แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เมื่อเข้าใจแนววิธีปฏิบัติที่เรากำลังจะพูดแล้ว ต่อไปนี้ก็จะเข้าสู่เนื้อหา ทีนี้ในการที่จะพูดถึงเนื้อาหา อาตมาก็จะพูดถึงลำดับการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก่อน หลักปฏิบัติในอานาปานสติสูตรอันนี้ เรามักจะรู้จักกันในแง่ว่าเป็น อานาปานสติ 16 ขั้น เพราะว่าที่พระองค์ทรงแสดงไว้ในพระสูตรนี้ เมื่อเรานับดูแล้ว ในลำดับการปฏิบัตินั้นก็จะมี 16 ตอนหรือ 16 ขั้นอย่างทีว่าก็เลยเรียกกันว่าอานาปานสติ 16 ขั้น ในอรรถกถาท่านเรียกว่า อานาปานสติมีวัตถุ 16 อันนี้ก็ขอเข้าสู่ความสรุปของอานาปานสติสูตรให้เห็นลำดับ 16 ขั้นว่าเป็นอย่างไร เพราะหลังจากนั้นเราจึงจะค่อยมาทำความเข้าใจ อันนี้ก็ฟังดูก่อน พระพุทธเจ้าก็ตรัสขึ้นมาบอกว่า ภิกษุทั้งหลายอานาปานสติเจริญอย่างไรทำให้มากอย่างไร จะมีผลมากมีอานิสงค์มาก พระองค์ก็ตรัสตอบ มีความว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี โคนไม้ก็ดี เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังค์ ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า หมายความว่าเอาสติมุ่งต่อกรรมฐาน คือ การกำหนดกรรมฐาน คือการกำหนดลมหายใจนั้น ต่อจากนั้นก็เริ่มเจริญกรรมฐาน โดยมีการมีสติหายใจเข้าและมีสติหายใจออก นี่คือการเริ่มต้น เอาใจความง่ายๆก็คือ หาที่เหมาะ ที่สงัด ที่เป็นสัปปายะต่อการเจริญภาวนา และเจริญอานาปานสติเหมาะกับอิริยาบถที่ให้เป็นสัปปายะด้วย คือการนั่งสมาธิด้วย เสร็จแล้วก็เริ่มปฏิบัติโดยหายใจเข้าออกอย่างมีสติ ใช้สติกำหนดลมหายใจ นี่เป็นจุดตั้งต้น ต่อไปเราจะเข้าสู่ ??16 ขั้นทั้ง 16 นั้นก็จะจำแนกจัดกลุ่มได้ 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่การปฏิบัติที่เข้ากับสติปัฏฐาน 4 แต่ละอย่างนั้นเอง เริ่มจากกายานุปัสสนาเป็นต้นไป หมายความว่ากายานุปัสสนาก็มี 4 ขั้น เวทนานุปัสสนาก็มี 4 ขั้น จิตตานุปัสสนาก็มี 4 ขั้นธัมมานุปัสสนาก็มี 4 ขั้น เท่ากันหมดก็จำง่าย ก็เท่ากับว่า มีทั้ง 16 แบ่งเป็น 4 กลุ่มหรือ 4 ตอน หรือตอนละ 4 ขั้น ตามสติปัฏฐานทั้ง 4 นั้น อันนี้จำง่ายมาก
ก็เริ่มด้วยหมวด ที่ 1 คือกายานุปัสสนา ข้อ 1 ก็คือ หายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว 2 ก็หายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น นี่หมดไปสองละ ต่อไปขั้นที่ 3 ศึกษาว่าจักรู้ทั่วกายทั้งหมด หายใจเข้า ศึกษาว่าจักรู้ทั่วกายทั้งหมดหายใจออก ขอให้สังเกตไว้ด้วยว่าตอนนี้เริ่มมีคำว่าศึกษาว่า ไม่ใช่มีคำว่ารู้ชัดว่า ต่อไป 4 ศึกษาว่าจะผ่อนระงับกายสังขารหายใจเข้า ศึกษาว่จะผ่อนระงับกายสังขารหายใจออก นี่ครบแล้ว 4 ขั้นของหมวดที่ 1 ได้แก่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ต่อไปก็ไปสู่หมวดที่ 2 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมี 4 ขั้นด้วยเช่นเดียวกัน ให้สังเกตเมื่อกี๊แล้วว่า ตอนนี้ได้มีคำว่าศึกษาว่า แล้วคำว่าศึกษาว่าจะมีตลอดไปหมดในวิธีปฏิบัติในวิธีอานาปานสตินี้ หมวดที่ 2 นี้เริ่มที่ข้อ 5 ว่า ศึกษาว่าจักรู้ชัดปิติหายใจเข้า ศึกษาว่าจักรู้ชัดปิติหายใจออก แล้วก็ไปขั้นที่ 6 ศึกษาว่าจักรู้ชัดสุขหายใจเข้า ศึกษาว่าจักรู้ชัดสุขหายใจออก ต่อไปก็ขั้นที่ 7 ศึกษาว่าจักรู้ชัดจิตสังขารหายใจเข้า ศึกษาว่าจักรู้ชัดจิตสังขารหายใจออก ให้สังเกตคำว่าจิตสังขาร เมื่อกี้ในกายานุปัสสนามีคำว่ากายสังขาร ในหมวดเวทนานุปัสสนามีคำว่าจิตสังขาร ต่อไปก็ขั้นที่ 8 ศึกษาว่าจะผ่อนระงับจิตสังขารหายใจเข้า ศึกษาว่าจะผ่อนระงับจิตสังขารหายใจออก จบหมวดที่ 2 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ต่อไปก็ขึ้นสู่หมวดที่ 3 คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมา 4 ชั้นเช่นเดียวกัน เริ่มด้วย ขั้นที่ 9 ศึกษาว่าจักรู้ชัดจิตหายใจเข้า ศึกษาว่าจักรู้ชัดจิตหายใจออก ขั้นที่ 10 ศึกษาว่า จักทำจิตให้บันเทิงหายใจเข้า ศึกษาว่าจักทำจิตให้บันเทิงหายใจออก ขั้นที่ 11 ศึกษาว่าจักตั้งจิตมั่นหายใจเข้า ศึกษาว่าจักตั้งจิตมั่นหายใจออก และขั้น 12 ศึกษาว่าจักเปลื้องจิตหายใจเข้าศึกษาว่าจักเปลื้องจิตหายใจออก ก็จบหมวดจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือจบหมวดที่ 3 ก็หมดไป 12 ข้อ หรือ 12 ขั้น ให้สังเกตว่าในขั้นต่างๆเหล่านี้ ฟังดูแล้วจะมีลักษณะเป็นการบังคับให้จิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นี่คือลักษณะของการศึกษาว่า หรือฝึก หรือหัดทำให้เป็นอย่างนั้น
ต่อไปคือหมวดสุดท้าย คือหมวดธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เริ่มด้วยขั้นที่ 13 ศึกษาว่าจักตามเห็นว่าไม่เที่ยงหายใจเข้า ศึกษาว่าจักตามเห็นว่าไม่เที่ยงหายใจออก ขั้นที่ 14 ศึกษาว่าจักตามเห็นความคลายออกหายใจเข้า ศึกษาว่าจักตามเห็นความคลายออกหายใจออก ต่อไปขั้นที่ 15 ศึกษาว่าจะตามเห็นความดับไปหายใจเข้า ศึกษาว่าจักตามเห็นความดับไปหายใจออก และขั้นที่ 16 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย หรือเป็นขั้นที่ 4 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ศึกษาว่าจักตามเห็นความสลัดคืนได้หายใจเข้า ศึกษาว่าจะตามเห็นความสลัดคืนได้หายใจออก ก็แปลว่าครบวิธีปฏิบัติอานาปานสติ 16 ขั้น ซึ่งนำเข้าสู่วิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐานจนกระทั่งครบถึงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้วก็มีข้อความต่ออีกด้วย เมื่อปฏิบัติครบ 16 ขั้นแล้วก็จะมีพุทธพจน์ตรัสต่อไปว่า อานาปานสติที่บำเพ็ญอย่างนี้ ย่อมทำสติปัฏฐานให้บริบูรณ์ ก็คือที่กล่าวมานี่ อนาปานสติที่บำเพ็ญอย่างนี้ ย่อมทำสติปัฏฐานให้บริบูรณ์ แล้วก็ตรัสต่อไปอีก สติปัฏฐาน 4 ที่บำเพ็ญอย่างนี้ ย่อมทำโพชฌงค์ 7 ให้บริบูรณ์ แล้วสุดท้ายก็ตรัสอีกว่า โพชฌงค์ 7 ที่บำเพ็ญอย่างนี้ ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ ก็คือว่าจบ พอถึงวิชชาวิมุตติ ก็คือบรรลุจุดหมาย เป็นมรรคผลนิพพาน นี่ก็คือบทสรุปของหลักปฏิบัติในอานาปานสติสูตรที่ใช้อานาปานสติ หรือการกำหนดลมหายใจมาโยงเข้าสู่สติปัฏฐานครบทั้ง 4 ตามที่ทรงแสดงไว้ ในอานาปานสติสูตร