แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
นี้ต่อไปข้อควรทราบประการที่๒ ในหมวดที่๑ คือกายานุปัสสนา ก็มีคำว่ากายสังขาร อย่างในคำว่า “ศึกษาว่าจักผ่อนระงับกายสังขาร หายใจเข้า” และก็เช่นเดียวกันกับหายใจออก
และต่อมาในหมวดเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานคือหมวดที่๒
ก็จะมีข้อปฏิบัติที่ว่า “ศึกษาว่าจักรู้ชัดจิตสังขารหายใจเข้า”
“ จักรู้ชัดจิตสังขาร หายใจออก”
และต่อมาก็มีว่า ”ศึกษาว่าจักผ่อนระงับจิตสังขาร หายใจเข้า”
“จักระงับจิตสังขาร หายใจออก”
คำที่ยกมาให้สังเกตในที่นี้คือคำว่า กายสังขารและจิตสังขาร
ก็จะต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้นิดหน่อย เป็นพื้นฐานความรู้ที่จะไปทำความเข้าใจ
ก็ต้องเริ่มจากคำว่า “สังขาร” สังขารในที่นี้ใช้ในความหมายพิเศษ
อย่างกับตัวมันก็แปลเหมือนกับในที่อื่น คือคำว่า”สังขาร”นั้นแปลว่าการปรุงแต่ง หรือเครื่องปรุงแต่ง หรือสิ่งที่ปรุงแต่ง หรือบางครั้งก็แปลว่าสิ่งที่ถูกปรุงแต่ง สังขารคือการปรุงแต่ง หรือสิ่งที่ปรุงแต่ง
ในที่นี้ก็ใช้ในความหมายพิเศษที่เราเรียกว่า สังขารสาม
แยกเป็น หนึ่งกายสังขาร สิ่งที่ปรุงแต่งกาย
สองวจีสังขาร สิ่งที่ปรุงแต่งวาจา หรือปรุงแต่งคำพูด
และก็สามจิตสังขาร สิ่งที่ปรุงแต่งจิต
อันนี้คืออะไร ท่านก็ให้ความหมายจำเพาะในที่นี้ว่า
กายสังขารสิ่งที่ปรุงแต่งกายได้แก่ ลมหายใจนี้เอง ลมหายใจนั้นเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งกาย ทำไมจึงว่าลมหายใจเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งกาย เดี๋ยวอาจจะพูดกันนิดหน่อย ขอพูดต่อไปก่อนในความหมายข้ออื่นๆ
ทีนี้วจีสังขาร สิ่งที่ปรุงแต่งวาจาหรือถ้อยคำ ท่านบอกว่าได้แก่ วิตกและวิจาร วิตกและวิจาร วิตกคือความคิดนึกนั่นเอง ความคิดนึกไตร่ตรอง พูดง่ายๆ
ไม่ใช่วิตกในภาษาไทยที่ว่าพึงกังวลอะไรต่างๆ
เป็นความคิด ถ้อยคำที่คนเราพูดนี่เราต้องพูดออกมาจากใจ ต้องมีการคิดถ้อยคำก่อน ภาษานั้นเป็นเรื่องของสัญลักษณ์ สัญญลักษณ์ที่มาจากในใจ
นี้คนเราที่จะพูดออกมาเป็นถ้อยคำนี้ ก็ต้องมีการคิดก่อน ความคิดนั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่าวิตกวิจาร สิ่งที่ปรุงแต่งภาษา สิ่งที่ปรุงแต่งถ้อยคำก็คือวิตกและวิจาร
เพราะฉะนั้นแล้วท่านจึงบอกว่า วิตกวิจารเป็นวจีสังขาร เป็นตัวปรุงแต่งวาจาหรือถ้อยคำ
แล้วก็อย่างที่สามจิตสังขาร สิ่งที่ปรุงแต่งใจได้แก่เวทนาและสัญญา
เวทนาก็คือความรู้สึกสุขทุกข์ ละสัญญาความจำได้หมายรู้ ทีนี้จะพูดกันนิดหน่อยเรื่องกายสังขาร จิตสังขารนี้ ซึ่งมาปรากฏตัวอยู่ในหลักปฏิบัติอาณาปนสติ๑๖ขั้น
เรื่องที่ว่าปรุงแต่งกายนี้ ให้นึกถึงเรื่องอาหารก่อน อาจจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบ เรารับประทานอาหาร อาหารนั้นแปลว่าสิ่งที่หล่อเลี้ยง
อาหารโดยทั่วไปก็เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงร่างกาย หล่อเลี้ยงร่างกาย กายจะเป็นอย่างไร โดยปกติเราก็มองไปในแง่ที่ว่าจะมีสุขภาพดีสมบูรณ์มันก็ต้องอาศัยอาหาร
ทีนี้ในเวลานี้คนเริ่มมองเห็นมากขึ้นว่าอาหารเนี่ย ไม่ใช่เฉพาะว่าหล่อเลี้ยงให้ร่างกายแข็งแรงเติบโตเท่านั้นหรอก มันมีความหมายถึงแม้แต่ว่าเหมือนเป็นยาในตัวอยู่ด้วย หมายความว่าถ้าเรากินอาหารให้ถูกหลักล่ะก็ ไม่ต้องอาศัยยา แม้แต่ว่าเดี๋ยวนี้มีการรักษาโรค โดยไม่ต้องใช้ยา คือใช้วิธีจัดอาหาร
เดี๋ยวนี้อย่างนี้ก็มีคือ เห็นความสำคัญของอาหารมาก อย่างบางคนถึงกับบอกว่า
คนก็เป็นอย่างอาหารที่เขากิน ซึ่งอันนี้มีความหมายลึกลงไปถึงขนาดที่ว่า อาหารนี้มีอิทธิพลต่อสภาพจิตใจด้วย ไม่เฉพาะร่างกายอย่างเดียว ร่างกายจะเป็นไปอย่างไร จะมีสุขภาพดีแข็งแรง เจริญเติบโตดีหรือไม่ แม้แต่ลักษณะที่ว่าจะอ้วนจะผอมเป็นต้น
ก็อาศัยอาหารที่รับประทานนี้ด้วย ผิวพรรณอะไรต่างๆก็มีส่วน และก็ยังส่งผลไปถึงสภาพจิตใจด้วย อาหารที่รับประทานนี้จะทำให้คนมีจิตใจโน้มเอียงไปในทางที่มีความโกรธ มีโทสะรุนแรง หรือมีนิสัยยังไงๆมีส่วนอยู่ด้วย
เพราะงั้นเดี๋ยวนี้เขาก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น
ทางพุทธศาสนาก็ให้ความสำคัญอยู่แล้ว ในเรื่องของอาหารนี้
เรามีหลักเรียก “โภชเนมัตตัญญฺตา“ ความรู้จักประมาณในการบริโภค
ให้บริโภคอาหารโดยที่คำนึงถึงคุณค่าแท้ต่อชีวิตร่างกาย ให้มีความผาสุก ไม่ใช่มุ่งความบำรุงบำเรอเอร็ดอร่อย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย
และก็กินไม่รู้จักประมาณ หลักปฏิบัตินี้ก็เป็นการพิจารณาที่เรียกว่า “ศีล”
ที่ได้แก่ ปัจจัยสันนิสสิตศีล ที่พูดไปแล้วในครั้งก่อนโน้น ก็รวมความว่าเรื่องอาหารนี้ พุทธศาสนาก็เห็นความสำคัญ แต่ว่าจากวิธีปฏิบัติอยู่ในตอนที่ว่าด้วยศีล
ทีนี้อาหารนั้นหล่อเลี้ยงร่างกายและมีอิทธิพลสำคัญ แต่ว่าสิ่งที่มีอิทธิพลต่อร่างกายเนี่ย ก็อีกด้านหนึ่งที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้ก็คือลมหายใจ ลมหายใจที่เราสูดอยู่ตลอดทุกเวลาเนี่ย ที่เราอยู่กับมันเป็นธรรมดา มันมีมากจนกระทั่งเราไม่รู้สึก ก็เลยมองไม่เห็นความสำคัญมองข้ามไป ซึ่งความจริงนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญต่อชีวิต จะว่าไปก็ยิ่งกว่าอาหารอีก อาหารเรายังอดได้ตั้ง๗วัน๘วัน โยคีนะบางทีก็เป็นโยคะทำสมาธิไปแล้ว มีอานุภาพกำลังจิตสูงบางทีอดอาหารไปถึง๑๕วันก็มี ก็มีข่าวว่าอย่างนั้น แต่ว่าลมหายใจนี้เรา กลั้นอดหรือว่าถูกบังคับบีบจมูกอะไรสักไม่กี่นาทีเราก็ตายแล้ว ลมหายใจนี้สำคัญมาก ทีนี้ลมหายใจนี่ ในชมพูทวีปหรืออินเดียนี่ มีการปฏิบัติชนิดที่แสดงถึงการให้ความสำคัญแก่ลมหายใจมาตลอด ถือว่ามีความสำคัญต่อสุขภาพ นอกจากต่อสุขภาพแล้ว
ก็ยังมีความสำคัญในการทำเมดิเตชั่น ในการทำภาวนา ในการทำสมาธิ
ในการบำเพ็ญเพียรทางจิตของพวกโยคี ซึ่งเราจะเห็นชัดในพวกโยคะ
โยคะที่คนปัจจุบันนี้ฟื้นฟูกันขึ้นมา ให้ความสำคัญแก่เรื่องการหายใจนี้มาก ถึงกับมีการควบคุมลมหายใจที่เราเรียกว่าปราณยามะ หรือปราณยาม
การบังคับลมหายใจ เขาก็จะมีวิธีปฏิบัติที่เป็นเรื่องจริงเรื่องจัง
นี้ก็เป็นเรื่องของหลักการที่ในลัทธิโยคะได้ให้ความสำคัญไว้
ทีนี้ในทางพุทธศาสนาในเฉพาะกรณีนี้ ต้องการเอาลมหายใจนี้มาใช้ในการเจริญภาวนา
มากำหนดเพื่อจะรู้เข้าใจถึงความจริงเกี่ยวกับชีวิต เพราะฉะนั้นถ้าใครจะเอาไปใช้ในแง่สุขภาพก็ไปเรียนเอาตาม? แต่ว่าเราจะเห็นถึงความสำคัญ ความสำคัญของลมหายใจที่มีต่อชีวิต ที่ว่าเป็นตายและก็เป็นส่วนหนึ่ง
แต่ว่าถึงแม้ในระหว่างที่เป็นๆ มันก็มีอิทธิพลต่อร่างกาย ความเป็นไปในร่างกายนี้ เราจะเห็นง่ายๆ ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่นว่าเวลาเราเหนื่อย
เวลาเราวิ่ง หอบ หรือว่าเดินขึ้นเขาเหนื่อยมาก ลมหายใจจะหยาบแล้วแรงมาก ทีนี้เวลาเราทำอะไรที่ใช้พลังงานน้อย ลมหายใจก็จะละเอียดขึ้น ทางนี้ทางด้านร่างกายชัดๆ ทีนี้ทางด้านจิตใจ ก็สำคัญเช่นเดียวกัน
ถ้าเรามีอารมณ์ไม่ดี จิตใจนี้ก็จะมีอารมณ์พลุ่งพล่าน เช่นอย่างตัวอย่างง่ายๆความโกรธ คนที่มีความโกรธรุนแรงขึ้นมา ลมหายใจจะแรงแล้วก็หยาบ
นี้ถ้าจิตใจสบาย ยิ่งสบายเท่าไหร่ ประณีตเท่าไหร่ ลมหายใจจะละเอียด ละเอียดยิ่งขึ้น เพราะงั้นในการปฏิบัติในทางกรรมฐานนี่ การทำอาณาปาณสติเนี่ย จะทำให้เราเห็นความละเอียดอ่อนของลมหายใจชัด ถึงขนาดที่ว่าเมื่อเจริญภาวนาไปจิตสงบมากๆเนี่ย ถึงขั้นที่ว่าเนี่ยลมหายใจละเอียดอ่อนมากเนี่ย มีเหมือนไม่มี รู้สึกเหมือนไม่มี เขาเรียกว่าต้องวิจัยจึงพบ คล้ายๆว่าวิจัยนี้เป็นภาษาบาลี หมายความว่าต้องค้นหาทีเดียว เหมือนกับว่าคนนั้นไม่หายใจแล้ว ใช้พลังงานน้อยมาก ฉะนั้นลมหายใจที่ประณีตก็ทำให้อารมณ์ประณีต
แต่ในทางกลับกันก็คือว่า อารมณ์ประณีตก็ทำให้ลมหายใจประณีตด้วย ความละเอียดอ่อนของทั้งสองอย่างนี้อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าเรามีอารมณ์ไม่ดี
ใจคอไม่สบาย วิธีช่วยแก้อย่างนึงก็คือว่า หายใจยาวๆให้สบาย ผ่อนลมหายใจ
ให้สบาย อารมณ์นั้นก็จะบรรเทาลง เช่น กำลังมีความโกรธ พอมีความโกรธรุนแรงขึ้นมา ให้ได้สติวิธีนึงก็คือว่า ให้ผ่อนลมหายใจยาวๆ แล้วความโกรธนั้นจะบรรเทาหรือหายไป อย่างน้อยความสบายใจก็เกิดมีขึ้นมา เช่นเดียวกับเรามีความเหนื่อย นี่ทางกายบ้าง เมื่อกี้นี้ทางใจ ในทางกายถ้าเรามีความเหนื่อยหอบ ก็ให้ผ่อนลมหายใจยาวๆ แล้วก็จะสบายขึ้น ลมหายใจก็จะมีผลต่อร่างกาย เป็นอันว่า มันมีความสำคัญที่เป็นอิทธิพลต่อกัน เรื่องของลมหายใจกับสภาพร่างกายทั้งหมด พูดในแง่นี้ก็คือว่าลมหายใจนี้เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย
และก็เป็นส่วนประกอบที่มีอิทธพลต่อร่างกายทั้งหมด ให้เรามองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยของร่างกายที่เรียกลมหายใจ กับกายส่วนใหญ่ เวลาเราพูดเป็นภาษาสั้นๆทางพระท่านใช้คำว่ากายเนี่ย หมายถึงส่วนประกอบของกายก็ได้ คือกายส่วนย่อย หมายถึง กายส่วนย่อย กายส่วนรวม เพราะฉะนั้นในบางกรณี คำว่า”กาย”เมื่อพูดมาก่อนว่าลมหายใจ แล้วก็หมายถึงกองลมหายใจ หรือลมหายใจนั่นเองเป็นกาย ก็คือเป็นกายย่อย อยู่ในกายใหญ่ที่เป็นตัว ระบบของร่างกายที่มองเห็นทั้งตัวนี่ เอาละทำความเข้าใจกันว่า
บางครั้งท่านใช้คำว่า”กาย” ในความหมายว่ากายย่อยคือลมหายใจ ซึ่งเรากำหนดในที่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของกายใหญ่ และก็กายนี้ กายย่อยนี้มีส่วนสำคัญที่เป็นอิทธิพล ที่เราเรียกว่ามีการปรุงแต่ง มีอิทธิพลต่อกายส่วนใหญ่ด้วย
ทั้งในแง่ความเป็นความตายของชีวิต ทั้งในแง่ของสภาพร่างกาย ในการบังคับทำให้สภาพร่างกายนี้มัปราณีตขึ้น หรือหยาบลง เพราะว่าลมหายใจหยาบ
ก็ทำให้สภาพร่างกายหยาบไปด้วย ลมหายใจละเอียดมันก็ทำให้สภาพร่างกายละเอียด ความเหน็ดเหนือยก็สามารถบรรเทา ด้วยการรู้จักผ่อนลมหายใจ
และมีอิทธิพลตลอดไปจนถึงสิ่งที่คนไทยเรียกว่า”อารมณ์” ซึ่งไม่ใช่ภาษาธรรมะคือสภาพจิตใจนั่นเอง สภาพจิตใจที่มีความโกรธ มีอารมณ์พลุ่งพล่าน
มีความคิดรุนแรงต่างๆ มีผลมาทางลมหายใจ แล้วลมหายใจถ้าหากว่าปรับ
ก็มีอิทธิพลกลับไปสู่สภาพจิตใจด้วย อันนี้ก็ในระยะสั้นเราก็ยังมองเห็นอิทธิพลกันอย่างนี้ ส่วนในระยะยาวผลต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ จะเป็นอย่างไรนั้นก็จะยังไม่พูดในที่นี้
เอาล่ะรวมความก็คือ ลมหายใจนี้ปรุงแต่งกาย เมื่อลมหายใจนี้ปรุงแต่งกาย สภาพร่างกายนั้นก็ไปมีอิทธิพลต่อจิตใจอีกครั้งนึง ที่เราบอกว่าลมหายใจมีอิทธิพลต่อจิตใจนั้นก็คือว่า มันมีอิทธิพลต่อสภาพร่างกายก่อน แล้วสภาพร่างกายก็มีอิทธิพลต่อสภาพจิตใจ ในทางกลับกันก็ สภาพจิตใจก็มีอิทธิพลต่อสภาพร่างกาย แล้วสภาพร่างกายก็มีอิทธิพลกับมาสู่สภาพลมหายใจด้วย
อันนี้ก็ขอผ่านไป ให้เข้าใจกันว่าคำว่า “กายสังขาร” สิ่งปรุงแต่งกายในที่นี้ ก็คือลมหายใจนั่นเอง
ต่อไปอย่างที่สองที่ปรากฏขึ้นมาในตอนเวทนานุปัสสนาก็คือคำว่าจิตสังขาร แปลว่าสิ่งที่ปรุงแต่งจิตใจ ซึ่งเมื่อกี้ได้บอกแล้วว่าได้แก่เวทนา และสัญญา เวทนาและสัญญาเป็นตัวปรุงแต่งจิตใจอย่างไร ก็คิดว่าเห็นได้ไม่ยาก คือพูดไปแล้วว่าเวทนาเนี่ย เป็นตัวอิทธิพลสำคัญต่อสภาพจิตใจของมนุษย์ อย่างที่เห็นง่ายๆเวทนาที่ไม่สบาย ก็ทำให้มีอิทธิพลต่อสภาพจิตใจที่เกิดความไม่พอใจ
ไม่สบายก็ไม่ชอบใจ เกิดความเกียดชัง เกิดความโกรธ เกิดโทสะ
ถ้าหากว่าเวทนานั้นเป็นสุข สบาย ก็มีอิทธิพลต่อจิตใจ ทำให้เกิดความสุข เกิดความชอบใจ เกิดความปรารถนาอยากได้ และก็มีผลต่อความคิดนึกอะไรต่างๆต่อไปมากมาย เพราะฉะนั้นเป็นตัวปรุงแต่งจิตใจที่สำคัญ อย่างที่ถึงขนาดพูดว่า ที่เราดิ้นรนทำอะไรกิจกรรมต่างๆกันเนี่ย ตัวเวทนาเป็นตัวสำคัญที่มันมากำกับ หรือมันมากระตุ้น เร้าให้เราไปทำอย่างนั้นๆ ตลอดจนกระทั่งว่ามันเป็นเป้าหมายของชีวิต หรือกิจกรรมของมนุษย์ว่า เราทำอะไรต่างๆนี้ก็เพื่อว่าจะแสวงหาเวทนาที่เป็นสุข และก็พยายามหลีกเลี่ยงหนีเวทนาที่เป็นทุกข์ เวทนาปรุงแต่งจิตใจ ทำให้เกิดความปรารถนา ทำให้เกิดความรัก ความชอบ ความชัง ความเกลียด ความกลัว นี้เป็นเรื่องในกรณีที่ว่าเราไม่ได้บังคับ ไม่ได้ควบคุม ไม่ได้ฝึกหัดตน พอเรามีการศึกษาปฏิบัติตน เราก็อาจกลับในทางตรงข้าม
คือแทนที่จะให้เวทนามาเป็นตัวอิทธิพลบังคับจิต เราก็กลับไปบังคับเวทนาหรือควบคุมเวทนา ให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ ซึ่งก็เป็นแนวปฏิบัติในอาณาปาณสตินี้ด้วย ส่วนสัญญานั้นก็ชัดเช่นเดียวกัน สัญญาก็เป็นตัวที่มีอิทธิพลปรุงแต่งจิต คือการกำหนดหมาย สำคัญหมายว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นเราสำคัญมั่นหมายว่าน่ากลัว น่าเกลียด หรือว่าสวย เราจำหมายไว้ว่าอย่างนั้น ถ้าเราจำหมายไว้ว่าอย่างนี้สวย เราไปเจอเข้า เราเห็น มันก็ปรุงแต่งจิตใจของเรา ไปในทางที่จะปรารถนาอยากได้
ถ้าเราจำหมายสิ่งนั้นไว้ว่าน่าเกลียด ก็จะมีอิทธิพลต่อจิตใจให้เกิดการปรุงแต่งไปอีกอย่างหนึ่ง หรือว่าสิ่งทั้งหลายที่เราปฏิบัติต่อมัน ก็เกิดจากเราจำหมายไว้อย่างนั้น เราชอบสัตว์ประเภทนี้เราก็จำหมายว่าสัตว์นี้น่ารัก แต่อีกคนหนึ่งจำหมายว่าเป็นสัตว์ที่ไม่น่ารัก ทั้งๆที่สัตว์เป็นตัวเดียวกัน แล้วก็เมื่อไปพบเห็นสัตว์ตัวเดียวกันนี้ ในความสำคัญหมาย หรือจำหมายไว้นี้ ก็จะมีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้นั้นขึ้นมาทันที ทำให้เขาคิดไปคนละอย่าง และก็แสดงออกคนละอย่าง เพราะฉะนั้นสัญญานั้นก็เป็นตัวปรุงแต่งจิตที่สำคัญ
ตกลงว่าเวทนา สัญญา นี้แหละเป็นตัวปรุงแต่งจิตที่เรียกว่า “จิตสังขาร”
เฉพาะในอาณาปณสติสูตร นี้ท่านไม่ได้ยกสัญญาขึ้นมาเป็นตัวเด่น ท่านเอาเวทนาเป็นตัวเด่น แต่ทีนี้เอาเฉพาะเวทนา แล้วเวทนาที่พูดในที่นี้จะได้แก่ปิติ
และความสุข ก็เรื่องปิติ สุข ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องทำความเข้าใจ เดี๋ยวจะพูดต่อไป ให้รู้ว่าในอาณาปณสติ๑๖ขั้นเนี่ย ที่พูดถึงเรื่องจิตสังขาร สิ่งที่ปรุงแต่งจิตเนี่ย ในที่นี้ยกเอาเวทนาขึ้นมาเป็นตัวเด่น และก็เวทนาในที่นี้ ก็หมายเอาปิติและความสุข ทำความเข้าใจกันไว้ก่อนอย่างนี้
ส่วนวจีสังขารได้พูดไปแล้วว่าได้แก่วิตกวิจาร เป็นระบบของสัญลักษณ์
ที่ว่ามาคิดปรุงขึ้นในจิตใจเป็นถ้อยคำในใจ แล้วพูดจากใจมาเป็นคำพูดทางปากอีกทีนึง เรามีครบแล้วสังขารสาม กายสังขารสิ่งที่ปรุงแต่งกายได้แก่ลมหายใจ วจีสังขาร สิ่งที่ปรุงแต่งวาจาได้แก่วิตกวิจาร ความคิดนึกไตร่ตรอง
และก็จิตสังขาร ได้แก่สัญญาและเวทนา ในที่นี้หมายเอาเวทนา
คือปิติและความสุขที่เรา ที่เราเจาะจงหรือจัดทำให้มีขึ้น ก็ขอผ่านเรื่องนี้ไปก่อน