แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ต่อไปก็ขอขึ้นสู่หัวข้อย่อย เรียกว่าหลักการปฏิบัติหรือการภาวนา จะปฏิบัติสติปัฏฐานอย่างไร ทีนี้ก็มีหลักการ อาตมาก็ขอสรุป เรื่องที่ควรทราบบางอย่างมาไว้ ก็เริ่มตั้งแต่ว่า คนที่ปฏิบัติควรรู้ความมุ่งหมายก่อน ความมุ่งหมายที่จริงควรจะพูดแต่ต้น แต่ตอนนี้เอามาว่าตอนหลังการปฏิบัติเพราะมันสัมพันธ์กับการปฏิบัติ ให้รู้ว่าควรจะตระหนักอยู่ว่า การปฏิบัติของเรานี้มีความมุ่งหมายอย่างไร ความมุ่งหมายในการปฏิบัติของสติปัฏฐานนั้น พระพุทธเจ้านั้นจะตรัสไว้แต่ต้นพระสูตรทีเดียว ที่บอกว่า เอกายะโน อะยัง ภิกขะเว มัคโค ภิกษุทั้งหลาย มังคานี้เป็นทางสายเอก เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความก้าวล่วงโสกะปริเทวะ คือการก้าวล่วงความเศร้าโศกและความพิไรรำพัน เพื่อความดับสลายไปแห่งทุกข์โทมนัสทั้งหลาย เพื่อลุถึงซึ่งธรรมที่ควรรู้คืออริยมรรค และเพื่อประจักษ์แจ้งซึ่งพระนิพพาน ท่านบอกว่าสติปัฏฐานนี้เป็นทางสายเอก ที่จะให้บรรลุผลต่างๆ อย่างที่ว่ามาทั้งหมดนี้
เวลาเราพูดสั้นๆ บางแห่งเราจะบอกว่า ถ้าหากว่าบำเพ็ญสติปัฏฐานนี้ครบบริบูรณ์ก็จะทำให้โพชฌงค์บริบูรณ์ เมื่อโพชฌงค์บริบูรณ์ก็จะเข้าถึงวิชชาวิมุติ เรียกว่าทำวิชชาวิมุติให้บริบูรณ์อย่างนี้ก็ได้ แต่ว่าในเมื่อพูดแบบแรกแล้วว่าเป็นทางสายเอกที่จะให้เกิดความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลายประจักษ์แจ้งพระนิพพาน มันก็รวมความมุ่งหมายนี้อยู่ในตัวหมด อาตมายังไม่อธิบายเนื้อความ ว่าถึงตัวหลักการปฏิบัติที่เป็นหลักใหญ่ๆ ก็ได้แก่ ตัวทำงาน และ อาการของผู้ปฏิบัติ ตัวทำงานนั้นเคยพูดไปแล้วว่าในการเจริญวิปัสสนา ตัวทำงานที่ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ได้พูดไปแล้ว ก็คือเอามาใช้งานในที่นี้อีก แต่ในที่นี้เห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องมาพูดในส่วนหัวข้อปลีกย่อย ตัวทำงานที่สำคัญในที่นี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในตัวพระสูตรเอง จะยกข้อความที่เป็นข้อปฏิบัติมาให้ดู อย่างในข้อปฏิบัติว่าด้วยกายานุปัสสนา ก็จะเริ่มด้วยว่า กาเย กายานุปัสสี วิหะระติ อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา วิเนยยะ โลเก อะภิชฌา โทมะนัสสัง บอกว่าตามดูรู้ทันกายในกายอยู่ อาตาปี คือความเพียร สัมปะชาโน คือสัมปชัญญะ สะติมา คือมีสติ วิเนยนยะ โลเก อะภิชฌา โทมะนัสสัง กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ อภิชฌาคือความติดใจอยากได้ โทมนัสก็คือความขัดเคืองไม่สบายใจ อันนี้ก็เป็นตัวหลักสำคัญที่เราจะมองเห็นว่า ตัวทำงานที่มีตลอดเวลาในนี้เป็นอย่างไร
ก็เป็นอันว่าในสติปัฏฐาน 4 นี้ ตัวหลักปฏิบัติที่ยืนอยู่เรื่อยก็ได้แก่อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา ซึ่งเราควรจะทำความเข้าใจ พร้อมทั้ง วิเนยนยะ โลเก อะภิชฌา โทมะนัสสัง ซึ่งมีกำกับอยู่กับข้อปฏิบัติทั้ง 4 หัวข้อ ทีนี้ทำความเข้าใจกันอย่างี่พูดมาแล้วนิดหน่อย บอกว่า ในการปฏิบัติบอกว่า มีสมาธิเป็นที่ทำงาน โดยที่ว่าเราทำจิตให้เป็นกัมมะนียะ เป็นจิตที่เหมาะกับงานอยู่แล้ว ก็เลยไม่พูดถึง ได้พูดมาแล้วย้ำแล้วย้ำอีกว่าสมาธิเนี่ยมีอยู่ แล้วเราก็ต้องการให้สมาธิเกิดขึ้นให้พอแก่การใช้งาน เป็นตัวรองรับการทำงานยิ่งมีสมาธิดี ก็ทำให้การทำงานของสติปัญญานี้ได้ผลมากขึ้น ในที่นี้ก็ถือว่ามันมีอยู่แล้ว ทีนี้ตัวทำงานที่เด่นในที่นี้มี 3 ตัวด้วยกัน คือ
อาตาปี ได้แก่ความเพียร อาตาปีนั้นมักแปลกันว่า มีความเพียรเผากิเลส เป็นชื่อเฉพาะอย่างหนึ่งของวิริยะหรือความเพียรนั้นเอง วิริยะหรือความเพียรนั้นมีหน้าที่สำคัญคือการหนุนให้เดินหน้า คือการจะทำอะไรก็ตามมันก็ต้องอาศัยความเพียร ถ้าไม่มีความเพียรก็เดินรุดหน้าไปไม่ได้ ความก้าวหน้าการที่จะทำต่อไปนี้ ต้องอาศัยความเพียรเป็นตัวเร้า เป็นตัวหนุนเป็นตัวเร่ง ในการเจริญวิปัสสนาก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องมีตัววิรยะความเพียรนี้ มาช่วยให้เดินหน้าไปในการปฏิบัติ และตัวหลักตามมาก็คือสัมปะชาโน คือมีสัมปชัญญะ คือมีตัวปัญญา สัมปชัญญะนี่แหละเป็นตัววิปัสสนา เป็นตัวที่ทำให้ได้ผลของการเจริญสติปัฏฐานอย่างแท้จริง คือปัญญาที่รู้ชัดตามเป็นจริง กำกับกับสติ
ซึ่งพูดต่อมาก็สติมา มีสติ สติก็เป็นตัวเด่นของสติปัฏฐาน เป็นตัวกำหนดจับอารมณ์ที่ป้อนให้แก่ปัญญา ซึ่งตรึงอารมณ์นั้นไว้ให้ปัญญาดู ตาปัญญานั้นหรือตาของใจหรือปัญญานั้น จะได้มองเห็นความเป็นจริงได้ สตินี้ มองในแง่เทียบกับปัญญา ปัญญาหรือสัมปชัญญะนั้นเป็นวิปัสสนา สตินี้ก็เป็นฝ่ายสมาธิ หรือเป็นฝ่ายสมถะ นี่ก็เป็นตัวทำงานที่เด่น ทีนี้เมื่อเรามีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสตินี้แล้ว พร้อมกันนั้นผลที่พุ่งมาพร้อมกันนี้ เมื่อเรามีสติ มีสัมปชัญญะตลอดเวลา ก็จะมีอาการเป็นผลพ่วงอยู่ด้วย ในการปฏิบัติตลอดเวลา ก็คือว่า กำจัดอภิชฌาโทมนัสในโลกเสียได้ คือความพอใจขัดใจ ความติดใจ ความขัดใจอะไรต่างๆ จะไม่มี ซึ่งมันจะเป็นภาวะเป็นไปเองถ้าเราปฏิบัติถูก ท่านก็เลยพูดกำกับไว้ด้วย เรื่องของอภิชฌาโทมนัสหรือความพอใจขัดใจติดใจ บางทีท่านก็เรียกว่า ความยินดียินร้าย เรียกว่าโทมนัส เรียกว่าอะไรก็ตามแต่ ให้รู้เข้าใจสภาวะอย่างนี้ การที่เรากำจัดอภิชฌาโทมนัส ภาวะติดใจอะไรต่างๆอย่างนี้ไปได้ ในการปฏิบัติ ระหว่างปฏิบัตินี้ เป็นภาวะที่เรียกว่าชั่วคราว คือเราก็มีภาวะที่กำจัดกิเลสได้ชั่วคราวเกิดขึ้น ซึ่งภาษาพระท่านเรียกว่า ตทังคะ กับ วิขัมภนะ คือเป็นการละได้ชั่วคราวโดยที่มีองค์ธรรมอยู่แทนเป็นตัวกุศล ก็ทำให้อกุศลเกิดไม่ได้ หรือว่าเป็นการที่ว่าตัวองค์ธรรมนั้น อย่างสมาธิมาข่มตัวกิเลสไว้ กิเลสนั้นก็ปรากฏตัวทำงานไม่ได้ อีกอันหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตก็คือว่า ในแต่ละหมวดนี้ จะมีข้อความซ้อนกันบอกว่า ตามดูรู้ทันกายในกาย ตามดูรู้ทันเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ตามดูรู้ทันจิตในจิต ตามดูรู้ทันธรรมในธรรมทั้งหลาย สงสัยว่ารู้กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมอย่างไร ก็เลยอธิบายกันไปต่างๆ ก็เป็นปัญหาอันหนึ่งของผู้ปฏิบัติที่สงสัยกันอยู่เรื่อง ก็ถือโอกาสอธิบายนิดหน่อย ในหนังสืออรรถกถา ท่านจะอธิบายกายในกาย เวทนาในเวทนา ทั้งหลายอะไรเหล่านี้ ไว้ทั้ง 4-5 นัยด้วยกัน ที่อาตมาเห็นว่าควรรู้เป็นหลักสำคัญก็มีอยู่ 2 นัยก็คือว่า รู้ชัดกายในกาย หรือตามดูรู้ทันกายในกายเนี่ย กายในกายก็หมายความว่าเรารู้ทันในกายว่าเป็นกาย หมายความรู้ตรงสภาวะ รู้ตามเป็นจริงของมัน เพราะว่าวัตถุประสงค์ของวิปัสสนานั้นคือรู้ตามเป็นจริง รู้อย่างที่มันเป็น ดังนั้น ในกายก็รู้ว่าเป็นกาย หมายความว่าไม่ใช่รู้ในกายเป็นอย่างอื่น เช่น รู้ในกายเป็น นาย ก. กลายเป็นว่ามองเห็น นายก.ไปซะ หรือมองเห็นเป็นสัตว์เป็นบุคคล ได้ชื่อว่าไม่รู้สภาวะ รู้ในกายก็เป็นกาย รู้ในเวทนาก็เป็นเวทนา ไม่ใช่เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่เกิดความหลงไปตามสมมติบัญญัติเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา อันนี้เรียกว่ารู้ทันกายในกาย อันนี้เป็นการที่ว่าปฏิบัติธรรมให้จนเข้าถึงความหยั่งรู้แจ้งสภาวะ มีคำกล่าวอันหนึ่งบอกว่า สิ่งที่ดูมองไม่เห็น กลับไปเห็นสิ่งที่ไม่ได้ดู อันนี้เป็นคำที่กล่าวไว้เก่าๆ เป็นอย่างไร? คือว่า มองดูกาย แต่ไปเห็นเป็นนาย ก. หมายความว่า ไม่ได้เห็นตามสภาวะที่เป็นจริงแต่ไปเห็นตามสมมติแล้ว เรียกว่าสิ่งที่มองดู มองไม่เห็น คือ สิ่งที่มองดูนั้นคือกาย แต่ไม่เห็นคือไม่เห็นกาย กลับไปเห็นที่ไม่ได้ดูคือไปเห็นนาย ก. อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็คือเรียกว่าเกิดความหลงผิดขึ้นมา ทีนี้ในการปฏิบัติธรรม ท่านต้องการให้ดูให้รู้เข้าใจ สภาวะที่เป็นจริง รู้รูป รู้นาม รู้อะไรต่างๆเหล่านี้ นี่ก็แง่หนึ่ง อีกนัยหนึ่งก็คือ การรู้กายส่วนย่อยในกายส่วนใหญ่ คือว่า เวลาเราพิจารณานี้ เราจะดูแต่ละส่วนที่เราดูกาย เราก็ดูการเคลื่อนไหวแต่ละอย่าง หรือดูส่วนประกอบของร่างกายที่แยกเป็นอวัยวะต่างๆ แสดงไว้เป็นส่วนย่อย ดูกายที่เป็นส่วนย่อยซึ่งประชุมอยู่ในส่วนใหญ่อีกทีหนึ่ง ฉะนั้นก็กลายเป็นการแยกแยะจำแนกวิเคราะห์ออกมาให้เห็นกายส่วนใหญ่นี้ ซึ่งเมื่อแยกออกไปแล้ว แจกแจงออกไปแล้ว จะเป็นส่วนย่อยลงไปตามลำดับจนกระทั่งว่า ไม่มีอะไรเหลือ อันเปรียบเทียบเหมือนกับว่ามีต้นกล้วย เราลอกกาบออกไปทีละชั้นๆผลที่สุดหมดไม่มีเหลือต้นกล้วยเลย นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราเรียกว่า กาย เวทนา จิต ธรรม มันเกิดจากส่วนย่อยต่างๆ ถ้าเราพิจารณาแต่ละส่วนแล้วแยกแยะออกไปก็ไม่เหลือสิ่งที่เป็นตัวสมมติบัญญัตินั้น นี่ก็เป็นความหมายอันหนึ่งที่อาตมานำมาชี้แจงให้ (จบ)