แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาของหัวข้อเรื่องนั้น ก็จะพูดถึงความหมายซะก่อน คือเรามาเริ่มต้นกันด้วยความหมายของคำว่า สติปัฏฐาน ความจริงความหมายของสติปัฏฐานก็ได้พูดไปตั้งแต่ครั้งก่อน เพราะว่าในคราวที่แล้วนี่ก็พูดมาจนถึงเรื่องของหลักการทั่วไปของวิปัสสนาหรือปัญญาภาวนาแล้ว ในหัวข้อนั้นก็มีเรื่องสติปัฏฐานอยู่ด้วย ในฐานะที่เป็นตัวทำงานสำคัญในเรื่องของวิปัสสนา ทีนี้เราจะมาพูดถึงสติปัฏฐานโดยเฉพาะโดยตรง
สติปัฏฐานนั้นก็แปลกันง่ายๆ ว่าการตั้งสติ กลายเป็นเรื่องเอาสติเป็นตัวเด่น เอาสติมาใช้ในการที่จะปฏิบัติปัญญาภาวนา รวมทั้งตั้งแต่จิตตภาวนาด้วย ทีนี้ถ้าแปลอีกความหมายหนึ่ง เราอาจจะแปลว่า สิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของสติก็ได้ ถ้าในแง่นี้ก็หมายความว่าเรามองเอาตัวสิ่งที่ถูกพิจารณานั้นมาเป็นความหมาย เราพิจารณาอะไร สิ่งนั้นก็เป็นที่ตั้งของสติ แปลอย่างนั้นก็ได้ แต่ว่านั่นก็เป็นการยักเยื้องความหมาย ความหมายหลักก็คือการตั้งสติ
การตั้งสติก็จะแปลความหมายให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นโดยยักเยื้องไปในแง่ต่าง ๆ เช่น อาจจะบอกว่า การที่สติเข้าไปตั้งอยู่ อย่างนี้ก็ได้ การที่สติเข้าไปตั้งอยู่ก็หมายความว่ามันไปกำหนดอารมณ์นั้น ๆ อยู่ คือมีสติกำกับอยู่ด้วยกับอารมณ์นั้น ๆ นี่ก็เป็นความหมายหนึ่ง หรืออาจจะแปลว่า เอาสติมาวางเป็นประธานก็ได้ เพราะว่าคำว่า ปัฏฐาน ในที่นี้ อาจจะแปลยักเยื้องไปว่าเป็นประธาน ในการปฏิบัติเจริญปัญญาภาวนานี้ เราก็เอาสติเนี่ยมาตั้ง มาวางเป็นประธาน แล้วก็ ธรรมะอื่น ๆ ก็เข้ามา มาร่วมมาสนับสนุน มาช่วยงานช่วยการ ว่าความหมายที่ว่า เอาสติมาตั้งอย่างนี้ ก็เท่ากับว่า ให้สติมันดำเนินไป มันทำงานไป หรือให้เป็นไป หรือการที่สตินั้นน่ะ ปรากฏตัวออกมาทำงานทำหน้าที่ เป็นตัวเด่น หรือจะแปลอีกอย่างหนึ่งก็ได้
บางท่านอาจจะชอบใจว่า ให้แปลสติปัฏฐานว่า เอาสติมาคอยอุปัฏฐาก อุปัฏฐากก็ได้ คำว่าอุปัฏฐาก นี่ก็คงเคยได้ยินกัน อุปัฏฐากแปลว่า คอยมาเฝ้าดูแล ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน เราทำสติปัฏฐานนี้ก็เท่ากับว่าเอาสติมาคอยเฝ้าดูแลซึ่งเราเรียกได้ว่า อุปัฏฐาก
เอาล่ะ จะใช้ความหมายไหนก็ตาม มันก็เป็นเพียงการช่วยให้เกิดความเข้าใจชัดเจนมากยิ่งขึ้น การให้ความหมายที่ยักเยื้องไปนี้ เป็นวิธีการที่จะทำให้เกิดความชัดเจน มันเป็นการย้ำการเสริมกัน เอาล่ะ เราก็จะมาพูดคล้าย ๆ ว่า สติมาตั้งเป็นประธานหรือคอยดูแลอยู่ แม้อย่างนี้แล้ว เราก็จะต้องย้ำไว้ด้วยบอกว่า ตัวทำงานที่แท้นั้นคือปัญญา สติมาตั้งเป็นประธานให้ แต่ตัวที่ทำงานที่แท้จริงคือปัญญา ปัญญาในที่นี้นี่จะเห็นได้จากคำว่า อนุปัสสนา ซึ่งจะได้เห็นจากชื่อของสติปัฏฐานแต่ละข้อต่อไป ตอนนี้ก็ย้ำแต่เพียงว่าปัญญาเป็นตัวทำงานที่แท้จริง แล้วปัญญานี้ก็ทำงานควบคู่กันไปกับสติ เราก็จะได้เห็นคำว่า อนุปัสสนา นี้มาคู่กับคำว่าสติปัฏฐานต่อกัน ในชื่อของสติปัฏฐานแต่ละข้อ
ทีนี้ ถ้าหากว่าปัญญาไม่มาทำงานล่ะ ถ้าปัญญาไม่มาทำงาน สติก็เพียงจะช่วยให้เกิดสมาธิ เมื่อสติเพียงแต่ช่วยให้เกิดสมาธิ มันก็ไม่เป็นวิปัสสนา มันพาไปหาสมาธิเสียแล้ว มันก็เป็นเรื่องของสมถะเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญเนี่ยเราอย่าลืมปัญญา เดี๋ยวไปติดในชื่อสติปัฏฐานว่าตั้งสติ เอาสติมาเป็นประธานแล้วก็ลืมปัญญา ความเป็นวิปัสสนานั้นอยู่ที่ปัญญาที่มาทำงาน ก็เป็นอันว่า สติมาเป็นประธานเอาสติมาตั้ง แต่สตินั้นพาเอาปัญญามาทำงาน สมาธินั้นก็อยู่เบื้องหลัง เป็นตัวรองรับอยู่ หรือว่าอยู่ข้างล่าง เป็นพื้นให้ ช่วยในการทำงาน เพราะว่าการทำงานของสติและปัญญานี้จะทำงานได้ดีต้องอาศัยจิตที่เหมาะแก่งานที่เป็นสมาธิ
เมื่อกี๊ได้บอกแล้วว่า ในชื่อของสติปัฏฐานแต่ละข้อเมื่อแยกออกไป จะมีคำว่าอนุปัสสนาด้วย ซึ่งคำว่าอนุปัสสนานั่นแหละคือตัวปัญญา เรามาดูชื่อกัน พอบอกว่าสติปัฏฐานมี 4 ข้อ เอ้า ลองดูสิว่า 4 ข้อนั้นมีอะไรบ้าง ทุกข้อจะมีคำว่าอนุปัสสนาอยู่ด้วย ขอให้สังเกตดู
นี่คือชื่อที่บ่งบอกแล้วว่า สติและก็ต้องมีปัญญามาด้วย เป็นตัวทำงาน สติปัฏฐานก็เลยกลายเป็นว่า เป็นการเอาสติมาตั้งเป็นประธาน เป็นผู้เบิกตัวองค์ธรรมข้ออื่น ๆ มาทำงาน มาช่วยตัว โดยเฉพาะก็คือ เป็นผู้ป้อนอารมณ์ให้แก่ปัญญา
นี่ก็ถ้าเรามองความหมายต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจการทำงานหรือหน้าที่ขององค์ธรรมต่าง ๆ ชัดขึ้น ชัดขึ้น เป็นอันว่าคำที่มาด้วยตลอดในที่นี้คือคำว่าอนุปัสสนา ซึ่งหมายถึงปัญญา และอนุปัสสนานี้ก็แปลว่าการตามดูหรือตามเห็น หรือเห็นอยู่เรื่อยๆ ไม่ให้คลาดจากสายตา ตามดูตามเห็นก็คือ ให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ไม่คลาดสายตาไปได้ แล้วก็เลยอาจจะแปลอีกอย่างหนึ่งว่าตามดูรู้ทัน
สตินั้นก็เหมือนกับนายทวารบาล ท่านเปรียบเทียบไว้ ทวารบาลคือใคร คือคนเข้าเฝ้าประตู คนเฝ้าประตูมีหน้าที่อะไร มีหน้าที่ก็ต้องคอยดูคนเข้าออกทุกคน ทีนี้ นายทวารบาลนั้นชัดแล้วว่าต้องดูคนเข้าออก ต้องจับตาได้หมด คนทุกคนที่ผ่านเข้าผ่านออกนั้นต้องอยู่ในสายตา เมื่อเขาอยู่ในสายตาก็เป็นอันว่า นายทวารบาลนั้นทำหน้าที่ได้ถูกต้องระดับหนึ่งแล้ว แต่เท่านี้พอหรือเปล่า นายทวารบาลจับตาดูทุกคนที่เดินเข้าออกไม่คลาดสายตา แต่ว่าถ้านายทวารบาลไม่มีปัญญา คนเฝ้าประตูนี้ไม่มีปัญญา ถึงดูอยู่ เห็นคนที่เดินเข้าเดินออกอยู่ ก็ไม่รู้ทันเขา ไม่รู้ทันก็อาจจะเกิดโทษได้ ทั้ง ๆ ที่ว่าคนร้ายผ่านเข้ามาก็รู้ไม่ทัน แยกไม่ออกคนดีคนชั่วอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้น นายทวารนอกจากว่า ดูเห็นทุกคนที่ผ่านเข้าออกแล้ว จะต้องมีปัญญารู้ทันด้วย ถ้าคนเฝ้าประตูนี้ เป็นคนมีปัญญารู้ทัน ก็ทำงานได้ผลดีเต็มที่ เพราะฉะนั้น เราก็เลยต้องมีทั้งสติและทั้งปัญญา นี่อย่างง่าย ๆ
นี้ไปบอกว่า การตามดูรู้ทันนี่ ตามดูรู้ทันอะไร ตามดูรู้ทันอะไรก็ดูจากชื่อหัวข้อของสติปัฏฐาน 4 เมื่อกี๊ ก็จะมีกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา หัวข้อทั้ง 4 นั้นตัวที่เปลี่ยนไปก็คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เพราะฉะนั้นที่ว่าตามดูรู้ทันก็คือตามดูรู้ทันกาย เวทนา จิต และก็ธรรม
ทีนี้ คำว่าอนุปัสสนควบมากับสติปัฏฐาน ก็เป็นอันว่าให้สติมากับปัญญา ที่ว่ามาตามดูรู้ทันกาย เวทนา จิต ธรรมนี้ พูดโดยสรุปก็คือว่า มารู้เข้าใจชีวิตนี้ หรือตัวเรานี้ ทั้ง 4 ด้านนั่นเอง หมายความว่า กาย เวทนา จิต ธรรมนี้ เป็น 4 ด้านหรือ 4 ส่วนของชีวิตของเรานั่นเอง ดังนั้น สติปัฏฐานนี้ก็คือการที่เราตั้งสติ พิจารณาดูรู้เท่าทัน ชีวิตจิตใจเราทั้งหมดนี่เอง ไม่ใช่อะไรอื่น หรือพูดอีกแง่หนึ่งก็คือดูสภาวธรรมทั้งหลาย หรือดูโลก ดูนามรูปก็ได้แล้วแต่จะใช้คำอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้ปรากฏอยู่ที่ชีวิตจิตใจของเรา ดูที่ชีวิตจิตใจของเรานี้ แล้วเราจะเห็นโลก เห็นสังขาร เห็นสภาวธรรม เห็นนามรูป แล้วก็รู้จักชีวิตจิตใจของเราตามความเป็นจริง