหลวเหลือเกิน อุตสาห์สละ ทรงอุตสาหะมาสั่งสอนประชาชนทั้งหลาย ทั้งๆที่ตอนแรกที่ทรงค้นพบตรัสรู้ ก็ทรงคิดว่าจะไม่สอนแล้วเพราะมันยากเกินไป แต่แล้วก็เปลี่ยนพระทัยคิดว่าคงจะมีบ้าง มนุษย์ที่ยังพอมีจิตใจจะว่าง จะฉลาด จะไม่หนานักพอจะรับได้ แต่ถ้าไม่นำมาต่อมันก็ไม่เกิดผล เพราะฉะนั้นศาสนาจะเสื่อม เสื่อมตรงนี้ เสื่อมตรงที่ชาวพุทธละเลยปรมัตถธรรม เรายังจะพูดกันต่อไปในเรื่องนี้นะคะ แต่ตอนนี้ขอชี้ให้เห็นว่าศีลธรรมก็ยังจำเป็น แต่อย่าลืมที่จะสอดใส่ปรมัตถธรรมเพื่อให้เป็นรากฐาน ให้เขาเกิดความเข้าใจอันถูกต้อง แล้วที่นี้พอเมื่อใดที่เขารู้สึกว่า สิ่งที่เราทำถูก ทำดี ทำไมมันไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมผลไม่เป็นอย่างที่ต้องการเป็น เขาก็จะมีหลักใจ ใช่ไหมคะ มีหลักใจที่จะไม่ซวนเซ ไม่ถึงกับสลบไสล ท้อใจจนหมดอาลัยตายอยาก เพราะอ้อมันเป็นอย่างนั้นเอง มันเป็นอย่างนั้นเอง ทุกอย่างมันมีเกิดแล้วมันก็มีดับ มันไม่มีอะไรเป็นตัวตนให้ยึดมั่นถือมั่น เหตุปัจจัยอย่างใดผลมันก็เป็นอย่างนั้น เขาจะเตือนใจของเขาได้ เขาจะหันเข้ามาหาคำที่พระองค์ได้ตรัสสอนเอาไว้ แล้วก็นึกขึ้นได้ และก็มีกำลังใจที่จะเดินต่อไป ที่จะกระทำโดยไม่หวัง ถ้าเป็นคนดีมีศีลธรรมยังหวัง แล้วก็ทุกข์ แต่ถ้าถึงปรมัตถธรรมจะทำโดยไม่หวัง ทำเพราะรู้ว่ามันถูกต้อง ทำเพราะรู้ว่ามันเกิดประโยชน์ ใครจะเห็นหรือไม่เห็นไม่สำคัญ ถ้าเราแน่ใจว่ามันถูกต้อง แต่ว่าอันนี้ก็เหมือนกันนะคะ มันเหมือนเส้นผมบังภูเขา ระวังจะหลง จะหลงว่าฉันว่าถูกแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อใดที่มีว่าฉันถูกผิด มันต้องมีแต่ถูกของธรรมะหรือว่าถูกโดยธรรม ระมัดระวังให้ดีๆนะคะ น่ากลัวมาก เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรมะเป็นเรื่องละเอียด ไม่ใช่เรื่องหยาบ
คำถาม : ขอให้ยกตัวอย่างความแตกต่างระหว่างวิจิกิจฉากับความคิดตริตรองใคร่ครวญด้วยความรอบคอบ เพราะรู้สึกว่าแยกกันยาก
จริงค่ะ อยากจะขอตอบอย่างนี้ว่า วิจิกิจฉาคือความลังเล สงสัย ไม่แน่ใจ ที่มันประกอบด้วยอวิชชา อวิชชาเข้ามาผลักดัน หรืออย่างน้อยๆ ก็คือโมหะ ลูกหลานของอวิชชา เพราะมันไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร วิจิกิจฉาเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ ไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังจะทำนี้ถูกต้องหรือไม่ เพราะฉะนั้นมันก็เลยถอยหน้าถอยหลัง จนกระทั่งจะเอาหรือไม่เอา เอาดีหรือไม่เอาดี ต้องไปถามคนนั้นถามคนนี้ เธอฉันจะเอาดีหรือไม่เอาดี หรือว่าอย่าเอาเลย หรือว่าเอาไว้ก่อน นี่มันวิจิกิจฉาเพราะความไม่รู้ ไม่รู้อย่างชนิดขาดสติปัญญา แต่ถ้าเป็นความคิดตริตรองใคร่ครวญอย่างรอบคอบ มันก็ไม่ใช่วิจิกิจฉา มันอาจจะมีวิจิกิจฉาเกิดขึ้นทีแรก ชักสงสัย สงสัยว่านี่มันอะไรกันนะ เหมือนอย่างเราพูดกันเรื่องอานาปานสติ สมมติว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับเพื่อนผู้ปฏิบัติบางท่าน ก็เกิดความสงสัยว่ามันจะปฏิบัติได้จริงหรือ แล้วก็ไต่ถาม แล้วก็พอเข้าใจ คือฟังแล้วเข้าใจ เอามาใคร่ครวญดู แล้วก็ทดลองปฏิบัติดู อย่างนี้ไม่ใช่วิจิกิจฉาที่ประกอบด้วยอวิชชา แต่ประกอบด้วยสติปัญญา เพราะพร้อมที่จะทดลองดู พิสูจน์ด้วยตนเองตามหลักกาลามสูตร จนกระทั่งเห็นว่ามันใช้ได้ หรือมันใช้ไม่ได้เพราะอะไรก็จะคิดค้นต่อไป จะไม่ตัดสินพรวดพราด อย่างนี้ไม่ใช่วิจิกิจฉา เรียกว่าได้ใช้สติปัญญาประกอบไปด้วยความรู้ที่เคยเล่าเรียนมาเกี่ยวกับเรื่องนั้น ประกอบด้วยประสบการณ์ที่เคยมีมาเกี่ยวกับเรื่องนั้น หรือถ้าเกิดความไม่รู้เพียงพอก็จะไต่ถามผู้รู้อย่างชนิดไม่มีความละอาย คือไม่ต้องมีตัวตนที่จะละอาย เพราะฉะนั้น ไปถามใครแล้วเสียเกียรติ เสียเหลี่ยม เสียศักดิ์ศรี ไม่มีอย่างนั้น ผู้ที่ประกอบด้วยสติปัญญาจริงพร้อมที่จะไต่ถามถ้าไม่รู้ คือถามท่านผู้รู้ให้ท่านช่วยอธิบายให้ และก็รับฟังด้วยโยนิโสมนสิการ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ไม่ใช่วิจิกิจฉา แต่ก็ตอบได้ว่าวิจิกิจฉาคือความสงสัย ถ้าเกิดขึ้นแก่ผู้มีสติปัญญา จะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้มีสติปัญญานั้นใช้วิจิกิจฉาเป็นตัวต้นเหตุ คิดค้นทำอะไรต่ออะไรที่เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้นทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ฉะนั้นวิจิกิจฉาก็คือความลังเลสงสัยที่ขาดสติปัญญาเพราะอวิชชาเข้าครอบงำ เลยตัดสินใจไม่ได้ ขาดความมั่นใจ เป็นความอ่อนแอ เป็นความโลเล นั่นคือวิจิกิจฉาที่เป็นนิวรณ์