แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร วันนี้เป็นวันมงคลคล้ายวันเกิดของโยมคุณหญิง กระจ่างศรี รักตะกนิษฐ์ โยมคุณหญิงได้ทำบุญถวายภัตตาหารเป็นการภายใน และก็มีคุณโยมพรหมพร้อมทั้งญาติมิตร ก็ได้ร่วมทำบุญเลี้ยงพระ มาร่วมอวยพรในวันเกิดนี้ด้วย อาตมาภาพก็ขออนุโมทนา วันเกิดนั้นก็เป็นวันที่สำคัญของชีวิต เป็นวันเริ่มต้น ที่ว่าเป็นวันมงคลก็ถือว่าเป็นวันเริ่มต้นแห่งความดีงามและความสุข เกิดเป็นมงคลขึ้นก็เพราะว่า เรามีความดีใจ จิตใจเบิกบานผ่องใส ทีนี้ในเมื่อถึงวันเกิดแต่ละครั้ง การที่จะทำให้วันเกิดเป็นวันมงคลก็คือ การที่ทำจิตใจให้เบิกบานผ่องใส มีความสุข ในวาระเช่นนั้น นอกจากว่า จะทำในทางจิตใจแล้ว ภายนอกออกมาก็ทำความดี หรือสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล ด้วยประการต่าง ๆ แสดงออกมาทางกายและทางวาจา เป็นการกระทำทางกายที่ดี และก็กระทำทางวาจาคือ กล่าววาจาคำพูดที่ดีงาม อันนั้นก็จะทำให้วันเกิดกลายเป็นวันมงคลที่แท้จริง และก็นำมาซึ่งความดีงามต่อ ๆให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และก็วันเกิดที่ว่าเป็นวันสำคัญนั้นนะ เพราะว่าการเกิดขึ้นเป็นการเริ่มต้น เมื่อเป็นการเกิดที่ดี ก็เริ่มต้นแห่งความดีงาม การเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ตั้งแต่การเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกระทั่งถึงการเกิดขึ้นของกุศลธรรมในจิตใจของเราแต่ละขณะ การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งสำคัญและดีงามอย่างไร พุทธศาสนิกชนทุกท่านก็ย่อมทราบดี เพราะว่าการเกิดขึ้นหรือเราเรียกว่าการอุบัติของพระพุทธเจ้า ก็เป็นการปรากฏขึ้นของพระรัตนตรัย และก็เป็นการทำให้เกิดมีพระพุทธศาสนานำมาซึ่งประโยชน์สุขความร่มเย็นแก่มนุษย์ทั่วไปอย่างกว้างขวาง พระพุทธเจ้าเองก็เคยตรัสว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นก็เป็น เหมือนดวงตาของโลก เป็นแสงสว่างของโลก การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกับการเกิดขึ้นของดวงตาหรือแสงสว่างอันยิ่งใหญ่ ทำให้มนุษย์ได้ปัญญา ได้รู้เข้าใจสัจธรรม และการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นท่านเรียกว่าเป็นการอุบัติขึ้น หรือการเกิดขึ้นของเอกบุคคล หรือ บุคคลผู้เป็นเอก ซึ่งจะเป็นไปเพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เป็น ??? และทำให้เกิดความสุขแก่มนุษย์ สัตว์ทั่วโลก เพราะฉะนั้นการเกิดนี่จะเห็นว่า มีความสำคัญอย่างมาก คำที่ว่า พุทโธ โลเก อุปปันโน ว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ สำหรับผู้ที่รู้เข้าใจ ถึงความสำคัญ ก็จะทำให้เกิดความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติหรือเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะเห็นว่าพระองค์ได้ทำพุทธกิจ เมื่อไป เสด็จไปแสดงพระธัมมจักฯ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี นั้นก็คือทำให้พระธรรมปรากฏขึ้น เค้าเรียกว่าเป็นปฐมเทศนา การทำให้พระธรรมปรากฎเราจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเกิดขึ้นของพระธรรม แม้ว้าพระธรรมนั้นเป็นความจริงที่มีอยู่เสมอตลอดเวลา แต่ว่าถ้าพระพุทธเจ้าไม่อุบัติขึ้นมา ไม่ค้นพบ ไม่นำมาเปิดเผย คนทั้งหลายก็ไม่รู้ เราจึงเรียกว่า การปรากฏของพระธรรม ก็คือการเกิดขึ้นของพระธรรม และเมื่อพระธรรมนี้ปรากฏขึ้นชัดเจนในจิตใจของผู้สดับตรับฟัง ถ้าจะทำให้มีผู้ที่มาเป็นสาวก ในการที่พระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกนั้น พระเบญจวัคคีย์ได้เป็นผู้สดับ และท่านโกณฑัญญะ เป็นผู้แรกที่ได้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งในพระธรรม หรือพระธรรมปรากฏชัดเจนในใจของท่าน ท่านก็ได้กลายเป็นสาวกองค์แรก ก็เกิดพระสงฆ์ขึ้นมา ก็จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมา ก็ทำให้พระรัตนตรัยเกิดขึ้นจนครบบริบูรณ์ ต่อจากนั้นก็ พระสงฆ์ก็ได้นำพระพุทธศาสนาสืบต่อกันมา ทำให้เราทั้งหลายได้รู้ เข้าใจหลักธรรมคำสอน จนกระทั่งบัดนี้ พระพุทธเจ้านั้นได้พระนามอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น สัตบุรุษ หรือสัปปุริส สัตบุรุษ ก็แปลว่าคนดี หรือคนที่แท้ เราก็ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของสัตบุรุษ หรือเป็นยอดของสัตบุรุษ นี่สัตบุรุษนั้นก็มีไม่ใช่เฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น แม้คนทั้งหลายทั่วไปที่ประพฤติดีงาม เป็นคนดี เป็นคนแท้ ๆ เป็นคนจริง ถูกต้องตามความหมายที่มีมนุษยธรรมนี่แหละ ก็เป็นสัตบุรุษดัวยกันทั้งนั้น การเกิดขึ้นของสัตบุรุษนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น สัตบุรุษที่สูงสุด คือพระพุทธเจ้า หรือสัตบุรุษโดยทั่วไปก็ตาม พระพุทธเจ้าก็เคยตรัสไว้ว่า สัตบุรุษเมื่อเกิดขึ้นมาในตระกูลย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเป็นอันมาก อยู่ครองฆราวาสก็ทำให้เกิดประโยชน์แก่ชนอย่างกว้างขวาง ทีนี้ข้อที่น่าศึกษาก็คือว่า สัตบุรุษที่เกิดขึ้นมาเป็นประโยชน์นั้นคือใคร ใครหรือคนที่มีลักษณะอย่างไร เรียกว่า สัตบุรุษ ถ้าแปลง่าย ๆ สัตบุรุษก็คือคนที่ดี คนที่แท้จริง คือเป็นมนุษย์จริง ๆ นั่นเอง แต่ว่าพระพุทธเจ้าแสดงธรรมะที่เป็นคุณสมบัติของสัตบุรุษไว้มากมายหลายแห่ง อาตมาภาพจะยกมาแสดงสักหมวดหนึ่ง หมวดนี้ท่านเรียกว่าสัปปุริสธรรม 8 ประการ สัปปุริสธรรมหรือธรรมคือคุณสมบัติของสัตบุรษ 8 ประการก็มีดังต่อไปนี้
ข้อที่ 1 ท่านบอกว่า สัทธัมมสมันนาคโต เป็นผู้ประกอบด้วยสัทธรรม สัทธรรมในที่นี้ก็หมายถึง คุณสมบัติ หรือคุณธรรมในใจที่สำคัญ ประกอบด้วย สัทธรรมนี้มี 7 ประการด้วยกันทั้ง 7 ประการเนี่ย เป็นข้อ ที่ 1 นี้ 7 ประการคืออะไรบ้าง 7 ประการข้อที่ 1 มีศรัทธา เมื่อเป็นพุทธศาสนิกชนก็มีศรัทธาในพระรัตนตรัยมีความเคารพเลื่อมใส มีจิตใจผ่องใสเมื่อระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ยึดเอาพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่งที่ระลึก เมื่อจะทำการใดก็ตามถ้าหากว่าจิตใจจะนึกถึงสิ่งที่ไม่ดีไม่งามไปกระทำ นึกถึงพระรัตนตรัยก็ยับยั้งได้ หรือว่าเมื่อจะทำสิ่งที่ดีงาม นึกถึงพระรัตนตรัยก็ทำให้มีกำลังใจที่จะทำความดีงามนั้น หรือพระรัตนตรัยก็เป็นเครื่องชักนำจิตใจให้เข้าไปอยู่กับสิ่งที่ดีงาม อันนี้เป็นอานิสงส์ของศรัทธาในพระรัตนตรัย เมื่อศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างถูกต้องแล้ว ก็ศรัทธาในคุณธรรมความดี มีความมั่นใจในการที่จะทำสิ่งที่ดีงาม ที่เป็นบุญเป็นกุศล อันนี้เป็นข้อที่ 1 เรียกว่ามีศรัทธา
ข้อที่ 2 มีหิริ หิริก็คือความละอายต่อความชั่ว หรือละอายแก่ใจในการที่จะทำความชั่ว ไม่ยอมทำชั่วเพราะว่ามีความเคารพในตนเอง มีความเคารพ ในตนเองว่า เราเป็นพุทธศาสนิกชน เราเป็น อุบาสก เราเป็นอุบาสิกา เป็นผู้ที่ว่าประพฤติธรรมเมื่อเห็นโอกาสที่จะทำความชั่วหรือสิ่งใดที่เป็นความชั่วก็ละอายแก่ใจไม่ยอมกระทำ อันนี้เรียกว่า มีหิริ
ประการที่ 3 มีโอตตัปปะ โอตตัปปะคือความเกรงกลัวต่อความชั่ว หรือความกลัวบาป อันนี้ท่านเรียกว่ามีความเคารพต่อโลก หรือมีความเคารพต่อ ต่อพหุชน มีความเคารพต่อมหาชน เค้ารู้ว่าการกระทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามนั้น เป็นสิ่งที่ประชาชนรังเกียจ คนที่มีคุณธรรมเขาจะไม่มีความเลื่อมใส ไม่เชื่อถือ เค้าเคารพในมหาชนหรือคนที่ดีงามทั้งหลายแล้วก็ไม่ล่วงละเมิด ไม่ทำความชั่ว อันนี้เรียกว่ามีโอตตัปปะ เกรงกลัวต่อบาป
ประการที่ 4 มีสุตะ มีสุตะ มีความรู้ ได้สดับตรับฟังเล่าเรียนมาก จนเรียกว่าเป็นพหูสูต เป็นพุทธศาสนิกชนก็ได้เล่าเรียน ได้สดับตรับฟังคำสอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือหลักธรรมคำสอน มีคำสอนที่ได้เล่าเรียนไว้แล้วซึ่งสามารถจะได้เอามาพิจารณาไตร่ตรอง และเลือกใช้ปฏิบัติให้เหมาะสม ตลอดจนสามารถที่จะนำไปแนะนำสั่งสอนแก่ผู้อื่นได้ รวมทั้งกระทั่งมีความรู้อื่น ๆ ที่มาประกอบในการดำเนินชีวิตที่จะทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่นต่อไป
ต่อไปประการที่ 5 มีวิริยะ วิริยะแปลว่า ความเพียร ความเพียรก็คือ หมายถึงความแกล้วกล้าในการที่จะกระทำ ไม่ท้อถอย ไม่ทอดทิ้งธุระ ไม่เกียจคร้าน เมื่อมีสุตะ มีความรู้ดีแล้ว เห็นว่าอะไรตวรจะทำ อะไรเป็นประโยชน์ก็นำความรู้นั้นไปใช้ปฏิบัติ ด้วยความเพียรพยายามไม่ท้อถอย แล้วเมื่อเป็นพุทธสาวก อยากจะทำความดีงามด้วยศรัทธาของตนเองก็ทำด้วยความเพียรพยายาม เห็นอะไรควรทำก็เร่งรีบทำ ไม่เกียจคร้านอยู่ อันนี้เรียกว่ามีวิริยะ
ประการที่ 6 ก็มีสติ สติก็คือความระลึกได้ การที่สามารถระวัง ยั้งใจตนเอง คือเมื่อจะทำอะไรก็ตามก็ระลึกถึงว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ดี หรือสิ่งที่ชั่ว ถ้าเป็นสิ่งที่ชั่วระลึกรู้แล้ว ก็งดเว้น ระลึกถึงสิ่งที่ดีก็เร่งรีบกระทำ ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ทิ้งโอกาสแห่งความดีงาม อันนี้ก็คือการมีสติ มีสติมีทำอะไรต่าง ๆ ด้วยความรอบคอบก็เป็นประการที่ 6
ต่อไปประการที่ 7 ก็มีปัญญา ปัญญาก็มีหลายระดับ ปัญญานั้นแปลว่า ความรู้ หรือความรู้ทั่วชัด ความเข้าใจชัดเจน เช่นเรียกว่า เข้าใจเหตุเข้าใจผล รู้บาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ ไม่ใช่ประโยชน์เป็นต้น ตลอดจนกระทั่งว่า รู้เท่าทันโลกและชีวิตนี้ หรือที่เราเรียกว่ารู้เท่าทันสังขาร รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำจิตใจของตนเองให้เบิกบานผ่องใส ไม่ตกอยู่ในอำนาจความยึดมั่นถือมั่น ปัญญานี้เป็นแสงสว่าง พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่มีแสงสว่างอะไรสว่างเท่าปัญญา เพราะว่าแสงสว่างพระอาทิตย์นั้นยังส่องเข้าไปได้ไม่ถึงในที่ลี้ลับ ในที่ที่มีสิ่งกำบังอยู่ แต่แสงสว่างแห่งปัญญานี้ส่องสว่างไปได้ทั่วทุกหนทุกแห่ง ฉะนั้นปัญญานี้เป็นเครื่องนำชีวิต ท่านเรียกว่าเป็นดวงแก้วของคน เป็นสิ่งที่ทำให้คนเรานี้แปลกจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ เพราะมีความสามารถพิเศษด้วยปัญญานี้ นี้ปัญญาที่ใช้ถูกต้องก็คือปัญญาที่รู้จักเหตุจักผลดีชั่ว คุณประโยชน์ ตลอดจนกระทั่งรู้เท่าทันความเป็นจริงของชีวิตที่จะทำจิตใจของตนให้เบิกบานผ่องใส เป็นอิสระดังกล่าวมานี้ นี้คือคุณธรรม 7 ประการที่เรียกว่า สัทธรรม 7 เป็นคุณสมบัติของสัตบุรุษข้อที่ 1 ที่เรียกว่า สัทธัมมสมันนาคโต นี้เมื่อมีคุณธรรม 7 ประการเหล่านี้แล้ว ต่อไป ก็มาถึงคุณสมบัติที่เรียกว่า สัปปุริสธรรมข้อที่ 2 สัปปุริสธรรมข้อที่ 2 ท่านบอกว่า สัปปุริสภัตตี แปลว่า ภักดีสัตสบุรุษหรือแปลง่าย ๆ ว่าคบหากับบุรุษ หมายความว่าตัวเองจะเป็นสัตบุรุษก็ต้องคบกับบุรุษ คบคนที่ดี เพื่อจะได้เล่าเรียนศึกษา หรือได้แบบอย่างที่ดีงาม และก็ชักจูงกันไปในความดีงามยิ่ง ๆ ขึ้น สัตบุรุษคบคนที่เป็นสัตบุรุษ ก็คือคบคนทีมี่สัทธรรม 7 ประการที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1 มีศรัทธาเป็นต้น จนถึงมีปัญญาเป็นที่สุดนั่นเอง ก็เลือกคบหาท่านที่มีคุณธรรมดังกล่าวมาแล้ว ตลอดจนกระทั่งว่าที่มีปัญญามากก็สามารถแนะนำเราให้มีความก้าวหน้างอกงามในพระธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป ต่อจากนั้น ข้อที่ 3 คือ สัปปุริสจินตี แปลว่า คิดอย่างสัตบุรุษ หมายความว่า คิดอะไรก็คิดอย่างคนดีคิด ไม่ได้คิดอย่างคนชั่ว คนดีคิดอย่างไร คนดีคิดก็คิดในทางที่เป็น สุจริต เป็นมโนสุจริต มโนสุจริตก็คือความคิดที่เป็นอย่างไร เป็นความคิดที่ว่าคิดว่า คิด ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตน ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น แต่คิดเพื่อให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น คิดขวนขวายช่วยเหลือ ทำสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล คิดสิ่งที่ดีงามที่จะกระทำต่อไป อย่างนี้เรียกว่าคิดอย่างสัตบุรุษ ประการที่ 4 สัปปุริสมันตี แปลว่า ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ คนเรานั้นนอกจากศึก เอ่อ นอกจากคิดแล้วคิดอยู่คนเดียวก็ไม่พอ ยังต้องมีการพูดจาปราศรัย สนทนา จะทำอะไรบางทีเราก็ไม่ได้ทำคนเดียว มีการปรึกษากับผู้อื่น เมื่อมีการปรึกษากันก็ต้องมีการปรึกษาให้ถูกต้อง ให้ดีงาม การปรึกษาที่ดีงาม ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ ก็ปรึกษาในการที่ว่าไม่เป็นไปเพื่อเบียนเบียนตน ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น แต่ปรึกษากันในทางที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น สองอันนี้ก็นับว่าเป็นข้อสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้น คนเราที่จะไปทำการอะไรต่าง ๆ เนี่ย ก็มีทำคนเดียวบ้าง ร่วมกับผู้อื่นทำบ้าง ถ้าทำคนเดียวก็คิด คิดการขึ้นมา พอคิดเสร็จแล้วก็ไปออกเป็นการกระทำต่าง ๆ ไปพูดไป ออกแสดงทางกาย ไปทำ ทำที่เป็นกุศลบ้างเป็นอกุศลบ้าง ที่เป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตก็มี เป็นเรื่องระดับบุคคล ระดับครอบครัว ระดับบ้านเมือง ระดับโลกทีเดียวก็มี เรื่องของความคิดนี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ทีนี้ถ้าหากว่าร่วมกับผู้อื่นทำ ต้องมีการปรึกษาหารือ เพราะฉะนั้น การปรึกษาหารือที่ทำกันก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเหมือนกัน กิจการในโลกก็มีแบบเนี่ย ทำคนเดียวโดยเริ่มจากความคิดบ้าง ทำสองคนขึ้นไป โดยการปรึกษาหารือกันบ้าง ฉะนั้นในข้อนี้ก็คือว่า สัปปุริสมันตี เมื่อจะปรึกษาก็ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ ก็เป็นอันว่าได้ ดูเหมือนว่าจะ 4 ข้อแล้ว ไม่น้อย สัปปุริสมันตี ต่อไปก็ข้อ 5 สัปปุริสวาโจ ถ้าพูดอย่างไทย ก็คือสัปปุริสวาจา เมื่อพูด ก็พูดอย่างสัตบุรุษ ทีนี้พูดอย่างสัตบุรุษก็คือเว้นจากวจีทุจริต และก็พูดกันในวจีสุจริต วจีทุจริตก็คือคำอะไรบ้าง คำพูดเท็จก็เป็นวจีทุจริต พูดไม่จริงพูดหลอกลวง โกหก เท็จต่าง ๆ พูดในทางที่ส่อเสียดยุยง ทำให้คนแตกแยกกัน ก็เรียกว่าเป็นวจีทุจริต พูดคำหยาบ คำรุนแรง คำร้าย คำที่ทำให้คนอื่นเจ็บช้ำน้ำใจ โดยไม่มีเหตุผลสมควร ก็เป็นวจีทุจริต และก็พูดคำเพ้อเจ้อ เหลวไหล ไร้เหตุผล ไม่ถูกการณ์ไม่ถูกเวลาอะไรต่าง ๆ ก็เรียกว่าเป็นวจีทุจริต ถ้าเว้นวจีทุจริต 4 ประการนี้ ก็กล่าวแต่วจีสุจริต วจีสุจริตนั้นก็คำที่ตรงกันข้ามกับวจีทุจริต ก็มี กล่างแต่คำสัตย์ คำจริง คำที่ถูกต้อง และคำ ต่อไปก็กล่าวคำที่ช่วยทำให้เกิดความสมานสามัคคี ถ้าหากว่าคนที่เค้าสามัคคีกันอยู่แล้ว ก็ช่วยให้มีความสนิทสนมสามัคคีแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ถ้าคนเค้าแตกร้าวฉานจากกัน ก็พูดสมานให้กลมเกลียวเข้าด้วยกัน ในทางที่ชอบที่ถูกต้อง ประการต่อไป วจีสุจริตอย่างที่ 3 ก็คือ คำพูดที่สุภาพ อ่อนหวาน คำพูดที่น่าฟัง ตรงข้ามกับคำหยาบคาย และประการที่ 4 ก็คือ คำพูดที่มีสาระ มีเหตุผล เป็นประโยชน์ พูดถูกกาล ถูกเวลา มีหลักฐานอ้างอิง เป็นต้น อันนี้เรียกว่า ตรงข้ามกับคำพูดเพ้อเจ้อ เป็นคำพูดที่ไม่เหลวไหล แต่เป็นคำพูดที่มีสาระ นี่เรียกว่าวจีสุจริต ก็สัปปุริสวาโจ พูดอย่างสัตบุรุษ คือพูดอย่างคนดีดังที่กล่าวมานี้ในวจีสุจริต 4 ประการ แล้วต่อไป ข้อที่ 6 สัปปุริสกัมมันโต แปลว่า กระทำ และทำอย่างสัตบุรุษ ทำอย่างสัตบุรุษก็อย่างไร ก็คือเว้นจากกายทุจริต ประกอบในกายสุจริต กายทุจริต ความทุจริตทางกายก็มี การละเมิดศีลข้อปาณาติบาต การทำร้ายเบียดเบียนร่างกาย และชีวิต ของผู้อื่น การลักทรัพย์สิน ละเมิดกรรมสิทธิ์ของเขา กาเมสุมิจฉาจาร การละเมิดในคู่ครองของผู้อื่น อย่างนี้เรียกว่าเป็น กายทุจริต 3 ประการ ก็ประพฤติในทางตรงข้าม ก็มี กายสุจริต คือไม่ทำร้ายเบียนเบียนชีวิตร่างกายผู้อื่น แต่ว่าเป็นไปในทางช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่ละเมิดในกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินเขา อาจจะทำในทางตรงข้ามก็คือ ทาน การให้ การบริจาค ช่วยเหลือสงเคราะห์ และก็ไม่ประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร มีความยินดีในคู่ครองของตน อันนี้ก็เป็น กายสุจริต ทั้งหมดนี้เมื่อปฏิบัติได้ ก็เรียกว่า สัปปุริสกัมมันโต กระทำอย่างสัตบุรุษ หรือกระทำอย่างคนดี ต่อไป ข้อที่ 7 สัปปุริสทิฏฐี ก็มีทิฏฐิ หรือความคิดเห็นอย่างสัตบุรุษ หรืออย่างคนดี มีความคิดเห็นอย่างสัตบุรุษหรือคนดีนั้นคืออย่างไร ก็คือมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้องตามครองธรรม ความเห็นถูกต้องนั้น ท่านแยกเป็น 2 ระดับ ความเห็นถูกต้องในระดับสามัญ เรียกว่าระดับโลกีย์ คือเชื่อกรรม เชื่อการทำดีว่า ทำดีได้ดี ว่าการทำชั่วได้ผลชั่ว คือเป็นไปตามเหตุตามผล ก็หมายความว่า เชื่อในการทำความดี จะได้น้อมจิตใจมาในทางที่เป็นความดีงาม ละเว้นจากการกระทำที่ชั่ว อันนี้ เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นชอบในระดับโลกีย์ ในความเห็นชอบอีกระดับนึง ก็ระดับที่เป็นโลกุตระ คือความเข้าใจชีวิตนี้ตามความเป็นจริง เช่น รู้หลักเรื่องไตรลักษณ์ เข้าใจปฏิจจสมุปบาท มีความเห็นถูกต้อง เรื่องชีวิตของเรานี้ โลกนี้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เอ่อมีความไม่เที่ยงไม่คงที่ถาวร เป็นอนัตตา จนสามารถทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เบิกบานได้ตลอดเวลา อันนี้สำคัญมาก คือว่าเชื่อกรรมเชื่อในการทำความดี ก็เป็นสัมมาทิฏฐิอย่างนึง ก็ทำให้ มนุษย์เราอยู่ร่วมกันด้วยความสุข โลกนี้ก็มีสันติ แต่ว่าแม้จะเชื่อกรรมแล้ว ทำดีแล้วเว้นจากความชั่ว แต่เรายังอดไม่ได้ถ้าเป็นปุถุชนเนี่ย ก็ยังมีความทุกข์ได้ คนดีก็มีความทุกข์ได้ คนชั่วก็มีความทุกข์ได้ แต่ชั่วของเค้ามีความทุกข์คนละแบบ คนชั่ว คนทำชั่วนั้น ไปทำอะไรไม่ดีและก็อาจถูกลงโทษ เดือดร้อนอะไรต่าง ๆ แต่คนทำความดี แม้จะเชื่อกรรมแล้ว มีความสุขในระดับนึง ไม่เดือดร้อนเพราะการลงโทษ เป็นต้น ไม่เดือดร้อนในการที่ทำร้ายอะไรเขา แต่จิตใจของตนเองก็อาจมีความยึดติดในสิ่งต่าง ๆ ในของรัก เป็นต้น จิตใจก็ ถูกบีบคั้น ด้วยความรู้สึกในใจของตนเอง ทำให้มีความทุกข์ได้เหมือนกัน เวลาประสบกับสิ่งที่เป็นที่รัก ก็มีความสุข พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็มีความทุกข์ ประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็มีความทุกข์ อะไรอย่างนี้เป็นต้น ก็ เป็นคนดีก็ยังมีสิทธิ์ที่จะมีความทุกข์ได้ ทีนี้ทำไงจะให้มีความสุขแท้จริง ก็ต้องมีสัมมาทิฏฐิ ขั้นโลกุตระเนี่ย คือเข้าใจชีวิตที่ตามเป็นจริง รู้ว่ามันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา รู้ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย สามารถทำใจได้ เมื่อประสบการพลัดพรากอะไรต่าง ๆ เป็นต้น นี้ก็เรียกว่า มีสัมมาทิฏฐิในระดับโลกุตระ ที่จะช่วยจิตใจให้ตนเอง อันนี้ก็เป็นสัมมาทิฏฐิซึ่งมี 2 ระดับ คนที่เป็นสัตบุรุษหรือคนดีนั้น ก็มีความเห็นชอบ 2 ประการ อันนี้ อย่างน้อยก็มีในระดับต้น ที่เป็นโลกีย์นั้น เมื่อมีความเห็นชอบอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่า เป็นสัปปุริสทิฏฐิ หรือสัปปุริสทิฏฐี มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ ต่อไปก็ประการสุดท้าย สัปปุริสทานัง เทติ แปลว่าให้ทานอย่างสัตบุรุษ ให้ทานอย่างคนดีให้ คนดีให้ทานให้อย่างไร ท่านบอกว่า ทานของสัตบุรุษ เรียกว่า สัปปุริสทาน มี 8 ประการด้วยกัน ลักษณะของทานที่เป็นสัตบุรุษ 8 ประการ ก็มี อันที่ 1) สุจึ เทติ ให้ของสะอาด ให้ของสะอาดนี่สะอาดทั้งทางเป็นวัตถุ ทางรูปธรรมและก็สะอาดในทางที่เป็นศีลธรรมด้วย หมายความว่า ของที่ให้นั้นเป็นของสะอาด บริสุทธิ์ เช่นว่าได้มาโดยสุจริต เป็นต้น นี่ให้ของที่สะอาด 2) ปณีตํ เทติ ให้ของประณีต ให้ของประณีตคือว่า ก็แสดงถึงจิตใจที่ประณีตด้วย ไม่ใช่ให้ของที่สักแต่ว่าให้ อะไรเป็นต้น คือ มีแสดงถึงจิตใจที่มีความละเมียดละไม ระมัดระวังตั้งใจที่จะให้อย่างแท้จริง ก็ให้ของประณีต ประการที่ 3) ท่านบอกว่า กาเลน เทติ ให้ตามกาล ให้ถูกกาล ถูกเวลานั่นเอง อ่า ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็เช่นว่า จะถวายของแก่พระสงฆ์ ก็คงไม่ถวายอาหารเพลเอาตอน 5 โมงเย็น อะไรอย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าให้ถูกกาล ให้ในเวลาที่พระฉันได้ หรือว่าอย่างความเป็นไปในประเพณีของเรา เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ฤดูนี้เข้าพรรษา พอระยะเข้าพรรษา พระต้องใช้อะไรโยมก็ถวายของที่ต้องใช้ในระยะนั้น หรือว่าพระจะต้องเริ่มเรียนหนังสือ กำลังเข้าพรรษาใหม่ ๆ พระนวกะเริ่มเรียน โยมก็ถวายหนังสือพระจะได้เอาไปใช้เรียนได้ เรียกว่า ถวายตามกาล หรือจะออกพรรษาหน้ากฐิน โยมทอดกฐินอย่างงี้ ก็เรียกว่าถวายตามกาล แม้แต่การถวายกฐินนั้นท่านเรียกว่า กาลทาน ก็เพราะว่าถวายตามกาลเวลาของเรื่องนั้น ๆ แม้แต่เรื่องของคนอื่นก็เหมือนกันแหละ ถ้าเราให้ตามกาล ตามเวลา ถูกต้อง มันก็เกิดประโยชน์ที่แท้จริงขึ้น อันนี้เรียกว่า กาเลน เทติ ให้ถูกกาลหรือให้ตามกาลเวลา นอกจากให้ตามกาลเวลาแล้ว ต่อไปก็มีว่า อภิณหัง เทติ ให้ประจำให้สม่ำเสมอคือ แสดงถึงจิตใจที่มีความตั้งใจจริง อย่างชั้นต้น ให้อยู่เป็นเนืองนิตย์ เช่นบางท่านเนี่ยตักบาตร ก็ตักบาตรเป็นประจำ บางท่านก็ตักบาตรทุกวัน หรือบางท่านก็ตักบาตรทุกวันพระ ก็ทำทุกวันพระ หรือว่าตั้งใจไว้ทำทุกวันเกิด ก็ทำทุกวันเกิด อะไรเงี่ย เรียกว่าทำประจำ ทำ แสดงถึงความมีจิตใจที่เอาจริงเอาจังในเรื่องนั้น ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ เรียกว่าอภิณหัง เทติ แล้วต่อไปก็มี ท่านบอกว่า วิเจยฺย เทติ เลือกเฟ้นให้ หรือให้ด้วยปัญญาพินิจพิจารณา ให้ด้วยปัญญาพินิจพิจารณา ก็สำคัญเหมือนกัน ก็ต้องดูว่าให้ไปแล้ว สิ่งของที่ให้นี้จะไปเกิดประโยชน์ที่แท้จริงมั้ย จะเกิดประโยชน์อย่างไร และก็พิจารณา บุคคลนี้สมควรให้มั้ย ให้แล้วเค้าจะเอาของนี้ไปทำอะไร ??? อย่างว่า เราไปให้ของบางอย่างแก่โจร คนที่เป็นโจรอาจจะเอาของนั้นไปใช้ทำร้ายผู้อื่น หรือหรือเอาไปทำความชั่ว แต่ถ้าหากว่าให้แก่คนที่ดี เค้าก็เอาของนั้นไปทำประโยชน์ ทำประโยชน์ตนเองบ้าง ทำประโยชน์ผู้อื่นบ้างให้กว้างขวางยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็รู้จักพิจารณาเลือกเฟ้นให้ หรือว่าในกรณีนี้ อาจจะสนับสนุนให้พระสงฆ์ได้มีความเจริญรุ่งเรือง ก็ให้แก่สงฆ์ ทำสังฆทาน อย่างนี้ก็ ก็รู้จักพิจารณานั่นเอง คือให้ด้วยปัญญา ไม่ได้สักแต่ว่าให้หรือให้โดยไม่มีความคิด เรียกว่า วิเจยฺย เทติ อีกข้อหนึ่งก็ กปฺปิยํ เทติ ให้ของที่สมควร ให้ของสมควรแก่ผู้นั้น ให้ของที่เขาใช้ได้หรือเหมาะสมแก่ภาวะ อย่างพระภิกษุนี่จะไปถวายเป็นเสื้อก็คงไม่ได้ พระก็เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ก็ต้องถวายจีวร หรืออย่างจะให้แก่ผู้ชาย ก็ให้เสื้อ กางเกง จะให้กระโปรงแก่ผู้ชายก็คงไม่ถูกต้อง หรือจะให้แก่ผู้หญิง ก็ต้องให้ให้สิ่งที่เหมาะสม ให้สิ่งที่สมควรแก่ผู้นั้นจะไปใช้ได้โดยถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างพระสงฆ์นี่ มีของเป็นอันมากที่ท่านถือว่าไม่เป็นกัปปิยะ ไม่เป็นของสมควรที่จะใช้ ถ้าไปถวายพระก็เอาไปใช้ไม่ได้ ก็อาจจะไม่เกิดประโยชน์ ก็เลยมีข้อกำกับอันนี้ไว้ด้วย ว่าให้ของที่สมควร เรียกว่า กัปฺปิยํ เทติ ต่อไป ทีนี้ก็เป็นเรื่องของจิตใจ ประการที่ 7 ท่านบอกว่า ททํ เทติ เมื่อให้จิตใจผ่องใส อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน แม้ว่าจะให้ถูกต้องตามกาล ให้ของสะอาด ให้ของประณีต ให้ของสมควร เป็นต้นแล้ว แต่ว่าจิตใจของเราเวลาให้ไม่สบาย เช่นว่า เกิดความเสียดาย อะไรเป็นต้นอย่างนี้ มันก็ไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร อย่างน้อยก็ไม่เกิดความสุข ไม่ได้รับอานิสงส์ในจิตใจของตนเอง จิตใจตัวนั้นก็ไม่สู้จะเป็นบุญ นั้นเวลาให้ก็ควรทำจิตใจให้ผ่องใสด้วย มีความเต็มใจที่จะให้ เมื่อให้สบาย ใจ จิตใจที่ผ่องใสเบิกบานนั่นคือ ตัวบุญตัวกุศลที่แท้จริง ก็เป็นประการที่ 7 และประการสุดท้าย ทตฺวา อตฺตมโน โหติ ให้แล้วเบิกบานใจด้วย ไม่ใช่เฉพาะเวลาให้เท่านั้น หลังจากให้ก็ต้องมีความสุขความสบายใจ บางทีเราให้ตอนให้ก็ยังเต็มใจให้อยู่ พอให้เสร็จไปแล้ว มานึกถึงทีหลัง เกิดเสียดายขึ้นมา ใจก็ไม่สบาย เพราะฉะนั้นก็ต้องให้สบายทั้งเวลาที่ให้ และหลังจากให้ด้วย เมื่อให้ไปแล้ว นึกขึ้นมาเมื่อไหร่ นึกถึงทานที่ตนได้ถวายไป หรือได้มอบให้ใครไปแล้ว จิตใจก็มีความสุข เอ้อ เราได้ทำสิ่งที่ดีงาม ถูกต้องแล้วหนอ แล้วมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทีนี้ก็ทานก็จะเป็นปัจจัยแก่คุณภาพจิต ทำให้ทานนี้มีอานิสงส์ในทางส่งเสริม อธิจิตตสิกขาด้วย คือเป็นเชื้อหรือเป็นปัจจัย เป็นบริขาร เป็นเครื่องปรุงแต่งของจิต ทำให้จิตใจเนี่ย ได้มีคุณภาพ มีคุณธรรมดียิ่งขึ้น จะเจริญสมาธิก็ได้ง่ายด้วย อันนี้เรียกว่า ให้ทานอย่างสัตบุรุษ เป็นสัปปุริสทาน 8 ประการด้วยกัน ทีนี้อาตมภาพก็กล่าวถึงคุณธรรมของสัตบุรุษชุดหนึ่ง ซึ่งมี 8 ประการด้วยกันดังที่กล่าวมา ก็ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่ง เจริญพร
ทีนี้ขอทบทวน สัปปุริสธรรม 8 ประการว่า
ประการที่ 1 สัทธัมมสมันนาคโต เป็นผู้ประกอบด้วย สัทธรรม 7 ประการ คือศรัทธา หิริ โอตตัปปะ สุตะหรือความรู้ และวิริยะ แล้วสติ แล้วก็ปัญญา
ประการที่ 2 สัปปุริสภัตตี คบหาคนดี หรือคบหาสัตบุรุษ และ
ประการที่ 3 สัปปุริสจินตี คิดอะไรก็คิดอย่างสัตบุรุษ คิดอย่างคนดีคิดไม่เบียนเบียนตน ไม่เบียนเบียนผู้อื่น คิดเพื่อให้เป็นประโยชน์ตั้งแก่ตนและผู้อื่น
ข้อที่ 4 สัปปุริสมันตี ยามเมื่อจะปรึกษาอะไรก็ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ คือปรึกษาการณ์ ในการที่ว่าจะไม่เป็นไปเพื่อไม่เบียนเบียนตน ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น แต่ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่นและก็
ประการที่ 5 สัปปุริสวาโจ พูดก็พูดอย่างสัตบุรุษ พูดในวจีสุจริต 4 ประการ และ
ประการที่ 6 สัปปุริสกัมมันโต เมื่อกระทำอะไรก็กระทำอย่างสัตบุรุษ คือกระทำในสิ่งที่เป็นกายสุจริต
ประการที่ 7 สัปปุริสทิฏฐี มีความคิดเห็นอย่างสัตบุรุษ คือมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ เห็นชอบว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตลอดจนกระทั่ง เห็นแจ้งความจริงถึงความที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ เป็นไปตามปฏิจจสมุปบาท และ
ประการที่ 8 ก็สัปปุริสทานัง เทติ ให้ทานอย่างสัตบุรุษ หรือสัปปุริสทาน 8 ประการ
ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมา วันนี้ก็ได้แสดงธรรมกถาเรื่อง สัตบุรุษ ก็ยืดยาวหน่อย นี้ก็เพื่อให้เห็นว่านี่แหละคือคุณธรรมของคนดี ที่พระพุทธเจ้าต้องการให้พุทธศาสนิกชนได้ดำเนินตาม เพราะเมื่อดำเนินตามแล้วได้ชื่อว่าเป็นคนดี คนดีก็เป็นผู้ดำเนินในปฏิปทา อย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า สัตบุรุษที่เป็นคนดีเนี้ย เมื่อเกิดมาก็เป็นไปเพื่อประโยชน์เกี้อกูลแก่ผู้อื่น เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่คนทุกคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ในครอบครัวของตนเอง จะเกี่ยวข้องกับบิดามารดา บิดามารดา ก็พลอยได้รับประโยชน์และความสุข จะมีบุตร ภรรยา สามี บุตร ภรรยา สามี ก็พลอยมีความสุขด้วย จะมีข้าทาส คนรับใช้ หรือว่ามิตรสหาย เพื่อนร่วมงานอะไรต่าง ๆ ก็มีความสุขแผ่ขยายไปทั่ว หรือว่าเข้ามาในกิจการพระศาสนา ก็ช่วยให้พระศาสนาเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป แม้แต่สังคมประเทศชาติก็ได้รับผลประโยชน์นี้ มีความสงบสุขโดยทั่วไป เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาต้องการให้ทุกคนเป็นสัตบุรุษ เพราะเกิดมาแล้วก็จะมีแต่ความสงบสุขโดยทั่วไป ที่กล่าวในวันนี้ก็ได้พิจารณาถึงเกี่ยว กับเรื่องการเกิดว่า ให้มีการเกิดของสัตบุรุษขึ้นมา นี้วันนี้เป็นวันเกิดของโยมคุณหญิง ก็โยมคุณหญิงก็ได้ดำเนินตามปฏิปทาซึ่งอาตมาภาพก็ไม่ต้องเป็นผู้กล่าว โยมทั้งหลายก็คงเห็นด้วยตนเองว่าโยมได้ดำเนินในปฏิปทา หรือจริยาวัตรของสัตบุรุษอย่างไร คือได้ดำเนินทั้งในทางจิต ทางกาย ทางวาจา และคุณธรรมต่าง ๆ ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมาทั้ง 8 ประการนั้น เมื่อได้ดำเนินอย่างนี้แล้ว ก็เมื่อเป็นการเกิด จะเป็นการเกิดตอนต้นก็ตาม หรือการเกิดเฉพาะในแต่ละปี ๆ ก็จะตามมาด้วยประโยชน์และความสุข หรือความดีงามทั้งสิ้น โยมคุณหญิงเมื่อดำเนินในปฏิปทาของสัตบุรุษ ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้นำแล้ว ก็มิใช่ดำเนินแต่ผู้เดียว แต่ยังได้ชักชวนญาติมิตร ให้มาช่วยกันกระทำสิ่งที่ดีงาม เป็นบุญเป็นกุศลเพิ่มพูน กว้างขวางยิ่งขึ้นไป ก็เรียกว่าปฏิบัติตัวเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ก็เป็นข้อที่ควรแก่การอนุโมทนา ก็ในวาระที่เป็นวันมงคล วันเกิดของโยมคุณหญิงนี้ อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาในบุญกุศล ซึ่งโยมพร้อมด้วยญาติมิตร ซึ่งเป็นมิตรทีดีเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ก็ได้ร่วมกันบำเพ็ญตลอดเรื่อยมา และก็ขอให้บุญกุศลที่ได้บำเพ็ญนี้ จงเป็นพลวปัจจัย คือเป็นปัจจัยอันมีกำลังในการที่จะส่งเสริมให้โยมได้มีความเจริญงอกงามในธรรมปฏิบัติ ในการประพฤติธรรม และในการที่จะได้รุ่งเรืองในคำสอนของพระพุทธเจ้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป และก็ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัยเป็นเครื่องอำนวยพร รตนตฺยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์ พร้อมทั้งบุญกุศลที่ได้ ที่โยมได้บำเพ็ญไปแล้ว จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษา โยมคุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ์ พร้อมทั้งครอบครัวและญาติมิตร ให้ประสบจตุรพิธพรชัย มีความพรั่งพร้อมด้วยความสุขกายสบายใจและเจริญงอกงามในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยยิ่งขึ้นไป ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ