แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร อาตมาภาพก็ขออนุโมทนา โยมอาจารย์ลัดดา ซึ่งได้นิมนต์มาฉันภัตตาหารในวันนี้ วันนี้ก็อากาศก็แจ่มใสปลอดโปร่ง ซึ่งอากาศเช่นนี้ถ้าหากประกอบด้วยความสงบก็นำมาซึ่งความสุขความเบิกบานสดชื่นในจิตใจ นับว่าเป็นบรรยากาศที่ดีงาม ความสงบนั้นเป็นสภาพแวดล้อมที่สำคัญ ในทางพุทธศาสนาก็ถือความสงบนี้เป็นหลักการใหญ่ แม้แต่พระนิพพานซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ก็มีคำศัพท์เรียกว่าเป็นไวพจน์ คือ คำที่มีความหมายเทียบเคียงใช้แทนกันได้อยู่คำหนึ่ง เรียกพระนิพพานว่า สันติ สันติก็แปลว่า ความสงบ นี้ความสงบนั้นเรานำมาใช้แม้กระทั่งเรื่องทั่วๆ ไป อย่างในปัจจุบันนี้ก็ใช้ คำว่า สันติหรือสันติภาพนี้กับเหตุการณ์บ้านเมืองด้วย สมัยปัจจุบันนี้รู้สึกว่าคนทั่วไปต้องการสันติภาพกันมาก เพราะมีเหตุการณ์เรื่องวุ่นวายเดือดร้อน ความขัดแย้ง ทะเลาะวิวาท จนกระทั่งในระหว่างประเทศชาติ เรียกว่า สงครามเกิดขึ้นที่โน่นที่นี่ทั่วไปทั้งหมด ก็เลยเป็นยุคที่ต้องการสันติภาพถึงกับว่า ปีนี้ดูเหมือนจะเรียกว่าเป็นปีแห่งสันติภาพสากล ก็มีปัญหาว่าสันติภาพหรือความสงบนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าวิเคราะห์ตามหลักพระพุทธศาสนา สันติหรือความสงบนั้น ก็มีเป็นทางด้านสังคมส่วนหนึ่งและก็เป็นบุคคลอย่างหนึ่ง ในด้านสังคมก็คือ เรื่องการที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันด้วยความเรียบร้อยดีงาม ซึ่งก็ต้องอาศัยหลักธรรม ปัจจุบันนี้มักจะคิดกันในแง่ที่ทำให้รู้สึกเหมือนว่าจะต้องกำจัดกันลงให้ได้ฝ่ายหนึ่ง เมื่อกำจัดฝ่ายหนึ่งลงแล้วจึงจะเกิดสันติภาพ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำจัดอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งตรงข้ามนั้นก็ต้องคิดว่าฉันก็จะต้องกำจัดฝ่ายที่จะมากำจัดนั้นแหละ เมื่อกำจัดได้แล้วจึงจะมีสันติภาพก็เลยหาสันติภาพกันอยู่อย่างนี้เรื่อยไป การทะเลาะเบาะแว้งสงครามก็ไม่รู้จักสิ้นสุด ปัญหาก็เกิดขึ้นว่า แล้วสันติภาพที่แท้จริงหรือความสงบที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ตามหลักพระพุทธศาสนาก็ถือว่า ความสงบเรียบร้อยสันติทางสังคมนั้นก็ต้องเนื่องมาจากสันติในตัวบุคคล จึงต้องมีสันติหรือความสงบในตัวบุคคลขึ้นเป็นรากฐาน สันติในตัวบุคคลจะเกิดขึ้นได้อย่างไรก็ต้องมองดูตามหลัก บุคคลนั้นมีส่วนประกอบที่กระทำกรรมอยู่ 3 อย่าง คือ กาย วาจา และใจ พระพุทธเจ้าก็สอนว่า ต้องมีความสงบทั้งกาย สงบทั้งวาจาและสงบทั้งใจ สงบกายนั้นก็คือมีกายหรือการกระทำทางกายที่ไม่เบียดเบียนข่มเหงซึ่งกันและกัน มีวาจาหรือคำพูดที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และก็ขั้นสุดท้ายคือ มีจิตใจที่สงบ ใจที่สงบก็จะทำให้วาจากล่าวคำพูดออกมาก็ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนกัน จะทำอะไรทางกายก็เป็นไปเพื่อไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน หรือใจที่สงบนั้นจะสงบได้อย่างไร ท่านก็บอกว่าต้องสงบกิเลสเสียก่อน ต้องสงบโลภะ โทสะ โมหะ หรือสงบตัณหา มานะ ทิฐิ ถ้าความโลภก็ยังมีอยู่รุนแรง ความโกรธ ความคิดประทุษร้ายกันก็ยังมีอยู่รุนแรง ความลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งต่างๆ ก็ยังมีอยู่รุนแรงก็ไม่มีทางที่ว่าจะทำให้จิตใจสงบได้ เพราะจิตใจของผู้นั้นเองเมื่อมีกิเลสเหล่านี้อยู่ ก็เป็นจิตใจที่วุ่นวายเดือดร้อนอยู่แล้ว เมื่อเป็นจิตใจที่เรียกว่าวุ่นวายเดือดร้อนแสดงออกมาภายนอก จะเป็นการกล่าวคำพูดก็ตามหรือว่ากระทำทางกายก็ตามก็จะเป็นการกระทำและคำพูดที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นโดยรากฐานที่สุดนั้นต้องแก้ถึงจิตใจด้วย จิตใจที่จะมีความสงบได้แล้วก็ระงับไม่ให้กิเลสเหล่านั้นก่อความวุ่นวายเดือดร้อนขึ้นมา ก็ต้องอาศัยวิถีทางของการปฏิบัติในทางที่เรียกว่า มรรค ซึ่งถ้ากล่าวโดยย่อ ก็มีวิธีปฏิบัติ 2 ด้าน อย่างหนึ่งเรียกว่า ทำกิเลสให้ระงับไปหรือทำจิตใจให้สงบวางจากกิเลส ได้แม้แต่ชั่วคราวขณะหนึ่ง ขณะหนึ่ง ระยะหนึ่ง พักหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่เรียกว่า สมถะ วิธีสมถะนี้อาจจะใช้วิธี ปลูกคุณธรรมที่ตรงข้ามขึ้นมา เรียกว่า สร้างเมตตากรุณา ความคิดความปรารถนาดีต่อผู้อื่น อยากให้เขามีความสุข อันนี้ก็เป็นเครื่องระงับกิเลสเพราะว่าเป็นคู่ตรงกันข้าม เช่น มีเมตตาแล้ว ก็กำจัดระงับโทสะให้หายไป หรือให้สงบไปชั่วคราว ก็จะสร้างสันติขึ้นได้ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งและอีกด้านหนึ่งก็คือ ทางด้านที่เรียกว่า วิปัสสนาใช้ปัญญา ความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายไปตามความเป็นจริง ไม่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส จะใช้วิธีของสมถะสร้างคุณธรรมขึ้นมาแทนหรือว่าทำให้จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งที่ดีงาม อย่างที่เราเรียกว่าทำสมาธิก็ตาม กิเลสที่จะเผาผลาญจิตใจให้เดือดร้อนวุ่นวายก็ย่อมสงบไป หรือทำด้วยความรู้เข้าใจตามความเป็นจริง ก็คือว่าเราจะต้องทำให้จิตใจนี้แล่นไปในทางของความรู้เมื่อจิตใจแล่นไปในทางของความรู้ จิตใจก็ไม่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส ไม่เป็นไปตามอำนาจ โลภะ โทสะ โมหะ ก็สงบจากกิเลสได้เหมือนกัน ยิ่งมีความรู้เท่าทันในหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องความไม่เที่ยงความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตนแล้ว จิตใจก็ยิ่งสงบปล่อยวางสิ่งทั้งหลายได้ อันนี้ก็เป็นอุบายที่ทำให้เกิดความสงบในจิตใจที่แท้จริง ความสงบนั้นก็จะก่อให้เกิดผลเป็นสุขทั้งกับตัวเองและกับผู้อื่น คือจิตใจตัวเองเมื่อสงบระงับกิเลสเหล่านั้น ไม่มีกิเลสวุ่นวายในใจมีแต่ธรรมที่ดีงาม เช่นเมตตากรุณา ก็เป็นจิตใจที่เบิกบานผ่องใสบริสุทธิ์ เป็นจิตที่มีความสุข เมื่อแสดงออกไปภายนอกก็พลอยนำมาซึ่งความสุขแก่ผู้อื่นไปด้วย อย่างนี้จึงจะเรียกว่า ทำให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในสังคม แม้จะพยายามขวนขวายสร้างสันติภาพกันอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาภายในจิตใจของคนให้มีสันติแล้วก็จะแก้ปัญหาได้ยากหรือว่าไม่มีทางสำเร็จได้ในระยะยาว แต่ว่าสภาพการณ์ภายนอกนั้นก็ต้องแก้กันเรื่อยไปจะแก้ได้แค่ไหนเพียงใดก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องพยายาม แต่สิ่งที่จะต้องทำอย่างแน่นอนก็คือ จิตใจของเราทุกคนจะต้องหาทางให้มีความสงบให้เกิดสันติขึ้นมา ยิ่งอยู่ในโลกที่มีเรื่องวุ่นวายเดือดร้อนเกิดขึ้นเสมอ ถ้าไม่สามารถทำจิตใจให้สงบได้แม้แต่ชั่วครั้งชั่วคราวบางทีชีวิตก็ทนไม่ไหว เพราะฉะนั้นพุทธศาสนิกชนก็มีหลักปฏิบัติที่ว่า จะต้องพยายามทำจิตใจให้ได้สงบ ถ้าสงบได้เรื่อยไปเป็นเวลายาวนานก็ยิ่งดีมีความสุขมาก แต่ถ้าทำไม่ได้เช่นนั้น ก็หาโอกาสที่จะทำให้จิตใจได้สงบเป็นระยะเป็นชั่วครั้งชั่วคราว วันหนึ่งก็ให้ได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าทำจิตใจให้ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้จิตใจสงบอย่างเช่นเมตตาเป็นต้นเนี้ย แม้แต่ชั่วลัดนิ้วมือเดี๋ยวก็มีค่าอย่างสูงแล้ว เพราะฉะนั้นพุทธศาสนิกชนเห็นคุณค่าของการทำจิตใจให้สงบผ่องใสก็พยายามหาโอกาสที่ว่า แม้อยู่ท่ามกลางความวุ่นวายเดือดร้อนก็ทำจิตใจของตนให้ผ่องใส บริสุทธิ์ สงบ เป็นระยะ เป็นชั่วครั้งชั่วคราว เช่นหาโอกาสบำเพ็ญสมาธิวันละชั่วเวลาหนึ่ง กำหนดตอนใดตอนหนึ่งของวันหรือกลางคืนเป็นต้น หรือว่าจะหมั่นพิจารณาฟังธรรมะอะไรก็ตาม จะเป็นการใตร่ตรองพิจารณาธรรมด้วยตนเองการฟังธรรมก็ล้วนแต่นำมาซึ่งความสงบทางจิตใจได้ทั้งสิ้น อันนี้ก็เป็นอุบายวิธีที่จะทำให้ชีวิตนี้ประกอบด้วยสันติ เพราะฉะนั้นอาตมาภาพก็ขออนุโมทนา โยมซึ่งมีจิตศรัทธาในพระศาสนา ซึ่งจิตที่ศรัทธานั้นก็จะน้อมไปหาสิ่งที่ดีงาม คือ พระรัตนตรัย แม้แต่ว่าระลึกถึงคุณพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จิตมาแน่วดิ่งอยู่หรือแอบอิงอยู่กับสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เคารพบูชาที่มีศรัทธานี้เพียงแค่นี้ก็ทำให้จิตใจสงบแล้ว จิตใจสงบผ่องใสเป็นทางให้เกิดความปลื้มปิติ เป็นทางให้เกิดปัสสัทธิ ความสงบ ความเยือกเย็น อันนี้ก็เป็นคุณค่าที่เกิดขึ้นในจิตใจเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นสิ่งที่ส่งเสริมคุณภาพของชีวิต เพราะฉะนั้นอาตมาภาพก็ขออนุโมทนาโยมและขอให้โยมได้เจริญก้าวหน้าในความสงบหรือสันติอันเป็นไปในจิตใจนี้เป็นพื้นฐานได้ทุกๆ วัน หรือว่าตลอดเวลาที่ยาวนานและเจริญก้าวหน้าในมรรคาแห่งสันตินี้ตลอดไป