แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร เมื่อวันก่อนนี้ โยมคุณหญิงได้ปรารภทำนองอาราธนาว่า อาตมภาพแสดงเรื่องโพชฌงค์ก็คงจะดี อันนี้โพชฌงค์นี้ก็เป็นหลักธรรมสำคัญหมวดหนึ่ง ญาติโยมหลายท่าน ก็รู้จักกันในชื่อ เป็นบทสวดมนต์
เราเรียกว่า โพชฌังคปริตร และก็นับถือกันมาว่า เป็นบทสวดสำหรับได้เจริญเป็นพุทธมนต์ เพื่อให้คนป่วยได้สดับตรับฟัง และก็จะได้หายโรค ที่เชื่อกันอย่างนี้ ก็เพราะว่า มีในพระไตรปิฎกเล่าถึงว่า พระมหากัสสปะ ที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยอาพาธ และก็พระพุทธเจ้าเสด็จไปเยี่ยม และพระพุทธเจ้าก็แสดงเรื่องโพชฌงค์นี้ และตอนท้ายก็ว่าพระมหากัสสปะเถระก็หายจากโรคนั้น
อีกคราวหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้ายก็อาพาธ และพระพุทธเจ้าเสด็จไปเยี่ยม ก็ได้ทรงแสดงโพชฌงค์นี้อีก และพระมหาโมคคัลลานะก็หายโรค
อีกคราวหนึ่ง พระพุทธองค์เองทรงอาพาธ ก็ตรัสให้พระมหาจุนทะ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง แสดงโพชฌงค์ถวาย แล้วพระพุทธเจ้าก็หายประชวร
เราก็เลยเชื่อถือกันมาตามนี้ว่า บทโพชฌงค์นั้น สวดแล้วจะช่วยให้หายโรค แต่ว่า ที่เราสวดกันนี้ เป็นการสวดคำบาลี และผู้ฟังก็ฟังไป ซึ่งบางทีอาจจะไม่เข้าใจเนื้อความก็ได้ แต่ว่าที่ท่านแสดงกันในพระไตรปิฎกนั้น ท่านแสดงเนื้อหา คือตัวหลักธรรม และธรรมะที่แสดงนี้ ก็เป็นธรรมะเกี่ยวกับปัญญา เป็นธรรมะขั้นสูง ซึ่งความจริงนั้นก็คือ เป็นเรื่องของการทำใจให้สว่าง สะอาด ผ่องใส ก็เป็นการรักษาใจ แต่ว่า ก็เป็นธรรมดาว่า ใจกับกายนั้น เป็นสิ่งที่อาศัยซึ่งกันและกัน ถ้ากายเจ็บป่วยไม่สบาย คนทั่วไปก็มักจะพาลจิตใจไม่สบาย เศร้าหมอง กระวนกระวาย กระสับกระส่ายไปด้วย แต่ในทำนองเดียวกัน จิตใจไม่สบาย ก็พลอยให้กายไม่สบายไปด้วย เริ่มต้นตั้งแต่ รับประทานอาหารไม่ได้ ร่างกายเศร้าหมอง ผิวพรรณซูบซีด เป็นสิ่งที่เนื่องอาศัยกัน
ที่นี้ในทางที่ตรงข้าม ก็คือในทางที่ดี ถ้าหากว่า จิตใจดี สบาย บางทีก็กลับมาช่วยกาย เช่นว่า ยามเจ็บ ป่วย จิตใจสบาย เช่น มีกำลังใจ หรือว่า จิตใจผ่องใสเบิกบาน โรคที่เป็นมากก็กลายเป็นน้อย หรือยากที่จะหาย ก็หายง่ายขึ้น ถ้าหากว่ากำลังใจที่ดีนั้นมีมากอีกถึงระดับหนึ่ง ก็ไม่เพียงแต่โรคบรรเทาเท่านั้น แต่อาจจะช่วยรักษาโรคไปด้วยเลย ที่นี้ก็อยู่ที่ว่า จะช่วยทำใจของเรา รักษาด้านใจ ให้มีกำลังได้มากน้อยแค่ไหน
หลักโพชฌงค์นี้ ก็เป็นหลักธรรมที่ใช้ในการปฏิบัติทั่วไป ไม่เฉพาะในการเจ็บป่วยเท่านั้น มาวิเคราะห์ดูความหมายของศัพท์ จึงจะเห็นว่า เดิมนั้นท่านมีความมุ่งหมายอย่างไร
โพชฌงค์นั้น มาจากคำว่า โพชฺฌ กับ องฺค หรือองค์ โพชฺฌกับองค์ ก็แปลว่า องค์แห่งผู้ตรัสรู้ หรือ องค์แห่งการตรัสรู้ก็ได้ ก็คือ องค์แห่งโพธิ นั่นเอง คือคำหน้าก็ได้แก่ โพธิ องค์แห่งโพธิญาณ หมายถึงว่าองค์ประกอบ หรือตัวประกอบ หลักธรรมที่เป็นเครื่องประกอบแห่งการตรัสรู้ หรือองค์ประกอบแห่งโพธิญาณ แสดงว่าหลักธรรมนี้สำคัญมาก เป็นธรรมที่จะช่วยให้เกิดการตรัสรู้
การตรัสรู้นั้น เป็นเรื่องของปัญญา ปัญญาความรู้ความเข้าใจที่ทำให้ตรัสรู้ แต่ปัญญาที่ทำให้ตรัสรู้นี้มีความหมายลึกซึ้งลงไปที่ว่า การที่ตรัสรู้นั้น ประการที่ 1 ก็หมายถึง การที่รู้แจ้งความจริงของสิ่งทั้งหลายแล้ว ชำระใจให้หมดกิเลส ให้เกิดความบริสุทธิ์ด้วย เพราะฉะนั้นปัญญาตรัสรู้นี้ก็หมายถึงความบริสุทธิ์ รู้เป็นเหตุให้เกิดความบริสุทธิ์ และปัญญาที่ทำให้ตรัสรู้นี้ก็ทำให้เกิดความตื่น คือเดิมนั้น ก็มีความหลับอยู่ ที่ว่ามีความหมกมุ่นมัวเมา ยึดติดในสิ่งต่างๆ เมื่อปัญญารู้แจ้งเข้าใจความจริง ตรัสรู้แล้ว กลายเป็นผู้ตื่นขึ้น พ้นจากความหลับ พ้นจากความมัวเมา พ้นจากความยึดติดต่างๆ แล้วจากการที่บริสุทธิ์ และตื่นขึ้นมาแล้วนี้ จิตใจของผู้นั้น ก็มีความเบิกบานผ่องใส มีความปลอดโปร่ง เป็นอิสระ อันนี้ก็คือสภาพจิตที่ดีงาม ถ้าเรียกสมัยปัจจุบันก็เรียกว่า เป็นสุขภาพจิตที่ดีมาก
ถ้าหากว่าท่านผู้ใดก็ตาม ได้มีสภาพจิตนี้แล้ว แม้จะไม่ถึงขั้นหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง ก็นับว่าเป็นผู้มีความสุขมาก ถ้าเป็นผู้ป่วยไข้ ก็เป็นสภาพจิตที่เหมือนกับไม่ได้ป่วย อย่างที่เรียกว่า ร่างกายป่วย แต่ใจไม่ป่วย หรือ ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย ซึ่งพระพุทธเจ้าก็เคยตรัสสอน ท่านผู้สูงอายุ ท่านผู้เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะ ว่าให้ทำใจว่า ถึงแม้กายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วยด้วย ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว ก็จะเป็นจิตใจที่มีความสุข และก็จะช่วยผ่อนคลายเรื่องโรคนั้น หรืออย่างน้อยบรรเทาทุกขเวทนาที่เกิดจากโรคได้
อันนี้ก็คือความหมายของคำว่า โพชฌงค์ ที่แปลว่าองค์แห่งการตรัสรู้ นี้ต่อจากนี้ก็ควรจะมาสำรวจกันว่า ในหลักธรรมที่เป็นองค์ประกอบของการตรัสรู้นี้ มีอะไรบ้าง มีความหมายอย่างไร
โพชฌงค์นั้นมี 7 ประการด้วยกัน เราเรียกกันว่า โพชฌงค์ 7
อย่างในบทสวดมนต์ที่โยมคุณหญิงได้แจกไป ก็มี โพชฌังโค สะติสังขาโต ก็บอกว่า โพชฌงค์นั้น ก็เริ่มด้วย
องค์แรกก็คือ สติ องค์ที่ 2 ก็คือธัมมวิจยะ องค์ประกอบที่ 3 ว่า วิริยะ องค์ที่ 4 ก็ ปีติ องค์ที่ 5 ปัสสัทธิ องค์ที่ 6สมาธิ องค์ที่ 7 อุเบกขา อันนี้เป็นองค์ธรรมที่เรียกว่า โพชฌงค์ มี 7 ประการด้วยกัน นี้เรามาดูความหมายเป็นรายข้อเสียก่อน
ธรรมะที่เรียกว่าโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งการตรัสรู้ การตรัสรู้นั้นเป็นจุดหมายที่ต้องการ ที่นี้องค์แห่งการตรัสรู้นี้ ก็คือองค์ธรรมที่ช่วยให้ตรัสรู้ ก็เป็นเหมือนเครื่องมือ ก่อนที่จะใช้เครื่องมือ ก็เลยทำความรู้จักกับเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ ว่าอุปกรณ์แต่ละอย่างนั้นมีอะไรบ้าง
องค์ประกอบที่ 1 สติ
สตินี้เป็นธรรมะที่รู้จักกันดี แปลว่าความระลึกได้ อันนี้แปลกันอย่างง่ายๆ ระลึกได้อย่างไร ท่านบอกว่า สตินี้มีลักษณะที่เป็นเครื่องสำหรับดึงจิตไว้กับสิ่งนั้นๆ อย่างที่ธรรมะเรียกว่า อารมณ์ ดึงจิตหรือปรุงจิตไว้กับอารมณ์
อารมณ์ในที่นี้ก็คือสิ่ง สิ่งที่เราต้องเกี่ยวข้อง ทุกอย่างเรียกว่าอารมณ์ ที่ใจเราจะนึกถึงได้นั้นเรียกว่าอารมณ์ ไม่ใช่อารมณ์ในภาษาไทย นี้อารมณ์ในที่นี้พูดง่ายๆ เพื่อกันความสับสนกับภาษาไทย ก็จะบอกว่า สิ่ง หรือ จิต หน้าที่อะไรที่เราจะทำก็เรียกว่า สิ่งนั้นๆ
สตินี้มีหน้าที่สำหรับดึงจิตไว้กับสิ่งนั้นๆ ถ้าเราจะทำอะไร จิตก็อยู่กับสิ่งนั้น ดึงเอาไว้ เหมือนกับเชือกที่สมมติว่า มีหลักปักไว้ แล้วก็ มีสัตว์ตัวหนึ่ง เช่นว่า ลิง จิตของเราเนี่ยจะเปรียบเทียบได้กับลิง เพราะว่าวุ่นวายมาก ดิ้นรนมาก อยู่ไม่สุข ท่านก็เปรียบว่า จะต้องผูกลิงเอาไว้ ไม่งั้นลิงก็หนีไปไหน ไม่อยู่กับที่ อยู่ไม่สุข สิ่งที่จะผูกลิงก็คือเชือก หรือวัสดุทำนองเดียวกันนั้น ก็เอาเชือกมาผูกลิง และก็มัดไว้กับหลัก โยงไว้กับหลัก ลิงก็ไปไหนไม่ได้ ก็ทนอยู่แค่หลัก
นี่ถ้าเปรียบกับธรรมะ จิตนั้นเหมือนกับลิง หลักที่ผูกนั้นเหมือนกับสิ่งที่เราเกี่ยวข้องในเวลานั้น จะเป็นสิ่งที่ทำก็ตาม หรือเป็นอารมณ์ เป็นตัวธรรมะ อะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็คือหลักที่จะผูกลิงไว้ ตัวที่ผูกลิง เชือกนั้นก็คือสติ สติเป็นตัวที่ผูกลิงไว้ คือผูกจิตไว้กับหลักนั้น ก็ดึงเอาไว้ ทีนี้ถ้าหากว่าเป็นสิ่งเฉพาะหน้า ก็เพียงว่าดึงไว้กับสิ่งนั้นๆ ดึงจิตไว้กับสิ่งนั้นๆ คุมไว้ กำกับไว้ ไม่ให้ไปไหน อย่างนี้ก็ อย่างที่พูดกันว่า เวลาทำอะไรก็ให้ระลึกไว้ ระลึกไว้ก็คือ เหมือนกับรู้ไว้ว่าเราทำสิ่งนั้นๆ ไม่ให้จิตฟุ้งซ่าน ล่องลอยไป
แต่ทีนี้ ถ้าหากว่าสิ่งนั้นอยู่ห่างไกลล่ะ เช่นว่าเป็นเรื่องอดีตผ่านไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่นว่า ธรรมะหรือคำสอนอะไร สิ่งที่ได้เล่าเรียนไว้เมื่อหลายวันมาแล้ว หรือเป็นเดือนมาแล้ว สิ่งนั้นอยู่ห่าง สติก็ทำหน้าที่ดึงเอามา เมื่อกี้นี้ดึงไว้ ดึงไม่ให้ไปไหน ก็ดึงให้อยู่กับสิ่งนั้น ทีนี้สิ่งที่อยู่ห่างก็ดึงเอามา ดึงเอาสิ่งนั้นหรือดึงจิตไปไว้กับสิ่งนั้น นี่คือสิ่งที่เรียกว่าสติ สติก็ดึงเอาจิตมาไว้กับสิ่งที่ต้องการ หรือสิ่งที่เราควรจะเกี่ยวข้อง นี้คือหน้าที่ของสติ ประโยชน์ของสติก็อยู่ที่นี่ อันนี้คือเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ หรือเรียกว่าองค์ประกอบข้อที่ 1 ได้แก่ สติ
ที่นี้ 2 ธัมมวิจยะ
ธัมมวิจยะ หรือธรรมวิจัย แปลว่าการวิจัยธรรม วิจัยนั้นแปลว่า การเลือกเฟ้น การเฟ้น การไตร่ตรองพิจารณาให้ชัดขึ้นว่า นี้การเฟ้นธรรมนี้ ก็ใช้ได้ในหลายประการ ธรรมะนั้นก็คือ ความจริง ตัวสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เป็นประโยชน์ เกื้อกูล สิ่งนั้นอาจจะอยู่ต่อหน้าก็ได้ เช่นว่า เรามองเห็นอะไรอยู่ภายหน้า หรือขณะนี้เราต้องผจญกับอารมณ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เราเฟ้นเอาธรรมออกมา มองออกไป มองให้เห็นเป็นธรรมะ มองให้เป็นธรรมะ หรือมองให้เห็นธรรมะ
ถ้ามองไม่ดี ใจเราก็วุ่นวาย สิ่งเหล่านั้นก็ทำให้จิตใจของเราปั่นป่วน กระวนกระวาย เดือดร้อน แต่ถ้ามองให้ดี จำเป็นที่เราจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นเฉพาะหน้าแล้ว มองซะให้มันเป็นธรรมะไป นี้มองให้เห็นธรรมะขึ้นมา อันนี้ก็เป็นธรรมวิจัยอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่า มองอะไรก็ได้ ถ้ามองให้ดีแล้ว มันเป็นธรรมะหมด เหมือนอย่างอาจารย์ที่สอนธรรมะบางท่าน ท่านจะเน้นในเรื่องนี้ มองอะไรก็มันให้เป็นธรรมะ มองใบไม้ ใบไม้ก็เป็นธรรมะ มองอิฐ มองดิน อะไรก็เป็นธรรมะหมด ถ้ามองไม่ดี ก็เป็นอธรรมหมดเหมือนกัน ก็ทำให้ใจเราเสียหาย แต่ถ้ามองให้ดีเป็นธรรมะ และก็เป็นประโยชน์ เช่นว่า มองเห็นภาพที่ไม่น่าสบายใจ ถ้ามองไม่ดีก็เกิดโทสะ แต่ถ้ามองให้ดีอาจจะเกิดกรุณา ความสงสาร อย่างนี้ เป็นต้น
เหมือนอย่างพระเถรีท่านหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่ไปจัดอุโบสถ และก็ไปจุดเทียน จุดเทียนขึ้นมา แสงเทียนสว่าง มองที่เปลวเทียนนั้น เห็นเป็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เนี่ย พอมองอย่างนี้เป็นธรรมะขึ้นมา ก็ทำให้เกิดปัญญา
ฉะนั้น สิ่งทั้งหลายเนี่ยอยู่ที่เรามอง งั้นตั้งใจมอง มองให้ดี มองให้เป็น มองให้เห็นธรรมะ หรือมองให้เป็นธรรมะ
อันนี้ประการต่อไป ธรรมวิจัย นั้นก็คือ ในบรรดาสิ่งที่สติดึงเอามา เช่น อย่างที่อาตมภาพบอกเมื่อกี้ว่า เราอาจจะใช้สติเนี่ย ดึงเอาสิ่งที่อยู่ห่างเช่น สิ่งที่เราได้เล่าเรียนมาแล้ว ได้ฟังมาเก่าๆ อาจจะเป็นธรรมะคำสอน หลายๆ อย่าง เวลาเราอยู่นิ่งๆ ว่างๆ เราก็ระลึก ทบทวน นึกถึงธรรมะที่เล่าเรียนเอามานั้น และเอามาเลือกเฟ้น
การเลือกเฟ้นเอาสิ่งที่เล่าเรียน หรือธรรมะที่เล่าเรียนมา และก็เอามาใช้ให้ถูกกับโอกาส ใช้กับกิจเฉพาะหน้าของเรา หรือแก้ไขปัญหาในใจของเราเฉพาะหน้าให้ถูกต้องได้ การเลือกออกมาให้ถูกต้อง เฟ้นออกมานี้ เรียกว่าธรรมวิจัยเหมือนกัน แม้กระทั่งว่า เฟ้นให้รู้ว่าความหมายของหลักธรรมนั้นคืออะไร อย่างนี้เรียกว่า ธรรมวิจัย
ต่อไปก็ข้อที่ 3 วิริยะ
วิริยะแปลว่า ความเพียร ความเพียรอันนี้ แปลตามศัพท์ แปลว่า ความเป็นผู้กล้าหาญ หรือความแกล้วกล้า วิริยะก็มาจาก วีระ ความเป็นวีระนั่นเอง ที่ว่าวีรชน วีรบุรุษ วีรสตรี อะไรต่างๆ ความเป็นวีระ ความเป็นผู้แกล้วกล้า ในที่นี้ก็หมายถึง พลังความเข้มแข็ง การที่จิตใจมีความเข้มแข็ง ที่จะเดินไปข้างหน้าต่อไป ไม่ย่อท้อ ไม่ท้อถอย มีพลัง หรือกำลังที่ประคับประคองใจของตัวเองไว้ ไม่ให้ถอย อันนี้เรียกว่าวิริยะ ก็เป็นหลักสำคัญของการเป็นความเข้มแข็งของจิตใจ หรือชูกำลัง
ต่อไป ปีติ
ปีติ แปลว่า ความอิ่มใจ ความอิ่มใจหรือความดื่มด่ำ ความซาบซึ้ง ปลาบปลื้ม จิตใจของเรานี้ต้องการอาหารหล่อเลี้ยงอันหนึ่ง ปีตินี้เป็นอาหารสำคัญของจิตใจ บางท่านที่ว่าได้เจริญธรรมะดีแล้วเนี่ย แม้จะรับประทานอาหารน้อย อาหารทางกายไม่มาก แต่ถ้าจิตใจดี สามารถทำใจของตนเองให้มีปีติได้เสมอ ก็จะเป็นผู้ผ่องใส ร่างกายดีได้เหมือนกัน ท่านเรียกว่า ปีติภักขา แปลว่า ผู้มีปีติเป็นภักษา มีปีติเป็นอาหาร เพราะฉะนั้น วิธีการอย่างหนึ่งที่จะช่วยจิตใจให้ตัวเองก็คือพยายามสร้างปีติขึ้นมา
ปีติเป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตใจที่สำคัญ ความเอิ่บอิ่ม อิ่มใจ พออิ่มกายมันก็ช่วยให้กายเราสบาย นี่ท่านบอกให้อิ่มใจ ถ้าใจของเราอิ่มด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ จะเห็นว่าคนที่มีทุกข์มีร้อน จิตใจมีกังวลอยู่เรื่อย แม้จะมีอาหาร การรับประทานดี แต่ว่าก็อาจจะซูบ ร่างกายทรุดโทรมได้ แต่ว่าคนที่สบายใจ มีอะไรช่วยให้ดีใจ อิ่มใจอยู่เสมอ ก็อาจจะร่างกายผิวพรรณพลอยผ่องใสไปด้วย โดยที่อาหารนั้นก็มีแต่เพียงพอประมาณ ไม่ถึงกับขาดไปซะทีเดียว เพราะฉะนั้น ปีตินี้เป็นหลักสำคัญอันหนึ่งที่จะเป็นธรรมที่ควรจะสร้างให้เกิดมีขึ้นในใจของตนเสมอๆ
ต่อไปข้อที่ 5 ปัสสัทธิ
ปัสสัทธิ แปลว่า ความสงบ ความสงบเยือกเย็น ท่านแบ่งเป็น สงบกายกับสงบใจ
สงบกาย ท่านหมายเอาลึกซึ้ง หมายถึง สงบกองเจตสิก แต่ในที่นี้ก็เอาร่างกายธรรมดาก็ได้ ง่ายๆ คนเรานี้ ถ้ามีความเครียด มีเรื่องไม่สบายใจแล้ว มันจะเครียดเอามาทั้งใจทั้งกาย สภาพที่ตรงข้ามกับปัสสัทธิก็คือ ความ เครียด มีเรื่องกลุ้มใจ มีกังวลอะไรต่างๆ แล้วก็เครียดขึ้นมา เมื่อเครียดทางใจ แล้วก็เครียดทางกายด้วย ไม่มีความสุข แล้วจะเป็นเรื่องที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรมเช่นเดียวกัน งั้นก็ท่านให้มีธรรมะที่ตรงกันข้ามกับความเครียดนี้ ก็คือ ปัสสัทธิ ความสงบเย็น ความผ่อนคลาย ร่างกายก็ผ่อนคลาย จิตใจก็ผ่อนคลาย ภาวะนี้เรียกว่า ปัสสัทธิ เป็นสิ่งที่ดีมาก เป็นตัวที่มักจะมาคู่กับปีติ
ต่อไปข้อที่ 6 สมาธิ
สมาธิ แปลว่า ความตั้งจิตมั่น จิตใจมั่นหรือแน่วแน่ แน่วแน่อยู่กับสิ่งนั้นๆ ถ้าเราพิจารณาสิ่งใด จิตใจก็แน่วจับอยู่ที่สิ่งนั้น พอเราทำกิจ ทำงานอะไร ใจของเราก็แน่วอยู่กับงานนั้น อันนี้เรียกว่า สมาธิ
อยู่กับสิ่งที่นิ่งก็มี อยู่กับสิ่งที่ไม่เคลื่อนที่ อยู่กับที่ สมาธิที่อยู่กับสิ่งนั้น ก็จับนิ่งๆ อยู่ แต่ถ้าเราทำกิจอะไรที่เป็นการเคลื่อนไหว เป็นการเคลื่อนที่ไป สมาธิมันก็แล่นดิ่งไป ก็เป็นไปแบบเรียบแต่สนิท อันนี้เรียกว่า เป็นสมาธิ ก็เป็นตัวที่สำคัญ ที่มาเนื่องๆ กันกับพวกวิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ นี่แหละ จิตใจที่นิ่ง ก็เป็นจิตที่มีกำลังมาก
ต่อไปข้อสุดท้ายก็คือ อุเบกขา
อุเบกขา ก็แปลว่า แปลง่ายๆ กันว่า ความวางเฉย วางเฉยอย่างไร ถ้าเราเห็นอะไร รับรู้อะไร แล้วเราวางเฉยเสีย บางทีมันเป็นแต่ความวางเฉยภายนอก หรือ พยายามทำเป็นวางเฉย แต่ใจไม่เฉยจริง ความวางเฉยในที่นี้หมายถึง ความเรียบสงบของจิตใจ ที่เป็นกลางๆ ไม่เอนเอียงไปข้างโน้น ข้างนี้
ท่านเปรียบว่า จิตที่เป็นอุเบกขานี้ คือจิตที่ว่า ทุกอย่างมันเข้าที่ดีแล้ว ใจของเราก็วางแน่วแน่ ก็เฉย ดูไปเฉยๆ เหมือนอย่างเมื่อท่านขับรถ ขับรถตอนแรก เรายังต้องวุ่นวาย ต้องเร่งเครื่อง ต้องปรับอะไรต่ออะไรทุกอย่างให้มันเข้าที่ พอทุกอย่างเข้าที่แล้ว เครื่องก็เดินดีแล้ว วิ่งเรียบสนิทดีแล้ว ต่อแต่จากนี้เราเพียงแต่มองดู มองดู คุมไว้ ระวังไว้ ให้มันเป็นไปตามที่เราต้องการเท่านั้น ตามที่ทุกสิ่งเข้าที่ เรียบดีแล้ว เดินดีแล้ว และก็เราได้แต่คุมเครื่องอยู่ มองดูเฉยๆ เนี่ย สภาวะนี้เรียกว่า อุเบกขา เป็นสภาพจิตที่สบาย เพราะว่าทำทุกอย่างดีแล้ว ทุกอย่างมันเดินเข้ารูปของมันแล้ว
เหมือนอย่างถ้าเป็นพ่อเป็นแม่ นี่เป็นอุเบกขาอย่างขั้นหยาบๆ เช่นว่า ลูกเขารับผิดชอบตัวเองได้แล้ว เขามีการมีงานทำอะไรต่างๆ แล้ว เราช่วยเขามาแล้ว เขาดำเนินการของเขาได้ ทำงานของเขาได้ดีแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็วางใจ เรียบสนิท คอยมองดูเท่านั้นเอง จิตใจที่วางอย่างนี้ได้ เรียกว่า อุเบกขา
ไม่ใช่อุเบกขาหมายความว่า เฉยไม่รู้เรื่องอะไร ไม่รับรู้ ไม่ทำอะไร ไม่ใช่อย่างนั้น แต่รับรู้อย่างผู้มีปัญญาที่ว่า รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เข้าที่ดีแล้ว ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี หรือเห็นว่า คนของตนรับผิดชอบของตัวเองในเรื่องนี้ ใจเราก็วาง แน่ว สนิท สบาย อย่างนี้เรียกว่า อุเบกขา
นี่ก็คือตัวองค์ธรรม 7 ประการ ทีนี้เวลาพอมาพูดแยกๆ กันเนี่ย บางทีก็เข้าใจไม่ง่ายนัก แต่ก็พอเห็นเค้า แต่ว่าที่เห็นง่ายๆ ก็คือว่า ธรรมทั้ง 7 อย่างนี้ ไม่ต้องเอาทั้งครบหรอก แม้แต่เพียงแต่ละอย่าง ละอย่าง มีอย่างเดียวก็ช่วยให้จิตใจสบายแล้ว
ถ้าเป็นผู้เจ็บป่วยไข้ มีเพียงอย่างเดียว สองอย่าง ก็จิตใจก็สบายแล้ว เช่นว่า มีสติ พอมีสติ จิตใจไม่หลงใหลฟั่นเฟือน นี่ก็เป็นสภาพจิตที่ดีแล้ว หรือถ้ายิ่งมีวิริยะ มีกำลังใจ เราก็เห็นชัดเลยว่าเป็นสภาพที่ดี ที่ต้องการแน่ๆ จิตใจของผู้เจ็บป่วยไข้นั้น จะไม่ต้องเป็นที่ห่วงกังวลกับท่านผู้อื่น และยิ่งมี ปีติ มีปัสสัทธิ สร้างขึ้นมาได้ ก็ยิ่งดี แต่ละองค์ ละอย่าง นี่ก็ดีอยู่แล้ว
แต่ที่ท่านต้องการนั้น ก็คือว่า องค์ทั้ง 7 นี้มาทำงานร่วมกันด้วย จึงจะเรียกว่าเป็นโพชฌงค์ คือจะให้เกิดการตรัสรู้นั้น ทำให้กลายเป็นผู้ตื่น ให้กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ให้กลายเป็นผู้ผ่องใสเบิกบานนั้น ก็ด้วยองค์ธรรมทั้ง 7 นี้มาทำงานร่วมกันครบถ้วนบริบูรณ์
อันนี้ท่านแสดงลำดับวิธีการที่ธรรมทั้ง 7 นั้นมาทำงานร่วมกัน บอกว่า
เริ่มต้นก็ต้องเริ่มด้วยข้อที่ 1 ก็คือสติ สตินี้จะใช้อย่างไร เริ่มต้นอย่างไร ก็เหมือนอย่างที่อาตมภาพได้กล่าวเมื่อกี้ ว่าสตินั้นอาจจะดึงจิตไว้กับสิ่งที่เราเกี่ยวข้องเฉพาะหน้า เรากำลังเกี่ยวข้อง พิจารณาอะไร เรื่องอะไรกำลังเกิดขึ้น จิตก็อยู่กับสิ่งนั้น นี่ก็อย่างหนึ่ง หรือว่า อาจจะดึงสิ่งที่ห่างๆ เข้ามา ก็คือเรื่องที่ผ่านไปแล้ว นอนอยู่คนเดียว ระลึกถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้ว คำสอนหลักธรรมที่อ่านมานานๆ แล้วทบทวน ระลึกขึ้นมาในใจ ตอนนี้ก็เริ่มได้สติก่อน นี่เป็นตัวแรกที่จะเข้าไปสัมผัสกับสิ่งที่เราจะเกี่ยวข้อง ให้ดึงเข้ามา พอสติดึงเข้ามา ระลึกขึ้นมาแล้ว
ต่อไปที่ 2 ก็ใช้ ธัมมวิจยะ ธัมมวิจยะก็เลือกเฟ้น ไตร่ตรองธรรม ก็เหมือนกับที่อาตมภาพกล่าวเมื่อกี้ว่า เมื่อจิตของเราอยู่กับอารมณ์นั้น หรือสิ่งนั้นแล้ว มองให้เป็นธรรมะ มองให้เห็นธรรมะ มองอย่างพระเถรีท่านที่กล่าวเมื่อกี้ มองเห็นเปลวเทียน ก็นึกถึงหลักธรรม ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความดับไป มองเห็นภาพ หมู่มนุษย์ที่กำลังวุ่นวายกัน ก็อย่าให้จิตใจปั่นป่วน วุ่นวาย สับสน มองให้เกิด ให้เห็นเป็นความกรุณา ให้จิตใจมองไปในด้านที่เป็นความปรารถนาดี คิดจะช่วยเหลือ หรือว่าเป็นเรื่องที่น่าที่จะสงสาร เข้าไปช่วยเหลือ หรือถ้าเป็นสิ่งที่ล่วงแล้ว ดึงจิตกับอารมณ์เข้ามาหาด้วยกัน ก็เอาธรรมะที่ได้เล่าเรียนมานั้น มาพิจารณาไตร่ตรอง และก็เลือกว่า ในโอกาสเช่นนี้ ขณะนี้ เราควรจะใช้ธรรมะข้อไหน จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะบางทีนั้น เราไม่สามารถทำใจได้ไหว กับสิ่งที่เราเห็นเฉพาะหน้า คือบอกว่า ให้มองอารมณ์ที่เห็นเฉพาะหน้าเนี่ย ให้เห็นเป็นธรรมะ หรือมองให้เห็นธรรมะ แต่เราทำไม่ไหว เราก็อาจจะไประลึกถึง ทบทวนธรรมะที่ผ่านมาแล้ว ดึงเอามาใช้ ว่าในโอกาสนี้ จะใช้ธรรมอะไรจึงจะเหมาะ จึงจะเป็นประโยชน์ จึงจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้
อันนี้ก็เป็นข้อที่ 2 ที่เรียกว่า ธัมมวิจัย อย่างน้อยการที่ทบทวน นึกถึงธรรมะที่ได้เล่าเรียนมา ก็ทำให้จิตมีงานทำ ก็สบายใจขึ้น ทีนี้ถ้าเลือกได้ ธรรมะที่เราต้องการ หรือเฟ้นให้เข้าใจความหมาย
ต่อไปก็ผ่านไปข้อที่ 3 คือวิริยะ วิริยะนั้นที่แปลว่าความเข้มแข็ง ความมีกำลังใจ จิตใจของเรานั้น มักจะท้อถอยหดหู่ และก็อาจจะบางทีก็ว้าเหว่ ว้าวุ่น ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า จิตไม่มีที่ไป จิตของเราเคว้งคว้าง คนเรานั้น ถ้าจิตมีทางไปแล้ว มันมักจะแล่นไป เพราะจิตนี้ปกติไม่อยู่นิ่ง ชอบทำงาน แต่ว่าเราคว้าอะไรที่จะให้เป็นทางเดินของจิตไม่ได้ จิตก็ว้าวุ่น และก็วนอยู่ที่นั่นเอง วนเป็นวัฏฏะ เป็นวงจรที่ไม่ดี ไม่งาม ก็ทำความเดือดร้อน เร่าร้อนจิตใจให้ตัวเอง
นี้ถ้าหากว่าทำทางเดินให้กับจิตได้แล้ว จิตก็มีพลัง ก็จะเกิดวิริยะ มีกำลังใจที่จะวิ่งแล่นไป นี้ถ้าหากว่าได้ธัมมวิจยะ คือเฟ้นธรรม มองให้เห็นอย่างหนึ่ง ให้ปัญญาเกิดความสว่างขึ้นมา พอเป็นสว่าง ก็เป็นทางเดินให้แก่จิตได้ จิตก็จะมีทาง และจะวิ่งแล่นไปทางนั้น ก็เกิดกำลังใจขึ้น เป็นสิ่งที่เนื่องอาศัยกัน อันนี้เรียกว่า วิริยะ ความมีกำลังใจ เป็นเครื่องประคับประคองจิตไม่ให้ตก ไม่ให้หดหู่ ไม่ให้ท้อถอย
พอเกิดวิริยะแล้ว จิตมีกำลังใจ ปีติ ความอิ่มใจ ก็เกิดขึ้น คนที่มีกำลังใจนั้น ใจเข้มแข็งขึ้นมา ใจได้เห็นเป้าหมายอะไรขึ้นมาแล้ว ก็จะเกิดปีติ มีความอิ่มใจขึ้น พอเกิดความอิ่มใจแล้ว ก็จะมีตัวความสงบขึ้นมา เพราะว่าคนที่เครียด ที่กระสับกระส่ายนั้น ก็เพราะเนื่องด้วยจิตที่เมื่อกี้ อย่างที่ว่าไม่มีกำลัง และก็กระสับกระส่าย เพราะว่าอ้างว้าง หรือติดค้างอยู่ วนอยู่ ไม่มีที่ไป ก็เคว้งคว้าง เคว้งคว้าง จิตก็ยิ่งเครียด ยิ่งกระสับกระส่าย แต่พอจิตมีทางไปแล้ว กำลังดีขึ้น เดินหน้าไป มีความอิ่มใจ ก็มีความสงบไปด้วย หายเครียด หายกระวนกระวาย จิตก็สงบระงับ กายก็สงบระงับ นี้เรียกว่าเกิดปัสสัทธิ
พอเกิดปัสสัทธิแล้ว จิตซึ่งเดือดร้อนวุ่นวาย ฟุ้งซ่านไป เพราะว่าความเคว้งคว้างเมื่อกี้นี้ ก็มีทางไปแล้ว ก็เดินเข้าสู่ทางนั้น จิตก็นิ่งสงบ ก็แน่วแน่ ก็เกิดเป็นสมาธิขึ้น ก็แล่นแน่วไปในทางนั้น ก็เป็นกำลังที่วิ่งไปทางเดียว
ท่านบอกว่าเหมือนกับน้ำที่เรารดลงมาจากที่สูง น้ำที่เราเอาภาชนะ หรือถัง หรืออะไรขนาดใหญ่ ที่บรรจุขนาดใหญ่ เทลงบนยอดภูเขา น้ำนั้นลงมากระจัดกระจาย ไม่มีกำลัง แต่ถ้าเราทำทางให้ เป็นท่อก็ตาม หรือขุดเป็นรางน้ำลงมาก็ตาม น้ำที่ไหลลงมาตามทางนั้น จะไหลพุ่งลงมาทางเดียว และมีกำลังมาก เหมือนกับจิตที่ได้ทางของตัวมันแล้ว ก็จะเป็นจิตที่ไหลแน่วไปในทิศทางนั้น จะมีกำลังมาก นี้คือจิตที่เป็นสมาธิ
เมื่อจิตมีสมาธิแล้ว ก็เป็นอันว่า ทุกอย่างก็เดินไปด้วยดีแล้ว พอจิตเดินไปด้วยดีแล้ว ไม่มีความห่วง ไม่มีความกังวล จิตมีทางไป ใจก็สงบราบเรียบ อย่างที่เรียกว่าเฝ้าดูเฉย จิตที่เฝ้าดูเฉยนี้ ก็คือจิตที่มีอุเบกขา วางใจเป็นกลาง ไม่เกาะเกี่ยวสิ่งใดต่อไป เพราะว่าไม่ต้องกังวลถึงงานที่ทำ เหมือนอย่าง คนที่ขับรถอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ เราเพียรพยายามตอนแรก ก็คือว่า เร่งเครื่อง เร่งเครื่องไปแล้ว แล้วก็ เครื่องเดินไปด้วยดี แล้วก็ปล่อยกำลังต่อไป แล้วก็นั่งนิ่งสงบ จิตแน่วดิ่งไป แล้วก็มองเฉย สบายแล้ว ตอนนี้นั่งสบาย จะคุย จะพูดอะไรกับใครก็ได้
อันนี้สภาวะของจิตเนี่ย ถ้ามาให้ทำอย่างนี้ ก็ทำอย่างนี้ได้ จิตก็เดินไปในแนวทางของปัญญา จากปัญญาที่มีน้อยๆ ก็จะเพิ่มพูนปัญญาที่ยิ่งขึ้นไป
แต่จุดเริ่มต้นนี้สำคัญคือก็ต้องมีสติ ฉะนั้น สติถ้านำมาใช้ประโยชน์อย่างที่กล่าวมานั้น ให้มันต่อกันไปตาม ลำดับ เป็นธรรมที่หนุนเนื่องทั้ง 7 ประการ ถ้าทำได้เช่นนี้ ก็เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น หรือว่า จะใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
แต่ถ้าใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันถูกต้อง อันนั้นก็คือ เป็นการปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นไปด้วยในตัวนั่นเอง เพราะการปฏิบัติที่ว่าเพื่อความหลุดพ้นก็คือ การที่สามารถทำจิตใจของตัวเองให้ปลอดโปร่งผ่องใส ด้วยสติปัญญานั่นเอง และก็จะบริสุทธิ์ นี่เป็นเครื่องช่วยในทางจิตใจของแต่ละท่าน
อาตมภาพแสดงธรรมเรื่องโพชฌงค์มานี้ ก็ได้พูดไปตามหลัก ให้เห็นความหมายของแต่ละข้อ และก็ความสัมพันธ์กัน แต่ว่าสิ่งสำคัญก็คือว่า เราจะนำมาใช้อย่างไรในกรณีแต่ละกรณี อันนี้เป็นเพียงการพูดให้เห็นแนวกว้างๆ เท่านั้น จะให้ชัดเจนก็ต่อเมื่อเรานำไปใช้ ในเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ ในเรื่องแต่ละเรื่องว่าเราจะใช้ยังไงให้เห็นประจักษ์แก่ตนเอง เมื่อใช้ขึ้นมาได้แล้ว เมื่อเห็นประโยชน์ประจักษ์ขึ้นมาครั้งหนึ่ง เราก็เกิดความชัดเจนขึ้น จะนำไปใช้ได้ผลยิ่งๆ ขึ้น
วันนี้อาตมภาพก็ถือว่าเป็นการพูดเริ่ม หรือว่า เป็นการบอกแนวทาง ให้หลักการไว้ ทำความเข้าใจทั่วๆ ไป เกี่ยวกับเรื่องโพชฌงค์ ก็พอสมควรแก่เวลา และก็ขอส่งเสริมกำลังใจโยม ก็ขอให้โยมเจริญด้วยหลักธรรมเหล่านี้ เริ่มด้วยข้อสติเป็นต้นไป และก็อันหนึ่งที่อยากจะให้มีมากๆ ก็คือมี ปีติ จะได้ช่วยเป็นอาหารใจ และนอกจากมีอาหารทางกายเป็นภักษาแล้ว ก็ขอให้มีปีติเป็นภักษาด้วย มีปีติเป็นอาหารใจ จะได้เป็นเครื่องส่งเสริมให้มีความสุข เมื่อมีความสุขกายแล้ว มีความสุขใจด้วย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีความสุขโดยสมบูรณ์ มีสุขภาพพร้อมทั้งสองด้าน คือทั้งด้านกายและใจ
หลักธรรมะที่อาตมภาพนำมาชี้แจง หากว่าได้ประโยชน์ นำไปใช้ได้ นั่นก็คือ เป็นพรอันประเสริฐที่เกิดขึ้นในจิตใจของโยมแต่ละท่าน อาตมภาพก็ขอให้โยมทุกท่านได้รับประโยชน์จากธรรมะนี้โดยทั่วกันทุกท่าน ขออนุโมทนา เจริญพร