แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ทีนี้ ก็จะไปสู่ความสำเร็จของการปฏิบัติ ก็ได้บอกเป็นการสรุปแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในตอนท้ายของพระสูตรว่า อานาปานสติที่บำเพ็ญอย่างนี้ก็ทำให้สติปัฏฐานสี่บริบูรณ์ ก็ที่พูดมาทั้ง 16 ขั้นนั่นแหละ คือการที่ว่าเป็นการบำเพ็ญอานาปานสติชนิดที่ว่าทำสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์ เมื่อเราหายใจเข้าออกโดยที่ทุกลมหายใจเข้าออกนั้น ได้มีการกำหนดพิจารณารู้ตลอด จนบังคับสภาวะธรรมต่างๆให้เป็นไปอย่างที่เราได้ผ่านมานี้ มันก็เป็นการที่ทำให้เกิดสติปัฏฐานครบสี่บริบูรณ์ ทีนี้ ท่านก็บอกต่อไปว่า สติปัฏฐานสี่ที่บำเพ็ญอย่างนี้แล้ว ได้อาศัยอานาปานสติมา ทำให้บริบูรณ์อย่างนี้แล้ว ก็ทำให้โพชฌงค์ 7 บริบูรณ์ คำถามต่อไปก็คือว่า สติปัฏฐานสี่ที่บริบูรณ์นั้น ทำให้โพชฌงค์ 7 บริบูรณ์อย่างไร เราจะเห็นว่าโพชฌงค์ 7 เป็นตัวที่สืบต่อสติปัฏฐาน เป็นตัวที่นำไปสู่จุดหมายที่แท้จริง ในโพชฌงค์ 7 ประการนั้น ตัวแรกก็เป็นสติเหมือนกัน สติปัฏฐานนี้ก็เน้นเด่นชัดที่ตัวสติ และในโพชฌงค์ 7 ประการนั้นก็เริ่มต้นด้วยสติ ฉะนั้น สติ ใน สติปัฏฐานนี้แหละ ก็จะกลายเป็นสติของโพชฌงค์ หมายความว่าเมื่อบำเพ็ญสติปัฏฐานสี่บริบูรณ์แล้ว สติในสติปัฏฐานก็กลายเป็นสติของโพชฌงค์ไป ท่านเรียกชื่อเต็มว่าสติสัมโพชฌงค์ กล่าวคือ สติในสติปัฏฐานที่ได้ปฏิบัติ ฝึกทำงานจนเข้มคล่องทัน เป็นอย่างดีแล้ว ก็จะกลายเป็นสติสัมโพชฌงค์ ซึ่งเป็นองค์ธรรมในขั้นที่จะให้เกิดการตรัสรู้ได้ นอกจากสติจะกลายเป็นสติสัมโพชฌงค์ แม้องค์ธรรมอันอื่นที่ทำงานอยู่ด้วยกันกับสตินั้น ก็คล่องเข้ม ทำงานได้อย่างเป็นโพชฌงค์ไปด้วย แล้วองค์ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ตั้งแต่สติเป็นต้นไป ก็เป็นองค์ธรรมหรือตัวประกอบที่จะทำให้เกิดการตรัสรู้ จึงเรียกว่าเป็น โพชฌงค์ ก็หมายความว่าองค์ธรรมต่างๆที่ปฏิบัติมาในสติปัฏฐานนั้นเอง เมื่อมันเจริญเต็มที่แล้ว มันจะถึงขั้นที่กลายเป็นโพชฌงค์ ทำให้พร้อมที่จะเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า วิชชาวิมุตติต่อไป มาดูทีละอย่างๆ คือว่ามันเข้มคล่องขึ้นอย่างไร พอจะให้เห็นลักษณะความสัมพันธ์ ดูตามลำดับของโพชฌงค์ 7 ประการ โพชฌงค์ 7 ก็ หนึ่ง ก็สติ ตัวแรกอย่างที่ว่า ซึ่งแสดงความสัมพันธ์ชัดกับสติปัฏฐานทีเดียวแหละ สติปัฏฐานก็โอนไป กลายไปเป็นสติสัมโพชฌงค์ ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ว่า สติก็ทำงานเด่นชัด ตามทันอารมณ์ที่เป็นไป เช่น สภาพจิตที่เป็นไปอยู่ มีราคะเกิดขึ้น หรือฝ่ายดีมีศรัทธาเกิดขึ้น หรือว่าฝ่ายชั่วอื่น เช่น นิวรณ์เกิดขึ้น อะไรก็ตามเกิดขึ้นเนี่ย สติจับเอามาทันหมด เอามาให้ปัญญาพิจารณาวินิจฉันได้ฉับไว หรือว่าเลือกเอาสิ่งที่เหมาะเหมาะมาส่งให้ปัญญา เลือกเอามาใช้จัดการทำงาน นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ปัญญาจะทำงานได้ผลดี ก็เมื่อสตินี้คล่องแคล่ว และทำงานได้ผลดี ตอนนี้สติเนี่ย ที่ได้ฝึกหัดมาอย่างดีแล้ว ก็ทำงานได้เข้มคล่องฉับไว ทันการทันทุกอย่าง สิ่งที่จะนำมาใช้ในการที่จะทำงานให้ดีผล สติก็ทำได้ทันหมด
ฉะนั้นปัญญาก็มีโอกาสที่จะทำงานได้ผลดียิ่งขึ้น ตลอดจนกระทั่งว่า สตินั้นก็เป็นตัวพูดภาษาสำนวนว่า เบิกตัวปัญญามาได้ทันการ คือคนทั่วไปนี้จะมีปัญหาที่ว่า ถึงเวลาจะต้องใช้ปัญญามันไม่มา ปัญญาไม่มาเพราะอะไร เพราะสติมันไม่มี เมื่อสติไม่มี ปัญญาไม่มา ทีนี้เราฝึกด้วยสติปัฏฐานจนกระทั่งสตินี้ทันเด่นชัดมาก สติมันก็เบิกตัวปัญญามาให้ทำงานได้ทันควัน มีอะไรที่จะต้องจัดการ สติก็มาทำหน้าที่และส่งงานต่อให้ปัญญา ก็คือเบิกตัวปัญญามาทำงานได้ทันควัน อันนี้ก็เลยเข้าไปสู่ข้อที่สอง สติต่อกับปัญญา ฉะนั้นองค์ประกอบของข้อที่สองของโพชฌงค์ ก็ตามมาด้วยปัญญาที่มีชื่อเฉพาะว่า ธัมมวิจยะ ซึ่งแปลว่า การเฟ้นธรรมหรือการวิจัยธรรม ปัญญานั้นเองเมื่อสตินั้นส่งข้อมูลมาชัดทันการ และเบิกตัวปัญญาเองมาได้ไว ก็ทำงานได้ผลดี ปัญญาก็ชัดคม วิจัยเฟ้นวินิจฉันแยกวิเคราะห์ได้ผลในเรื่องกุศล อกุศล สิ่งที่เป็นคุณเป็นโทษ อันไหนจะเอามาใช้ในกรณีใด ได้ผลที่สุด เมื่อไรจะใช้ อะไรจะทำอย่างไร อันนี้ก็เกิดความจัดเจนของปัญญาขึ้นมา ซึ่งอาศัยความจัดเจน ของสติด้วย ตอนนี้เราก็มาถึงขั้นที่ว่า ปัญญาที่ทำงานเป็นสัมปชัญญะ ในสติปัฏฐานนั้นก็กลายมาเป็นตัว ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ไป อันนี้เป็นองค์ที่ 2 ในโพชฌงค์ 7 ต่อไปข้อที่ 3 วิริยะความเพียร ความเพียรเมื่อการวิจัยได้ผลดีทำงานได้สำเร็จก็ดี หรือเกิดความรู้ความเข้าใจก็ดี เราก็ย่อมมีกำลังใจกระตุ้นให้เกิดแรงมากขึ้นที่จะเดินไปข้างหน้า อันนี้เป็นธรรมดา คนเราเมื่อทำอะไรได้สำเร็จผลดี หรือเกิดความรู้ความเข้าใจอะไรเนี่ย มันจะเกิดกำลังใจมีแรงที่จะก้าวหน้าต่อไป อันนี้เรียกว่า วิริยะ ทีนี้วิริยะก็จะมีการเกิดขึ้น เราก็ต้องมาใช้อาตาปี เป็นตัวความเพียรคอยประคับประคอง คอยกระตุ้นให้การปฏิบัติเดินหน้าอยู่แล้ว
ทีนี้เมื่อการปฏิบัติมันเดินหน้าไปจริงๆ ตัววิริยะมันกลายเป็นว่า เป็นตัวที่มีกำลังดีมาก มันเดินหน้าไปอย่างชนิดที่พร้อมที่จะทำงานให้พอเหมาะพอดี ที่จะให้ปัญญาก็ทำงานอย่างได้ผลดี ที่จะทำให้เกิดการตรัสรู้ขึ้น เพราะฉะนั้นวิริยะนี้ก็ทำให้เดินรุดหน้าไป มีกำลังใจที่จะเข้าถึงความรู้จริงยิ่งๆขึ้นไป ตลอดจนกระทั่งว่ามีแรงมีกำลังที่จะละเว้นกำจัดพวกอกุศล สิ่งที่เสียหายเป็นโทษ หมายความว่าปัญญาพิจารณาเลือกเฟ้นบอกมาให้ว่า อันนี้เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นโทษเสียหาย ไม่เกื้อกูลต่อชีวิต พอรู้ชัดอย่างนี้ ก็เกิดวิริยะความเพียรเดินหน้าไปที่จะไปกำจัดแก้ไขป้องกันอกุศลนั้น หรือปัญญาแยกแยะออกมาให้ชัดว่า อันนี้เป็นอกุศล อันนี้เป็นสิ่งที่ดีเกื้อกูล เป็นประโยชน์ ก็เกิดความเพียรขึ้นมาที่จะไปเจริญไปเพิ่มพูนสิ่งที่ดีงามเป็นกุศลนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์นั้น รักษาไว้และทำให้มากขึ้นจนกระทั่งเต็มบริบูรณ์ ความเพียรก็จะมาทำหน้าที่นี้ ทั้งในแง่ที่ว่า ละเว้นกำจัดอกุศล และด้วยการที่ว่าจะเจริญกุศลให้เต็มที่ ก้าวหน้าไปในเรื่องของการที่จะรู้สภาวะธรรมยิ่งๆขึ้นไป ต่อจากวิริยะ ก็จะมาถึงองค์ข้อที่ 4 ก็คือ ปิติ ความอิ่มใจ มีอยู่แล้วในตอนปฏิบัติสติปัฏฐานก็จะมากลายเป็นปิติในโพชฌงค์ คือปิติที่มาทำงานร่วมกันในการที่จะเข้าถึงจุดหมาย ในการที่จะกำจัดกิเลสและเข้าถึงสัจธรรมนี้ ปิติก็มาเป็นองค์ประกอบนี้ด้วย เมื่อมีความก้าวหน้าได้ผล มีความสำเร็จ จากการเดินหน้าขององค์ธรรม มีธัมมวิจยะ มีวิริยะ มันก็เกิดปิติความอิ่มใจ ปลื้มใจ ก็เป็นปิติความอิ่มใจ ปลื้มใจชนิดที่ท่านเรียนกว่า นิรามิส คือไม่อิงอาศัยอามิส คือเป็นสิ่งที่เกิดจากความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม สภาวะภายในจิตใจที่ดีงามเป็นกุศล ไม่ต้องอาศัยรูปเสียงกลิ่นรสภายนอกมาเป็นเหยื่อล่อ ปิติเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันก็เป็นสภาพจิตที่หล่อเลี้ยงการทำงานของใจ ใจจะทำงานได้ดีก็มีสภาพจิตที่มีความสุข มีปิติ มีความอิ่มใจ เพราะฉะนั้น ปิตินี้ก็มาช่วยหล่อเลี้ยงการทำงานของใจให้ได้ผลดี แล้วก็เป็นฐานของสภาพจิตที่ทำงานอย่างได้ผลและเป็นสุข นอกจากทำงานก้าวหน้าดีแล้ว ก็ทำงานอย่างเป็นสุขด้วย ไม่เฉพาะในการปฏิบัติธรรมในทางจิตภาวนา ปัญญาภาวนา แต่การงานทั่วไปก็ควรจะมีปิติ ถ้าหากว่าใครมีปิติ มันยิ่งจะทำงานได้ผล เป็นสภาพจิตที่ทำงานด้วยมีความสุขด้วย และจะทำให้ทำงานได้ผลดีด้วย ปิติเกิดขึ้นเป็นองค์หนึ่งในสัมโพชฌงค์
ต่อจากปิตินี้ เราก็ทำนายได้เลย ปิติจะต่อด้วยปัสสัทธิ ปัสสัทธิก็คือความผ่อนคลายระงับ หรือผ่อนระงับ ที่ไม่มีความเครียด ฉะนั้นเมื่อมีปิติแล้ว ปิตินี้เป็นเรื่องที่โลดแรงซู่ซ่า ก็จะตามมาด้วยการผ่อนคลายสงบระงับลงไปของกายใจ เรียกว่าปัสสัทธิ แล้วก็นำมาซึ่งความสุขด้วย เมื่อมีปัสสัทธิ แล้วสุขก็ตามมา คือเวลาพูดถึงสุขก็ให้รู้ว่า ในที่นั้นก็แฝงเอาปัสสัทธิไว้ด้วย ในกรณีนี้พูดถึงปัสสัทธิเป็นตัวเด่นก็ให้รู้ว่ามีความสุขตามมาด้วย ในคำบรรยายในนั้นเอง ในพระไตรปิฏกเนี่ย ท่านพูดถึงปัสสัทธิแล้ว ท่านก็พูดถึงความสุขด้วย แต่ว่าไม่เอามาจัดเป็นองค์หนึ่ง เพราะฉะนั้นในตอนนี้ก็คือการที่ว่า มีความสุขด้วย เป็นอันว่าต่อจากปิติอิ่มใจ ปลื้มใจ ก็มีปัสสัทธิความผ่อนคลายสงบเย็น แล้วก็พร้อมกันนั้นก็มีความสุขตามมา การทำงานปฏิบัติก็ก้าวหน้าไปได้โดยไม่มีความเครียด มีแต่ความชื่นฉ่ำในใจ เสร็จแล้ว อีกอันนึงก็ตามมาด้วยก็คือสมาธิ เมื่อมีสุขแล้วก็มีสมาธิ ความตั้งใจมั่น ความมีใจแน่วแน่อยู่กับอารมณ์หนึ่งเดียว ตอนนี้จิตก็คล่องสะดวกไร้สิ่งบีบคั้นรบกวน ด้วยความสุขนั้น ก็เลยทำให้เกิดความตั้งมั่นสงบเป็นสมาธิ สมาธินี้ก็เป็นภาวะจิตที่รองรับการทำงานที่ได้ผลดีทั้งหมด อย่างที่ว่ามาแล้ว เราก็ได้จิตเป็นสมาธิรองรับการทำงานอยู่ตลอดเวลา แล้วภาวะจิตที่มีสมาธิก็ประณีตยิ่งๆขึ้นไปตามลำดับ แต่ตอนนี้ก็เรียกว่า โพชฌงค์ก็เป็นสมาธิที่เพียงพอต่อการที่จะทำงานต่อการที่จะตรัสรู้เมื่อมีสมาธิแล้วก็จะมีอีกตัวหนึ่งคือ อุเบกขา คือเมื่อบำเพ็ญสติปัฏฐานได้บริบูรณ์แล้วก็จะมีองค์ธรรมที่เกิดขึ้น คืออุเบกขานี้ด้วย
คือเมื่อทุกอย่างทั้งสภาพจิตที่สุขสบาย การทำงานขององค์ธรรมต่างๆ ก็ลงตัวกันได้ที่ทุกประการ ทุกอย่างดำเนินไปในทิศทางที่จะเข้าไปสู่จุดหมายแล้ว พอถึงจุดนี้ จิตก็จะวางมือได้ เรียกว่า เราเป็นผู้ควบคุมการทำงาน ก็วางมือได้ ได้แต่มองดูเฉยๆ สบาย คุมอยู่ในทีม นี่คือสภาพที่เรียกว่า อุเบกขา จะเปรียบเทียบเหมือนอย่าง ในสมัยโบราณ จะเปรียบเทียบเหมือนกับรถม้า รถม้าที่มีม้านำวิ่งหลายๆตัว ม้านั้นจูงรถไป ม้าเทียม ม้าเทียมรถหลายๆตัว สมมติว่ามีสองคู่ แม้แต่คู่เดียว ตอนแรกสารถีก็จะต้องคอยใช้แส้ หรือใช้อะไรก็ตาม คอยบังคับม้าให้วิ่งให้สม่ำเสมอเดี๋ยวตัวนี้วิ่งช้าไป ต้องกระตุ้น ตัวนั้นวิ่งเร็วไปต้องรั้งไว้ อะไรทำนองนี้ สารถีก็ยุ่งอยู่กับการที่จะให้รถม้านั้นวิ่งไปอย่างเรียบสม่ำเสมอ ทีนี้พอรถวิ่งไปได้ด้วยดี ม้าวิ่งพอดีๆ ปรับได้เหมาะแล้ว ม้าสองตัวก็ดี สองคู่สี่ตัวก็ดี ทุกตัวนี้วิ่งสม่ำเสมอกันหมด ไม่มีตัวไหนช้าตัวไหนเร็วกว่ากัน พอวิ่งได้ที่อย่างนี้ สารถีเป็นอย่างไร สารถีก็ไม่ต้องไปคอยกระตุ้นม้าตัวช้า ไม่ต้องไปคอยรั้งม้าตัวเร็วอะไร ทุกอย่างเข้าที่ดี สารถีก็วางมือได้ แล้วก็มองดูเฉยสบาย คุมอยู่ในทีม ไม่ใช่ปล่อย นี่ภาวะนี้แหละ คือภาวะที่เรียกว่าอุเบกขา ทุกอย่างลงตัวเข้าที่ เป็นไปในทิศทางสู่จุดหมายแล้ว ก็วางมือได้ มองอยู่เฉยๆสบาย คุมอยู่ในทีม ภาวะนี้เรียกว่าอุเบกขา องค์ธรรมทุกอย่างนี้ สอดคล้องลงตัว ทำงานได้ที่แล้ว เกิดภาวะที่เป็นโพชฌงค์ ถึงขั้นนี้แล้ว จะเกิดภาวะจิตที่เรียกว่าอุเบกขา และทำงานเข้าสู่จุดหมายคือการตรัสรู้ได้ ก็เป็นองค์ธรรมครบ 7 ประการ ทวนอีกทีก็มี หนึ่ง สติ ความระลึกได้อันนั้นที่เป็นตัวกำหนด เอาจิตไว้กับอารมณ์ เป็นผู้เบิกตัวองค์ธรรมต่างๆมาทำงาน สอง ธัมมวิจจยะ ความเฟ้นธรรม วิจัยธรรม ปัญญาที่สอดส่องเห็นประจักษ์ เฟ้นเอาความจริงออกมาได้ สาม วิริยะ ความเพียร สี่ ปิติ ความอิ่มใจ ห้า ปัสสัทธิ ความผ่อนคลายสงบเย็นกายใจซึ่งรวมถึงความสุขด้วย สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น และอุเบกขา ความวางใจเป็นกลางพอดี ซึ่งให้ความหมายคำแปลได้ยาก รู้จากคำอธิบายอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นการที่มองดูเฉยสบาย คุมอยู่ในทีมอย่างที่กล่าว ฉะนั้นลงตัวครบเจ็ดประการเรียกว่าสัมโพชฌงค์
เมื่อสติปัฏฐานนี้ บำเพ็ญบริบูรณ์แล้วก็จะทำให้องค์ธรรมต่างๆนี้กลายมาเป็นโพชฌงค์เจ็ดประการดังกล่าวนี้ พอฝึกอย่างนี้คุ้นดีแล้ว ไม่เฉพาะในการปฏิบัติธรรมนี้เท่านั้น ที่จริงก็คือการฝึกชีวิตจิตใจของเราเนี่ยให้มันพัฒนาไป พัฒนาจิตพัฒนาปัญญา มันก็คือการไปทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง ดังนั้น ผู้ที่ฝึกตัวเองอย่างนี้คล่องดีแล้ว คุ้นดีแล้ว ไม่ว่าจะไปทำกิจการงานอะไร เขาก็จะเป็นอยู่และทำกิจการงานทั้งหลายเหล่านั้น โดยมีสภาพจิตและลักษณะอาการที่ปฏิบัติหรือทำงานในแบบนี้ คือทำงานอย่างได้ผลดี ทำงานโดยมีความสุข มีจิตใจที่สบายตลอดเวลา ทำงานโดยมีสติชัดเจน ส่งงานให้ปัญญา อย่างทันการ พาปัญญามาทำงานได้ดี สภาพจิตที่ทำงานมีปิติ มีปัสสัทธิ มีความสุขอะไรต่างๆเหล่านี้ อันนี้ก็คือการที่ว่า เมื่อสภาพจิตกลายเป็นอย่างนี้แล้ว มันก็ทำไปสู่การดำเนินชีวิต ประกอบกิจกรรมทุกอย่างด้วยสภาพจิตเช่นนี้ ก็เป็นสภาพจิตที่พึงปรารถนา และในสภาพจิตอย่างนี้ที่มีโพชฌงค์นี้ จะไม่มีนิวรณ์ห้า เข้ามารบกวน วนเวียนไปมาเนี่ย มันก็กลับมาเรื่องนิวรณ์อีกทีหนึ่ง ที่เราบอกว่าเข้าฌาน ตอนที่จะถึงฌาน นิวรณ์ห้าระงับไปเนี่ย ก็เป็นระงับโดยวิธีของสมถะการเจริญสมาธิ แต่ตัวธรรมะที่กำจัดนิวรณ์ที่แท้จริง ก็คือโพชฌงค์นี้เอง โพชฌงค์ก็เป็นตัวปฏิปักษ์ของนิวรณ์ เมื่อโพชฌงค์เกิดขึ้นแล้วก็จะกำจัดนิวรณ์ให้หมดไป นิวรณ์ที่หมดไปในการเจริญสมถะ ในฌานนั้นเป็นนิวรณ์ระงับชั่วคราว กิเลสสงบไปชั่วคราวเท่านั้นไม่ได้หายไปเลย นิวรณ์จะหายไปหมดจริงก็ต่อเมื่อ ปฏิบัติตามหลักวิปัสสนาจนกระทั่งว่าชำระล้างกิเลสให้หมดสิ้นด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นจะต้องมากำจัดกันอีกทีด้วยโพชฌงค์นี้ เมื่อโพชฌงค์นี้บริบูรณ์ด้วยการเจริญสติปัฏฐานอย่างบริบูรณ์แล้วก็นำไปสู่ผลประการสุดท้าย คือ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า โพชฌงค์เจ็ดที่เจริญบำเพ็ญอย่างนี้แล้ว ย่อมทำวิชชาวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาวิมุตติก็แยกเป็น วิชชาและวิมุตตินั่นเอง วิชชาก็คือความรู้แจ้ง การรู้จักเข้าใจโลกและชีวิต หรือเข้าใจสภาวธรรมหรือจะเรียกว่าสังขารก็ได้ ตามความเป็นจริง
อันนี้ก็คือจุดหมายของวิปัสสนา คือความรู้ตัวปัญญาที่รู้เข้าใจแจ่มแจ้ง พร้อมกับความรู้เข้าใจแจ่มแจ้ง ก็จะมีผลตามมาเรียกว่า วิมุตติ คือความหลุดพ้น ความเป็นอิสระลอยตัวบริสุทธิ์จากกิเลส สงบ ปลอดโปร่งเบิกบาน ด้วยความรู้และความตื่น อันนี้คือส่วนที่เป็นผล ฉะนั้นก็มาด้วยกันทั้งวิชชาและวิมุตติ ทั้งปัญญาความรู้แจ่มแจ้งและทั้งวิมุตติที่เป็นความอิสระ ความหลุดพ้นนั้น มาถึงวิชชาและวิมุติ คือภาวะที่เรียกว่ามรรคและผลนั่นเอง ตอนนี้ก็เรียกว่าเข้าสู่ภาวะเป็นอริยะชน เป็นโลกุตระ ก็เป็นการเข้าถึงสภาพชีวิตที่ดีงามที่ไร้ทุกข์ จะเรียกได้ว่าเป็นผลสำเร็จของการพัฒนาตนของมนุษย์ หรือการพัฒนาศักยภาพอย่างสมบูรณ์ เป็นสัมฤทธิผลแห่งศักยภาพ ในการที่จะมีศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นอิสรภาพของชีวิตจิตใจ ที่ทำให้จิตใจนี้มีความเต็มอิ่มบริบูรณ์ในตัวเอง เมื่อมาถึงขั้นนี้ก็เป็นอันว่าเป็นการจบการปฏิบัติตามหลักอานาปานสติที่โยงเข้าหาสติปัฏฐานสี่ เรียกว่าอานาปานสติบำเพ็ญบริบูรณ์แล้วก็ทำสติปัฏฐานให้บริบูรณ์ สติปัฏฐานสี่เมื่อบำเพ็ญอย่างนี้แล้วก็ทำให้โพชฌงค์เจ็ดบริบูรณ์ โพชฌงค์เจ็ดที่เจริญอย่างนี้และบริบูรณ์แล้ว ก็จะทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์ ก็จะถึงจุดหมายที่เป็นวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติ มาถึงขั้นนี้ การบรรยายก็ควรจะยุติลงได้ สำหรับการบรรยายนี้ก็ได้ใช้เวลามามากมายและหลายครั้งแล้ว ฉะนั้นอาตมาได้บรรยายนี้ก็มาเป็นส่วนที่เราถือว่าเป็นเรื่องของปริยัติ เป็นพื้นฐาน ปูพื้นความเข้าใจในการปฏิบัติ ถ้าหากว่าเรามีความเข้าใจปริยัติแจ่มแจ้งดี ก็จะช่วยเป็นแนวทาง เป็นเข็มทิศ หรือเป็นแผนที่เป็นความรู้ภูมิศาสตร์ให้ ในการที่จะเดินทางไปสู่จุดหมายได้อย่างดี อาตมาก็จะขออนุโมทนาท่านผู้เจริญภาวนาทุกท่าน และขอตั้งกัลยาณจิต ปรารถนาดีขอให้ทุกท่านได้เจริญงอกงามก้าวหน้าในการเจริญภาวนาไปสู่จุดหมายที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ เป็นความปลอดโปร่งโล่งเบา ความสุข ความเป็นอิสรเสรีภาพ ภาวะไร้ทุกข์ ขอทุกท่านจงเป็นผู้มีส่วนแห่งการได้รับผลนี้โดยทั่วกันทุกท่าน ขอเจริญพร