แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
หมวดที่ 3 คือจิตตานุปัสสนาก็เริ่มตั้งแต่ขั้นที่ 9 ที่บอกว่า ศึกษาว่าจักรู้ชัดจิตหายใจเข้า ศึกษาว่าจักรู้ชัดจิตหายใจออก และก็ไปขั้นที่ 10 ศึกษาว่าจักทำจิตให้บันเทิงหายใจเข้า ศึกษาว่าจักทำจิตให้บันเทิงหายใจออก และขั้น 11 ศึกษาว่าจักตั้งจิตมั่นหายใจเข้า ศึกษาว่าจักตั้งจิตมั่นหายใจออก ต่อไปขั้นสุดท้ายในหมวดที่ 3 นี้ คือขั้น 12 ศึกษาว่า จักเปลื้องจิตหายใจเข้า ศึกษาว่าจักเปลื้องจิตหายใจออก ก็มี 4 ขั้นด้วยกัน ในตอนนี้ได้บอกแล้วว่า เรามาถึงขั้นที่เรามีความสามารถในการบังคับควบคุมเวทนาที่เป็นจิตสังขาร ที่เป็นตัวปรุงแต่งจิต เมื่อเราบังคับควบคุมเวทนาได้ ก็มีผลถึงจิตใจ เราก็มาถึงขั้นที่เรามากำหนดเกี่ยวกับเรื่องจิตใจ นอกจากว่าเราเริ่มมีความสามารถในการบังคับควบคุมจิตใจโดยผ่านเวทนาแล้ว ก็คือว่า การที่เราปฏิบัติก้าวหน้ามาถึงขั้นนี้นั้น เราได้ขยายขอบเขตของสิ่งที่เราจะใช้กำหนดพิจารณานี้ออกไปอย่างกว้างขวาง เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราจะหันกลับย้อนไป ไปกำหนดพิจารณาตั้งแต่ขั้นที่ 1 มาจนถึงขั้นที่ 8 นี้ เราก็สามารถทำย้อนกลับไปกลับมาได้ อาจจะทำทบทวนไปมาให้คล่องแคล่วจัดเจน ทีนี้เราจะกำหนดที่จุดไหนก็ได้ ขอบเขตที่เราจะศึกษา ที่จะปฏิบัติได้นี่ก็กว้างขวางมาก โดยเฉพาะก็คือว่า เราจะมีสภาพจิตใจให้เราดูตัวเองนี้ได้มากมายหลายอย่าง เพราะว่าสภาพจิตใจของเราบางอย่าง เราอาจจะไม่เคยมีมาก่อน หรือว่าให้มีตามที่ต้องการไม่ได้ แต่ตอนนี้เราสามารถสร้างสภาพจิตใจนั้นขึ้นมาดูได้แล้ว ทีนี้เรามีสภาพจิตใจให้เราดูได้หลายอย่าง เราพร้อมอย่างนี้แล้ว เราก็มาดูสภาพจิตใจ ตอนนี้ก็มาถึงจิตตานุปัสสนา ก็ขั้นต้น ก็คือการที่ว่าให้ศึกษาว่าจักรู้ชัดจิตหายใจเข้า ศึกษาว่าจักรู้ชัดจิตหายใจออก ก็คือรู้ชัดจิตของตนตามที่เป็นจริง ก็เป็นการก้าวมาดูลึกลงไปจากเวทนาก็ก้าวไปดูที่จิตใจ ดูสภาพจิตใจ ว่าจิตใจในขณะนั้นเป็นอย่างไร อย่างที่ว่า เวลามีเวทนาเกิดขึ้น เรามีสภาพจิตใจที่สอดคล้องกับอิทธิพลของเวทนานั้น มีเวทนาที่เป็นทุกข์ สภาพจิตใจก็ถูกอิทธิพลของทุกข์นั้นทำให้เป็นไปอย่างหนึ่ง มีความไม่ชอบใจเป็นต้น หรือมีเวทนาที่เป็นสุข เราก็มีสภาพจิตใจที่เป็นไปตามอิทธิพลของเวทนานั้น ตอนนี้เราคุมเวทนาก็ยังได้ เราก็สามารถทำให้ปิติสุขเกิดขึ้น
ปิติสุขเกิดขึ้นเราก็มีสภาพจิตใจที่ดีงามให้ดูได้อีก ก็อย่างที่กล่าวเมื่อกี้บอกว่า ขยายขอบเขตของสภาพจิตที่จะให้เราพิจารณานี่ หรือดูนี่ให้กว้างขวาง ทีนี้เราก็มาดูสภาพจิตของเรานั้นว่าเป็นอย่างไร ในขณะนั้นๆ มาดูสภาพจิตอย่างที่กล่าวไว้แล้ว อย่างในหลักสติปัฏฐานทั่วไปนี้ มีสภาพจิตให้ดูมากมาย ท่านยกตัวอย่างไว้ถึง 16 อย่าง นั่นก็คือเป็นตัวอย่างที่เราเอามาใช้ในการดูจิตของเราในตอนนี้ ในหัวข้อนี้ได้ เช่นว่า จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ จิตไม่รู้ว่ามีราคะก็รู้ว่าจิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะก็รู้ชัดว่าจิตไม่มีโทสะ หรือจิตเป็นจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ จิตไม่ตั้งมั่นฟุ้งซ่านก็รู้ตามที่มันเป็นอย่างนั้น ตอนนี้ก็เพียงรู้สภาพจิตตามที่เป็น เพราะว่าเราก้าวมาจากเวทนาเราก็มาเริ่มรู้ที่สภาพจิตเป็นขณะนั้นก่อน ตอนนี้ก็เอาเพียงเท่านี้ในขั้นที่ 9 เป็นจุดเริ่มต้นในจิตตานุปัสสนา เมื่อมีความคล่องแคล่วดี พร้อมแล้วเราก็ก้าวต่อไป ไปสู่ขั้นที่ 10 ศึกษาว่าจักทำจิตให้บันเทิงหายใจเข้า ศึกษาว่าจักทำจิตให้บันเทิงหายใจออก คราวนี้เราก็มาเริ่มควบคุมบังคับจิตของเราให้เป็นไปในสภาพที่ดีที่ควร ให้เป็นไปตามความประสงค์ของเรา
ในกรณีนี้จะเห็นว่าท่านเลือกสภาพจิตมาทดลองให้เราฝึกหัด ซึ่งก็คือสภาพจิตที่บันเทิง ที่มีปราโมทย์ พอสภาพจิตที่ปราโมทย์ ร่าเริง เบิกบานนี้เป็นสภาพจิตที่ดีมาก เป็นต้นทางของสภาพจิตที่ดีอื่นๆหลายอย่าง อย่างที่เคยพูดในคราวก่อนว่า ปราโมทย์ตามปกติก็จะตามมาด้วยปิติ ปัสสัทธิ สุข และสมาธิ ในชีวิตประจำวันนั้น ถ้ามีปราโมทย์ก็คือว่าเป็นทางของสุขภาพจิต ความมีความสุข เราก็พยายามทำให้เกิดสภาพจิตอย่างนี้ตอนนี้เราก็มาฝึก มาบังคับจิตของเราให้มันบันเทิงได้ ตอนต้นนั้น ขั้นเมื่อกี้นี้เราพอรู้สภาพจิตตามที่เป็น พอถึงขั้นนี้ เราฝึกบังคับจิต ท่านก็บอกว่า ศึกษาว่าจักทำจิตให้บันเทิงหายใจเข้า ศึกษาว่าจักทำจิตให้บันเทิงหายใจออก เราก็บังคับจิตของเรานี้ ให้บันเทิงให้มีปราโมทย์ จนกระทั่งเมื่อเรามีความสามารถดีนี้ต่อไปก็คือ เราจะบังคับจิตของเรานี้ให้ความร่าเริงเบิกบานเมื่อไรก็ได้ ซึ่งอาจจะเป็นความร่าเริงด้วยสภาพจิตที่เป็นสมาธิ อาศัยสมาธิทำจิตให้บันเทิง อย่างองค์ของฌานนี้ เมื่อบำเพ็ญมาถึงฌานแล้ว ก็มีปิติสุข ความปราโมทย์ก็เกิดขึ้นโดยเกี่ยวเนื่องกับปิติสุขนั้น หรือว่าอาจจะเกิดด้วยปัญญา คือปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับเวทนานั้นเอง การที่มีความรู้เข้าใจแม้แต่เห็นปิตินั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีปัญญารู้เข้าใจก็ทำให้จิตนี้เกิดปราโมทย์ได้ คือการที่มีความรู้แจ้งเข้าใจความเป็นจริงนี้ทำให้จิตของคนเรา เกิดความปราโมทย์ขึ้น หรือแม้แต่ว่า อย่างชั้นที่เรียกว่าต่ำๆ คือชื่นชมกับความเจริญก้าวหน้าในการพัฒนาตนเองหรือว่าในการที่เข้ามาปฏิบัติในทางที่ดีงามถูกต้อง เป็นผลดีแก่ชีวิตจิตใจ ก้าวหน้าไปในการมีชีวิตที่ดีงาม ความรู้สึกต่างๆเหล่านี้สามารถทำให้จิตบันเทิงขึ้นมา ทีนี้เราก็มาปรุงบังคับจิตของเราให้เกิดเป็นสภาพที่บันเทิงอย่างนี้ อันนี้เป็นข้อปฏิบัติในขั้นที่ 10 ต่อไปก็เลื่อนไปอีก ท่านก็เลือกสภาพจิตอีกอย่างหนึ่งให้เรามาทดลองฝึกหัดตัวเอง ก็คือข้อที่ 11 นี้ บอกว่าศึกษาว่าจักตั้งจิตมั่นหายใจเข้า ศึกษาว่าจักตั้งจิตมั่นหายใจออก คราวนี้แทนที่จะบังคับจิตให้บันเทิงร่าเริงเบิกบาน ก็บังคับจิตให้ตั้งมั่น ทำให้มันเกิดสมาธิได้ตามที่ต้องการ เมื่อไรต้องการให้เกิดสมาธิก็ทำจิตให้เป็นสมาธิ จิตที่เป็นสมาธิก็ได้บอกแล้วว่า เป็นจิตที่ตั้งมั่น เป็นจิตที่บริสุทธิ์ผ่องใส แล้วก็ไร้ธุลีมลทิน ไม่มีความขุ่นมัวเศร้าหมอง แล้วก็เป็นจิตที่นุ่มนวลควรแก่งาน มั่นคงแน่วแน่ อันนี้เป็นสภาพที่ดีต่างๆ เรารู้คุณของมัน แล้วเราก็พยายามทำให้เกิดเป็นขึ้นมา
นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ท่านเอามาให้เราฝึกปฏิบัติสองแบบ คือบังคับจิตให้ร่าเริงเบิกบานหรือบันเทิง กับบังคับจิตให้ตั้งมั่น ก็อาจจะมีคำถามแทรกว่าทำไมท่านจึงเลือกเอาสองอย่างนี้ คือมาบังคับจิตให้บันเทิงอย่างหนึ่ง บังคับให้จิตให้ตั้งมั่นอย่างหนึ่ง ก็น่าจะพิจารณาเหตุผลพอเห็นได้ว่า สภาพจิตสองแบบนี้ เป็นต้นทางของสภาพจิตที่เกื้อกูลต่อความดีงามสองแบบของชีวิต คือด้านหนึ่งก็คือด้านความสุข ด้านความสุขนี้จะอาศัยตัวปราโมทย์นี้เป็นตัวที่นำทาง อย่างที่กล่าวแล้วว่าปราโมทย์นี้ อยู่ในสายของกุศลธรรมอยู่ในสายของความรู้สึกที่ดีงามก็คือ ปิติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ อยู่ในสายเดียวกัน ซึ่งมันก็โยงไปหาสภาพจิตอีกอันที่เราบังคับให้เกิดด้วย แต่ว่าโดยสายของมันก็คือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสุข สิ่งที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องการความสุข หมายความว่าเราถือว่าความสุขเป็นสิ่งที่ดีงามต่อชีวิตของเรา ด้านหนึ่งก็คือว่า เอาปราโมทย์มาเป็นตัวนำ แล้วก็เป็นตัวแทน ด้านความสุข เราก็บังคับจิตของเราให้มีปราโมทย์ได้ เมื่อปราโมทย์ได้ ก็มีปิติ ปัสสัทธิ สุขเอง ทีนี้อีกด้านหนึ่งก็คือ ด้านที่เป็นสมาธิตั้งมั่น ด้านนี้เป็นการที่ว่า เตรียมทำจิตให้เหมาะแก่การใช้งาน ที่จะก้าวไปสู่การใช้ปัญญา เพื่อจะเจริญปัญญาก้าวหน้าในปัญญาต่อไป เพราะฉะนั้นสองอย่างนี้ถือว่าเป็นตัวแทนของความเจริญพัฒนาของจิตอย่างสำคัญแล้ว เราก็มาบังคับจิตของเรานี้ ให้ได้สภาพที่เป็นตัวแทนแห่งความดีงาม ความเจริญพัฒนาสองอย่างนี้ พอเราบังคับจิตได้ คล่องแคล่วดีในสองประการ จะบังคับจิตให้บันเทิงก็ได้ บังคับจิตให้ตั้งมั่นได้แล้ว ก็ก้าวไปสู่ขั้นสุดท้าย ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ คือขั้นที่ 12 ซึ่งมีหลักบอกว่า ศึกษาว่าจักเปลื้องจิตหายใจเข้า ศึกษาว่าจักเปลื้องจิตหายใจออก อันนี้ก็เป็นการที่หัดที่จะปล่อยวาง หัดที่จะให้จิตมีอิสรภาพนั่นเอง พยายามทำจิตใจของตนให้มีอิสระเสรี ซึ่งเป็นจุดหมายที่ต้องการเพราะว่าการที่เราปฏิบัติธรรมนี้
การที่เรามีปราโมทย์ก็ดี การที่เรามีสมาธิก็ดีเนี่ย เป็นขั้นตอนในการปฏิบัติที่เราจะก้าวหน้าไปสู่จุดหมาย ซึ่งจุดหมายสุดท้ายนี้ เรามุ่งไปสู่การทำจิตให้มีอิสรภาพคือหลุดพ้น ฉะนั้น ตอนนี้เราก็ก้าวไปสู่ขั้นที่ว่า ฝึกหัดจิตในทิศทางนั้น ก็คือฝึกหัดจิตให้เปลื้องให้หลุดออกไปจากสิ่งที่เกาะเกี่ยวยึดถือทั้งหลาย ท่านใช้คำว่าเปลื้องจิต ทีนี้จิตของเราตอนนี้ เราผ่านมามากมายหลายอย่าง ผ่านมาทั้งอกุศลธรรม ความชั่วความไม่ดีต่างๆ เช่นนิวรณ์เป็นต้น ผ่านมาทั้งสภาพจิตที่เราสบายใจมีปิติสุข สภาพจิตที่บันเทิงมีสมาธิ แต่ทั้งหมดนี้จะดีหรือไม่ดีก็ตาม เราจะต้องหัดที่จะเป็นอิสระจากมัน โดยที่ทำจิตให้หลุดพ้น ไม่ต้องข้องเกี่ยว ไม่ต้องอาศัยมัน เป็นอิสระ จากสิ่งเหล่านั้นได้ทั้งหมดด้วย ตอนนี้ก็มาถึงขั้นที่ว่า เราก้าวหน้าไปสู่การบังคับจิตฝึกหัดให้ก้าวหน้าต่อไป ถึงขั้นที่เป็นอิสระเสรี ก็เลยหัดปลดเปลื้องจิตปล่อยวางได้ทุกอย่างทุกระดับ ปลดเปลื้องจิตจากนิวรณ์ 5 ก็ได้ ปลดเปลื้องจิตจากปิติและสุขก็ได้ ปลดเปลื้องจิตจากความสุขความทุกข์ ปลดเปลื้องจิตจากราคะ โทสะ โมหะ ตลอดจนปลดเปลื้องจิตจากความเข้าใจผิดๆต่างๆ อย่างเช่นว่า เรามีความเข้าใจผิดที่เป็นของปุถุชนเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายว่า เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ เป็นสิ่งที่เป็นตัวตนเป็นต้น ที่ท่านเรียกว่านิจจสัญญา อัตตสัญญา ตอนนี้เราก็เปลื้องจิตจากอัตตสัญญา จากนิจจสัญญาอะไรต่างๆเหล่านี้ด้วย หมายความว่าความยึดติดถือมั่นทุกอย่าง ความเกาะเกี่ยวทุกอย่างนี้ เราหัดเปลื้องจิตให้พ้นไป ให้หลุดไป นี่ก็เป็นการปฏิบัติในขั้นนี้ เป็นอันว่าเราเริ่มฝึกบังคับจิตของเรานี้ให้หลุดพ้น ให้เป็นอิสระเสรีได้ จากทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งดีทั้งชั่ว ไม่ยึดมั่นเกาะติดกับสิ่งใดๆ เลย เมื่อหัดมาถึงขั้นนี้ก็ถือว่าเพียงพอในขั้นจิตตานุปัสสนา เป็นการที่ว่าสามารถบังคับจิตของตน ให้เป็นไปในสภาพที่ดีงามพึงปรารถนา เกื้อกูล ต่อชีวิตจิตของตนเองและเกื้อกูลต่อการที่จะก้าวหน้าต่อไปสู่จุดหมาย เมื่อพร้อมอย่างนี้แล้วก็ขึ้นสู่หมวดที่ 4 หมวดสุดท้ายคือ หมวดธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จะได้ไปพิจารณาในเรื่องธรรมะต่อไป