แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เมื่อเราเข้าใจความหมายของคำว่าสติปัฏฐานและอนุปัสสนาอย่างนี้แล้ว ก็มาแปลหัวข้อทั้ง 4 ของสติปัฏฐาน ก็จะได้ความหมายต่อไปนี้ ข้อ 1 กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็แปลว่า การตั้งสติตามดูรู้ทันกาย 2 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็แปลว่าการตั้งสติตามดูรู้ทันเวทนา 3 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติตามดูรู้ทันจิต หรือจิตใจ และ 4 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติตามดูรู้ทันธรรม ธรรมในที่นี้ก็คือเรื่องราวหรือสิ่งที่เราระลึกนึกคิดอยู่ในใจทั้งหมดนั่นเอง อันนี้ทั้งหมดเราเรียกว่าธรรม เมื่อเข้าใจความหมายของชื่อสติปัฏฐานทั้ง 4 แล้ว ก็มาดูว่า อะไรเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นหัวข้อต่อไปก็คือ หัวข้อว่า อารมณ์ของสติปัฏฐาน อารมณ์ของสติปัฏฐานได้บอกแล้วว่าสติปัฏฐานนั้น ใช้ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา หรือมีทั้งสมถะและวิปัสสนาอยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นอารมณ์ของสติปัฏฐานก็เป็นอารมณ์ทั้งของสมถะและวิปัสสนา ถ้าพูดง่ายๆก็คือ ชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจทั้งหมดของเรานี่เอง นี่เป็นการพูดอย่างรวม ชีวิตจิตใจทั้งหมดของเรานี่เอง เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน แต่ถ้าพูดอย่างงั้นของเรา อาจจะทำให้แคบไป จริงๆแล้วสติปัฏฐานนี่เอาทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะที่ตัวเองเท่านั้น แต่หมายถึงคนอื่น โลกและชีวิตทั้งหมด เราอาจจะพูดว่าชีวิตและจิตใจทั้งหมดเริ่มที่ตัวเราเองออกไป ก็เลยตลอดออกไปขยายไปถึงผู้อื่นและทั่วสรรพสิ่งด้วย แล้วชีวิตกายใจทั้งหมดนี้ก็ปรากฏตัวแสดงออกมา 4 ด้านหรือ 4 พวกอย่างที่ว่ามาแล้วคือ กาย เวทนา จิต และธรรม เป็นอันว่า เราได้อารมณ์ของวิปัสสนา หรือสติปัฏฐานในที่นี้ ก็คือกาย เวทนา จิต ธรรม ที่รวมกันเข้าเป็นชีวิตจิตใจทั้งหมด ก็เลยมาดูรายการเนื้อหาในสติปัฏฐาน ต่อจากนี้ก็มาเข้าสู่รายละเอียด ก็จะยอมเสียเวลากันหน่อย เกี่ยวกับเรื่องของ รายละเอียดเนื้อหาของสติปัฏฐาน คือถ้าเราไม่เข้าสู่เนื้อหา ภาพต่างๆก็อาจจะไม่ชัด เนื้อหาเหล่านี้อาจจะเป็นรายละเอียดมากเกินไป ก็ทำความเข้าใจกันอย่างที่เคยพูดมาแล้วว่า ไม่ต้องใส่ใจมากนัก กับการจดจำรายละเอียดและชื่อต่างๆ เอาว่าให้ได้ความเข้าใจเป็นแบบพื้นฐาน เป็นภาพรวมไว้ สติปัฏฐาน4 นั้นก็ อาตมาจะพูดย่อๆก่อน เนื้อหารายละเอียดก็มีว่า
หนึ่ง กายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ว่า ตั้งสติตามดูรู้ทันกาย ที่ว่ารู้ทันกายนั้น รู้ทันกายอะไร ร่างกายของเรานี้ เราก็มาดูว่า กายส่วนไหน ที่เรามาตามดูรู้ทัน ก็จะแยกออกไป ท่านแยกออกไปเป็นด้านที่หนึ่งก็ การตามดูรู้ทันลมหายใจ การหายใจเข้าออก ต่อจากการหายใจแล้วก็ไปดู พิจารณาดูอิริยาบถ คือการเคลื่อนไหว เป็นยืน เดิน นั่ง นอน ของเราใช้สติตามดูรู้ทันการเคลื่อนไหวนั้น ต่อจากนั้นท่านก็ลงรายละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก ไปสู่หัวข้อที่ว่าให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวทุกอย่าง ที่เราเรียกหัวข้อหมวดนี้ว่าสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นรายละเอียดมาก หมายความว่าจะเคลื่อนไหวอะไรก็ตามทุกอย่างเนี่ย ให้รู้ตัวไปหมด ต่อจากนั้นก็ เมื่อกำหนดเรื่องการเคลื่อนไหวไปแล้ว ต่อจากนั้นก็เข้าสู่ส่วนประกอบของร่างกาย คือ แทนที่จะดูอาการของร่างกาย ก็ไปดูที่เนื้อหาของร่างกาย ก็ไปพิจารณามองดูร่างกายของเราที่เกิดขึ้นจากการประชุมกันของอวัยวะต่างๆ องค์ประกอบต่างๆมากมาย ก็ไปสำรวจตรวจดู พิจารณาดูร่างกายของเรานี้ แยกแยะออกไปเป็นส่วนประกอบมากมาย นี่เราเรียกว่าอาการ 32 พอเสร็จแล้ว ดูรายละเอียดเสร็จแล้วก็ไปสู่หัวข้อต่อไป ก็เรียกว่า การดูว่าร่างกายนี้ประกอบด้วยธาตุ 4 ตอนนี้ประชุมเป็นพวก เมื่อกี๊นี้แยกเป็นรายการละเอียด คราวนี้มาจัดเป็นหมวดๆ เรียกว่า ธาตุ 4 สุดท้ายก็พิจารณาดูซากศพในป่าช้า ซากศพในป่าช้าก็แยกออกเป็น 9 ขั้นตอน
ต่อไปก็ไปสู่สติปัฏฐานข้อที่ 2 คือ เวทนุปัสสนาสติปัฏฐาน คือตั้งสติ ตามดูรู้ทันเวทนาก็คือความรู้สึกสุข ทุกข์ ที่เกิดขึ้นในร่างกายจิตใจของเรานี้ ว่ามีความรู้สึกสุขสบาย หรือมีความทุกข์ไม่สบาย มีความรู้สึกเฉยๆ ความรู้สึกนั้นเป็นความรู้สึกที่อาศัยอามิส คือมีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นตัวล่อ เป็นตัวมาทำให้เกิดความสุข หรือเป็นเวทนาที่ไม่อาศัยอามิส เรียกว่า นิรามิส คือเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในเช่นจากความสงบ จากความสมาธิ ไม่ต้องอาศัยอามิส ไม่ต้องอาศัยรูปเสียงกลิ่นรสเป็นต้น เกิดขึ้นภายในจากความสงบ
ต่อไปก็จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ตามดูรู้ทันจิต ก็รู้ทันสภาพจิตของตนที่เป็นไปต่างๆ เรียกว่าจิตมีราคะก็รู้ว่ามีราคาะ ไม่มีก็รู้ว่าไม่มี มีโทสะ มีโมหะ มีจิตที่ตั้งมั่น เป็นสมาธิ หรือไม่มีสมาธิ ก็รู้ตามที่เป็นจริง แล้วก็ไปหมวดสุดท้าย ก็คือ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติตามดูรู้ทันธรรม คือสิ่งที่เกิดมีขึ้นในใจหรือเรื่องที่ใจคิด ซึ่งท่านก็แยกไปเป็นสี่หมวดด้วยกัน มีเรื่องของนิวรณ์ ซึ่งฝ่ายกิเลสหรือฝ่ายอกุศล ฝ่ายไม่ดี และรู้เกี่ยวกับเรื่องขันธ์ห้า รู้เกี่ยวกับเรื่องอายตนะหกคู่ รู้ตั้งสติตามดูรู้เข้าใจในเรื่องของโพชฌงค์ 7 และสุดท้ายก็อริยสัจ 4 อันนี้เป็นรายการย่อๆ ทีนี้อาตมาคิดว่าอยากจะเข้าสู่รายละเอียดอีกหน่อย อันนั้นเป็นรายการย่อย อันนี้ก็ขยายอีกทีหนึ่ง ค่อยๆขยายกันไป เริ่มตั้งแต่หัวข้อมา แล้วก็รายการย่อย แล้วก็รายการละเอียด นี่ก็ไม่ถึงกับละเอียดทีเดียวแต่ค่อนข้างละเอียด