แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
หมวด 4 สุดท้ายธัมมานุปัสสนาก็จะมีเริ่มด้วยขั้นที่ 13 ซึ่งให้ศึกษาว่า จักตามเห็นว่าไม่เที่ยงหายใจเข้า ศึกษาว่าจักตามเห็นว่าไม่เที่ยงหายใจออก ต่อไปขั้นที่ 14 ว่า ศึกษาว่าจักตามเห็นความคลายออกหายใจเข้า ศึกษาว่าจักตามเห็นความคลายออกหายใจออก ขั้นที่ 15 ศึกษาว่าจักตามเห็นความดับหมดไปหายใจเข้า ศึกษาว่าจักตามเห็นความดับหมดไปหายใจออก และสุดท้าย 16 ศึกษาว่าจักตามเห็นความสลัดคืนเสียได้ หายใจเข้า ศึกษาว่าจักตามเห็นความสลัดคืนเสียได้ หายใจออก มี 4 ขั้นด้วยกัน การที่มาปฏิบัติระดับธัมมานุปัสสนานี้ เราก็ผ่านมาถึง 12 ขั้นแล้ว แล้วก็ในแง่ของตัวสติปัฏฐานก็ผ่านมาสามอย่างหรือสามหมวด กายานุปัสสนาผ่านมา เวทนานุปัสสนาผ่านมา จิตตานุปัสสนาผ่านมา ผ่านมาหมดแล้ว เมื่อผ่านมาถึงขนาดนี้แล้ว มันก็เป็นการที่ว่าเราได้มีขอบเขตของสภาวะธรรมหลากหลายอย่างยิ่ง ที่จะมาให้เราได้พิจารณา ตั้งแต่กายสังขาร จิตสังขาร มาเรื่องอกุศลหรือกุศลธรรมระดับสูง จนกระทั่งถึงเรื่องฌาน องค์ฌานต่างๆ สภาพจิตที่มีปราโมทย์ มีสมาธิ เราก็ผ่านสภาพอย่างนั้นจนกระทั่งว่า เราบังคับให้มันเกิดขึ้นมาก็ได้ อันนี้ เมื่อเรามีสภาพจิตอย่างนี้ ให้เราดูได้มากมาย แล้วเราก็มีองค์ธรรมที่มันอยู่ในสภาพจิตเหล่านั้น เราก็เข้าไปดูองค์ธรรมในจิตอย่างนั้นบ้าง เท่ากับว่าเรามีความพร้อมอยู่มากแล้ว เราก็สามารถที่จะย้อนไปย้อนมาโดยผ่านการกำหนดพิจารณา ตั้งแต่ขั้นที่ 1 มาถึงขั้นที่ 12 เนี่ย ไปๆมาๆดูแล้วก็ ตอนนี้ เราก็เปลี่ยนใหม่ การดูของเราตอนนี้ เรามาดูตัวธรรม ตัวสิ่งที่ดีที่ชั่วอะไรต่างๆ กุศลอกุศลที่มันมีอยู่ในจิตใจของเราแทนที่จะไปดูสิ่งอื่นอย่างที่ผ่านมา นี่ก็เท่ากับเลื่อนมาอยู่ในธัมมานุปัสสนา ทีนี้เราก็ดูโดยที่ว่า วิธีดูของเรา ตอนนี้ท่านให้ก้าวไปจนถึงขั้นว่า ดูสภาพความเป็นจริงของสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของเรา ในชีวิตของเรานั้นเลย สิ่งที่เราได้พบเห็นผ่านมาในการปฏิบัติที่ว่ามีมากมายนี้ เราตรวจดูโดยน้อมไปดูในแง่ของสภาวะความเป็นจริง ก็จะเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สภาพจิตหรือสิ่งที่กำหนดพิจารณาทุกอย่าง ที่เราผ่านมาเนี่ย เราเข้าขั้นโน้น ผ่านขั้นนี้มา ออกไปสู่ขั้นนั้น เมื่อมองในแง่หนึ่ง ตามความเป็นจริง ก็เห็นความเกิดขึ้น ความดับไป หรือความปรากฏขึ้นแล้วก็ความหายไป ตอนนี้จิตของเราก็โน้มไปดูในแง่ของความเกิดดับนี้ ก็เห็นความเกิดดับ อันนี้ก็คือ ข้อปฏิบัติขั้นต้น ที่เป็นขั้นที่ 13 ในธัมมานุปัสสนา คือ ศึกษาว่าจักตามเห็นว่าไม่เที่ยงหายใจเข้า ศึกษาว่าจักตามเห็นว่าไม่เที่ยงหายใจออก
อันนี้เรามีสิ่งที่จะให้ดูพร้อม แล้วเราก็สามารถเห็นได้ชัดเจน จากการที่เราจะเข้าออกผ่านขั้นตอนต่างๆเหล่านั้น แล้วก็มองดูในแง่ของความเป็นจริงที่เกิดดับนี้ เราก็จะเห็นได้ชัดเจน นี่ก็เป็นการเห็นจากของจริงที่มันปรากฏขึ้น ในการเจริญวิปัสสนา แล้วก็เห็นความเกิดดับนั้น เอาจิตที่บังคับหัดไว้ดีนั้น มาศึกษาดูความจริงของสภาพ หรือสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นธรรมะ แล้วเราก็เห็นอนิจจังนั้น เมื่อเราเห็นอนิจจังแล้ว มันก็เป็นตัวต้น ตัวเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การเห็นทุกขังและอนัตตาต่อไป ก็หมายความว่า ไม่ใช่หยุดเฉพาะอนิจจังเท่านั้น เห็นความเกิดดับแล้ว ก็เห็นสภาวะความจริงที่สิ่งเหล่านั้น สภาวะความเป็นจริงเหล่านั้น สภาวะธรรมเหล่านั้น ที่เราผ่านที่เราประสบในการปฏิบัติ ล้วนแต่ถูกความเกิดดับบีบคั้น คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มันก็เปลี่ยนมันก็สลายแปรไป แล้วก็ทั้งหมดนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น มีความสัมพันธ์กันในเชิงเหตุปัจจัย อาศัยเหตุปัจจัยเกิดดับ มันก็ไม่มีเป็นตัวเป็นตน เราก็เห็นกระแสความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งถ้าเราดูชัดเข้าไป พิจารณาลึกซึ้งก็จะเห็นความเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทด้วย ดูความเป็นไป ความเกิดดับอะไรต่างๆเหล่านี้ ให้คล่องแคล่วจัดเจน มีความชำนาญ นี่ก็เป็นเรื่องของธัมมานุปัสสนาในขั้นที่ 1 ทีนี้พอเราปฏิบัติโดยน้อมจิตไปในแง่ของการมองความจริงแบบนี้ เห็นอนิจจังอยู่ตลอดเวลาแล้ว พอเห็นอนิจจังเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งหลาย ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง ที่เราประสบ ประสบการณ์ทุกอย่าง จิตมันก็พร้อม พร้อมอะไร คือพร้อมที่จะคลายออก พร้อมที่จะถอนความยึดติดถือมั่นได้ พอจิตมีความพร้อมเริ่มคลายออกไป เราก็เปลี่ยน เราก็หันมาตามดูเห็นความคลายออกนี้ คล้ายๆว่า มาสัมผัสกับสภาพความเป็นจริงของความคลายออก ซึ่งเป็นผลจากการเห็นอนิจจังนั้นเอง
นี่ก็เท่ากับว่า การที่เราเห็นไตรลักษณ์ เมื่อเห็นอย่างเพียงพอชัดเจนพอสมควรแล้ว จิตใจก็ถึงภาวะที่พร้อมจะคลายออกจากความยึดติดถือมั่นในสิ่งต่างๆ ความรู้สึกยึดติดถือมั่นนั้นก็ค่อยๆคลายออก ค่อยๆจางไป ก็ตามดูเห็นความจางคลายที่เกิดมีเป็นไปในจิตใจของตัวเองนั้น ตอนนี้จึงเข้าสู่ข้อปฏิบัติขั้นที่ 14 ที่บอกว่า ศึกษาว่า จักตามเห็นความคลายออกหายใจเข้า ศึกษาว่าจักตามเห็นความคลายออกหายใจออก นี่ก็ดูตามสภาพจิตความเป็นจริง แต่มันเป็นสภาพผลที่เกิดขึ้นเป็นประสบการณ์ในเชิงที่ว่า ไปในทางที่โน้มสู่โลกุตระ ซึ่งตัววิราคะที่แท้ ก็เป็นโลกุตรธรรม คือการที่จะพ้นจากความติดอยู่ ข้องอยู่ ในสังขาร ในโลก พอมีสภาพจิตเป็นความคลายออก จากความยึดติดแล้ว คลายออกไปได้จริงๆ พอคลายออกไปแล้ว มันก็มาถึงภาวะที่ว่า ความยึดติดถือมั่นอะไรนั้น ที่มันคลายออกมันก็หมดไป ภาวะที่หมดไป ดับหายไปนี้ เราเรียกว่านิโรธ เราก็ย้ายมา จากการตามดูความจางคลาย ก็มาตามดูความดับหายหมดไป ก็เลยมาถึงขั้นที่ 15 คือ ศึกษาว่าจักตามเห็นความดับหายไป หรือความดับหมดไปหายใจเข้า ศึกษาว่าจักตามเห็นความดับหมดไป หายใจออก อันนี้ก็หมายถึงความดับหายไปของสภาพความยึดติดถือมั่นอะไรต่างๆนี้ เห็นความไม่มีแห่งความยึดติดถือมั่นที่เกิดขึ้นนั้น เห็นความดับหมดไปของกิเลสและความทุกข์ เห็นความดับหมดไปของความโศกเศร้าความกังวล สิ่งค้างใจ การติดข้องกับอะไรต่างๆ สิ่งที่กดทับบีบคั้นจิตใจต่างๆ หมดไปสิ้น อันนั้นมันมีความหมายถึงความดับทุกข์ เราพูดง่ายๆก็คือความดับทุกข์นั่นเอง ตอนนี้ก็ มองเห็นสภาวะความดับทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจของตนเอง ก็ตามดูสภาวะนี้ ก็มีประสบการณ์เป็นประสบการณ์ในจิตใจของตนเอง แล้วต่อจากนั้นก็ก้าวเข้าไปยังข้อปฏิบัติขั้นที่ 16 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย ก็คือเมื่อว่ากิเลส ความทุกข์ ความผูกมัด ติดข้อง ค้างคากังวลอะไรต่างๆเหล่านี้หมดไปแล้ว มันคลายออกไปก่อนในข้อ 14 แล้วก็ ดับหมดไปในขั้นที่ 15 พอมันดับหมดไปแล้ว มันก็เกิดภาวะที่เหมือนกับว่าสลัดตัวหลุดออกไปได้ ลอยตัวเป็นอิสระ อันนี้ก็คือภาวะที่ลอยตัวเป็นอิสระ คือความปลอดโปร่ง โล่งเบา ทุกประการ ภาวะนี้เรียกว่าความสลัดคืน ความสลัดคืนก็คือ การสลัดตัวหลุดออกมา ลอยตัวเป็นอิสระนั่นเอง ภาวะนี้ก็เกิดขึ้นจากการที่ว่า คลายความยึดติดถือมั่นออกได้และดับความยึดติดถือมั่น ดับความทุกข์อะไรต่างๆนั้นหมดไปแล้ว ภาวะนี้ก็เกิดขึ้นมาเองต่อเนื่องกัน ก็เป็นภาวะของอิสรภาพที่แท้จริง อันนี้ภาวะนี้ก็เกิดขึ้นมาในใจของเราเอง
พอเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็ตามดูตามเห็น ตามดูภาวะที่สลัดตัวหลุดออกได้ ลอยตัวเป็นอิสระมีความเป็นเสรีอย่างสมบูรณ์นี้ ที่เป็นไปในจิตใจของตนเอง ตอนนี้ก็เป็น ภาวะที่ว่า พ้นจากโลกียะ พ้นจากการที่จมอยู่ในโลก มาสู่ภาวะโลกุตระ อยู่เหนือโลกได้ อย่างน้อยเมื่อเราปฏิบัติอยู่ ในขั้นที่ว่ายังไม่บรรลุมรรคผลนิพพานแท้ มันก็เป็นการชิมลาง คือว่า ท่านเรียกว่าได้ ตทังคะ เป็นนิพพานขั้นตทังคะ ชั่วคราว หรือวิขัมภณ ขั้นที่ว่าได้อาศัยกุศลธรรมฝ่ายดีนั้น มากดมาทับข่มฝ่ายที่เป็นอกุศลไว้ ตอนนี้ก็เป็นการปฏิบัติมาถึงขั้นที่ 16 ถึงขั้นที่ทำให้เกิดภาวะที่มีความหลุดพ้นเป็นอิสระเสรี เราจะเห็นว่า การบังคับจิตให้หลุดพ้นนั้นมีตั้งแต่ ขั้นสุดท้ายของจิตตานุปัสสนา แต่อันนั้นเป็นขั้นที่บังคับจิตให้พ้น แต่มาถึงขั้นนี้ เรามาสัมผัสประสบการณ์ของความหลุดพ้นนั้นเอง มันคนละอย่าง อันนั้นบังคับจิตให้พ้น คราวนี้ สัมผัสกับภาวะแห่งความหลุดพ้นนั้น เมื่อมาถึงการสัมผัสกับภาวะแห่งความหลุดพ้น ความเป็นอิสรเสรีปลอดโปร่งโล่งเบาแล้ว ก็ถือว่าครบวงจรของการปฏิบัติ ครบกระบวนเป็นธัมมานุปัสสนาขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นขั้นที่ 16 ของการเจริญอานาปานสติ 16 ขั้น นี่ก็คือการนำเอาอานาปานสติมาใช้ ในการเข้าสู่สติปัฏฐานครบทั้ง 4 หมวด การปฏิบัตินี้ก็โดยสาระสำคัญก็จบเพียงเท่านี้