แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ตอนนี้ก็อยากจะพูดถึงข้อสังเกตทั่วๆไป เมื่อกี๊นี้บอกแล้ว บอกว่า ตอนกายานุปัสสนานั้น เท่ากับว่าท่านเนี่ยได้ให้เราพิจารณาดูชีวิตในส่วนร่างกายของเราทั่วตลอดทั้งหมด ทีนี้มาครบสติปัฏฐาน 4 เวทนา จิตตา ธัมมาเนี่ย ก็เป็นการที่ตรวจพิจารณาชีวิตนั้นต่อไปอีกจากกายไปจนถึงทุกส่วนของชีวิตหมดเลย ทีนี้ก็คือว่าดูกายทั้งหมดแล้วลึกลงไปถึงเวทนาที่เนื่องกับกายนั้น แล้วก็ตามเข้าไปถึงจิตใจแล้วก็ตามเข้าไปดูในจิตก็คือธรรมะ พอถึงขั้นนี้ก็เป็นอันว่าหมดสิ้นทุกส่วน ทุกด้าน ทุกชั้น ทุกระดับของชีวิตแล้ว นี่แหละที่ว่าเรารู้จักชีวิตจิตใจเราเองทั้งหมดแล้ว อาตมายกตัวอย่าง ทำไมเราดูหมด ที่จริงสี่อย่างนี้มันเนื่องกันมันเป็นไปโดยที่ว่าต่อกันไปเลย แล้วดูตามไปเนี่ย เราจะเห็นชีวิตหมดทุกด้าน เช่นว่า เราดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย ดูกายเคลื่อนไหวไป จะทำอะไรสักอย่าง กายเคลื่อนไหวไป กายเคลื่อนไหวเราก็มีกายานุปัสสนา รู้ชัดในการเคลื่อนไหว มีสัมปชัญญะมีสติ ทีนี้ในเมื่อเราเคลื่อนไหว ก็จะมีความรู้สึกเป็นเวทนาเกิดขึ้น บางครั้งจะมีความรู้สึกเป็นสุขสบาย พอสุขเวทนาเกิดขึ้น เราก็ตามดูรู้ทันเวทนาที่เป็นสุขนั้น พอเราเกิดความสุข มีความสุขสบายเกิดขึ้นในร่างกายนั้น จิตใจของเรามีสภาพเป็นอย่างไร จิตใจของเราอาจจะเกิดความพอใจ เกิดความชอบใจขึ้นมา พอเกิดความชอบใจเราก็ดูสภาพจิตของเรา ว่า จิตของเราขณะนี้ เป็นจิตที่มีโลภะ มีความชอบใจเกิดขึ้นแล้ว พอดูสภาพจิตใจของเรา จิตใจของเราเป็นอย่างนี้แล้ว ลึกเข้าไปอีกขั้นคืออะไร ก็ไปดูว่าตัวความชอบใจไม่ชอบใจในใจของเรานั้นอีกทีหนึ่ง ตอนนี้ให้สังเกตดูความแตกต่าง เมื่อกี้นี้ดูจิตใจ ก็คือดูสภาพจิตใจว่าจิตใจนี้ไม่ชอบใจมีความไม่ชอบใจ ทีนี้อีกที อีกชั้นหนึ่งคือ ไปดูตัวความชอบใจที่อยู่ในใจของตัวเอง ตัวความชอบใจนั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ยกตัวอย่างเช่น ใจเวลานั้นมีโทสะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ การที่รู้ว่าจิตมีโทสะนั้นคือ เป็นจิตตานุปัสสนา รู้เท่าทันจิต ทีนี้เราตามเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ไปดูตัวโทสะในใจนั้น การที่ดูตัวโทสะในใจนั้นคือธัมมานุปัสสนา เพราะว่าโทสะนั้นเป็นตัวธรรมะ เท่ากับว่า เวลาดูสติปัฏฐานเนี่ย เราสามารถดูเป็นลำดับไป จากเรื่องเดียวกันตลอดจะเห็นสติปัฏฐานครบทั้ง 4 ชั้นทีเดียว มองลึกลงไปๆ เห็นเป็นลำดับเนื่องกันลงไป ตั้งแต่กายานุปัสสนาไปจนถึงธัมมานุปัสสนา เป็นอันว่าจบทีเดียว ตอนนี้จะมีข้อสังเกตเพิ่มอีกว่า การที่ท่านวางจากกายานุปัสสนา ไปเป็นเวทนา จิตตา ถึงธัมมานุปัสสนาเนี่ย เป็นการที่ทำให้เราเห็นได้ว่า ระบบของสติปัฏฐานเนี่ย เริ่มจากสมถะไป คือเริ่มจากกายานุปัสสนา กำหนดตั้งแต่ลมหายใจเข้าออก การที่กำหนดการหายใจเข้าออกก็เป็นการเริ่มจากสมถะ โดยทำจิตให้เป็นสมาธิก่อนแล้วก็เข้าสู่วิปัสสนา เพราะฉะนั้น ระบบสมถะนี้เป็นลำดับที่เริ่มจากสมถะไปหาวิปัสสนา เพราะฉะนั้นการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานนี้ เป็นเรื่องของความเป็นลำดับต่อเนื่อง ทั้งในแง่ที่ว่าจากสมถะไปสู่วิปัสสนา และในแง่ที่ว่าจากหยาบไปหาละเอียด ถ้าเรามองดูอีกแง่หนึ่ง พร้อมกับการที่ว่าจากสมถะไปสู่วิปัสสนาก็คือ จากหยาบไปสู่ละเอียดด้วย จากร่างกายไปที่เป็นส่วนหยาบไปหาเวทนา จิต ธรรม ซึ่งละเอียดอ่อนลงไปตามลำดับ
ต่อไปอีกข้อสังเกตหนึ่งก็คือว่า เรื่องแยกระหว่างจิตตานุปัสสนากับธัมมานุปัสสนา ขอย้ำอีกทีหนึ่งเมื่อกี้ก็พูดไปแล้ว อาตมาก็อยากให้ชัดเจน ก็เลยตั้งเป็นข้อสังเกตแยกออกมาต่างหากว่า จิตตานุปัสสนานั้นดูภาวะหรือสภาพจิตที่มีความชอบ ความชัง มีกุศล อกุศลธรรมอยู่ข้างใน ดูภาวะจิตนั้น ดูสภาพจิตนั้น ที่มีความชอบ ชังเป็นต้น มีอกุศล กุศล นั้นอย่าง แต่ทีนี้ ธัมมานุปัสสนานั้น ไม่อย่างนั้น ดูธรรมที่อยู่ในจิตอีกทีหนึ่ง คือดูกุศล หรืออกุศลธรรม หรือดูความชอบ ความชัง ที่อยู่ในจิตนั้น เนี่ยสองตอนถ้าแยกกันได้ จะรู้จะเข้าใจจิตตานุปัสสนาและธัมมานุปัสสนา ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องเดียวกันนั่นแหละ ดูสภาพจิต กลายเป็นจิตตานุปัสสนา ดูสิ่งที่อยู่ในจิตนั้นก็เป็นธัมมานุปัสสนาไป ทีนี้ธัมมานุปัสสนานั้นก็ลงลึกไปอีก ตอนแรกเราดูสภาพจิต จากนั้นเราก็ลงไปหาว่า สิ่งที่อยู่ในจิตใจนั้นมันเป็นอย่างไร มันคืออะไร เราก็จะรู้จะเข้าใจหมด ก็เป็นอันว่า เรื่องของสติปัฏฐานนี้ก็เป็นการมารู้จักตัวเอง รู้จักชีวิตของตนเอง อย่างที่กล่าวเบื้องต้นแล้วทั้งสัมผัสกับมันและรู้จักมันด้วย เราสัมผัสจิตใจของเราแล้ว เรายังได้รู้จักชีวิตจิตใจของเราด้วย นี่เป็นแง่หนึ่งแต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่งล่ะ ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง มันเป็นการเอาชีวิตของตัวเอง หรือส่วนต่างๆของชีวิตที่เรามีอยู่กับตัวเนี่ย มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เมื่อกี๊นี่เรามารู้จักตัวเอง แต่พร้อมกับการรู้จักตัวเองนั้น เราเอาชีวิตของเรามาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วย มาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างไร ก็คือเป็นการใช้ประโยชน์ชีวิตของเราในการบรรลุธรรม ชีวิตของเราเองเนี่ย เราเอามาเป็นเครื่องมือเป็นอุปกรณ์ ในการทำให้เกิดปัญญา ทำให้เกิดการบรรลุธรรม จนกระทั่งถึงบรรลุอรหันตผลเป็นพระอริยบุคคลก็ได้ หรือแม้แต่ว่า เราจะมองง่ายๆว่า เป็นการใช้ชีวิตของตนเองนี้ เป็นเครื่องมือหรือเป็นฐานในการพัฒนาตนเองของเราก็ได้ อันนี้ก็เป็นแง่มุมในการมองเรื่องสติปัฏฐาน