แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ต่อไปก็จะขอพูดถึงหัวข้อย่อยต่อไป จะเป็นหัวข้อย่อยที่ 3 ในเรื่องของหลักการปฏิบัตินี้ เป็นแนววิธีกำหนดระหว่างใจ เวลาท่านบรรยายถึงการปฏิบัติพิจารณาต่างๆ ไปแล้ว ท่านจะลงข้อสรุป ซึ่งข้อสรุปเหล่านั้นก็จะได้มาแยกแยะให้ฟังอีกที แต่ว่าแนววิธีปฏิบัติกำหนดนี้ ลักษณะทั่วไปในการกำหนดพิจารณาเนี่ย เป็นการมองตามสภาวะ มองตามสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น อย่างที่เราเรียกในภาษาอังกฤษว่า มองอย่าง Objective ไม่ใช่มองอย่าง Subjective มองหรือว่าใช้ภาษาสมัยใหม่ อาจจะบัญญัติว่า มองอย่าง (กาละวิสัย) ไม่ใช่มองอย่าง (สัก กะ วิสัย) คือว่า มองดูสิ่งนั้นทั้งๆที่เป็นเรื่องของตัวเรา การเคลื่อนไหวเป็นต้น โดยไม่เอาตัวเราไปใส่เข้า โดยไม่มีการประเมินค่า ไม่มีการวินิจฉัน ไม่มีการตัดสินดีชั่ว ไม่ใส่ความรู้สึกสำคัญมั่นหมาย ไม่ใส่สิ่งเหล่านี้ลงไป คือมองดูมันเกิดขึ้นมันเป็นไปอย่างไรก็รู้ตามที่มันเป็นอย่างนั้นเท่านั้น ไม่มีความรู้สึกเราเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความชอบชัง เหมือนกับเราไปดูละคร เราดูตัวเองเหมือนการแสดงละคร เราไม่เป็นตัวเล่นละครด้วย ตัวเรานี้มาแสดงละครให้เราดู เราไม่ลงไปเล่นละคร ถ้าเราลงไปเล่นละครเมื่อไร เราก็ผิดเมื่อนั้น ฉะนั้นเราดูเขาแสดง ดูชีวิตร่างกายของเราเป็นไป จิตใจของเราเป็นไป ดูตามความเป็นจริง ต่อไปสังเกตสำคัญก็คือว่า นอกจากมองตามสภาวะแล้ว ก็มองเป็นเรื่องธรรมดา มองเป็นเรื่องธรรมหมายความว่า ให้เห็นความเป็นไปของสภาวะธรรม รูปธรรม นามธรรมมันเป็นอย่างนี้ ชีวิตร่างกายเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่มองเป็นของที่ ทั้งในทางบวกหรือทางลบ ซึ่งอันนี้ที่จะต่างจากสมถะ อย่างที่อาตมายกตัวอย่างให้ดูแล้ว อย่างในสมถะนี่ไปดูซากศพ มองเห็นความไม่งาม ความน่าเกลียดอะไรต่างๆ เพื่อให้ใจสงบจากราคะ แต่ในที่นี้นั้น มองเห็นเป็นธรรมดา มองเห็นว่า ชีวิตร่างกายของเราก็เป็นอย่างนี้ ต่อไปตายแล้วก็แน่นอน ก็ต้องมีเน่าเปื่อยผุพังไป มันเป็นธรรมอย่างนี้ ให้รู้เข้าใจความเป็นจริง มองเห็นเป็นธรรมดา นอกจากมองให้เห็นเป็นธรรมดาแล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คือมองให้ทันความจริงที่เป็นไป อันนี้ก็เป็นลักษณะอันหนึ่งของการตามดูรู้ทัน การตามดูรู้ทันก็คือ ตามดูรู้ทันความจริงที่มันกำลังเป็นไปอยู่ มองไปให้ทันมันในที่สุดเราจะเห็นอะไร เราก็จะเห็นการที่ว่า มีสิ่งหนึ่งปรากฏขึ้นสิ่งนั้นหายไป มีสิ่งใหม่ปรากฏ มันก็เป็นอยู่อย่างนี้ ในการที่มีสิ่งทั้งหลายอยู่ในโลก สภาวธรรมต่างๆ ที่เราเห็นปรากฏดำเนินชีวิตกันอยู่ มองไปแล้วมันก็คือ ความเป็นไปแห่งรูปธรรม นามธรรมที่มันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป รูปธรรมนามธรรมนี้เกิดขึ้นแล้วต่อไปมันก็ดับไป ดับไปแล้วมันก็มีอันใหม่เกิดขึ้นมา แล้วก็ดับไปอีก การตามดูรู้ทันสภาวธรรม ธรรมชาติที่เป็นไปอยู่ตามความเป็นจริงจะทัน ในที่สุดจะเห็นอะไร ก็เห็นการเกิดดับนั่นเอง พอเห็นการเกิดดับแล้ว ต่อไปก็มองเห็นภาวะที่เรียกว่าไตรลักษณ์ พอจากการเกิดดับๆนี้ นี่ก็คือไม่คงที่ ก็คือการเห็นอนิจจัง อนิจจังแล้วเราก็เห็นว่ารูปธรรมนามธรรมนั้น ถูกความเกิดดับนี่บีบค้ำให้คงอยู่ไม่ได้ คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ต้องแปรปรวนไป เราก็เรียกว่าเป็นทุกข์ เมื่อมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันก็ไม่เป็นตัวตนคงที่อยู่ ไม่เป็นตัวตนยืนอยู่อย่างนั้น มันก็เป็นอาการปรากฏที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น เราก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ขอย้ำอีกอย่างหนึ่ง ในแง่หนึ่งก็คือการมองแบบสติปัฏฐานนี้ ที่บอกว่า เป็นการรู้จักชีวิตของตนเอง หรือเป็นการมาดูตัวเอง เป็นการรู้จักและเป็นการดูอย่างชนิดที่เกิดปัญญา ไม่เกิดปัญหา แล้วก็ดูไปทั้งโลก ดูคนอื่น ดูสิ่งที่เรารับรู้ผ่านเข้ามา ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรา พอเราไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอายตนะเนี่ย มันก็คือการเกี่ยวข้องกับโลกทั้งหมด โลกทั้งหมดปรากฏแก่เราที่ไหน ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเท่านั้นเอง เสร็จแล้ว จากการที่เราตามดูรู้จักส่วนประกอบในร่างกายของเรา ในชีวิตของเรา ในใจของเราเนี่ย มันก็ขยายออกไปเองต่อการรู้สภาวะในโลกทั้งหมด ทีนี้การดูรู้จักตั้งแต่ตัวเองลงไป ดูตัวเองเนี่ย มันเป็นลักษณะที่อาตมากล่าวเมื่อกี๊ คือว่า ในลักษณะที่ทำให้เกิดปัญญาไม่เกิดปัญหา ไม่เหมือนอย่างกับคนปุถุชนทั่วไปที่เวลาคิดคำนึงเกี่ยวกับตัวเอง มันไปอีกแบบหนึ่ง คนทั่วไปนี้ เวลาคิดคำนึงเกี่ยวกับตนเองแล้วจะคิดคำนึงแบบปรุงแต่ง เป็นการดูตัวเองในภาพวาด ไม่ใช่ดูตัวเองในสภาพที่เป็นจริง ไม่ได้ดูตัวของเราจริงแต่ดูภาพวาดของตัวเรา คนทั้งหลายเวลาคิดถึงตัวเองจะคิดอย่างนั้น มาดูภาพวาดของตัวเองแล้วก็คิดคำนึงเพ้อฝันไป แล้วก็เกิดปัญหาในใจขึ้นมาต่างๆ มีฟูๆยุบๆ มีกิเลสต่างๆ เกิดขึ้นมีทั้งบวกทั้งลบ แล้วก็มีผลที่สุดก็คือปัญหา ความทุกข์ที่เกิดขึ้น
เป็นอันว่าการดูรู้จักตัวเองในที่นี้มีความหมายพิเศษในแง่ที่ว่าทำให้เกิดปัญญา ไม่เกิดปัญหา ซึ่งดูได้หลายระดับ เป็นการดูตัวเองทั้งในแง่ที่ว่า เห็นกุศลอกุศลธรรม ความดี ความชั่ว ที่มีอยู่ในตัวเองด้วย ซึ่งทำให้รู้จักเข้าใจตัวเองตามความเป็นจริง เพราะอย่างในธัมมานุปัสสนาเนี่ย พิจารณาอย่างกามฉันทะ มีภายในเราหรือไม่มีก็รู้ มันเกิดขึ้นดับไปอย่างไรก็รู้ พยาบาทอะไรต่างๆ ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ท้อแท้ เหล่านี้ตามดูรู้ทันหมด ทีนี้การที่เราดูอย่างนี้ก็เป็นการรู้จักตัวเอง สำรวจตัวเอง ซึ่งหมายถึงการรู้ความพัฒนาก้าวหน้าของตนเองด้วย นี่คือด้านหนึ่ง คือการสำรวจตัวเองในแง่ ได้พัฒนาไปแค่ไหน มีกุศลธรรม อกุศลธรรมอย่างไร และอีกระดับหนึ่งก็คือ รู้จักถึงสภาพที่เป็นจริงตามสภาวะ ที่ว่าชีวิตของเรานี้นามธรรมรูปธรรมที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย นี่ก็เป็นการรู้การเข้าใจในระดับต่างๆ นี่เป็นลักษณะทั่วไปของการกำหนดระวังใจในการพิจารณาสติปัฏฐาน ก็ขอพูดต่อไปในสิ่งที่ท่านพูดบรรยายไว้ กำกับกับการพิจารณานี้ซึ่งจะแยกได้เป็นสี่หัวข้อเล็กๆ ท่านจะพูดไว้ในทุกหมวดที่กล่าวถึงการพิจารณา
อันที่หนึ่งก็จะพูดถึงว่า ตามดูรู้ทันกายในกายทั้งภายในและตามดูรู้ทันกายภายนอก กายภายในก็คือกายภายในของตนเอง กายภายนอกก็คือกายของผู้อื่น ทีนี้กายของผู้อื่นเราจะรู้ได้อย่างไร กายของตัวเองเราก็รู้ได้สิ มันเกิดขึ้นเป็นไปเคลื่อนไหวเราก็ตามดูรู้ทัน ทีนี้ของผู้อื่น เราจะรู้ได้อย่างไร ก็บอกว่า สติปัฏฐานนี้ก็ให้รู้เท่าทันความจริงที่มันปรากฏขึ้นมาทุกอย่าง เพราะฉะนั้นในชีวิตของเรามันก็ต้องไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย กับคนอื่น ไปพบปะพูดจา บุคคลอื่นนั้นก็เข้ามาประสบกับเราทางอายตะ เป็นรูปธรรม เป็นเสียงเข้ามา เราก็ได้ยินเสียง เป็นอารมณ์เข้ามา ก็ปรากฏแก่เรา สิ่งเหล่านี้น่ะ เราก็จะต้องตามดูรู้ทันเช่นเดียวกัน แต่ว่าเราไม่ต้องไปสอดรู้ หมายความว่า คือไปรู้เท่าทันเท่าที่เราไปเกี่ยวข้องพบเห็น นึกถึง เวลามันปรากฏแก่เรา ปรากฏแก่ใจก็ตาม ปรากฏในการเห็นทางตาได้ยินหูก็ตาม ก็ต้องรู้ตามที่มันเป็น แล้วทีนี้ว่าถึงว่าคนอื่นๆ โดยภาวะของชีวิตโดยความเป็นมนุษย์ก็เหมือนกับเรา และถ้าเขามีโลภะ โลภะที่เกิดขึ้นในจิตในของเขา สภาวะของมันตัวองค์ธรรมนี้ มันก็เป็นสภาวะแบบเดียวกัน ถ้าเราดูรู้เข้าใจโลภะที่เกิดขึ้นในใจเรานี้ โดยความเป็นมนุษย์เราจะเข้าใจคนอื่นด้วย เราจะเข้าใจสภาพจิตคนอื่น เราจะเข้าใจองค์ธรรม กิเลส ความดีกุศลธรรม อกุศลธรรมที่มีอยู่ เป็นอยู่ในตัวเรา และที่มันเกิดขึ้นในผู้อื่นก็เช่นเดียวกัน นี่เป็นความรู้ความเข้าใจที่มันเป็นไปได้ทั้งภายในและภายนอก ทั้งตัวเองและผู้อื่น ทำให้เข้าใจทั้งตัวเองและผู้อื่น เพราะฉะนั้นที่บอกเมื่อกี๊บอกว่า สติปัฏฐานนี้ให้รู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเองนั้น ไม่ใช่แค่นั้น แต่ทำให้รู้จักผู้อื่นด้วย เข้าใจผู้อื่นด้วย และเข้าใจโลกและชีวิตทั้งหมดในที่สุดนั่นเอง
ส่วนที่สอง ท่านจะกำกับไว้เสมอว่า สะมุทะยะธัมมานุปัสสี วา กายัสสมิง วิหะระติ วะยะธัมมานุปัสสี วา กายัสสมิง วิหะระติ สะมุทะยะวะยะธัมมานุปัสสี วา กายัสสมิง วิหะระติ ถ้าเปลี่ยนเป็นเวทนาก็เอาเวทนามาใส่แทน กายัสสมิง ถ้าเป็นจิต ก็เป็นจิตเต ถ้าเป็นธัม ก็เป็นธัมเมสุ หมายความว่าใช้ทุกตอน เป็นการรู้ความเกิดขึ้น ความดับสลายและรู้ทั้งการเกิดขึ้นและดับสลาย ได้พูดไปแล้ว คือการรู้ทันความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จนกระทั่งเห็นความเป็นจริงที่เป็นไปอยู่ตลอดเวลา นั่นคือการปรากฏตัวของรูปนาม ที่เรียกว่าการเกิดและการสลายไปที่เรียกว่าการดับ ฉะนั้นในโลกนี้ ไม่มีอะไรมีแต่การเกิดขึ้นและดับไปของรูปธรรม นามธรรมทั้งสิ้น ถ้าเราดูกันแยกแยะให้จริงก็จะเห็นแบบนี้ ตั้งแต่การเกิดดับของรูปนามที่มองเห็นเป็นช่วงกว้าง เป็นของหยาบจนกระทั่งถึงว่าทุกขณะนี้ ในร่างกายนี้ของเรานี้ก็มีการเกิดดับสลายของรูปธรรมตลอดเวลา ในจิตใจของเราก็ทุกขณะซึ่งในขณะนี้ มันย่อยรวดเร็วยิ่งกว่าวินาทีด้วยซ้ำ นี่ก็คือการเห็นไตรลักษณ์อย่างที่ว่ามาแล้ว
ต่อไปอันที่สามที่ท่านกำกับไว้เสมอก็คือ อัตถิ กาโยติ วา ปะนัสสะ สะติปัจจุปัฏฐิตา โหติ ยาวะเทวะ ญาณะมัตตายะ ปะติสสะติมัตตายะ ซึ่งแปลความว่ามีสติปรากฏชัดว่า กายมีอยู่หรือเป็นกายเพียงเพื่อญาณและเพื่อสติเฉพาะ หมายความว่าอย่างไร ย้ำอีกทีแปลให้ง่ายขึ้น มีสติปรากฏชัด ว่าเป็นกายหรือมีกายอยู่ เพียงเพื่อความรู้และเพื่อความระลึกไว้ คือเพื่อปัญญาและเพื่อสตินั่นเอง อันนี้ก็มีข้อที่ควรสังเกตเป็นสองตอน ก็คือหนึ่ง สติปรากฏชัดว่ากายมีอยู่ ก็หมายความว่าเป็นสติที่กำหนดชัดเจนตรงตามความจริงว่า กายนี้มีอยู่หรือเป็นกายนั่นแหละ อย่างที่บอกเมื่อกี๊แล้วว่า ก็เป็นกายหรือมีกายอยู่ มีสภาวธรรมที่เป็นอย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่ของใคร นี่ก็มีกาย ไม่ใช่มี นาย ก. ในกรณีนี้ รู้อย่างนี้ รู้ตามเป็นจริง คือรับรู้ความจริงของสิ่งนั้น ตามที่เป็นอย่างนั้นของมัน โดยไม่เอาความรู้สึกสมมติและความยึดมั่นสำคัญหมายต่างๆ เข้าไปสวมใส่ให้มัน อย่างที่พูดมาแล้วเนี่ย คนธรรมดานี่เวลาเรามองเรารับรู้ต่างๆ เราเอาสมมติบัญญัติความยึดถือ ความสำคัญมั่นหมายของเราไปสวมใส่ให้กับสิ่งนั้น เราก็เลยไม่รู้เท่าทันสมมติ เราก็ถูกสมมติบัญญัตินี้ครอบงำ แต่ถ้าคนรู้ปฏิบัติตามนี้แล้ว จะรู้เท่าทันสมมติบัญญัติแล้ว ใช้สมมติบัญญัติได้ แต่ใช้อย่างรู้เท่าทันและไม่ตกอยู่ในอำนาจครอบงำของมัน ก็เป็นความรู้สองชั้น รู้ในระดับสมมติบัญญัติก็รู้ใช้ได้ รู้ในระดับปรมัตถ์หรือตัวสัจจะรูปนามก็รู้ ก็เป็นอันว่า ย้ำอีกทีว่ารับรู้ความจริงของสิ่งนั้น ตามที่เป็นอย่างนั้นของมัน โดยไม่เอาความรู้สึกสมมติและความยึดมั่นสำคัญหมายต่างๆเข้าไปสวมใส่ให้มัน เช่นว่า เป็นคน เป็นตัวตน เรา เขา เป็นเรา เป็นกายของเรา เห็นแต่เป็นธรรมชาติล้วนๆ อย่างที่บางคัมภีร์ท่านบอกว่า มีแต่ธรรมทั้งหลาย มีแต่รูปธรรม นามธรรมเป็นไป นี่เป็นแง่หนึ่งทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ที่ว่ารู้อย่างนี้นั้น เพื่ออะไร รู้ตามความเป็นจริงเนี่ยเพื่ออะไร ท่านบอกว่า เพียงเพื่อญาณ และเพียงเพื่อสติ คือเพื่อความรู้และเพื่อสติระลึกเท่านั้นเอง หมายความว่า สิ่งที่เรารู้นั้นรู้ตามเป็นจริงไว้ เพื่อเป็นข้อมูลความจริงสำหรับรู้เข้าใจและระลึกใช้ประโยชน์ เอาไว้ระลึกใช้ประโยชน์ ประโยชน์ที่แท้จริงของการรับรู้ของเรา ก็คือสิ่งเหล่านั้นเข้ามาในฐานะเป็นข้อมูลความจริง แล้วเราก็จะมีความเข้าใจต่อมันเราจะต้องรู้เข้าใจตามเป็นจริง เรารับรู้ข้อมูลเหล่านี้เข้ามาในฐานะที่จะทำให้เราจะต้องรู้เข้าใจ เกิดปัญญา และอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เมื่อรู้เข้าใจแล้ว ก็สำหรับระลึกใช้ประโยชน์ เอาไว้ระลึกใช้ประโยชน์ สิ่งทั้งหลายนี้มีประโยชน์แก่เรา เราทั้งเกี่ยวข้องต่อไป เราก็ระลึกขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ อันนั้นเป็นตัวความรู้ ยิ่งเราเข้าใจชัดเจนเท่าไร เราก็ระลึกมาใช้ประโยชน์ได้มากเท่านั้น ดังนั้น วัตถุประสงค์ในการรับรู้ของเรานี้ก็คือรับรู้ข้อมูลความจริง เพื่อปัญญาที่รู้เข้าใจชัด แล้วก็เอาไว้ระลึกใช้ประโยชน์ นี่คือการรับรู้ที่ถูกต้อง ฉะนั้น สิ่งที่รับรู้แบบนี้จะเป็นคล้ายๆที่ภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Naked fact เป็นตัวข้อเท็จจริง เป็นความจริงล้วนๆ ไม่มีความรู้สึกสำคัญมั่นหมาย ความลำเอียงอะไรต่างๆ ของตัวบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งแม้แต่ในเรื่องวิชาการหรือในการดำเนินกิจ ในการทำงานอะไรต่างๆ นี่ก็สำคัญมากเพราะว่า คนโดยมากมันมีปัญหาคือ รับรู้ข้อมูลอย่างชนิดที่เรียกว่า ไม่เป็น naked face ไม่เป็นข้อมูลความจริงล้วนๆ มันรับรู้โดยผนวกเอา ความรู้สึกความยึดมั่นถือมั่น ความลำเอียงอะไรต่างๆ ในใจของตนนี้ พอกเอาไว้ด้วย อันนี้คือปัญหาของมนุษย์นี่ที่ทำให้เรายุ่งวุ่นวายกันในปัจจุบันนี้ ตั้งแต่ระดับชีวิตบุคคลจนกระทั่งระดับโลกเลย ก็คือตั้งแต่ระดับการรับรู้ที่ไม่สามารถรับรู้อย่างที่ท่านบอกว่า อัตถิ กาโยติ วา ปะนัสสะ สะติปัจจุปัฏฐิตา โหติ ยาวะเทวะ ญาณะมัตตายะ ปะติสสะติมัตตายะ เรารับรู้อย่างนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานช่วยแม้กระทั่งในการดำเนินชีวิตและในการทำกิจการงานของมนุษย์ในโลกทั้งหมด เราจะต้องฝึกอันนี้ขึ้นมา เมื่อฝึกอันนี้ขึ้นมาแล้ว มันก็จะช่วยแก้ปัญหาของโลกและชีวิตและสังคมได้ด้วย ไม่ใช่เพราะปัญหาส่วนตัวเท่านั้น อย่างที่ว่าแล้ว ก็รับรู้ข้อมูลเข้ามาเป็นความรู้ เป็นความจริงล้วนๆ เพื่อการที่ทำความเข้าใจให้รู้แจ่มแจ้ง เป็นเรื่องของการรับรู้เข้ามาแล้ว ก็ใช้ปัญญาพิจารณาเกิดความรู้ความเข้าใจชัดเจน เป็นเรื่องข้อมูลสำหรับสติสำหรับระลึกขึ้นมาใช้ประโยชน์ต่อไป อันนี้ อาตมาเห็นว่าคงจะเป็นประโยชน์มาก ก็เป็นอันว่าสำหรับชีวิตส่วนตัว เราก็ไม่รับรู้ข้อมูลเข้ามาลักษณะที่จะเอาไปละเมอเพ้อพก หลงละเมอทำร้ายตัวเองเป็นต้น รับรู้เข้ามาก็ใช้ประโยชน์ได้จริงตามความมุ่งหมายของการรับรู้นั้น
ต่อไปส่วนที่ 4 บอกว่า อะนิสสิโต จะ วิหะระติ นะ จะ กิญจิ โลเก อุปาทิยะติ แปลว่าไม่ต้องอิงอาศัยขึ้นต่ออะไร เป็นอยู่อย่างไม่อิงอาศัย ที่จริงน่าจะแปลว่า เป็นอยู่อย่างไม่ขึ้นต่ออะไรก็ได้ ตอนนี้ถ้าบอกไม่ให้เป็น นิสิ อะนิสสิโตแปลว่า ไม่เป็นนิสสิ นิสสิ แปลว่าอะไร นิสสิ แปลว่าผู้ที่ต้องอาศัยเขาอยู่ หมายความว่าต้องอาศัยอาจารย์อยู่ นี่เป็นเรื่องวินัยนะ ทางวินัยให้มีนิสัย นิสสิ พระที่ถือนิสัยอย่างบวชเข้ามาอยู่กับอุปัฌาย์ที่เป็นนิสสิ ในภาษาไทยเราก็เอามาใช้กับผู้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ไปอยู่หอพัก มหาวิทยาก็เป็นนิสิต อะไรทำนองนี้ ในความหมายเดิมก็คือ นิสิส ก็คือผู้ถือนิสัย ก็คือการอยู่อาศัย การอุปัฌาย์อาศัยอาจารย์ นิสิตก็คือคนที่อยู่อาศัยนั่นแหละ ก็คือลูกศิษย์ ผู้อยู่อาศัยเพราะตัวเองยังไม่มีความรู้เพียงพอที่จะปกครองตนเองก็ต้องเรียนศึกษา กับพระอาจารย์ นี่เป็นเรื่องของวินัย เรื่องของความเป็นอยู่ในสังคม ในระบบการจัดระเบียบทางสังคม เป็นอย่างนั้น ให้เป็นนิสิตในสังคมในวินัย แต่ว่าในทางธรรม ให้เป็นอนิสิต ไม่เป็นนิสิต ให้สังเกตดูว่า ท่านบอกว่าไม่ต้องเป็นนิสิต ถ้าใครปฏิบัติสติปัฏฐาน แล้วไม่เป็นนิสิต คือไม่ต้องขึ้นต่อเขา ถ้าเป็นนิสิตยังขึ้นต่อครูอาจารย์ ในทางจิตใจเป็นนิสิต คือไม่ขึ้นต่อใคร นะ จะ กิญจิ โลเก อุปาทิยะติ ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดในโลก นี่ก็คือข้อความในส่วนที่สี่ นี่ก็คือลักษณะที่เป็นอิสระนั่นเอง ซึ่งถ้าคนที่ปฏิบัติสติปัฏฐานได้ถึงขนาดนี้ รู้เข้าใจจิตใจ รู้เข้าใจชีวิตตนเองแล้ว มันอยู่กับตัวเองได้ ซึ่งเป็นปัญหาของยุคปัจจุบัน คนจำนวนมากมีปัญหา ความว้าเหว่ในจิตใจ ใจพร่องใจโหว่ ใจกลวง เมื่อใจกลวง ใจโหว่ ใจว้าเหว่อ้างว้าง ก็เลยมีภาวะที่หนีตัวเอง อย่างที่ว่า อาตมาได้พูดมาแล้วในตอนต้นๆ ซึ่งเป็นปัญหาในยุคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศตะวันตกนี้ คนนี่มีจิตใจอ้างว้างว้าเหว่ กลวงใน และอยู่กับตัวเองไม่ได้ ไม่มีความสุข เมื่ออยู่กับตัวเองไม่ได้ก็หนีตัวเองไปหวังความสุขจากที่อื่น ก็เลยเป็นนิสิตไป แปลว่าต้องขึ้นกับผู้อื่น ความสุขของตนต้องไปฝากไว้ขึ้นกับต่อสิ่งภายนอก จะขึ้นต่อคนอื่น ขึ้นต่อสิ่งอื่น ขึ้นต่อรูป รส กลิ่น เสียง อะไรต่างๆ ภายนอก ฉะนั้น คนที่ปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานก็มีลักษณะที่ เมื่อไม่ขึ้นต่อสิ่งใด ก็เป็นอิสระอยู่กับตัวเองได้เต็มนัย ไม่หวังเอาจากใคร ไม่ฝากสุข ทุกข์ ไว้ที่ไหนๆ แต่มีสุขได้ในตนเอง ตลอดเวลา หรือในอีกนัยหนึ่ง ท่านบอกว่าไม่ต้องฝากสุขทุกข์ไว้กับตัณหาและทิฏฐิเป็นยังไงล่ะ คนธรรมดาต้องฝากทุกข์สุขไว้กับทิฏฐิความสุขของเรานี้ขึ้นต่อตัณหา คือความปรารถนา ปรารถนาสิ่งโน้น สิ่งนี้แล้ว ก็ไปขวนขวายดิ้นรส ทะยานเพื่อจะให้ได้สิ่งนั้น พอได้สิ่งนั้นมาสมปรารถนา ตัณหาก็พาสุขมาให้ ทิฏฐิก็เป็นอย่างไร คือความเห็นว่า เห็นยึดมั่น หลงไปตามสมมติบัญญัติ เราก็ยึดถือมั่นหมายในสมมตริบัญญัติ เป็นสิ่งนั้น คนนั้น เป็นสิ่งที่เราชอบ อันนั้น อันนี้ ยึดไปตามสมมติบัญญัติ แล้วสุขทุกข์ของเราก็ฝากไว้กับสมมติบัญญัติ ที่เรายึดถือนั่นแหละ มันก็พาเราไป ฉะนั้นตัณหาและทิฏฐินี้ จึงบอกว่าเป็นตัวกำกับ เราฝากความสุขทุกข์ไว้กับตัณหาและทิฏฐินั้น ตัณหาและทิฏฐิก็มาช่วยวาดภาพ ระบายสี เสริมแต่ง กล่อมให้เราเคลิ้มไปต่างๆ เนี่ยที่เราอยู่กันในโลกเนี่ย โดยมากให้สังเกตดูเถอะ ให้วิเคราะห์ดูแล้วจะเห็นว่าสภาพจิตใจคนนี้ ฝากความสุขทุกข์ไว้กับตัณหาและทิฏฐิ ให้มันมาวาดภาพระบายสีกล่อมเราตลอดเวลา และเราก็สุขทุกข์เต้นไปตามมัน ทีนี้พอเรารู้ทันด้วยสติปัฏฐานแล้ว เราสามารถที่จะเป็นอิสระจากตัณหาและทิฏฐิ มีความสุขจากการสงบระงับ ในเมื่อกิเลสเหล่านั้น ความร้อนรุ่น ภายในต่างๆ มันสงบระงับไป กลับอยู่เป็นสุขสบายด้วยตนเอง ด้วยความรู้ ด้วยความเข้าใจ ด้วยสตินี้ ฉะนั้น เรื่องสติปัฏฐานก็ทำให้เกิดผลที่ อยู่ในตัวพร้อมกับการปฏิบัติไปเลย พร้อมกับการที่เราปฏิบัติเกิดสติเกิดญาณนั้น ผลเกิดมาด้วยทันทีในตัว ไม่ต้องรอผล ถ้าเราหวังผลอย่างตัณหาและทิฏฐิ อันนั้นเราจะต้องรอ แล้วเราจะต้องถูกทรมานด้วยตัณหาและทิฏฐินั้นตลอดเวลาจนกว่าเราจะได้สำเร็จสมความมุ่งหมาย ก่อนนั้นก็ต้องล่อด้วยความหวัง อยู่ด้วยความหวัง ฝากความสุขและความหวัง รอความสำเร็จ บางทีก็อยู่ด้วยความทรมาน ก็จะไม่สุขไม่สมจนกระทั่งได้สำเร็จสิ่งที่ตัณหาและทิฏฐิวาดภาพไว้ข้างหน้า แต่ว่าถ้าหากว่าปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ความสุขเกิดขึ้นพร้อมกับความปฏิบัตินั้น มีปัญญารู้ทั่วชัด สว่างสไวมีความสงบ มีความแจ่มใสสดชื่น เบิกบานอยู่ภายใน ฉะนั้น สติปัฏฐานก็ให้ผลทั้งในแง่ปัญญา คือความรู้ปัญญาคือความรู้เข้าใจตามเป็นจริง แม้แต่ชีวิตประจำวัน ที่รับรู้ข้อมูลเข้ามา เป็นข้อมูลสำหรับปัญญาและสติจะใช้ประโยชน์ ไม่ถูกเคลือบแฝง และมีความบริสุทธิ์จิตใจนั้นเมื่อมีสติกำกับอยู่ มีปัญญารู้เท่าทัน ก็ไม่มีกิเลสเข้ามา ทำให้ขุ่นมัวเศร้าหมอง หรือเป็นจิตใจที่สกปรก จะไม่เป็นอย่างนั้น ที่ชัดเจนก็คือความเป็นอิสระที่ว่า อยู่ลำพังตัวเองก็มีความสุข มีจิตใจที่เป็นอิสระด้วยความรู้แจ้ง เข้าใจความจริง ไม่ขึ้นต่อปัจจัยภายนอก ที่จะมีความสุข หรือว่าความสุขของตนไม่ต้องขึ้นต่อกับสิ่งภายนอก ก็เลยเป็นการพ้นปัญหา เป็นการไร้ทุกข์อย่างที่ว่าเมื่อกี๊ มีสภาพจิตที่โปร่งเบา ผ่อนคลาย สงบ สดชื่น ผ่องใสเบิกบานได้ พอปฏิบัติได้ตลอดเวลา ภาวะจิตแบบนี้ก็มีได้ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน ทีนี้คนที่มีสติปัฏฐาน ปฏิบัติอย่างนี้เป็นฐานอยู่แล้ว ไปดำรงชีวิตอยู่ในโลก แม้จะไปได้รับอันตรายหรือโทษจากเรื่องตัณหาทิฏฐิเป็นต้นของตนเอง ซึ่งยังอยู่ในภาวะปุถุชน ก็ยังมีที่พักพิงที่หลบที่ซ่อน คือเวลาไหนที่มันเบียดเบียนเรานัก จากปัญหาเหล่านั้น จากกิเลสวุ่นวายเราก็มาพักด้วยสติปัฏฐานนี้ อันนี้ก็เป็นทางที่ใช้ได้ แม้แต่จะสลับกันการดำเนินชีวิตประจำวัน