แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจฃ
เจริญพรท่านผู้สนใจเจริญภาวนาทุกท่าน ในวันนี้จะได้พูดหัวข้อเรื่องว่า การใช้อานาปานสติโยงสู่สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นการบรรยายต่อเนื่องจากครั้งที่แล้ว คือครั้งที่แล้วนี้พูดเรื่อง หลักทั่วไปของสติปัฏฐาน ว่าที่จริงนั้น อานาปานสติ ก็อยู่ในสติปัฏฐานอยู่แล้ว คือเป็นหมวดแรกในกายานุปัสนาสติปัฏฐาน
กายานุปัสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นสติปัฏฐานหมวดที่ ๑ แบ่งออกไปเป็น ๖ หมวด อานาปานสติก็เป็นตอนที่ ๑ ใน ๖ หมวดนั้น ทีนี้ที่เป็นข้อพิเศษในคราวนี้ก็คือว่า เราจะใช้อานาปานาสตินี่ เป็นตัวโยงหรือตัวนำการปฏิบัติให้เข้าสู่สติปัฏฐานทั้ง ๔ หมวด หมายความว่า ใช้อานาปานสติปฏิบัติที่ว่าให้โอบไปครอบคลุมสติปัฏฐาน ๔ ตลอดทั้งหมด อันนี้ก็เป็นวิธีปฏิบัติเรียกว่า มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง ว่าที่จริงเรื่องอานนาปานสติก็ได้บรรยายมา หรือพูดถึงนี่มานานแล้วตั้งแต่ตอนพูดเรื่องจิตภาวนา คือตอนจิตภาวนา หรือเจริญสมถะก็จะมีอานาปานสติ เป็นกรรมฐานอย่างหนึ่ง ใน ๔๐ อย่างด้วย เพราะฉะนั้นเราจะเจอหรือพบชื่ออานาปานสติตั้งแต่เรื่อง การเจริญจิตภาวนาโดยเลือกจากกรรมฐาน ๔๐
ทีนี้ตอนนี้ เราจะได้เห็นการนำเอาอานาปานสตินั้นมาใช้ ในการนำปฏิบัติเข้าสู่วิปัสสนาด้วย และก็เป็นวิปัสสนาที่ว่าปฏิบัติไปจนกระทั่งถึงที่สุด บรรลุจุดหมายทีเดียว แต่เรื่องที่ว่าจะโยงอานาปานสติเข้าสู่สติปัฏฐานครบทั้ง ๔ อย่างนั้น ในคราวที่แล้วก็พูดหลักการทั่วไปให้เห็นไว้แล้วว่า ความจริงเมื่อเราเริ่มปฏิบัติโดยจับเอากายานุปัสสนาเป็นจุดเริ่มต้น เราก็สามารถที่จะปฏิบัติไปจนกระทั่งตลอดลุล่วงสติปัฏฐานทั้ง ๔ ได้ เพราะว่าสติปัฏฐาน ๔ นั้นเหมือนกับว่าส่งทอดต่อกันไปเป็นลำดับ ถ้าเราตามให้ดี เราก็จะได้เจริญสติปัฏฐานไปครบทั้ง ๔ อย่าง
อย่างในคราวที่แล้วนี้ก็ได้ยกตัวอย่างการเคลื่อนไหว ว่าถ้าหากว่าเรากำหนดการเคลื่อนไหวร่างกายสักอย่างหนึ่ง ตามดูการเคลื่อนไหวไป แล้วเรามองดูพร้อมกับการเคลื่อนไหวร่างกายนั้น ก็จะมีความรู้สึกคือเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น จะเป็นเวทนาที่เป็นสุขสบาย หรือเป็นทุกข์ไม่สบายก็ตาม หรือแม้แต่เฉยๆ แล้วเราก็สามารถไปกำหนดดูเวทนาที่สืบเนื่องการเคลื่อนไหวร่างกายนั้น ตามดูเวทนาไปเราก็สามารถมองจะมองลึกลงไปอีก เห็นสภาพจิตที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วยอิทธิพลของเวทนา เช่น เกิดความชอบใจไม่ชอบใจ เกิดราคะ โทสะ
ทีนี้เราก็จะมองเห็นสภาพจิตใจที่เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ มีความยินดียินร้ายชอบชัง แล้วถ้าเราลงลึกไปอีก เราก็สามารถมองลงไปที่ตัวความชอบใจไม่ชอบใจ ตัวโทสะ หรือความยินดียินร้ายอะไรก็ตาม ที่เกิดขึ้นในจิตใจนั้น เมื่อมองลงไปถึงตัว สิ่งที่ดีหรือไม่ดี สิ่งที่กุศล อกุศลในใจนั้น ก็เป็นการมองดูธรรมะ คือสิ่งที่เป็นไปอยู่ในใจ อยู่ในความคิดนึกของเรา ก็เท่ากับเข้าสู่ธรรมานุปัสนาสติปัฏฐาน ก็ครบ ๔ อย่าง
คราวที่แล้วก็พูดอย่างนี้ไปแล้ว ทีนี้การที่เรานำเอาอานาปานสติมาเป็นตัวโยงสู่สติปัฏฐาน ๔ นั้นก็ใช้หลักการอันนี้นั่นเอง คือใช้แนวปฏิบัตินี้แหละ แต่คราวนี้เราเจาะจงลงไปเลยว่าเราจะใช้อานาปานสติ เป็นจุดเริ่มต้นแล้วโยงเข้าไปหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่เหมาะมาก หมายความว่าได้ผลดี น่าทำแล้วก็ โดยเฉพาะก็คือว่าพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสวิธีการเป็นตัวอย่างให้เราแล้วด้วย ซึ่งวิธีการนี้ก็มาในอานาปานสติสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรหนึ่งที่ว่าเรื่องนี้โดยตรง
ก็เป็นอันว่าจุดเด่นอันหนึ่งที่เรามาปฏิบัติคราวนี้ ซึ่งเรามาเจาะจง คือเราจำกัดตัวแคบลงจากคราวที่แล้ว คราวที่แล้วนี่เราพูดถึงสติปัฏฐานเป็นหลักทั่วไป คราวนี้มาเจาะจงว่าเราจะเดินเข้าสู่สติปัฏฐานนั้น โดยใช้อานาปานสติเป็นตัวนำ แล้วก็ยังมีจุดเด่นพิเศษก็คือว่าเราให้อานาปานสตินี่คงอยู่ตลอดเรื่อยไป คือมีการที่ว่า กำหนดลมหายใจไปด้วย พร้อมทั้งตามดูรู้เห็นสภาพความเป็นไปในชีวิตจิตใจ ที่เป็นส่วนของสติปัฏฐานอื่นๆ ไปด้วย อันนี้ หลักการนี้ คือแทนที่เราจะปฏิบัติเรื่อยๆ ตามวิธีการของสติปัฏฐาน ปฏิบัติไปพอดี ไปตรงช่องทาง ไปตรงโอกาสที่เป็นไปได้ธรรมดาของมัน เราก็ตามมันไปเรื่อยๆ อย่างที่ว่า เคลื่อนไหวมีความรู้สึกเกิดขึ้น เราก็กำหนดไปตามนั้น คือว่าอารมณ์อันใดโผล่ขึ้นมา ปรากฏขึ้นมาก็กำหนดไปตามนั้น
คราวนี้เราไม่ปล่อยอย่างนั้นแล้ว คราวนี้เรากลายเป็นว่า เรามาใช้ช่องทางหรือโอกาสที่มีอยู่นั้นให้เป็นปะโยชน์อย่างจงใจทำ แล้วก็จงใจทำให้อารมณ์ที่ต้องการนั้นเกิดมีขึ้นมา มันก็เลยทำให้ดูเหมือนกับว่า เวลาเทียบกันแล้วมีการปฏิบัติ ๒ แบบ แบบหนึ่งก็เป็นการปฏิบัติเรื่อยๆ ไปตามธรรมชาติ อย่างที่บอกว่าอารมณ์อันใดปรากฏตัวขึ้นมาก็กำหนดอารมณ์นั้น รู้เท่าทันตามความเป็นจริง แล้วก็อีกแบบหนึ่งก็คือวิธีที่จะพูดนี้ เป็นวิธีที่ปฏิบัติแบบจงใจจัดสรรควบคุม ตัวนี้เมื่อพูดว่า วิธีแรกเป็นวิธีที่ทำไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ ก็อาจจะทำให้เข้าใจผิด เดี๋ยวจะกลายเป็นว่ามีวิธีแบบธรรมชาติ กับไม่ธรรมชาติ ซึ่งที่จริงนั้นการปฏิบัติในเรื่องสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของธรรมชาติทั้งหมด เป็นการปฏิบัติตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการใช้คำว่าตามธรรมชาติ อาจจะทำให้เข้าใจไขว้เขว ที่จริงนั้นเป็นการที่ว่า เราเอาความรู้ในธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยเอาความรู้นั้นมาเป็นหลักแล้วเราก็ปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น
ทีนี้วิธีแบบเจาะจงทำนั้นเป็นการที่ว่า เราอาศัยช่องทางของธรรมชาติที่มีอยู่ แล้วทำให้มันเข้าแนวทางตามที่เราต้องการ โดยที่ว่ากระบวนการนั้นเอง มันก็เป็นไปตามธรรมชาตินั่นแหละ นี่ก็เป็นวิธีการเอาความรู้ในกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรมชาตินั้น มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างที่เรียกว่า อย่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วเมื่อทำความเข้าใจกันอย่างนี้ ก็อยากให้เลี่ยงคำว่าตามธรรมชาติ เพราะเดี๋ยวจะเกิดคำว่าไม่เป็นธรรมชาติขึ้นมา แต่ว่าจะใช้ศัพท์ว่าอย่างไร เพื่อให้เห็นเรื่องการ คล้ายๆ กับแบ่งวิธีปฏิบัติ ๒ แบบนี้ อาจจะใช้เรียกว่าเป็นวิธีปฏิบัติทั่วไป อย่างกว้าง กับแบบจำเพาะหรือเจาะจงทำ หรืออาจจะเรียกว่าแบบคลุม กับแบบไม่คลุม คือแบบที่จะทำต่อไปตามอานาปานสตินี่ก็เป็นวิธีแบบคลุม แบบทั่วไปนั่นก็เป็นวิธีแบบไม่คลุม หรืออาจจะเรียกว่าเป็นแบบกระจายตามเป้า กับแบบนำวิถี อะไรทำนองนี้ แล้วแต่จะตั้งขึ้นมา แต่ให้เห็นลักษณะที่ต่างกันอย่างที่กล่าวมาแล้ว
ก็ขอสรุปอีกครั้งหนึ่งว่า หลักใหญ่ๆ หรือหลักการทั่วไปนี้อย่างที่แสดงในมหาสติปัฏฐานสูตร เป็นพระสูตรใหญ่นั้น เป็นวิธีปฏิบัติอย่างกว้างๆ แสดงไว้เป็นกลางๆ นี้ใครจะเอาไปเจาะจงทำอย่างครอบคลุม ก็อาศัยหลักการทั่วไปนั่นแหละไปปฏิบัติ เป็นหลักการที่เปิดช่องให้ แล้วเราเอาไปคิด ไปจัด ไปเจาะจงทำเอา ทีนี้ คราวนี้นั้นก็เป็นการที่จะเอาความรู้จากหลักทั่วไปที่วางไว้เป็นกลาง กว้างๆ นั้นแหละ มาปฏิบัติแบบเจาะจงทำ แล้วก็เป็นการเจาะจงทำตามแบบของอานาปานสติสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เอง เราก็จะมีการปฏิบัติอย่างควบคุม เจาะจงไปในวิถีที่ต้องการนั้น
ก็ขอยกตัวอย่างให้ชัดอีกนิดนึง เช่นอย่างว่า ในการปฏิบัติแบบหลักทั่วไปที่เป็นกลางๆ มีเวทนาอะไรเกิดขึ้น เราก็รู้ชัดเวทนานั้น แต่ว่าในการปฏิบัติแบบเจาะจงนี้ เราปฏิบัติตามเหตุปัจจัยให้เกิดเวทนาที่เราต้องการจะให้เกิด เวทนาอย่างนั้นเกิดขึ้นมา เราก็จับเอาเวทนานั้นมาใช้กำหนด รู้เท่าทันชัดเจนตามความเป็นจริง ปฏิบัติต่อเวทนานั้นให้เข้าช่อง ที่จะส่งผลไปอย่างนั้นๆ เพื่อให้บรรลุจุดหมายที่เราต้องการ คือที่เป็นจุดหมายอันถูกต้อง นี่คิดว่าการทำความเข้าใจเบื้องต้นก็พอสมควร