แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ก็มาถึงหมวดใหญ่ที่ 2 คือหมวดว่าด้วยการตามดูรู้ทันเวทนาซึ่งเรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติตามดูรู้ทันเวทนาคือความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือความรู้สึกสบายไม่สบาย ตลอดจนความรู้สึกที่เฉยๆ ซึ่งท่านเรียกว่าไม่สุข ไม่ทุกข์ อันนี้ท่านก็จะให้ข้อแนะนำวิธีปฏิบัติเช่นบอกว่า เมื่อเสวยเวทนาที่เป็นสุข ก็รู้ชัดว่าเสวยเวทนาที่เป็นสุข ต่อไปก็เช่นเดียวกัน เมื่อเสวยเวทนาที่เป็นทุกข์ ก็รู้ชัดว่าเสวยเวทนาที่เป็นทุกข์ เมื่อเสวยเวทนาที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ เฉยๆ ก็รู้ชัดว่าเสวยเวทนาที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ ต่อจากนั้นก็ไปถึงว่า เมื่อเสวยเวทนา ที่เป็นสุข และเป็นสามิส ก็คือว่า อาศัยอามิส ต้องอาศัยรูป เสียง กลิ่น รส ภายนอกมาเป็นเหยื่อล่อ ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนาเป็นสุขที่อาศัยอามิส หรือว่าเสวยเวทนาที่เป็นสุข ไม่อาศัยอามิส เราเรียกว่าเป็น นิรามิส ก็รู้ชัดว่าเสวยเวทนาที่เป็นสุข ที่ไม่อาศัยอามิส อย่างที่ยกตัวอย่างเมื่อกี้ เช่นว่า ทำสมาธิเนี่ย เมื่อจิตสงบเป็นสมาธินี้เกิดความสุขขึ้นมา สุขนั้นไม่อาศัยอามิส เพราะไม่ต้องอาศัย รูป เสียง กลิ่น รส ที่เป็นเหยื่อเข้ามา เป็นความสุขภายในเอง ต่อจากนี้ก็มีเรื่องเวทนาที่เป็นทุกข์ ที่เป็นสามิส อาศัยอามิสที่เป็นนิรามิส ไม่อาศัยอามิส แล้วก็เวททนาที่เป็นอทุขมสุข ไม่สุข ไม่ทุกข์เฉยๆ อาศัยอามิสก็ดี ไม่อาศัยอามิสก็ดี อย่างไหน เวทนาหรือความรู้สึกอันไหนเกิดขึ้นมาก็รู้ชัด ตามที่มันเป็นอย่างนั้นๆ นี่เรียกว่าเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ต่อไปก็หมวดที่ 3 คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติตามดูรู้ทันจิตใจ ก็คือรู้เท่าทันสภาพจิตของตนเอง ท่านก็จะอธิบายแยกแยะออกไปมากมาย มีถึง 16 หัวข้อย่อยด้วยกัน ซึ่งเราไม่จำเป็นจะต้องจำ อาตมาพูดให้ฟังแล้วจะได้ความเข้าใจทีเดียวว่า ท่านหมายถึงสภาพจิตต่างๆ อาตมาจะพูดให้ฟังพอให้ผ่านๆอย่างที่ว่า จิตมีราคะก็รู้ชัดจิตที่มีราคะ จิตไม่มีราคะก็รู้ชัดจิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะก็รู้ชัดว่าจิตมีโทสะ จิตปราศจากโทสะก็รู้จัดว่าจิตไม่มีโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ชัดว่าจิตมีโมหะ จิตปราศจากโมหะก็รู้ชัดว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ชัดว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ชัดว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตถึงขั้นระดับฌานก็รู้ชัดว่าจิตถึงระดับฌาน จิตที่ไม่ถึงระดับฌานก็รู้ชัดว่าไม่ถึงระดับฌาน จิตที่เป็นจิตของปุถุชน เป็นระดับปุถุชนก็รู้ชัดว่าเป็นจิตอย่างนั้น จิตที่เป็นจิตพระอริยบุคคล เป็นถึงพระอรหันต์ก็รู้ชัดว่าเป็นจิตอย่างนั้น จิตตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น จิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ท่านก็แจกแจงไปก็คือรู้สภาพจิตของตนมันเป็นยังไงก็รู้อย่างนั้นตามความเป็นจริง ก็ขอผ่านไป ให้ความเข้าใจพื้นฐานไว้เท่านั้น
หมวดที่ 4 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติตามดูรู้ทันธรรม แบ่งเป็น 5 หมวดใหญ่ด้วยกัน อย่างที่ได้บอกชื่อมาแล้ว มีหมวดนิวรณ์ หมวดขันธ์ห้า หมวดอายนตนะหกคู่ หมวดโพชฌงค์ หมวดอริยสัจ เริ่มตั้งแต่หมวดว่าด้วยนิวรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องฝ่ายกิเลศ หรืออกุศล ก็บอกว่า ตามดูรู้ทันธรรมในธรรมทั้งหลาย คือในนิวรณ์ทั้ง 5 ท่านได้แยกไปว่า นิวรณ์5 มีอะไรบ้าง มีกามฉันทะ ความพอใจติดใจอยากได้ พยาบาท ความขัดเคือง ไม่พอใจ หรือความแค้นเคืองต่างๆ ถีนมิทธะ ความหดหู่ ซึมเซา อุทธัทจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยตัดสินใจไม่ได้ ห้าอย่างนี้ท่านก็บรรยายทีละอย่าง กามฉันทะมีอยู่ภายใน ก็รู้ชัดว่ากามฉันทะมีอยู่ภายใน กามฉันทะไม่มีอยู่ในภายใน ก็รู้ชัดว่ากามฉันทะไม่มีอยู่ภายใน กามฉันทะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นอย่างไรก็รู้ชัดอาการที่เป็นอย่างนั้น อาการที่กามฉันทะที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น กามฉันทะที่เกิดขึ้นละไปได้อย่างไรก็รู้ชัดตามที่ละได้อย่างนั้น กามฉันทะที่ละได้แล้วไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปได้อย่างไร ก็รู้ชัดความที่เป็นอย่างนั้น นี่เป็นตัวอย่าง ต่อไปนิวรณ์ข้ออื่นๆ สี่ข้อก็แบบเดียวกัน ให้เห็นวิธีการพิจารณา คือตามดูรู้ทันสภาพจิตของตัวเองซึ่งมีกิเลสต่างๆที่เรียกว่านิวรณ์ห้าอย่าง แต่ละอย่างเกิดขึ้น อะไรมันมีอยู่ก็รู้ว่ามันมีอยู่ อะไรมันไม่มีก็รู้ว่ามันไม่มี มันเกิดขึ้นอย่างไร มันละดับไปได้อย่างไร มันไม่เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็รู้ไปตามทัน ตามที่เป็นจริงอย่างนั้น อาตมาให้ข้อสังเกตนิดหน่อย คือเรื่องนิวรณ์จะปรากฏอยู่เสมอในการปฏิบัติธรรม อย่างในเรื่องการบำเพ็ญสมถะ ทำสมาธินั้น ก่อนที่สมาธิขั้นที่จะถึงฌาน แม้แต่ขั้นที่เรียกว่าอุปจารสมาธิ ซึ่งเป็นขั้นเฉียดๆเนี่ย สมาธินั้นจะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อนิวรณ์สงบ เพราะฉะนั้น นิวรณ์นั้นจะมีบทบาทมาก มาถึงเรื่องวิปัสสนานี้เราก็มาพูดถึงอีก มาตามดูรู้เห็นมัน เพราะฉะนั้นก็ควรจะกำหนดจดจำไว้เป็นการดี ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ข้อกามฉันทะกับพยาบาท กามฉันทะนั้นแปลตามตัวนั่นแปลว่าความพอใจในกาม จะพาให้เข้าใจผิดคือคำว่ากามในภาษาพระนั้นไม่ได้หมายถึงกามอย่างที่เราพูดในภาษาไทย พูดง่ายๆ กามฉันทะคือความชอบใจ รูป เสียง กลิ่น รส หรืออารมณ์ต่างๆ ความชอบใจอารมณ์อะไรก็ตามก็เป็นเรื่องกามฉันทะ พูดง่ายๆก็คือความชอบใจ พยาบาทก็ไม่ใช่ว่าจะต้องไปอาฆาตแค้นเคืองผูกใจอะไรต่างๆ พยาบาทนี่เป็นเพียงความขัดใจ ความไม่ชอบใจ เกิดขึ้นเรื่องว่าความพยาบาท ในกามฉันทะคือความชอบใจ พยาบาทคือความไม่ชอบใจ นี่เป็นเรื่องการเข้าใจความหมาย พวกนี้เป็นนิวรณ์ ไม่ว่าอยู่เหนือระดับละเอียดอ่อน เล็กน้อย หรือว่าแรงขึ้นก็ตาม มันก็จะเป็นอุปสรรคมารบกวนจิตใจได้ทั้งสิ้น
ข้อพิจารณาในหมวดต่อไปของธัมมานุปัสสนา ก็คือเรื่องของขันธ์ห้า ท่านก็บอกว่า ตามดูรู้ทันธรรมในธรรมทั้งหลายคือในอุปาทานขันธ์ห้า ขันธ์ที่เป็นที่ตั้งของอุปาทานห้าประการ ขันธ์ห้ามีอะไรบ้างก็คือพูดไปแล้ว มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปก็คือรูปธรรม ส่วนร่างกาย เวทนาความรู้สึกสุขทุกข์เฉยๆ สัญญาก็คือความจำได้หมายรู้ ข้อมูลความคิด สังขารก็คือตัวกระบวนความคิดและคุณสมบัติที่ปรุงแต่งความคิดนั้นทั้งดีทั้งชั่ว และวิญญาณ ตัวความรู้ที่เข้ามาทางอายตนะ ทิศทางรับรู้ทั้งหกทาง ให้ตามดูรู้ทันเรื่องเบญจขันธ์นี้ หรือขันธ์ห้านี้ตั้งแต่เรื่องก็แยกไปทีละอย่างตั้งแต่รูป ว่ารูปคืออย่างนี้ การเกิดขึ้นของรูปคืออย่างนี้ การดับไปของรูปเป็นอย่างนี้ ต่อไปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เช่นเดียวกัน
ต่อไปหมวดที่ 3 ก็คือเรื่องอายตนะหกคู่ คือภายในหก ภายนอกหก จะบอกว่า ตามดูรู้ทันธรรมทั้งหลาย คือในอายตนะทั้งภายในและภายนอกทั้งหกคู่ด้วยกัน ท่านก็บรรยายอายาตนะภายในหก ภายนอกหก มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ภายใน ส่วนภายนอกก็รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสกาย และความรู้สึกนึกคิดในใจ เรื่องราวที่รู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ก็ตามดูรู้ทัน ยกตัวอย่างก็ ตามาเป็นคู่กับรูป ก็รู้ชัด ตาก็รู้ รูปก็รู้ และสังโยชน์ที่เกิดขึ้นได้อาศัยตากับรูปนั้นก็รู้ อันนี้ สังโยชน์จะต้องทำความเข้าใจ สังโยชน์เป็นชื่อของกิเลสที่ผูกมัดใจ มี 10 ประการ ในที่นี้จะไม่แจกแจง ให้รู้ว่าเป็นกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ไว้กับความทุกข์ ไว้กับสังสารวัฏก็ได้ เอาเป็นว่าสังโยชน์ก็คือกิเลส กิเลสที่เรียกว่าสังโยชน์นี้มันอาศัยตากับรูปเกิดขึ้น ก็รู้จักมัน รู้ทันมัน รู้สังโยชน์ที่เกิดขึ้น เวลาเรามีตามองเห็นรูปแล้ว เกิดกิเลสอะไรขึ้นมา เกิดความพอใจเป็นต้น ก็รู้ธรรมในตัวกิเลสนั้น สังโยชน์นั้นที่ยังไม่เกิด มาเกิดขึ้นอย่างไร ก็รู้ สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วละไปได้อย่างไรก็รู้ สังโยชน์ที่ละไปแล้วจะไม่เกิดขึ้นได้อีกต่อไปอย่างไรก็รู้ ต่อไปก็อย่างเดียวกัน หู เสียง จนกระทั่งถึงใจกับธัมมารมณ์ ก็รู้ตามนั้น นี่ก็คือการรู้เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของตนเอง อาตมาจะผ่านไปก่อน ตอนนี้จะยังไม่ประมวลความให้ฟัง เอารายละเอียดเสียก่อน
ต่อไปหมวดที่ 4 ก็เป็นเรื่องของโพชฌงค์ ซึ่งอยู่ในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมือนกัน บอกว่า ตามดูรู้ทันธรรมในธรรมทั้งหลาย คือในโพชฌงค์ 7 ประการ โพชฌงค์คือองค์ธรรมที่เป็นส่วนประกอบของการตรัสรู้ 7 ประการ มีสติ ความระลึกได้ ธัมมวิจยะ คือการวิจัยหรือเฟ้นธรรม วิริยะ ความเพียร ปิติความอิ่มใจ ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย สงบเย็นกายใจ สมาธิคือความมีใจตั้งมั่น อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง เรียบ สงบ เอามาพิจารณาในที่นี้ก็คือว่า โพชฌงค์ที่เป็นกุศลธรรมดีๆเหล่านี้เกิดขึ้นในใจเราก็รู้ทัน ทีนี้เรารู้อาการของมันทุกอย่าง ตั้งแต่มีไม่มีแล้วมันเกิดขึ้น หรือมันจะเต็มบริบูรณ์อย่างไร ท่านก็ให้รู้ ท่านก็เลยบรรยายว่า สติสัมโพชฌงค์ มีอยู่ภายในก็รู้ว่าสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ภายในของเรา สติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ภายในก็รู้ว่าสติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ภายในเรา สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้นเกิดขึ้นอย่างไรก็รู้ชัดอย่างนั้น สติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วเจริญเต็มบริบูรณ์ได้อย่างไรก็รู้ชัดอย่างนั้น ต่อไปก็บรรยายถึง โพชฌงค์ข้ออื่นจนกระทั่งครบ 7 อย่าง นี่ก็ให้เห็นวิธีการพิจารณาหรือตามดูของท่าน
ต่อไปก็หมวดที่ 5 หมวดสุดท้าย ก็เป็นเรื่องของอริยสัจ 4 ก็บอกว่า ตามดูรู้ทันธรรมในธรรมทั้งหลาย คือในอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ก็เริ่มตั้งแต่ว่ารู้ชัดตามเป็นจริงว่านี่เป็นทุกข์ รู้ชัดตามเป็นจริงว่านี่เป็นทุกขสมุทัย เหตุเกิดแห่งทุกข์ รู้ชัดว่านี่เป็นทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ รู้ชัดว่านี่เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นข้อปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับทุกข์ หรือมรรค นี่ก็รู้ชัดตามเป็นจริง ก็คือว่า อะไรที่มันมีอยู่ ที่มีอยู่ในจิตใจของเราที่เป็นทุกข์ ก็รู้ว่าอันนี้เป็นทุกข์ อันไหนเป็นสมุทัย ก็รู้ว่าเป็นสมุทัย อันนี้ก็เป็นการรู้ตามเป็นจริงแง่หนึ่ง คือบางทีเรื่องเดียวกันนั่นแหละ จะพิจารณาในแง่เป็นนิวรณ์ก็ได้ มองในแง่สมุทัยก็ได้ เหมือนอย่างว่า กามฉันทะเนี่ย เกิดขึ้นในใจ เมื่อกี้นี่เราพิจารณาว่ากามฉันทะมีอยู่ในใจเราหรือว่าไม่มี ก็รู้ตามความเป็นจริงเกิดขึ้นอย่างไร ละไปได้อย่างไร ก็รู้ชัดไปตามนั้น ตอนนี้เรารู้ชัดอย่างกามฉันทะนี่ เรามีกามฉันทะ เราก็ตรวจดูในแง่ของอริยสัจ เราก็บอกได้ว่า อันนี้เป็นทุกขสมุทัย กามฉันทะนี่เป็นทุกขสมุทัย มีธรรมะข้อไหนมาเหรอ เอามาสิเราบอกได้เลยว่านี่เป็นทุกข์ อันนี้เป็นสมุทัย อันนี้เป็นนิโรธ อันนี้เป็นมรรค จะมีความสงบใจเกิดขึ้น ภาวะว่างไม่มีกิเลส เราก็บอกได้ว่าอันนี้เป็นทุกขนิโรธ ถ้าหากว่าเกิดมีตัวศรัทธาขึ้นมา หรือมีความเพียรขึ้นมาที่ถูกต้อง เราก็บอกว่า อันนี้เป็นมรรคอย่างนี้เป็นต้น อันนี้เป็นทุกข์ อันนี้เป็นทุกขสมุทัย อันนี้เป็นนิโรค อันนี้เป็นมรรค
ต่อจากนี้พระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าขยายความเรื่องอริยสัจนี้ยาวที่สุด ขยายความตั้งแต่ ทุกข์เป็นอย่างไร พระองค์ก็ขยายความไป เมื่อกระจายความไปแล้วว่าทุกข์คืออะไร และยังให้คำจำกัดความแต่ละอย่างนั้นอีกเช่นบอกว่า ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ไปแล้ว พระองค์ก็ไปขยายความอีกว่า ชาติคืออะไร ชราคืออะไร มรณะคืออะไร แต่ละอย่างให้คำจำกัดความหมด ก็เลยทำให้สูตรนี้ยาวมาก ในตอนที่ว่าด้วยอริยสัจสี่ ต่อไปก็จะบอกว่าทุกขสมุทัยอริยสัจคืออะไร จะได้พูดถึงตัณหา ก็แยกขยายตัณหาไป ก็พูดถึงที่เกิดที่ดับของตัณหานั้น ซึ่งจะกระจายไปถึงเรื่องปิยรูป สาตรูปถึง 60 ประการด้วยกัน ก็เลยยืดยาวมาก พอจบเรื่องนี้ไปแล้ว ก็จะไปถึงทุกขนิโรธ ก็จะตั้งคำถามว่าทุกขนิโรธนั้นเป็นอย่างไร ก็จำกัดความให้ความหมายถึงความดับตัณหา และถึงว่าที่ไหนที่ตัณหาจะดับไปก็จะพูดถึงการที่ว่าตัณหาเกิดขึ้นที่ไหนก็ดับไปที่นั่น พูดถึงปิยรูป สาตรูปอันเป็นที่เกิดที่ดับ อันเป็นที่ดับของตัณหาเหล่านั้น เป็นที่ละของตัณหาเหล่านั้น สุดท้ายก็จะพูดถึงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ก็คือข้อมรรค และจะให้ความหมายของมรรคนั้นว่าได้แก่มรรคมีองค์ 8 ประการ มี สัมมาทิฏฐิ จนกระทั่งถึงสัมมาสมาธิ 8 ข้อ เสร็จแล้วพระองค์ก็ขยายความอีกว่า แต่ละข้อตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ จนถึงสัมมาสมาธินั้นมีความหมายอย่างไร เช่นว่า สัมมาทิฏฐิคืออะไร ก็จะให้คำจำกัดความ ความรู้ความเข้าใจ ในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จนกระทั่งถึงว่าสัมมาวาจาคืออะไร คือเจตนาที่เว้นจากการพูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้ออะไรต่างๆเหล่านี้ นี่ก็คือ การให้ความหมายของอริยสัจในข้อมรรคแต่ละอย่าง จนกระทั่งครบบริบูรณ์ นี่ก็เป็นรายละเอียดของสติปัฏฐาน 4 ซึ่งได้พูดมาครบหัวข้อทั้ง 4 แล้ว ก็มีรายละเอียดพอสมควร ถึงแม้จะไม่ถึงรายละเอียดสมบูรณ์ นี่ก็เรียกว่าเป็นรายละเอียดทีพอสำหรับพูดกันในระยะเวลาที่...(จบ)