แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
คุยกันต่อเรื่องไตรสิกขา นี่ก็คือพูดโยงจากเรื่องอื่นมาตอนต้น ตอนนี้ก็ไม่แน่ใจว่าพูดไปแค่ไหน ถ้าพูดไปมากแล้วก็อาจจะซ้ำ แต่ถ้าจะไม่พูด ถ้าเกิดยังไม่ได้พูดก็จะขาดไป ฉะนั้น ถ้าซ้ำก็ถือเป็นว่ามาทวนก็แล้วกัน
เคยแยกไว้แล้วว่า การดำเนินชีวิตของเรานั้นก็มี ๓ ด้าน มีพฤติกรรม จิตใจและปัญญา ซึ่งสัมพันธ์กันอยู่ แยกจากกันเด็ดขาดไม่ได้ เพราะว่าเราจะเคลื่อนไหวร่างกายและพูดจาอย่างไรก็ต้องออกมาจากความตั้งใจ มีเจตนา มีแรงจูงใจอยู่เบื้องหลัง มีความอยาก ความปรารถนา ความรู้สึกต่างๆ เคลื่อนไหวกายและกล่าววาจาไปตามนั้น นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่าพฤติกรรมมาจากจิตใจ นอกจากนั้นจะพูดอะไร และจะเคลื่อนไหวทำอะไรได้แค่ไหนก็อยู่ที่ปัญญาที่มีความรู้เข้าใจด้วย เพราะฉะนั้น พฤติกรรมก็ต้องออกมาจากปัญญา อยู่ในขอบเขตของปัญญา ส่วนจิตใจเองก็ต้องอาศัยปัญญา ปัญญามีความรู้เข้าใจ มองสิ่งต่างๆ อย่างไร มองด้วยความเข้าใจอย่างไรก็จะมีผลต่อความรู้สึกทางจิตใจ หรือถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจ เช่นไม่รู้จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไร มันคืออะไร ก็จะอึดอัดบีบคั้น ก็เกิดความทุกข์ เพราะฉะนั้น ปัญญาก็จะมีผลต่อจิตใจ ถ้าปัญญารู้เข้าใจดีก็จะทำให้จิตใจโล่งโปร่งกว้างขวาง จิตใจเองก็เป็นปัจจัยแก่ปัญญาว่า ถ้าหากว่าจิตใจเข้มเข็ง มีความเพียร มีความอดทน เป็นต้น ก็จะทำให้สามารถใช้ความคิดได้ดี จิตเป็นสมาธิ จิตแน่วแน่ก็ยิ่งคิดอะไรต่ออะไรได้แจ่มชัดและลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นสภาพจิตใจก็มีผลต่อปัญญา หรือว่าจิตใจที่ดีก็ช่วยหนุนการพัฒนาปัญญา แล้วก็พฤติกรรมก็มาหนุนปัญญาว่า ถ้าเรามีพฤติกรรมที่ดี มีการเคลื่อนไหวใช้กายได้ถูกต้อง ใช้วาจาได้ดี เช่น ในการพูดจารู้จักไถ่ถาม รู้จักสนทนา เป็นต้น มันก็เป็นทางของการพัฒนาปัญญา มันเปิดช่องให้กับปัญญา เหมือนกับว่ากายวาจาเป็นเครื่องมือ เป็นอุปกรณ์ของจิตใจและปัญญา อย่างที่คนโบราณเขาบอกว่า ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว กายรวมทั้งวาจาด้วยนี้ก็รับใช้จิตใจ แต่ว่าที่จริงไม่ใช่แค่จิตใจ รับใช้ปัญญาสิสำคัญ เวลาเราพูดว่า จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว คำว่าจิตในที่นี้ก็จะรวมไปถึงปัญญาด้วย โดยเฉพาะปัญญาจะเป็นตัวสำคัญที่ใช้ร่างกายและวาจา เพราะว่าความคิดความตั้งใจก็อย่างที่ว่ามันไม่ได้มีเปล่าๆ มันอยู่ที่ว่ามีความรู้แค่ไหน ความตั้งใจมันก็จะไปตามปัญญาอีกที ใจนั้นทำอะไรได้ภายในขอบเขตของปัญญา เพราะฉะนั้นมันก็สัมพันธ์กันหมดแหละ เป็นอันว่า ๓ ด้านของชีวิตนี้แยกกันไม่ได้ เราก็ต้องฝึกทั้งพฤติกรรมให้ดีขึ้น จิตใจดีขึ้น ปัญญาดีขึ้น แล้ว ๓ อย่างจะมาหนุนกันให้ชีวิตเจริญงอกงามให้ดีไปด้วยกันหมด
การฝึกในด้านพฤติกรรมก็เรียกว่า “ศีล” ฝึกในด้านจิตใจก็เรียกว่า “สมาธิ” ฝึกในด้านปัญญา ไทยเราที่จริงก็ฝึกในด้านความรู้ความเข้าใจเรียกว่า “ปัญญา” ไทยเราก็เลยใช้ศัพท์ของบาลีไปเลยว่าปัญญา พฤติกรรม จิตใจและปัญญานี้เป็นเรื่องของชีวิตของเรา เป็นกระบวนการตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นก็อยู่ในฝ่ายธรรมะ ที่เราพูดไปแล้วนี้เรื่องวินัย วินัยเป็นเรื่องของการจัดสรรภายนอก เป็นเรื่องของมนุษย์จะมาตกลงกัน จะเอาอย่างไร พอมาใช้วินัยมาฝึกคน มันเข้ามาเกิดผลต่อพฤติกรรม มันก็เข้ามาสู่ด้านธรรมะ แล้วพอฝึกด้านพฤติกรรมนั้นก็เป็นการฝึกด้านจิตใจและปัญญาไปด้วยอย่างที่พูดเมื่อวาน เช่นอย่างยกตัวอย่างง่ายๆ แค่ว่าเราจะทำอะไรตามข้อกำหนดที่เรียกว่าวินัย จิตใจของเราต้องมีความตั้งใจ ต้องรู้จักบังคับควบคุมใจของตัวเอง มีความอดทน หรือมีความเพียร และมีความตั้งจิตตั้งใจต่อข้อกำหนดกฎเกณฑ์กติกานั้น ถ้าตั้งความรู้สึกไว้ไม่ดี เป็นบังคับก็จะรู้สึกเป็นทุกข์จำใจ แสดงว่าผลต่อจิตใจเกิด ถ้าตั้งจิตใจไว้ดีว่า เอ้อ, มีความพอใจว่าจะได้ฝึกตัวเอง ก็เกิดความสุขความพอใจ สภาพจิตใจก็จะมีผลไปอีกแบบหนึ่ง ในการที่เราจะฝึกได้ เราปฏิบัติตามข้อกำหนดตามกติกา เราต้องเรียนรู้มัน เราเรียนรู้กติกาข้อกำหนดเป็นอย่างไร มีรายละเอียดอย่างไร ตลอดจนถ้าหากว่าให้ดียิ่งขึ้นก็รู้เหตุรู้ผล รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ของการปฏิบัติ ตามรู้โทษของการที่จะฝ่าฝืน ปัญญาก็เจริญงอกงาม เพราะฉะนั้นในเรื่องของวินัยก็เป็นการฝึกที่มุ่งด้านพฤติกรรมก็จริง แต่ส่งผลไปถึงจิตใจและปัญญาหมด นี่เป็นเรื่องที่พูดเมื่อวานว่า ด้านวินัยซึ่งเป็นเรื่องการจัดตั้งวางระเบียบระบบแบบแผนของมนุษย์นี้ก็ส่งผลมาด้านธรรมะ เป็นอันว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างวินัยกับธรรมะอีกครั้งหนึ่ง ตอนแรกเราวางวินัยจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต อันนั้นก็เป็นเรื่องของธรรมะที่เอามาเป็นฐานในการจัดตั้งวินัย เสร็จแล้วพอจัดตั้งวินัยเสร็จ วินัยนี้กลับมาฝึกมนุษย์ส่งผลกลับมาที่ธรรมะ คือระบบชีวิต กระบวนการของชีวิต พฤติกรรม จิตใจและปัญญา พอเข้ามาด้านการฝึกพฤติกรรม จิตใจและปัญญา เป็นอันว่าเข้ามาด้านธรรมะอีก จากวินัยส่งผลย้อนกลับมาธรรมะ
ทีนี้การฝึกแต่ละอย่างนี้ เราเรียกว่าสิกขา อย่างที่ว่าไปแล้ว การฝึกด้านพฤติกรรมเรียกว่า “ศีล” ฝึกด้านจิตใจเรียกว่า “สมาธิ” ฝึกด้านความรู้ความเข้าใจเรียกว่า “ปัญญา” ก็เป็นสิกขา ๓ ฝึก ๓ ด้านก็เรียกว่าไตรสิกขา
ไตรสิกขาด้านศีล ถ้าเรียกชื่อให้เต็มเรียกเป็นทางการก็เรียกว่า “อธิสีลสิกขา” แปลว่าฝึก สิกขาก็คือฝึก ในด้านศีลให้ยิ่งขึ้นไป แล้วก็ “อธิจิตตสิกขา” แปลว่าฝึกในด้านจิตให้ยิ่งขึ้นไป จะเห็นว่าชื่อเราเรียกกันง่ายๆ คำเดียวว่าสมาธิ แต่พอเรียกเป็นสิกขา ต้องเปลี่ยนไปเรียก “อธิจิตตสิกขา” มีคำว่าจิต ไม่ใช้คำว่าสมาธิแล้ว เพราะที่จริงมันหมายถึงฝึกด้านจิตทั้งหมด แล้วก็ “อธิปัญญาสิกขา” ก็แปลว่าฝึกด้านปัญญาให้ยิ่งขึ้นไป “อธิ”ตัวนี้ก็แปลว่ายิ่งขึ้นไป แต่บางทีท่านก็อธิบายว่า “อธิ”นี้หมายถึงขั้นสูง ขั้นที่มันถูกต้องตามความมุ่งหมาย เช่นว่า อธิสีลสิกขานี้ฝึกด้านศีล หรือด้านพฤติกกรม ที่จะเป็น “อธิ” ได้นี้ หมายความว่ามันต้องเข้าสู่แนวทางที่ถูกต้องไม่ผิดพลาด เป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายที่แท้จริง เช่นว่า ฝึกด้านศีล เรามีการรักษาศีล แม้แต่ศีล ๕ หรือสูงขึ้นไปเป็นศีล ๘ บางคนรักษาด้วยไม่เข้าใจ รักษาศีลโดยอย่างมุ่งจะไปเกิดในสวรรค์ เรียกว่านึกว่าจะได้เป็นโชคลาภ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ยังไม่เป็นอธิสีล ถ้าจะเป็นอธิสีลก็หมายความว่า มันเข้าสู่กระบวนการที่ว่า ศีลที่เราฝึกดีแล้ว พฤติกรรมของเราดีแล้วนี้ มันจะมาเกื้อหนุนให้เราพัฒนาจิตใจต่อไปได้อย่างไร ไปสู่จุดหมายของไตรสิกขา ถ้าอย่างนี้จึงจะเรียกว่าเป็นอธิสีลสิกขา หมายความว่า เป็นการฝึกศีลที่มันถูกต้อง เข้าสู่แนวทาง เข้าสู่กระบวนการที่แท้ ไปสู่จุดหมาย เรียกว่าเป็นอธิสีล ถ้าเอากันง่ายๆ ก็แปลว่าฝึกศีลยิ่งขึ้นไป ฝึกจิตยิ่งขึ้นไป ฝึกปัญญายิ่งขึ้นไปก็แล้วกัน นี่แปลแบบง่ายๆ เรียกกันสั้นๆ ก็แค่ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
ด้านพฤติกรรมก็มาทวนกันอีกนิดหน่อยว่า ด้านพฤติกรรมได้แก่เรื่องของการแสดงออกทางกายวาจาของเรา ด้านพฤติกรรมก็มีกายกับวาจา การเคลื่อนไหวร่างกาย มือ เท้า เป็นต้น แล้วก็วาจา การกล่าวถ้อยคำ ๒ อย่างนี้ กายวาจาของเราที่แสดงออกไปสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ไปสัมพันธ์กับโลกภายนอกเพื่อให้เราดำรงชีวิตไปได้ด้วยดี ถ้าเราใช้พฤติกรรมไม่ดี เราจะดำเนินชีวิตไม่ได้ด้วยดี จะเกิดความสัมพันธ์กับโลกภายนอกหรือสิ่งแวดล้อมอย่างเสียหายขัดแย้ง เกิดผลร้ายแก่ตนเองและสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น
สิ่งแวดล้อมก็มี ๒ ด้าน สิ่งแวดล้อมประเภทผู้คนด้วยกัน เรียกว่าสิ่งแวดล้อมทางสังคม นี่เป็นศัพท์สมัยใหม่ก็คือมนุษย์ด้วยกัน แต่สมัยก่อนนั้นก็รวมทั้งสัตว์ด้วย สัตว์อื่น สัตว์เดรัจฉาน ที่จริงคำว่าสัตว์นี้ก็หมายถึงมนุษย์ด้วยอยู่แล้วในภาษาพระ ภาษาพระนี้คำว่า "สัตว์" นี้เน้นที่ตัวคน แต่ว่าภาษาไทยเวลาพูดว่า "สัตว์" เรามักจะเว้นคน เราไปนึกถึงสัตว์เดรัจฉาน แต่ภาษาพระนี้ สัตว์นี่มุ่งที่คนก่อนอื่น ฉะนั้นคนไทยไปเรียกมนุษย์เป็นสัตว์เข้าก็ชักโกรธ แต่ที่จริงภาษาพระนั้น สัตว์นี้แหละมนุษย์ก่อนอื่นเลย เช่นอย่างพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์นี่คนที่ประเสริฐด้วยซ้ำ ก็เรียกว่าโพธิสัตว์ แปลว่าสัตว์ผู้มุ่งต่อโพธิ หรืออย่างพระพุทธเจ้าตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ศัพท์บาลีก็เรียกว่า "มหาสัตว์" มหาสัตว์ก็เท่ากับคำคล้ายๆ คำว่า "มหาบุรุษ" นั่นเอง มหาสัตว์ ลองคิดดูสิ สัตว์ผู้ยิ่งใหญ่ มาเรียกกันในภาษาไทยสิ โกรธเลย ฉะนั้นภาษาบาลีคำว่า "สัตว์" นี่มุ่งที่คนเป็นสำคัญ และสัตว์อื่นก็เป็นตัวประกอบ พวกช้างม้าก็เป็นสัตว์ แต่พระพรหมและเทวดาทั้งหลายก็เป็นสัตว์เช่นเดียวกัน ภาษาไทยแม้แต่ศัพท์ธรรมดาความหมายก็ไม่ค่อยจะตรงกับเดิมแท้ในภาษาบาลี ถ้าใครไปเรียกพระพรหมว่าสัตว์ คนที่นับถือพระพรหมก็โกรธเอา เทวดาก็เป็นสัตว์ พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ก็สัตว์อยู่แล้ว บอกอยู่แล้ว มหาสัตว์ อะไรอย่างนี้ พฤติกรรมของเราก็ไปสัมพันธ์กับสัตว์อื่น ตั้งแต่คนด้วยกันเป็นต้นไป นี่เราก็เรียกกันภาษาปัจจุบันว่าสิ่งแวดล้อมทางสังคม เราไปเคลื่อนไหวร่างกายของเรา ไปจับมือถือแขนเขา หรือไปอุ้ม ไปช่วยประคับประคอง ไปนวดไปฟั่น หรือจะไปตีเขาประทุษร้ายเขา หรือว่าใช้วาจาก็ไปพูดกับเขา พูดดี พูดร้ายอะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องของพฤติกรรม นี่เป็นด้านศีลทั้งนั้น
ต่อไปก็สิ่งแวดล้อมอื่นนอกจากมนุษย์หรือสัตว์อื่น สิ่งแวดล้อมอีกประเภทหนึ่งที่เราจะเอากายวาจาเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็คือสิ่งแวดล้อมอย่างอื่นนอกจากมนุษย์สัตว์ ก็คือพวกวัตถุ ธรรมชาติอื่นๆ ต้นไม้ ภูเขา ดิน น้ำ ลม ไฟ ตึกบ้านเรือน ถนนหนทาง ใกล้ตัวที่สุดก็ปัจจัย ๔ ตั้งแต่อาหารเป็นต้นไป อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค นี่เป็นความสัมพันธ์ของเรากับพวกวัตถุสิ่งของอย่างแรกเลย ตลอดจนปัจจุบันก็เทคโนโลยี ก็อยู่ที่ว่าเราจะมีพฤติกรรมปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร ถ้าเราปฏิบัติต่อมันดีก็ได้ผลดี ปฏิบัติต่อมันไม่ดีก็เกิดผลเสียแก่ชีวิตของตนเอง เช่น พฤติกรรมในการกินอาหาร ก็คือสัมพันธ์กับอาหาร ถ้ากินไม่เป็นก็เกิดโทษต่อชีวิตร่างกาย ถ้ากินเป็นก็ได้ผลดี สุขภาพแข็งแรง เกื้อหนุนต่อชีวิต อย่างนี้เป็นต้น
การฝึกในเรื่องนี้ทั้งหมด ในพฤติกรรมกายวาจาที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมก็ดี ทางวัตถุต่างๆ ที่เรียกภาษาเป็นวิชาการเรียกว่าทางกายภาพก็ดี ตั้งแต่ปัจจัย ๔ เป็นต้นไป นี้เป็นศีลหมดเลย กว้างมาก ทำไมจึงใช้คำว่า “ศีล” อันนี้เป็นเรื่องที่น่าศึกษา คำว่า “ศีล” พระท่านจะบอกว่า แปลว่าปกติ “ปกติ” ก็หมายความว่ามันเป็นของสามัญธรรมดาเคยชินนั่นเอง หมายความว่าเป็นปกติของเขาอย่างนั้น คำว่า “ปกติ” ในภาษาไทยก็อาจจะเกิดความเข้าใจไขว้เขวได้อีกแล้ว “ปกติ” หมายความว่าไม่ใช่ของพิเศษ อย่างนี้ความหมายอย่างหนึ่ง “ปกติ” ในความหมายที่บอกว่า “เขามีอย่างนี้เป็นปกติ” “เขาจะทำอย่างนี้เป็นปกติ” เช่น เขาเดิน เขาก็เดินกระย่องกระแย่งเป็นปกติของเขา หรือเขาเดินเร็วเป็นปกติของเขา เขาเดินนวยนาดเป็นปกติของเขา นี่ “ปกติ” อย่างนี้เข้าใจใช่ไหม ปกติอย่างนี้เรียกว่าศีล คือหมายความว่า มันเคยชินอย่างนั้น เคยชินจนอยู่ตัวเลย เป็นพฤติกรรมอยู่ตัวเคยชินของเขาก็เรียกว่าปกติ แต่ว่าในที่นี้ เพราะมันเป็นเรื่องของการฝึก เป็นสิกขาแล้ว ท่านหมายถึงพฤติกรรมเคยชินหรือเป็นปกติที่ดี ไม่ได้หมายเอาด้านร้าย หมายความว่า ฝึกให้มันเป็นพฤติกรรมที่ดีจนเคยชินจนเป็นปกติไปเลย ให้พฤติกรรมที่ดีนี้เป็นปกติของเขาไปเลย มันอยู่ตัวนั่นเอง ถ้าพฤติกรรมอะไรต่ออะไรเราประพฤติได้อย่างนั้นมันก็อยู่ตัว ตอนแรกเราไปเจออะไรเราจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง อันนั้นเราทำครั้งแรก เราอาจจะต้องคิดต้องพิจารณาว่าจะเอายังไง แต่ต่อไปพอครั้งที่ ๒ ที่ ๓ เราจะเริ่มทำโดยที่ว่าแทบจะไม่ต้องคิด เพียงแต่ตั้งใจนิดเดียว แต่ก่อนครั้งแรกอาจจะต้องคิดอยู่นาน และลังเลว่าจะเอายังไง พอต่อไปครั้งที่ ๒ เริ่มจะไม่ต้องคิดแล้ว คิดน้อย ต่อมาครั้งที่ ๓ ที่ ๔ คราวนี้แทบจะไม่รู้ตัวเลย ต่อไปนี่นานๆ เข้านี่ ไม่รู้ตัวหรอกทำไปเลย ความเคยชินของเราก็จะมี ๒ แบบที่ร้ายกับดี ถ้าความเคยชินไม่ดีเจออะไรปั้ปก็ด่าทันที อย่างนี้ก็เกิดผลเสียกับชีวิตของตัวเอง ถ้าเป็นความเคยชินที่ดี พอพบคน แขกแปลกหน้ามาก็พูดทักทายปราศรัยอ่อนหวาน ก็กลายเป็นความเคยชินเป็นปกติที่ดี ศีลนี่ท่านเป็นเรื่องของการฝึก เพราะฉะนั้นท่านก็มุ่งเอาความเคยชินที่ดี ฉะนั้น “ศีล” เราก็พูดได้ว่าเป็นพฤติกรรมความเคยชินที่ดี หรือการที่ทำให้พฤติกรรมที่ดีนั้นกลายเป็นปกติของเขาหรือของเรา
เอาล่ะครับ พฤติกรรมสำคัญมากตรงเคยชิน พอเคยชินแล้วแก้ยาก เพราะฉะนั้นจึงเน้นว่าให้เราพยายามพัฒนาพฤติกรรมของเราที่เคยชินให้ดี โดยเฉพาะเด็กๆ ในครอบครัวนี้สำคัญที่สุด เพราะว่าเด็กนี่ถ้าโตขึ้นติดอย่างไรแล้วก็แก้ยาก โบราณจึงพูดว่า ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก เพราะอะไร เพราะคนแก่นี่มันอยู่ตัวแล้ว พฤติกรรมนั้นสะสมมาติดตัวมาตั้งสี่ห้าสิบ หกสิบ เจ็ดสิบ แปดสิบปี จะไปแก้ยังไง ถ้าเด็กมันยังไม่นาน เพราะฉะนั้นก็แก้ง่ายกว่า แต่ว่าเด็กเองขนาดว่าแค่ ๕ ปีก็ยังแก้แทบตาย แก้แทบไม่ได้แล้ว ขนาด ๕ ปีนี่ก็แย่แล้ว เพราะฉะนั้นตอนแรกนี่สำคัญมาก ตอนที่อยู่ในครอบครัวและเด็กเพิ่งจะมาสัมผัสโลกใหม่ๆ พอแกสัมผัสโลกใหม่ๆ แกยังไม่มีพฤติกรรมอะไรที่อยู่ตัวเคยชิน แต่ว่าถ้าแกไปเจอประสบการณ์อะไร สถานการณ์อะไร แล้วแกมีพฤติกรรมอะไร เช่น พูดจาหรือเคลื่อนไหวทำยังไง อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า ถ้าลงครั้งที่ ๑ ทำไปแล้ว ครั้งที่ ๒ เริ่มมีความโน้มเอียงจะทำอย่างนั้น พอครั้งที่ ๓ ก็ยิ่งแนบแน่น พอ ๔, ๕ ต่อไป อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่ามีปฏิกิริยาแสดงพฤติกรรมนั้นออกทันทีโดยไม่ต้องคิด และบางทีไม่รู้ตัวด้วย เพราะฉะนั้นนี่สำคัญมาก อย่างที่เราพูด เราพูดหลายอย่างเราพูดไปเลย แล้วพอพฤติกรรมเคยชินอย่างนั้นแล้วนะ ต่อไปควบคุมตัวเองก็ยากด้วยนะ พฤติกรรมนั้นมันจะออกทั้งๆ ที่ว่ามันไม่เหมาะแต่ว่ามันเคยชิน จะต้องควบคุมบังคับตัวเองนี่ โอ้โหหนักมาก นั่นจะมีปัญหา ดังนั้นต้องเน้นว่าทำไงจะสร้างพฤติกรรมความเคยชินที่ดีให้โดยเฉพาะแก่เด็ก เพราะว่าถ้าหากไม่ดีแล้วแก้ยาก ต่อไปเป็นผลร้ายแก่ชีวิตของเขาและผู้อื่นด้วย ถ้าหากว่าเขาได้พฤติกรรมเคยชินที่ดีไปแล้วสบายใจเลย พ่อแม่มักจะไม่ได้เอาใจใส่เรื่องนี้ ตัวเองก็อาจจะกลายเป็นเหตุของพฤติกรรมเคยชินที่ไม่ดีของเด็กไปด้วย (๑) จากความประมาทไม่เอาใจใส่ (๒) ตัวเองนั่นแหละ ตัวเองก็มีพฤติกรรมเคยชินไม่ดีในเรื่องนั้น เช่นถ้อยคำคำพูด พอเจออะไรก็พูดอย่างนั้น เด็กก็ได้ยินก็ตาม ต่อไปอันนั้นก็ถ่ายทอดไปที่ลูกด้วยการทำตามอย่างหรือเลียนแบบ นั่นก็เกิดผลเสียหาย ถ้าพ่อแม่มีสติปัญญา รู้เข้าใจ เอาใจใส่ในการเลี้ยงดูลูกก็จะระมัดระวังไม่ให้เด็กเอาอย่างตัวเองเลียนแบบในพฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่ทำพฤติกรรมที่ไม่ดี กล่าววาจาที่ไม่ดีให้เด็กได้ยิน เด็กบางคนก็ติดเรื่องด่ามาแต่เล็กๆ เพราะว่าพ่อแม่ด่าให้เด็กได้ยิน หรือไปได้ยินคนอื่นแล้วพ่อแม่ก็ปล่อย เพราะฉะนั้นก็ต้องระวังเรื่องเหล่านี้ เรื่องพฤติกรรมเคยชินที่ว่าสำคัญโดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ ก็เอาแค่นี้ก่อนว่าเป็นอันว่าเรื่องศีล ท่านเรียกอย่างนี้แปลว่าปกติ ก็มุ่งเอาการฝึกในเรื่องพฤติกรรมกายวาจาที่ดีให้เคยชิน ให้เป็นปกติของตัวเองหรือของเขา โดยเฉพาะตัวเราพัฒนาตัวเองให้เป็นปกติของตัวเรา โดยถือหลักว่าเคยชินแล้วแก้ยาก แล้วชีวิตของเราที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเราทำไปตามความเคยชิน อาจจะถึง ๘๐-๙๐% เราทำแทบไม่ต้องคิด
ต่อไปด้านที่ ๒ การฝึกเรื่องจิตใจ ทำไมเรียก“สมาธิ” ชื่อเต็มเรียก“อธิจิตตสิกขา” การฝึกด้านจิตใจยิ่งขึ้นไป แต่พอมาเรียกสั้นๆ ง่ายๆ ก็เรียกว่า“สมาธิ” ทั้งๆ ที่สมาธินั้นเป็นเพียงสภาพจิตอย่างหนึ่งเท่านั้น เป็นคุณสมบัติที่ดีของจิต เป็นเพียงอย่างหนึ่งอย่างเดียวในบรรดาร้อยแปดพันเก้าในจิตใจ ทำไมมาเรียกการฝึกด้านจิตทั้งหมดว่า”สมาธิ” ก็เรียกเพราะว่าสมาธินี่เป็นองค์ประกอบหรือคุณสมบัติสำคัญอย่างยิ่ง เรียกว่าเป็นแกนของการพัฒนาฝึกฝนด้านจิตใจ เรียกอีกอย่างว่าเป็นประธานว่างั้นเถอะ เป็นประธานของคุณสมบัติอื่นทางด้านจิตใจ เพราะถ้าสมาธิไม่มาหรือไม่มีบ้างเลย การฝึกด้านจิตใจ การสร้างสรรค์คุณสมบัติที่ดีทางจิตใจอย่างอื่นปลูกฝังได้ยากมาก พัฒนาได้ยากมาก แต่ว่าถ้ามีสมาธิซะแล้วการพัฒนาคุณสมบัติด้านจิตใจอื่นๆ มาได้ง่าย
คุณสมบัติอะไรบ้างด้านจิตใจ ถ้าเราใช้ศัพท์สมัยใหม่ เราจะแยกเป็นคุณสมบัติประเภทคุณธรรมความดีงาม เราอาจจะเรียกว่าคุณภาพของจิตใจ เช่น ความมีศรัทธา ความเมตตากรุณา คือความรัก ความปรารถนาดี ความมีไมตรี ความเคารพ ความกตัญญู อะไรพวกนี้ นี่เป็นคุณสมบัติ เป็นเรื่องของคุณธรรม เป็นเรื่องของสิ่งที่ดีงาม เราอาจจะใช้คำว่าคุณภาพของจิตใจ ถ้าไม่มีคุณภาพจิตก็เป็นจิตที่ร้าย จิตที่แข็งกระด้าง จิตที่โกรธ จิตที่ลบหลู่อะไรต่างๆ เป็นต้น นี่เป็นเรื่องของอกุศลเป็นบาปเป็นเรื่องของกิเลส เราต้องการส่วนที่ดีๆ ก็พัฒนาด้านดีขึ้นมาให้มีคุณภาพ
อีกด้านหนึ่งคืออะไร คือเรื่องความเข้มแข็งของจิตใจ ความสามารถของจิตใจ เช่นว่า ขันติความอดทน วิริยะความเพียร ความมีใจสู้ ความบากบั่นก้าวไปข้างหน้าไม่ยอมท้อถอย ความมีสติ การที่ระลึกทันต่อเหตุการณ์ การที่สามารถบังคับควบคุมจิตใจได้ รวมทั้งสมาธิเองด้วย ความที่จิตใจตั้งมั่น มั่นคงแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งต่างๆ นี่ด้านสมรรถภาพด้านจิตใจ
และอีกด้านหนึ่งก็คืออะไร ก็คือเรื่องของความสุข ความร่าเริงเบิกบานใจ ความมีจิตใจผ่องใส สงบสดชื่น ร่าเริง อะไรพวกนี้ นี่ด้านความสุข อาจจะเรียกว่าสุขภาพจิต ก็เอาศัพท์สมัยใหม่มาใช้ว่าเป็นคุณภาพจิต สมรรถภาพจิต สุขภาพจิต ทั้งหมดนี้เป็นด้านจิตใจทั้งนั้น
การที่จะฝึกทางด้านในจิตใจอย่างที่ว่ามานี้ ต้องอาศัยสมาธิทั้งนั้น สมาธิแปลว่าความแน่วแน่หรือตั้งมั่น สมัยเก่าเวลาเราแปลตามศัพท์ทางพระก็จะเรียกว่าความตั้งมั่น จิตตั้งมั่นก็เรียกว่าเป็นสมาธิ ตั้งมั่นนี่มันก็อยู่ตัว จิตอยู่ตัว ถ้ามันยังไม่ตั้งมั่นมันไม่อยู่ตัว มันวอกแวก มันฟุ้งซ่าน มันหวั่นไหวแกว่งไกว กระวนกระวาย กระสับกระส่าย พอมันหวั่นไหวเหมือนกับว่าอย่างโต๊ะ เก้าอี้หรือที่รองอะไรสักอย่าง ถ้ามันไม่มั่นคงมันหวั่นไหวเรียกว่าไม่ตั้งมั่น ของเล็กๆ น้อยๆ วางอยู่บนนั้นก็กลิ้งระเนระนาดหมด ดีไม่ดีก็หล่นเลย อย่างน้อยมันก็อาจจะเลื่อนไปล้มไปอย่างที่ว่า คุณสมบัติต่างๆ ในจิตถ้าไม่มีสมาธิก็หมายความว่าตัวรองรับไม่ดี ไม่มั่นคง คุณธรรมหรือคุณสมบัติอื่นในจิตใจนั้นก็เหมือนกับว่าไม่มีที่รองที่ดีก็จะหวั่นไหว อาจจะไม่มั่นคง ตั้งอยู่ไม่ได้ดี เสี่ยงต่อการที่จะเสื่อมลงไปหรือแม้แต่ว่าหล่นไปเลย คุณธรรมที่พัฒนาขึ้นมาได้ ขาดสมาธิเดี๋ยวหล่นหายไปเสียอีกแล้ว แต่ถ้าสมาธิมี เหมือนกับมีที่รองรับที่มั่นคง คุณสมบัติเหล่านั้นก็อยู่ได้ เราจะเห็นได้เลยว่าถ้าจิตไม่ตั้งมั่นไม่สงบ มันกระวนกระวาย มันวุ่นวาย ความสุขมีได้ไหม ความสุขความสดชื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นสมาธิต้องเป็นแกนให้ ด้านคุณธรรมอื่นๆ ก็เหมือนกัน ถ้าจิตพลุ่งพล่านกระวนกระวายนี้เมตตามาไม่ได้ มีแต่โกรธสิมาได้ ความเข้มแข็งล่ะ จิตไม่มั่นคงไม่มีสมาธิมันไม่มีความเข้มแข็งแน่ สมรรถภาพจิตก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นจึงเอาสมาธิมาเป็นตัวแทนของด้านการพัฒนาจิตใจ ก็เลยเรียกการพัฒนาหรือสิกขาหรือการฝึกด้านจิตใจทั้งหมดด้วยคำแทนคำเดียวว่า “สมาธิ” เอาสมาธิเป็นตัวแกนเป็นตัวนำเป็นประธาน เอาล่ะนะครับเป็นอันว่า นี่คือเหตุผลที่เรียกการฝึกในด้านจิตด้วยคำว่าสมาธิ ทั้งๆ ที่สมาธิที่จริงเป็นเพียงคุณสมบัติอย่างหนึ่งของจิต แต่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่ง บทบาทใหญ่
ต่อไปด้านที่ ๓ ก็คือปัญญา เรื่องความรู้ความเข้าใจ ด้านนี้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ความจริงนั้นปัญญาว่าไปแล้วเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของจิตใจนั่นเอง สมัยปัจจุบันนี้อย่างพวกวิชาการตะวันตกบางทีก็แยกไม่ออกระหว่างด้านจิตกับด้านปัญญา เพราะเขามองว่าปัญญาก็เรื่องของจิตใจ อย่างในเวลาแยกแบบขันธ์ ๕ เราจะเห็นได้ชัดว่าปัญญาอยู่ด้านจิตใจ อันนี้ยังไม่ได้เรียนเรื่องการแยกเรื่องรูปนามแล้วแยกเป็นขันธ์ ๕ เอ๊ะ. เรียนแล้วหรือยัง ขันธ์ ๕. ยังนะ. อันนั้นเป็นการแยกองค์ประกอบของชีวิตออกไปเป็นภาคเหมือนกับภาคของนิ่ง แยกออกเป็นส่วนๆ เหมือนกับ Anatomy ของชีวิต. Anatomy ของชีวิตนี่แยกออกไปเป็นส่วนๆ ว่ามีอะไรบ้าง ประกอบด้วยอะไรบ้างๆ ถ้าแยกแบบนั้นปัญญาจะไปอยู่ในภาคจิตใจ ถ้ายังไม่ได้เรียนก็อย่าไปถือเป็นสำคัญ ผมจะพูดให้ฟังนิดหน่อยนะ ถือว่าพอได้ผ่านๆ หูไว้
คือว่า ชีวิตของเรานี่ ทางพระท่านแยกส่วนออกไปว่าเป็นการประชุมเข้าของส่วนประกอบ ๕ อย่างหรือ ๕ กอง ๕ ประเภท มี “รูป” รูปธรรมฝ่ายร่างกาย แล้วก็ “เวทนา” ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ “สัญญา” ความกำหนดหมายที่ทำให้จำได้ หมายรู้ เขียว แดง เหลือง เป็นต้น แล้วก็ “สังขาร” คุณสมบัติที่ปรุงแต่งจิตใจให้ดีให้ชั่ว แล้วก็ “วิญญาณ” ตัวรู้ รู้ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น เป็นต้น ทีนี้ปัญญาก็ไปอยู่ในสังขารเครื่องปรุงจิต ปรุงแต่งให้จิตดีจิตชั่ว จิตมีกำลังมีความสามารถ หรือทำให้จิตอ่อนแอ เป็นต้น จะเห็นว่าปัญญาไปอยู่ในหมวดเดียวกับเครื่องปรุงของจิต อยู่ในสังขาร ก็อยู่ในพวกจิตปนๆ กันอยู่
แต่ทีนี้ พอมาแยกแบบการพัฒนาชีวิตเป็น ๓ ด้าน การดำเนินชีวิตเป็น ๓ ด้าน กลับแยกเป็นพฤติกรรม จิตใจและปัญญา ปัญญาออกมาใหญ่เลย เดิมเป็นตัวเดียวในเครื่องปรุงจิตเท่านั้นเอง ออกมาเป็นตัวบทบาทใหญ่ คล้ายๆ กับสรีระวิทยา ถ้าเทียบแพทย์ ถ้าแยกเป็นขันธ์ ๕ เหมือน Anatomy. Anatomy หมายความว่าเป็นการแยกส่วนร่างกายว่ามีอะไรบ้างๆ เหมือนของตาย เหมือนของตายมาแยกส่วนออก แต่สรีระวิทยาก็คือการทำงานของร่างกาย ระบบความสัมพันธ์ มันทำไง ไอ้นี่ทำหน้าที่อะไรต่างๆ ก็เหมือนกับคล้ายๆ กับเรื่องของการดำเนินชีวิตเราแยกเป็น ๓ ด้าน พฤติกรรม จิตใจและปัญญา ทีนี้พอมาแยกแบบด้านพฤติกรรม จิตใจและปัญญาเป็น ๓ ด้าน ก็ปัญญาเป็นตัวสำคัญ ทำไมแยกออกมาล่ะ ก็เพราะปัญญาเป็นเรื่องใหญ่อย่างยิ่ง จิตใจเป็นเรื่องของคุณสมบัติอยู่ภายใน เป็นเรื่องของตัวเอง แต่ปัญญาเป็นเรื่องที่จะก้าวออกไปสู่จักรวาลโลกทุกอย่างเลยที่จะรู้เข้าใจอะไรต่างๆ แดนใหญ่ มีหน้าที่ มีงาน มีขอบเขตมากมายเหลือเกิน เรื่องปัญญาเรื่องเดียว มนุษย์จะพัฒนาได้ ชีวิตจะดีงามขึ้นต่อปัญญาเป็นสำคัญ ตลอดจนจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ จะพัฒนาวิชาการ แม้แต่วิชาการทางโลก อาชีพต่างๆ วิทยาศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์อาศัยปัญญาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่ออกมาสู่เรื่องของการสร้างสรรค์ในโลกของมนุษย์อะไรต่างๆ ฉะนั้นปัญญาก็แยกเป็นด้านสำคัญต่างหากออกไปเลย แทบจะว่าใหญ่กว่าด้านจิตอื่นที่มีองค์ประกอบเป็นร้อยๆ ปัญญาโยงไปหาหมด เป็นตัวบอกหมด จะให้เจ้าตัวไหนทำหน้าที่อะไร จะทำงานยังไง จะควบคุมจะจัดยังไง หมดเลย เจ้าตัวอื่นจะทำไง ก็รับใช้ปัญญา ถ้าปัญญาดีเสียอย่าง เจ้าปัญญาบอกบทเสร็จหมด ก็เลยแยกปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ เป็นแดนหนึ่งของพฤติกรรม และเป็นแดนที่สูงสุด. เอานะ ทีนี้เป็นอันว่านี่ด้านปัญญา
ด้านปัญญานี้ก็มีทั้งปัญญาที่รู้เรื่องที่มนุษย์จัดสรรตกลงกันยังไง เพียงแต่ว่าตามวัฒนธรรมประเพณี ระบบแบบแผนจัดตั้ง ที่เราเรียกว่า “วินัย” นั้นสืบๆ ถ่ายทอดกันมา วางเป็นตายตัวแล้ว เราก็รู้ไปตามนั้น แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติดำเนินชีวิตได้ นี่ปัญญารู้เรื่องตามที่มนุษย์ตกลงกันทั่วๆ ไป อันนี้เป็นเรื่องสามัญ แต่แค่นี้ก็สำคัญแล้ว เพียงแต่เรียนรู้สิ่งที่มนุษย์ได้จัดวางตั้งไว้ เพื่อจะให้สังคมของตัวอยู่กันได้ แค่นี้ก็เรียนกันแทบตายแล้ว นี่ก็ด้านหนึ่ง
ทีนี้ ปัญญาที่ลึกซึ้งกว่านั้น ก็คือรู้เข้าไปถึงความจริงที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่มนุษย์มาตกลงกันจัดวางนี้ เบื้องหลังนายก. นายข. นี่ นายก. นายข. นี่ก็เป็นเรื่องความรู้ในระดับที่มนุษย์จัดตั้งว่าคนนั้นชื่อก. คนนั้นชื่อข. เป็นความรู้ระดับสมมติระดับวินัยเท่านั้น แต่เบื้องหลังนายก. นายข. คืออะไร นั่นคือชีวิตคนที่แท้จริงอยู่ในธรรมชาติ มีจิตใจ มีสภาวะยังไง เกิดมาได้ยังไง ร่างกายเขาเกิดจากอะไรมาประกอบ ทำไมเขาจึงเกิดมาได้ แล้วชีวิตของเขานอกจากกายมีด้านจิตใจ จิตใจเป็นยังไง กฏธรรมชาติโยงไปหาสิ่งต่างๆ รู้เข้าไปถึงความจริงของธรรมชาติอันนี้ นี่ลึกซึ้งมาก
ก็เป็นอันว่าเราจะดำเนินชีวิตธรรมดานี่ ปัญญาในระดับรู้เข้าใจสิ่งที่มนุษย์จัดตั้งวางระบบไว้นี้พอแล้ว ก็เป็นมนุษย์แค่นี้ก็ทำให้มันดีเถอะ ให้อยู่ในแนวทางที่มนุษย์ผู้มีปัญญาได้วางไว้ แล้วสังคมก็ได้ถ่ายทอดกันมาลงตัวยอมรับว่าอันนี้ดีเป็นประโยชน์ แต่ว่ารู้แค่นี้พอจริงไหม, ไม่พอ. เพราะว่าแค่นี้บางทีไม่รู้เหตุรู้ผล เขาวางทำไม เป็นเพราะอะไรจึงวางอย่างนี้ แล้วที่มนุษย์รุ่นเก่าวางไว้ ต่อมาสังคมเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่เหมาะก็ได้ หรือว่าอาจจะวางด้วยความเข้าใจผิด พฤติกรรมระบบสังคมอย่างของฝรั่งเดี๋ยวนี้ที่รู้ตัวว่าวางมาตั้ง ๒,๐๐๐ ปีบางอย่างก็ผิด ทำให้เกิดโทษแก่ชีวิต ทีนี้ถ้าไม่มีปัญญารู้ความจริงธรรมชาติลึกซึ้งกว่านั้นแก้ไม่ได้ ก็ไปเป็นทาสของอริยธรรม เป็นทาสของวัฒนธรรมเก่า ก็เลยต้องมีปัญญาที่รู้ถึงความจริงของธรรมชาติแท้ๆ ซึ่งเป็นความจริงแน่นอน เป็นระบบความสัมพันธ์ในธรรมชาติ อันนี้ที่ยิ่งใหญ่ นี่คือความรู้ที่ว่าสามารถทำให้เป็นพระพุทธเจ้าได้ รู้โลกชีวิตตามเป็นจริง ก็เป็นอันว่าอย่างน้อยก็แยกปัญญา ๒ ระดับแล้ว ระดับที่เกี่ยวกับเรื่องที่มนุษย์จัดวางตั้งให้ดำเนินชีวิตกันได้สามัญในสังคม แล้วก็ปัญญาที่รู้เข้าถึงความจริงที่เป็นปรมัตถ์ เป็นความจริงแท้ตามกฏธรรมชาติ แต่นอกจากนี้แล้วก็ยังมีปัญญาที่ตื้นลึกกว่ากันเยอะแยะ ปัญญาในแง่ของการรู้ข้อมูล เข้าใจสิ่งที่มองเห็นเฉพาะหน้า รับรู้สิ่งต่างๆ รับรู้เข้าใจตามเป็นจริงไหม ไม่ใช่ดูตามชอบใจไม่ชอบใจ แค่นี้รับรู้ก็มีเรื่องปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง รู้เข้าใจมัน
ต่อไปก็รู้ลึกลงไปอีก สามารถคิดเชื่อมโยงสิ่งโน้นสิ่งนี้ ข้อมูลโน้นข้อมูลนี้ เมื่อกี้รู้ข้อมูลนั้นๆ เฉพาะแต่ละอย่างก็เข้าใจ ต่อมาสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านั้นอีก นอกจากรู้ว่าคืออะไรแล้ว รู้ว่าเป็นอย่างไรอีก ต่อไปยังรู้ว่าเป็นเพราะเหตุไรอีก สามารถสืบสาวเหตุปัจจัยที่สืบเนื่องกันมาอีก ต่อไปก็สามารถที่จะคิดวิเคราะห์ แล้วก็นอกจากวิเคราะห์ยังวินิจฉัยอีก วินิจฉัยว่ามันมีทางเลือกอย่างนี้ๆ เอายังไง อันไหนจะดีที่สุด วินิจฉัยอย่างนี้ การวินิจฉัยก็จะมีปัญหาอีก เช่นว่าทางด้านจิตเข้ามา เช่นว่าวินิจฉัยเกี่ยวกับการตัดสินใจในเรื่องคน ก็จะมีว่าเกิดต้องการผลประโยชน์หรือมีความลำเอียง ก็จะวินิจฉัยไม่เที่ยงธรรม ไม่ตรงความจริง หรือมีความโกรธแค้นการวินิจฉัยก็จะผิดพลาด ก็จะมีเรื่องของทางด้านจิตเข้ามาเกี่ยวข้องตลอด นอกจากพฤติกรรมไปหาข้อมูลแล้ว ด้านจิตใจก็จะมาครอบงำ ทำให้ปัญญานี้บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ถ้ามาครอบงำ ถูกกิเลสครอบงำ ฝ่ายจิตใจก็มามีอิทธิพลต่อฝ่ายปัญญา ทำให้ไม่ได้ความจริงแท้หรือไม่ถูกต้อง ไม่เป็นอย่างที่มันควรจะเป็น เพราะฉะนั้นปัญญาก็จะมีเรื่องต้องทำเยอะแยะ แล้วก็มาปัญญาที่มาใช้แก้ปัญหาเกิดไปพบสถานการณ์อย่างนั้นอย่างนี้แล้วเกิดติดขัดคับข้องขึ้นมา อันนี้สถานการณ์นี้ใหม่ไม่เคยเจอ แล้วจะเอาความรู้เก่าที่เรียนรู้มานี้มาประยุกต์ใช้อย่างไรแก้ปัญหาอันนี้ได้ ก็ต้องมีความสามารถในการเชื่อมโยงประสบการณ์ เชื่อมโยงข้อมูลความรู้ ตลอดจนกระทั่งคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ก็เอาความรู้เดิมนั้นแหละมาสร้างความรู้ใหม่ขึ้นมา เป็นความสามารถในการเชื่อมโยงความรู้ เนี่ย, ปัญญามีเรื่องเยอะเลย จนกระทั่งในที่สุดก็รู้ เข้าถึงความจริงของธรรมชาติของชีวิตที่แท้ ระบบความสัมพันธ์ในธรรมชาติหมด กว้างขวางจนกระทั่งตรัสรู้โพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าไป นี่ละครับ นี่ก็เป็นเรื่องที่แยกเรื่องการพัฒนาชีวิตของมนุษย์ ๓ ด้านเป็นศีล สมาธิ ปัญญา แล้วทั้ง ๓ อย่างนี้สัมพันธ์เกื้อหนุนกันอย่างไรก็ได้อธิบายไปแล้ว
ศิษย์ จะเรียนถามท่านอาจารย์ ในเรื่องของ เรื่องศีลเป็นปกตินะครับ เรามุ่งในแง่ดี ถ้าไปถึงขั้น
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องฝึกนี่ คำว่า “ฝึก” เราต้องฝึกให้มันดีสิ
ศิษย์ แล้วอย่างนี้ คำว่า “วาสนา” กับคำว่า “ศีล” มันใกล้เคียงกันมากไหมครับ
ท่านอาจารย์ “วาสนา” มันคำกลางๆ มันร้ายก็ได้ วาสนาร้ายๆ ก็พูดกระโชกโฮกฮากหรืออะไรอย่างนี้ มันไม่ได้เป็นเรื่องฝึก “ศีล” เป็นเรื่องของการฝึกโดยตั้งใจทำให้มันดี ส่วน “วาสนา” เป็นการสั่งสมของคนนั้นรวมๆ กันไป เลวก็ได้ ดีก็ได้
ศิษย์ เป็นพฤติกรรมเคยชินเหมือนกันใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ก็พฤติกรรมเคยชิน แต่ว่ามันไม่ได้ประกอบด้วยความตั้งใจในกระบวนการฝึกฝน เพราะฉะนั้นเราจึงเอาเรื่องศีลเข้ามาประยุกต์ใช้ในวาสนา เพื่อปรับวาสนาให้มันดี
ศิษย์ ครับผม ผมเลยตั้งข้อสังเกต ถ้าอย่างอรหันต์นี้ครับ อธิศีลก็ต้องสมบูรณ์แล้ว ทำไมในพระสูตรบอกว่า แม้กระทั่งอรหันต์ก็ยังติดในวาสนา วาสนาบางส่วนก็ยังเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ เว้นแต่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
ท่านอาจารย์ ก็ใช่สิ ไม่ใช่หมายความว่า ฝึกศีลแล้วจะกลายเป็นดีไปหมด ก็ตัวติดมาเคยชินมาอย่างนั้น ท่านบอกว่า เคยชินขนาดละเอียดประณีตแก้ไม่ไหวนะ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องรีบไง เด็กๆ เกิดมาต้องรีบให้ฝึกให้เป็นศีลที่ดีไปเสียสิ เพราะงั้นล่ะวาสนามาทีนี้แย่ไปเลย
ศิษย์ ถ้าเป็นขั้นวาสนาก็คือ
ท่านอาจารย์ วาสนาก็หมายความว่าแก้ได้เหมือนกัน แต่ว่ามันแก้ยาก แก้ได้แต่หยาบๆ ทีนี้พอมันลึกละเอียดแก้ไม่ไหว แก้ได้แต่พระพุทธเจ้านั้นแก้หมด คือหมายความว่า ท่านเรียกว่าละกิเลสพร้อมทั้งวาสนาทั้งหมด พระพุทธเจ้า แต่พระอรหันต์ละวาสนาได้ไม่หมด ขนาดที่ฝึกศีลมา ฝึกจิต ฝึกปัญญามาอย่างดีก็ยังละวาสนาได้ไม่หมด ส่วนที่เป็นความเคยชินเป็นเรื่องละเอียดอ่อนแต่ไม่ถึงกับเป็นภัยอันตราย ท่านบอกว่าละไม่ได้ วาสนาก็เป็นของรวมๆ จากการสะสมของคนนั้นไม่ว่าดีว่าร้าย ศีลเป็นอย่างที่ว่า เป็นเรื่องความตั้งใจฝึก
ศิษย์ ตอนนี้มาถึงเรื่องของสมาธิครับ ???ก็จะ(42:15)???ฟังคนที่ฝึกสมาธิแล้ว โดยมากบางสายหรือบางสำนักก็รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ว่าฝึกแล้วตัวเองได้มีนิมิต ในเรื่องของสมาธิที่เกิดนิมิตต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางคนก็ได้ความสงบแต่ไม่เกิดนิมิตเลย ผมก็เลยอยากจะขอเรียนถามพระเดชพระคุณอาจารย์ว่า จริงๆ แล้วมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ในการฝึกสมาธิต้องมีนิมิตเกิดขึ้น ถ้าหากไม่เกิดนิมิตแต่มีความสงบ นี่หมายความล้มเหลวไหมครับ ???(42:51)ในเรื่องของศาสนาครับ??? เอาตามพระสูตรนี่จำเป็นไหมครับจะต้อง การทำสมาธิต้องเกิดนิมิต
ท่านอาจารย์ เอางี้ก่อน นิมิตมี ๒ อย่างโดยหลักใหญ่ แต่ก่อนที่จะพูดถึงนิมิต ๒ อย่างนะ พูดถึงฝันก่อน คนฝันนั้นเรียกว่านิมิต ภาษาพระเรียกว่า “นิมิต” นะคำว่า “ฝัน” นี่ สิ่งที่มองเห็นในฝันเรียกว่า “นิมิต” คนหลับฝันกับคนหลับไม่ฝัน อย่างไหนดีกว่ากัน
ศิษย์ หลับไม่ฝัน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คนที่ปฏิบัติบำเพ็ญสมาธิเห็นนิมิตกับไม่เห็นนิมิต อันไหนดีกว่ากัน
ศิษย์ ไม่เห็นนิมิต
ท่านอาจารย์ หลับไม่ฝัน มันก็แสดงจิตมันก็ราบเรียบ มันก็ไปได้ดี นิมิตสิเป็นตัวที่ทำให้วุ่น จิตมันถูกทำให้ไหว หรือว่าทำให้ไม่เรียบไม่ลื่น แต่ว่าอย่างที่บอกเมื่อกี้ นิมิตมี ๒ อย่างต้องระวัง มันมีนิมิตอย่างหนึ่งที่จำเป็นเพราะมันเกี่ยวกับสิ่งท่ีตัวปฏิบัติ เป็นนิมิตของกรรมฐานนั้นเอง นิมิตของสิ่งที่เรากำหนดเพื่อใช้ในการฝึกสมาธิ อันนั้นนิมิตนั้นสำคัญ นิมิตอื่นที่แทรกเข้ามาในระหว่างเป็นตัวกวนทั้งนั้น เป็นตัวที่อาจจะเป็นเพียงอาการปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่จิตไปสู่ระดับนั้นๆ มันมีการปรุงแต่งก็เป็นภาพขึ้นมา มันมีนิมิตอันหนึ่งที่เป็นนิมิตที่เป็นตัวแทนของสิ่งที่เรากำหนด เช่นว่า เราเพ่งกสิณ เราหลับตาไป ตัวกสิณนั้นเองท่านก็เรียกว่านิมิต แล้วเราหลับตามองเห็น นั่นก็เรียกว่านิมิต จนกระทั่งมันติดใจ มันก็มาเป็นตัวแทนของตัวกสิณข้างนอก คราวนี้ก็ไม่ต้องลืมตามองแล้ว หลับตาเอาเลยก็อยู่ในใจเห็นภาพกสิณนั้น อันนั้นก็เรียกว่านิมิต แล้วก็ลมหายใจ เมื่อเรากำหนดลมหายใจไป ต่อไปมันก็เป็นภาพลมหายใจขึ้นมาจากการปรุงแต่งของจิต ภาพลมหายใจเกิดขึ้น คือจิตก็มาอยู่กับภาพลมหายใจแล้ว ภาพของลมหายใจอันนั้นเรียกว่าเป็นนิมิตของกรรมฐาน นิมิตของอารมณ์กรรมฐาน อันนี้มีความสำคัญในการปฏิบัติ นี่แหละนิมิตก็เลยต้องแยกเป็น ๒ อย่าง นิมิตภาพอื่นที่แทรกเข้ามาในระหว่าง เห็นเป็นผี เห็นเป็นยักษ์ เห็นเป็นแสงอะไรต่างๆ นั่นเป็นนิมิตที่ถือว่าเข้ามากวน ต้องรู้ทัน แต่นิมิตที่เป็นตัวแทนของกรรมฐานที่เราปฏิบัติอันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ. แยกได้แล้วนะ
ศิษย์ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า อันนี้เป็นนิมิตที่เราได้กำหนด
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ยากอะไร ก็มันเป็นตัวแทนอยู่แล้ว มันก็เหมือนกับของนั้น
ศิษย์ อย่างตัวอานาปานสติ การที่เอาลมหายใจเป็นนิมิต นิมิตจะเกิดเป็นตัวแทนของลมหายใจจะเป็นลักษณะไหน
ท่านอาจารย์ เป็นลักษณะที่เจ้าตัวต้องรู้ เพราะมันเป็นตัวแทน หมายความว่าตัวกำหนดลมหายใจ จิตมันไม่ไปไหน มันก็เป็นภาพของสิ่งนั้น ตัวก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นภาพของอันนั้น แต่ตัวจะเห็นเป็นภาพอะไรแล้วแต่ตัวรู้สึก พอตัวรู้สึกลมหายใจเหมือนกับเป็นสายรุ้งหรืออะไรอย่างนี้ มันก็เป็นภาพอย่างนั้นขึ้นมาเท่านั้นเอง เจ้าตัวรู้เอง ไม่ต้องไปกลัวเรื่องนี้ เพราะว่ามันเป็นภาพตัวแทนสิ่งนั้น จิตของตัวอยู่กับสิ่งนั้นนี่ ภาพมันก็เกิดจากสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นต้องแยกนิมิต ๒ อย่าง
ศิษย์ เพราะบางสำนักถึงขนาดที่ว่า กำหนดเอาไว้เลยว่าถึงขั้นนี้ๆ จะมีนิมิตเป็นลักษณะเป็นดวงสีนี้ๆ ถ้าถึงขั้นตรงนี้จะเป็นดวงสีนี้ๆ ซึ่งผมศึกษาแล้ว อ่านแล้วรู้สึก???ไม่ทราบจะ(46:44)??คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ อันนั้นก็กลายเป็นว่าไปสร้างภาพให้แก่ผู้ปฏิบัติตั้งแต่ก่อนปฏิบัติ แล้วอันนี้จะฝังใจ แล้วเวลาไปปฏิบัติจริงๆ จะเกิดเห็นขึ้นมา เพราะมันนำจิตของตัวเองแล้ว เรียกว่าเหมือนกับสะกดจิต ในการนำจิต นำจิตให้เชื่ออย่างนั้น หรือมันแนบสนิทอยู่ในความคิด ฝังอยู่ในความคิด เวลาไปปฏิบัติมันก็เลยออกมาเป็นภาพ
ทีนี้ขอกลับมาที่เก่านะ ได้พูดไปแล้วว่าการฝึกเรื่องพฤติกรรม จิตใจและปัญญา หรือศีล สมาธิ ปัญญานี้ มันสัมพันธ์เกื้อหนุนกันอยู่ เพราะฉะนั้นมันแยกเด็ดขาดจากกันไม่ได้ แต่ว่าทำไมเวลาท่านมาพูดเป็นไตรสิกขาทำให้เรารู้สึกว่าเป็นขั้นเป็นตอนเหมือนกับมี ๓ ขั้น เป็นขั้นศีล ขั้นสมาธิ ขั้นปัญญา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่าควรจะพิจารณา ในความเป็นจริงบอกแล้วว่า ๓ อย่างนี้มันแยกขาดจากกันไม่ได้ มันเป็นชีวิตอันหนึ่งอันเดียวกัน ไปแยกได้ยังไง อย่างที่บอกพฤติกรรมทุกครั้งปราศจากจิตใจได้ไหม, ไม่ได้. ต้องมีความตั้งใจ???(48:08)??? ถ้าปราศจากความรู้ได้ไหม, ก็ไม่ได้. รู้แค่ไหนก็ทำได้แค่นั้น ท่ีเราจะพูดแต่ละครั้งต้องมีความรู้อยู่นะ แล้วเราก็พูดได้ แต่ว่าเราจะรู้แค่ไหนเราก็พูดได้แค่นั้น เพราะฉะนั้นมันแยกกันไม่ได้ แล้วทำไมเวลาฝึกท่านบอกว่าฝึกขั้นศีล ฝึกขั้นสมาธิ ฝึกขั้นปัญญา อันนี้ก็หมายความว่าแยกในแง่ของความเด่น ในช่วงแรกนั้นการฝึกซึ่งที่จริงในชีวิตของเรานี้ ๓ อย่างมันทำงานด้วยกัน แต่ว่าความปรากฏออกมานี่มันจะเด่นชัด สำหรับขั้นต้นจะเด่นชัดด้านพฤติกรรมซึ่งเป็นของหยาบกว่า ด้านพฤติกรรมนี้จะเด่น แล้วคนจะฝึกตอนแรกๆ นี่มันก็ต้องเอาที่พฤติกรรมภายนอกนี้ เพราะว่าเขายังไม่รู้จักดำเนินชีวิตเลย การที่จะดำเนินชีวิตไปได้ก็คือเร่ิมต้นด้วยพฤติกรรม อย่างที่เรียกว่า ถ้าเรามีเครื่องมือ ก็ฝึกการใช้เครื่องมือก่อน กายวาจานี้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตของเราก็ใช้ให้มันเป็นก่อน ก่อนที่จะเอาไปใช้ให้ได้ประโยชน์อะไรมากมาย ตอนแรกต้องใช้เป็นก่อน นี้พฤติกรรมยังไม่รู้จักใช้เลย เพราะฉะนั้นตอนแรกอย่างน้อยต้องฝึกใช้มันก่อน ใช้ร่างกายใช้วาจาให้เป็น พอใช้, อย่างน้อยใช้ได้ เอาแค่ใช้ได้ก็ยังดี เพราะถ้าหากไม่ฝึกเลยใช้ก็ไม่ได้ ร่างกายวาจานี้ใช้ไม่ได้ พอเริ่มฝึกก็ใช้ได้ ต่อไปใช้เป็น แล้วก็ใช้ทำประโยชน์ได้มากขึ้น แต่การที่จะใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้นต้องอยู่ที่จิตใจและปัญญา ตอนแรกใช้ให้ได้ก่อน เพราะฉะนั้นเลยต้องจำเป็นต้องฝึกเน้นเรื่องพฤติกรรมก่อน เหมือนกับการที่ว่าเราได้เครื่องมือมาก็ต้องฝึกใช้ให้มันใช้ได้ก่อน ให้รู้ว่ายังไงควรเอาเครื่องมือไปใช้ ในสถานการณ์ใดเวลาไหนใช้อย่างนี้ๆ ต่อไปพอชำนาญแล้วทีนี้ด้านภายในจิตใจและปัญญาจะสำคัญยิ่งขึ้น ตอนแรกก็เรื่องพฤติกรรมเด่น (๑) เป็นของหยาบกว่า (๒) เป็นเครื่องมือเป็นเบื้องต้นก่อนที่จะก้าวไปสู่ด้านจิตใจและด้านปัญญา
ขอบเขตก็แคบนะ เรื่องพฤติกรรมวาจานี้มันเป็นของหยาบ แล้วก็ขอบเขตของมันแคบ ฝึกไปในระยะหนึ่งแล้วมันจะอยู่ตัว ต่อจากนั้นถ้ามันเคยชิน อย่างที่ว่าแก้ยาก ฉะนั้นก็เลยต้องเอาเสียก่อน เดี๋ยวมันเคยชินในทางผิด ฉะนั้นเรื่องการฝึกเรื่องพฤติกรรมมีเหตุผลหลายอย่างที่จะต้องเน้นให้ความเด่นชัดในตอนแรก หมายความว่าระดมด้านจิตใจและปัญญามาเอาเรื่องกับพฤติกรรมนี้ ไม่ได้หมายความว่ามีแต่พฤติกรรม ฝึกไปได้ที่ไหนถ้าไม่มีจิตใจและปัญญา แต่ตอนแรกเราต้องเน้น เหมือนกับระดมทั้งจิตใจและปัญญานี้มาอยู่ที่การฝึกในเรื่องพฤติกรรมว่า ทำไงพฤติกรรมมันจะดี มันจะใช้ได้ เครื่องมืออุปกรณ์นี้จะได้ใช้ประโยชน์ได้ดีต่อไปข้างหน้า เพราะเรายังใช้จะเอาร่างกายและวาจาของเราไปเป็นอุปกรณ์ใช้งานต่อไปในการดำเนินชีวิตอีกเยอะแยะ รวมทั้งไปฝึกจิตใจฝึกปัญญาด้วย ตกลงว่าเรื่องฝึกพฤติกรรมหรือศีลจึงเป็นสำคัญในตอนแรก ปรากฏชัดเหมือนกับเป็นพื้นฐานหรือเป็นอุปกรณ์ไว้
พอขั้นที่ ๒ ด้านจิตใจนี้ขยายกว้างขวางแล้วทีนี้ และเป็นเรื่องละเอียดประณีต พอฝึกเรื่องร่างกายใช้พฤติกรรมอยู่ตัวแล้ว เรื่องจิตยังยุ่งยังเยอะแยะเหลือเกินนะ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะต้องฝึกกันไปอีกนานเลยเชื่อไหม เพราะฉะนั้นฝึกพฤติกรรมอยู่ตัวแล้ว จิตยังไปอีกไกล พอฝึกจิตได้เก่งจนกระทั่งอยู่ตัวมีสมาธิดีแล้วก็เป็นจิตที่พร้อมจะใช้งาน และจะไปเป็นฐานของปัญญาอีกที คล้ายๆ กับว่าพฤติกรรมนี้อยู่ตัวก็มาฐานรองรับจิตดีแล้ว ถ้าจิตใจฝึกดีแล้วก็ไปเป็นฐานรองรับการใช้ปัญญาอีก สมาธิจิตดีแล้ว สงบแน่วแน่มั่นคง ไม่มีอะไรกวน จะใช้ความคิด จะปลูกฝังพัฒนาปัญญาก็ได้ผลดี แต่ว่าขนาดจิตอยู่ตัวดีแล้ว ฝึกจิตได้ดีแล้ว เรื่องที่ปัญญาจะต้องรู้อีกมากมายเหลือเกินเชื่อไหม แล้วลองคิดดูสิอะไรขอบเขตกว้างกว่ากัน ถ้ามองแง่ความแคบความกว้างนี้ เรื่องพฤติกรรมแคบกว่าเยอะเลย พอไปแดนของจิตใจนี้ โอ้โห, เรื่องละเอียดอ่อนไปอีกเยอะเลย พอจิตใจอยู่ตัวแล้วเรื่องปัญญายังไปอีกเยอะกว่าเยอะ เพราะปัญญานี้รู้ไปทั้งจักรวาลเลย ไปถึงทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเรื่องปัญญาก็มองโดยความแคบความกว้างมันก็กว้างกว่าเขา และต้องอาศัยทั้งพฤติกรรมและจิตใจเป็นฐานเป็นเครื่องมือหมดเลย ก็เลยพูดไปตามลำดับนี้
เป็นอันว่าในการฝึกหรือสิกขานี้ เด่นชัดตอนแรกก็เด่นที่พฤติกรรมกายวาจาที่เรียกว่า “ศีล” แล้วก็มาขั้นที่ ๒ เมื่อเอากับพฤติกรรมพออยู่ตัวพอสมควรแล้วใช้ได้ ตอนนี้ก็มาเน้นเรื่องจิตใจซึ่งเป็นเรื่องที่ยังอีกกว้างขวาง ยังต้องฝึกพัฒนากันอีกมาก พอฝึกจิตใจลงตัวอยู่แล้ว เรื่องปัญญายังไม่จบ เรื่องปัญญายังไปอีกเยอะแยะ มีสิ่งที่จะต้องเรียนรู้อีกมากมายกว้างขวางพิสดารละเอียดลึกซึ้ง แต่ในทุกขั้นตอนจะเห็นว่าทั้ง ๓ อย่างนี้ทำงานด้วยกัน ถ้ามองแต่ละจุดแต่ละตอนมันทำงานอยู่ทั้ง ๓ อย่าง แต่ถ้ามองเป็นขั้นใหญ่ๆ เราจะแยกได้เลย เป็นขั้นศีล ขั้นสมาธิ ขั้นปัญญา
เอานะ, คิดว่ามันคงจะชัดเจนไหมว่า ในแง่ของการที่ว่ามันอาศัยทำงานด้วยกัน นี้ก็แน่นอน ทุกขณะไปด้วยกัน แต่ในแง่ของการแยกเป็นช่วงกว้างก็จะแยกได้เช่นเดียวกันว่า เป็นขั้นศีล ขั้นสมาธิ ขั้นปัญญา ทีนี้ในการฝึกคนเพื่อจะให้คนพัฒนาไปได้ดีนี้ เราก็ใช้หลักที่ว่า ๓ อย่างนี้ มันทำงานด้วยกันนี้ เอามาฝึกให้มันได้ผลดีเลย ให้มันไปด้วยกันเลย เราเองก็ตามหรือเราจะฝึกเด็ก จะเคลื่อนไหวทำพฤติกรรมอะไร หรือทำกิจกรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง เราก็เอาศีล สมาธิ ปัญญามาใช้ แล้วฝึกมันซะทีเดียวเลย มันจะได้ได้ผลดี ไม่ใช่ทำไปอย่างที่ว่าจับพลัดจับผลูก็ได้ เกิดมันไม่บังเอิญ ไม่พอเหมาะ มันก็ไม่ได้อะไรนี่ ทำด้วยความรู้เข้าใจก็ฝึกได้ผล เวลาจะทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นว่า เด็กมา, เอ้า, ครูจะให้จัดกิจกรรมอย่างหนึ่งก็มาฝึกให้ครบ เช่นว่า เอ้า, มา, ช่วยกันพิจารณาดูซิว่า กิจกรรมที่เราจะทำนี้ มองในแง่ศีลนะ กิจกรรมที่เราจะทำนี้มันจะแสดงออกเป็นพฤติกรรมกายวาจา กิจกรรมที่เราจะทำนี้นะมันก่อความเดือดร้อนเบียดเบียนผู้อื่นหรือเปล่า หรือเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลสร้างสรรค์ กิจกรรมทุกอย่างนี้มองได้ ถ้าเป็นกิจกรรมที่เสียศีล ก็คือมันจะก่อความเดือดร้อนเบียดเบียนใครเขา ก็มองดู เออ, กิจกรรมของเราที่จะทำอันนี้ไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนแก่ใคร แต่เป็นการสร้างสรรค์เป็นไปในทางที่ดี เกื้อกูลต่อสังคมเพื่อนมนุษย์, ได้แล้วเรื่องศีล
ต่อไป กิจกรรมเดียวกันนี้มองด้านจิตใจ จิตใจเราเป็นไง จิตใจเราที่จะทำกิจกรรมนี้ เรามีแรงจูงใจว่าคิดจะทำกิจกรรมนี้เพื่อหาผลประโยชน์เห็นแก่ตัว หรือทำด้วยขัดเคืองใคร ทำด้วยจิตโลภหรือโกรธหรือเปล่า หรือว่ามีความสุขหรือความทุกข์ จิตใจขุ่นมัวเศร้าหมองหรือจิตใจผ่องใส ร่าเริงเบิกบาน มีความสุขที่จะทำใช่ไหม, พิจารณาได้. ทีนี้ ถ้าจิตมันไม่ดีก็ปรับเสียให้มันดีว่าเราจะทำกิจกรรมทั้งทีนะ ให้จิตใจของเราทำด้วยแรงจูงใจที่ดี อยากจะทำประโยชน์ ทำด้วยเมตตากรุณา ทำด้วยความสุขสดชื่น นี่ด้านจิตได้แล้ว
ต่อไปด้านปัญญา กิจกรรมอันเดียวกันนี้ที่เรากำลังจะทำอยู่นี้ เรามีความรู้เข้าใจมันดีหรือยัง รู้เข้าใจรายละเอียดของมัน ขั้นตอนกระบวนการ รู้วิธีปฏิบัติ และรู้ว่ามันจะเกิดผลดีผลเสียอย่างไร แล้วเรารู้เหตุผลไหมว่าเราทำเพราะเหตุผลอะไร การกระทำของเราสมเหตุสมผลไหม จะมีผลดีผลร้ายตามมาอย่างไร นี่เรียกว่าในด้านปัญญา ถ้าหากว่าปัญญายังไม่ชัด ก็จะได้พัฒนาซะตอนนั้น พอทำกิจกรรมนั้นปั๊ปพร้อมเลย ได้ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ได้ผลดี พัฒนา หรือจะใช้ตรวจสอบก็ได้ เราทำอะไรไปแล้ว เออ, ในแง่ศีล เป็นอันว่าเบียดเบียนเขาหรือเกื้อกูล ในด้านจิตใจ สภาพจิตของเรามีโลภะ โทสะ หรือว่ามีความเมตตากรุณา หรืออะไร หรือดีรึเปล่า แล้วก็จิตใจของเรามีความสุขหรือความทุกข์ เบิกบานผ่องใส หรือเศร้าหมองขุ่นมัว เร่าร้อน ด้านปัญญารู้เหตุรู้ผล เข้าใจต่างๆ ชัดเจน ทีนี้เราก็ใช้ตรวจสอบ แล้วก็วางแผนที่จะปรับปรุงให้มันดียิ่งขึ้น ถ้าหากว่ากิจกรรมทุกกิจกรรมดำเนินไปด้วยศีล สมาธิ ปัญญาอย่างนี้ ก็พัฒนาแน่และเกิดผลดีแน่นอน ก็ตกลงว่าเอาศีล สมาธิ ปัญญา ไตรสิกขานี้มาฝึกในการดำเนินชีวิต ในการประกอบกิจกรรมทุกอย่างเลย โดยเฉพาะครู หรือพ่อแม่ ในการสัมพันธ์กับเด็ก จะฝึกเด็กได้ดีมาก เดี๋ยวนี้เราไม่ได้คิดกันเลย ไม่ได้พิจารณาทั้งนั้น ทำกิจกรรมสักแต่ว่าสนุกก็แล้วกัน จบ. มันก็เลยเป็นเรื่องโลภะ โทสะ โมหะ อะไรไปตามเรื่อง ก็ไม่ค่อยได้อะไร
ก็เห็นจะพอสมควรนะ วันนี้เป็นเรื่องแง่มุมต่างๆ ของไตรสิกขา ถ้านึกอะไรออกค่อยมาพูดกันใหม่.