แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
นี้ก็บอกไว้แล้วว่า ค่ำนี้จะพูดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสติกับปัญญา อันนี้โยงไปหาเรื่องที่แล้วหน่อย ตอนก่อนก็พูดเรื่องสติกับสมาธิ สตินั่นบอกแล้วว่าเป็นตัวเริ่มต้นให้แก่สมาธิ จะฝึกสมาธิก็ต้องอาศัยสติมานำให้ ที่นี่มาถึงปัญญาก็จะคล้าย ๆ กันแหละ ปัญญาจะทำงานได้ สติก็ต้องจับเรื่องให้ หรือว่าส่งงานให้ สตินี่เป็นตัวส่งงานให้ปัญญาอย่างน้อยมันก็จับเรื่องนั้นไว้ให้ปัญญาดู ครั้งก่อนนี้ก็ได้เปรียบเทียบว่า เราเอาสตินี่จับสิ่งของไว้ สิ่งที่ผ่านเข้ามาแล้วจะเลยไป เราต้องการจะดู เราก็ดึงไว้ ไม่ยอมให้ผ่านไปเสีย ทีนี้พอมันอยู่ต่อหน้าแล้ว ทีนี้เราต้องการจะดูก็ดูได้ อันนี้ในการดู คืออาการของตานี่เปรียบเหมือนกับปัญญา ฉะนั้นที่บอกว่า เราดึงเราจับสิ่งนั้นไว้สำหรับให้ตาดู ตาในที่นี้ก็คือตาปัญญานี่เอง เพราะฉะนั้นสติก็มีความสำคัญซึ่งไปสัมพันธ์กับปัญญา เพราะเป็นตัวจับสิ่งที่ต้องการจะดูให้ปัญญาได้พิจารณา นี้ถ้าสิ่งนั้นมาถึงแล้ว เราไม่สามารถเอาสติจับมันไว้ดึงมันไว้รั้งมันไว้ได้ก็ผ่านไป แล้วปัญญาต้องการจะดูให้เห็นชัดว่ามันเป็นอะไร มันก็เลยไม่ได้ดู เพราะฉะนั้นปัญญาทำงานไม่ได้ ถ้าไม่มีสติ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ง่าย คิดว่าในแง่นี้แล้วความเข้าใจก็จะได้จากการอุปมาที่ว่าเนี้ย
ทีนี้ก็อุปมาอย่างอื่นอีกเพื่อจะเห็นชัดเจนขึ้น ขั้นเปรียบเทียบสติไว้เหมือนกับนายประตู นายประตูที่เฝ้าระวังคนเข้าคนออก เขาก็จะตรวจว่า เอ้อคนนี้ให้เข้าได้ไหม คนนี้ให้เข้าได้หรือเปล่า คนนั้นอาจจะไม่เหมาะสมไม่ควรให้เข้า นี้สติมันก็ต้องมีข้อมูลที่เก็บไว้ก่อน มาระลึกขึ้นมาเอาข้อมูลเก่ามา ระลึกเช่นว่ า เรารู้ว่า อ้อคนชนิดไหนที่จะเข้าได้ คนชนิดไหนเข้าไม่ได้ หรือแม้แต่รู้จักคนที่ผ่านไปผ่านมา ทีนี่สตินี่มันเป็นตัวที่ว่าทันต่อเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นไป ทีนี้เวลาคนผ่านเข้ามาก็เหมือนกับสิ่งที่เราเรียกว่าอารมณ์มันผ่านเข้ามา สติมันก็จับดู จับปั๊บมันก็เอาข้อมูลเก่ามาตรวจสอบว่า คนนี้มีลักษณะผิดหรือเปล่าที่ว่าจะให้เข้าไม่ได้ ถ้าหากมีลักษณะที่ผิดเข้ากับที่จดจำไว้ เอ้าอันนี้ปล่อยไม่ได้ผ่านไม่ได้ไม่ให้เข้า นี้ถ้าหากว่าไม่มีลักษณะที่ต้องห้ามก็ปล่อยผ่านไป สตินี้ก็เป็นตัวที่มาคอยกำหนด ท่านจึงใช้ความหมายอย่างหนึ่งว่ากำหนด กำหนดสิ่งที่ผ่านมาผ่านไปเปรียบเหมือนนายประตูที่มาจับตาดูหรือตรวจดูคนที่ผ่านไปผ่านมาว่าคนไหนจะให้เข้าได้ คนไหนจะเข้าไม่ได้ คนไหนจะผิดสังเกต และจะได้หยุดจะได้ยั้งไว้นี่ นี่ก็เป็นงานอย่างหนึ่งของสติ แต่มันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่ว่า มันไปกำหนดที่สิ่งที่ผ่านไปผ่านมานั่นแหละ
ฉะนั้นอาการที่กำหนดนี้บางทีใช้คำว่าดึงนี้อาจจะในกรณีนี้อาจจะไม่ตรงนัก คล้าย ๆ ความหมายก็เป็นอีกแง่หนึ่งของสติ ที่ว่าเป็นการกำหนด กำหนดจับตรวจสอบทัน แต่ก็เป็นอาการที่ว่ามันก็ไปจับที่อารมณ์นั้นอีกนั่นแหละ นั้นศัพท์อีกศัพท์หนึ่งจะใช้ในการอธิบายหน้าที่ของสติ ก็คำว่าจับ จับอารมณ์หรือจับสิ่งที่ผ่านไปผ่านมานั้น เพื่อจะให้ปัญญาตรวจสอบ ทีนี้ ตอนนี้มันก็จะมีความสัมพันธ์กับปัญญาในกรณีที่ทำหน้าที่อย่างนายประตูเนี่ย ถ้าหากว่ามันเป็นกรณีที่ไม่มีอะไรพิเศษ สติมันก็ใช้ข้อมูลเก่า มันระลึกขึ้นมา มันก็ตรวจสอบข้อมูลเหมือนกับนายประตูตรวจดูคนที่ผ่านไปผ่านมาได้เลย แต่ในกรณีที่มันเกิดมีเรื่องราวซับซ้อน เอ้ไม่แน่ใจ ตอนนี้แหละปัญญาจะต้องมาทำหน้าที่แล้ว การที่ว่ามาใช้ความคิดพิจารณาสืบหาเหตุผลเพิ่มเติม ไตร่ตรองอะไรต่าง ๆ ตอนนี้จะเป็นหน้าที่ของปัญญา ฉะนั้นตอนนี้บางครั้งเราก็จะเกิดความสับสนเรื่องความหมายและการทำหน้าที่ของสตินิดหน่อย บางครั้งเราพูดเหมือนกับว่าสตินี้ทำหน้าที่รู้ด้วย แต่ความจริงสตินั้นไม่ใช่ตัวรู้ แต่ทำไมเราถึงบอกว่ารู้ ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เพราะว่าสตินั้นมันระลึกข้อมูลเก่ามาได้ด้วย ทีนี้ในข้อมูลเก่านั้น ข้อมูลบางอย่างมันเป็นผลงานที่ปัญญาได้ทำไว้ก่อนแล้ว ปัญญามันคิดพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งครั้งก่อน เช่นมันเจอปัญหาอย่างหนึ่ง มันพิจราณาจนกระทั่งว่าได้ข้อสรุปเกิดความชัดแจ้งเข้าใจเรื่องนั้นดีแล้ว ก็บันทึกเก็บไว้เป็นความทรงจำเป็นอดีตล่วงไปแล้ว พอต่อมาเกิดไปเจอปัญหาอย่างเก่า ปัญหาแบบเดิม สติมันก็ไประลึกเอาข้อสรุปเก่า ซึ่งเป็นผลงานที่ปัญญาทำไว้เรียบร้อยแล้ว ก็คือข้อมูลเชิงความรู้ ข้อมูลนี้เอามาใช้ได้ทันทีเลย เพราะฉะนั้นสติก็ระลึกเอาความรู้เก่ามาใช้นั่นเอง ในกรณีนี้สติก็เหมือนกับมีคำว่ารู้อยู่ด้วย อันนี้ก็ต้องระวัง คือว่าต้องแยกกับปัญญาให้ชัด ปัญญามันจะทำหน้าที่ในปัจจุบันนี้เลย ฉะนั้นแยกระหว่างผลงานของปัญญาเก่าที่ทำไว้เสร็จแล้ว ซึ่งสติเพียงระลึกขึ้นมาใช้ ในกรณีนั้นมันไม่มีอะไรเพิ่มในทางปัญญาใช้ของเก่ามาจัดการ แต่ว่าถ้ามีเรื่องที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากนั้นเช่นว่าจะต้องประยุกต์ความรู้เก่ามาใช้กับเรื่องใหม่อย่างนี้ปัญญาต้องเข้ามา นั้นเป็นอันว่าสตินั้นเป็นเพียงการดึงข้อมูล หรือเป็นการกำหนดอารมณ์จับอารมณ์นั้นไว้ ถ้าหากว่าความรู้เก่าที่ปัญญาเคยทำงานมาแล้วใช้ได้ก็เพียงพอ ถ้าหากความรู้เก่าไม่ความเพียงพอก็ต้องอาศัยปัญญาทำงาน
อันนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสติกับปัญญา แต่รวมความก็คือว่า ปัญญาจะทำงานได้ต้องอาศัยสติทุกกรณีไป เพราะว่าปัญญาเหมือนตา ถ้าสิ่งนั้นไม่อยู่ต่อหน้าก็มองดูไม่ได้ ทีนี้ปัญญาจะพิจารณาสิ่งใดก็ตามก็ให้สิ่งนั้นอยู่ต่อหน้าจิตของเรา ก็จึงต้องใช้สตินี่ดึงสิ่งนั้นมาไว้กับจิต หรือว่าดึงไว้ไม่ยอมให้ผ่านไปเสียเฉย ๆ ดึงไว้ก็ตาม ดึงมาก็ตาม ก็เป็นเรื่องของสติที่ว่านี่ แล้วอีกประการหนึ่งก็คือว่า เวลาเราพูดถึงคำว่าสตินี่ บางทีเราทิ้งคำว่าปัญญาเอาไว้ในฐานเข้าใจ ในภาษาไทยก็จะได้ยินบ่อย ๆ เราจะใช้คำว่า สตินี้มีคู่กับปัญญา เป็นสติปัญญา สติปัญญา จนกระทั่งคนไทยก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นสติ อะไรเป็นปัญญา พูดรวมกันไปว่าสติปัญญา หรือถ้าไม่ใช้คำว่าสติปัญญา ก็จะคู่กันสัมปชัญญะ เป็นสติสัมปชัญญะ นี่เราจะได้ยินบ่อย นี่ทำอย่างกะคนไม่มีสติสัมปชัญญะ นี่สติสัมปชัญญะ มาด้วยกัน เราต้องพัฒนาให้มีสติปัญญาเพิ่มขึ้น สติปัญญาก็มาคู่กัน ทำอะไรใช้สติปัญญาบ้างซิ ว่าอย่างนั้น นี่สติกับปัญญาก็มาคู่กัน ทีนี้จะพูดว่าสติสัมปชัญญะ หรือสติปัญญาก็ตาม ความจริงมันก็มีความหมายเกือบเท่ากัน เพราะสัมปชัญญะนั้นเป็นชื่อหนึ่งของปัญญา
แต่เป็นปัญญาที่ทำหน้าที่ค่อนข้างจำกัด เป็นปัญญาชนิดที่ทำหน้าที่กับสิ่งที่เป็นปัจจุบัน เรียกว่าอารมณ์เฉพาะหน้าที่จะรู้เข้าใจชัดแล้วก็ทำกิจได้สำเร็จไปเลย แต่ถ้าเป็นเรื่องการพิจารณาสืบสาวหาเหตุผลใคร่ควรวางแผนอะไรต่าง ๆ นั้น เราไม่เรียกสัมปชัญญะ เราก็ใช้คำใหญ่คือคำว่า ปัญญา หมายความว่า ปัญญานี้เป็นคำที่ใช้ครอบคลุมหมด ความรู้ความเข้าใจต่าง ๆ ที่ใช้คำกว้างขวางที่สุดก็คือ คำว่าปัญญา ปัญญาจะมีชื่อต่าง ๆ มากมายเหลือเกิน ในบรรดาที่ชื่อมากมายเหล่านั้นชื่อหนึ่ง คือคำว่าสัมปชัญญะ ยกตัวอย่างชื่ออื่นของปัญญา ก็เช่นคำว่า วิปัสนา ก็คือชื่อหนึ่งของปัญญา ปฏิสัมภิทาก็เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา โกศลก็เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา ฌานก็เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา เยอะแยะหมด คำว่าปัญญานี่ชื่อมากมาย ทีนี้ว่าชื่อหนึ่งคือสัมปชัญญะ ปัญญาในชื่อสัมปชัญญะนี้เป็นปัญญาที่ต้องใช้บ่อยมาก เพราะว่ามันใช้กับสิ่งที่เป็นปัจจุบัน อย่างเราขับรถ ขับรถนี่ต้องมีทั้งสติและสัมปชัญญะ สติก็หมายความว่าสติเป็นตัวที่จับเอาจิตไว้กับการกระทำที่เรากำลังทำอยู่ การกระทำที่กำลังทำอยู่ก็คือการขับรถ และสิ่งที่เนื่องในการขับรถทั้งหมด จิตอยู่กับสิ่งนี้แล้ว พอสติมีก็คือจิตอยู่กับการขับรถและสิ่งที่เกี่ยวข้อง ทีนี้พอจิตอยู่กับการขับรถ เกิดความรู้ที่มีในขณะนั้นจะพรั่งพร้อมอยู่ในตัว พอจิตของเราอยู่กับการขับรถ ความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับการขับรถที่เราได้สะสมมาอะไรต่าง ๆ เราไม่นึกทบทวนมาทีละอย่าง ละอย่างใช่ไหม มันพรั่งพร้อมอยู่ในตัวทีเดียว ทำงานได้เลย เช่น รู้ว่าการขับรถเป็นอย่างไร พวงมาลัยทำหน้าที่ยังไง เวลาเกิดเหตุจะให้ใช้ จะแก้ไขปัญหา หรือจะเบรคจะทำยังไง ไอ้ความรู้นี้พรั่งพร้อมอยู่ในตัว รู้จุดหมายที่จะไปด้วยอยู่ในตัวเสร็จหมด ความรู้อันนี้ที่พร้อมอยู่ในตัว รู้พร้อมเฉพาะหน้า บางทีก็พยายามหาศัพท์มาแปล รู้ตัวทั่วพร้อมอะไรก็แล้วแต่ ความรู้ที่มันพรั่งพร้อมอยู่เฉพาะหน้ากับอารมณ์ที่เป็นปัจจุบันพอมีสติอยู่ ความรู้อันนี้อยู่ด้วย ซึ่งทำให้ทำกิจนั้นได้สำเร็จ ความรู้นี้เรียกว่าสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นการขับรถเนี่ย พอมีสตินี่ คือจิตของเราก็อยู่กับการขับรถ เมื่อจิตอยู่กับการขับรถความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเรื่องการขับรถเนี่ยมันจะมีพร้อมในตัวที่ทำให้เราทำงานได้เลย ไม่ต้องมาสาวมาทีละข้อ ละข้อ ว่าอะไรทำหน้าที่อะไร เราจะทำไงกับพวงมาลัย เบรคมันทำหน้าที่อะไร ไอ้ชิ้นนี้มันอยู่ตรงนี้มันทำหน้าที่อะไร ถ้าขืนไปสืบสาวอยู่แต่ละอย่าง อีกลำดับความรู้อย่างนี้คงทำอะไรไม่ได้ ความรู้เหล่านี้มันพรั่งพร้อมอยู่ในตัวใช้งานได้เลยทันที เอาละนี่ก็ สัมปชัญญะ ทีนี้ถ้าเกิดว่าต้องการจะรู้ลึกซึ้งกว่านั้น เอ้อไอ้รถนี่มันยี่ห้อนี้ ที่เราขับอยู่นี่ แล้วมันผลิตมาจากประเทศไหน เทียบกับยี่ห้อไหน มันดีกว่ายังไง ยี่ห้อไหนดีกว่ายี่ห้อนี้ หรือยี่ห้อนี้ดีกว่ายี่ห้อนั้นในแง่ไหน ยี่ห้อนั้นดีกว่ายี่ห้อนี้ในแง่ไหน ถ้าเราต้องการจะสร้างโรงงานผลิตใหม่เราควรจะผลิตยี่ห้ออะไรดีหรือว่าเอาแบบไหนไปใช้อะไรต่าง ๆ น่ะ ไตร่ตรองพิจารณาแล้วทำไมยี่ห้อนี้ จึงดีจึงไม่ดี ด้วยเหตุผลเหตุปัจจัยอะไร นี่แหละถ้าเอาอย่างนี้แล้วต้องเป็นเรื่องปัญญาแล้วใช่ไหม สัมปชัญญะใช้ในความหมายแค่ความรู้ที่พร้อมเฉพาะหน้าใช้งานได้สำเร็จ ถ้าจะสืบสาวให้ลึกซึ้งคิดกว้างไกลไปวางแผนและตอนนี้เป็นคำที่กว้างกว่าปัญญา แต่ไม่ว่าจะเป็นในแง่ไหนก็ตามมันก็จะต้องมากับปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งใช่ไหม สติมากับสัมปชัญญะ มิฉะนั้นก็มาในวงกว้างเลย ก็มากับปัญญา เพราะฉะนั้นเราก็ใช้สติสัมปชัญญะในเรื่องของการทำกิจเฉพาะหน้าเฉพาะกรณี ใช้สติปัญญาในเรื่องที่กว้างไกลออกไป นี่เป็นแง่มุมต่าง ๆ ที่พูดให้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสติกับปัญญา น่ะครับ
ก็คิดว่าแค่นี้ก็น่าจะพอสมควร ตอนช่วงนี้อยากจะให้ถามปัญหาก่อน ถ้ามีข้อสงสัยก่อนจะก้าวต่อไปสู่การพูดถึงเรื่องของการทำงาน ทั้งสติสมาธิปัญญาเลยทีนี้ ตอนที่แล้วพูดสติกับสมาธิ แล้วมาพูดสติกับปัญญา คราวนี้เรามาดูสติกับสมาธิปัญญาพร้อมกัน ใครมีข้อสงสัยไหมครับ
(1)
คนฟังถาม อาจารย์อยากให้ท่านกรุณาช่วยอธิบายคำว่า ฌาน กับ ปัญญา
พระตอบ อ๋ออย่างนั้นเอาไว้ก่อนดีไหม เพราะว่ามันจะได้ไม่มาแทรกไอ้ตรงช่วงนี่ เดี๋ยวมันจะมาทำให้กับการโยงความสัมพันธ์ในองค์ธรรมพวกที่เกี่ยวข้องตอนนี้ มันจะยืดเยื้อไปละกันเลยอาจจะลืมเรื่องเก่าที่จะมาที่จะมาช่วยเป็นฐานให้ความเข้าใจ
(2)
คนฟังถาม นึกถึงการประพฤติ อธิบายเรื่องนี้ไม่ชัด ที่ว่า สติเป็น มุกขา สมาธิเป็นปัญญาปยุตรา ปัญญาที่ยิ่งใหญ่
พระตอบ ปัญญาปยุตรา ปัญญาเป็นยอดยิ่ง อันนี้อย่าไปเอาใจใส่ดีกว่าเพราะว่าเป็นเรื่องของการพูดในระบบกระบวนการทั้งหมดเลย เรากำลังพูดถึงหน้าที่ในความสัมพันธ์กันระหว่างไอ้ 3 พวกนี้ ฉะนั้นจะพูดถึงความสำคัญของแต่ละอย่าง แต่ละอย่างโดยไม่ได้มาจับให้เห็นความสัมพันธ์ ตอนนี้เราต้องการจะมาโยงให้เห็นความสัมพันธ์ในการทำงานกันเลยว่า สติทำงานยังไงในความสัมพันธ์กับสมาธิ สติทำงานสำคัญสัมพันธ์กับปัญญาอย่างไร เวลามาทำงานด้วยกันสติทำยังไง สมาธิทำอย่างไร ปัญญาทำไงใช่ไหม เอ้าทีนี้ถ้าไม่มีอะไรก็ไปสู่ตอนนี้นิดหน่อย
(3) คนฟังถาม โทษครับ ขอย้อนกลับไปตัวอย่างของเมื่อวานที่เรื่องในการตัดลูกมะพร้าว ในการตัดเราต้องใช้อาวุธคือขวาน ใช่ไหม แล้วถ้าจะตัดได้ขวานต้องคม ถ้าเกิดขวานไม่คม คือตัวปัญญานี้ไม่คม เราจะต้องรับให้คม คือว่าจะต้องพยายามใช้ปัญญา
พระตอบ อ๋อ อันนั้นมันก็เป็นเรื่องของการรับให้คมก็เป็นอีกคำถามหนึ่งต่างหาก แล้วใช่ไหม อันนี้หมายความว่าพัฒนาเครื่องมือใช่ ก็หาวิธีที่จะทำให้ปัญญาที่คมชัดยิ่งขึ้น อันนี้ก็จะมีวิธีกระบวนการพัฒนาปัญญาก็ต้องอาศัยทั้งพฤติกรรมคือศีล และสมาธิ และกระบวนการสร้างปัญญา เช่น โยนิโสมนสิกา การรู้จักคิดพิจารณา วิธีคิด วิธีสืบสาวหาเหตุปัจจัย วิธีวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ เพื่อจะให้ปัญญานี้พัฒนายิ่งขึ้น พอเข้าใจนะ
(4)
คนฟังถาม พระเดชพระคุณอาจารย์ครับ ระหว่างในกรณีที่พิจารณาปัญญา ในการมาเน้นสมาธิให้มีกำลังพอปัญญาเท่าเดิม อยากจะเรียนถามพระเดชพระคุณ จะพิจารณาว่าอย่างไรจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่ากันในเรื่องสัจจธรรม
พระตอบ อ๋อ ระหว่างบุคคล ตอนนี้คือบางคน ตอนนี้เราจะพูดความแตกต่างระหว่างบุคคล บางคนนี่พัฒนาปัญญาก็ต้องพัฒนาล่ะ แต่ถึงอย่างไง พัฒนาอย่างไรมันก็ไม่ดีเท่าที่อีกคนหนึ่ง นี่มันเป็นเรื่องการเปรียบเทียบใช่ไหม แต่ว่ามันก็เป็นความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสำหรับตัวเขา แต่เมื่อมีการเปรียบเทียบแล้วมันจะให้พัฒนาได้อย่างอีกคนหนึ่งไม่ได้ ถูกไหม อันนี้เป็นการเปรียบเทียบระหว่างบุคคล แต่ว่าสำหรับแต่ละคนนั้นแน่นอนต้องพัฒนาทุกอย่าง
(5)
คนฟังถาม ในแง่ลักษณะที่คน ๆ นั้นต้องหาด้วยตัวเองว่า ตัวเองหรือเปล่า ว่ามีอินทรีย์ด้านไหนที่เหมาะสมลักษณะนั้น หรือจะต้องพิจารณาด้วยตนเองหรือจะมีแนวทางอย่างไร จะพิจารณาอย่างไรว่าตัวเองต้องเน้นสมาธิหรือควรจะไปเน้นปัญญา หรือว่าอะไรอย่างนั้น อยากให้พระเดชพระคุณอาจารย์ อยากช่วยชี้ช่องแนะแนวทาง
พระตอบ คือถ้าหากว่าได้กัลยาณมิตรที่ยอดเยี่ยมอย่างพระพุทธเจ้าก็จะมาช่วยบอกให้ ถ้าไม่ได้ก็อาจจะต้องพยายามด้วยตนเอง แต่ก็ต้องรู้จุดอ่อนว่า การดูตัวเองนี้ยากอยู่นะ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องอาศัยกัลยาณมิตร มิฉะนั้นแล้ว พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นต้นก็คงตรัสรู้ธรรมได้ โดยก่อนได้พบพระพุทธเจ้าใช่ไหม หมายความว่าในยุคพุทธกาลนี้ ก็มีผู้มีสติปัญญาเยี่ยม ๆ เยอะเหมือนกัน แต่ทั้งเยี่ยมอย่างนั้นเขาก็ไม่สามารถที่จะตรัสรู้ใช่ไหม ก็ต้องมาพบพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธจับจุด จี้จุด ชี้ หรือเอาเส้นผมที่บังภูเขาออกไปใช่ไหม เท่านี้เอง หรือเขี่ยผงในตาออกใช่ไหม ติดอยู่เท่านั้นแหละไปไม่ได้ ทีนี้ถ้าเส้นผมอันนี้ไม่ออก มันก็ไม่เห็นภูเขาสักที ทั้งที่มันก็ไอ้เส้นผมเส้นเดียว เนี่ยพระพุทธเจ้าบางทีมาทำหน้าที่ซึ่งก็เหมือนกับเป็นหน้าที่นิดเดียวนะ แต่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดเลย ก็แค่เขี่ยเส้นผมที่มันบังภูเขาออกใช่ไหม ฉะนั้นบางทีตัวเรานี่ก็ดูตัวเองไม่ออก จับจุดไม่ถูกว่าจะแก้ที่จุดไหน มันจึงจะสำเร็จ แต่ว่าถ้าไม่มีกัลยาณมิตรจริง ๆ ก็ต้องเพียรพยามด้วยตนเอง เพราะต้องศึกษาพิจารณาตรวจสอบตัวเองใช่ไหม ก็อันนั้นก็เป็นโยนิโสมนสิการอย่างหนึ่งด้วย ในการที่จะพิจารณาตรวจสอบค้นหาเข้าใจตัวเองให้ชัดเจน แต่ว่าอันนี้ก็เป็นปัจจัยที่ว่า ปัจจัยภายในกับปัจจัยภายนอกที่ว่ามันเป็นอัตราสัมพัทธ์กันอยู่ ก็พอเอานะ ทีนี้ก็ต่อไป
ทีนี้ว่าตอนนี้เราพูดได้เห็นว่าปัญญาจะทำงานต้องอาศัยสติ ทีนี้สติอย่างที่บอกแล้วว่ามันดึงอารมณ์นั้นไว้มันกำหนด มันจับเอาไว้ แต่ว่าอารมณ์นั้นมันก็จะคอยผ่านไปอยู่เรื่อย มันผ่านเข้ามาแล้วก็จะผ่านไปแล้ว ก็ดึงมันไว้ ทีนี้เมื่อดึงมันไว้เนี่ยถ้ามันอยู่แล้วก็มองเห็นมันเราก็พิจารณา แต่ทีนี้มันก็จะมีปัญหาอีกว่า เวลาดึงมันไว้ สิ่งนั้นมีความแตกต่างสิ่งที่จะดู สิ่งที่เราจะดูมันมีความละเอียดอ่อนไม่เท่ากัน บางอย่างก็หยาบ บางอย่างก็ละเอียด ทีนี้สติมันดึงไว้เนี่ย มันก็ดึงไว้เหมือนกับอ้ายเจ้านั้นคอยออกไปอยู่เรื่อย ไม่ให้เป็นหลักประกันว่า สิ่งที่เรากำลังดู ซึ่งสติดึงไว้เนี่ยมันจะนิ่งไหม มันก็จะมีอาการที่อยู่ก็จริง แต่มันสั่น มันไหว มันโครง มันเครงอยู่เหมือนกับว่ามันมีแผ่นผ้าแผ่นหนึ่ง เอาล่ะมันจะลอยไป เราไม่ยอมให้ลอยไป เราจะดูมัน เราก็เอาเชือกดึงมันไว้ นี่คือสติดึงไว้ ไอ้เจ้าแผ่นผ้าเนี่ย เป็นอันว่าไม่ไปละไม่พ้นสายตาเรา เราก็ดูเห็นแผ่นผ้าเนี่ย แต่นี่เราไม่ดู้แค่แผ่นผ้า เราจะดูรายละเอียดในผ้า มีตัวหนังสือเขียนไว้ มีลวดลายเป็นรูปสัตว์ รูปคนเขียนไว้ อันนี้เราก็เห็นแต่ว่าเราไม่รู้ชัด ตัวหนังสืออะไรอ่านไม่ออก อ้ายเจ้าสติดึงไว้ให้แล้ว แต่มันก็ยังไม่อยู่นี่ง เป็นอันว่าสติทำงานให้แล้ว ปัญญาก็ใช้ประโยชน์จากสติมองเห็น แต่ยังไม่รู้ลึกซึ้งไม่ละเอียด ทำอย่างไร ตอนนี้แค่ดึงไว้ไม่พอ ต้องให้สิ่งนั้นน่ะอยู่นิ่งเลย ถ้าสิ่งนั้นนี่เป็นลวดลายใหญ่โต เช่น รูปคนตัวเบ้อเริ่มอย่างงี้ ตัวหนังสือเบ้อเริ่มอย่างนี้ ไม่ต้องนิ่งสนิทก็เห็นใช่ไหม อ่านออก แต่ถ้าเป็นลวดลายละเอียดยิบเลย ตัวหนังสือเล็กนิดเดียวนี่ ถ้าไม่นิ่งจริงอ่านไม่ออกใช่ไหม ตอนนี้ต้องการสมาธิ ฉะนั้นการที่จะให้สิ่งนั้นอยู่นิ่งสนิท ก็เป็นความจำเป็นสำหรับการที่ปัญญาคือตานี่จะมองเห็น จะรู้ชัดเจนในกรณีที่สิ่งนั้นละเอียดลึกซึ้ง ทีนี้เป็นอันว่าสำหรับเรื่องทั่ว ๆ ไป นี่เราไม่ต้องการความละเอียดลึกซึ่ง สติพอแล้วใช่ไหม สติดึงไว้ตาก็เห็น แต่ว่าสำหรับสิ่งที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งมากสิ่งนั้นต้องอยู่นิ่งสนิท ก็จะต้องสมาธิเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง เอาละน่ะคงจะเข้าใจ ก็สมาธิก็เป็นตัวที่ทำให้จิตนิ่งเลยอยู่แนบสนิท ทีนี้ลวดลายอะไรตัวหนังสือเล็กแค่ไหนก็อ่านได้ ตอนนี้เราต้องการไม่แต่เพียงสติเท่านั้นต้องการสมาธิด้วย และยิ่งเรื่องนั้นละเอียดลึกซึ้งก็ยิ่งต้องการ ต้องการสมาธิที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปตามลำดับหรือแนบสนิทยิ่งขึ้น หรือแน่วแน่ยิ่งขึ้น อันนี้ก็สัมพันธ์กับสายตาด้วยใช่ไหม คนตาดีคมชัดแม้จะไม่นิ่งสนิทนักก็ยังอ่านได้ดี อีกคนนึงตาไม่ดีไม่คมนี่ถ้าไม่นิ่งสนิทเลยอ่านไม่ได้ใช่ไหม ก็เอาน่ะความสัมพันธ์ระหว่างเรื่อง สติ สมาธิและปัญญา ทีนี้ตอนนี้มีอะไรสงสัยไหมว่ากลับไปทีละขั้น ๆ
เอ้าที่นี้ถ้าไม่มี เราก็จะเห็นว่าตอนนี้นะ เราพูดถึงเรื่ององค์ประกอบฝ่่ายด้านจิตที่เป็นตัวทำงานยืนโรง เป็นตัวยืนโรง 3 ตัว คือ
มีวิริยะความเพียรที่ทำให้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวให้งานดำเนินไปได้
แล้วก็สติเป็นตัวที่จับสิ่งที่ต้องการไว้ ทำให้จิตทำงานกับสิ่งนั้นได้
แล้วก็สมาธิซึ่งเป็นที่รองรับการทำงานนี้อีกทีหนึ่ง
3 ตัวนี้เป็นหลักยืน เสร็จแล้วตอนนี้เราก้าวข้ามแดนมาสู่ปัญญาแล้ว โดยที่เอาองค์ประกอบฝ่ายจิตคือสติเนี่ยมาโยงกับฝ่ายปัญญาให้เห็นว่า ฝ่ายจิตทำงานร่วมกับฝ่ายปัญญาอย่างไร สติก็ทำงานร่วมกับปัญญา ทีนี้เราพูดถึงเรื่องการฝึกฝนพัฒนาคน ในฝ่ายด้านจิตนี่ การฝึกในเรื่องจิตเนี่ย บอกแล้วว่าสมาธิเป็นแกนหรือเป็นตัวแทนเป็นประธาน แล้วบางทีเราเรียกการฝึกในด้านสมาธิด้วยคำศัพท์อีกคำว่า สมาถะ การฝึกด้านจิตให้เกิดสมาธินี่เรียกว่าสมถะ ส่วนการฝึกฝนในด้านปัญญา ให้เกิดปัญญามากชัดเจนจนกระทั่งรู้แจ้งสภาวะสิ่งทั้งหลายให้เข้าใจสังขารตามเป็นจริงให้รู้พระไตรลักษณ์ และว่าปัญญาจนเห็นโลกและชีวิตตามเป็นจริง จนถึงนิพพานได้นี่ ปัญญาแบบนี้เราเรียกว่าวิปัสสนา นี้ในกระบวนการฝึกในด้านจิตสมถะก็ดี ด้านวิปัสนาด้านปัญญาก็ดี ก็เป็นอันว่าเราได้เห็นแล้วว่าสตินี้มีบทบาทสำคัญอย่างไร สติเป็นตัวสำคัญ เป็นตัวเริ่มต้นให้ทั้งในฝ่ายสมถะแล้วก็ทั้งในฝ่ายวิปัสสนา ก็ย้ำอีกที่ว่าสติเป็นตัวเริ่มนำเข้าไปสู่สมาธิ แล้วในฝ่ายวิปัสสนาก็สติเป็นตัวจับเรื่องที่ต้องการให้ปัญญาพิจารณาหรือส่งงานให้กับปัญญา ยกตัวอย่างการส่งงานให้ปัญญาอีกอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ซึ่งเราอาจจะเห็นชัด พุทธเจ้าตรัสถึงเรื่องว่า ภิกษุรูปหนึ่ง ไปนั่งในที่สงัดแล้วก็ระลึกถึงคำสอนที่พระอาจารย์ หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ นี่ตอนนี้ตัวไปอยู่ในที่สงัดนะ ระลึกถึงนี่คือสติแหละ ระลึกถึงคำสอนสิ่งที่ตัวได้เล่าเรียนไว้สะดับตับฟัง ระลึกนี้ดึงเข้ามาแล้วน่ะ ดึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วดึงให้มาอยู่ต่อหน้าจิต สติดึงเอาคำสอนที่พระพุทธเจ้าสอนมาแล้วเอามา พอระลึกมาแล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาเฟ้น แยกแยะไตร่ตรองพิจารณาสอบสวนสืบสาวต่าง ๆ ตอนนี้คือ ท่านเรียก ธรรมวิจนะ เป็นเรื่องของปัญญา คือวิจัยธรรม ก็วิจัยเรื่องที่สติดึงเอามาให้ ที่นี้ก็ตัวอย่าง ตัวอย่างการที่ว่าสติส่งงานให้ปัญญาอย่างไร สติระลึกถึงคำสอนสิ่งที่เราเรียนมา นั่นคือยกเรื่อง พอยกเรื่องขึ้นมาแล้ว เอ้าก็ส่งให้ปัญญาพิจารณา ปัญญาก็พิจารณาเรื่องที่สติจับส่งให้ ก็นเป็นอันว่าได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสติกับปัญญา ทีนี้ปัญญาได้ทำงานอย่างนี้ ตอนนี้เรามีตัวสำคัญน่ะ มีความเพียรวิริยะ แล้วก็มีสมาธิ มีสติ มีปัญญา นี้ในการที่จะให้เกิดปัญญาเนี่ย มันจะมีตัวช่วยอีกตัวหนึ่งในระหว่าง ก็คือว่าเราเริ่มพัฒนาปัญญา เราเริ่มเกิดความรู้ความเข้าใจ แต่การที่จะพัฒนาความรู้ความเข้าใจ นี่เราจะมีสิ่งที่เราจะศึกษา เราจะพิจารณา ทีนี้ปัญญามันจะพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่สติสิ่งให้มาอยู่เรื่อย แต่ว่าถ้าจะต้องการรู้ให้ชัดนี่ บางทีมันต้องจับจุดอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่จะเอาจริงเอาจัง ทีนี้ถ้าปัญญาพิจารณาเรื่อยไป เรื่องอะไรมาก็สติก็จับส่งให้ พิจารณาแล้วก็ส่งไปแล้วก็พิจารณาผ่านไป ผ่านไปไม่เอาจริงเอาจังเนี่ย มันไม่รู้ลึกซึ้ง นั้นก็ต้องหาทางว่ามีการที่ไปจับจุดพิจารณาอย่างเอาจริงเอาจังในเรื่องนั้น ตอนนี้ตอนที่มีตัวเชื่อมให้เราไปจับอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเอาจริงเอาจังนี่ จะเป็นองค์ธรรมอีกข้อหนึ่งเกิดขึ้นมา องค์ธรรมที่ทำให้เราพุ่งเข้าหาเรื่องนั้นเลย แล้วก็เอาจริงเอาจังพิจารณาแยกแยะอะไรต่าง ๆ ให้เต็มที่ตัวที่ทำให้เราพุ่งเข้าหาสิ่งแหล่านั้น อันนี้คือศรัทธา นั้นศรัทธานี่จึงมาสัมพันธ์กับปัญญาเป็นตัวสำคัญในตอนที่ว่าจะพัฒนาปัญญาไปจนถึงสูงสุด ถ้าไม่มีตัวศรัทธาอยู่เนี่ย ปัญญานี้จะจับจดเรื่องนี้เข้ามาก็พิจารณาก็เห็นแค่นี้แล้วก็ผ่านไป พอเรื่องอื่นมาก็พิจารณา พอรู้ ๆ เข้าใจ ก็ผ่านไป ๆ ที่นี้ถ้าเกิดเห็นว่าเรื่องนี้ เอ้มันมีอะไรน่ารู้เยอะ ถ้าเราศึกษาต่อพิจารณาต่อเราจะเข้าใจความจริงอะไรต่าง ๆ นั้น นึกว่ามีอะไรที่น่ารู้อยู่ในนี้เยอะแยะหมดเลย หรือว่าเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้เราเนี่ยเกิดความรู้เข้าใจที่จะแก้ปัญหาเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ เช่นว่า เอาทั้งชีวิตของเราก็ได้ ชีวิตของเรามีความทุกข์มีปัญหาและมีข้อติดขัด เราก็เจอเรื่องหนึ่งเข้าว่า โอ้โฮ ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ชัดแล้วนะ เราจะแก้ปัญหาชีวิตของเราได้หมดเลย เราจะพ้นจากความทุกข์ แล้วนี่ ก็เราก็จะเกิดศรัทธาคือความเชื่อในสิ่งนั้น แล้วเราก็จะเอาจริงเอาจังศึกษาเต็มที่ ศรัทธาก็จะผูกไว้กับเรื่องนั้นเป็นตัวทำให้เราได้พุ่งเข้าหาสิ่งนั้น และก็เจาะเข้าไปในสิ่งนั้น เป็นอันว่ามีศรัทธาขึ้นมาอีกตัวหนึ่งที่จะทำให้เราเนี่ยไปจับยึดเข้ากับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะให้ปัญญาพิจารณาอย่างเอาจริงเอาจังนะ ยกตัวอย่างเช่นว่า ไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า พอไปฟังธรรมแล้วก็ โอ้พระพุทธเจ้าตรัสเราพิจารณาเห็นที่พระองค์ตรัสมานี่จริงทั้งนั้นเลยมีเหตุมีผล บางอย่างเราไม่เข้าใจแต่เราเห็นเค้าว่าเป็นเหตุเป็นผลน่าจะต้องเป็นจริงอย่างนั้น พอคิดว่า โอ้โฮ่ที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้น่าจะเป็นจริงมีอะไรที่เรายังไม่เข้าใจชัดนี่เราจะต้องรู้จากพระพุทธเจ้าอีกเยอะ คำสอนพระองค์มีเหตุผลเกิดศรัทธาเลย ศรัทธาเชื่อมั่นว่า นี่จากพระพุทธเจ้า เราจะได้รู้เข้าใจอะไรอีกเยอะแยะเลยใช่ไหม เกิดความเชื่อมั่น อันนี้เรียกว่าศรัทธา ศรัทธาแล้วก็เลยตั้งใจฟังอยากจะรู้ยิ่งขึ้นใช่ไหม อยากจะมาอยู่กับพุทธเจ้า อยากจะมาฟังพระองค์บ่อย ๆ หรือจะมาอยู่ใกล้ชิด เพื่อจะได้ยินได้ฟัง นี่อาการของจิตที่เกิดภาวะอันเนี้ย หรือเกิดความมั่นใจในการที่จะได้ความรู้ได้สิ่งที่จะทำให้ตัวเองได้แก้ปัญหาได้อะไรต่าง ๆ นี่เรียกว่าศรัทธา ใช่ไหม อันนั้นศรัทธาจึงเป็นอาการเบื้องต้นที่จะช่วยให้คนเนี่ยได้พัฒนาต่อไปในปัญญา
ตอนนี้มันกี่เลยมีองค์ธรรมขึ้นมาอีกข้อคือ ศรัทธา เป็นตัวองค์ธรรมเบื้องต้นที่จะช่วยนำไปสู่ปัญญา อันนี้ศรัทธาที่ถูกต้องเนี่ย มันเป็นกระบวนการในธรรมชาติซึ่งจะมาช่วยให้เราเนี่ยสามารถพัฒนาปัญญาได้
หนึ่ง มันทำให้ปัญญามีจุด มีเป้าที่ชัดเจน ไม่พล่า ไม่จับจด
แล้วก็ สอง มันทำให้มีทิศทางที่แน่นอน อย่างที่บอกแล้วว่าศรัทธาที่ทำให้พุ่งเข้าสู่เป้าว่าจะเอาเรื่องนี้นะศึกษาให้เต็มที่ ก็มีทิศทางที่ชัดเจน ก็ทำให้จำกัดขอบเขตที่ตัวจะได้พัฒนาปัญญา
สาม แล้วก็เกิดกำลัง พอมีศรัทธาก็มีกำลังที่จะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ถ้ามิฉะนั้นแล้วมันก็เบา ปัญญาไม่มีศรัทธาช่วยมันก็รู้นิดรู้หน่อย มันก็พอแล้ว มันก็ไม่เอาจริงเอาจัง พอมีศรัทธานี้ก็มั่นใจในสิ่งนั้นว่าจะทำให้เรานี่ได้บรรลุจุดหมายเขาเราในการแก้ปัญหาเป็นต้น เกิดพลังเอาจริงเอาจัง ทีนี้ศึกษาค้นคว้าใช่ไหม อย่างคนที่มีศรัทธาเชื่อมั่นในเรื่องนี้ ก็จะตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเอาจริงเอาจัง หรืออย่างง่าย ๆ ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงปัญญาเราเห็นแล้ว โอ้พระองค์มีปัญญาจะต้องให้ความรู้กับเราได้แน่นอนนะ นี้เรามั่นใจศรัทธาอย่างนี้ แม้พระพุทธเจ้าแม้อยู่ไกลแค่ไหนก็เกิดกำลังที่จะไปหาพระองค์ใช่ไหม ศรัทธาก็มีประโยชน์อย่างนี้ ที่นี่ศรัทธาโดยธรรมชาติก็คือเกื้อหนุนปัญญา แต่ว่าเพราะกิเลสของมนุษย์นี่ ต่อมามันกลายเป็นว่า มาใช้ศรัทธาในการที่ขัดขวางปัญญาก็มี ก็คือว่าเชื่อ พอเชื่อแล้วทีนี้ก็ไม่ต้องใช้ปัญญา เชื่อใครก็สุดแต่ผู้นั้นจะบอก หรือจะมีการที่สร้างข้อห้ามขึ้นมาบอกว่า อย่างสงสัยน่ะ เป็นบาปเรื่องนี้ ห้ามสงสัยห้ามถาม ให้เชื่อเขาไว้ก็แล้วกัน แล้วมอบชีวิตจิตใจให้เลย นี้กลายเป็นว่ามันเป็นเรื่องว่าปัญญา ศรัทธากลายเป็นเครื่องปิดกั้นปัญญา นี่กลายเป็นเรื่องของมนุษย์ที่ว่าเอาศรัทธามาใช้ บางทีก็บีบบังคับคนอื่น ซึ่งในเรื่องศาสนานี่เราก็จะเห็นได้ เพราะว่าศาสนา บางศาสนาก็จะเอาศรัทธาเข้าว่าต้องให้ เชื่อโดยไม่ต้องใช้ปัญญา ฝรั่งเขาเรียกว่า ศรัทธาตาบอด หรือว่าของเราก็เรียกว่า ศรัทธาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เมื่อไปไม่ได้ปัญญาก็สักแต่ว่าเชื่อไปก็แล้วกัน จนกระทั้่งห้ามถาม ห้ามสงสัยเป็นบาปไปหมด ถ้าอย่างนี้ปัญญาก็พัฒนาไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่โดยธรรมชาตินั้นศรัทธา นี่เป็นตัวเกื้อหนุนปัญญาเป็นปัจจัยในกระบวนพัฒนาปัญญา เอ้าที่นี่ก็แปลว่าศรัทธาก็เข้ามาในกระบวนการพัฒนาที่เราพูดมาทั้งหมดในด้านที่เกี่ยวกับจิตใจและปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องภายในบุคคล อันนี้ เราพูดไปแล้วว่ามีวิริยะกับสมาธิในคู่กันแล้วใช่ไหม บอกว่าวิริยะนี่มันเป็นตัวทำให้เกิดกำลังจะก้าวจะคืบหน้าไปเรื่อย เมื่อมันจะเดินหน้าเรื่อยไป มันก็ทำให้บุ่มบ่ามร้อน แล้วก็อาจจะพลั้งพลาด ก็เลยบอกว่าต้องมีสมาธิ สมาธินี้ก็จะทำให้เกิดความสงบ เกิดความมั่นคง แต่ว่าสมาธิอย่างเดียวไม่มีวิริยะมันก็จะหยุดจะนิ่งมันจะสบายมันก็เลยนอนเสพสุขขี้เกียจ ฉะนั้นก็เลยบอกไปแล้วว่าต้องให้คู่กันพอดี ต้องให้มีวิริยะความเพียรที่จะเดินหน้า แล้วก็มีสมาธิเป็นตัวให้สงบมั่นคงและจะได้ก้าวหน้าไปอย่างมั่นคง แล้วก็ได้ผล ฉะนั้นวิริยะกับสมาธิก็ต้องคู่กันได้สัดส่วน ก็เป็นคู่หนึ่ง
ที่นี้เมื่อเราพูดถึงปัญญา แล้วก็เราก็ยอมไปหาศรัทธาตอนนี้ก็ได้คู่แล้ว ศรัทธากับปัญญาก็เป็นอีกคู่หนึง ว่าปัญญาอย่างที่บอกแล้วว่าถ้าไม่มีศรัทธามาช่วยทำให้เกิดทิศทางและจุดเป้าหมายที่ชัดเจนลงไป ปัญญานั้นก็จะจับจด เรื่องนี้ก็รู้ เรื่องนั้นก็รู้ ไม่เอาจริงสักเรื่องไปเรื่อยไป พอมีศรัทธาปั้บ ศรัทธามันจับเจาะพุ่งเป้าไปเลย พอมันพุ่งเป้าไปนี้ ปัญญาก็มาอยู่กับเรื่องนี้เต็มที่ใช่ไหม มันก็จะเกิดความรู้ชัดเจาะลึกในเรื่องนั้นได้ผลดีละเอียดลงไปเลย ฉะนั้นก็เลยต้องอาศัยว่าต้องให้มีคู่กัน ศรัทธากับปัญญา ถ้าเกิดเป็นศรัทธาแบบเชื่อแล้วไม่ใช้ปัญญาก็งมงายใช่ไหม อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่ากลายเป็นศรัทธาที่ปิดกั้นปัญญา ก็เลยคู่นี้ก็ต้องมีความสัมพันธ์กันพอดีเรียกว่ามีดุลภาพพอเหมาะพอสมกัน ศรัทธาช่วยให้ปัญญาไม่จับจดและเจาะลึกลงไปเฉพาะมีกำลังเอาจริงเอาจัง พร้อมกันที่ว่าปัญญาก็ทำให้ศรัทธานี้ไม่งมงาย แล้วไม่ตันไปเสีย ถ้าไม่มีปัญญามา ศรัทธาตันเลยอยู่นั่นเอง ไม่ต้องไปไหนใช่ไหม ก็เป็นอันว่าได้ 2 คู่ 2 คู่นี้สำคัญ แล้วก็มีสติมา เจ้าสติคอยกำหนด คอยจับ คอยดู อะไรเกิดขึ้นเป็นไปเกิดขึ้น เจ้าสติดูหมด คือคอยกำหนด ที่บอกเหมือนนายประตู คอยตรวจ คอยดู ไม่ให้ผ่านลอไปเสีย สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไป มันจะมีผลเสียผลดีเนี่ย ไอ้เจ้าสติเป็นตัวคอยระวังไว้นะ คอยดูไว้ คอยกำหนดไว้ กำหนดไว้ก็ทำให้ปัญญได้ทำงานไปด้วย ปัญญาก็ตรวจดู พอสติจับไว้ให้ ปัญญาก็ดู พิจารณา แล้วถ้ามันจะเกิดผลเสียมันก็แก้ไขได้ทัน มันจะเกิดผลดีก็จะฉวยโอกาสใช้ประโยชน์ซะใช่ไหม เพราะฉะนั้นสติก็จะเป็นตัวคอยคุมหมดเลย ว่าเอ้อตอนนี้ศรัทธามันทำงานอย่างนี้ ไอ้เจ้าสติมันก็ทันหมด มันเคลื่อนไหวทำงานยังไง ปัญญาทำงานยังไง สติก็ทันหมด ที่นีเมื่อมันทันมันคอยกำหนดอยู่ ไอ้เจ้าปัญญาก็พิจารณาด้วยว่า ไอ้นี่มันเกินพอดีหรือเปล่า ไอ้นั่นมันน้อยไปหรือเปล่าใช่ไหม ทีนี้ถ้าศรัทธามันเกินไป ปัญญาอ่อนไป ก็มาปรับปัญญาให้มันเพิ่มขึ้น จะได้มาพอเหมาะกับศรัทธา ศรัทธาแรงไปแล้วลดสักหน่อย ปัญญาชักแรงไปแล้ว ศรัทธาน้อยไปก็เพิ่มศรัทธา อะไรอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าสตินี่จะเป็นตัวที่คอยช่วยคุม แล้วก็วิริยะความเพียรกับสมาธิก็เช่นเดียวกัน อันเจ้านี่ก็ช่วยคอยระวังไว้ ฉะนั้นสติก็ช่วยทำหน้าที่เกี่ยวข้องหมดเลยคลุมหมด คลุมหมดทุกอัน
ตอนนี้ครบ 5 นี่ท่านเรียกว่าอินทรีย์ 5 อันนี้เป็นความรู้พิเศษหน่อย เลยตั้งขึ้นมาเป็นหมวดธรรมอีกหมวดหนึ่งเรียกว่าอินทรีย์ 5 อินทรีย์ 5 ก็ประกอบด้วย 5 อย่างที่ว่ามา แล้วจัดเป็น 2 คู่ ก็ได้ 4 แล้วมีสติเป็นตัวคุมใช่ไหม ก็อินทรีย์ 5 แต่ละอย่างก็ทำหน้าที่ของตัวเอง แต่ว่าทำแล้วที่นั่นจะต้องมาประสานกันมันจึงจะได้ผลดี ศรัทธาก็ทำหน้าที่ในการที่จะทำให้มีการพุ่งสู่เป้าหมาย แล้วมีพลังใช่ไหม เอาจริงเอาจัง เสร็จแล้วปัญญาก็ทำหน้าที่รู้เข้าใจ เสร็จแล้วพุ่งเป้าไปเฉย ๆ ไม่มีปัญญาไม่มีประโยชน์ อันนี้ปัญญาก็ไป พอมันไปพุ่งเป้า ปัญญาก็รู้ตามที่พุ่งไป รู้ในสิ่งที่เอาไปเป้าหมายนั้น ก็เกิดความรู้ชัดเจน ทีนี้ก็วิริยะกับสมาธิก็เช่นเดียวกัน วิริยะก็ทำหน้าที่พาเดินหน้าไปเรื่อย เจ้าสมาธิก็ทำให้มั่นคงแน่วแน่สงบก็เลยช่วยกันก็เดินหน้าไปอย่างมั่นคงสงบ แต่ละอย่างก็ทำหน้าของตัว ของตัว สติก็คอยคุมไว้หมด อันนี้การแต่ละอย่างทำหน้าที่ของตัวนี้จึงเรียกว่าเป็นอินทรีย์แต่ละอย่าง แต่ละอย่างนะ ศรัทธาก็เป็นอินทรีย์ที่จะทำหน้าที่ ที่จะทำให้เกิดพลังพุ่งเป้าหมายไปสู่ทิศทางที่ต้องการเจาะลึกลงไปและก็ปัญญาก็ทำหน้าที่รู้เข้าใจ วิริยะก็ทำหน้าที่เดินไปข้างหน้า สมาธิก็ทำให้สงบแน่วแน่ สติก็ทำหน้าที่คุมตรวจดูไป
แล้วถ้าเจ้าทั้งหมดนี้เข้าชุดกันได้ดีก็จะเกิดการพัฒนาในการปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปสู่จุดหมายได้สำเร็จนะ นี้เพราะเหตุที่มันทำชุดกันแล้วมันเป็น 2 คู่ที่จะต้องมีดุลยภาพพอเหมาะพอดีเนี่ย ก็เลยท่านเรียกว่าเป็นธรรมะชุดพิเศษที่มีลักษณะที่ท่านเรียกว่าการปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอกัน ลักษณะธรรมชุดนี้ก็คือต้องให้มีความพอดีหรือความสม่ำเสมอ ซึ่งก็หมายถึงความสม่ำเสมอระหว่างธรรมที่เป็นคู่กัน 2 ชุดในแก่ศรัทธากับปัญญา 1 คู่ ว่าต้องปรับให้พอดีกัน ให้พอดีที่จะได้ผล และก็วิริยะกับสมาธิอีกคู่หนึ่งก็ต้องปรับให้พอดีที่จะได้ผล แล้วก็มีสติเป็นตัวคุม ก็ตอนนี้ก็เป็นอันว่าเราพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายจิตกับปัญญาและก็องค์ธรรมที่เป็นรายละเอียดในที่นั้น จนกระทั่งจากเรื่องของฝ่ายจิต 3 มาสัมพันธ์กับปัญญา แล้วก็มาเป็นธรรมะหมวดหนึ่งที่เรียกว่าอินทรีย์ 5 ซึ่งมีความสำคัญมากในการปฏิบัติธรรม ก็พอให้เห็นรูปเค้าแล้ว ทีนี้ใครมีอะไรสงสัยก็ถามขึ้นมาตอนนี้อีก
(6)
คนฟังถาม หมวดธรรมหมวดนี้เรียกว่าอีกอย่างหนึ่ง พละ 5 ในความหมายพละ
พระตอบ พละในความหมายอีกอย่างหนึ่ง พละหมายถึงความเป็นพลังที่จะไม่ให้ศัตรูเข้ามาครอบงำตัวเองได้ เป็นพละกำลังเหมือนกับภูมิต้านทาน เป็นพละเป็นภูมิต้านทานที่จะทรงตัวไว้ได้ ไม่ให้ฝ่ายอื่นเข้ามาครอบงำ ถ้าเป็นอินทรีย์คือฝ่ายรุก บุก เดินหน้า ก็เป็นอันว่าพละฝ่ายภูมิต้านทานป้องกันตัวการ ถ้าใช้ภาษาอังกฤษก็เป็นฝ่าย Defensive อินทรีย์ 5 นี้ฝ่ายลุกก็เป็นออก Offensive แล้วเดินหน้าไป มีอะไรสงสัยอีกไหมครับ
(7)
คนฟังถาม จะถามว่า เราจะตรวจอารมณ์ว่า ในขณะนั้นเราตั้งอยู่ในอารมณ์อย่างไร ในการตรวจสอบอารมณ์
พระตอบ มาอยู่ในอารมณ์วิปัสสนาอย่างไร
(8)
คนฟังถาม คือว่าเราจะวิปัสสนาระยะหนึ่ง เราอยากรู้อารมณ์ของเรานี่ ขั้น 1 หรือ ขั้น 2
พระตอบ อ้อ ขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนาญาณใช่ไหม อ๋อจะวิปัสสนาญาณก็ต้องดูวิปัสสนาญาณนั้นเป็นวิปัสสนาญาณขั้นกำหนดรู้รูปนาม แยกอะไรคือรูป อะไรคือนาม อย่างนี้ก็ ๆ ดูตรวจดูความเข้าใจว่า เช่นว่า ตามองเห็นใช่ไหม ก็จะแยกได้ว่านี่ อายตนะอินทรีย์ตา จากอุปสะเป็นรูปใช่ไหม รูปารมณ์สิ่งที่ตาเห็นก็เป็นรูปธรรม แล้วก็จักรวิญญาณการเห็นนี่เป็นนามใช่ไหม การแยกอย่างนี้ได้ก็เรียกว่าเป็นนามรูปริจเฉทญาณ คือแยกรูปนามออกจากกันได้อย่างนี้
(9)
คนฟังถาม ตั้งสัจจะนิพพาน เจริญสมาธิ ที่ว่าเสร็จแล้วสมาธิ คือว่าเราจะนั่งสมาธิ ขอธรรมะขึ้นสูงแก่เราอะไรอย่างนี้
พระตอบ อ๋อ อันนั้นไม่ใช่ เรื่องฌานแล้ว ไม่เกี่ยวแล้ว ถ้าอย่างงั้นมันอยู่ในโลก ห่วงทรัพย์สินเงินทอง ห่วงลูกเต้าใช่ไหม ทีนี้ทั้ง ๆ ที่มีศรัทธา แต่อ้ายตัวห่วงกังวลอะไรต่าง ๆ นี่จะตามมารบกวนจิตใจ แล้วก็ความมั่นใจเรี่ยวแรงในการปฏิบัติก็ไม่เต็มที่ นี้ก็เลยมีวิธีการว่าอ้าวมากล่าวคำมอบกายถวายชีวิตอาจารย์เป็นอันว่ามาถึงตอนนี้จะเข้าปฏิบัติครั้งนี้ แล้วตั้งจิตเด็ดเดียวปฏิบัติเต็มที่ไม่เอาอะไรทั้งนั้น ยอมมอบกายถวายชีวิตแล้ว ฉะนั้นไอ้เรื่องที่กังวลเรื่องครอบครัว เรื่องเงินทองจะพอใช้หรือเปล่า เดี๋ยวเราไม่ไปหา แล้วทางบ้านจะอยู่กันยังไง หรือเกิดมีอะไรไอ้เรื่องนี้ตัดไปเลยใช่ไหม เมื่อจิตไม่มีเรื่องความกังวลความคิดปรุงแต่งที่จะตามมารบกวนไม่มี มันก็ปฏิบัติไปได้ผล มันทำให้น้อมจิตไปสู่สมาธิได้ง่าย นี้การอธิษฐานจิตอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องประเภท เพราะการอธิษฐานก็คือการทำให้จิตตั้งมั่นเด็ดเดี่ยว เพื่อจะได้เป็นฐานทำให้จิตโน้มไปสู่สมาธิได้ง่ายนั่นเองน่ะไม่ใช่ตัวการปฏิบัติ ไม่ใช่ญาน ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น
(10)
คนฟังถาม การตั้งศรัทธาเบืองต้น
พระตอบ ก็เป็น เรื่องศรัทธา เป็นเรื่องของการทำให้จิตนี้แน่วยิ่งขึ้น มันเป็นตัวกำลังแรงเสริมความเพียร ความเพียรก็ได้รับกำลังหนุน ไอ้ความเพียรมีกำลังหนุนนี่ มันก็เป็นพลังในตัว วิริยะเป็นพลัง เป็นกำลังในตัว
(11)
คนฟังถาม สิ่งที่ อย่างพระเดชพระคุณว่า ปริโภช
พระตอบ ปริโภชต่าง ๆ ปริโภชก็แปลว่าสิ่งที่ขัดขวาง แต่เราก็แปลว่าห่วงกังวล
(12)
คนฟังถาม ท่านเจ้าคุณอาจารย์ครับ ถ้าผมจะลองเปรียบเทียบศรัทธาเราจะทำหน้าที่คล้าย ๆ กับสมาธิ แต่ว่าสมาธิเป็นเรื่องของทางจิต ศรัทธาเป็นเรื่องของปัญญา ผมเข้าใจถุกต้องไหม ถ้าคุณสมบัติจะเปรียบเทียบ
พระตอบ ศรัทธานี้เป็นองค์ธรรมในกระบวนการพัฒนาปัญญา แต่ตัวมันเองอยู่ฝ่ายจิต เป็นอาการของจิต อาการของจิตแบบนี้ ก็เหมือนอย่างสติก็เป็นคุณสมบัติฝ่ายจิต ศรัทธาเป็นฝ่ายจิต แต่เป็นตัวเชื่อมกับปัญญาใช่ไหม ศรัทธานี่เป็นอาการฝ่ายจิต แต่ว่ามันเป็นตัวที่ไปเชื่อมกับปัญญาไปทำงานหนุนปัญญา เพราะว่ามันเป็นอาการของความซาบซึ่ง เป็นอาการของความเชื่อ เป็นการที่จิตเนี้ยไปโยงไป คล้าย ๆ ว่า ศรัทธาทำให้ไปขึ้นต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยไปเหมือนกับไปหวังจากสิ่งนั้นใช่ไหม เช่นหวังจากบุคคลนี้ หวังจากเรื่องนี้ที่เราจะศึกษาว่าเราจะได้เกิดปัญญาความรู้ความเข้าใจ เกิดความมั่นใจในสิ่งนั้น เช่นว่าอย่าที่ยกตัวอย่างเมื่อกี้ไปฟังพระพุทธเจ้าเทศใช่ไหม มาฟังปั้บ ปัญญามันเกิดการพิจารณาได้รู้เข้าใจขึ้นมาได้เห็นความจริงที่พระพุทธเจ้าสอน ว่าเท่าที่เราได้มีปัญญาจะพิจารณาได้ในสิ่งที่พุทธเจ้าสอนเป็นความจริงทั้งนั้นเลย โอ้อย่างนี้ถ้าเราอยู่กับพระองค์หรือฟังพระองค์ต่อไปนี้เราจะได้ความรู้อีกเยอะแยะใช่ไหม เกิดความเชื่อมั่นต่อพระพุทธเจ้าแล้ว นี่คืออาการที่เรียกว่าศรัทธา เชื่อต่อพระพุทธเจ้า ก็ทำให้จิตของเราไปขึ้นต่อพระพุทธเจ้าเลย ฉะนั้นศรัทธาในแง่หนึ่งทำให้ขึ้นต่อสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นศรัทธาจึงไม่เป็นอิสระ แต่ว่ามันช่วยให้เราก้าวไปสู่อิสรภาพ เพราะเมื่อใดเราเกิดความรู้แจ้งขึ้นมาเหมือนพระพุทธเจ้ารู้ เราก็เป็นอิสระรู้ด้วยตนเองใช่ไหม แต่ว่าตอนที่ยังมีศรัทธา ก็คือตอนที่ยังขึ้นต่อเขา หรือขึ้นต่อเรื่องราว ขึ้นต่อสิ่งนั้นที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อจะให้เกิดปัญญา เพราะฉะนั้นศรัทธาจะมีลักษณะพึ่งพา หรือขึ้นต่อ แล้วจับเอาจิตของเราคือตัวเราไปโยงเข้ากับสิ่งนั้นไว้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่ให้เราอยู่แค่ขั้นศรัทธา เป็นเพียงมาอาศัยศรัทธาเป็นบันไดก้าวไปสู่ปัญญา เมื่อเกิดปัญญาแล้วในที่สุดก็จะเป็นอิสระใช่ไหม เกิดอิสรภาพก็หลุดพ้นไม่ต้องพึ่งพาไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งนั้นใช่ไหมครับ
(13)
คนฟังถาม จะพูดโดยสรุปคือขั้นที่ปัญญา ถึงขึ้นสละสูงสุด ศรัทธาก็ไม่มีแล้วใช่ไหมครับ
พระตอบ ศรัทธาก็เป็นอันว่า ศรัทธาก็ไม่ต้องทำหน้าที่แล้ว ศรัทธาไม่ต้ัองทำ ทำไมล่ะ เพราะมันรู้ด้วยตนเองอย่างนั้นแล้วใช่ไหม
เอ้ายกตัวอย่างให้เป็นอุปมาอีกอันหนึ่งก็ได้ ศรัทธากับปัญญาต่างกันอย่างไร มีพระอาจารย์ลังกาองค์หนึ่ง วันโปอุราหุระ ท่านยกอุปมานี้ดี แต่ว่าสมมุติว่าผมเนี่ยนั่งอยู่แล้วผมอยู่ ๆ ก็กำมือนี้ปั้บขึ้นมา กำมือนี่ แล้วผมก็บอกว่าในมือผมเนี่ย มีดอกกุหลาบดอกหนึ่ง ผมกำไว้แล้ว ทีนี้นั่งกันอยู่ในที่นี้หลายท่าน ผมกำไว้ ท่านก็ไม่เห็นสักองค์หนึ่งเพราะมือมันบังอยู่ เอ้แต่ผมว่ามีดอกกุหลาบอยู่ในนี้ ท่านก็มองไม่เห็น แต่มันจะมีหรือไม่มี ตอนนี้เรายังไม่รู้นะ ยังไม่รู้ก็คือปัญญายังไม่มี ทีนี้มันก็มีปัญหาว่าเมื่อยังไม่รู้ไม่เห็น ยังไม่ประจักษ์ ก็อยู่จะเชื่อไม่เชื่อ เชื่อว่าอยู่ในมือผมนี่มีดอกกุหลาบ เอ้าตอนนี้เป็นปัญหา เชื่อก็คือศรัทธา ทีนี้บางท่านก็เชื่อง่ายใช่ไหม อ๋อองค์นี้ไม่ต้องห่วง พูดอะไรก็เชื่อได้ใช่ไหม ก็ไม่ต้องใช้ความคิดมาก เชื่องง่าย อ๋อถ้าองค์นี้พูดแล้วก็เป็นจริง อันนั้นก็เชื่อเลย นี่ก็เชื่อแล้ว เชื่อว่ามีดอกไม้ มีดอกกุหลาบในมือ อีกองค์หนึ่งอึมไม่ได้ต้องพิจารณาก่อน เอ้มันเป็นไปได้ไหมมือเท่านี้กำดอกกุหลาบได้ไหม เอ้อมันได้น่ะกำได้ขนาดนี้ ดอกกุหลาบมีหลายขนาดเล็ก ๆ ก็มีกำได้ องค์นี้เชื่อแล้ว แต่อีกองค์ยัง ๆ แค่นี้ยังไม่พอ องค์นี้เชื่อยากกว่า ต้องพิจารณามาก เอ้แล้วท่านอยู่แถว ๆ นี้ ตอนที่ท่านเดินมา มันมีเป็นไปได้ที่ท่านเดินผ่าน ไอ้ที่จะมีดอกกุหลาบหยิบมา ก็สืบดูพฤติกรรมของท่านอะไรต่าง ๆ เหล่านี้น่ะ ความเป็นไปได้ต่าง ๆ แล้วก็สรุป แต่ยังไงก็ตามทุกท่านเนี่ยก็จะอยู่ในเรื่องของเชื่อไม่เชื่อทั้งนั้น ก็คืออยู่ในขั้นศรัทธาหมดเลยใช่ไหม ศรัทธานั้นจะศรัทธาแบบตาบอดงมงายสักแต่ว่าเชื่อไม่ได้คิดเลย หรือศรัทธาแบบมีปัญญาพิจารณาก่อนเชื่อ แล้วปัญญาที่พิจารณาก่อนศรัทธา ก็จะต้องไม่เท่ากันใช่ไหม ศรัทธามีปัญญามากน้อยประกอบกัน ตอนนี้แต่ว่ารวมแล้วก็ยังอยู่ในเรื่องศรัทธา คือเชื่อหรือไม่เชื่อ จนกระทั่งผมแบบมือปั้บอย่างนี้ พอแบบมือท่านมองเป็นด้วยตนเอง มีไม่มีก็รู้เลย ตอนนี้คือปัญญา คือรู้เห็นประจักษ์ ตอนนี้เลิกพูดเรื่องเชื่อไม่เชื่อ ถูกไหม ฉะนั้นตอนที่เรายังไม่มีปัญญายังไม่รู้ไม่เห็นประจักษ์นี่ เรายังต้องอาศัยศรัทธา แต่เมื่อปัญญารู้เห็นแจ่มแจ้งแล้วก็หมดหน้าที่ของศรัทธาใช่ไหม ก็ไม่ต้องใช้ศรัทธาอีกต่อไป
ทีนี้พูดถึงชีวิตของมนุษย์ทั้งหมดนี่ เป็นปุถุชนประกอบด้วยอวิชา ยังไม่รู้แจ้งโลกและชีวิตตามเป็นจริง นั้นเรื่องศรัทธาก็จะต้องเป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำให้เราเนี่ยได้มาศึกษาเล่าเรียนอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องอาศัยศรัทธาทั้งนั้น เพื่อจะนำไปสู่ปัญญาต่อไป ถ้าท่านมีศรัทธามาก ท่านก็ศึกษาเอาจริงเอาจังมากในการศึกษา มีพลังในการศึกษา แล้วเจาะจุดพุ่งเป้า แต่ท่านไม่มีศรัทธา ท่านก็พล่าใช่ไหม และไม่มีกำลัง
(14)
คนฟังถาม เรื่องของศรัทธากับปัญญานี่ ผมจะขอกราบเรียนท่านพระคุณในเรื่องของ พระสารีบุตร จะสรุปจากกรณีของพระสารีบุตร เรื่องของพระสารีบุต พระองค์มีปัญญมาก ก็เลยทำให้ท่านบรรลุได้ช้าหรือเปล่า แม้กระทั่งเพื่อน ๆ พระโมคคัลลานะ อันนี้จะเป็นการสรุปถูกต้อง
พระตอบ ก็คิดมาก พูดง่าย ๆ คิดมากใช่ไหม ก็คิดมาก มันก็ทำให้ศรัทธานี่ไม่แรงเท่า เพราะฉะนั้นการพุ่งเป้า ก็เลยชักจะยังเป็นห่วงอันนั้นอยู่ เอ้คือแทนที่จะไปพุ่งเป้าอันนี้ ยังเต็มที่ ไปห่วงเรื่องโน้นเรื่องนี้ ต้องไปขอคิดเรื่องนี้หน่อย เรื่องนั้นหน่อย เรื่องนี้หน่อย คิดเยอะ ก็ไปเสียเวลากับไอ้เรื่องปลีกย่อยที่จะต้องคิดอีกเยอะ หรือว่าในเรื่องเดียวกันนี่ที่พุ่งเป้าไปแล้วน่ะ ไปเจอแง่มุมอะไร ไอ้พวกมีปัญญามันจะไปคิด ไปจับจุด ไปแยกแยะ ไปวิเคราะห์ในเรื่องเหล่านั้น โดยไม่จำเป็นเลย นี้พวกศรัทธาแรงกับปัญญาพอประมาณมันพอดี พอดี มันก็เลยดิ่งไปเลย
(15)
คนฟังถาม ถ้าปัญญาก็มีโทษของปัญญาอยู่เหมือนกันใช่ไหม
พระตอบ อ๋อก็แล้วแต่จะคิด มันก็เป็นกุศลเป็นความดี เพราะว่าเหมือนแสงสว่าง แต่ว่าก็อยู่ที่การใช้ใช่ไหม เพราะตัวเองนี่เมื่อมันมีความไอ้ความไม่สม่ำเสมออินทรีย์ การใช้สิ่งเหล่านี้มันก็ไม่พอดีใช่ไหม มันเลยเกิดความขาดตกบกพร่อง แต่บางครั้งไอ้การที่ช้าเหล่านี้แหละ มันกลับกลายเป็นความรอบครอบ ถูกไหม กลายเป็นความละเอียด เหมือนอย่างพระสารีบุตร เอ้าท่านไปเที่ยวจับจุดอะไรต่าง ๆ ปลีกย่อยแยกแยะไป ดูให้มันชัดให้หมด มันก็ไปเสียเวลากับความชัดเจนในเรื่องปลีกย่อยเยอะ แต่ว่ามันกลายเป็นความละเอียดลึกซึ้งและทั่วถึง ทีนี้พอท่านตรัสรู้นี่ ในการใช้งานในเวลาไปทำงานเผยแผ่สั่งสอนนี้ มันสามารถที่จะแจกแจงแยกแยะออกไป ละเอียดก็กลับเป็นผลดีใช่ไหม
(16)
คนฟังถาม ขอเพิ่มในขั้นสุดท้าย
พระตอบ ในขั้นที่เอาใช้ประโยชน์ดีแก่ผู้อื่นในการสั่งสอน