แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เริ่มตั้งแต่กายานุปัสสนาสติปัฏฐานไปว่ามีรายการที่แจกแจงออกไปอย่างไรบ้าง กายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่บอกว่าตั้งสติตามดูรู้ทันกายเนี่ย ก็เริ่มตั้งแต่หมวดที่ 1 ก็คือ กำหนดเรื่องลมหายใจ กำหนดลมหายใจนี่ก็เรียกกันว่า อานาปานบรรพ บรรพแปลว่าหมวด อานาปานบรรพ คือการหายใจเข้าออก มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก ออกจากเริ่มจากการไปหาที่สงบสงัดเป็นป่าหรือเป็นเรื่องว่างเป็นต้น และเข้าไปนั่งสมาธิ ตั้งตัวตรงวางสติไว้ และมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก หายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น ต่อจากรู้จักเรื่องลมหายใจเข้าออกสั้นยาวแล้ว ท่านใช้คำว่าศึกษาว่า ศึกษาก็คือฝึก เมื่อกี๊นี้แค่รู้ ให้สังเกตความต่าง เมื่อกี๊คือรู้ชัด คือตัวเองหายใจออกยาวเข้ายาว เข้าสั้นออกสั้นก็รู้ไปตามนั้น ทีนี้ ตอนนี้มาถึงฝึกเลย ฝึกให้รู้ทั่วตลอดทั้งกาย รู้กายทั้งหมดพร้อมกับหายใจเข้า และศึกษาว่ารู้ตลอดทั่วกายทั้งหมดหายใจออก เวลาหายใจเข้าออกเนี่ย ให้ทำใจรู้ทั่วไปทั้งตัว ต่อจากนั้นก็ศึกษาว่า ผ่อนคลายกายสังขารหายใจเข้า บางทีก็แปลกันว่าระงับ ระงับก็คือทำให้มันสงบ ทำให้ผ่อนคลาย ผ่อนคลายกายสังขารหายใจเข้า และฝึกตัวให้ผ่อนคลายกายสังขารหายใจออก นี่คือหมวดที่เรียกว่ากำหนดลมหายใจ นี่เป็นวิธีการที่ดูไปตามเนื้อหาที่ท่านแสดงไว้ยังไม่อธิบาย
จากนี้ก็จะไปหมวดที่ 2 ในกายานุปัสสนานั้น คือหมวดอิริยาบถ หรืออิริยาบรรพ อิริยาบถ 4 ก็ยืน เดิน นั่ง นอน อย่างที่ว่ามาแล้ว ท่านก็บอกว่า เดินไปก็รู้ชัดว่าเดินไป ยืนก็รู้ชัดว่ายืน นั่งก็รู้ชัดว่านั่ง นอนก็รู้ชัดว่านอน อันนี้ก็รู้การเคลื่อนไหวในระดับของอิริยาบทสี่ ของตน กายตั้งอยู่อย่างไรก็รู้ชัดกายนั้นที่ตั้งอยู่อย่างนั้น นี่เป็นเรื่องอิริยาบถ หมวดต่อไปที่ 3 เรียกว่า สัมปชัญญะบรรพ อันนี้ก็เป็นเรื่องของการที่ว่า มีสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวทั่วพร้อมในการเคลื่อนไหวทุกอย่าง อันนี้ให้สังเกตความต่างจากข้ออิริยาบถ อิริยาบถนั้นมีเพียงสี่ คือยืน เดิน นั่ง นอน แต่ในหัวข้อ สัมปชัญญะนี่ เป็นเรื่องการเคลื่อนไหวทุกอย่าง แม้แต่เล็กๆน้อยๆ แล้วอีกประการหนึ่ง จุดที่ต่างก็คือว่า ในหัวข้ออิริยาบถนั้น ไม่ได้พูดเน้นเรื่องสัมปชัญญะ ก็แสดงว่าตัวสตินั้นเป็นตัวสำคัญ แต่มาในหมวดนี้ที่พูดถึงการเคลื่อนไหวย่อยทุกอย่างเนี่ย จะเน้นเรื่องสัมปชัญญะ ถึงกับเอาสัมปชัญญะมาตั้งเป็นชื่อหมวด แล้วเวลาบรรยายเนี่ย ท่านจะใช้คำว่า (สัม ปะ ชา ญะ กา รี) กระทำความรู้ตัวทั่วพร้อม คำว่า ชัญญะ จะมาเด่นในนี้ แม้แต่อิริยาบท 4 นั้นก็จะมาอยู่ในข้อนี้ด้วย คือข้ออิริยาบถนั้นจะพูดถึงแต่อิริยาบถ 4 แต่ในข้อสัปชัญญะหมวดนี้นั้น รวมทั้งอิริยบท 4 เข้ามาด้วยพร้อมทั้งการเคลื่อนไหวเล็กๆน้อยๆ อาตมาจะพูดรายการให้ฟัง กระทำสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อมเนี่ย ในการก้าวไปข้างหน้า ในการก้าวไปข้างหลัง ในการเหลียวหน้า ในการแลหลัง ในการคู้เข้า การในเหยียดออก นั่นหมายความว่าเราจะเหยียดแขน คู้ขา ก็มีสัมปชัญญะ ในการครอง หรือทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร นี่หมายความว่า ถ้าเป็นคฤหัสน์ก็คือการนุ่มห่มเสื้อผ้า ต่อไปก็คือในการดื่ม ในการเคี้ยว ในการลิ้มรส หรือลิ้มอาหาร ต่อไปก็ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ และลงท้ายว่าในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และนิ่ง นี่รู้ตัวหมด แสดงว่าการเคลื่อนไหวทุกอย่างรวมอยู่ในเรื่องสัมปชัญญะนี้ และก็รวมทั้งอิริยาบถสี่ทีว่ามาแล้วด้วย มาอยู่ในข้อสัมปชัญญะหมด นี่ให้สังเกต เรื่องความต่างระหว่างสองหมวดนี้ ซึ่งอาตมาจะได้พูดต่อไปอีก ก็ขอจบหมวดที่สามนั้นก่อน ที่ผ่านไปจะเห็นว่าเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวของลมหายใจที่ตัวเราไม่ได้เคลื่อนไหว แล้วก็มาเคลื่อนไหวของร่างกายในอิริยาบทและการขยับเขยื้อนร่างกายทุกอย่าง
ต่อไปในหมวดที่สี่นี้ เป็นการพิจารณาดูว่ากายในส่วนเนื้อหาหรือองค์ประกอบต่างๆของร่างกายททั้งหมดนี้ ซึ่งตั้งชื่อหัวข้อว่า ปฏิกูลมนสิการบรรพ ก็คือว่าด้วยการพิจาราณาปฏิกูล สิ่งปฏิกูลหรือความเป็นปฏิกูล ในที่นี้ก็หมายถึงในร่างกาย คือพิจารณาดูสำรวจร่างกายเรานี้ทั้งหมด แยกออกเป็นอวัยวะต่างๆ อย่างที่กล่าวเมื่อกี๊นี้ เป็นการดูอย่างกระจายแยกๆกันออกไป ท่านจะใช้คำว่า พิจารณากายนี้นั่นแหละ เบื้องบนตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไป ข้างล่างตั้งแต่ปลายผมลงมามีหนังหุ้มอยู่ ห่อหุ้มทั้งหมด อันเต็มไปด้วยสิ่งไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่าในกายนี้ มีสิ่งต่อไปนี้ และท่านก็บรรยายอาการ 32 เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก อาหารเก่า อาหารใหม่ อะไรเหล่านี้ เป็นรายชื่อของอาการ 32 ก็ให้สำรวจดูทั้งนี้ก็ให้เข้าใจร่างกายชีวิตของเราในแง่หนึ่ง ในแง่ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบหรืออวัยวะต่างๆมากมาย ซึ่งบางทีเราก็ไม่ได้มองดูร่างกายชีวิตของเรา และได้มองดูในข้อนี้แล้วเป็นการแยกกระจายเป็นส่วนๆ
ทีนี้ต่อไปในข้อ 5 ก็เป็นข้อที่เรียกว่า ธาตุมนสิการบรรพหมวดว่าด้วยการพิจารณาธาตุ ก็มองดูในร่างกายนี้อีกนั่นแหละ ท่านบอกว่าให้พิจารณากายนี้นั่นแหละ ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่ว่า ในกายนี้ มีปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ สิ่งใดที่มีลักษณะที่เป็นเนื้อหา เรียกว่า แค่นแข็ง คือปฐวีธาตุ ส่วนใดที่มีลักษณะเป็นน้ำ เป็นของเหลว เป็นของเอิบอาบ ก็เรียกว่า อาโปธาตุ ส่วนใดที่เป็นลักษณะที่เป็นความร้อน อบอุ่น ก็เรียกว่าเตโชธาตุ ส่วนใดที่มีลักษณะพับไหว ก็เรียกว่าวาโยธาตุ เป็นพวกแก๊สอะไรต่างๆ นี่ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง หรือใครจะคิดแยกธาตุแบบวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ก็ใช้ได้เหมือนกัน ก็ให้เห็นความจริงอย่างหนึ่ง คือให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติเป็นเรื่องของสภาวธรรม ที่มาปรุงประกอบกันเข้าเป็นชีวิตร่างกายนี้
ต่อไปเป็นหมวดสุดท้ายในกายานุปัสสนา ได้แก่ หมวดที่เรียกว่า นวสีวถิกาบรรพ ในที่นี้ไม่ได้เรียกว่า อสุภะ หรือเกี่ยวกับซากศพที่เราเคยผ่านมาทีหนึ่งแล้ว ในตอนบำเพ็ญสมถกรรมฐาน มีเรื่องอสุภะ 10 ประการ ในที่นี้มาถึงเรื่องซากศพอีก ชื่อว่า นวสีวถิกา สีวถิกา แปลว่าป่าช้า นว (นะ วะ) แปลว่า 9 หมายความว่า เรื่องซากศพในป่าช้าที่มีสภาพต่างๆกัน 9 ระยะด้วยกัน ต่อไปจะให้เปรียบเทียบให้เห็นข้อสังเกตความแตกต่างเรื่องอสุภะในสมถกรรมฐาน กับซากศพที่อยู่ในเรื่องของสติปัฏฐาน ซึ่งไม่เรียกชื่อว่าอสุภะ แต่ว่าตอนนี้ก็ขอให้ดูเนื้อหารายละเอียดไปก่อน ถ้าบอกว่าให้ดูร่างกาย ก็คือซากศพนั่นเอง เหมือนอย่างว่าเราดูร่างกายที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า และน้อมเข้ามาพิจารณาร่างกายนี้คือร่างกายของเรานี้ ว่า แม้กายนี้ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา จะต้องเป็นอย่างนี้ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ คือมองดูซากศพในป่าช้า และน้อมเข้ามาพิจารณาเทียบกับร่างกายของตน ทีนี้เป็นเนื้อหาจะยังไม่วิจารณ์ จะแยกออกไปตั้งแต่ซากศพที่ตายแล้ว 1 วัน 2 วัน 3 วัน ขึ้นอืด ขึ้นพอง มีสีเขียวคล้ำเป็นน้ำหนองไหล ต่อมาก็เป็นซากศพต่างๆที่ถูกสัตว์ต่างๆเช่นกา เหยี่ยว แร้ง มากัดกิน ต่อมาก็เป็นซากศพที่เป็นร่างกระดูก ยังมีโครงอยู่ ซึ่งยังมีเนื้อ มีเลือด มีเส้นเอ็นตรึงไว้ ต่อมาก็มีร่างกระดูกที่ไม่มีเนื้อ เปื้อนเลือดอยู่ แต่มีเส้นเอ็นที่มาช่วยรัดตรึงไว้ ต่อมาก็เห็นเป็นร่างกระดูก ก็ดูศพร่างกระดูกที่ไม่มีแม้แต่เนื้อและเลือด แต่ก็ยังมีเส้นเอ็นผูกไว้อยู่ แต่ในที่สุดก็ดูซากศพที่ไม่เป็นซากศพแล้วแต่เป็นกระดูก และกระดูกนั้นไม่เป็นโครงร่างแล้วแต่เป็นชิ้นกระดูก ชิ้นกระดูกที่ไม่มีเส้นเอ็นรัดตรึงไว้ กระจัดกระจายไปในทิศทั้งหลาย ทั้งทิศใหญ่ทิศน้อย เช่นกระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่งมากมาย ข้อต่อไปก็พูดถึงว่า เป็นกระดูกชิ้นที่เป็นสีขาว สีอย่างสังข์ นี่ก็คือการที่เปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาตามร่างกายที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า และขั้นต่อไปก็คือชิ้นกระดูกที่ผ่านเวลาไปเป็นปี เหลือแต่เป็นกองๆเป็นหย่อมๆ และในที่สุดข้อที่ 9 ก็เป็นชิ้นกระดูกซึ่งผุ จนกระทั่งว่า กลายเป็นฝุ่นเป็นผงเป็นธุลี และกระจัดกระจาย ไม่เหลือเป็นตัวเป็นตนแล้ว ก็หมดไปกับธรรมชาติ นี่ก็คือหมวดกายานุปัสสนา ก็จบเท่านี้
เมื่อฟังแล้วได้ข้อสังเกตอะไรบ้าง ก็เป็นอันว่าเราเริ่มจากหมวดกายานุปัสสนา ได้บอกแล้วเรื่องสติปัฏฐานได้พิจารณารู้ ชีวิตร่างกายนี้แหละ ชีวิตจิตใจทั้งหมดนี้แหละ เริ่มจากร่างกายเป็นต้นไป เพราะเป็นส่วนที่เห็นง่าย เป็นส่วนที่หยาบ ด้านร่างกายท่านก็ให้ดูถ้วนทั่วตลอดทั้งหมดเลย ทั้งเนื้อทั้งตัว ทั้งส่วนเนื้อหาส่วนประกอบภายในอวัยวะต่างๆ การเคลื่อนไหว ตลอดจนกระทั่งการหายใจ เรียกได้ว่าทุกแง่ทุกมุมของชีวิตด้านกาย นอกจากว่าดูทุกแง่ทุกด้านทุกส่วนของชีวิตที่เป็นด้านกายนั้นแล้ว ก็ดูตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีลมหายใจ จนกระทั่งตายไป จนกระทั่งกระดูกป่นเป็นผงธุลีหายไป หมดสิ้นไป ไม่มีอะไรเหลือ นี่ก็คือการดูชีวิต จนกระทั่งว่า คนเราไม่เหลือแล้ว เป็นฝุ่นเป็นธุลี หายไปเลย การพิจารณาดูร่างกายของเราเนี่ย มันมีข้อจำกัด ข้อจำกัดอย่างไรก็คือว่า เราจะไม่เห็นกายของเราตลอด ว่ามันเป็นอย่างไรไปบ้าง หมายความว่าอวสานของร่างกายของเราเนี่ย เราไม่สามารถเห็นได้ด้วยตัวเอง ท่านต้องการให้เราเนี่ยดูเห็นร่างกายตลอด ร่างกายของเราต่อจากเรามีชีวิตอยู่คือตายไปแล้วนี่ มันจะเป็นอย่างไรเราไม่อาจจะเห็นได้ เมื่อไม่อาจจะเห็นท่านก็เลยให้ไปดูซากศพในป่าช้าแทน แล้วก็ดูซากศพนั้นแล้วก็บอกว่า ให้น้อมมาพิจารณาร่างกายนี้ ว่าจะต้องเป็นอย่างนี้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ อันนี้แหละ นี่ก็คือการดูร่างกายของตนเองทั่วตลอด ในแง่ว่าทุกส่วน ตั้งแต่มีชีวิตจนกระทั่งหมดชีวิต จนกระทั่งตายเป็นผุยผงไม่มีเหลือเลย อันนี้ ให้เข้าใจว่าท่านต้องการให้เรารู้จักชีวิตของเราอย่างแท้จริงขนาดไหน เมื่อมาถึงจุดนี้ อาตมาก็จะให้ข้อสังเกตเรื่องความแตกต่างระหว่างเรื่องพิจารณาซากศพในสติปัฏฐานนี้ ซึ่งเรียกว่านวสีวถิกา กับเรื่องอสุภะในสมถะ ซึ่งอสุภะนั้นมี 10 แต่ว่าในนวสีวถิกานั้นมี 9
ข้อสังเกตที่ 1 นั้นอาตมาพูดไปแล้วว่า การดูซากศพนั้นไม่ได้เรียกว่าอสุภะ ไม่ได้เน้นในเรื่องของความไม่งามหรือน่าเกลียด เพราะว่าท่านมุ่งเพียงให้ดูตามสภาพที่เป็นจริงของร่างกายของทุกคน ว่าร่างกายของทุกคนมันก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น คือเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ มีลมหายใจ ก็เป็นอย่างนี้ มีส่วนประกอบอย่างนี้ เวลาตายไปแล้วมันก็จะเป็นอย่างนี้ ในเมื่อดูของตัวเองไม่ได้ ก็ดูจากซากศพที่เป็นจริงมาเทียบ ซึ่งมันก็จะเป็นสภาพอย่างนั้น ที่เป็นจริง เมื่อเราตายไปแล้วมันก็จะต้องมีอนาคตอย่างนั้นร่างกายของเราก็จะแปรสภาพเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นในสติปัฏฐานนี้ จึงเอาสภาพร่างกายที่เปื่อยเน่าผุพังไปตามธรรมชาติ ไม่มีศพที่มีเหตุพิเศษ ผิดประหลาด ไม่เหมือนในอสุภะ ถ้าดูในอสุภะแล้วจะเห็นว่ามีซากศพต่างๆ ที่ไม่น่าดูเป็นพิเศษ ที่คล้ายๆจงใจให้ไปดูศพที่น่ากลัวน่าเกลียด เช่นเรียกว่า ศพที่เรียกว่า วิจฉิททกะแปลว่าศพที่ขาดเป็นสองท่อน วิกขิตตกะ ศพที่ถูกเหมือนกับถูกหั่นกระจัดกระจาย ศพที่หตวิกขิตตกะ ที่ถูกหั่นเป็นท่อนๆอะไรต่างๆเหล่านี้ แม้กระทั่งศพที่ปุฬุวกะ มีหนอนขึ้นคลาคล่ำในหมวดสติปัฏฐานนี้ก็ไม่มี ในสติปัฏฐานนี้ ไม่ได้จงใจเน้นไปที่ความรู้สึกน่าเกลียดน่ากลัว ไม่เหมือนกับในอสุภกรรมฐาน ในอสุภกรรมฐานที่เป็นเรื่องสมถะนั้น มุ่งที่จะแก้คนราคะจริต และต้องการนิมิตเอาไปใช้ในการทำสมาธิ ท่านบอกว่ายิ่งน่ากลัวก็ทำให้นิมิตติดดี อย่างที่เคยพูดมาแล้ว ก็เลยไปเน้นเรื่องความน่าเกลียด พิจารณาความน่าเกลียดของร่างกายที่เป็นซากศพ แต่ในสติปัฏฐานนี้ มองในแง่สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมดาของชีวิต ให้รู้ความเป็นไปของชีวิตตามสภาพธรรมดา ให้เห็นตามคติแห่งธรรมดาว่าชีวิตของเรา ก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน ด้านร่างกายของเราจะต้องเป็นอย่างนี้ อย่างนี้เป็นข้อสังเกตที่ควรจะได้ใส่ใจไว้
ต่อไปก็ข้อสังเกตในเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องปฏิกูลมนสิการ ก็ไปดูร่างกายของเราที่ประกอบด้วยอาการ 32 เป็นการดูอย่างแยกกระจายเป็นส่วนๆ อวัยวะต่างๆมากมาย นั่นก็เป็นการพิจาณาแบบหนึ่ง แล้วมาข้อต่อไปธาตุมนัสกการนั้น ก็มาพิจารณาอีกแบบหนึ่ง คือพิจารณาในแง่ของการประมวล การประมวลเป็นพวกๆ เรียกว่าเป็นธาตุสี่ ซึ่งอวัยต่างๆ ส่วนประกอบร่างกายทั้งหมด ก็จัดไว้สี่พวก ถ้าดูในแง่วิเคราะห์และแง่การสังเคราะห์ ดูทั้งในแง่ของการแยกกระจายและการรวม ในการแยกอย่างนี้เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง จะได้เห็นสภาพธรรมดาของชีวิต จะได้ไม่หลงใหลมัวเมา ได้รู้จักชีวิตของตนตามความเป็นจริง และให้รู้เป็นธรรมดาทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าจะให้ไปกลัว ไปหวาดไปน่าเกลียดอะไร ในแง่หนึ่งก็จะทำให้เห็นอนัตตาง่ายขึ้น คือการที่เห็นร่างกายนี้แยกออกไปประกอบด้วยองค์ประกอบมากมาย ก็คล้ายๆเป็นการชิมลางอนัตตาไปด้วย อีกอันหนึ่งที่อาตมาได้พูดไปทีหนึ่งแล้วก็คือเรื่อง อิริยาบถบรรพ หมวดพิจารณาเรื่องอิริยาบถสี่ การยืน เดิน นั่ง นอน กับเรื่องสัมปชัญญะ ตามดูรู้ทันคือ รู้ตัวทั่วพร้อมในการเคลื่อนไหวทุกอย่าง อย่างที่บอก ในเรื่องอิริยาบถนั้นไม่ได้เน้นตัวสัมปชัญญะ แม้จะมีตัวสัมปชัญญะ ก็แค่รู้ชัดถึงอาการเคลื่อนไหวถึงอิริยาบถทั้งสี่ แต่ในหัวข้อสัมปชัญญะบรรพนี้ เป็นการที่ว่าเน้นเรื่องสัมปชัญญะถึงกับตั้งคำขึ้นมาว่า (สัม ปะ ชา นะ กา รี) แล้วก็เอาอิริยาบทสี่นั้นมาใส่ในหัวข้อสัมปชัญญะอีก ไม่ใช่เป็นการกระจายหัวข้อจากอิริยาบถสี่มาเป็นย่อย แต่ที่จริงคือเป็นการเปลี่ยนแง่ของการพิจารณาเป็นการเปลี่ยนจุดเน้น ให้ไปเน้นที่สัมปชัญญะ หรือเน้นที่ปัญญา
ฉะนั้นในเรื่องสัมปชัญญะนี้จุดเน้นการเคลื่อนไหวของเรานี้ ก็มาอยู่ที่การเน้นปัญญาให้มากขึ้น การเน้นปัญญาก็อยู่ที่สัมปชัญญะอย่างที่กล่าวแล้ว สัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อม หรือตัวปัญญานี้ ในหนังสือรุ่นหลังๆ ท่านจะช่วยเราให้มองเห็นชัดเจนขึ้น มีการแบ่งสัมปชัญญะเป็น 4 อย่าง การมีสัปชัญญะนี้ก็เท่ากับว่าในการเคลื่อนไหวแต่ละอย่างของเรานี่ ให้มีสัมปชัญญะสี่ด้านนี้ สัมปชัญญะสี่ด้านมีอะไรบ้าง ก็ขอให้ชื่อเป็นภาษาบาลี 1. สาตถกสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมที่ตระหนักชัดในจุดหมาย ในความมุ่งหมาย การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวของเรานี้ ถ้าเราจะมีความรู้ตัวจริงเนี่ย เราจะต้องมีความชัดเจนในจุดมุ่งหมาย การกระทำ การเคลื่อนไหวทุกอย่าง แน่นอนว่า ต้องมีจุดมุ่งหมาย ฉะนั้น เราจะทำอะไรเราจะเหยียดมือเหยียดเท้าเนี่ย เรามีความมุ่งหมาย การมีสัมปชัญญะนั้น เป็นการที่ตระหนักชัดในความมุ่งหมายของการกระทำนั้น ต่อไปอันที่สอง สัปปายสัมปชัญญะ ความรู้ตระหนักชัดในภาวะที่เป็นสบาย เป็นสัปปายะ สบายหมายความว่า มันเกื้อกูลหรือเหมาะเอื้อต่อจุดหมายนั้น อย่างเราขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายหรือทำอะไรก็ตาม เราจะมีความตระหนักชัดด้วยว่าอาการกระทำของเรานั้น มันเอื้อต่อการที่จะให้สำเร็จต่อจุดมุ่งหมายของการเคลื่อนไหว หรือการกระทำนั้น มันพอดี มันเป็นที่สบาย อย่างสบายต่อสุขภาพของเราด้วย คือมันเหมาะมันพอดีนั่นเอง เราก็มีความรู้เข้าใจในอันนี้ ซึ่งการกระทำที่ถูกต้อง ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ ต่อไปก็ โคจรสัมปชัญญะ ความรู้ตระหนักชัดในแดนงาน คือการกระทำแต่ละอย่างเนี่ยมันก็อยู่ในแดนของกิจกรรมประเภทเดียวกันที่ว่า มีการกระทำที่อยู่ในจำพวกเดียวกันที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นขอบเขตอันเดียวกันที่สัมพันธ์กัน เราก็ตระหนักชัดในวงงานหรือแดนกิจกรรมนั้น ที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยกัน ต่อไปข้อที่ 4 อสัมโมหสัมปชัญญะ ความรู้ตระหนักชัดที่จะทำให้ไม่เกิดความหลง คือเป็นการที่ทำการนั้นโดยไม่มีความโง่เขลา มีความเข้าใจ ทำโดยที่ว่าไม่มีความหลงเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ ความตระหนักชัดในการกระทำของตนเองนี้ ว่ามีความชัดเจน ในด้านต่างๆ ในการที่ว่านอกจากว่าชัดเจนในเรื่องของตัวการกระทำนั้น ที่ไม่ได้ทำโดยมีความลุ่มหลงงมงายอะไรสักอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ก็รู้เข้าใจจนกระทั่งถึงสภาวะ การรู้เข้าใจขั้นสูงนี่ก็คือปัญญาที่รู้ทันสภาวธรรมที่กระทำไปโดยไม่หลงว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา คือเป็นอาการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวที่เป็นสภาวธรรม เป็นรูปธรรม นามธรรม นี่ก็เรียกว่าเป็นการที่มีสัมปชัญญะในการเคลื่อนไหวนั้นอย่างชนิดที่ไม่มีความหลง เรียกว่าไม่หลงไปตามสมมติบัญญัติ มีความรู้เท่าทันอยู่พร้อม ในการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวนั้นคือรู้เท่าทันสภาวธรรม รู้เท่าทันรูปนาม แต่อย่างกิจกรรมธรรมดาในชีวิตก็คือว่า มีความรู้ตระหนักชัดในการกระทำของเราไม่เป็นไปด้วยความหลง หรือความโง่เขลา นี่ก็เป็นสัมปชัญญะ 4 ประการ อาตมายกตัวอย่างเช่นการขับรถ คนที่ขับรถจะต้องมีสัมปชัญญะพร้อมทั้ง 4 เรามีสติอยู่แล้ว ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะจะมาไม่ได้ สติของเราก็คือการกำหนดจิตของเราให้อยู่กับงานที่ทำ อยู่กับการขับรถ จะเป็นการถือพวงมาลัย จะเป็นการเหยียบเบรกหรืออะไรก็ตาม แต่ละส่วนที่ต้องทำนั้น เมื่อทำนั้นก็มีสติกำหนดจิตอยู่กับสิ่งที่ทำนั้น พร้อมกับการที่สติกำหนดอยู่กับสิ่งที่ทำ ใจอยู่กับสิ่งที่ทำนั้น ก็จะต้องมีการรู้ตัวทั่วพร้อม หรือรู้ตระหนักชัด ที่เรียกว่าปัญญานี้ด้วย เมื่อเราขับรถเราย่อมรู้ตระหนักในจุดมุ่งหมายของเราว่าเราขับรถนั้นเราขับไปเพื่ออะไร ไม่ใช่ว่าขับเรื่อยเปื่อยไป เราก็ต้องมีความมุ่งหมายอย่างหนึ่งซึ่งเรารู้ตระหนักชัด ในการขับรถนั้น นอกจากว่า รู้ตระหนักชัดในการขับรถในแง่ความมุ่งหมายแล้ว เราก็มีสัมปชัญญะรู้ตระหนักชัด ในการเคลื่อนไหวขยับเขยื้อนนั้น ในการกระทำนั้นที่เป็นภาวะสบาย เป็นภาวะสบายก็คือว่า มันเหมาะมันเกื้อกูล มันพอดีเอื้อต่อความมุ่งหมาย เป็นอาการหนึ่งในสัมปชัญญะเหมือนกัน การกระทำที่พอดี ที่เอื้อที่เหมาะแก่สุขภาพด้วย แก่การเข้าถึงจุดมุ่งหมายด้วย ต่อไปก็โคจรสัมปชัญญะ ความรู้ตระหนักชัดในแดนงานของตนเอง ในการที่เราขับรถนั้น เมื่อเรากระทำเราก็รู้แดนของมัน ส่วนที่เราจะต้องเกี่ยวข้อง ในเรื่องของการขับรถนั้น เรารู้ตระหนักชัดทั้งหมด คือพร้อมด้วยในตัวแน่นอน ถ้าเราไม่รู้นี่ก็แสดงว่า มีความขาดสัมปชัญญะ บกพร่อง ในงานที่เกี่ยวข้องกิจกรรมทั้งหลายนี่ เราเข้าใจหมด พร้อมกันนั้น เราทำกันด้วยความไม่มีความหลงเข้ามาเกี่ยวข้อง นี่ก็เป็นสัมปชัญญะอย่างหนึ่ง ซึ่งนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย ที่จริงก็คือการที่ต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวันนั่นเอง ถือว่าจบหมวดที่เรียกว่ากายานุปัสสนา ตามดูรู้ทันกาย...