แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
มาคุยกันต่อในเรื่องความสุข ทีนี้ความสุขว่าถึงหลักการทั่ว ๆ ไปแล้ว ทีนี้ก็มาดูเรื่องความสุขที่จะมีได้ตามหลักการของพระพุทธศาสนาเป็นประเภทเป็นระดับสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ แต่หมายถึงมนุษย์ที่มีการฝึกฝนพัฒนาตนด้วย ว่าเมื่อมีการพัฒนาชีวิตขึ้นไปแล้ว เราจะสามารถมีความสุขเพิ่มขึ้นก็มาดูว่าชีวิตมนุษย์ทั่วไป ๆ นี่มีความสุขกันยังไง ก็ดูที่การดำเนินชีวิตของเขา มนุษย์เกิดมานี่เป็นอยู่อย่างไรบ้าง ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่แต่ละขณะ แต่ละเวลาประจำวัน เป็นเรื่องของสิ่งธรรมดาสามัญ มนุษย์เกิดมาก็
1.คือมนุษย์เราชีวิตของเรานี่ทั้งชีวิต เริ่มตั้งแต่ร่างกายมันก็เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่ง เกิดมาตามกฎธรรมดาของธรรมชาติอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ตั้งแต่มนุษย์ยังไม่ได้เจริญยังไม่ได้สร้างสรรค์อารยธรรม เวลานั้นก็จะเห็นชัดเจนเกิดมาก็อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมก็คือ ธรรมชาติทั้งมนุษย์ด้วยกัน ทั้งสิงสาลาสัตว์ ต้นไม้ ภูเขา น้ำ สายลมแสงแดด ดินน้ำลมไฟอะไร ๆ ก็อยู่กันไป ชีวิตของเขานี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อันนี้ที่มนุษย์มีชีวิตอยู่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาตินี่ ความสุขความทุกข์ของเขา ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องธรรมชาติ ก็อยู่ในธรรมชาติมันก็มีธรรมชาติที่รื่นรมย์สบาย อากาศที่เกื้อกูล บางทีก็เปลี่ยนไปไม่เกื้อกูล บางทีก็ร้อนไปหนาวไป เวลาหายจากร้อนจากหนาวสบายก็มีความสุขอะไรอย่างนี้นะ ก็สุขทุกข์หมุนเวียนเปลี่ยนไป แล้วก็อยู่ท่ามกลางธรรมชาติก็ได้บรรยากาศ บางทีเวลาต้องการสายลม ๆ พัดมาเย็นสบายก็มีความสุข ไปร้อน มาเจอที่น้ำ ได้อาบน้ำชำระกายก็มีความสุข หรือว่าไปอยู่ท่ามกลางหมู่ต้นไม้ ไปเห็นภูเขาวิวดี ๆ ก็สวยงามมีความสุข อะไรเงี่ยมันก็มีมาจนกระทั่งมนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ ชีวิตก็หนีธรรมชาติไม่พ้น ฉะนั้น ความเป็นอยู่ของมนุษย์ก็คือ ชีวิตที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติโดยตัวเองก็เป็นธรรมชาติด้วย อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งแล้ว สุขทุกข์เขาก็มาจากแหล่งสำคัญ อันนี้
แห่ลงที่ 1 ก็คือธรรมชาติแวดล้อม
เอาทีนี้ต่อไป 2 อะไร มนุษย์ก็เป็นมนุษย์ ก็เกิดมาก็อยู่กับมนุษย์ โดยเฉพาะ มนุษย์นี่มีลักษณัพิเศษที่เขาเรียกเป็นสัตว์สังคม ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวอยู่กันเป็นหมู่เป็นพวกเป็นคณะ ความเป็นสัตว์สังคมนี้ ก็ทำให้มนุษย์นี่มาตั้ง สร้างบ้านสร้างเมือง เริ่มตั้งแต่หมู่บ้านเป็นต้นไป อยู่กันเป็นสังคม ที่นี้การที่มนุษย์อยู่ร่วมกันในหมู่มนุษย์เอง เริ่มตั้งแต่ในครอบครัว มีพ่อ มีแม่ มีลูก มีพี่น้องแล้วก็มีมิตรสหาย มนุษย์ก็มีความสัมพันธ์ต่อกันดีบ้าง ไม่ดีบ้างกระทบกระทั่งบ้าง เจอชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้างนะ ช่วยเหลือกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง ฉะนั้นมนุษย์ก็มีความสุขความทุกข์ แหล่งสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือเพื่อมนุษย์ด้วยกัน ความสัมพันธ์ในทางสังคม แต่ว่ามนุษย์ก็หวังในเมื่อตัวเองอยู่ก็ไม่อยากมีทุกข์อยากมีสุข ความสุขแหล่งสำคัญที่หมายมั่นที่ต้องการก็ได้มาจากเพื่อนมนุษย์นี้แหละ เราก็พยายามสอนกันให้มีความสัมพันธ์ที่ดีช่วยเหลือเกื้อกูล เมื่อมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมีไมตรีจิต ทำให้มีความสุข อยากอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ มีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันก็มีความสุข พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้อย่าง สุขาสังฆัสสะสามัคคี อันนี้เป็นคาถาในพุทธศาสนาบางคาถาก็ไม่ใช่พุทธภาษิต บางทีก็เอาพุทธสุภาษิตที่เป็นร้อยแก้วแล้วมาเรียบเรียงเป็นร้อยกลองก็มี แต่ก็รวมความก็คือว่า เพื่อนมนุษย์ด้วยกันนี่แหละ ที่เป็นแหล่งสำคัญของความสุขความทุกข์ ในกรณีนี้เราพูดถึงสุข ก็แหล่งความสุขก็คือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันสังคม แล้วอะไรอีกล่ะ นี้อีกอย่างหนึ่งมนุษย์อยู่นี่ไม่ได้อยู่เฉย ๆ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติก็จริง อยู่ท่ามกลางเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็จริง แต่เวลาอยู่ไม่ได้อยู่นิ่ง ๆ เคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ ที่นี้มนุษย์ทำอะไรเนี่ยก็ทำโดยสนองความปรารถนาของตนเอง ๆ อยากจะให้เกิดผลอันนั้น มีความต้องการขึ้นมา แล้วก็ไปทำ ๆ ตามความต้องการนั้น พอทำได้สำเร็จตามความต้องการ ก็เกิดความสุขหรือในระหว่างที่ทำนั้นเอง ผลที่ต้องการมันก็ใกล้เข้ามาทุกที การที่ตัวเองเดินหน้าใกล้ความบรรลุจุดหมายที่ต้องการก็มีความสุข ถ้าหากต้องทำอะไรด้วยไม่ต้องการจำใจมีการบังคับทำไปก็ทุกข์ใช่ไหม แต่ว่าโดยปกติมนุษย์ก็จะทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ คือมีจุดมุ่งหมายไม่ได้อยู่ดีก็ไป ไปทำเพื่อจะดำเนินชีวิตของตัวเองให้อยู่รอดด้วยดี แล้วก็ได้ผลที่ต้องการ เพราะฉะนั้นเวลาทำอะไรก็ได้ความสุขจากการกระทำ
ทีนี้แหล่งหนึ่งของความสุขความทุกข์ของมนุษย์ ก็คือกิจกรรมแห่งชีวิตของเขา การเคลื่อนไหวต่าง ๆ นี่ มนุษย์ก็หวังความสุขจากการกระทำ 3 แหล่ง นี่เป็นที่มาสำคัญแห่งสุขทุกข์ของมนุษย์ เราพูดในแง่สุขเป็นสิ่งที่ต้องการมนุษย์เรี่ยงทุกข์ในการเป็นอยู่ร่วมกับสิ่งเหล่านี้และหวังสุขจากสิ่งเหล่านี้ นี่ 3 อัน
หนึ่ง ธรรมชาติแวดล้อม
สอง เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แล้วก็
สาม กิจกรรมแห่งชีวิตของเขา
นี่เป็นแหล่งที่มาความสุข ทีนี้นอกเหนือจากนี้มนุษย์ก็จะมีการเสพ จากความจำเป็นของชีวิตที่ว่า จะต้องอาศัยปัจจัย 4 ต้องกินอาหาร เป็นต้น จากอันนี้ มนุษย์ก็ได้สนองความต้องการก็มีความสุข แล้วทีนี้ในการเสพ เช่นกินอาหารมันก็จะมีธรรมชาติที่ว่าได้รับความรู้สึกที่เราเรียกว่าเวทนาเป็นสุขเป็นทุกข์เฉย ๆ เมื่อได้เสพรสอาหารก็มีความสุขได้จากความเอร็ดอร่อย แล้วก็จะมีเรื่องหูจมูกลิ้นกาย ซึ่งว่าเมื่อมีสัมผัสทางเหล่านั้นแล้วเกิดเวทนาเป็นสุข ใจที่คิดถึงสิ่งที่ชอบที่ปรารถนา อารมณ์ความจำที่ดีที่ตรงกับความต้องการ ความสุขอีกแหล่งหนึ่งก็มาจากเรื่องนี้ มาจาก พูดง่าย ๆ การเสพ การใช้ อายาตะนะอินทรีย์เสพ รสสิ่งต่าง ๆ ซึ่งอันนี้จะเป็นเรื่องของแต่ละครั้ง ๆ ไป มนุษย์จะมีการเสพทางตาหูจมูกลิ้นนี้เข้ามาเสริมเป็นแต่ละขณะแต่ละเรื่อง แต่ว่าชีวิตของเขาที่เป็นอยู่ตลอดเวลาก็ 3 อันแรก คือการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ โดยที่ตัวเองเป็นชีวิตหนึ่ง แล้วก็อยู่ท่ามสังคมตัวเราเองก็เป็นบุคคลหนึ่ง แล้วตนเองก็มีกิจกรรมแห่งชีวิต ในการเป็นอยู่ของตนเอง โดยมีไอ้การได้สุขจากการเสพนี้มาแทรกอยู่ ทีนี่ถ้าเราไปดูมนุษย์ในยุคโบราณนี่ ไอ้การเสพเนี่ยเขาจะมีเป็นส่วนที่เข้ามาเสริมมาแทรก แล้วก็ได้ความสุขไปเป็นครั้ง ๆ ทำให้ได้รับความตื่นเต้นพิเศษขึ้นมา นี้ต่อมามนุษย์จะมีจุดเด่นตรงที่ว่า ไอ้เรื่องสิ่งเสพ ซึ่งมันไม่สม่ำเสมอ แล้วต้องการได้เสพบ่อย ๆ ขึ้น เพราะได้ความสุขจากรสจากเวทนา จากความตื่นเต้นทีมีให้มันบ่อยขึ้น ๆ ต่อมาจุดเน้นนี้ ก็มาอยู่ที่สิ่งเสพ ความสุขจากสิ่งเสพที่บำเรอตาหูจมูกลิ้นกายรวมไปถึงใจด้วย โดยเฉพาะเข้ามาทางภายนอก ตาหูจมูกลิ้นกายความสุขประเภทนี้ท่านเรียกว่ากาม หรือเป็นความสุขที่เกิดจาก อามิต อามิตก็คือว่า วัตถุเสพ ความสุขอย่างนี้ท่านเรียกว่ากามสุข หรือสามิตสุข ก็จากตาได้เห็นรูปสวยงาม หูได้ยินเสียงที่ไพเราะ จมูกได้ดมกลิ่นที่หอม แล้วลิ้นได้ลิ้มรสที่อร่อย กายได้สัมผัสที่ฟู่ฟ่านุ่มนวลอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ที่นี้ความสุขประเภทนี้ที่ว่า มนุษย์ต้องการได้เสพบ่อย ๆ ขึ้น จุดเน้นมาอยู่ที่นี่ มนุษย์ก็พยายามแสวงหาสิ่งเสพ ส่วนไอ้ความสุขที่มีเป็นพื้นฐาน 3 อันนี่ บางทีมนุษย์ก็ลืมมันเลย แต่ที่จริงมันมีตลอดเวลา ทีนี้อะไรจะเกิดขึ้น ต่อมามนุษย์ก็จะมามุ่งในการหาความสุขจากสิ่งเสพก็หาสิ่งเสพนี้มากขึ้นก็พัฒนา ปรากฏว่าการพัฒนาความเจริญของมนุษย์ที่เรียกว่า สร้างอารยธรรมวัฒนธรรมต่าง ๆ นั้น ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ การที่จะได้พวกสิ่งเสพเหล่านี้ ซึ่งบางทีมนุษย์ก็แยกไม่ออกว่าอะไรเป็นส่วนที่เป็นความเจริญที่ดีที่แท้จริงที่เกื้อกูลต่อชีวิตของมนุษย์ อย่างมนุษย์จะต้องอาศัยปัจจัย 4 ต้องมีวัตถุ การมีวัตถุนั้นมันก็หมายถึงว่าการเกื้อหนุนต่อชีวิต ทำให้ชีวิตอยู่รอดไม่ขาดแคลนอาหาร ร่างกายจะได้แข็งแรงสมบูรณ์ อันนี้ก็เรื่องมาจากอาหารด้วย แต่เวลาเดียวกัน ก็การเสพอาหารก็มุ่งรสมุ่งชาติเอร็ดอร่อยด้วย มันก็คู่กันไป แต่ 2 อันนี่บางทีมนุษย์ก็แยกไม่ออก เมื่อแยกไม่ออก บางทีจุดเด่นก็ไปอยู่การเสพรส การพัฒนาทางด้านมีวัตถุที่จะมาช่วยเหลือชีวิตให้อยู่รอดอยู่ดีเนี่ย เป็นความเจริญด้านหนึ่งของสังคมมนุษย์เราเรียกว่าเศรษฐกิจ ใช่ไหม ก็เกิดการพัฒนา ที่เรียกว่า ด้านเศรษฐกิจขึ้นมา พัฒนาความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ทีนี้ความพรั่งพร้อมทางวัตถุ วัตถุนี้เกื้อหนุนชีวิตหรือวัตถุสำหรับมาเสพให้เอร็ดอร่อยก็มีความหมายสองอย่างในเวลาเดียวกัน ถ้ามองในแง่ของวัตถุเหล่านั้นเป็นสิ่งเกื้อหนุนชีวิตให้อยู่ด้วยดีไม่เดือดร้อนจะได้เป็นปัจจัย เพื่อจะได้เป็นเครื่องเกื้อหนุนในการไปทำสิ่งที่ดีงาม ต่อไปอย่างนี้เราเรียกว่า ปัจจัยใช่ไหม ทีนี้ถ้าเอามาในแง่ของการเป็นสิ่งที่เสพ ให้เกิดรสเกิดชาดมุ่งในด้านนี้ก็เป็นกาม เป็นอามิต มันก็คู่กันไปอย่างนี้ ทีนี้มนุษย์ไม่ได้แยก นี่มนุษย์ก็จะไปเน้นว่า โอ๋ ได้มีวัตถุพรั่งพร้อมจะได้เสพจะได้เอร็ดอร่อย เอาละซิ
ทีนี้พอจุดเน้นมาอยู่ที่นี่ ก็จะมีปัญหาแทรกเข้ามา ก็คือว่า หนึ่ง แต่ละคนก็จะต้องแสวงหาให้กับตนให้มากที่สุด เพื่อจะได้เสพให้มากให้บ่อย ให้ได้รสชาติในทางกามิตตสุข กามสุข หรือ สามิตตสุข ให้เต็มที่ ก็จะเกิดปัญหาระหว่างการในการแย่งชิง การข่มเหงเบียดเบียน แล้วก็มาปัจจุบันก็คือปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทีนี้พอไปแสวงหาสิ่งเหล่านี้มากขึ้น จากแต่ละคนพยายามแสวงหาออกมาเป็นภาพรวมสังคมที่ได้พัฒนาความเจริญมาที่เน้นเศรษฐกิจและเกิดเป็นอารยธรรมมนุษย์มีโลกของมนุษย์เจริญบ้านเมืองอะไรต่าง ๆ มากมายนี้ ระยะยาวก็ปรากฎว่าอะไรเกิดขึ้น ก็คือว่าธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม เพราะว่าการที่มนุษย์จะหาสิ่งเสพทางวัตถุให้มาก นี่ก็คือต้องเอาวัตถุดิบจากธรรมชาติ ก็ยิ่งคติตะวันตกมีความเชื่อว่ามนุษย์จะมีความสุขสมบูรณ์เมื่อได้เอาชนะธรรมชาติด้วย มันก็ยิ่งมาย้ำมาซ้ำเติมเรื่องนี้ให้มากขึ้น ก็คือว่าการที่จะต้องไปจัดการเอาธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบ มาผลิตสิ่งบริโภคให้แก่มนุษย์ สนองความต้องการปรนเปรอความสุข ก็ไป ๆ มา ๆ การพิชิตธรรมชาติจัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ เพื่อหวังความสุขแก่มนุษย์ก็กลายเป็นการทำลายธรมชาติแวดล้อม ทำลายธรรมชาติแวดล้อมนี่ก็ผลตีกลับมา ทำให้ธรรมชาติแวดล้อมนั้นเสียหาย มนุษย์เองก็จะเกิดการขาดแคลนเองด้วย แต่อีกอย่างหนึ่งก็คือว่าด้านความสุขความรื่นรมย์ในฐานะที่ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาตินี้ก็จะเริ่มสูญหายไป ในเมื่อมนุษย์ยิ่งไปแสวงหาสิ่งเสพ ในทางวัตถุสิ่งผลิตบริโภค ซึ่งแปรรูปธรรมชาติไปแล้วมนุษย์ก็มีความแปลกแยกจากธรรมชาติเกิดขึ้น พอมาถึงยุคปัจจุบันนี้ก็ปรากฏว่า มนุษย์ได้มีภาวะที่เรียกว่าแปลกแยกจากธรรมชาติเกิดขึ้น ความแปลกแยกจากธรรมชาติ ก็คือการเข้าไม่ถึงกัน ความแปลกแยกทางด้านรูปธรรม ก็คือว่าไม่ค่อยมีชีวิตห่างธรรมชาติไม่ค่อยได้ใกล้ชิด อย่างคนที่อยู่ในเมือง บางคนนี้อยู่ในเมืองทั้งวันอยู่กับเทคโนโลยีสิ่งที่มนุษย์ได้เอาธรรมชาติมาแปรรูปไปหมดแล้ว แกก็ออกจากบ้านอย่างที่เคยพูดว่า นอนอยู่ในห้องแอร์ อยู่ในตึกอยู่ในอาคารอย่างดี แล้วพอเช้าก็ออกมาก็เข้ารถยนต์เป็นเทคโนโลยี เดินทางไปตามท้องถนนตึกรามบ้านช่องก็เป็นสิ่งสร้างสรรค์ของมนุษย์ แล้วก็ไปที่ทำงานเข้าห้องแอร์ และแกก็วุ่นวายกับสิ่งเสพที่ผลิตเทคโนโลยีอะไรพวกนี้ เสร็จแล้วแกก็กลับมาบ้านเข้าห้องแอร์นอนไป วัน ๆ หนึ่งไม่เจอกับธรรมชาติเลย หลายคนก็จะเป็นอย่างนี้ นั้นก็ด้านหนึ่งก็ชีวิตก็ห่างเหินจากธรรมชาติ ฉะนั้นเขาก็ไม่ได้ความสุขความรื่นรมย์จากธรรมชาติแวดล้อมที่เขาควรจะมี ในฐานะชีวิตของเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ความสุขเขาก็ไปอยู่กับค่านิยมทางสังคมที่สัมพันธ์วัตถุเสพเหล่านี้ ทีนี้ก็เป็นอันหนึ่ง ทีนี้ต่อมาเมื่อธรรมชาติถูกมนุษย์เอาไปแปรรูปสนองความต้องการก็เท่ากับการทำลาย ธรรมชาตินี้ก็น้อยลง ถึงแม้ตัวเขาไม่ห่างก็จะมีธรรมชาติให้เขาได้มาแสวงหาความรู้รื่นรมย์น้อยลงด้วย นอกจากน้อยลงแล้ว มันอยู่ในอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมอีก ต้นไม้ที่เคยเขียวขจีอะไรต่าง ๆ มันก็ไม่เหมือนเก่า ทิวทัศน์ที่เคยสวยงามมันก็ไม่สวยงามเต็มที่เหมือนเก่า อากาศที่แวดล้อมเข้าก็สูดอากาศก็ไม่บริสุทธิ์ แทนที่ว่าสูดอากาศแล้วจะรู้สึกสดชื่น คนในเมืองสูดอากาศเข้าไปแล้วก็อึดอัดใช่ไหม ยิ่งคนบางคนแพ้แล้วก็ทำให้เป็นโรคแพ้มากขึ้นด้วย สูดอากาศอยู่ในเมืองก็สูดเข้าไปไม่มีความสดชื่น นี่อีกด้านหนึ่ง ความแปลกแยกจากธรรมชาติตัวเองห่างธรรมชาติ
2. ธรรมชาติที่จะมีให้รื่นรมย์ก็มีปริมาณลดน้อยลง
3. ไอ้ที่มีน้อยลงนั้นก็ยังแย่ด้วยอีกเสื่อมโทรมอยู่ในภาวะที่ไม่ดี
ฉะนั้นจากการที่มนุษย์ทะยานหาความสุขจากการกามจากอามิตนี่ พร้อมกันนั้นเขาก็ไม่ได้มันมาเปล่า ๆ เขาต้องลงทุนพร้อมกับการได้มาด้านหนึ่งเขาสูญเสียอีกด้านหนึ่งไป ความสุขพื้นฐานของชีวิตด้านที่หนึ่ง เสียไปแล้ว ก็คือ ความสุขจากการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อม ในฐานะที่ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่จะต้องการความรื่นรมย์จากธรรมชาติแวดล้อม นั่นเขาลงทุนคุ้มหรือไม่คุ้มก็ต้องพิจารณา เวลานี้กำลังมองว่าอาจจะไม่คุ้ม ในแงที่หนึ่ง นะ แล้วก็ความสุขจากธรรมชาติรื่นรมย์กับการเสพนี่ บางทีมาคู่กันอย่างเช่นว่าเราไปเจอกระรอกตัวหนึ่ง คนสองคนจะมองกระรอกไม่เหมือนกัน หรือแม้แค่คนเดียวกัน คนละขณะน่ะ คนหนึ่งมองกระรอกด้วยสายตาที่เห็นมันน่ารัก มันขยับเขยื้อนดูแล้วน่ารื่นรมย์อยู่ในธรรมชาติแวดล้อมบรรยากาศที่ทำให้สบายใจ มันเป็นมิตรเพราะว่ามันไม่กลัวภัยคนไม่เบียดเบียนมัน อย่างเราไปในต่างประเทศเดี๋ยวก็ยังมีหลายประเทศจะเป็นอินเดียก็ตามอเมริกาก็ตามใช่ไหม มันเข้ามามันก็ไม่รู้สึกหวาดระแวงภัย แล้วคนก็มีความรู้สึกชอบมัน ๆ ก็มายืน 2 ขา แล้วขาหน้าก็เอามาไว้มุ้บมิ่บที่ปากคน ๆ ก็ชอบใจ มันน่ารักสวยงาม นี้คนก็ได้ความสุขจากการเห็นธรรมชาติแวดล้อม ทีนี่อีกคนหนึ่งมองกระรอกด้วยการที่ว่าจะหาความสุขจากการเสพมันก็คือกินมันใช่ไหม คนนี้จะไม่รู้สึกได้ความสุขจากอาการที่กระรอกมันอยู่ท่ามกลางธรรมชาติสวยงาม ความสุขของแกคือจะต้องจัดการเอากระรอกนี้ไปลงหม้อแกงก่อน แล้วแกกินแล้วจึงจะได้ความสุข เนี่ย 2 คนเนี่ยความสุขต่างกันใช่ไหม ทีนี้ก็ลองนึกดูว่าก็แล้วกันว่า ความสุขแบบไหนนี่เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์ ความจำเป็นในการเป็นอยู่รอด ทั้งทีก็ทำให้มนุษย์ต้องมาเบียดเบียนแล้วทำลายความสุขของตนเองในขั้นพื้นฐานจากการอยู่ร่วมกับธรรมชาตินี้ แต่นี่ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักประมาณ มันก็กลายเป็นว่าไปทำลายความสุขในแง่ของการมีส่วนร่วมในธรรมชาติเสีย ในการที่ว่าจะลงทุนเพื่อหาสิ่งเสพหาความสุขจากการเสพ งั้นต้องลองคิดดูก็แล้วกัน ความสุขเกิดทันทีเมื่อเห็นกระรอกอยู่ท่ามกลางธรรมชาติแล้วมีจิตใจบริสุทธิ์ต่อมัน กับความสุขจากที่การว่าจะต้องเอามันมาลงหม้อแกง แล้วก็ได้กินแล้วก็ได้อร่อยตอนเสพรสเนื้อกระรอกตอนนี้จะเอาอันไหนใช่ไหม นี่ก็เรื่องของมนุษย์ก็เป็นอย่างนี้ นี่ด้านนี้หนึ่งแล้วนะ แต่ว่ามนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ในเมื่อเราเน้นในการแสวงหาความสุขจากสิ่งเสพบำเรอตาหูจมูกลิ้นกาย ฉะนั้นเราก็เริ่มแปลกแยกจากธรรมชาติมากขึ้น แล้วก็โอกาสที่จะได้ความสุขจากสิ่งแวดล้อมธรรมชาติก็น้อยลงไป ฉะนั้นการลงทุนของมนุษย์นี้ก็เป็นเรื่องที่ว่า ต้องได้มาด้วยการสูญเสียไปอีกครั้งหนึ่ง อันนี้ยิ่งมนุษย์แสวงหาความสุขจากการเสพมากขึ้น มันก็ยิ่งผลักดันให้มนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติมากขึ้นด้วยพร้อมกันนะ ทีนี้
เอ้ามาแหล่งที่ 2 แหล่งความสุขของมนุษย์คืออะไร แหล่งที่ 2 แห่งความสุขของมนุษย์ก็บอกแล้วก็คือ สังคมมนุษย์ด้วยกัน ก็คือเพื่อนมนุษย์การอยู่ร่วม อันนี้ ถ้ามนุษย์อยู่ร่วมกับมนุษย์มีความสุข ก็ต้องมีจิตใจบริสุทธิ์ต่อกัน ยิ่งมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อหนุนกันก็ยิ่งมีความสุข มีความสุขจากไมตรี มีความสุขจากการเกื้อกูล มีความสุขจากการซึ้งในน้ำใจของกันและกันเป็นต้น นี่มนุษย์จะมีความสุขมาก แต่ทีนี้อีกด้านหนึ่งคือมนุษย์ต้องการความสุขจากสิ่งเสพ ความสุขจากสิ่งเสพเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล แต่ความสุขการที่อยู่ร่วมกันเกื้อหนุนกัน นั้นเป็นความสุขร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ทีนี้พอมาเอาสุขจากเสพ มันเป็นเรื่องของแต่ละคน แต่ละคนก็ต้องหาให้ได้มาก มันก็จะมีการที่ว่าถ้าคนหนึ่งได้ คนหนึ่งเสีย ความสุขของคนหนึ่งเป็นความทุกข์ของอีกคน แล้วเมื่อมันต้องการไอ้วัตถุเสพมันไม่ได้มีพรั่งพร้อม มันมีจำกัด มันก็จะต้องเกิดการที่เอา แล้วก็แย่งชิง ก็จะเกิดปัญหาในการขัดแย้ง จากการเป็นมิตรก็เป็นศัตรู จากการช่วยเหลือเกื้อกูลก็เป็นทำร้ายเป็นการเบียดเบียนกันก็ก่อให้เกิดทุกข์ พอก่อให้เกิดทุกข์ก็มีความไม่สบาย มีความหวาดกลัวต่อกัน เพราะเจอคนก็ไม่ไว้ใจ ที่นี่พอแย่งกันมาก ๆ ต่อมามันเพ็งไปที่วัตถุ มันก็เต็มไปด้วยความหวาดระแวงต่อเพื่อนมนุษย์ พอมนุษย์เข้าสู่ระบบการแข่งขันแย่งชิงหาแต่ผลประโยชน์ จิตใจมันอยู่กับการได้วัตถุและสิ่งเสพ เพ่งจ้องไปที่นั่น พอมีท่าทีของจิตใจเป็นเน้นที่วัตถุเป้าหมายอยู่ที่วัตถุ ความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์นี่มันก็จะมาสอดคล้องกับท่าทีต่อวัตถุ เมื่อท่าทีต่อวัตถุจ้องจะเอามากขึ้น ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์แบบหวาดระแวงกลัวเขาจะเอาด้วย ก็เกิดเพิ่มมากขึ้นงั้นจิตใจก็จะมีความรู้สึกที่ปลูกฝังหล่อหลอมไปตามสภาพสังคมที่เคยแต่จะคิดจะได้จะเอาจะแย่งชิงจะกลัวเขาได้ จะเอาชนะ มันก็เลยมีความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์แบบหวาดระแวงเป็นคู่แข่งมีความรู้สึกไม่จริงใจ แล้วก็ต่อมาก็หาทางเอาเพื่อนมาเป็นเครื่องมือในการให้ตนได้ผลประโยชน์ มองเพื่อนมันเป็นเพียงสะพานที่ตัวเองจะได้สิ่งเสพได้ผลประโยชน์ ความจริงใจไม่มี ความสุขจากไมตรีก็ไม่มี ใช่ไหม งั้นพร้อมกับการที่มนุษย์มามุ่งแสวงหาจากความสุขจากสิ่งเสพเหล่านี้อะไรเกิดขึ้น ก็คืออีกด้านหนึ่งเขาก็สูญเสีย เขาก็สูญเสียความสุขจากการอยู่ร่วมสังคม ซึ่งเป็นความสุขพื้นฐานของชีวิตไปใช่ไหม แล้วเขาก็แปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์ ละซิทีนี้ เพราะความรู้สึกเป็นมิตรไมตรี ความจริงใจไม่มี มันรู้สึกจะหวาดระแวง เขาจะเอา เขาจะได้เราจะสู้เขาได้หรือเปล่า ตกลงมนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยความรู้สึกแปลกแยกกันหมดเลย แล้วยิ่งเขาตั้งวัตถุเสพเป็นเป้าหมายชีวิตยิ่งทยานหาสิ่งเสพเท่าไร ความแปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์ก็ยิ่งมากเท่านั้นใช่ไหม การที่เขาจะมีความสุขจากการอยู่ร่วมสังคมมนุษย์ก็น้อยลงเป็นสิ่งฉาบฉวยผิวเผินเท่านั้นเองไม่จริงจัง อันนั้นการได้มาด้านหนึ่งก็คือความสูญเสียอีกด้านหนึ่ง นี่ก็แหล่งที่ 2 แล้วน่ะ เอ้าทีนี้ต่อไป
แหล่งที่ 3 แหล่งความสุขพื้นฐานของมนุษย์ชีวิตที่เป็นอยู่บอกแล้วอยู่ในกิจกรรมแห่งชีวิต ในแต่ละขณะที่ทำอะไรก็ทำไปซื่อ ๆ โดยต้องการสนองความต้องการ โดยปกติถ้าไม่ต้องการอะไร แกก็ไม่ทำ ต้องการวัตถุประสงค์อะไร อยากจะขุดดินก็เพราะว่า ใจมีวัตถุประสงค์ต้องการได้หลุม แล้วไปขุดดิน ๆ ก็มีความสุข จะไปทำอะไรก็ตามมันมีความต้องการจุดหมายความสุขจากการกระทำ ทีนี้พอมนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม แล้วทีนี้มีความปรารถนาเรื่องสิ่งเสพมีความใฝ่สิ่งเสพมากขึ้นวัตถุประสงค์เป้าหมายความสุขของตนนี้ไปฝากไว้กับวัตถุเสพ เอาละซิทีนี้ มนุษย์ก็เกิดการบัญญัติขึ้นมา ในอารยธรรมของตนเองที่เรียกว่า สมมุติ ว่าเรามีการแบ่งงานกัน ทำงานแล้วจะได้เงินเดือนตอบแทน ต่อมามนุษย์ก็ติดอยู่ในกฎสมมติของมนุษย์นี้ อย่างที่เคยเล่าให้ฟังบ่อย ๆ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็เรื่องคนทำสวน ยกแล้วยกอีกน่ะ ทีว่า คนแต่ก่อนนี้แกจะไปทำสวนปลูกต้นไม้เพราะแกต้องการต้นไม้ถูกไหม แกต้องการต้นไม้ไม่งั้นแกไม่ทำ ทำก็ไปขำเหลือเกิน มนุษย์อยู่ตามธรรมชาติจะอยู่ไม่ได้ต้องการอะไรไปทำก็เป็นเรื่องน่าขำ ทีนี้มนุษย์แต่ก่อนนี้อยากจะได้ต้นไม้แกก็ไปปลูกต้นไม้ แกปลูกต้นไม้สนองความต้องการแกปลูกแกก็มีความสุข แกเป็นรดน้ำพรวนดินทุกวัน แกไม่คอยดูต้นไม้มันงามไม่งาม แกไปเห็นไม่งามก็หาทางทำให้มันงาม มันงามขึ้นมาแกก็มีความสุข แกก็มีความสุขจากการกระทำของแกเพราะมันตรงกับจุดมุ่งหมาย กิจกรรมตามธรรมชาติ ทีนี้พอมนุษย์เจริญขึ้นมา มนุษย์ก็มีการบัญญัติ แต่ที่จริงเดิมนั้นเป็นการสอดคล้องกับธรรมชาติ ว่าเอ้อมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคมนี่เราอยากให้ต้นไม้งาม ต้นไม้งามและเยอะ ๆ มันก็ทำให้ดูเขียวขจีบรรยากาศก็น่ารื่นรมย์ มีความสวยงามสดชื่น มนุษย์ก็อยู่กันเป็นสุข อ้าวเราจะมาทำกันทุกคน มันก็ไม่มีเวลา แล้วก็มันก็จะไม่ได้ผลดี มนุษย์ก็แบ่งงานกันทำ เอาละน่ะ คนนี้ไปทำงานโน้น คนโน้นไปทำงานนี้ ทำสวนปลูกต้นไม้เป็นหน้าที่ให้คนส่วนหนึ่งมาทำ แต่เพื่อช่วยให้เขาไม่ต้องไปห่วงกังวลในความเป็นอยู่ คุณตั้งใจมาทำสวนอย่างเดียวนะ แล้วก็คุณไม่ต้องห่วง ฉันจะจัดสรรอาหารปัจจัย 4 ให้คุณอยู่ได้ โดยให้มาเป็นเงินเดือน พอให้เงินเดือนแล้วคุณก็ไม่ต้องเป็นห่วงกังวลและตั้งใจทำสวนไป ทีนี้ตอนนี้มันเกิดเป็นกฏขึ้นมาใหม่ เดิมก็มีว่าการปลูกต้นไม้ทำสวนเป็นเหตุก็ได้ต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผลนะนี่คือผลที่ต้องการตามกฎธรรมชาติ ซึ่งเป็นความจริงแน่นอนการทำสวนเป็นเหตุให้ต้นไม้เจริญงอกงาม ทีนี้ก็มีกฎมนุษย์ซ้อนเข้ามาในอารยธรรมมนุษย์ที่แบ่งงานกันทำ เพื่อมาสนับสนุนกฎธรรมชาติ เพื่อจะให้ได้ต้นไม้งามกันอย่างจริงจัง มีคนที่มาตั้งใจทำก็เลยตั้งกฏสมมุติขึ้นมา ให้มีคนมาทำสวนแล้วก็การทำสวนเป็นเหตุ ได้เงินเดือน 5,000 บาทเป็นผล ใช่ไหม ก็ได้กฏมนุษย์ กฎมนุษย์นี่ การทำสวนเป็นเหตุได้เงินเดือน 5,000 บาท เป็นผล กฎมนุษย์นี้ เรียกว่า กฎสมมติ เพราะอะไร เพราะว่ามันเกิดจากการยอมรับร่วมกัน สมมติ แปลว่าการยอมรับร่วมกัน มติ สมมติ มาจาก สังมติ สังร่วมกัน มติ ก็คือมติ มติ แปลว่าข้อตกลง การยอมรับ การรู้ สังร่วมกัน ก็หมายความ การรู้ร่วมกัน ยอมรับร่วมกันตกลงร่วมกัน ตกลงร่วมกันว่า คุณทำสวนไปแล้วฉันจะให้เงินเดือน 5,000 บาท กฎนี้เรียกว่า กฎสมมติ คือเกิดจากการยอมรับร่วมกันหมายความว่าถ้าไม่มีสมมติแล้วกฎนี้ไม่เป็นกฎ ถ้าไม่มีการยอมรับร่วมกันปั้บ กฎนี้หายทันที ใช่ไหม ฉะนั้นกฎสมมตินี่สำคัญทำให้โลกมนุษย์เจริญได้ สมมตินี่คนไปดูถูกมัน คนไทยที่เข้าใจผิด สมมตินี้ไม่ดีไม่จังเหลวไหล คือมันเหลวไหลไม่เหลวไหลอยู่ที่มนุษย์มีปัญญาไหม ใช่ไหม ถ้ามนุษย์มีปัญญาและปฏิบัติตามข้อตกลงนี้สมมติก็เป็นสิ่งที่เกื้อหนุนทำให้สังคมนี้อยู่ด้วยดี ทำให้เจริญงอกงามมีอารยธรรมเราไม่มีสมมติเราอยู่ได้ไง เราถ้าไม่มีสมมติ มนุษย์ก็เป็นเหมือนกับสัตว์ชนิดอื่น นี่มนุษย์อยู่ในสังคมได้เพราะมีสมมติ มันเก่งความสามารถของมนุษย์สังคมมนุษย์ที่เจริญมีอารยธรรมมาด้วยอาศัยสมมตินี่แหละ เพราะมนุษย์มีปัญญารู้จักมาตั้งกำหนดกฎเกณฑ์ เป็นการยอมรับตกลงร่วมกันในสังคม เพื่อจะให้กิจการต่าง ๆ เป็นไปแล้วให้สัมฤทธิ์ผลตามความรู้เข้าใจกฎธรรมชาติ เพราะมนุษย์รู้กฎธรรมชาติว่า สวนต้นไม้เจริญงอกงามได้เพราะต้องมีคนไปคอยดูแลปรุงแต่งมันเพราะมันต้องการเหตุปัจจัย มนุษย์ก็ไปตามเหตุปัจจัยและช่วยมัน นี่เราก็ได้ตั้งกฎสมมุติขึ้นมาว่า เพื่อให้มีคนมาดูแลช่วยทำต้นไม้ก็ตั้งกฎสมมติของมนุษย์ว่า ให้เงินเดือนคนซะไม่ให้เขาเป็นห่วงเรื่องเป็นอยู่ แล้วเขาจะได้มาตั้งใจทำเต็มที่ นั่นกฎสมมติของมนุษย์เกิดขึ้นว่าทำสวน 1 เดือนได้เงินเดือน 5,000 บาท ก็เพื่อมาหนุนกฎธรรมชาติจะได้มีคนทำสวนและทำให้ต้นไม้เจริญงอกงามใช่ไหม นี่แหละความฉลาดของมนุษย์แต่ความฉลาดของมนุษย์นี่ ถ้ามนุษย์เพลินก็ไปหลงสมมุติเลย เหิรห่างลืมทอดทิ้งมองข้ามความจริงดั้งเดิมคือ ความต้องการผลตามกฎธรรมชาติ ตอนนี้เชื่อมโยงไม่ถึงติดอยู่แค่กฎสมมติว่าทำสวน 1 เดือนได้เงินเดือน 5,000 บาท โยงไปไม่ถึงว่า ที่จริงนี้เพื่อให้กฎสมมติของมนุษย์ไปหนุนกฎธรรมชาติว่าทำสวน 1 เดือนแล้วต้นไม้เจริญงอกงามใช่ไหม พอหลงก็ไปติดในกฎสมมติ แกก็โยงตัวไม่ถึงกฎธรรมชาติ แกก็แปลกแยกจากธรรมชาติ แปลกแยกจากกฎธรรมชาติตอนนี้ อันแปลกแยกจากธรรมชาติ เมื่อกี้เราพูดไปทีหนึ่งแล้ว ตอนนี้แปลกแยกจากกฎธรรมชาติเลย แปลกแยกจากตัวธรรมะ แปลกแยกจากตัวความจริงที่แท้ของสิ่งทั้งหลาย ทีนี้แกก็ไปหลงติดสมมติแล้ว ทีนี้แกทำสวน 1 เดือนเพื่อต้องการเงินเดือนอย่างเดียว แกไม่ได้คิดต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม พอแกลืมกฎธรรมชาติ แกแปลกแยกจากกฎธรรมชาติ แปลกแยกจากตัวธรรม แปลกแยกความจริง แกทำสวนไม่มีความสุขเลยทีนี้ใช่ไหม เพราะกิจกรรมแห่งชีวิตของแกนี่ แกมามุ่งหมายหาผลที่มันไม่ตรงตามความเป็นจริง กิจกรรมของแกนี่มันเป็นกิจกรรมที่มุ่งหมายผลที่ไม่ตรงตามความจริงแท้ของกฎธรรมชาติเพราะว่าการทำสวนทำให้เกิดเงินเดือน 5,000 บาท นี่มันไม่มีความจริงในกฎธรรมชาติรองรับ มันเป็นกฎสมมติที่ยอมรับ มีที่ไหนว่าไปทำสวนแล้วเงินมันเกิดขึ้น เป็นไปไม่ได้ในโลกนี้ใช่ไหม ทีนี้มนุษย์นึกว่าเป็นความจริง ก็จริงเพราะยอมรับร่วมกันเท่านั้นเอง พอไปติดอันนี้แล้วแกก็แปลกแยกจากกฎธรรมชาติ ก็คือแปลกแยกจากกิจกรรมแห่งชีวิตของแกเอง ทั้ง ๆ ที่แกกำลังทำกิจกรรม คือการทำสวนอยู่ จิตใจแกไม่อยู่กับกิจกรรมของชีวิตแก จิตใจแกไปอยู่กับการมุ่งหมายเงินตอบแทน ฉะนั้นแกก็ไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมนั้นสิ กิจกรรมทำไป ๆ อย่างไร้ความหมาย ไม่รู้ทำไปทำไม แล้วมันกลับเป็นตัวทำให้ต้องรอ เมื่อไหร่เงินจะมาสักที สิ่งเสพจะมาสักที กลายเป็นว่าทำด้วยทุกข์ทรมารกำลังทำกิจกรรมใจไม่อยู่แล้ว ฉะนั้นกิจกรรมแห่งชีวิตของแกแทนที่จะนำมาซึ่งความสุขก็นำมาซึ่งความทุกช์ความทรมานใจ นี่เรียกว่า แปลกแยกจากกิจกรรมแห่งชีวิตของตนเอง เพราะฉะนั้นมนุษย์สมัยนี้ที่เจริญด้วยอารยธรรมเนี่ยจะทำอะไรต่ออะไรที่ตัวเองไม่รู้จะทำไปทำไม ไม่รู้จะคิดว่าที่ทำเพราะอะไรนี้ เพราะมันเป็นความชำนาญพิเศษของมนุษย์ที่มาจัดสรรสังคมแบ่งงานกันทำ จนกระทั่งว่าไอ้ที่ทำอยู่ไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไรใช่ไหม จริงไหม สมัยนี้คนทำงานทำการไม่รู้ว่า ไอ้กิจกรรมที่ตัวทำเนี่ย ผลที่แท้ที่ต้องการตามกฎธรรมชาติคืออะไร สักแต่ว่าทำนึกว่าทำคือเงินเดือน ใช่ไหม ทุกอย่างไปรวมที่ผลประโยชน์หมด ทำอะไรก็ได้ผลประโยชน์ อะไรก็นึกว่าจะเป็นกฎเป็นเหตุผลจริง ๆ ซึ่งที่จริงมันไม่มีในธรรมชาติเลย ไม่เป็นความจริงแท้ ไม่เป็นตัวธรรมะก็ไปหลงสมมติ ฉะนั้นโลกมนุษย์ปัจจุบันก็เจริญในอารยธรรมจริง แต่ปัญญาที่แท้นี่ กำลังจะหายไปคือไม่รู้ตัวธรรมะ ไม่รู้ตัวความจริงที่แท้ตามกฎธรรมชาติในที่สุดกิจกรรมชีวิตก็เลยแปลกแยกไป แปลกแยกจากความจริงของกฎธรรมชาติก็คือตัวเองนั่นแหละแปลกแยกจากกิจกรรมชีวิตของตัวเอง ใจไม่อยู่กับกิจกรรม ใจไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมนั้น ๆ แล้ว เมื่อมนุษย์ยิ่งต้องการสิ่งเสพมาก เขาก็ยิ่งแปลกแยกจากแหล่งความสุขพื้นฐาน 3 ประการ หนึ่ง ธรรมชาติ สอง เพื่อนมนุษย์ สาม กิจกรรมชีวิตของตนเองมากขึ้นเท่านั้น แล้วเมื่อเขาแปลกแยกมากขึ้น มันก็กลับเป็นตัวบีบให้เขายิ่งเบียดตัวเองต้องหันมุ่งหาความสุขจากสิ่งเสพมากขึ้น นี่มันก็กลับปัจจัยลูกโซ่ ตีกลับมาอีกใช่ไหม ยิ่งหามันมากก็ยิ่งแปลกแยกมาก ยิ่งแปลกแยกมาก ก็ยิ่งผลักดันให้ตัวเองต้องหาความสุขจากสิ่งเสพให้มาก เพราะมันเหลือช่องทางเดียว ฉะนั้นมนุษย์ในยุคบริโภคนิยมนี่มีแนวโน้มมากที่จะมองวัตถุเสพเป็นจุดหมายของชีวิต การพัฒนาเศรษฐกิจให้วัตถุพรั่งพร้อม นี่เป็นจุดหมายของสังคม เพื่อสนองความต้องการแต่ละบุคคลที่ว่าจะได้ต้องการได้สนองความต้องการเสพให้มากที่สุด นี้ก็ยิ่งบีบยิ่งรัดในที่สุด วัตถุเสพจุดหมายของชีวิต ก็เลยแปลกแยกจากธรรมชาติถึงขั้นทำลายธรรมชาติ ทำลายเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สังคมก็เดือดร้อน ตกลงชีวิตมนุษย์ก็หามีความสุขไม่ ฉะนั้นการลงทุนของมนุษย์ที่ทยานหาวัตถุเสพ มันนำมาซึ่งความเสื่อมแห่งชีวิต ความเสื่อมคุณภาพชีวิต ความเสื่อมโทรมของสังคมตลอดจนโลกที่ประกอบด้วยธรรมชาติระบบความสัมพันธ์ต่าง ๆ เป็นไปในทางที่ไม่ดีไม่เกิ้อกูลหมดเลย
อันนี้ก็คือเรื่องราวของมนุษย์ที่เป็นมาก็เป็นเรื่องที่ควรเอามาพิจารณาดูอารยธรรมการสร้างสรรค์ของมนุษย์ด้วยว่ามนุษย์นี่ฉลาดจริงมีปัญญาหรือเปล่าหรือเป็นพวกที่น่าหัวเราะเยาะ ไม่รู้ทำไปทำไม มนุษย์เคยวิเคราะห์แยกแยะไหมที่ตัวสร้างความเจริญแม้แต่วัตถุนี้ จุดแห่งความดี เกณฑ์วัดความดี เกณฑ์วัดความเจริญที่เป็นไป เพื่อประโยชน์สุขที่แท้จริงของมนุษย์อยู่ตรงไหน ใช่ไหม แม้แต่การแยกว่าวัตถุเสพเหล่านั้นที่สร้างมานี่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนชีวิตกับการที่ว่ามันเป็นจุดหมายของชีวิต นี่ก็แยกไม่ออก มนุษย์มีชีวิตเพื่ออะไร ถ้าเขาไม่สามารถแยกอันนี้ได้ ไม่สามารถเข้าใจอันนี้ได้ ชีวิตของเขาก็ดำเนินไม่ถูกต้อง สังคมก็ไม่สามารถจะบริหารหรือแม้แต่เป็นนักปกครองนักการเมืองก็ไม่สามารถจะบริหารบ้านเมือง สังคมนี้ให้ไปสู่ความดีงามและสันติสุขได้ ไม่เข้าใจเรื่องพื้นฐานอย่างนี้
ทีนี้เรื่องของมนุษย์มันก็ยังไม่จบเท่านี้ เรากำลังพูดเพียงขั้นพื้นฐานทั้งนั้นเอง แค่ว่าเอาล่ะชีวิตเกิดมาแล้ว
ก็หนึ่ง อยู่ท่ามกลางธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติในฐานะชีวิต
สอง ก็เป็นบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอยู่ร่วมสังคม
สาม ก็มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวเป็นต้น
นี่คือสิ่งที่เป็นไปในชีวิตแต่ละขณะ แต่ละเวลาซึ่งเป็นแหล่งสำคัญพื้นฐานแห่งความสุขของเขา แล้วก็มีความสุขจากการเสพมาเป็นตัวแทรกเสริมเติมทำให้ตื่นเต้นแล้วจิตใจมนุษย์ก็มาโน้มเอียงมา และพุ่งไปสู่การหาสิ่งเสพมากขึ้น ในที่สุดก็แปลกแยกจากธรรมชาติเพื่อนมนุษย์และกิจกรรมของชีวิตของตนเอง ถ้าเรามองว่านี่เป็นการดำเนินชีวิต และการพัฒนาสังคมที่ไม่ถูกต้อง แล้วทางที่ถูกต้องคืออย่างไร ถ้ามนุษย์พัฒนาชีวิตและบริหารสังคมอย่างถูกต้อง มันจะเกิดอะไรขึ้นนอกเหนือจากนี้ 1. เขาน่าจะได้สิ่งเสพพอสมควร แล้วพร้อมกันนั้น เขาไม่แปลกแยกจากแหล่งพื้นฐานจากความสุขของชีวิตของเขา 3 ประการคือธรรมชาติ เพื่อนมนุษย์ และกิจกรรมชีวิตน่ะ อันนี้ต้องไม่เสีย 3 อันนี้ต้องยังอยู่ แล้วเขาได้สิ่งเสพเพิ่มขึ้นด้วย แต่ว่ามันมีแค่นี้หรือ ทางพุทธศาสนาตอบว่า ไม่ใช่ มันมีเหนือกว่านี้ ถ้ามนุษย์พัฒนาตัวเองนะ เขาจะมีความสุขเพิ่มขึ้นมาอีกหลายช่องทางและลักษณะสำคัญก็คือว่า ชีวิตของเขาเนี่ยจะขึ้นต่อวัตถุเสพภายนอกน้อยลงไปด้วยในการที่จะมีความสุขนั้น ทีนี้เราจะมาพัฒนาการกันอย่างไรก็นึกว่าเอาไว้เป็นเรื่องที่จะพูดกันต่อไป เพราะวันนี้เวลานี้ล่วงไปเยอะแล้วนะ ครับ
เรื่องความสุขเรื่องใหญ่นะ ที่บางทีชาวพุทธกลับไปเลี่ยงไม่พูด ๆ เอาพูดเรื่องไม่ได้ ๆ มีแต่ทุกข์ อะไร ๆ ชอบพูดแต่เรื่องทุกข์
(1)
คนฟังถาม เพราะฉะนั้น มนุษย์ที่เขาเข้าใจพื้นฐานความสุขของชีวิต ไม่หลงนะ มีทาง
พระตอบ เข้มแข็งซิครับ เพราะว่ามันไม่หลง พอไปเจอสิ่งเสพ มันโน้มไปสู่ความลุ่มหลงมัวเมา ใช่ไหม แล้วทีนี้ไอ้สิ่งเสพมีลักษณะอย่างหนึ่งคือ ยิ่งกระตุ้นยิ่งเร้ายิ่งเสพมากจนต้องต่อมา ก็คือว่าให้สิ่งเสพเท่าเดิมไม่ให้ความสุขเท่าเก่า ต้องเพิ่มปริมาณสิ่งเสพเพื่อให้ได้ความสุขเท่าเดิมถูกไหม เอ้อไอ้ตัวความสุขอาจจะเท่าเดิมแต่ปริมาณต้องเพิ่ม ดีกรีก็ต้องเพิ่มอีก ดีกรีการกระตุ้นต้องเพิ่ม อันนี้ก็หมกมุ่นมัวเมาอะไรต่ออะไรก็ไปกันใหญ่ก็แปลกแยกด้วย
(2)
คนฟังถาม ผมคิดถึงในการทำประโยชน์ ต่างจากพวกที่ไม่เข้าใจว่า บางคนทำเพื่อประโยชน์แต่มนุษย์ไม่เข้าใจกลับมาทำร้าย
พระตอบ เพราะเขาลุ่มหลง มัวเมา เขาไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไรทั้งนั้น ความลุ่มหลงที่หวังประโยชน์ส่วนตัวใช่ไหม มันก็ทำให้เกิดความแปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์และเขาจะมาเข้าใจคนที่ทำดีได้อย่างไรใช่ไหม เพราะเขาแปลกแยกและเขามองในแง่ว่า ไอ้นี่จะมารุกรานทำให้เขาเสียผลประโยชน์ใช่ไหม สิ่งเสพเขาจะไม่ได้ เขายิ่งโกรธเลย ก็ยิ่งมาแปลกแยกจากการแปลกแยกก็มาทำลายเลย
(3)
คนฟังถาม การพัฒนาการศึกษาก็ดี ผมมานึกว่าหลัง ๆ ปัญญาชนที่ผมได้อยู่ร่วมความรู้สึกอย่างหนึ่งว่าทุกคนให้ความสำคัญของงาน คือมองว่าตัวเอง ฐานะชาติภูมิลักษณะงาน งานอย่างนี้ไม่เหมาะสมกับตัวเอง เขากีดกันงานนี้ต้องเป็นกุลี
พระตอบ คือไม่รู้ว่ามีเพื่ออะไร
(4)
คนฟังถาม ข้อเท็จจริงฐานะต้องมีระดับอย่างนี้ ฉันมีฐาระอย่างนี้ ฐานะอย่างมีชาติภูมิ งานอย่างนี้เป็นงานกุลี ฉันไม่ทำ ใช่ไหมครับ เราต้องไปทำกลายเป็นว่าฝืนใจ ก็เราไม่สามารถหาความสุขจากการทำงาน
พระตอบ ใช่ เพราะเขาแปลกแยก เขามองไม่เห็น ความสัมพันธ์ระหว่างกติกาสังคมของมนุษย์ที่สมมติขึ้น กับไอ้ความจริงแท้ตามกฎธรรมชาติมองไม่เห็นเลย คนสมัยนี้แทบจะไม่มองเลยถูกไหม เขาไม่เข้าใจ มันโยงกันได้ยังไง เขานึกว่ากฎที่สมมตนี่เป็นกฎจริงแท้แล้ว เขานึกว่าเป็นเหตุเป็นผลนี่ ก็ทำงาน 1 เดือนก็ได้เงินเดือนเท่านี้ นี่คือความจริง อันนี้ไม่รู้ว่าคือสมมติ ความฉลาดของมนุษย์ที่สมมุติขึ้นมา
(5)
คนฟังถาม สั่งคนง่าย ๆ ตัวเองต้องลงมาทำก็กลายเป็นทุกข์ขึ้นมา
พระตอบ มนุษย์เสียฐานเลยนะ ฐานพังแล้ว ๆ อยู่อย่างไร ก็ทะยานเกาะเกี่ยวยึดไอ้เนี่ยจากสิ่งเสพเท่านั้นเอง เพื่อจะเอาไว้ให้ได้
(6)
คนฟังถาม ของเก่าผมมองเปรียบเทียบ ผมมองสังคม ๆ สมัยพุทธกาล ผมมองเปรียบเทียบว่า จริง ๆสังคมในอุดมคติสังคมในสมัยพุทธกาล เพราะว่า
1.เขามีองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น สัพพันยู ถามว่าคีวินัย
2.นี่ มนุษย์ในสมัยนั้น ผมอ่านพุทธประวัติคุมราชพฤกษ์แค่ พระพุทธองค์แสดงธรรมบรรลุโสดาบัน ได้เห็นถึงธรรมแล้ว
พระตอบ อัตตคถา มั้ง บาลีพระไตรปิฎก ไม่ถึงขนาดนั้น พระไตรปิฎก พระสูตรได้มากฟังแล้วคนนั้นก็ บางทีก็อาพินาพิงสุ หลาย ๆ คนบันเทิงใจพอใจ บางทีก็พอใจแล้วก็ขอประกาศตนเป็นอุบาสก บางคนก็ขอบวชเลยนี่แหละ เป็นราย ๆ ไป แต่มันไม่มีจำนวนสถิติลือลั่นมหัศจรรย์ อย่างอัตตคถา ๆ เทวดาแสนโกฏิ เมื่อบรรลุธรรมหรือ อะไรอย่างนั้นแหละ นี่อัตตคถา
(7)
คนฟังถาม เปรียบเทียบสังคมสมัยนั้นเพราะว่ามีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถชี้แจงแสดงธรรมให้เหมาะสมกับบุคคล วิธีการแล้วก็ธรรมะที่จะยกขึ้นมาสอนด้วย ทำให้คนบรรลุได้เยอะ แต่ในสมัยปัจจุบันนี้อริยบุคคลระดับอย่างนั้นไม่มี มนุษย์สังคมก็ยิ่งนับวันยิ่งทุกทีสมัยแบบนั้นไม่มีอุดมคติ ยิ่งนับวันลางเลือน
พระตอย มันก็อยู่ที่ว่ามนุษย์จะมาตั้งจุดเริ่มต้นถูกไหมใช่ไหม มันมาเข้าสู่จุดเริ่มต้น เข้าสู่ทาง มรรคมาอย่างไร มันเข้าสู่ธรรมะที่เป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฐิบ้าง หรือไม่งั้นก็เข้ามาโดยตัวบุพนิมิตแห่งมรรค นี่ไง ที่เคยพูดไปแล้ว ถ้าเริ่มต้นเข้าจุดถูก มันก็มีทางไป ทีนี้เราทำไงจะให้เขาได้ปัจจัยแห่งสัมมาทิฐิ ก็เป็นกัลยาณมิตรช่วยให้ความรู้ให้ความเข้าใจ ให้ปรโตโฆษะ ที่ดีและกระตุ้นให้ความรู้จักคิดของเขาขึ้นมาหรือไม่งั้นก็ให้เขามีไอ้ตัว 7 ตัว บุพนิมิตแห่งมรรค ถ้าเขาได้นั้นก็มีทางเข้าถูกต้องและยุคสมัยไหน มนุษย์สามารถมาจับจุดเริ่มต้นนี้ถูกกว่าก็ไปด้วยดี ในสมัยพุทธกาลเองก็เพราะว่าสังคมมันแย่นะ พระพุทธเจ้าจึงเกิดในยุคนั้น มันแย่แล้ว ในยุคนั้น ยุคพุทธกาล คือยุคที่อารยธรรมอินเดียเจริญมาก จากสังคมที่พัฒนากันมาในขณะที่ตะวันตกยังวิ่งไล่ล่าสัตว์อยู่ บาร์เบเรียน ทางอินเดียทางจีนเจริญแล้วนี่ตอนนั้น มีอารยธรรมแล้ว ของอินเดียนี้ ก็ตั้งแต่ลุ่มน้ำสินธุมา พวก โมเหโจดาโร อะไรพวกนั้นนะ นี่ก็เจริญ อารยัน เข้ามาเจริญกัใหญ่ รุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น มีการบริหาร ปกครอง มีการแย่งชิงดินแดน ในเวลาเดียวกันการใช้อำนาจก็มากทรัพย์ก็มาก การแสวงหาความสุขจากวัตถุเสพเริ่มมากขึ้น คนลุ่มหลงมัวเมา คนพวกหนึ่งก็เบื่อหน่ายเลย ออกป่าดีกว่าไม่เอากับใครแล้วไปเป็นฤษีชีไพร ไอ้พวกมึงก็เสพกันใหญ่เลยนะในเมืองเนี่ย ยุคนั้นจึงเกิดชีวิตที่สุดโต่ง 2 ทางเหมือนสมัยนี้ สมัยนี้ก็เจริญเพิ่มพูนมัวเมาใช่ไหม แล้วก็พวกหนึ่งก็เบื่อหน่าย พระพุทธเจ้าก็มาเห็นมันยังไงชีวิตยังไงมันถึงจะดี ไปทดลองกับเขาไปแสวงหาความรู้บอกไม่ถูกทั้งคู่ เป็นที่สุด 2 อย่าง แล้วก็แสวงหาทางแห่งปัญญาได้มัชฌิมาปฏิปทามาประกาศ อันนี้ในสังคมสมัยนั้นพระพุทธเจ้าเกิดท่ามกลางสังคมที่มันสู่กระแสของวัตถุนิยมไปเยอะแล้วเหมือนกันแล้วก็พยายามแก้ไขมาชี้แจง เพื่อนำเข้าสู่แนวทางมัชฌิมาปฏิปทา ทางแห่งมรรคมีองค์ 8 ที่ถูกต้องได้คนมาจำนวนหนึ่งใช่ไหม ก็พัฒนาเจริญมา พุทธเจ้าเป็นจุดเริ่มต้นให้หลังพุทธกาล แล้วพุทธศาสนาก็เจริญต่อมา แต่ในเวลาเดียวกัน พวกสังคมก็เป็นสังคมของมนุษย์นี่แหละที่ส่วนหนึ่งมันก็ยุ่งกันอยู่ มันก็ฆ่ากันไปมันก็แย่งกันไป แม้แต่กษัตริย์อาชศัตรูก็ยังฆ่าพ่อถูกไหม มันก็ยังมีเรื่องเบียดเบียน ทางมะคด ก็ยกทัพไปตีวัชชีรุกรานกันอะไรต่าง ๆ และพระเจ้าจันทปัชโชติพระเจ้าอุเทน ว่ากันให้วุ่นไปกันหมดใช่ไหม นี่ก็เรื่องของสังคมมนุษย์เนี่ย มันจะเอาดีอุดมคติให้มันดีทุกคนคงไม่ไหวมันอยู่ที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกต้องพัฒนาหลักการนี้ใช้ได้ตลอดเวลาใช่ไหม ในเวลาหนึ่ง ๆ นั้น มนุษย์ทุกคนจะไม่มีหรอกที่พัฒนาอยู่ในระดับเดียวกันหมดถูกไหม มันก็จะอยู่ในระดับต่างกันแห่งการพัฒนา
(8)
คนฟังถาม คือผมรู้สึกท้อ ผมเปรียบเทียบในสมัยนั้นพระองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าท่านมีพระชนม์ชีพอยู่ ก็ทำให้สังขะมีความเข้มแข็งมาก แต่ปัจจุบันสังขะจะเป็นตัวแทนหรือตัวที่สามารถเผยแผ่ธรรม
พระตอบ อ๋อ สังคมขาดกัลยานิมิตร เพราะตัวกัลยานิมิตร มันไม่มีคุณสมบัติ หรือว่ามันไม่สามารถ หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ สังคมไม่สามารถพัฒนากัลยาณมิตร ขึ้นมา ไม่มี ก็เอานะ มันก็เป็นปัญหาของมนุษย์ แต่ว่าทำอย่างไรเราจะช่วยเท่าที่ทำได้ ถ้าเราจับหลักให้ได้ก็มาปฏิบัติดำเนินตามแนวทางที่จะสร้างสรรค์สู่มัชฌิมาปฏิปทาให้เป็นไปเพื่อจุดหมายที่ดีงาม
ก็ยุติในภาคเช้าไว้เท่านี้ก่อน