แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ต่อไปก็ขอข้ามไปสู่หัวข้อใหม่เป็นเรื่องลำดับการปฏิบัติ ตัวลำดับการปฏิบัติก็จะพูดไปตามลำดับทั้ง 16 ขั้น มีอะไรบ้าง ก็ขอเน้นอีกนิดหน่อยซึ่งเป็นข้อสังเกตที่พูดมาแล้วก็คือวิธีปฏิบัตินี้อย่างอานาปานสติที่โยงเข้าหาสติปัฏฐานให้ครบ 4 นี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นชัดว่าเราไม่ต้องไปปฏิบัติสิ่งที่ท่านแสดงในสติปัฏฐานให้ครบหมดทุกอย่างตามนั้น อย่างในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้มีถึง 6 หมวด คราวก่อนได้พูดไปแล้วว่า 6 หมวดมีอะไรบ้าง อาณาปานสติก็เป็นหมวดแรกในกายานุปัสสนานั้น แล้วต่อจากนั้นก็มีการกำหนดอิริยาบถ การมีสัมปชัญญะรู้ในการเคลื่อนไหวทุกขณะทุกครั้ง ตลอดจนกระทั่งพิจารณาดูในร่างกายมีอาการ 32 อวัยวะต่าง ๆ หรือว่ามองดูในแง่จัดเป็นประเภทเป็นธาตุ 4 แล้วก็พิจารณาชีวิตของตัวร่างกายของตัวเทียบเคียงกับซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าในระยะต่าง ๆ ที่มันต้องเน่าเปื่อยผุพังไปตามธรรมชาติมีถึง 6 อย่าง แต่ว่าเราสามารถปฏิบัติด้วยอานาปานสติอย่างเดียวก็ไปตลอดได้เลยไม่ต้องปฏิบัติครบสติปัฏฐานทั้ง 4 หมวด แต่ถ้าหลักทั่วไปก็ยังคงเป็นหลักทั่วไปคือหมายความว่าความมุ่งหมายก็คือให้รู้เข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง แต่ว่าบางทีเราก็อาศัยแม้แต่อานาปานสติอย่างเดียวแล้วก็เข้าใจชีวิตตามเป็นจริงได้คือนำไปสู่ปัญญาที่หยั่งรู้ปัญญาในระดับต่าง ๆ จนกระทั่งรู้แจ้งชัดสภาวธรรมนั่นเอง ฉะนั้นเราก็เอาอานาปานสติอย่างเดียวนี้มาเป็นตัวนำการปฏิบัติทะลุตลอดไปเลย แล้วหลักการทั่วไปเป็นอันว่าคงเดิม ขอย้ำอีกทีหนึ่งว่าหลักการใหญ่คือการมองดูและรู้จักชีวิตตัวเองตามเป็นจริง หรือมองอีกแง่หนึ่งว่าเป็นการเอาชีวิตจิตใจของตนเป็นที่ศึกษาให้รู้เข้าใจความจริงของโลกและชีวิต มองได้ทั้ง 2 อย่าง อันนี้เข้าใจว่าคงแยกได้ มองในแง่หนึ่งเป็นการที่ว่าเรามารู้จักมองดูรู้จักชีวิตของตัวเองตามเป็นจริง แต่มองในอีกแง่หนึ่งเป็นการเอาชีวิตจิตใจของตนมาเป็นที่ศึกษาให้รู้เข้าใจความจริงของโลกและชีวิต มองได้ทั้ง 2 แง่
ที่นี่ก็จะเข้าสู่ลำดับการปฏิบัติตามที่ท่านแสดงไว้ทั้ง 16 ขั้น ก็เริ่มไปเลยตั้งแต่เตรียมตัว เตรียมตัวให้เรียบร้อย จะเตรียมมากน้อยก็แล้วแต่ละ ท่านที่ติดในเรื่องพิธีกรรมมาก ๆ ก็อาจจะเอาพิธีการมาช่วยอย่างที่ได้พูดตั้งแต่ครั้งก่อนโน้น ในครั้งที่ 1 ที่ 2 อะไรโน้นแล้ว พูดไปแล้ว เรื่องพิธีกรรม เรื่องบุพกิจ เรื่องบุพภาคของการที่จะไปเจริญภาวนา พูดไปแล้วอันนั้นจะมีเรื่องพิธีกรรม เรื่องการเตรียมตัว มีการตัดปลิโพธ มีการเข้าหากัลยาณมิตร มีการหาสถานที่อะไรต่าง ๆ ตลอดจนกระทั่งว่าเนื้อตัวต้องมีการชำระอาบน้ำอะไรให้เรียบร้อย ตัดผม ตัดเล็บ อะไรต่าง ๆ จนกระทั่งมาทำพิธีกรรม มีการเคารพพระรัตนตรัย รับศีลอะไรต่าง ๆ อันนั้นก็อยู่ในขั้นเบื้องต้นเตรียมตัวก็เตรียมให้เรียบร้อยก็แล้วกัน ถึงไม่เตรียมตัวเลยก็พอให้สบาย ๆ นะถ้าจิตของตัวดีก็ทำได้เลย อันนี้ก็เป็นอันว่าจะทำแค่ไหนในส่วนบุพภาคก็เป็นเรื่องแล้วแต่จะไปทำ อันนี้ก็ไม่ได้อยู่ในพระสูตรโดยตรง ก็เป็นการเตรียมตัวเป็นการเตรียมพื้นเตรียมจิตเตรียมใจให้มันคล้าย ๆ กับว่าปูพื้นให้ใจมันมั่นคงแน่วแน่จะได้มีกำลังในการปฏิบัติ ให้รู้ความมุ่งหมายเพียงเท่านั้น พอมานั่งได้ที่สบายก็เอาละเราก็เริ่มต้นกันเลย ถ้าจุดเริ่มต้นของท่านก็บอกว่ามีสติหายใจเข้าแล้วมีสติหายใจออก เพียงแค่ว่ามีสติหายใจเข้ามีสติหายใจออกก็ได้ความหมายของอานาปานสติมาแล้ว ก็ก้าวหน้าไปในขั้น 16 ที่แบ่งเป็น 4 หมวด ๆ ละ 4 ตามชื่อสติปัฏฐานทั้ง 4 ที่นี่ก็ให้รู้กันว่าตั้งแต่นี้ต่อไปเราจะเอาสภาพธรรมชาติหรือความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งมาใส่ใจพิจารณา สภาพความจริงของชีวิตหรือจิตใจของเราอย่างใดอย่างหนึ่งมาใส่ใจพิจารณาตลอดเวลาพร้อมไปกับเวลาหายใจ หรือว่าเอาใจไปมองดูอยู่กับสภาพธรรมชาติหรือความจริงนั้นตลอดเวลาทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ทุกครั้งที่หายใจเข้าออกเราจะมีการรู้เข้าใจพิจารณาสภาพความจริงอะไรอยู่อย่างหนึ่งตลอดเวลาด้วย อันนี้เป็นหลักการที่สำคัญ พูดย้ำอีกทีว่าเป็นการระลึกนึกรู้เห็นสิ่งนั้นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก นี่คืออานาปานสติที่จึงจะไปสู่สติปัฏฐานได้ ไม่ใช่กำหนดลมหายใจอย่างเดียว แต่ว่าทุกลมหายใจเข้าออกที่รู้อยู่นั้นมีการระลึกนึกรู้เห็นสภาพความเป็นจริงอะไรอย่างหนึ่งอยู่ด้วยที่อยู่ในจิตใจหรืออยู่ในสภาพชีวิตของเรา อันนี้เป็นหลักการสำคัญ สิ่งที่เรียกว่าระลึกนึกรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออกสิ่งนั้นอาจจะเปลี่ยนไปได้ตามลำดับ คือตอนแรกก็สิ่งที่ระลึกนึกเห็นอยู่ทุกครั้งของลมหายใจเข้าออกก็อาจจะเป็นเรื่องของทางด้านกาย ต่อไปก็เป็นเรื่องเวทนา ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นสภาพจิตใจ แล้วต่อไปก็เป็นสิ่งที่มีในใจคือธรรมะ เปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ ตั้งแต่ร่างกายจนกระทั่งถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในความคิดจิตใจของเรา
ก็จะขอแยกให้เห็นเป็นข้อ ๆ เพื่อให้ความหมายอันนี้เด่นชัดขึ้นมา 1) กายานุปัสสนา ก็เป็นอันว่าระลึกนึกรู้เห็นสิ่งที่ปรุงแต่งสภาพกายคือลมหายใจอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ใช่แค่นั้นยังบอกอีกด้วยว่า และฝึกให้มันเป็นไปในทางที่ประณีตดีงามเกิดผลดีด้วย นี่เป็นวิธีปฏิบัติอานาปานสติ 16 ขั้น เพราะฉะนั้นอันที่ 1 ในกายานุปัสสนานี้ ระลึกนึกรู้เห็นสิ่งที่ปรุงแต่งสภาพกายคือลมหายใจและฝึกให้มันเป็นไปในทางที่ประณีตดีงามเกื้อกูลเป็นผลดีแก่ชีวิต 2) เวทนานุปัสสนา ก็คือระลึกนึกรู้เห็นสิ่งที่ปรุงแต่งจิตใจคือเวทนาและฝึกให้มีแต่เวทนาที่ดีงามปรุงแต่งจิตให้ประณีตเกิดผลดี 3) จิตตานุปัสสนา ระลึกนึกรู้เห็นสภาพจิตใจของตนที่แท้จริงและฝึกให้เป็นจิตใจที่มีสภาพดีงามเป็นไปในทางที่พัฒนา และสุดท้าย 4) ธรรมานุปัสสนา ระลึกนึกรู้เห็นสิ่งที่จิตใจรู้และรู้สึกนึกคิด และก็ฝึกให้เข้าถึงความรู้แจ้งจริงจนประจักษ์แจ้งอิสรภาพอย่างสมบูรณ์ มีทั้งระลึกนึกรู้และก็ฝึกไปด้วย ให้มันได้สภาพจิตหรือว่าความรู้ความเข้าใจที่มันเป็นประโยชน์กับชีวิตจิตใจนำเข้าสู่จุดมุ่งหมาย เมื่อเรามาเข้าใจความหมายกันอย่างนี้แล้วก็มีข้อสังเกตอีกนิดหนึ่งคือบางท่านไปอ่านเรื่องอานาปานสติแล้ว หนังสือบางเล่มก็บอกหายใจออกก่อนแล้วก็มาหายใจเข้า บางเล่มก็หายใจเข้าก่อนแล้วก็หายใจออก ก็เลยสงสัยว่าอย่างไรกันแน่ อันนี้ไม่ต้องไปสนใจในคัมภีร์อรรถกถาท่านก็อธิบายไว้ คือมันเป็นเรื่องของการแปลตามกันมาชนิดที่ว่าถือแนวไหน ท่านบอกว่าคัมภีร์ฝ่ายวินัยให้แปลอัสสาสะเป็นลมหายใจออกแล้วแปลปัสสาสะเป็นลมหายใจเข้า เพราะฉะนั้นผู้ที่แปลตามคัมภีร์ฝ่ายวินัยก็เลยแปลเป็นหายใจออกก่อนเพราะว่าในพระไตรปิฎกท่านใช้คำว่า(อัส-สะ-สติ) แล้วก็เป็นกริยาอนาคตว่า(อัส-สะ-สึ-สา-มิ) หรือว่าถ้าเป็นตัวปัจจุบันกาลของตัวเองก็เป็น(อัส-สะ-สา-มิ) ในที่นี่ถ้าเป็นนามก็เป็นอัสสาสะ ในพระไตรปิฎกก็มีคำว่าอัสสาสะและปัสสาสะ ที่นี่วินัยท่านแปลอัสสาสะเป็นลมหายใจออก ท่านก็ย่อมแปลเป็นออกก่อน เราหายใจออกแล้วก็หายใจเข้า ส่วนในคัมภีร์ฝ่ายพระสูตรกลับกันเลย ท่านเอาอัสสาสะเป็นหายใจเข้า ปัสสาสะเป็นหายใจออก เพราะฉะนั้นท่านก็แปลเป็นหายใจเข้าก่อนเป็นหายใจออก นี่ก็เป็นเรื่องกลับกันในการแปล ก็แล้วแต่ว่าจะแปลแบบวินัยหรือว่าแปลแบบพระสูตร อันนี้ก็ขอให้เข้าใจตามนี้แล้วก็ไม่ต้องงง จะเอาแบบไหนก็ได้มันไม่ใช่เป็นเรื่องสำคัญ หายใจเข้าก่อนหรือหายใจออกก่อน หรือก็อาจจะแปลตามถนัดก็ได้ หลายคนบอกว่าหายใจเข้าก่อนสบายกว่า ก็เอาหายใจเข้าก่อน
พอรู้อย่างนี้ก็เข้าสู่หมวดที่ 1 เอาละที่นี่มาเริ่มลำดับการปฏิบัติ กายานุปัสสนาไปเลย 1) หายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว 2) หายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น เอาละตอนนี้ 2 ขั้นต้น ให้สังเกตคำว่ารู้ชัดเท่านั้น ต่อไปขั้นที่ 3 เริ่มละ 3) ศึกษาว่าจะรู้ทั่วไปทั้งหมด หายใจเข้า ศึกษาว่าจะรู้ทั่วไปทั้งหมด หายใจออก 4) ศึกษาว่าจะผ่อนระงับกายสังขาร หายใจเข้า ศึกษาว่าจะผ่อนระงับกายสังขาร หายใจออก นี่ก็หมดแล้วหมวดที่ 1 เป็นเรื่องของลมหายใจแท้ ๆ ยังอยู่กับลมหายใจหมดเลย 4 ข้อนี้เป็นกายานุปัสสนา แล้วสิ่งที่กำหนดนั้นก็ยังเป็นเรื่องของลมหายใจและก็ร่างกายที่เกี่ยวข้อง อาจจะพิจารณาขยายกว้างออกไปถึงร่างกายทั้งหมดด้วยแต่ว่าก็ยังเป็นเรื่องอยู่กับลมหายใจ ยังไม่ไปลึกลงไป ตอนนี้ก็จะมีการเริ่มต้นปฏิบัติเพราะว่ามีการกำหนดลมหายใจการที่จะทำสมาธิก็จะเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เพราะว่าเท่ากับว่าอันนี้เรามาเริ่มสมถะกันแล้ว พอตอนแรกที่บอกว่าหายใจเข้ายาวรู้ชัดหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวรู้ชัดหายใจออกยาว ตอนนี้มันเป็นเรื่องเน้นที่สมถะก็กำหนดแค่ลมหายใจ การที่ทำสมถะกำหนดลมหายใจก็มุ่งหวังสมาธิ สำหรับผู้ที่แรกปฏิบัติก็มีปัญหาเรื่องสมาธิด้วย ก็เลยว่าจะมีเทคนิคเข้ามาในตอนนี้ว่าในการปฏิบัติเจริญอานาปานสติให้เกิดสมาธินี้จะปฏิบัติอย่างไรจะได้ผล อาจารย์ในรุ่นต่อ ๆ มา ก็คงจะสืบเนื่องกันมาเรื่อยตั้งแต่พุทธกาลแล้วก็สอนต่อกันมาแล้วก็มีการเพิ่มเติมเทคนิคกันบ้าง มีสำนักที่บางท่านก็ได้คิดอะไรแปลกขึ้นมาก็เอาเสริมเข้าไป สำหรับผู้ร่วมปฏิบัติท่านก็เลยสอนเทคนิคไว้ซึ่งเราอาจจะเอาเทคนิคเหล่านั้นมาช่วยเสริมช่วยกำกับการกำหนดลมหายใจ ตอนนี้อาตมาก็จะพูดขึ้นมานิดนึงเป็นการแทรกว่าเราอาจจะใช้เทคนิคเหล่านี้มาช่วยในการทำอานาปานสติกำหนดลมหายใจเพื่อให้เกิดสมาธิเป็นขั้นสมถะก่อน เพราะท่านบอกหลักการก็เพียงว่าหายใจเข้าออกสั้นยาวก็ให้รู้ คือให้จิตอยู่กับลมหายใจ ที่นี่ทำอย่างไรจึงจะให้จิตอยู่กับลมหายใจได้ ตอนนี้แหละที่อาจารย์ท่านให้เทคนิคเข้ามา บางท่านก็บอกให้นับสิ ให้หายใจเข้าหายใจออกก็นับไปด้วย การนับนี้ก็เป็นการเอาเครื่องมือกำกับจิตเข้ามา การนับนั่นเองมาช่วยกำกับจิตให้อยู่กับลมหายใจเพิ่มขึ้น หรือบางท่านก็บอกให้พูดในใจ พุทโธ พุทโธ อย่างที่เราเรียกเพี้ยนกันไปว่าบริกรรมพุทโธ ที่จริงก็คือพูดในใจนั่นแหละ พูดในใจว่าพุทโธ พุทโธ คำว่าพุทโธนั้นเป็นบริกรรมนิมิตไปแต่ที่จริงแล้วตัวอารมณ์ที่แท้คือลมหายใจ แต่คำว่าพุทโธนี้มาว่ากำกับเพื่อให้จิตมันอยู่ตัว มันช่วย หรือบางท่านก็เอาอย่างอื่นเข้ามากำกับก็ใช้คำเหมือนกัน บางท่านก็อาจจะไปพูดในใจถึงคำอื่นอีกแล้วแต่เราจะจัดขึ้นมาเป็นคำที่มันดี ๆ ที่มันจะทำให้จิตมันอยู่กับที่ได้ง่ายขึ้น
สมมติว่าเราตกลงว่าเอาการนับ เอาการนับมาเป็นตัวกำกับจิต มาช่วย เป็นเทคนิคที่ช่วย วิธีที่ท่านสอนกันมาก็คือเอาละเมื่อลมหายใจเข้าออกผ่านไปเราจะกำหนดได้ดีนอกจากว่ามีสิ่งกำกับจิตที่เป็นนับ ก็คือต้องมีจุดที่จิตมาตั้งอยู่ที่สติไปกำหนดด้วย ก็คือว่าเอาจุดที่ลมหายใจของเรานี้ไปกระทบ ลมหายใจของเราไปกระทบรู้สึกแรงชัดเจนที่จุดไหนก็เอาจิตไปตั้งที่นั่นเอาสติไปกำหนดที่นั่น ท่านก็บอกว่าสองจุดนี้มักจะเด่นชัดก็คือว่าปลายจมูกหรือไม่ก็ริมฝีปากบน ใครกระทบถูกลมหายใจกระทบแรงจุดนั้นเด่นก็เอาที่นั่นให้จิตไปกำหนดที่นั่นแล้วก็กำหนดลมหายใจเข้าออกไปด้วยแล้วก็นับไปด้วย เท่ากับมีตัวกำกับมากมายสำหรับผู้แรกปฏิบัติ พอได้อย่างนี้แล้วที่นี่ก็นับละ เริ่มต้นข้อที่ 1 ขั้นที่ 1 ก็คือนับช้าก่อน นับช้า หายใจเข้าก็นับไป หายใจเข้านับ 1 หายใจออกก็นับ 1 เป็นคู่ หายใจเข้านับ 2 หายใจออกนับ 2 เข้า 3 ออก 3 เข้า 4 ออก 4 เข้า 5 ออก 5 ถือว่าครบชุดหนึ่งแล้ว พอ 5 แล้วกลับไปตั้งต้นใหม่ นับ 1 ใหม่ เข้า 1 ออก 1 เข้า 2 ออก 2 เข้า 3 ออก 3 เข้า 4 ออก 4 เข้า 5 ออก 5 พอถึง 5 แล้วแถม เข้า 6 ออก 6 ก็เข้าไปอีกคู่ก็ย้อนกลับไปตั้งต้นนับ 1 ใหม่ เข้า 1 ออก 1 เข้า 2 ออก 2 จนกระทั่งถึงเข้า 7 ออก 7 ก็เพิ่มไปอีก 1 แล้วย้อนกลับไปนับ 1 ใหม่ เข้า 1 ออก 1 เข้า 2 ออก 2 เข้า 3 ออก 3 เข้า 4 ออก 4 เข้า 5 ออก 5 เข้า 6 ออก 6 เข้า 7 ออก 7 เข้า 8 ออก 8 แล้วย้อนกลับไปนับ 1 ใหม่ ใหม่ไปจนกระทั่งถึง 9, 9 แล้วก็กลับไป 1, 1 ถึง 10, 10 พอครบชุด 10, 10 แล้วก็กลับไปตั้งต้น 1, 1 ถึง 5, 5 ใหม่อีก ไปถึง 6, 6 ใหม่ จนกระทั่งมาถึง 10, 10 ใหม่แล้วก็ย้อนไป 1, 1 ถึง 5, 5 ใหม่ อันนี้ท่านเรียกว่าเป็นวิธีนับช้า ต่อไปเมื่อนับช้าไปชำนาญดีแล้วก็ให้เปลี่ยนเป็นนับเร็วบ้าง นับเร็วก็ไม่คำนึงถึงหายใจเข้าหายใจออก ลมหายใจผ่านมาที่จุดกระทบก็นับหนึ่งเรื่อยไป เพราะฉะนั้น เข้าก็ 1 ออกก็ 2 เข้า 3 ออก 4 เข้า 5 ออก 6 อะไรเรื่อยไป เรียกว่านับเร็ว วิธีนี้เรียกว่าการนับ
ต่อไปพอนับชำนาญดีแล้วก็เลิกนับ พอเลิกนับที่นี่มาใช้วิธีตามลม ตามลมหายใจ วิธีตามลมของท่านนี้ท่านบอกว่าไม่ต้องตามลมเข้าไปจริง ๆ หรอก แต่ใช้วิธีตามแบบอยู่กับที่ ตามยังไงแบบอยู่กับที่ โดยกำหนดสติอยู่ที่ปลายจมูกหรือว่าริมฝีปากที่เดียวก็ได้ ก็ตั้งสติอยู่ที่เดียวตามลมอย่างไร ท่านบอกให้ทำเหมือนคนเลื่อยไม้ คนเลื่อยไม้นั้นเวลาดูเลื่อยไม้ก็ดูจุดที่ฟันเลื่อยกระทบตัวไม้หรือท่อนไม้นั้น ฟันเลื่อยก็มากระทบกับที่ท่อนไม้นั้นจุดนั้น เมื่อแกดูที่จุดนั้นอย่างเดียวแกก็เห็นตลอดไปหมด เห็นฟันเลื่อยทีเดียวก็รู้ตัวแผ่นเลื่อยหรือปื้นเลื่อยที่มันผ่านไปตั้งแต่หัวจรดหางหรือปลายต้น ตั้งแต่ต้นจนปลายผ่านไปผ่านมา ดูที่จุดเดียวนั้นก็เห็นเลื่อยทั้งหมดที่ผ่านไปผ่านมา หรือเหมือนกับคนแกว่งชิงช้า นั่งอยู่ที่โคนเสามองแต่ว่าชิงช้าที่ผ่านที่จุดที่ตนมองโคนเสาเท่านั้นก็เห็นชิงช้าที่ผ่านไปทั้งหมด ที่โยนตัวไปข้างโน้นข้างนี้ ท่านบอกว่าวิธีตามลมหายใจก็อย่างนั้นคือมองลมหายใจของเรานี้เหมือนกับเส้นเชือกหรือว่าสายท่อน้ำหรือว่าอะไรสักอย่างที่มันเป็นเส้นเป็นลำแล้วก็ผ่านเข้าผ่านออก จากการที่เราดูที่จุดเดียวนั้นเหมือนกับว่าปลายลมต้นลมได้ปรากฏแก่เราหมด เหมือนกับเส้นเชือกหรือว่าท่อน้ำอันนั้นผ่านไปผ่านมา ปลายโน้นมาถึงปลายนี้ออกมาปลายนั้นเข้าไปอะไรอย่างนี้ ผ่านไปผ่านมา กำหนดลมหายใจอย่างนี้จนกระทั่งว่าจิตนี้แม่นดีแล้ว ตอนนี้ก็จะเกิดนิมิต นิมิตก็คือนิมิตของลมหายใจก็อย่างที่ว่าเหมือนกับลำเส้นเชือกลำท่อน้ำอะไรทำนองนั้นนะที่ผ่านเข้าผ่านออก นิมิตที่เป็นตัวแทนของลมหายใจนี้มันก็จะหยาบละเอียดตามลมหายใจนั้น ลมหายใจก็เหมือนจะหายไป นิมิตก็จะหายไป ก็บอกว่าให้กำหนดไปเถอะ ไม่ต้องไปตกใจ ในที่สุดแล้วมันจะเกิดนิมิตที่เป็นภาพจำลองที่เราเรียกว่าปฏิภาคนิมิตขึ้นมา ปฏิภาคนิมิตนั้นจะปรากฏต่าง ๆ กันแก่คนไม่เหมือนกัน บางคนก็เหมือนภาพปุยนุ่น บางคนเหมือนปุยฝ้าย บางคนเหมือนสายลม บางคนเหมือนเปลวควัน บางคนเหมือนใยแมงมุม บางคนเหมือนแผ่นเมฆ บางคนเหมือนล้อรถ บางคนเหมือนวงพระจันทร์ อะไรทำนองนี้คือสารพัดจะปรากฏอย่างไรก็เอาอันนั้นแหละเป็นนิมิต แล้วกำหนดนิมิตนั้นแทนลมหายใจ คราวนี้ไม่ต้องเอาลมหายใจแล้วให้มากำหนดอยู่ที่เดียวคือนิมิตนั้นแทน ให้จิตอยู่กับมันเรื่อยไปแล้วก็สามารถบังคับนิมิตหรือภาพที่เราเห็นนั้นให้เปลี่ยนแปลงไปตามชอบใจได้ พอเปลี่ยนแปลงจนชำนาญแล้วก็แสดงว่าจิตของเราอยู่กับนิมิตได้จริง ๆ สมาธิก็จะแน่วแน่ ตอนนี้เขาให้เอาภาพอันใดอันหนึ่งที่ตกลงใจแล้วว่าเอาล่ะพอใจที่สุด ภาพที่เราเปลี่ยนแปลงไปถึงรูปแบบอันหนึ่งที่พอใจที่สุดแล้วก็กำหนดอันนั้นเป็นนิมิตสำหรับสมาธิอยู่แน่วไปเลย ในที่สุดก็จะเกิดเป็นสมาธิขึ้นมา อันนี้ก็เป็นผลสำเร็จในการปฏิบัติ ต่อไปก็เจริญขึ้นไปถึงฌานเพราะปฏิภาคนิมิตที่เราประคับประคองดีก็จะนำให้เกิดอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แน่วแน่ก็ถึงระดับฌาน พอได้ฌานแล้วเราก็จะเอาปีติสุขไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานต่อไป ถึงแม้จะไม่ได้ถึงฌานท่านบอกว่าในกรณีนี้ถึงฌานพอได้ถึงฌานก็มีปีติสุขขึ้นแน่ เอาปีติสุขที่เกิดขึ้นนั้นไปใช้ในการพิจารณาในขั้นเวทนานุปัสสนา ถึงไม่ได้ฌานก็เอาปีติสุขเท่าที่ได้ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติ ตอนนี้อาตมาว่าเราได้ใช้เวลาไปมากแล้ว ก็ได้พูดถึงเรื่องวิธีปฏิบัติตามลำดับขั้น 16 ของอานาปานสติที่โยงเข้าสู่สติปัฏฐาน 4 ตอนนี้พูดมาในหมวดที่ 1 อยู่ในขั้นที่ 1 – 4 ก็ยังไม่จบทีเดียว ตอนนี้ได้พูดไปในเรื่องเทคนิคที่จะเอามาใช้เพื่อจะทำจิตให้เป็นสมาธิ มาถึงขั้นนี้ก็เรียกว่าเป็นขั้นที่เป็นประโยชน์มากและเป็นขั้นพื้นฐาน ถ้าทำจิตให้เป็นสมาธิดีก็จะก้าวหน้ากันต่อไป อย่างไรก็ตามเรื่องขั้น 4 ขั้นในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ก็ยังไม่จบ เพราะฉะนั้นก็ยังจะต้องพูดต่อไปอีก อาตมาคิดว่าในตอนต่อไปเราก็จะมาต่อในเรื่องของกายานุปัสสนาในขั้นทั้ง 4 นี้ในแง่ที่ไปใช้ทางสติปัฏฐานให้ชัดเจนขึ้น ตอนนี้เป็นขั้นที่ว่าสมถะเข้ามาแล้วก็เอาเทคนิคมาใช้มาช่วยให้จิตเป็นสมาธิ ก็ขอให้กำหนดส่วนนี้เอาไว้ให้ดี เพราะต่อจากนี้ไปที่นี่เราเข้าถึงขึ้นนั้นอย่างแท้จริง สำหรับครั้งนี้อาตมาก็จะขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน ก็ขออนุโมทนาท่านผู้เจริญภาวนาทุกท่าน ขอเจริญพรยุติเพียงเท่านี้