แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพรท่านผู้สนใจเจริญภาวนาทุกท่าน คราวนี้จะได้พูดต่อในหัวข้อเรื่องการใช้อานาปานสติโยงเข้าสู่ สติปัฏฐาน 4 ซึ่งได้พูดค้างไว้ในคราวก่อน ทีนี้คราวที่แล้วนี้ได้พูดมาถึงลำดับการปฏิบัติในการเจริญอานาปานสติ 16 ขั้น และก็พูดค้างไว้ในตอนว่าด้วยกายานุปัสสนา คือหมวดที่ 1 ซี่งมี 4 ขั้น และในตอนที่ว่าด้วยกายานุปัสสนา 4 ขั้นนี้ ก็ได้พูดถึงผู้ปฏิบัติที่เริ่มต้น ว่าเมื่อมากำหนดลมหายใจก็ยังต้องการวิธีของสมถะ และเราก็ได้พูดถึงการใช้เทคนิคในการเจริญสมถะมาช่วย ได้แก่การนับ หรือการพูดในใจ ที่เราพูดคำว่า คำบริกรรม เช่นว่า พุทโธ เป็นต้น เข้ามากำกับการกำหนดลมหายใจนั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องของการที่ว่าจะช่วยในเรื่องสมาธิ เหมือนกับว่าเอาเรื่องแทรกเข้ามาแล้วก็ใช้เวลาหมดไปกับเรื่องแทรกนั้นพอสมควร คราวนี้จะได้พูดในเรื่องของการปฏิบัติ 16 ขั้นนี้ต่อไป โดยที่ว่าจะพูดในหัวข้อของหมวดกายานุปัสสนา นั่นเอง โดยพูดใน 4 ขั้นต้น ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่ง
กายานุปัสสนา 4 ขั้นต้นนั้น
ขั้นที่ 1 ก็คือ หายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว หายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น หายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น อันนี้เป็น 2 ขั้นต้น 2 ขั้นต้นนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของการกำหนดรู้ลมหายใจโดยตรง และเป็นการรู้ตามที่ลมหายใจนั้นปรากฏ ยังไม่มีการฝึกหรือการบังคับให้เป็นไป ต่อไปในขั้นที่ 3 จะมีการกำหนดที่ขยายกว้างออกไป คือตอนนี้เริ่มที่จะขยายวงกำหนด จากลมหายใจออกไปถึงร่างกายทั้งหมด แล้วก็ แม้แต่ลมหายใจเอง ก็มิใช่กำหนดอยู่เฉพาะ อาการที่หายใจยาว หายใจสั้น แต่ว่าให้รู้ถึงกองลมหายใจทั้งหมด อันนี้เป็นการปฏิบัติในขั้นที่ 3 ซึ่งมีวิธีปฏิบัติตามที่ท่านวางไว้ว่า ศึกษาว่าเราจะรู้ทั่วกายทั้งหมดหายใจเข้า ศึกษาว่าเราจะรู้ทั่วกายทั้งหมดหายใจออก ทีนี้ก็เป็นข้อปฏิบัติที่ว่าจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่ากาย คือเวลาที่หายใจเข้าออกนั้นให้มีความรู้ชัดตลอดทั้งกายของตนเอง ทีนี้คำว่า รู้ชัดกายทั้งหมดนี่ ก็มีความหมายที่คลุมอยู่ 2 อย่างด้วยกัน คือกายที่เป็นส่วนย่อย กับกายที่เป็นส่วนใหญ่หรือส่วนรวม ซึ่งคราวที่แล้วก็ได้พูดไปแล้ว กายที่เป็นส่วนย่อยก็คือ กองลมหายใจ ถือว่าลมหายใจนั้นเป็นกายส่วนหนึ่ง และกายที่เป็นส่วนรวมก็คือร่างกายทั้งหมดนี้ กายส่วนย่อยก็รวมอยู่ในกายส่วนใหญ่ นี้ เมื่อหายใจเข้าออกโดยที่ว่า ให้สำเหนียกว่าจักรู้ทั่วกายทั้งหมดไปด้วย ทุกครั้งที่หายใจนั้น ในแง่ของลมหายใจคือเป็นกายเล็กหรือกายย่อย ก็ให้รู้หมด คือให้มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ชัดถึงลมหายใจของตนเอง ที่มีสภาพเป็นอย่างไร คือลมหายใจของตนเองนั้นยาว สั้น อย่างไร หยาบ ละเอียดอย่างไรก็รู้ชัดทั้งหมด
แม้แต่ว่าลมหายใจนั้นมีจุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหน แล้วก็จุดท่ามกลางผ่านตรงไหน ไปจบสิ้นอยู่ที่ใดก็รู้หมด หรือว่าถ้ามีอาการพอง อาการแฟบ ในส่วนไหนของร่างกายในเวลาหายใจก็รู้หมด อันนี้ก็เป็นการที่ว่า ขยายการรู้ตัวนั้น ให้กว้าง ให้หมดทีเดียว คือเท่าที่เกี่ยวข้องกับการหายใจนั้นทั้งหมด อย่างนี้เรียกว่าในส่วนของกายย่อยคือ กองลมหายใจนั้น ก็รู้ทั่วทั้งหมด ทีนี้ในส่วนกายใหญ่ คือร่ายกายทั้งหมดก็รู้ชัดเช่นเดียวกัน รู้ชัดกายทั้งหมดของตน สภาพที่ตนนั่งกำหนดลมหายใจอยู่นั้น ทั้งตัว ทั้งร่างกายนั้นมีสภาพเป็นอย่างไร วางมือวางเท้าอย่างไร อาการทั้งหมดของร่างกายนั้นก็รู้ชัดอยู่ในใจ อยู่ในสติสัมปชัญญะ แม้แต่ว่า คำว่ากายนี้ ก็จะขยายไปได้ถึงนามกายด้วย คือร่างกายของเรานี้ ปกติก็คือ รูปกาย แต่ในความหมายที่กว้างนั้น ขยายไปถึงนามกาย คือสภาพจิตใจทั้งหมดด้วย ถ้าหากว่าขยายไปถึงนามกาย ก็หมายความว่ารู้สภาพของตนเองทั้งหมด ทั้งร่างกายและจิตใจ ในขณะนั้น ร่างกายเป็นอย่างไร อยู่ในอาการอย่างไร ท่าทางอย่างไร จิตใจมีสภาพเป็นอย่างไรรู้หมด
นี่ก็คือการรู้เกี่ยวกับตัวเองอย่างครอบคลุมในเวลาที่หายใจเข้าออกนั้น ทุกขณะที่หายใจเข้าออกมีความรู้ชัด ในกายของตนเองทั้งหมดนี้ นี้เป็นการปฏิบัติในขั้นที่ 3 และนอกจากนั้นก็ยัง ขยายความไปอีกว่า ถ้าสามารถก็ให้มีความรู้ชัดไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างกายย่อยกับกายใหญ่ หรือกายลมหายใจ กับกายส่วนรวมทั้งหมด ทั้งตัวด้วย คือมีความตระหนักชัดอยู่ในการหายใจนั้นว่า เมื่อหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้น มีผลต่อสภาพร่างกายอย่างไร ตลอดไปจนกระทั่งถึงว่า ผลต่อสภาพจิตใจด้วย คือ เป็นความสัมพันธ์ในการปรุงแต่งกัน ของกาย ทั้งกายใหญ่และกายย่อยมีอิทธิพลต่อกันอย่างไร มีความรู้ชัด ซึ่งอันนี้ก็ได้พูดไปในครั้งก่อนแล้ว อันนั้นเป็นการที่รู้เข้าใจโดยที่ว่ามาแจกแจงไว้ เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงให้เป็นความรู้ ในสภาพที่เป็นจริงในขณะนั้นๆ จะเห็นว่าความหมายในการปฏิบัติขั้นนี้นั้นกว้างขวางมาก ถ้าหากว่า ในขณะที่กำหนดลมหายใจนั้น ทุกครั้งที่หายใจเข้าออกก็มีความรู้ตัวทั่วพร้อมอันนี้อยู่ มีความรู้ ทั่วกายทั้งหมดอย่างนี้ อันนี้ก็เข้าในความหมายของข้อปฏิบัติในขั้นที่ 3 นี่เป็นการปฏิบัติในขั้นที่เรียกว่ามีกรรมศึกษาอยู่ด้วย คือมีการฝึกหัด ก็แสดงว่ามีการพยายาม พยายามที่จะขยายการรับรู้ หรือการที่จะรู้ตัวทั่วพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะนั้นให้ครอบคลุมมากที่สุด ทีนี้ก็ขอต่อไปในขั้นที่ 4 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของขั้น กายานุปัสสนา ข้อปฏิบัติก็บอกว่า ศึกษาว่า จักผ่อนระงับกายสังขารหายใจเข้า ศึกษาว่าจักผ่อนระงับกายสังขารหายใจออก คำว่า ผ่อนระงับกายสังขารได้พูดกันมาแล้วว่า ได้แก่ ลมหายใจที่ปรุงแต่งร่างกาย เพราะฉะนั้นที่ว่ากายสังขาร ก็คือผ่อนระงับลมหายใจนั่นเอง ที่ว่าผ่อนระงับไม่ได้หมายความว่าไปกลั้นลมหายใจ การปฏิบัติในพุทธศาสนาไม่ใช่อย่างนั้น
ที่จริงนั้นการปฏิบัติในขั้นนี้ก็เป็นการปฏิบัติต่อเนื่องมาจากขั้นที่ 3 นั่นเอง คือในขั้นที่ 3 นั้น เราได้รู้ได้เห็นความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างกายทั้งหมดคือกายรวม กับลมหายใจที่เป็นกายย่อยที่มีอิทธิพลต่อกัน ตลอดจนกระทั่งถึงสภาพจิตใจด้วย เช่นอย่างที่พูดมาแล้วว่า เวลาคนเหนื่อยมาลมหายใจก็จะหยาบ แรง ถ้าหากว่ามีความสงบ ร่างกายได้พัก มีกิจกรรมน้อย ยิ่งมีจิตใจที่สบาย มีจิตใจที่ผ่องใส ลมหายใจก็จะละเอียดประณีตมาก เราเข้าใจถึงสภาพความสัมพันธ์อันนั้นแล้ว ทีนี้ ตอนนี้เรามาตั้งใจทำให้เกิดสภาพอย่างนั้นขึ้น ในข้อก่อนนั้น เราสังเกต เรารู้ถึงผลที่มีต่อกัน แต่มาในขั้นที่ 4 นี้เราควบคุมบังคับให้สภาพที่เราต้องการได้เกิดขึ้น ในเมื่อเราทราบอยู่แล้วว่า สภาพที่ลมหายใจละเอียดอ่อนเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อชีวิต ทำให้ร่างกายก็สบาย ทำให้จิตใจก็สบาย เพราะฉะนั้นเราก็เลือกเอา การที่จะทำลมหายใจนี้ให้ละเอียดอ่อน นี่คือการที่เราผ่อนระงับกายสังขาร คือทำลมหายใจให้ละเอียดอ่อนประณีต ตอนนี้เราได้ปฏิบัติมาจนถึงขั้นนี้แล้ว การที่ทำลมหายใจให้ละเอียดอ่อนนั้น ก็ทำไม่ยาก เพราะมีความโน้มเอียงที่จะเป็นอยู่แล้ว เนื่องจากการปฏิบัตินั้นทำให้จิตใจเราสงบมากขึ้น เมื่อจิตใจสงบมากขึ้น ลมหายใจก็ละเอียดลงไปอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ใช้ความสามารถและประสบการณ์ในการปฏิบัตินั้นเอง มาปฏิบัติต่อตนเองในการที่บังคับลมหายใจ ก็คือทำลมหายใจนี้ให้ละเอียดอ่อนลงไป ซึ่งอาจจะบังคับโดยวิธีที่ว่า ทำจิตให้สงบลงไป เมื่อทำจิตให้สงบลงไป ลมหายใจก็สงบละเอียดอ่อนลงไปด้วย หรือใช้วิธีของลมหายใจนั้นเอง ทำให้ลมหายใจละเอียดอ่อนขึ้น เหมือนอย่างที่ว่าได้ยกตัวอย่างตอนก่อนว่า คนที่เหน็ดเหนื่อยมา เหนื่อยหอบ แล้วเค้าก็ต้องหายใจแรงๆ หายใจหยาบมาก เราก็จะช่วยโดยวิธีที่ว่าให้ผ่อนลมหายใจยาวๆ แล้วก็จะช่วยให้ความเหน็ดเหนื่อยนั้นบรรเทาลงไป เราใช้ในกรณีที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น ก็เหมือนกัน เมื่อใช้ในกรณีที่หยาบได้ กรณีที่ละเอียดอ่อนเมื่อฝึกไปนี้ ก็มีความประณีตมีความชำนาญขึ้น ก็สามารถมาใช้การบังคับ ก็เป็นอันว่า ในขั้นที่ 4 นี้ ก็ผ่อนระงับลมหายใจที่เรียกว่ากายสังขารนั้นให้ละเอียดอ่อนขึ้น ให้เป็นไปได้ตามความต้องการ ทีนี้ก็ฝึกเรื่องนี้ให้มีความชำนาญซึ่งก็จะมีผลดีในขั้นที่เกี่ยวกับร่างกาย และก็ที่มีอิทธิพลต่อจิตใจด้วยในขั้นต้นๆ นี่ก็เป็นการปฏิบัติในระดับที่เรียกว่า กายานุปัสสนา เป็นหมวดที่ 1 เมื่อเข้าใจหลักการอย่างนี้ ก็ขอผ่านไปสู่หมวดที่ 2 คือ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน