แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
หมวดที่ 2 คือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งก็มี 4 ขั้นเช่นเดียวกัน อันนี้ก็จะขอให้ดูลำดับขั้นของการปฏิบัติซะก่อน เราก็เริ่มเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ด้วยขั้นที่ 5 คือ ศึกษาว่าจะรู้ชัดปิติหายใจเข้า ศึกษาว่าจะรู้จักปิติหายใจออก ต่อไปขั้นที่ 6 ศึกษาว่าจะรู้ชัดสุข หายใจเข้า ศึกษาว่าจะรู้ชัดสุข หายใจออก และไปขั้นที่ 7 ศึกษาว่าจะรู้ชัดจิตสังขาร หายใจเข้า ศึกษาว่าจะรู้ชัดจิตสังขาร หายใจออก และข้อ 8 ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายในหมวดนี้ว่า ศึกษาว่าจะผ่อนระงับจิตสังขารหายใจเข้า ศึกษาว่าจะผ่อนระงับจิตสังขารหายใจออก เริ่มด้วยขั้นที่ 5 และขั้นที่ 6 ก็เป็นเรื่องของการรู้ชัดปิติและสุข ซึ่งได้พูดถึงความหมายมาแล้ว ว่าปิติเป็นอย่างไร สุขเป็นอย่างไร สองอย่างนี้ต่างกันอย่างไร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร สภาพของปิติและสุขนี้มันก็เกิดขึ้นจากการที่เราปฏิบัติก้าวหน้าไปนี้เอง คือเมื่อการปฏิบัติตามหลักอานาปานสติก้าวหน้ามากขึ้น เรากำหนดลมหายใจได้ดี มีความชัดเจน แล้วก็ทำให้เกิดผลต่อสภาพร่างกายที่ดี เมื่อปฏิบัติก้าวหน้าไป เกิดความสำเร็จและได้รับผลดีอย่างนี้ ก็เป็นธรรมดาที่ว่า เราจะยิ่งมีฉันทะในการปฏิบัติ เมื่อมีฉันทะในการปฏิบัติแล้วปฏิบัติก้าวหน้าสมดังฉันทะนั้น นั่นก็คือการได้สิ่งที่ต้องการ เมื่อได้อารมณ์ที่ต้องการ ก็เป็นธรรมดาว่าปิติจะเกิดขึ้น ปิติความอิ่มใจหรือปลื้มใจเกิดขึ้นมา แล้วก็ย่อมตามมาด้วยความสุข อันนี้แหละเท่ากับว่า เรามีอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นมาตามลำดับการปฏิบัติที่จะเป็นตัวกำหนดตัวที่จะเป็นวัตถุให้เราพิจารณา ถ้าหากว่าเราปฏิบัติในเชิงว่าสมาธิได้สำเร็จผล ในการกำหนดลมหายใจนั้น การปฏิบัติหรือตอนนี้อาจจะได้ฌานแล้วก็ได้ เมื่อได้ฌานแล้ว ปิติสุขก็เกิดขึ้นในฌาน ในฐานะที่เพลินองค์ฌานนั้น เป็นอันว่า ในขั้นนี้เราอาจจะได้ ปิติและสุขมาจากการได้ฌาน ถ้ามิฉะนั้น ก็ได้จากการปฏิบัติเท่าที่เราได้ประสบความก้าวหน้านี้เอง เมื่อเราได้มีปิติและความสุขแล้ว โดยเฉพาะปิติเป็นตัวนำนี่ เราก็เลื่อนมา มากำหนดตัวปิติ และความสุขนี้แหละ เป็นจุดพิจารณาต่อไป ตอนนี้ก็คือการเปลี่ยนอารมณ์
การเปลี่ยนอารมณ์จากการที่ผ่อนระงับกายสังขาร เพียงแต่ว่าการผ่อนระงับกายสังขารได้ประสบความสำเร็จนี้ ตัวปิติก็เกิดขึ้นได้แล้ว พอปิติเกิดขึ้น เราเปลี่ยนจุดที่กำหนด ก็คือการที่ เปลี่ยนมาสู่เวทนานุปัสสนาด้วย เพราะว่าปิติและสุข จัดเข้าในเวทนา ก็มารู้ชัดเวทนา ก็เริ่มด้วยรู้ชัดปิติก่อน เพราะฉะนั้นเราก็กำหนดลมหายใจเข้าออก คือหายใจเข้าออกโดยทุกครั้งนี้ มีความรู้ชัดเวทนาที่เป็นปิตินั้นด้วย หายใจเข้าออกพร้อมทั้งรู้ชัดและเสวยปิติสุขที่ตนมีอยู่ แล้วก็มีความรู้สนิทแนบแน่นชัดเจน จนกระทั่งชำนาญ ก็หมั่นฝึกอย่างนี้บ่อยๆอยู่เสมอๆ จนกระทั่งมีความจัดเจน อันนี้ก็ทำไปตามลำดับอย่างที่กล่าวแล้ว ก็คือว่า พอหายใจเข้าออกโดยรู้ชัดปิติ แล้วเสร็จแล้วก็ หายใจเข้าออกโดยรู้ชัดความสุข อันนี้ก็ให้ปิติและความสุขนี้ มีอยู่ ปรากฏอยู่ในใจของตนเองตลอดทุกเวลา ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ทำจนกระทั่งมีความชำนาญ ซึ่งโดยในขณะที่เป็นอย่างนั้น ย่อมมีจิตที่ดีงาม ที่เกื้อกูล เพราะว่าเป็นฝ่ายของกุศล เป็นความสุข ต่อจากนั้นก็ก้าวไปสู่การปฏิบัติขั้นที่ 7 หรือขั้นที่ 3 ในหมวดที่ 2 เวทนานุปัสสนานี้ ศึกษาว่าจักรู้ชัดจิตสังขารหายใจเข้า ศึกษาว่าจักรู้ชัดจิตสังขารหายใจออก จิตสังขารก็ได้อธิบายไปแล้วว่าได้แก่เวทนาและสัญญา ในที่นี้หมายถึงเวทนา เวทนาก็คือ ปิติและความสุข ซึ่งเป็นเวทนาในฝ่ายดี ในฝ่ายที่สบาย ไม่ใช่ฝ่ายทุกข์ การที่ว่ารู้ชัดจิตสังขารในที่นี้คือ รู้ชัดถึงสภาพความเป็นไปของมัน ปิติสุขนี้เกิดขึ้นในใจของเราแล้ว ทำให้เกิดอาการอย่างไรบ้าง มันมีสภาพเป็นอย่างไรเช่น ปิตินั้น มีความโลดแรง มีความซู่ซ่า ส่วนสุขนั้นมีความสงบ เราก็รู้เข้าใจตามที่เป็นอย่างนั้น รสของมันเป็นอย่างไร รสเกิดขึ้นทำให้เราชื่นฉ่ำสบายอย่างไร และมีอำนาจมีอิทธิพลในการปรุงแต่งจิตอย่างไร มีคุณมีโทษอย่างไร ตอนนี้แหละ ที่ว่าเรามีความรู้ชัดในตัวปิติและสุขนั้น คือไม่ใช่เพราะว่าเสวยปิติเท่านั้น แต่มีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับตัวปิติและสุขนั้นอย่างทั่วถึงตลอดเท่าที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อเรารู้เข้าใจมันแล้ว เรารู้ถึงความหยาบประณีตของมัน รู้ทั้งคุณและโทษของมัน ปิติและสุขนั้น โดยเฉพาะปิตินั้น แม้จะมีคุณเป็นประโยชน์แก่จิตใจแต่มันก็ยังมีโทษ ยังเป็นของที่หยาบและอาจจะทำให้กีดกั้น ไม่ให้จิตของเราเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ ฉะนั้น ในขั้นนี้ หายใจเข้าออกโดยทุกเวลานี้มีความตระหนักรู้ ในจิตสังขารคือ ปิติสุข ที่อยู่ในใจ มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของปิติสุขนั้น เท่าที่เป็นไปนี้อย่างทั่วตลอดที่สุด และก็มีความรู้ชัดอย่างนี้ กำหนดไปจนกระทั่งมีความจัดเจนชำนาญ
เมื่อจัดเจนชำนาญดีแล้วก็ก้าวสู่ขั้นต่อไป ขั้นต่อไปก็คือขั้นที่ 8 ทีนี้พอเรารู้ชัดเกี่ยวกับจิตสังขารดีแล้ว ตอนนี้เราก็มีทุนพร้อมบริบูรณ์และเรารู้บุญ รู้โทษแล้วเราก็เห็นว่า ถ้าหากว่าเราจะก้าวต่อไปนี้ เราควรจะสามารถบังคับมันได้ ถ้าเราบังคับเวทนาคือจิตสังขารนี้ได้ ก็จะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่เรา เราบังคับในแง่ที่ว่าให้ฝ่ายดีเกิดขึ้น แม้แต่ฝ่ายดีนี้ ในบางเวลาที่ต้องการ เราอาจจะต้องมีการควบคุมบังคับให้มันละเอียดอ่อน และมันก็จะเป็นประโยชน์กับการก้าวหน้าไปในทางสภาพจิตใจและในการใช้ปัญญาด้วย ตอนนี้เราก็มาศึกษาคือฝึกหัดในการที่จะควบคุมเวทนานั้นต่อไป คือควบคุมจิตสังขาร ก็เป็นอันว่าในขั้นที่ 7 นี้เรารู้ชัดจิตสังขารแล้ว เราก็ก้าวมาสู่ขั้นที่ 8 พอเรารู้ตระหนักชัดดี มาถึงขั้นที่ 8 ถึงขั้นบังคับควบคุมจิตสังขาร ก็จะมีข้อปฏิบัติบอกว่า ศึกษาว่าจักผ่อนระงับจิตสังขารหายใจเข้า ศึกษาว่าจักผ่อนระงับจิตสังขารหายใจออก
ทีนี้ก็คือเข้าหลักที่ว่าเมื่อกี้นี้ เราสามารถบังคับควบคุมเวทนาได้ บังคับตัวที่ปรุงแต่งจิตของเราได้ ให้มันปรุงแต่งจิตของเราไปในทางที่ดี ละเอียดอ่อน ประณีต เป็นคุณเป็นประโยชน์ได้มากขึ้น และสามารถปรับเวทนาคือ ปิติสุขนั้น ให้เป็นไปอย่างพอเหมาะพอดี เอื้อต่อการที่จะปฏิบัติก้าวหน้าไป เช่นว่า เราก็อาจจะเริ่มตั้งแต่ระงับปิติไปเลย เห็นว่าปิตินี้ ยังหยาบอยู่ และไม่จำเป็น เมื่อก้าวหน้าไป เราต้องการความสงบ เราก็ระงับปิติเสีย เพื่อให้โอกาสแก่องค์ฌานหรือว่าคุณสมบัติอื่นๆ สภาพจิตใจอื่นที่ดีกว่า เข้ามาแทน ตลอดจนพิจารณาคุณโทษ รู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่จะให้ปิตินั้นเกิดขึ้น ให้สุขนั้นเกิดขึ้น อะไรจะทำให้มันดับไปได้ รู้ชัดในการที่จะควบคุมมันได้ ตอนนี้เราก็สามารถที่จะควบคุมได้ทั้งปิติและความสุข ไม่ให้มีอิทธิพลครอบงำจิตใจของเรา แต่ให้มันเป็นไปตามที่เราต้องการ คือให้มาเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา รับใช้เรา นี่ก็เป็นการบังคับควบคุมสภาพจิตอย่างหนึ่ง แต่ว่าคุมจากเวทนาที่เป็นตัวปรุงแต่งจิต ก็ได้ความว่าขั้นที่ 8 นี้ เป็นขั้นที่มาถึงตอนที่เราสามารถบังคับควบคุมเวทนาด้วยข้อปฏิบัติที่เรียกว่า ศึกษาว่าจักผ่อนระงับจิตสังขารหายใจเข้า ศึกษาว่าจักผ่อนระงับจิตสังขารหายใจออก ถึงตอนนี้ เราก็มีความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องของจิตใจของเรานี้มากขึ้นทีเดียว แต่ว่าเป็นการชำนาญโดยที่อยู่ในขั้นของเวทนา การที่เราสามารถบังคับควบคุมเวทนา จัดสรรเวทนาของเรานี้ เป็นสิ่งที่เกื้อกูลชีวิตจิตใจเป็นอย่างมากอยู่แล้ว เราก็ก้าวต่อไปสู่หมวดที่ 3 หรือเป็นขั้นที่ 9 เป็นต้นไป