แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ทีนี้ก่อนที่จะอธิบายไปตามลำดับข้อ หรือลำดับขั้น ก็จะพูดถึงข้อควรทราบในการปฏิบัติเสียก่อน คือมีอะไรบางอย่างที่จะพูดเป็นพิเศษไว้ พูดทำความเข้าใจกันเบื้องต้น เวลาพูดอธิบายไปตามลำดับจะได้เข้าใจง่ายขึ้น เพราะว่าในนี้ก็มีศัพท์มีข้อความอะไรบางอย่างที่ควรทำความเข้าใจพิเศษ อย่างที่หนึ่งที่ควรทราบก็คือที่ตั้งข้อสังเกตตอนต้นทีนึงแล้ว เอามาย้ำไว้ คือว่า ในหลักปฏิบัติของอานาปาสติแบบนี้ 16 ขั้นนี้ ตั้งแต่ขั้นที่ 3 เป็นต้นไปจนจบขั้นที่ 16 ใช้คำว่าศึกษาว่า หรือบาลีว่า สิกขัตติ ศึกษาว่าฝึกให้เป็นอย่างนั้นหรือหัดให้เป็นอย่างนั้น คือ พยายามทำให้เป็นอย่างนั้น อย่างที่บอกว่าเป็นการบังคับควบคุมให้มันเป็นไปตามที่เรามีความประสงค์ ซึ่งอันนี้จะต่างจากหลักกลางในหลักทั่วไปในสติปัฏฐานสี่ อย่างที่แสดงไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ที่ได้พูดในคราวที่แล้วนั้น แทบจะหาคำว่าสิกขัตติหรือศึกษาว่านี่ไม่พบเลย มีอยู่สักแห่งหนึ่ง ตรงกันคือว่า ขั้นที่ 3 ที่เป็นตอนเริ่มของคำว่าศึกษาว่าในที่นี้ ก็จะมีคำว่าศึกษาว่าปรากฏขั้น นอกจากนั้นก็จะมีคำอื่นๆ โดยเฉพาะที่ปรากฏมากที่สุด ก็คือคำว่า รู้ชัดว่า รู้ชัดว่าก็คือคำว่า (ปะชานาติ) เป็นอาการของสัมปชัญญะแล้วก็บอกให้เรารู้ว่าเป็นการรู้ชัดสิ่งหรืออารมณ์ที่ปรากฏขึ้น ในเวลานั้น โดยที่ว่า ไม่ได้พูดว่าได้พยายามให้เป็นอย่างนั้นหรือไม่ นี่เป็นข้อสังเกตที่หนึ่ง ซึ่งศัพท์ที่ปรากฏในนั้นจะทำให้เรามองเห็นอันนี้ได้ถ้าหากว่าได้ตรวจดู ข้อปฏิบัติไปตามลำดับ จนเห็นแม้แต่พยัญชนะถ้อยคำที่ท่านใช้