แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
บัดนี้ได้กล่าวคำลาสิกขา โดยมีพระสงฆ์เป็นสักขีพยานสำเร็จการสละเพศบรรพชิตมาเป็นคฤหัสถ์ แม้จะมาเป็นคฤหัสถ์และก็ยังอยู่ในพุทธบริษัท เรียกว่ายังเป็นชาวพุทธอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนเพศจากบรรรพชิตมาเป็นฝ่ายอุบาสก เพราะฉะนั้นจึงได้เข้ามากล่าวคำขอสรณะและศีล ประกาศตนว่ายังนับถือพระรัตนตรัย และจะได้ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มต้นตั้งแต่ศีล 5 เป็นต้นไป โดยเฉพาะทั้ง 3 ท่าน ได้บวชเรียนแล้วก็ยิ่งได้รู้หลักพระธรรมวินัยมีทุนที่จะได้นำไปใช้ประพฤติปฏิบัติดำเนินชีวิตที่ดีงาม นอกจากว่าจะประพฤติด้วยตนเองแล้วก็สามารถเป็นผู้แนะนำชักจูงผู้อื่นให้มีศีลธรรม เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สังคมให้ดียิ่งขึ้นไปด้วย ก็อนุโมทนาที่ทั้ง 3 ท่าน ได้มาอุปสมบทด้วยศรัทธาในพระศาสนาและมีฉันทะในการเล่าเรียนศึกษา โดยความสนับสนุนของคุณพ่อคุณแม่ ญาติมิตรทั้งหลาย โดยมีน้ำใจที่มีเมตตาความรักความปรารถนาดี ก็ถือว่าเป็นการทำบุญร่วมกัน เมื่อทำบุญร่วมกันแล้วก็หวังว่าจะได้มีใจร่วมกันในการที่จะดำเนินชีวิตทำกิจการงานต่อไป ซึ่งจะทำให้ความอบอุ่นมีความสุขเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต เวลานี้ก็เป็นโอกาสที่ท่านทั้งหลายเปลี่ยนแปลงเพศ ก็เป็นเหตุการณ์สำคัญซึ่งควรจะได้ให้พร เมื่อกี้รับศีลแล้ว ที่นี้ก็รับพร พรที่ประเสริฐก็คือธรรมะนี่เอง ธรรมะนั้นเป็นพรที่ดีเลิศยิ่งกว่าพรใด ๆ เพราะว่าเป็นไปตามหลักเหตุปัจจัย เมื่อมีปัญญารู้เข้าใจธรรมะ นำไปประพฤติปฏิบัติแล้วผลดีก็ย่อมเกิดขึ้นตรงตามเหตุปัจจัยนั้น ธรรมะที่จะนำมาเป็นพรก็ให้สอดคล้องกับเหตุการณ์นี้ ในการที่ท่านทั้งหลายจะได้ไปเริ่มต้นชีวิตคฤหัสถ์ต่อไป
ธรรมะที่เหมาะแก่เหตุการณ์นี้ก็คือ หลักคำสอนสำหรับคฤหัสถ์ โดยเฉพาะกับหลักที่เรียกว่า คีวินัย ซึ่งทั้ง 3 ท่านก็ได้ยินได้ฟังอยู่เรื่อย แต่ความจริงนั้นต้องให้แม่นเลย คีวินัยนี่ ต้องให้ว่า ปากเปล่าได้จำแม่นติดใจเลยนึกถึงเมื่อไหร่ก็ปรากฏชัดแจ้ง ถ้าอย่างนี้ล่ะก็ถือว่าเป็นคีวินัยจริง ๆ เพราะหากว่าจำไม่ได้วินัยก็ไม่สามารถจะปรากฏขึ้นมา นอกจากว่าจำได้ก็นำไปประพฤติปฏิบัติด้วย วันนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่จะนำเอาหลักคีวินัยหรือวินัยของคฤหัสถ์นี้มาทบทวน เป็นเครื่องเตือนใจในการดำเนินชีวิตด้วยและในการที่จะนำไปแนะนำสั่งสอนผู้อื่น เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม คฤหัสถ์ก็มีวินัยเช่นเดียวกัน ไม่เฉพาะพระภิกษุมีวินัย เรื่องนี้จะต้องมาเตือนใจกันอยู่เสมอ เพราะว่าชาวพุทธมักจะลืมว่าตนมีวินัยที่จะต้องรักษา ก็เลยนึกว่ามีแต่พระที่มีวินัย แล้วไม่งั้นไปมองวินัย เช่น วินัยทหาร เป็นต้น แต่ที่จริงคฤหัสถ์ทุกคนชาวพุทธทุกคนต้องมีวินัย วินัยของคฤหัสถ์นี้ก็ไม่มาก ไม่ถึง 227 ข้อ แต่ว่าถ้าประพฤติปฏิบัติถูกต้องแล้วก็ครอบคลุมหมด คือเรื่องความประพฤติที่ดีงามก็รวมอยู่ในนี้
คีวินัย วินัยของคฤหัสถ์สำหรับสร้างสรรค์ชีวิตเป็นระเบียบชีวิตด้วย เป็นระเบียบสังคมด้วย ก็แยกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ก็ขอให้ทั้ง 3 ท่าน ทวนระลึกไปในใจด้วย เพื่อจะได้เกิดความแม่นยำ ก็จะเป็นการทวนให้ในใจของตนเองก็ระลึกไปตาม
ก็มีส่วนที่ 1 เป็นส่วนของการละเว้นความชั่ว ชำระชีวิตของเรานี้ให้โล่งเบาสะอาดเหมือนกับคนที่อาบน้ำชำระร่างกายให้พ้นสิ่งสกปรกมัวหมอง เราก็จะได้รู้สึกก็เบาตัวจะทำอะไรก็สบาย ส่วนที่ 1 นี่ก็คือการละเว้นความชั่วสิ่งเสียหาย 14 ประการ มีอะไรบ้าง 14 ประการ ได้จัดเป็น 3 หมวด
หมวดที่ 1 ก็เป็นเรื่องของกรรมที่ทำให้ชีวิตมัวหมอง มี 4 ข้อ อันนี้เป็นเบื้องต้น นี่ตอนนี้ก็จะเริ่มด้วยศีล 5 ศีล 5 นั้นหมายความทำอะไรไม่ได้ก็ให้ได้ศีล 5 แต่ทีนี้ คีวินัยนี่ขยายออกไปอีกต่อจากศีล 5 ก็เริ่มได้ 4 ข้อแรกของศีล 5 กรรมที่ทำให้ชีวิตมัวหมอง ก็คือการเบียดเบียนกันในสังคมมนุษย์ การสร้างเวรสร้างภัย
หนึ่ง ก็เบียดเบียนผู้อื่นทางด้านร่างกายและชีวิตคือ การทำร้ายร่างกายทำลายชีวิตเรียกว่าปาณาติบาต
สอง ก็การทำร้ายผู้อื่น โดยเบียดเบียนทรัพย์สิน เรียกว่า อทินาทาน
สาม ก็การล่วงละเมิดคู่ครองของเขา เรียกว่า กาเมสุมิจฉาจาร
สี่ ก็การทำร้ายผู้อื่นในทางวาจา หลอกลวงเขาทำลายผลประโยชน์ของเขาด้วยถ้อยคำเท็จ
4 ข้อนี้เป็นเรื่องของ เวรภัยพื้นฐาน ที่ทำให้มนุษย์มีความเดือดร้อน แล้วก็สังคมก็ต้องเกิดการขัดแย้งกัน ทะเลาะวิวาทอยู่กันไม่สงบสุข ถ้า 4 ข้อนี้เราพ้นไปได้ก็โปร่งเบา ไม่มีเวรภัย อันนี้เป็นขั้นที่ 1 เรียกว่ากรรมกิเลส กรรมที่ทำให้ชีวิตมัวหมอง 4 ประการ
ต่อไปก็ก้าวไปสู่หมวดที่ 2 หมวดที่ 2 ก็เป็นเรื่องที่เบาลงมา แต่เกี่ยวข้องกับตนเองมากขึ้น การที่จะทำให้ชีวิตของเราพ้นจากหลุมอบาย หลุมความเสื่อม ที่จะทำให้การดำเนินชีวิตไม่ก้าวหน้า เพราะมัวไปตกหลุม แล้วก็ชีวิตคฤหัสถ์สำคัญเรื่องการที่จะมีทรัพย์สินเงินทอง ถ้าไปตกหลุมความเสื่อมที่เรียกว่าอบายมุขแล้ว ก็จะทำให้ไม่ขยัน ไม่เอาใจใส่ ไม่ขวนขวายในหน้าที่การงาน แล้วก็ผลาญทรัพย์ ท่านเรียกว่าทรัพย์ที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิด ทรัพย์ที่เกิดขึ้นแล้วก็ทำให้หมดไป อบายมุขก็มี 6 ประการด้วยกัน 1. คือข้อสุดท้ายของศีล 5 การเป็นนักเลง สุรายาเมาสิ่งเสพติด ต่อไปก็ข้อ 2. ก็เป็นนักเลงการพนัน 2 ข้อนี้ สังคมไทยนี้มากเหลือเกิน อบายมุขก็แสดงว่าสังคมไทยในตกหลุมอุบายตกหลุมความเสื่อม แค่นี้ก็ไปไม่ค่อยไหว งั้นก็ต้องถอนตนให้พ้นจากอบายมุข หลุมอบายนี้ไป 2 ข้อแหละ
แล้วต่อไปข้อ 3 การเที่ยวกลางคืนเที่ยวไม่เป็นเวลา ซึ่งทำให้เสียเวลาการงานการศึกษา ก่อเวรภัยเป็นที่หวาดระแวงทำให้ทะเลาะวิวาทกันได้ง่ายเสียสุขภาพทำให้ครอบครัวไม่เป็นสุขแทนที่จะมีความอบอุ่นครอบครัว ก็เลยเสียไป มีทางมาของความเสียหายหลายประการ เที่ยวกลางคืนก็เว้นได้ก็ทำให้ชีวิตนี้มีโอกาสในการทำสิ่งที่ดีงามมากขึ้น เอาเวลาไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์
ต่อไปข้อที่ 4 อบายมุก ก็คือการหมกมุ่นในการบันเทิงเห็นแก่การบันเทิงจนกระทั่งก็ทำให้เสียการศึกษาเสียการเสียงาน เสียสุขภาพ เป็นต้นอีก ทีนี้เวลานี้ก็การหมกมุ่นการบันทึกก็มาก เพราะว่าการบันเทิงเข้ามาถึงในบ้านในห้องนอนด้วยพวกสื่อต่าง ๆ ไม่ต้องไปหาข้างนอกก็ได้ ในบ้านก็เต็มไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นต้องระวังก็อยู่ที่ตนเองต้องมีความเข้มแข็งไม่หล่นลงไปในหลุม ทีนี้ก็ 4 ข้อแล้วต่อไป
ข้อ 5 การคบคนชั่วเป็นมิตร เมื่อคบคนชั่ว คบคนเช่นไรก็เป็นเช่นคนนั้น คบคนนักเลงสุรายาเสพติดก็พาไปติดยา คบนักเลงการพนันก็พาไปเล่นการพนัน คบนักเที่ยวก็พาไปเที่ยว คบพวกหัวไม้ก็พาไปตีกัน คบแม้กระทั้งคนเกลียจคร้านก็พาให้ขี้เกียจไปด้วย ฉะนั้นก็ต้องระวังไม่คบคนชั่วเป็นมิตร
และข้อสุดท้ายก็ความเกียจคร้านในการงานรวมทั้งการเล่าเรียนศึกษา อ้างนู่นอ้างนี่ ไม่ยอมทำหน้าที่ของตนเอง เพราะฉะนั้นก็ให้มีความเข้มแข็ง ไม่เห็นไม่ยอมกันหนาวร้อน เป็นต้น ถ้าหากพ้นอบายมุข 6 ประการนี้ได้ก็ ชีวิตก็มีทางที่จะเจริญก้าวหน้าและแสดงถึงความมีจิตใจเข้มแข็งด้วย เพราะคนที่จะตกลงหลุมอบายมุก โดยปกติเป็นเพราะความอ่อนแอ ไม่สามารถที่จะเหนี่ยวรั้งตนเองและไม่สามารถยืนบนขาของตัวเองได้เต็มที่ ก็เลยทรุดลงไปหรือหล่นลงไป ฉะนั้นก็ให้พ้นจากอบายมุกอีก 6 ประการ
นี้ต่อไปก็ยังมีอีกสิ่งเสียหายอีก 4 อีก 4 นี่เป็นเรื่องของคนที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น พอเราเติบโตขึ้นมาก็จะเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นหัวหน้าที่ทำงาน หัวหน้าหมู่ชนมีความรับผิดชอบ คนที่เป็นหัวหน้าก็จะต้องดำรงรักษาหมู่คณะของตนเองนั้นให้มีความสามัคคี เป็นต้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือความเป็นธรรม เพราะฉะนั้นตรงนี้ท่านก็จะให้หลักว่า อย่าให้เสียความเป็นธรรม การที่จะให้เสียความเป็นธรรม ก็เกิดจากการละเมิดอคติ การล่วงอคติ 4 ประการ อคติ 4 ประการ คือความลำเอียง ลำเอียงอะไร
1.ลำเอียงเพราะชอบกัน ลำเอียงเพราะรัก เรียกว่า ฉันทาคติ
2.ลำเอียงเพราะชัง ไม่ชอบ เรียกว่า โทสาคติ
3.ลำเอียงเพราะเขลา เพราะไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรอง เพราะไม่หาข้อมูลข้อเท็จจริง ด่วนผลีผลามตัดสินลงไป เรียกว่า โมหาคติลำเอียง ลำเอียงเพราะหลง ลำเอียงเพราะเขลา
4.ลำเอียงเพราะกลัว เพราะกลัวก็ไม่สามารถรักษาความเป็นธรรมได้ อันนี้ก็อคติ 4 ประการ ถ้าเว้นเสียได้ เราก็จะรักษาความเป็นธรรมได้
นี่ก็ครบแล้ว 3 หมวดของสิ่งเสียหายที่ต้องละเว้นสำหรับวินัยของคฤหัสถ์ 14 ประการ ก็ไม่มากเท่าไหร่ แต่ว่า ยาก ยากสำหรับสังคมไทยเวลาปัจจุบัน เพราะสังคมไทยเดี๋ยวนี้เหลวไหลไปเยอะ ต้องมีความเข้มแข็ง พวกเราชาวพุทธจะต้องฟื้นฟูสังคมขึ้นมาให้ได้ นี่ส่วนที่ 1
ต่อไปส่วนที่ 2 ส่วนที่ 2 ก็เป็นเรื่องของการวางพื้นฐานชีวิต การวางพื้นฐานชีวิตก็มีเรื่อง 2 อย่างคือ 1. การเงินเศรษฐกิจ 2. เรื่องของคนการจัดการเรื่องคน ก็ด้านที่ 1 ก็เรื่องเงินทอง เรื่องเงินทองนี่เป็นฐานสำคัญของชีวิตคฤหัสถ์ ถ้าการเงินไม่ดีจะทำให้เกิดทุกข์มาก เกิดความเดือดร้อนกังวล นอกจากทุกข์แล้วก็จะทำอะไรก็ขัดข้อง แทนที่จะปลอดโปร่งทำอะไรได้เดินหน้าไปก็มัวพะวักพะวง
นั่นท่านก็บอกว่าให้จัดการเรื่องการเงินทรัพย์สินให้มันดีให้มั่นคงและมั่นใจ เราจะได้ก้าวไปสู่การทำหน้าที่การงานการศึกษาได้เต็มที่เต็มใจของเรา การเงินนั้นก็มี 2 ระดับ
ขั้นที่ 1 ก็คือการแสวงหาด้วยความขยันหมั่นเพียร ก็ให้ขยันเหมือนแมลงผึ้ง แมลงผึ้งนี่ถึงเวลาก็ออกละไม่อยู่ แล้วก็แม้แต่เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เก็บสะสมได้ ได้น้ำหวานเกสรดอกไม้อะไรนิด ๆ หน่อย ๆ มาสร้างรังให้ใหญ่โต โดยความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน เช่นอย่างในครอบครัวก็ต้องมีความสามัคคีกัน ก็จะทำให้การเงินน่ะดี ขยันหาและรักษาให้ดี
แต่ทีนี้ขั้นต่อไปก็วางแผนการใช้จ่าย ตรงนี้ พระพุทธเจ้าจะเน้นเรื่องการวางแผนการใช้จ่าย ถ้าการใช้จ่ายเรื่อยเปื่อยไม่มีแผนมันก็ทำให้ไม่มั่นคงและไม่มั่นใจ คนที่มีแผนจัดทำอะไรตามแผนที่วางไว้ก็คือมีระเบียบนั่นเอง เมื่อมีระเบียบแล้วก็เกิดความมั่นใจ นึกขึ้นมาก็ชัดเจนว่าการเงินของเราเป็นอย่างไรจะใช้จ่ายอะไรเท่าไหร่เนี่ย อันนี้ต้องชัดต้องแม่น ต้องขอย้ำว่าเรื่องการเงินนี่ คนไทยเราก็ปล่อยปละละเลยอยู่ในความประมาทกันมาก ฉะนั้น จึงควรจะนำหลักที่พระพุทธเจ้าสอนมาใช้ ในชาวพุทธเราก็ไม่ปฏิบัติตาม แม้แต่เรื่องง่าย ๆ เอ้าเราวางแผนการใช้ทรัพย์ ก็จัดทรัพย์เป็นส่วน ๆ ว่าจะใช้จ่ายอะไรต่ออะไรเท่าไหร่ท่านก็วางไว้เป็นตัวอย่าง นี่ตามสมัยโบราณอาจจะใช้ให้เหมาะกับสมัยนี้ก็มาปรับเอา
บอกให้จัดสรรทรัพย์เป็น 4 ส่วน
ส่วนที่ 1 นี่ให้ใช้จ่าย ใช้จ่ายก็แบ่งไปอีก จ่ายเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงบิดามารดา เลี้ยงคนในปกครอง ดูแลทั้งหลายที่เรารับผิดชอบให้เป็นสุข เมื่อทุกคนที่เรารับผิดชอบเป็นสุข แล้วทีนี้ก็พอมีเงินเหลือจากนั้นก็ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เขาตกทุกข์ได้ยาก เป็นต้น ทำการกุศลทำความดีอะไรที่เป็นการสร้างสรรค์สังคมก็ร่วมช่วยเหลือ ทั้งหมดนี่อยู่ในส่วนที่หนึ่งที่เรียกว่าใช้จ่าย ก็ไปคิดดูวางแผนให้ดี
ต่อไปอีก 2 ส่วนลงทุนทำกิจการงาน การงานเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิตท่านให้มาก ให้ 2 ส่วนเลย จะทำงานอะไรก็ว่าไปตามงานนั้น ทีนี้
ต่อไปอีกส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นหลักประกันชีวิตในยามจำเป็นเพราะว่า ธรรมชาติก็ดี สังคมก็ดี ชีวิตของทุกคนก็ดี ตกอยู่ใต้ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะฉะนั้นประมาทไม่ได้ก็ต้องสร้างหลักประกันไว้ก็คือ เก็บทรัพย์ไว้ส่วนหนึ่ง ว่าเกิดมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นไม่คาดฝันก็มีใช้จ่าย อันนี้แหละเป็นเหตุที่จะทำให้เรามั่นใจและก็มีมั่นคงในเรื่องการเงิน พอการเงินมั่นคง แล้วทีนี้ส่วนอื่นก็จะพลอยมั่นคงและก้าวไปได้
ต่อไปก็อีกด้านหนึ่งก็คือ เรื่องคน เรื่องคนก็คือรู้จักคบหา เลือกคบทั้งคนระดับเดียวกัน ทั้งคนที่มาช่วยงาน ทั้งคนที่เราจะไปปรึกษาหารือ เป็นครูอาจารย์ เป็นผู้บังคับบัญชาหรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นทางความเจริญก้าวหน้า ท่านก็ให้เลือกคบมิตร ให้เว้นมิตรเทียมหรือศัตรูผู้มาในร่างมิตร 4 ประเภท ซึ่งมีลักษณะประเภทละ 4 แล้วคบหามิตรแท้คือมีด้วยใจจริง ซึ่งมี 4 ประเภทแต่ละประเภทก็มีลักษณะอย่างละ 4 อันนี้ก็ให้แต่หัวข้อ เป็นอันว่าโดยสาระสำคัญก็คือว่าเลือกคบคน เลือกคบคนดีเว้นคนชั่ว แต่ว่าท่านก็ยกเว้นบอกว่า ไม่คบคนพาลเว้นแต่จะช่วยเขา ไม่ใช่หมายความว่าจะไม่เอาใจใส่คนโง่คนพาลคนเลวซะเลย คือถ้าเราแข็งพอ เราก็ต้องช่วยเหลือผู้อื่น ดึงคนพาลคนไม่ดีขึ้นมาสู่ความดีงาม
ทีนี้ต่อไปเอาล่ะได้แต่หัวข้อพอสมควร นี้ต่อไปก็ก้าวไปสู่ส่วนที่ 3 ส่วนที่ 3 นี่เป็นเรื่องการอยู่รวมสังคม การมีชีวิตที่เกื้อกูลต่อผู้อื่น แล้วก็ทำหน้าที่ต่อเพื่อนมนุษย์ให้ถูกต้อง เพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในสังคมก็อยู่รอบตัวเรา ท่านก็บอกว่าคนเรานั้นก็อยู่ในสถานะต่าง ๆ โดยสัมพันธ์กับตัวเรา นั่นท่านเลยแบ่งคนเหล่านี้เป็นทิศ เป็นทิศทั้ง 6 ก็แบ่งคนเป็นสถานะต่าง ๆ ตามทิศเหล่านี้
เริ่มด้วยทิศที่ 1 ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องหน้าผู้มาก่อน ก็ได้แก่บิดามารดา คุณพ่อคุณแม่มาก่อนเรา เป็นผู้นำชีวิตของเรา และเป็นผู้ถ่ายทอดทรัพย์ต่าง ๆ ให้ ทั้งทรัพย์ภายนอกและภายใน นี้ที่เราได้เจริญเติบโตรู้จักดำเนินชีวิตนี้ก็อาศัยคุณพ่อคุณแม่ ท่านเรียกว่าเป็นบูรพาจารย์ เป็นอาจารย์คนแรกได้เรียนวิชาจากพ่อแม่ก่อน เรียนได้โดยไม่รู้ตัวทำตามท่าน ทั้งทำตามอากัปกิริยาพฤติกรรม ทั้งทำตามคำพูดแนะนำของท่านทั้งถ่ายทอดทางความรู้สึกจิตใจได้หมด นี่ก็เลยเป็นผู้มีพระคุณสูง เพราะเป็นอาจารย์คนแรก เป็นผู้ให้ชีวิต เป็นผู้นำ แล้วก็ท่านก็ให้มาจนกระทั่งว่าการที่จะนำสู่การศึกษาเล่าเรียนเป็นต้น ก็เลยให้มีหน้าที่ต่อคุณพ่อคุณแม่ 5 ประการด้วยกัน ท่านเรียกว่า ไหว้ทิศ
ไหว้ทิศที่ 1 คือทำหน้าที่ต่อคุณพ่อคุณแม่ให้ถก 1 ท่านเลี้ยงเรามาแล้วเลี้ยงท่านตอบแทน
2.แม้จะยังไม่มีกำลังเลี้ยงทานได้ก็ช่วยเหลือธุรการงานรับใช้ท่าน
3.ดำรงรักษาวงศ์ตะกูลอย่างน้อยก็รักษาชื่อเสียงเกียรติคุณของพ่อแม่ไว้ให้ดี ไม่ให้เสื่อมเสียไปเพราะเรา แต่ว่าช่วยเชิดชูให้สูงยิ่งขึ้น
4. ก็ทำตนให้สมเป็นทายาทเป็นผู้รับมรดกให้รับมรดกทั้งทางทรัพย์ทางวัตถุและทรัพย์ภายในคือพ่อแม่มีคุณธรรมความดีความขยันหมั่นเพียรอะไรก็รู้จักรับรู้จักถ่ายทอดเอามาก็รับทรัพย์มรดกทางนามธรรมด้วย
แล้วก็ 5 เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วก็ทำบุญอุทิศให้ท่าน อันนี้ก็เป็นหน้าที่ต่อบิดามารดา ถ้าเป็นพ่อแม่เองก็ทำหน้าที่ต่อลูก 5 ประการ นี่ก็เป็นตัวอย่างทิศที่ 1 เป็นตัวอย่าง
ต่อไปทิศที่ 2 ทิศเบื้องขวาครูอาจารย์ เป็นลูกศิษย์ก็ทำหน้าที่ต่อครูอาจารย์ 5 เป็นอาจารย์ลูกก็ทำหน้าที่ต่อลูกศิษย์ 5
ต่อไปก็ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องหลังก็คือ ผู้มาทีหลังได้ก็คู่ครอง ๆ นี่อีกนาน ตามหลังพ่อแม่มันนาน ๆ ตั้ง 20 ปี 30 ปี ทิศเบื้องหลังนี้มีหน้าที่ต่อกันก็คือสามีภรรยา สามีก็มีหน้าที่ต่อภรรยา 5 ภรรยาก็มีหน้าที่ต่อสามี 5 อย่าง ก็ทำหน้าที่ต่อกันให้ถูกต้อง
ต่อไปทิศที่ 4 ทิศเบื้องซ้ายก็ผู้เกื้อหนุนกันประคับประคองกัน ทำให้อย่างน้อยอบอุ่นใจก็ได้แก่ มิตร เพื่อนต่อเพื่อนก็มีหน้าที่ต่อกันฝ่ายละ 5
ต่อไปทิศที่ 5 ทิศเบื้องล่างได้แก่ ผู้ใต้บังคับบัญชา คนรับใช้ คนงาน กรรมกรก็มีหน้าที่ต่อกันระหว่างนายงานกับคนงาน ฝ่ายละ 5 เช่นให้มีความเป็นธรรมมีน้ำใจต่อกันช่วยเหลือเกื้อกูลเอาใจใส่กัน ให้ดีงาม เพื่อจะให้งานส่วนรวมดำเนินไปได้ดี ถ้าทั้งสองฝ่ายทั้งนายงานคนงานมีน้ำใจต่อกันแล้ว งานส่วนรวมก็เดินไปด้วยดี ก็เป็นประโยชน์ร่วมกันนั่นเอง
ต่อไปทิศที่ 6 ก็ทิศเบื้องบน ได้แก่สมณพราหมณ์พระสงฆ์ พระสงฆ์ก็มีหน้าที่ต่อกันกับญาติโยม ญาติโยม คฤหัสถ์ก็มีหน้าที่ต่อพระสงฆ์ 5 พระสงฆ์ก็มีหน้าที่ต่อญาติโยม 6
ตอนนี้ญาติโยมก็ไม่รู้มีหน้าที่ต่อพระสงฆ์อย่างไร พระสงฆ์บางทีก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีหน้าที่ต่อจากญาติโยมอย่างไร นี่แสดงว่าทิศ 6 วินัยของชาวพุทธและมันเลื่อนลางไปหมดแล้ว ก็อยู่กันไปอย่างงั้นถวายภัตตาหารไปท่านก็ฉันไป ตาท่านฉันเสร็จแล้วก็ไปตามเรื่องของท่าน ไม่รู้ว่ามีหน้าที่อย่างไรต่อกัน ก็เนี่ยฝ่ายละ 5 กับ 6 มีพระอันเดียวทั้งหมด 6 ทิศ ที่มีหน้าที่มากที่สุด คือทุกข้อ เขามีหน้าที่ฝ่ายละ 5 แต่พระมีหน้าที่ 6 อย่าง สุดท้ายเลย แต่ว่าโดยสาระก็คือ พระมีหน้าที่ต่อญาติโยมคือให้ธรรมะ เรียกว่าธรรมทาน ฝ่ายโยมก็มีหน้าที่ต่อพระ เรียกว่า อมิสทาน หมายความว่าพระนี่มีหน้าที่ดำรงรักษาธรรมะไว้ให้แก่สังคมมนุษย์ เพราะว่าสังคมมนุษย์จะอยู่ดีได้ต้องมีธรรมะ นี้เมื่อพระสงฆ์ท่านดำรงธรรมะไว้ให้ ญาติโยมก็เลยถือเป็นหน้าที่ว่าเราจะต้องเกื้อหนุนให้ท่านไม่ต้องมาห่วงใยชีวิตด้านวัตถุและท่านก็ต้องการวัตถุน้อยอยู่แล้ว ก็เลยบอกท่านว่า ท่านไม่ต้องห่วงกังวลนะว่า วัตถุน่ะ ฉันจะเลี้ยงดูเอาใจใส่เอง ท่านตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติเผยแผ่ธรรมะไปเถิด ที่ญาติโยมเขาอุปถัมภ์บำรุงก็เพื่ออันนี้ คือให้พระได้ไม่ต้องกังวลวัตถุจะได้ตั้งใจอุทิศเวลา อุทิศเร็วแรงกำลังให้แก่การศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติและเผยแพร่ธรรมได้เต็มที่ ถ้าทั้งสองฝ่ายทำหน้าที่ต่อกันด้วยดี สังคมก็จะเจริญมั่นคง ก็อยู่ที่นี่ถ้าชาวพุทธ เพียงทำหน้าที่ต่อกันนี่สังคมก็ดีขึ้นเยอะเลย นี่ก็เรื่องของทิศ 6 ก็คือมีหน้าที่ต่อกันระหว่างคนในสังคมนั้นเอง ถ้าเป็นตัวเราก็ปฏิบัติหน้าที่ต่อทิศทั้ง 6 นี้ให้ถูก นี่ก็จวนจะจบแล้ววินัยของคฤหัสถ์
ก็เหลือหมวดเดียว หมวดเดียวก็มองกว้าง คราวนี้มองคลุมทั้งสังคมว่า เราทุกคนนั้นมีหน้าที่จะประสานสังคมนี้ให้เป็นเอกภาพมีความสามัคคีมั่นคง ในการปฏิบัติตามหลักการสงเคราะห์ เรียกว่า สังควัตถุ 4 ประการ สังควัตถุ 4 ประการ นี้เป็นหลักสำคัญ เพราะว่ามนุษย์เรานี่มีโอกาส มีกำลัง มีความสามารถไม่เท่ากัน ถ้าไม่เกื้อหนุนช่วยกันแล้วสังคมก็จะอยู่ด้วยดีไม่ได้ แล้วก็จะเบียดเบียนกัน แทนที่จะปล่อยกันไปก็ให้มาเกื้อหนุนกัน ซึ่งจะได้ทางจิตใจก็ดีด้วย ท่านก็เลยให้สังควัตถุ 4 ประการไว้ เป็นหลักการประสานสังคมและยึดเหนี่ยวใจกัน หนึ่ง ยึดเหนี่นวใจกันประสานสังคมด้วยอะไร ด้วยการให้ ท่านเรียกว่าทาน คือมีทรัพย์สินเงินทองสิ่งของเครื่องใช้ตลอดจนวิทยาความรู้ก็มาเผื่อแผ่กัน คนที่เขาด้อยโอกาสขาดกำลังหรือมีปัญหาหรือเกิดภัยพิบัติก็ได้ช่วยเหลือกัน นี่ก็ หนึ่ง ให้ด้วยเมตตาและยามปกติ สอง ให้ด้วยกรุณายามเขาเป็นทุกข์เดือดร้อนประสบภัยพิบัติ สามให้ในยามเขาทำดีประสพความก้าวหน้าเป็นการเกื้อหนุนส่งเสริม
ต่อไปก็ข้อ2 ก็สงเคราะห์กันด้วยวาจามีน้ำใจแล้วก็ปิยวาจาคือว่า ยามปกติก็พูดกันด้วยเมตตาไมตรี ยามเขาเดือดร้อนก็ใช้วาจาปลอบโยน แนะนำวิธีแก้ปัญหา ยามเขาทำดีงามก้าวหน้าประสพความสำเร็จก็ใช้วาจาส่งเสริมสนับสนุนให้กำลังใจ
แล้วก็ต่อไปก็ข้อที่ 3 อัตตกิริยาใช้แรงกำลังความสามารถไปช่วยเหลือเกื้อหนุนผู้อื่นด้วยเมตตายามปกติ ด้วยกรุณายามเขามีความทุกข์เดือดร้อน เช่น ตกน้ำ ติดไฟไหม้ หรือมีความอ่อนแอเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วก็ใช้กำลังเรี่ยวแรงของตนไปเพื่อเกื้อหนุนผู้อื่นที่เขาทำความดี เช่น เขาทำอะไรที่เป็นการสร้างสรรค์สังคม ทำบุญ ทำกุศล ก็ไปร่วมช่วย ให้แรงให้กำลังความสามารถส่งเสริมการทำความดีก็ทำด้วย มุทิตา นี่เรียกว่า อัตตกิริยา
ข้อที่ 4 สุดท้าย ก็คือมีความเสมอภาค มีคนเสมอ เรียกว่า สมานตัตตา คือว่า อยู่ด้วยกันก็ไม่ดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน อยู่ด้วยกันก็ไม่เอารัดเอาเปรียบกันอยู่ด้วยกันก็ไม่เลือกที่รักผลักที่ชังให้ความเสมอภาคกัน แล้วก็อยู่ด้วยกันก็ร่วมสุขร่วมทุกข์กันไม่ทอดทิ้งกันในยามมีทุกข์ร่วมกันแก้ปัญหา เรียกว่า สมานตัตตาตัว เอาตัวเขาเสมอสมาน
ครบ 4 ประการนี้ก็เป็นหลักที่จะทำให้สังคมทุกระดับมีความสามัคคีและก็อยู่กันได้ดีมีความสงบสุขเจริญมั่นคง ตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไป พ่อแม่ก็ต้องใช้สังควัตถุ 4 ประการนี้กับลูก แล้วก็ต่อไปก็ขยายไปทั่วทั้งสังคม นี่หมดนี่ท่านเรียกว่า คีวินัย
ถ้าชาวพุทธทุกคน อยากจะให้จำให้แม่นว่าคีวินัยของคฤหัสถ์นี่ แค่นี้แหละสังคมไทยเจริญมั่นคงแน่ แต่แค่คีวินัยนี่ชาวพุทธไทยก็ทำไม่ได้ อย่าว่าแต่ทำไม่ได้เลย รู้ยังไม่รู้เลย ก็จะทำยังไง เพราะฉะนั้นสังคมก็เป็นอย่างนี้ แล้วจะมาว่าพระพุทธศาสนาก็ไม่เห็นช่วยสังคมอะไร ก็เราไม่เอาพุทธศาสนาแล้ว ฉะนั้นขอให้รื้อฟื้นกันคีวินัยของคฤหัสถ์ อย่ามองแต่เพียงวินัยพระ เดี๋ยวจะไปดูพระไม่เห็นประพฤติตามวินัยเลย พระเสื่อม แต่โยมเสื่อมก่อนแล้ว เพราะว่าโยมนี้ไม่รู้จักวินัยมานานแล้ว ก็เลยต่อมาพระก็เสื่อมบ้าง ทีนี้พอเสื่อมครบสองฝ่ายทีนี้ก็หมด ก็เลยตอนนี้ต้องรื้อฟื้นแล้ว พระจะมีวินัยดีเมื่อโยมมีวินัยด้วย ถ้าหากว่าโยมมีวินัยดีตั้งอยู่ที่คีวินัย พระโดนล้อมกรอบ พระไม่มีทางแล้ว พระก็โดนคลุมโดยศรัทธา โดยไม่รู้ตัวเลย เพราะโยมอยู่ในวินัยแล้วพระก็ดิ้นไม่ได้ พระก็ต้องอยู่ในวินัยด้วย ก็คุมกันเป็นชั้น ๆ คุมกันด้วยความเคารพนับถือปฏิบัติที่ถูกต้องและตอนนี้ก็เลยมาย้ำเรื่องคีวินัย วินัยของคฤหัสถ์เนี้ย 3 ส่วน ก็มี หนึ่ง เว้นความชั่วเสียหาย 4 ประการ สอง วางฐานชีวิตให้มั่น 2 ด้าน แล้วก็ สาม ก็ทำหน้าที่ต่อสังคมให้ถูกต้อง โดยหลักที่ สังฆวัตถุ 4 จบที่คึวินัย แล้วทีนี้ชีวิตก็มีระเบียบสังคมก็มีระเบียบ การจัดระเบียบสังคมสำเร็จ ตอนนี้ก็สังคมไทยกำลังพยายามแค่จัดระเบียบกันตอนนี้ก็หนักหนาเต็มที นี้พอมีวินัยระเบียบชีวิตระเบียบสังคมดีแล้ว ท่านก็บอกเอาแล้ว ตอนนี้เดินหน้าต้องวางจุดหมายชีวิตแต่ละคนก็ดำเนินชีวิตไปสู่จุดหมาย
พระเจ้าก็วางจุดหมายไว้ให้อีก โดยมากคนไปคิดเอาอะไรเป็นจุดหมายชีวิต มักจะมองอันเดียว พระพุทธเจ้าตรัสแบ่งเป็นระดับ ๆ เป็นขั้น ๆ ก็วางระดับจุดหมายเป็น 3 ขั้น ทั้ง 3 ท่านนี่คงแม่นแล้วนะ
ระดับที่ 1 อะไรจุดหมายขั้นตาเห็น ทิฏฐธัมมิกัตถะ ที่เป็นรูปธรรมปัจจุบันทันตาอะไรบ้าง หนึ่ง อะไรนะว่าดัง ๆ อุฏฐานสัมปทา อันนี้เป็นวิธี นี่โดยมากท่องกันเป็นประโยชน์ปัจจุบัน ที่จริง 4 ข้อนี่ไม่ใช่ตัวประโยชน์ มันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้บรรลุจุดหมาย อุฏฐานสัมปทาถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร อารักขสัมปทาถึงพร้อมด้วยการรักษา กัลยาณมิตตตา มีมิตรดีงาม ในชีวิตที่พอดีเรียกว่าเป็นธรรมะที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบันไม่ใช่ตัวประโยชน์ แล้วประโยชน์ปัจจุบันในที่นี้จำกัดเฉพาะทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งแคบ ความจริงพระพุทธเจ้าตรัสนี้มากกว่านี้เยอะ เอ้า ตัวประโยชน์คืออย่างนี้ ตัวประโยชน์ปัจจุบัน 1 ทรัพย์สินเงินทอง เรื่องเศรฐกิจ อันนี้ซิตัวประโยชน์ตัวจุดหมาย และที่ อุทานะสัมปทา เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อให้ได้ประโยชน์อันนี้ นี่เวลาอ่านในแบบในตำรา มันพล่า บางทีเข้าใจผิดนึกว่าตัวนั่นเป็นตัวประโยชน์ มันถึงพร้อมด้วยหมั่น มันจะเป็นตัวจุดหมายได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ เป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้บรรลุจุดหมาย ตัวจุดหมายคือ หนึ่ง การมีทรัพย์สินเงินทองอย่างน้อยพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ นี้อันที่ 1 นี่จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าเน้นเรื่องเงินทองมาก สำหรับคฤหัสถ์ อย่ามาว่าพุทธศาสนานี่ ไม่เอาใจใส่วัตถุพูดแยกให้ถูกเป็นด้าน ๆ ท่านถือว่าวัตถุอย่างเดียวไม่พอ แต่ไม่ใช่ไม่สำคัญและสำคัญต่อชีวิตในแต่ระดับไม่เหมือนกัน สำหรับคฤหัสถ์สำคัญแบบหนึ่ง สำหรับพระสำคัญอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนกัน ต้องแยกแยะให้ถูกอย่าพูดคลุม ๆ ก็เอาละ 1 ก็คือเรื่องทรัพย์สินเงินทองก็ต้องใช้หลักที่ว่ามีความขยันหมั่นเพียรเป็นต้น เก็บรักษาใช้จ่ายให้เป็นวางแผนแบบเนี้ยอะไรพวกนี้ ก็จุดหมายที่ 1 ด้านทรัพย์สินเงินทองพึ่งตัวเองทางเศรษฐกิจ สอง สถานะทางสังคมอย่างน้อยทำตัวให้เป็นที่ยอมรับไม่น่ารังเกียจ แล้วก็ก้าวหน้าไปในยศตำแหน่งหน้าที่การงานมียศศักดิ์บริวาร นี่เรียกว่าเป็นด้านที่สอง ของประโยชน์จุดหมายทันตาหรือปัจจุบัน สาม ก็เรื่องอะไรเรื่องสุขภาพ ร่างกายแข็งแรงอย่างพระพุทธเจ้าก็ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศล เล่าแทรกก็ได้ ญาติโยมจะได้ฟังด้วย พระเจ้าปเสนทิโกศลเนี่ย มีพระชนมายุเท่ากับพระพุทธเจ้า นี่ก็รักพระพุทธเจ้ามากมีโอกาสก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ทีนี้พระองค์เสวยจุ ๆ ก็ทรงพระอ้วน ทีนี้ก็อ้วนก็อุ้ยอ้าย ๆ แล้วก็อึดอัด เวลาไปเฝ้าพระพุทธเจ้าวันหนึ่ง เสวยไปใหม่ ๆ พอไปประทับนั่งและทีนี้ก็ทรงอึดอัดพระพุทธเจ้าทรงสังเกตเห็น พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสคาถาออกมา ซึ่งโดยสาระสำคัญก็บอกว่านี่ ผู้ที่มีสติ แล้วก็รู้จักประมาณในการบริโภคให้พอดี ก็จะย่อย การย่อยต่าง ๆ ก็เป็นไปได้ดีแล้วก็จะมีอายุยืนและพระองค์ก็ตรัสด้วยสาระสำคัญทำนองนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าทรงเตือนพระองค์ ด้วยความปรารถนาดี ก็เลยทรงหันไปตรัสกับราชวัลลภ คือผู้ติดตามคนสนิทนั่นเอง บอกว่า หลาน เป็นหลานน่ะ ราชวัลลภคนนี้ เอ้าช่วยจำไว้หน่อยคาถาที่ท่องไว้ เวลาฉันไปเสวยแล้วน่ะ เวลาจะเริ่มตักช้อนแรกแล้วรีบว่าคาถานี้เลย คือเกรงว่าพระองค์จะเผลอ ใช่ไหม เพราะว่าเสวยจุ พอจะเสวย พอเริ่มตักคำแรกก็ให้หลานว่าคาถานี้ เพราะว่าคาถานี้พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ระวังพระองค์ ต่อมาหลาย ๆ เดือนปรากฏว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีพระวรกายกระปรี่กระเปร่าขึ้น วันหนึ่งก็เลยทรงมาปรารภรําพึงกับพระองค์เอง พระพุทธเจ้าทรงมีความปรารถนาดีต่อพระเจ้าปเสนทิโกศลคือตัวพระองค์เอง ไม่เฉพาะด้าน สัมปรายิกัตถะประโยชน์ทางนามธรรมเท่านั้น พระพุทธเจ้าทรงปรารถนาดีต่อพระองค์ แม้แต่ ทิฏฐธัมมิกัตถ ด้วย นี่แหละ ที่พุทธเจ้าตรัสประโยคปัจจุบันอันหนึ่งก็คือเรื่องของสุขภาพ ฉะนั้นก็ การรักษาสุขภาพนี่ก็เป็นจุดหมายชีวิตปัจจุบันอันหนึ่งแล้วต่อไปก็ สี่ เรื่องชีวิตครอบครัว ถ้าใครมีครอบครัวก็อยู่กันให้มีความผาสุขอบอุ่นด้วยดี 4 ข้อนี่คือจุดหมายชีวิตในระดับรูปธรรม ปัจจุบันทันตา คฤหัสถ์ก็ต้องพยายามทำให้ได้ ต่อไปท่านบอกว่าไม่พอนะจุดหมายขั้นตาเห็น ต้องก้าวต่อไปอีกจุดหมายขั้นที่ 2 เลยตาเห็นเป็นนามธรรมลึกซึ้งในต่างจิตใจเลยไปถึงโลกหน้า เรียกว่า สัมปรายิกัตถะ ก็ได้แก่อะไรบ้าง
1. มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจมีศรัทธา เช่นในพระศาสดาในพระรัตนตรัยในการทำความดี ก็จะทำให้จิตใจนี้ไม่อ้างว้างว้าเหว่ นี่ก็เป็นข้อที่ 1 เรียกว่าศรัทธา แล้วก็
2. ก็ มีชีวิตที่สุจริต ทำความดีเว้นความชั่ว อันนี้ก็ทำให้เรามีความภูมิใจในชีวิตของตนเองที่สะอาดบริสุทธิ์
3. ก็ได้ทำคุณประโยชน์ เรียกว่า จาคะ ได้ใช้ชีวิตทำความดีทำประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์กับสังคมและระลึกเมื่อไหร่ก็มีความสุข แล้วก็
4. มีปัญญารักษาตนแก้ปัญหาได้ แล้วก็
5. ก็ทำแต่กรรมดีมั่นใจในโลกหน้า อันนี้ก็เป็น สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ที่เลยไปลึกซึ้งทางจิตใจ สัมปรายิกัตถะนี้ก็มาเป็นหลักประกันที่จะทำให้กัดถะว่าเรามีประโยชน์ปัจจุบันรูปธรรมทรัพย์สินเงินทองเกียรติยศฐานะแล้ว ถ้าไม่มีประโยชน์เลยตาเห็นนามธรรมมาช่วยก็อาจจะลุ่มหลงมัวเมาแล้วใช้ไปในทางไม่ดี คนมีเงินทองทรัพย์สินยศบริวารนี้ อาจจะใช้ในทางชั่วร้ายก็ได้ยิ่งเป็นโทษมาก แต่พอมีสัมปรายิกัตถะมาคลุมให้ใช้ในทางดี ยิ่งมีเงินมากยิ่งมีทรัพย์สินยศบริวารมากก็ยิ่งทำประโยชน์ได้มากกว่า นั้น 2 ระดับที่ประสานกันก็อย่าหยุดแค่ที่จะ ทิจธรรมมิกะถะ ต้องก้าวไปสู่สัมปรายิกัตถะด้วย
ต่อไปก็ยังไม่พอยังอีกขั้นหนึ่ง ก็คือคนเรานี่คนดีคนร้ายก็อยู่ใต้อำนาจของกฎธรรมชาติมีอนิจจังไม่เที่ยงเป็นต้น ฉะนั้นเราก็อยู่ใต้กฎธรรมชาติมีความเปลี่ยนแปลงมีโลกธรรมปรากฏขึ้นก็ มีความทุกข์มีความสุขไปตามความผันแปรนั้น ท่านก็เลยบอกว่าให้ก้าวไปสู่ประโยชน์สูงสุดก็คือการมีปัญญารู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต เมื่อรู้เข้าใจความจริงของโลกชีวิต ทำจิตใจให้เป็นอิสระได้ก็จะไม่ตกอยู่ใต้อำนาจโลกธรรม ความผันผวนปรวนแปรทั้งดีทั้งร้าย ก็จะมีจิตใจที่มั่นคง เป็นจิตใจที่ปลอดโปร่งผ่องใสเป็นจิตเกษมได้ตลอดเวลา อันนี้ท่านเรียกเป็นมงคลอันสูงสุดเป็นประโยชน์สูงสุดเป็นข้อที่ 3 ปรมัตถะ ก็เป็นว่าจบ ชาวพุทธก็ต้องพยายามดำเนินชีวิตให้บรรลุจุดหมายทั้ง 3 ขั้น ก็แบ่ง 3 ด้านหนึ่งประโยชน์ 3 ขั้นนี้ทำเพื่อตนเองเรียกว่า 2 อัตถะ 2 ประโยชน์และจุดหมาย 3 ขั้นนี้ช่วยพูดอื่นให้เขาบรรลุด้วยเรียกว่า พระราธะ 3 สิ่งที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขร่วมกันทั้งทางวัตถุและนามธรรม เช่นสิ่งสาธารณูปโภค แล้วก็เรื่องของศีลธรรมวัฒนธรรมอะไรที่จะดำรงสังคมของเราให้อยู่ดีให้เป็นสิ่งที่เอื้อโอกาสกันทุกคนได้เรียก อุปะยะถะ ประโยชน์สวนรวมร่วมกัน ก็ทำให้ครบ 3 ด้านประโยชน์ 3 ขั้นทำให้ครบ 3 ด้านนี้ก็เป็นการบริบูรณ์ ก็จบ หลักการครองชีวิต นอกจากนี้แล้วก็เป็นรายละเอียดปลีกย่อย
ก็ขอให้ทั้ง 3 ท่านนี้ได้ช่วยกันนำเอาหลักคีวินัยไปปฏิบัติแล้วก็ฟื้นฟูขึ้นมาเพื่อให้สังคมไทยนี้ ซึ่งเป็นสังคมชาวพุทธนี่สมชื่อเป็นชาวพุทธ ไม่ใช่เป็นสังคมเหลวไหลตกอยู่ในอบาย จะได้มีความเจริญมั่นคงต่อไป
ก็ขออนุโมทนาในการที่ได้มาอุปสมบทพร้อมด้วยความร่วมใจของคุณพ่อคุณแม่ ญาติมิตรทั้งหลายมีความรักความเมตตาก็เป็นพรที่ท่านมาวันนี้ก็มาด้วยความรักได้รับทั้งพรพระรัตนตรัย พรจากคุณพ่อคุณแม่ ญาติมิตรท่านทั้งหลายเมตตาไมตรี ก็ขอร่วมส่งเสริมกำลังใจอาราธนาคุณพระรัตนตรัยอวยชัยให้พร ระตะนัตตะยานุภาเวนะ ระตะนัตตะยะเตชะสา เดชานุภาพ คุณพระรัตนตรัยพร้อมทั้งบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้วด้วยการอุปสมบท บวชเรียนครั้งนี้ จงเป็นปัจจัยภิบารรักษาให้ทั้ง 3 ท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัยพรั่งพร้อมด้วยคุณพ่อคุณแม่ ญาติพี่น้อง ลุงป้าน้าอาทั้งหลาย ขอให้เจริญก้าวหน้าในการดำเนินชีวิตและกิจการงานการศึกษาเล่าเรียน ให้บรรลุผลสำเร็จสมความมุ่งหมายสามารถบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ชีวิตตนแก่ครอบครัวแก่สังคมประเทศชาติและแก่ชาวโลกนี้ทั้งหมด ให้มีความร่มเย็นงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่านทุกเมื่อเทอญ