แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ทีนี้ต่อไปข้อควรทราบข้อที่ 3 ก็คือเรื่องของสมถะที่มาเกี่ยวข้องในที่นี้ ก็ได้บอกแล้วว่าการปฏิบัติตามหลักอานาปานสติ 16 ขั้นนี่เป็นการเจริญตั้งแต่สมถะไปจนกระทั่งจบวิปัสสนา มันก็มีเรื่องสมถะเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็อยากยกเรื่องสมถะที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัตินี้มาพูดอีกทีนึง ซึ่งบางส่วนก็เป็นเรื่องของการทบทวนความรู้เก่า บางอย่างก็เอาความรู้เก่าที่พูดไปแล้วมาขยายความ ทำไมจึงมาขยายความอีกในตอนนี้ในบางเรื่อง ก็เพราะตอนที่เราพูดเรื่องสมถะเนี่ยมีเรื่องราวมากมายหลายอย่างเหลือเกิน จนกระทั่งว่าจะพลาดจะสับสน ที่นี้ตอนจะปฏิบัติจริงเนี่ยเรามาใช้วิธีนี้ เพราะฉะนั้นสมถะที่เราเรียนทั้งหมดมันอาจจะไม่ต้องใช้ ตอนนั้นเราพูดเพื่อให้รู้เป็นพื้นฐานและก็ต้องพูดให้หมด ที่นี้ส่วนที่ต้องใช้จริงถ้าไปพูดตอนนั้นขยายความไว้ปนกับเรื่องอื่นที่พูดมากมายก็จะพลาดจะสับสนไป เราก็เลยเอาเรื่องสมถะที่เกี่ยวข้องกับการที่เราจะปฏิบัติคราวนี้มาพูดซะตอนนี้เลย จะได้เน้นได้ย้ำทำให้ชัดเจนโดยที่ว่าไม่ปนไม่สับสนกับเรื่องอื่นๆ ในสมถะด้วยกัน ก็เป็นอันว่าเราจะเอาเรื่องสมถะที่เกี่ยวข้องนี่มาพูดในฐานะเป็นสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องต้องใช้ แล้วก็เมื่อใกล้จะใช้จริงเรามาพูดแล้วเราจะมีความชัดเจนแล้วก็แม่นยำเพราะไม่มีเรื่องรุงรังเข้ามาปะปน
เอาละที่จะพูดตอนนี้ก็คือว่าไปโน่นเลยไปตอนที่สมถะจะสำเร็จ เมื่อสมถะจะสำเร็จเข้าถึงสมาธิที่ประสงค์แล้วเกิดเป็นฌาน เราพูดกันมาแล้วว่าสิ่งที่ประสงค์ของสมถะคือสมาธิ แล้วก็สมาธิที่ถึงขั้นจริงๆ ก็จะเกิดเป็นสภาพจิตที่เรียกว่าฌาน ที่นี้เมื่อสมถะจะสำเร็จถึงขั้นนั้นให้ได้สมาธิที่ประสงค์ถึงขึ้นเป็นฌานเนี่ย มันก็จะมีการกำจัดสิ่งร้ายให้หมดไป คือสิ่งร้ายที่หมดไปนี่มีสำคัญอยู่ชุดหนึ่ง แล้วพอสิ่งร้ายที่เป็นฝ่ายลบนี่หมดไปแล้วมันก็จะมีสิ่งดีเกิดตามมาหลังจากนั้นอีกชุดหนึ่ง แล้วทั้งสองอย่างทั้งฝ่ายร้ายและฝ่ายดีนี่มีชุดละ 5 เท่ากัน ก็ขอทายว่า...อะไรสิ่งร้ายที่ถูกกำจัดหมดไปมี 5 แล้วก็สิ่งดีที่เกิดตามมาอีกชุดหนึ่งมี 5 เหมือนกันอะไร นี่แหละเป็นเรื่องสำคัญของสมถะที่มันเกี่ยวข้องในที่นี้ ความจริงได้พูดไปแล้วเอ้าย้ำ ที่นี้ก็มาเป็นการทบทวนว่าอันไหนยังไม่ชัดก็มาขยายความ
อันที่หนึ่งก็คือสิ่งร้ายที่จะหมดไป บอกแล้วว่าพอจะได้อุปจารสมาธิขณะสมาธิขั้นเฉียดๆ จวนเจียนจะแน่วแน่ มันก็จะทำให้นิวรณ์ 5 หมดไป นิวรณ์ 5 ก็คือสิ่งร้ายชุด 5 ที่หมดไป ที่นี้นิวรณ์ที่พูดบ่อยแล้วฉะนั้นในที่นี้ก็จะไม่ขยายความมาก สิ่งดีสิจะต้องพูดมากสักหน่อย ที่นี้สิ่งร้ายที่พูดไปแล้วก็เพียงทวนชื่อกันอีกครั้งหนึ่ง สิ่งร้ายที่หมดไปนี่ก็ที่มันรบกวนจิต ขัดขวาง กดทับจิดทำให้จิตไม่เดินหน้า ทำให้ติดข้องวนเวียนอยู่ตรงนั้นหรือว่ามันหมดแรง แล้วก็ไม่สามารถจะคิดอะไรได้กระจ่างชัดเจนมันทำให้เกิดความลำเอียงบ้าง ทำให้บังซะบ้าง เคลือบคลุมไปซะบ้าง ห่อหุ้มไปซะบ้าง อันนี้ก็หมายความว่านิวรณ์นี่เป็นตัวที่ขัดขวางทั้งความเจริญของจิตและขัดขวางการใช้ปัญญาด้วย นิวรณ์ 5 ก็คือ หนึ่งกามฉันทะ แปลว่าความพอใจในอารมณ์ต่างๆ ที่เราเรียกว่ากามเป็น รูป รส กลิ่น เสียง เป็นต้น ที่นี้ถ้าหากว่าเราพูดภาษาง่ายๆ เคยบอกแล้วว่ากามฉันทะนี่อย่าไปคิดแรงคำว่ากามในภาษาไทย กามฉันทะนี่ก็คือความชอบใจนั่นเอง อย่างแรงขึ้นไปก็คือความอยากได้โน่นอยากได้นี่ ความชอบใจนั่นเอง ชอบโน่น ชอบนี่ หรือความยินดี พูดอย่างเบาๆ ที่นี้คู่กับข้อที่สอง ก็คือ พยาบาท พยาบาทก็หมายความว่าผูกใจเจ็บรุนแรง พยาบาทในที่นี้ก็คือความขัดใจหรือความไม่ชอบใจ คู่นี้จะเป็นตัวเด่นมากกามฉันทะกับพยาบาทที่เกิดขึ้นในใจของคน มันจะเป็นปฏิกิริยาต่อกันถ้าชอบใจอันนี้ก็จะ...มีอะไรมาขวางอันนี้ก็เกิดไม่ชอบใจ ฉะนั้นเราก็แปลได้ง่ายๆ ว่าชอบใจกับไม่ชอบใจ หรือชอบชัง หรือยินดียินร้าย หรือติดใจและขัดใจ แต่ว่าติดใจและขัดใจนี่ก็อาจจะเป็นประโยชน์หรือให้ความเข้าใจได้ดีเหมือนกัน กามฉันทะก็คือติดใจ พยาบาทก็คือขัดใจ ซึ่งเป็นตัวรบกวนที่จะเกิดสมาธิ ทำให้จิตใจไม่สงบ ไม่ผ่องใส ไม่ตั้งมั่น แล้วก็ความคิดไม่ชัดเจน ลำเอียง เป็นต้น แล้วต่อไปก็ สามถีนมิทธะ ความง่วงงุน เคลิบเคลิ้ม ท้อแท้ หดหู่ ง่วงเหงาหาวนอน ออกมาทางสภาพร่างกายซึ่งเกิดจากในใจที่ว่าไม่มีกำลังหรือว่าไม่มีฉันทะ เป็นต้น คือสภาพจิตที่มันซึม มันเหงามันท้อแท้หดหู่อะไรต่างๆ นี่ คือเรียกถีนมิทธะ แล้วก็ไปอุทธัจจะกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความไม่สบายใจ เดือดร้อนใจ นั่นเอง ที่ท่านบอกว่าไปคิดว่าสิ่งควรทำเรายังไม่ได้ทำสิ่งที่ไม่ควรทำเราได้ทำไป ก็มากังวลกลัดกลุ้มอยู่ ที่นี้ก็เป็นตัวที่รบกวนจิตทำให้ไม่สบายเป็นนิวรณ์ ก็สี่ข้อ แล้วก็สุดท้ายก็คือ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ตัดสินใจไม่ได้ เหมือนอยู่ที่ทางสองแพร่ง ก็ยังลังเลอยู่ตัดสินใจไม่ได้ก็เดินหน้าไม่ได้เพราะไม่รู้จะไปทางไหน นี่ก็เช่นไม่แน่ใจเกี่ยวกับเรื่อง กุศลกรรม อกุศลกรรม หรือ ข้อปฏิบัติ หรือแม้แต่ว่าควรจะปฏิบัติหรือไม่ มีประโยชน์อะไรหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นตัวขัดขวางรบกวนจิตใจ รวม 5 อย่างนิวรณ์นี่พูดแล้วพูดอีกเป็นตัวขัดขวางสมาธิแล้วก็การใช้ปัญญาด้วยทั้งสองอย่าง
ที่นี้ก็มาถึงสมาธิ ถึงขึ้นที่เรียกว่าที่เป็นที่พึงประสงค์นี่ นิวรณ์ทั้ง 5 นี่ก็จะหมดไปหายไป ทำให้จิตผ่อง จิตมั่น จิตเดินหน้าไปได้อย่างดี ต่อไปก็พูดถึงสิ่งดีที่จะเกิดขึ้นเป็นชุด 5 อย่างด้วยกัน สิ่งดีนี่ก็จะตามมาในตอนที่ว่าหลังจากนิวรณ์สงบไปแล้วได้อุปจารสมาธิแล้ว จนกระทั่งสมาธินั้นแนบสนิทเป็นขั้นสมาธิที่สมบูรณ์ เราเรียกว่า อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบสนิทหรือแน่วแน่ สมาธิในขั้นนี้ก็อย่างที่บอกแล้วว่าเป็นสมาธิที่ถึงขั้นฌาน พอเราได้อัปปนาสมาธิ สมาธิที่สมบูรณ์แล้ว จิตก็ถึงระดับฌานก็เริ่มต้นเป็นฌานชั้นแรก พอถึงอัปปนาสมาธิเราก็พูดได้เลยว่าถึงฌานแล้ว จะเป็นฌานขั้นแรกก่อนคือ ปฐมฌาน ที่นี้พอถึงขั้นฌานแล้วสภาพจิตนี้ก็จะมีตัวคุณสมบัติต่างๆ เข้ามาประกอบ คุณสมบัติเหล่านี้ก็มาร่วมกับสิ่งที่เรียกว่าสมาธินั่นเอง ทำให้เป็นสภาพจิตที่ดีที่เราเรียกว่าฌาน สภาพจิตที่ดีที่เป็นฌานนี้ก็จะมีคุณสมบัติที่เป็นองค์ประกอบซึ่งเราเรียกว่า องค์ฌาน แล้วคุณสมบัติที่เป็นองค์ประกอบหรือองค์ฌานนี้ก็จะเป็นตัวกำหนดให้เราแบ่งระดับของความประณีตของฌานว่าเป็นขั้นไหน เพราะถ้าเป็นฌานอันดับที่หนึ่งก็จะมีองค์ฌานหรือคุณสมบัติที่ประกอบอยู่ด้วยเท่านี้ มีตัวนี้ตัวนี้ ถ้าหากว่าขึ้นขั้นที่สองมันจะประณีตไปอีก มันจะมีคุณสมบัติหรือองค์ฌานดังต่อไปนี้ แล้วขั้นที่สามก็จะมีคุณสมบัติอาจจะเปลี่ยนไปอีก น้อยลงหรืออะไรทำนองนี้ก็ให้ดูกัน ทีนี้องค์ฌานที่เกิดขึ้นหรือคุณสมบัติที่ประกอบในจิตที่เป็นสมาธิอย่างแน่วแน่ ในขั้นที่หนึ่งเลยทีเดียวที่เราเรียกว่าปฐมฌาน ฌานขั้นแรกนี่จะมีองค์ประกอบที่เรียกว่าองค์ฌานอยู่ 5 อย่างด้วยกัน จึงเรียกว่าชุด 5 ชื่อก็คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา นี่ก็ต้องให้ความหมายกันหน่อย วิตก คืออะไร วิตกบอกแล้วว่าไม่ใช่ความหมายในภาษาไทย เรื่องศัพท์ธรรมะนี่ในภาษาไทยเรานี่มีหลายคำที่สับสนปนเปและทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวผิดมาก เพราะว่าใช้ต่อๆ กันไปนานเข้านานเข้านี่วงกว้างออกไปมันก็คลาดเคลื่อนไป อย่างวิตกนี่มาใช้ในความหมายว่า เป็นความกังวลกลัดกลุ้มใจไป แต่วิตกนี่ในที่นี้เป็นองค์ฌานนี่เป็นสิ่งที่ดีไม่ใช้อย่างนั้น ไม่ใช่ความคิดฟุ้งซ่านแต่แปลว่าการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ คือการยกจิตขึ้นสู่สิ่งที่กำหนด ทีนี้เป็นการวิเคราะห์จิตในส่วนที่ละเอียดกันนี่ คือเวลาที่เรากำหนดอารมณ์กรรมฐานหรือจิตอยู่กับสิ่งที่กำหนดเป็นสมาธินี่ แม้แต่ถึงสมาธิแล้วเนี่ยมันก็จะต้องมีอาการที่เป็นการยกจิตเข้าไว้กับอารมณ์นี้อยู่เรื่อย ทีนี้ถ้าหากตัววิตกการยกจิตเข้าสู่อารมณ์นี้มันพลาดไปจิตก็จะตกหรือพลัดไปจากอารมณ์นั้นก็หลุดไป ทีนี้ในตอนที่จะถึงฌานนี้ก็คือตัววิตกนี่ทำงานได้ดี มันจะมีการยกจิตเข้าไว้กับอารมณ์ได้อย่างต่อเนื่อง ยกจิตไปไว้กับอารมณ์ได้เรื่อยๆๆๆ ไปต่อเนื่อง วิตกนี่คือการยกจิตขึ้นไว้กับอารมณ์เหมือนกับว่าจรดหรือปักจิตลงไปกับอารมณ์นั้น ยกให้จิตไปจับอยู่ที่จุดนั้นหรืออารมณ์นั้น ที่นี้มันก็จะตามมาด้วยอันที่สอง อย่างที่สองนี่ก็คือวิจาร วิจารนี่ก็มีความหมายว่าการเอาจิตคลอหรือพันเคล้าอยู่กับอารมณ์นั้น อย่างอยู่กับลมหายใจนี่ก็เอาจิตมาคลออยู่กับลมหายใจ คือนอกจากยกเข้าไปไว้กับลมหายใจหรืออารมณ์นั้นแล้วมันก็ต้องคลออยู่ด้วย ให้จิตนี่คลออยู่กับอารมณ์ที่กำหนด ฉะนั้นแล้วสองอันนี้จะเนื่องกัน อันที่หนึ่งยกเข้าไป อันที่สองก็คลอไว้ คลอไว้เคล้าไว้ ก็ทำเป็นสภาพที่ทำให้จิตอยู่กับอารมณ์นั้นได้ แต่ว่าสองอันนี้แสดงว่ายังต้องมีความพยายามอยู่ถ้ามองอย่างประณีตก็เหมือนกับว่าจะทำให้มีการที่จิตเหนื่อยได้เหมือนกัน ที่นี้ต่อไปอย่างที่สาม อย่างที่สามก็ปีติ ความอิ่มใจหรือความปลื้มใจนี่เป็นสิ่งที่คนเราชอบใจ ในฌานนี่ก็มีแต่สิ่งที่ดีเป็นเรื่องของความสุข เป็นเรื่องของความประณีต แล้วต่อไปต่อจากปีติความอิ่มใจความปลื้มใจนั่นก็ไปถึงอันที่สี่ คือตัวสุข ความสุข ความสุขก็คือความชื่นใจ ความคล่องใจ สะดวกใจ ไร้สิ่งบีบคั้นรบกวน ตอนนี้ไม่มีสิ่งบีบคั้นรบกวนจิตใจ ความสุขนี่เรารู้ได้ง่ายๆ จากการที่ว่าไม่มีตัวทุกข์ ตัวทุกข์ก็คือตัวบีบคั้น ติดขัด คับข้อง ไม่มีอะไรบีบคั้นติดขัดคับข้องในใจ ก็ใจก็คล่องสะดวกนี่เรียกว่าสุข ปีติกับสุขนี่เดี๋ยวจะต้องพูดอีกทีหนึ่ง เพราะว่ามีลักษณะที่จะต้องพูดให้เห็นความแตกต่างและความสัมพันธ์กัน และก็สุดท้ายอันที่ห้า องค์ฌานหรือคุณสมบัติของจิตในฌานก็คือ เอกัคคตา เอกัคคตานั้นก็แปลว่าภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว เอก (เอ-กะ) “หนึ่ง” อัคร (อัก-คระ) “อารมณ์” อัคร ในที่นี้ อารมณ์ แต่ตัวเดิมมันแปลว่ายอดก็ได้ อัคร ยอดหรือเลิศ เราจะพูดถึงคนที่เป็นอัคร อัครมหาบัณฑิต อัครมหาเสนาบดี อัครอะไรก็ตาม อัครนี่ อคค บาลี อคร สันสกฤต อัครนี่แปลว่าเลิศหรือยอด ทีนี้เอกัคค (เอ-กัค-คะ) นี่ก็แปลว่ามียอดเดียว หมายความว่าจิตนี้รวมเข้าไปสู่จุดเดียวนั่นเอง ยอดน่ะมันเป็นจุด จุดรวมที่เป็นจุดเดียวเลย ตอนก่อนที่จิตมันจะไปโน่นไปนี่ยังกระจายอยู่ ตอนนี้มันไปรวมจุดเป็นอันเดียวรวมจุดได้รวมศูนย์ได้ก็เป็น”เอกัคค” แล้วก็ “ตา”ก็คือภาวะนั่นเอง “ตา”นี่เป็น ??? ภาวะ เอกัคคตา ก็ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียวหรือมีจุดเดียว รวมจุดอยู่ที่เดียวหรือมียอดเดียวก็ได้ รวมจุดอยู่ที่เดียวก็แน่นอนนี่คือตัวสมาธิ ฉะนั้นเวลาพูดถึงตัวสมาธิในฌานเนี่ยเราใช้คำว่า เอกัคคตา ให้เข้าใจว่าคือตัวสมาธินั่นเอง สมาธิจะไปเป็นตัวองค์ประกอบสำคัญในฌาน เป็นตัวแกนแล้วก็มีคุณสมบัติประกอบอยู่ด้วย เป็นอันว่าในฌานอันที่หนึ่งที่เรียกว่าปฐมฌานนี่มีองค์ฌานหรือมีคุณสมบัติประกอบอยู่ในจิต 5 อย่าง รวมทั้งตัวสมาธิด้วยเป็นแกน ซึ่งเป็นตัวที่ 5 นอกจากนั้นก็มี วิตก วิจาร ปีติ และ ความสุข ที่นี้ตอนนี้ก็เป็นอันว่าทำความเข้าใจอย่างนี้ก่อน ให้รู้องค์ฌานทั้ง 5 แล้วก็อย่างที่พูดในตอนต้นแล้วว่า เมื่อสมาธิหรือเอกัคคตาเป็นตัวแกนของสภาพจิตในฌาน ตัวคุณสมบัติอื่นประกอบนี่มันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ตัวที่ยืนอยู่ก็คือเอกัคคตาหรือสมาธิ องค์ฌานอื่นนี่จะมีการลดหายไปหรือเปลี่ยนไป แล้วการที่คุณสมบัติอื่นข้ออื่นมันเปลี่ยนแปลงหรือลดหายอะไรนี่แหละคือการที่เราจะมากำหนดระดับหรือขั้นของฌานได้ หมายความว่าเรากำหนดขั้นของฌานนี่จากคุณสมบัติต่างๆ ที่ประกอบกับจิตที่เป็นองค์ฌานในขั้นนั้นๆ แต่ว่าตัวยืนก็คือเอกัคคตานี่จะต้องมีตลอดไปเพราะเป็นตัวสมาธิ ทีนี้เมื่อรู้อย่างนี้แล้วรู้หลักว่าเอาคุณสมบัติหรือองค์ฌานมาเป็นตัวกำหนดขั้นฌานก็ให้ดูต่อไป แต่คือว่าในฌานที่หนึ่งนี้ก็มีองค์ 5 อย่างที่ว่าแล้ว ทีนี้พอถึงฌานที่สอง ฌานที่สองนี้ตัววิตก วิจาร นี้จะหมดหน้าที่ไปเพราะว่าจิตแนบสนิทลึกซึ้งอยู่กับอารมณ์นั้นอยู่ตัวยิ่งขึ้น เมื่ออยู่ตัวยิ่งขึ้นแล้วการที่จะต้องคอยยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ยกจิตไปไว้กับอารมณ์ การที่ต้องเอาจิตเคล้ากับอารมณ์นี่คลอกับอารมณ์นี่ไม่จำเป็นแล้ว มันหมดไปเองตามธรรมดาธรรมชาติ มันไม่ต้องทำหน้าที่มันก็หายไป พอเราจิตอยู่ตัวถึงขณะนี้คุณสมบัติหรือองค์ฌานก็แปลว่าลดลงไปแล้วแทนที่จะเพิ่มก็กลายเป็นว่าลด พอตัวทำหน้าที่นี้มันไม่จำเป็นวิตก วิจาร มันก็หมดไปก็เข้าสู่ฌานที่สอง เพราะฉะนั้นฌานที่สองหรือทุติยฌานนี่ก็มีองค์ฌานเพียงสามเหลือแต่ปีติ สุข และ เอกัคคตา ที่นี่ต่อไปจิตจะประณีตยิ่งขึ้นไปอีกจะเปลี่ยนยังไง ต่อจากนั้นไปนี่ ปีติ นี่จะหายไปเหลือแต่ ความสุขและเอกัคคตา พอเหลือแต่สุขและเอกัคคตานี่ก็จะเปลี่ยนเป็นฌานที่สาม เรียกว่า ตติยฌาน ปีตินี่ยังหยาบ สุขนี่สำคัญกว่าเพราะฉะนั้นเราเอาแต่สุขเหลือไว้ ปีติก็ตัดไปได้หมดไป จิตก็ประณีตยิ่งขึ้น แปลว่าฌานที่สามนี่เหลือแต่สุขและเอกัคคตา หรือว่าสุขกับสมาธิ ทีนี้ต่อไปจิตละเอียดประณีตยิ่งขึ้นอีก จนกระทั่งว่าสุขนี่ยังเป็นความเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ยังเป็นความแคบจำกัดอยู่ จิตยังไม่โปร่งไม่โล่งเต็มที่บริบูรณ์ จิตมันยังเดินหน้าไปอีกมีสภาพที่ประณีตกว่านั้น ก็จะเปลี่ยนไปองค์ฌานที่จิตประณีตขึ้นก็คือสุขจะเปลี่ยนไปเป็นอุเบกขา อุเบกขาจะมาแทนที่สุข ตอนนี้สภาพจิตที่เป็นฌานนั้นจะก้าวขึ้นไปสู่ขั้นที่สี่ ก็คือเป็นฌานที่สี่เรียกว่า จตุตถฌาน ฌานที่สี่ก็เลยมีองค์สองเหมือนกันก็คือ อุเบกขากับเอกัคคตา ที่นี้ก็จะเห็นว่าองค์ฌานเดิมที่เราครบถ้วนในอันที่หนึ่งก็มี 5 อย่าง แต่พอมาถึงฌานที่สี่ องค์ฌานเหลือ 2 แต่มันมีตัวใหม่เข้ามาแทนที่ตัวเก่าอันหนึ่งคือ อุเบกขา ความหมายของศัพท์เหล่านี้ก็ต้องเรียนกันให้ละเอียดยิ่งขึ้นต่อไป
ทีนี้อาตมาได้พูดไว้แล้วว่าตัวสำคัญอันหนึ่งที่เราต้องแยกให้เป็นให้ชัดก็คือ ปีติกับความสุข เมื่อกี้บอกว่าปีติมันหยาบกว่าและมันก็ต้องหายไปเหลือไว้แต่สุข องค์ฌานเหล่านี้ล้วนแต่ดีๆ ทั้งนั้นแหละ แต่เราก็พูดได้ว่าดีโดยสัมพัทธ์ คือหมายความว่าถ้าเปรียบเทียบกับองค์อื่นๆ ที่ดีขึ้นไปกว่ามันก็กลายเป็นว่าไม่ดีเท่าไหร่ หรือกลายเป็นตัวที่ต้องหมดไปเมื่อตัวที่ดีกว่าเข้ามา ฉะนั้นเราพูดว่าดีโดยสัมพัทธ์ เมื่อจิตประณีตขึ้นฌานประณีตขึ้นก็ต้องเปลี่ยนไปโดยเอาองค์ฌานหรือคุณสมบัติที่ดีน้อยกว่าที่ไม่ประณีตนั้นออกไป ทีนี้ก็มาถึงเรื่องปีติกับความสุข ซึ่งองค์ฌานสำคัญที่ต้องมาเกี่ยวข้องในการปฏิบัติแนวอานาปานสตินี้ไปปรากฎตัวชัดเจนในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ หมวดที่ 2 ซึ่งบอกว่ารู้ชัดปีติหายใจเข้า รู้ชัดปีติหายใจออก และ รู้ชัดสุขหายใจเข้า รู้ชัดสุขหายใจออก โดยศึกษาซะด้วยคือฝึกหัดไว้อย่างนั้นๆ ที่นี้เมื่อปีติและสุขมาใกล้กันและเป็นเรื่องสำคัญก็จะพูดให้เห็นความแตกต่างและก็ความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย เมื่อกี้นี้ให้ความหมายไปตอนนึงแล้วว่า ปีติ นั้นแปลว่าความอิ่มใจ ปลื้ม ความปีติหรืออิ่มใจ ปลื้มใจ มันมีลักษณะอย่างหนึ่งที่ควรสังเกตไว้ก็คือ มีลักษณะเป็นความตื่นเต้น ซึ่งอาจจะโลดโผน เป็นอาการฟูพอง มันเป็นความพองของจิตใจ ฟูขึ้นไปหรืออาจจะมีความซู่ซ่า ซ่าบซ่าน ขนลุกขนพอง โลดลอย บางทีถึงกับตัวลอย ความปลื้มใจ ปีตินี่เป็นลักษณะที่ตื่นเต้นโลดแรง อย่างประณีตที่สุดมันก็จะเป็นความเย็นซ่านเอิบอาบไปทั่วสรรพางค์กาย อันนี้เป็นปีติ ทีนี้ก่อนที่จะเห็นความแตกต่างชัดก็ต้องไปดูอีกอย่างคู่กันด้วย สุขเป็นอย่างไร ความสุขนั้นเป็นภาวะชื่นฉ่ำใจ ภาวะรื่นคล่อง สะดวกใจ เพราะว่าไม่มีสิ่งบีบคั้นติดขัดคับข้องมารบกวน ลักษณะของมันที่ต่างจากปีติคือ มีลักษณะสงบระงับลงไป ปีตินั้นโลดแรง ตื่นเต้น แต่ว่าสุขนั้นเป็นความสงบระงับลงมา ตอนนี้พูดอย่างนี้ก็ยังไม่ชัดเท่าไหร่เดี๋ยวจะต้องยกตัวอย่างให้ดู แต่ว่าจะแยกลักษณะที่ทำให้ต่างกันออกไปมาดูสัก 3 อย่าง ลักษณะที่ทำให้ต่างกันก็คือ ประการที่หนึ่ง ปีติจะเกิดก่อนสุข สุขนี่เกิดสืบเนื่องตามปีติมา และปกติมันจะต้องอาศัยกัน แปลว่าต้องมีลำดับอย่างนี้ ปีติจะเกิดก่อนสุข นี่ประการที่หนึ่ง ต่อไปประการที่สอง ประการที่สองก็คือ ปีตินั้นเป็นความยินดีในการได้สิ่งที่ต้องการและขอให้สังเกตอันนี้ให้ดี ปีติเป็นการยินดี เป็นความยินดีในการได้อารมณ์ที่ต้องการ พูดง่ายๆ ว่ายินดีเมื่อได้สมปราถนา อยากจะได้อะไรพอได้ก็เกิดปีติ เช่นว่า อยากจะสอบได้ไปสอบไว้แล้ว พอรู้ว่าสอบได้ก็ได้อารมณ์ที่ปราถนาก็ปีติ ปลื้มใจขึ้นมา ทีนี้สุขล่ะ สุขเป็นความยินดีในการเสวยรสอารมณ์ที่ได้นั้น จะเห็นลำดับด้วยแล้วก็ความต่างด้วย เมื่อกี้นี่ยินดีในการได้ ตอนนี้ยินดีในการที่เสวยรสของอารมณ์นั้น เสวยรสของอารมณ์ที่ได้มาตามอารมณ์ที่สมปราถนา หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นความชื่นสบายเมื่ออภิรมย์สิ่งที่ได้มา อันนี้ก็แยกอีกอันหนึ่ง ต่อไปประการที่สาม ความแตกต่างนี่ก็พูดไปทีนึงแล้ว ปีตินั้นมีลักษณะตื่นเต้น พลุ่งขึ้นมา เป็นอาการพลุ่งโลดแรง เป็นความกระตุ้น มีความสั่นสะเทือนสะท้านหวั่นไหว ฟูขึ้นมาพองขึ้นมา แต่ว่าเป็นความพลุ่งหรือกำเริบในทางที่น่าชอบใจ คือไม่ใช่พลุ่งพล่านแบบความโกรธ อันนั้นร้อน แต่พลุ่งแบบปีตินั้นเป็นความพลุ่งแรงที่มันเป็นความนำมาซึ่งความสุขต่อไป ฉะนั้นลักษณะปีตินั้นมันก็เลยจะหยาบหน่อยเป็นเรื่องของมีความแรง เป็นเรื่องพลุ่งโลดมันแรงมันหยาบ ทีนี้สุชนั้นเป็นยังไง สุขนั้นเป็นความสงบระงับ เป็นความชื่นฉ่ำสบาย โปร่งเบา คล่อง สะดวก มีลักษณะประณีต ปึตินั้นหยาบแต่สุขนั้นประณีตกว่า เพราะสุขนั้นเมื่อได้ปีติไปแล้ว พอคนเราพอปีติเสร็จนี่ปลื้มใจพอได้อารมณ์ที่สมปราถนา พอต่อจากนั้นมันจะสงบระงับลงมา พอสงบลงมาก็จะเกิดความสุขตามมาแล้วมันเป็นหลักธรรมดาเลย พอปีติเสร็จแล้ว ปีตินั้นจะคงอยู่ตลอดไปไม่ได้ พอปีติระงับลงก็เป็นสุข ตอนนี้ก็ชื่นฉ่ำใจสบาย อันนี้เพื่อจะให้ชัดขึ้นก็ต้องยกตัวอย่าง แต่ก่อนยกตัวอย่างก็จะขอพูดถึงลำดับขบวนการเกิดของปีติสุข ก็บอกเมื่อกี้นี้แล้วว่าปีติเกิดขึ้นก่อนมันแรง พอปีติเกิดขึ้นมาแล้วก็สงบระงับลงแล้วก็ตามมาด้วยความสุข แต่ว่าในระหว่างก่อนที่สุขจะมาถึงนั้นมันจะมีตัวคั่นระหว่างอยู่ตัวหนึ่ง ตัวคั่นนี้ก็คือภาวะจิตที่เรียกว่า ปัสสัทธิ แปลว่าความผ่อนคลาย ผ่อนระงับลงมา นี่แหละความผ่อนคลายผ่อนระงับลงมานี่เรียกว่าเป็นตัว ปัสสัทธิ ในที่นี้ไม่ได้ระบุไว้แต่เป็นที่ให้รู้กันว่าพอปีติเกิดแล้วจะมาสุขนี่มันจะมีปัสสัทธิมาคั่น พอมีปัสสัทธิมาแล้วสุขก็จะตามมา เพราะฉะนั้นถ้ามีความผ่อนคลายระงับลงคือปัสสัทธิแล้วมันก็จะมีสุขตามมา ตัวที่จะนำให้เกิดปัสสัทธิก่อนก็คือปีติ ซึ่งเป็นตัวที่มีความแรง เป็นการที่ได้ประสบอารมณ์ที่ได้ปราถนา มันจะแรงแค่ไหนก็แล้วแต่จะเป็นความปลื้มนิดหน่อยหรือปลื้มแรงจนกระทั่งกระโดดโลดเต้น คุมตัวไม่ไหวตัวลอยกระโดดขึ้นไปยกมือยกไม้อะไรต่างๆ มากมายก็ได้ ก็เป็นกระบวนการตามธรรมชาติ ปีติมาแล้วก็ปัสสัทธิก็มา ปัสสัทธิมาแล้วสุขก็ตามมา ทีนี้ยกตัวอย่างละ ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นยังไง ปีติมาก่อนสุขตามหลัง ปีติเกิดเมื่อได้อารมณ์สมปราถนา สุขเมื่อได้เสวยรสอารมณ์นั้นอภิรมย์สมใจ แล้วก็ปีติแรงโลดแรงพลุ่งพล่านแต่ว่าสุขนั้นสงบระงับเป็นยังไง ยกตัวอย่างเช่นว่า มีบุคคลคนหนึ่งเดินทางมาบนหนทางที่แห้งแล้งแล้วก็ร้อนแดดเหลือกำลัง ในระหว่างเดินทางมาท่ามกลางแดดร้อนนี่ก็แน่นอนย่อมมีความกระหายน้ำ ไม่สบาย มีความร้อนมีความกระวนกระวาย ก็อยากจะไปถึงที่หมาย ยังไม่ถึงที่หมายก็อยากจะได้เจอที่ที่มีน้ำที่จะรับประทานหรืออาบดื่มสักหน่อย ก็เดินทางมาอย่างนี้ มาถึงจุดหนึ่ง ตอนนี้ก็ไปเจอคนคนหนึ่งบอกว่าโน่น..ข้างหน้าโน่นนะเดินไปอีกกิโลหรือสองกิโล จะมีสระน้ำใหญ่อย่างที่เรียกว่าสระโบกขรณี น้ำใสแจ๋วเลยกินก็ได้อาบก็ได้ พอได้ยินอย่างนี้เป็นยังไง จะดีใจ โอ้..มันกำลังร้อนกระหายเหลือเกินกระวนกระวาย พอรู้ว่ามีน้ำใจมันก็มุ่งไปข้างหน้าแล้ว จะได้สิ่งที่ปราถนา แม้แต่ได้อยู่ในใจนี่คือได้ความสำเร็จสมหวังที่ว่าจะได้กินน้ำจะได้ดื่มน้ำอาบน้ำ จะมีความดีใจเกิดขึ้นอันนี้คือปีติ หรือว่าไม่ได้มีคนบอกให้หรอกแต่ว่ามองไปข้างหน้าท่ามกลางอาจจะเป็นทะเลทรายที่แห้งแล้ง มองไปข้างหน้าเกือบสุดสายตานั้นเห็นหมู่ไม้เขียวมั่นใจว่าต้องมีน้ำ แค่นี้ก็ปลื้มใจแล้วปีติก็เกิดขึ้น ความดีใจที่เกิดขึ้นความยินดีที่เกิดขึ้นในตอนนี้ นี่เรียกว่าปีติ ทีนี้ต่อไปพอเขาได้ปีติแล้ว เขาก็แน่นอนเขาก็เดินมุ่งหน้าไปหาแหล่งน้ำอันนั้นไปถึงสระน้ำ ได้เห็นสระน้ำก็ปลื้มใจยิ่งขึ้นอีก แล้วต่อจากนั้นเขาก็ลงไปอาบน้ำดื่มน้ำในสระ ตอนที่ดื่มน้ำในสระน้ำ เอาน้ำมาอาบมารดตัวสบายนี่คือสุขเกิดขึ้น ได้อภิรมย์กับอารมณ์นั้นได้สมปราถนานั่นคือสุข ทีนี้คิดว่าคงแยกได้ปีติกับสุขต่างกัน ปีตินั้นมันโลดแรงมันพลุ่งออกไปแต่ว่าพอสุขนี้มันสงบระงับ พอได้อาบได้อะไรต่ออะไรมันก็สมใจสงบระงับสบาย ทีนี้ขอยกตัวอย่างอีกอันหนึ่ง อย่างเมื่อกี้บอกว่าเด็กนักเรียนไปสอบไว้แล้วก็รอผลการสอบ รู้ข่าวเค้าบอกพอดีหรือไปอ่านไปเห็นรายชื่อของตนบนกระดาน ป้าย หรือบอร์ดที่ติดไว้ พอเห็นรายชื่อติดรู้ว่าตนสอบได้เป็นยังไง ก็เกิดความปีติดีใจ ลิงโลด กระโดดโลดเต้น นี่คือปีติ พอปีติเกิดขึ้นแล้วตามมาต่อจากนั้นก็จะมีความชื่นฉ่ำใจตามมา นั่นคือความสุข พอปีติสงบระงับไปสุขก็ตามมา นี่ก็คือสภาพที่แยกกันสองตอน เพราะฉะนั้นมันพลุ่งขึ้นก่อนเป็นปีติแล้วก็สงบลงมาเป็นสุข แต่ว่าตัวยืนสำคัญที่เราต้องการระยะยาวก็คือความสุข ปีตินี่เป็นตัวนำและมันยังหยาบอยู่ จะยกตัวอย่างอีกอย่างหนึ่ง สมมติว่ามีคุณแม่คนหนึ่งลูกหายไปก็ตามหาลูก ตามหาลูกทีนี้ได้พบลูก ตอนแรกที่ได้รับแจ้งข่าว พอเค้าแจ้งข่าวมาว่ามีคนเห็นลูกแล้ว โอ้..แค่นี้ก็ปลื้มใจดีใจปีติเกิดขึ้น และต่อมาพอรู้ข่าวแล้วไปเจอลูกจริงๆ ไปเห็นลูกพอพบกันก็ปีติยิ่งเกิดแรงขึ้นมาอีก ลิงโลดใจตื่นเต้นหรือขนาดน้ำหูน้ำตาไหล อันนี้ปีติทั้งนั้น ทีนี้พอเสร็จแล้วต่อจากนั้นพอได้พบกันเรียบร้อยแล้ว ก็ไปกอดรัดกันแล้วต่อจากนั้นความชื่นใจมา ต่อจากนั้นเป็นความสุขคือความสงบระงับลงไป นี่คือความสุขก็คือตัวเกิดที่ตอนสงบระงับลงไปได้ ฉะนั้นคิดว่าคงแยกได้แล้ว ทีนี้ในการบำเพ็ญฌานนี่ก็จะมีองค์ฌานสองอย่าง ตอนแรกมีปีติกับสุขอยู่ทั้งสองอย่าง และต่อมาจนกระทั่งถึงฌานที่สามเนี่ยปีตินี่จะหมดหน้าที่ไปเหลือแต่สุข เป็นเรื่องของความยินดีความสุขความสบายที่มันเป็นความสงบระงับประณีต คิดว่าความแตกต่างระหว่างปีติกับสุขคงพอเท่านี้แล้ว
ในสมัยปัจจุบันนี่คนในสังคมนี้มีปัญหามาก จิตใจนี่มีความเครียดสูง ฉะนั้นเพียงแต่ได้มีปีติกับสุขนี่ก็พอแล้ว เรียกว่าดีเหลือหลาย เพราะในปีติและสุขนี่ก็มีตัวคั่นอยู่ระหว่างคือปัสสัทธิ ความผ่อนคลายสงบเย็น เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเอาหลักธรรมในพุทธศาสนามาใช้ในกรณีนี้ก็คือควรพยายามสร้างปีติและความสุขนี้ให้เกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งในพุทธศาสนานี้ท่านถือว่าเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ไม่ใช่ต้องรอด้วยภพอารมณ์ สร้างขึ้นในใจด้วยตนเอง แล้วก็สร้างขึ้นด้วยวิธีปฏิบัติแบบที่ท่านกล่าวไว้ในอานาปานสติสูตร นี่ก็เป็นวิธีที่เราจะบังคับจิตของเรานี่ให้มีภาวะจิตเหล่านี้ได้ด้วย มีปีติสุขรวมทั้งปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย มันก็เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาสภาพจิตใจของคนในสังคมปัจจุบันได้ อันนี้มาพูดถึงเรื่องนี้แล้วก็เลยอยากจะพูดแทรกไปนิดนึงเกี่ยวกับสภาพจิตของชาวพุทธ หรือสภาพจิตที่ชาวพุทธควรสร้างให้มีขึ้นเสมอๆ ในใจของตนเอง ซึ่งพระพุทธเจ้านี่ทรงเน้นทรงย้ำไว้ ว่าถ้าใครปฏิบัติธรรมแล้วก็จะมีสภาพจิตที่พึงปราถนาเหล่านี้เกิดขึ้นมา เราอาจจะเรียกได้ว่าเป็นจิตใจของชาวพุทธ จิตใจของชาวพุทธจะมีลักษณะต่อไปนี้ ซึ่งก็จะมี 5 ข้อเหมือนกันอีก ชุดนี้มักจะพูดถึง ห้า ห้า ห้า แล้วก็เพราะเหตุที่พระพุทธศาสนาสอนให้คนเป็นอย่างนี้เราก็จึงพูดได้ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความสุข คนที่มาเรียนรู้ปฏิบัติพุทธศาสนานี่ถ้าปฏิบัติถูกต้องจะต้องเป็นคนที่มีความสุข หลายๆ คนจึงเข้าใจผิดไปว่าพุทธศาสนานี้ทำไมพูดแต่เรื่องทุกข์ เดี๋ยวก็อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเราจะพูดง่ายๆ ก็เราบอกว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการรู้เท่าทันทุกข์แต่มีชีวติที่เป็นสุข ทุกข์นี่ท่านไม่ให้เอาแบกเลย ถ้าใครไปแบกทุกข์คนนั้นก็แย่ปฏิบัติผิด อริยสัจข้อแรกนี้ท่านสอนเลยว่าหน้าที่ต่อทุกข์คือรู้จักมัน ท่านไม่ได้บอกว่าหน้าที่ต่อทุกข์ให้เราไปเป็นทุกข์หรือแบกทุกข์ไม่มีที่ไหน การวัดความก้าวหน้าในการปฏิบัตินั่นคือความสามารถในการลดละทุกข์ลงไป แล้วก็ในระหว่างนั้นแม้แต่ยังละทุกข์ไม่ได้ กินก็ยังมีสภาพจิตที่เป็นสุขแล้วก็สามารถที่จะสร้างมันขึ้นมาได้แล้วก็สนับสนุนให้สร้างมันอยู่เรื่อยๆ ทีนี้สภาพจิตที่ว่าดีงามที่ว่าเป็นสภาพจิตของชาวพุทธ ชาวพุทธควรสร้างให้มีขึ้นเสมอๆ ห้าอย่างนี้มีอะไรบ้างต้องขอพูดแทรกไว้ในที่นี้
ห้าอย่างนี้ก็มี หนึ่งปราโมทย์ ซึ่งต่อไปก็จะมีพูดถึงในอานาปานสติด้วย ปราโมทย์ก็คือความร่าเริงเบิกบานใจ แล้วก็สอง ก็คือปีติที่ว่าเมื่อกี้ ปีติก็คือความอิ่มใจปลื้มใจ และก็สามปัสสัทธิ ความผ่อนคลายระงับลง ความผ่อนคลายที่ไม่มีความเครียด แล้วก็ต่อจากนั้นก็มีสุข ในที่นี้ท่านเอามาแสดงตัวให้ครบหมดเลยไม่เอามาแฝง ปัสสัทธิก็ปรากฎตัวออกมาด้วย ก็มีทั้ง ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ ต่อจากปัสสัทธิก็สุข แล้วต่อจากสุขก็สมาธิก็เกิด ถ้าคนไม่มีความสุขจิตใจมีความทุกข์นี่ มันจะเป็นตัวกวนไม่ให้มีสมาธิ คนที่จะมีสมาธิได้องค์ประกอบปัจจัยสำคัญก็คือความสุข แล้วก็มันเนื่องมาจากปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ ฉะนั้นพอมีสุขแล้วก็มีสมาธินี่ก็ครบห้าแล้ว มีปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข แล้วก็สมาธิ อันที่ห้าพอสุขแล้วก็สมาธิ จิตใจก็สงบตั้งมั่นแน่วแน่ เป็นจิตที่บอกแล้วว่าผ่องใสแล้วก็นุ่มนวลควรแก่การงาน เหมาะแก่งาน เหมาะแก่การใช้งาน เอาละนี่ก็คือสภาพจิตของชาวพุทธที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง ทีนี้สมาธินี่ก็เป็นการปฏิบัติที่ย้ำอยู่โดยเฉพาะสมถะแล้วเราก็ใช้ในวิปัสสนาด้วย ทีนี้จะมีสมาธินี่ก็ต้องอาศัยนี่แหละเป็นองค์ธรรมที่เรียกว่ากระบวนธรรม ท่านบอกมันเป็นไปตามปัจจัยมันเป็นไปตามกระบวนการธรรมชาติ มีปราโมทย์แล้วก็มีปีติมีปัสสัทธิ มีสุข แล้วก็มีสมาธิ ห้าอย่าง แล้วชาวพุทธก็ควรพยายามสร้างให้มีขึ้นเสมอ
ทีนี้ที่จะพูดต่อไปก็คือว่า แม้ว่าภาวะจิตเหล่านี้จะดีงามประณีตเป็นสิ่งที่น่าปราถนาและเราควรทำให้มีขึ้นเสมอ และข้อปฏิบัติในทางพุทธศาสนาจะให้เราได้เข้าถึงภาวะเหล่านี้ แต่ว่าก็ยังมีสิ่งที่ประณีตสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเราไม่ควรจะมาติดอยู่ขั้นต้นๆ เพราะฉะนั้นแม้แต่ความสุขนั้นก็มีหลายระดับ ซึ่งอันนี้มันจะเป็นลักษณะอีกอย่างของพระพุทธศาสนาคือภาวะที่เป็นอิสระ แม้จะมีความสุขก็ไม่ติดในสุขนั้น มีความเป็นอิสระเป็นตัวยืนอยู่ตลอด ซึ่งความเป็นอิสระนี้ก็กลับช่วยให้เราได้เข้าถึงความสุขที่ประณีตสูงขึ้นไปยิ่งขึ้นๆ ด้วย เพราะความสุขนั้นมีหลายระดับอย่างที่ว่ามาแล้ว ยิ่งเราไม่ติดในสุขระดับต่ำหรือระดับล่างเราก็ยังยิ่งสามารถที่จะเข้าถึงความสุขในระดับที่สูงขึ้นไปด้วย อันนี้อาตมาก็นำมากล่าวไว้เพื่อให้เข้าใจความหมายเรื่องปีติและสุขที่ต่างกันและสัมพันธ์กันนี่เป็นสำคัญ ต่างกันในแง่ของความประณีต เกิดก่อนเกิดหลัง เป็นต้น และสัมพันธ์กันในแง่ที่ว่ามันต้องต่อเนื่องกันมา ปีติเกิดก่อนแล้วก็สุขก็ตามมา ตอนนี้ก็ว่าจะพูดเรื่องว่าเมื่อสมาธิประณีตขึ้นไป และองค์ฌานก็เปลี่ยนไป องค์ฌานที่หยาบก็ลดหายไปแล้วก็เปลี่ยนเป็นฌานขั้นสูงขึ้นไปก็เลยเมื่อกี้กลายเป็นไม่ได้พูดไปซะแล้ว ตอนนี้ก็เลยไม่จำเป็นต้องพูดอีก มาทวนสักนิดก็ได้ เอาเป็นอันว่าเมื่อภาวะจิตสงบลึกซึ้งลงประณีตขึ้นด้วยสมาธิดียิ่งขึ้นนี่ สภาพจิตนั้นก็มีคุณสมบัติประกอบเปลี่ยนไป คุณสมบัติที่เป็นองค์ฌานที่หยาบก็ลดหายไป แล้วบางครั้งก็มีองค์ฌานที่ประณีตขึ้นมาแทนที่ คือว่าฌานที่หนึ่งก็มีองค์ฌานห้า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา มาถึงฌานที่สอง เมื่อสมาธิแน่วแน่จิตอยู่ตัวมากขึ้นก็ไม่ต้องคอยยกจิตมากำหนดที่อารมณ์ ไม่ต้องพยุงประคองให้จิตคลออยู่กับอารมณ์ ก็เลยไม่ต้องใช้วิตก วิจาร ไม่ต้องเหนื่อยกับวิตก วิจาร อีก วิตก วิจาร ก็พ้นหน้าที่หมดไป ต่อมาฌานที่สาม ประณีตขึ้นไม่ต้องอาศัยปีติมานำสุข ไม่ต้องสั่นสะเทือนกับความซู่ซ่าของปีตินั้น จะมีความสงบละเอียดมีแต่ความสุขในเอกัคคตา ปีติก็เลิกทำหน้าที่ก็ไม่ต้องมีปีติต่อไป ก็เหลือแต่สุขและเอกัคคตา ต่อไปฌานที่สี่ ประณีตขึ้นอีกแม้แต่ความสุขก็ยังหยาบอยู่จิตยังพึ่งอาศัยอารมณ์อยู่ยังเกาะเกี่ยวข้องแคบอยู่ เมื่อประณีตยิ่งขึ้นไปอีกจิตอยู่ตัวลงตัวทุกอย่างเข้าที่อย่างสมบูรณ์ สุขก็เปลี่ยนไปเป็นภาวะที่เรียกว่าอุเบกขา ซึ่งประณีตกว่าสุข เพราะฉะนั้นก็แปลว่ามีองค์ฌานเพิ่มเข้ามาในฌานที่สี่มาแทนสุขได้แก่อุเบกขา แต่ว่าองค์ฌานข้อนี้เป็นธรรมะที่คนเข้าใจยาก คนทั่วไปบางทีก็เข้าใจผิดกันมากอย่างที่ว่ากลายเป็นเฉยไม่รู้เรื่องรู้ราวไม่เอาเรื่องเอาราว ความจริงนั้นมันเป็นสภาวะจิตที่ประณีตยิ่งกว่าสุข จะให้เข้าใจเรื่องนี้ไปท้าวสักนิดนึงเรื่องความประณีตของอุเบกขา จะเทียบกับเมตตา สมมติว่าเอาสุขมาเทียบกับเมตตาเราจะพอเห็นได้ คือเมตตาก็เป็นสภาวะจิตที่ดีเหลือเกิน ประณีตลึกซึ้ง พระพุทธศาสนาก็ยกย่องแล้วก็สนับสนุนเหลือเกินให้เรานั้นสร้างเมตตาขึ้นมา เราเจริญสมาธิแล้วก็มีการแผ่เมตตา ในชีวิตประจำวันก็ให้มีเมตตาต่อกันอะไรต่างๆ นี่เป็นศาสนาแห่งเมตตาเลยทีเดียว แต่พร้อมกันนั้นเราก็รู้ว่าธรรมะนี่เป็นระบบของบูรณาการ การมีเมตตาอย่างเดียวนี่อาจทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลขึ้นมา เสียศูนย์แล้วทำให้เกิดความบกพร่อง แม้ว่าเมตตาจะเป็นสภาวะจิตที่ดีเยี่ยมแล้วก็ตาม แต่มันยังทำให้มีความเอียงได้และพรางปัญญาได้ ปัญญาจะทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ไม่บริบูรณ์ด้วยความรักความเมตตานี่ ในกรณีที่ต้องใช้ปัญญาถึงที่สุดแล้วปัญญาจะแจ่มชัดทำงานได้ถึงที่สุดนี่มันจะเลยพ้นเมตตาไปอีก คราวนี้เราจึงต้องการภาวะที่เป็นอุเบกขา อุเบกขาคือภาวะที่เรียบโล่งที่เป็นอิสระ สภาวะนี้อยู่ตัวลงตัวทุกอย่างเข้าที่ แล้วก็เป็นภาวะที่ต้องอาศัยปัญญา ทำงานคู่กับปัญญา ฉะนั้นแม้การปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ที่ต้องมีเมตตา แต่เมื่อถึงคราวที่จะต้องใช้ปัญญาอย่างสูงสุด ปัญญาทำงานเต็มที่เพื่อความเป็นธรรม เป็นต้น จะต้องไปอยู่ที่อุเบกขา ในการปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน จะมองในแง่สภาวะจิตที่ประณีตลึกซึ้งก็ดี หรือจะมองในแง่ของการที่ว่าจะเดินหน้าไปในการปฏิบัติเพื่อให้ปัญญาทำงานได้ผลเต็มที่ก็ตาม การที่อยู่ในขั้นสุขนี่มันยังเป็นไปในความเอียงไปข้างหนึ่ง สุขก็คู่กับทุกข์นั่นเอง เป็นความเอนเอียงไปได้ข้างหนึ่ง และยังเป็นไปในทางเกาะเกี่ยวยังต้องมีอารมณ์ที่คล้ายๆ ว่าขึ้นต่อกันอยู่ มันเป็นภาวะที่แม้จะประณีตก็ตาม แต่ว่าความเป็นอิสระนี่ไม่บริบูรณ์
นี้ว่าเมื่อองค์ธรรมต่างๆ นี่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตัวลงตัวเข้าที่ทุกอย่างแล้ว มันจะเกิดภาวะที่เรียบโล่งเป็นอิสระเป็นอุเบกขา ซึ่งเป็นภาวะที่จะทำให้ปัญญาทำงานได้เต็มที่และทำงานอย่างแจ่มชัดที่สุดด้วย ฉะนั้นที่จะเข้าถึงการรู้แจ้งสภาวะสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง เป็นโพธิญาณการตรัสรู้นี่ก็จึงต้องอาศัยอุเบกขามาเป็นตัวแกนสำคัญของจิต นี่ก็เป็นข้อควรทราบต่างๆ อาตมาก็ได้เสียเวลาเรื่องนี้มานานแล้ว