แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร วันนี้คิดว่าจะเล่าเรื่องเป็นวิชาการสักหน่อย ก็ค่อนข้างหนัก จะพูดเรื่องความรู้เกี่ยวกับเรื่องอุโบสถ เพราะว่าอุโบสถนี้ก็เป็นข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งที่ญาติโยมก็รักษากันมาก ก็มีความรู้ที่เป็นทั้งหลักทั้งเกร็ดที่น่ารู้อยู่พอสมควร แต่ในวันนี้จะไม่พูดเรื่องอุโบสถที่พระรักษา คืออุโบสถนั้นก็มีชนิดที่พระรักษาอย่างหนึ่ง ที่โยมอุบาสกอุบาสิการักษาอย่างหนึ่ง อุโบสถที่พระรักษาก็คือการที่พระมาประชุมสวดปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน วันจันทร์เพ็ญและจันทร์ดับ คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำและวันแรม ๑๕ ค่ำ ถ้าเดือนขาดก็แรม ๑๔ ค่ำ อันนั้นเป็นสังฆกรรมคือกิจของสงฆ์ จะไม่พูดในที่นี้ ก็จะพูดเรื่องอุโบสถของโยม
อุโบสถของโยมนี้ก็มีในวันเดียวกับพระด้วย แล้วก็มีแถมเพิ่มไปอีก คือมากกว่าของพระ คำว่า “อุโบสถ” นั้นก็แปลว่าการอยู่จำ หรือแปลว่าการเข้าอยู่ มีมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล คือก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติก็มีการอยู่รักษาอุโบสถ การอยู่จำนั้น สมัยก่อนก็หมายถึงการที่ถือไม่กินอาหาร ซึ่งก็ตรงที่เราเรียกสมัยนี้ว่าถือศีลอด ไม่กินอาหาร แสดงว่าการเข้าอยู่อุโบสถไม่กินอาหารอะไรนี่เป็นประเพณีที่มีมานานนักหนา และก็มีทั่วไปหมดไปทั่วโลก อย่างที่ศาสนาอิสลามก็มีการถือศีลอด และมีการถือเป็นเดือนเลยทีเดียว ศาสนาอื่นก็มี ทีนี้เมื่อถึงพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงอนุญาตให้อุบาสก อุบาสิกาในพุทธศาสนาได้รักษาอุโบสถด้วย แต่ว่าพระองค์ได้บัญญัติให้รักษาข้อปฏิบัติเพิ่มขึ้น คือ ความหมายของอุโบสถนั้นไม่ใช่เพียงว่าการอยู่จำและก็ไม่กินอาหาร แต่ว่าสำหรับอุบาสก อุบาสิกานั้นก็บัญญัติข้อปฏิบัติที่เรียกว่าองค์แห่งอุโบสถซึ่งมี ๘ ประการ เราเรียกว่าอุโบสถังคะ อุโบสถมีองค์ ๘ ประการ มีตั้งแต่ข้อว่าปาณาติบาตเป็นต้นไป ซึ่งคล้าย ๆ กับศีล ๕ แต่เพิ่มเข้าไปอีก มีข้อเว้นจากการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล แล้วก็เว้นจากการฟ้อนรำขับร้องดนตรี การประดับด้วยของหอมเครื่องลูบไล้ เป็นต้น แล้วก็ลงท้ายไม่นอนบนที่นอนอันสูงใหญ่ อันนี้ก็เป็นองค์อุโบสถซึ่งเพิ่มเข้ามาในพุทธศาสนา
การถืออุโบสถนี้ที่รู้กันทั่วไป ในเมืองไทยเราก็รักษากันในวันขึ้น/แรม ๘ ค่ำ แล้วก็ขึ้น/แรม ๑๕ ค่ำ ถ้าเดือนขาดก็แรม ๑๔ ค่ำ แต่ความจริงนั้น อุโบสถยังมีอีกหลายอย่าง อย่างที่รักษากันในเมืองไทยที่รู้กันทั่วไปเรียกว่า ปกติอุโบสถ ตามหลักนั้น อุโบสถมี ๓ ประเภท ประเภทที่ ๑ ก็คือปกติอุโบสถนี้ และในสมัยพุทธกาลนั้น ท่านรักษาเต็ม ไม่ใช่รักษาแค่ ๔ วันอย่างนี้ คือถ้ารักษา ๘ ค่ำ ๑๔/๑๕ ค่ำ ก็หมายความว่าเดือนหนึ่งรักษา ๔ ครั้ง แต่ในสมัยพุทธกาลนั้น อุโบสถที่รักษาปกติมี ๘ วัน คือเพิ่มวัน ๕ ค่ำเข้าไปอีกวันหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็จะมีอุโบสถวันขึ้น ๕ ค่ำ, แรม ๕ ค่ำ, ขึ้น ๘ ค่ำ, แรม ๘ ค่ำ, ขึ้น ๑๔ ค่ำ, แรม ๑๔ ค่ำ, แล้วก็ขึ้น ๑๕ ค่ำ, แรม ๑๕ ค่ำ เดือนขาดก็รักษาแรม ๑๓ ค่ำด้วย รวมทั้งหมด ๘ วัน ที่รักษากันปัจจุบันนี้ ๔ วันก็ไม่เท่ากับสมัยก่อน ในสมัยพุทธกาล เวลาพูดถึงประวัติของพระสาวกสำคัญ อย่างพระเจ้าพิมพิสาร ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือนางวิสาขา เขาจะพูดถึงว่าท่านเหล่านี้รักษาอุโบสถเดือนละ ๘ ครั้ง นี่ก็คืออุโบสถตามปกติที่กล่าวมา
ทีนี้ยังมีอุโบสถประเภทที่ ๒ เรียกว่า ปฏิชาครอุโบสถ แปลตามตัวอักษรว่าอุโบสถของผู้ตื่นอยู่ ตื่นในที่นี้หมายความว่าไม่หลับใหลด้วยความประมาท คือมีความกระตือรือร้นขวนขวายในสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล หมายความว่าคนที่รักษาอุโบสถประเภทที่ ๒ นี้มีความเอาใจใส่มาก มีความจริงจังในเรื่องบุญเรื่องกุศลมาก ก็รักษาเพิ่มขึ้น ปฏิชาครอุโบสถ หรืออุโบสถประเภทที่ ๒ นี้ รักษาครั้งละ ๓ วัน ครั้งละ ๓ วันหมายความว่าเมื่อรักษา สมมติว่ารักษา ๘ ค่ำ ก็รักษาวันก่อน ๘ ค่ำ คือรักษาวัน ๗ ค่ำด้วย แล้วก็รักษาวันหลัง ๘ ค่ำ คือ ๙ ค่ำด้วย รวมแล้วครั้งละ ๓ วันก็มี ๗, ๘, ๙ ค่ำ เรียกวัน ๗ ค่ำว่าวันรับ เรียกวัน ๙ ค่ำว่าวันส่ง คือรักษาอุโบสถอย่างปกตินั่นเองแต่รักษาวันก่อนกับวันหลังด้วย วันก่อนเรียกว่าวันรับ วันหลังเรียกว่าวันส่ง ก็คืออุโบสถที่มีวันรับและวันส่ง รักษาครั้งละ ๓ วัน อย่างนี้เรียกว่า ปฏิชาครอุโบสถ สมัยนี้นึกไม่ออกว่ามีใครรักษากันบ้าง ถ้ารักษาปฏิชาครอุโบสถแล้ว จะเท่ากับว่าเดือนหนึ่งก็รักษาอุโบสถเสียค่อนเดือน มีเวลาที่ไม่ได้รักษาอุโบสถเพียง ๑๐ วัน หรือ ๑๑ วันเท่านั้นเอง นี่คืออุโบสถประเภทที่ ๒
ต่อไปประเภทที่ ๓ เรียกว่า ปาฎิหาริยอุโบสถ ปาฎิหาริยอุโบสถ ฟังดูคล้ายๆว่าเป็นอุโบสถปาฏิหารย์ แต่ปาฏิหารย์ในที่นี้แปลว่าอุโบสถที่พึงนำไปให้ตรงตามกำหนดในแต่ละปี หมายความว่าปีหนึ่ง ๆ นี่จะมีวันที่กำหนดเอาไว้สำหรับรักษาอุโบสถประเภทนี้เป็นช่วงเวลาตอนหนึ่ง ๆ ระยะเวลาสำหรับรักษาอุโบสถประจำปีตามปกติก็เป็นระยะ ๓ เดือนในพรรษานั่นเอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่รักษาปาฏิหาริยอุโบสถนี้ ถ้ารักษาอย่างสามัญก็ไปรักษาพร้อมกับพระอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนในพรรษาทีเดียว นี้เป็นอย่างสามัญ ยังมีอย่างสูงอย่างต่ำอีก ถ้าหากจะมีความขยันมากกว่านี้ ก็อาจจะรักษาให้เกิน ๓ เดือน ก็เป็น ๔ เดือน เรียกว่ารักษาตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน คือความจริงฤดูฝนนั้นมี ๔ เดือน มีตลอดพรรษาด้วย แล้วก็ถัดจากออกพรรษาคือเดือนกฐิน เดือนกฐินนั่นความจริงยังอยู่ในฤดูฝน เป็นเดือนสุดท้ายของฤดูฝน ถ้ารักษาเต็มที่ก็รักษา ๔ เดือนตลอดฤดูฝนอย่างนี้จนกระทั่งหมดหน้ากฐิน ถ้าหากว่าไม่สามารถรักษาได้เต็มตามนั้น ๔ เดือนก็รักษาไม่ไหว ๓ เดือนก็รักษาไม่ไหว จะรักษาเพียงเดือนเดียวก็ได้ ท่านบอกว่าถ้าจะรักษาเดือนเดียวให้รักษาในช่วงระยะวันออกพรรษาไปแล้ว ๑ เดือน ก็คือตลอดหน้ากฐินนั่นเอง ฤดูกฐินนั้นก็เป็นระยะเวลาสำหรับรักษาอุโบสถแบบนี้ที่รักษาเพียง ๑ เดือน ถ้าหากว่าจะรักษาให้หย่อนกว่านั้นก็ได้ ก็สั้นลงมาอีกเหลือเพียงครึ่งเดือน ถ้ารักษาครึ่งเดือนก็คือรักษาหลังจากวันออกพรรษาไปแล้วครึ่งเดือน ตลอดระยะเวลาครึ่งเดือนนั้น นี่ก็เรียกว่าเป็นปาฏิหาริยอุโบสถ อย่างนางอุตตรานันทมารดา ที่อาตมาเคยเล่าประวัติให้ฟัง นั่นก็รักษาอุโบสถครึ่งเดือน ตอนที่ว่าไปอยู่กับสามีมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีโอกาสที่จะไปรักษาอุโบสถได้ ก็เลยตอนท้าย จวนจะออกพรรษาอยู่เล้ว เหลือครึ่งเดือน ก็หาอุบายวิธีจนกระทั่งว่าสามารถไปวัดได้ ก็เลยถืออุโบสถครึ่งเดือน นางอุตตรานั้นถือครึ่งเดือนตอนที่ก่อนจะออกพรรษา
อันนี้ก็คือเรื่องของการรักษาอุโบสถซึ่งมีหลักไว้ให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติ แต่ว่าท่านกล่าวว่าความจริงแล้วอุโบสถนี่จะรักษาเมื่อใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรักษาตามกำหนดนี้ ก็แล้วแต่ว่าจะมีศรัทธา ถ้าหากว่าพร้อมเมื่อใดก็รักษาเมื่อนั้น แต่ถ้าหากว่าสามารถรักษาตามกำหนดได้ก็เป็นการดี อันนี้ก็เป็นความรู้ตามหลักวิชา
นอกจากนั้นท่านยังแสดงอาการของผู้รักษาอุโบสถไว้อีกว่า ว่าโดยอาการแล้วมี ๓ แบบ อันนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ การรักษาอุโบสถแบบที่ไม่ถูกต้อง คือปฏิบัติตัวไม่ดีก็ไม่ค่อยสู้ได้ผล อย่างที่ ๑ ท่านเรียกว่า โคปาละอุโบสถ – อุโบสถของนายโคบาล อุโบสถของนายโคบาลเป็นอย่างไร คือนายโคบาลนั้น ก็นำโคของเขาไปเลี้ยงแต่ละวัน ๆ พอเลี้ยงเสร็จแล้วก็เอากลับมาคืนเขา คืนเขาแล้วก็มานึกต่อไปว่าวันพรุ่งนี้ ก็วันนี้ โคของเราก็ไปกินน้ำกินหญ้าที่นั่น ๆ พรุ่งนี้จะพาไปที่ไหน ก็นึกอย่างนี้ อย่างนี้ก็เรียกว่าโคบาล ทีนี้ผู้รักษาอุโบสถบางท่าน เมื่อรักษา จิตใจก็ไม่อยู่กับบุญกุศล มัวแต่ครุ่นคิดพิจารณาว่า เอ๊ะ วันนี้เราจะไปรับประทานอะไรที่ไหนดี อร่อยดี พรุ่งนี้จะไปทานที่ไหน จะทานอะไรดี อะไรอย่างนี้ ถ้าจิตใจมุ่งแต่ความคิดอย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นอุโบสถประเภทที่ ๑ เรียกว่า โคปาละอุโบสถ
อุโบสถประเภทที่ ๒ ท่านเรียกว่าอุโบสถแบบนิครนถ์ หรือนิคัณฐอุโบสถ คือพวกนิครนถ์เขาก็รักษาอุโบสถเหมือนกัน แต่ว่าอุโบสถของนิครนถ์นี้เขามีข้อปฏิบัติแปลกออกไป เช่นเขามีหลักปฏิบัติว่าจะไม่เบียดเบียนสัตว์ ถ้าสัตว์อยู่ในรัศมีเท่านั้น เช่นว่า ๑ โยชน์จากบริเวณนี้ออกไป จะไปฆ่าไปเบียดเบียนทำร้ายไม่ได้ แต่ถ้าสัตว์ที่อยู่เลยเขตนั้นออกไปแล้วจะฆ่าจะเบียดเบียนได้ มีในขอบเขตมีจำกัดอย่างนี้ หรือว่าเขาจะปฏิบัติตัว อย่างนิครนถ์นี้ จะเห็นว่านักบวชของเขาผู้หนึ่งจะไม่นุ่งผ้า นี่เขาก็สอนผู้รักษาอุโบสถเอาไว้เหมือนกัน บอกว่า เวลารักษาอุโบสถให้เปลื้องผ้าออก แล้วก็ทำใจบอกว่า เราไม่ยึดถือสิ่งใดแล้วนะ จิตใจไม่เกี่ยวเกาะสิ่งใด แต่ทั้งที่ความจริงนั้น เขาก็ยังยึดถือสิ่งทั้งหลายอยู่ แต่ว่าทำแสดงตัวเป็นว่าเอาผ้าเอาผ่อนออกไปแล้วก็บอกว่าตัวเราไม่เกี่ยวข้อง ไม่ยึดถือสิ่งใดแล้ว อะไรอย่างนี้ อันนี้ การปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แล้วก็ไม่เป็นหลักปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ตามเหตุตามผล อย่างนี้เรียกว่าเป็นนิคัณฐอุโบสถ อุโบสถประเภทที่ ๒
และสุดท้ายก็คืออุโบสถที่รักษาอย่างถูกต้อง เรียกว่า อริยะอุโบสถ หรืออุโบสถอย่างพระอริยะ ก็คือเมื่อรักษาอุโบสถนั้น ก็ทำจิตใจของตนให้ผ่องใสเบิกบานเป็นบุญเป็นกุศลด้วย ก็ทำให้ผ่องใสเบิกบานด้วยการที่ว่าระลึกถึงพุทธคุณบ้าง ระลึกถึงธรรมคุณบ้าง ระลึกถึงพระสังฆคุณบ้าง ระลึกถึงเรื่องศีล เรื่องอะไรที่เป็นสิ่งดีงามทั้งหลาย ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง อันนี้ก็เรียกว่าเป็นอริยะอุโบสถ ได้บุญได้กุศลมาก
วันนี้อาตมภาพก็แสดงมาเรื่องอุโบสถ เป็นความรู้ในแง่ต่าง ๆ ทั้งประเภทของการรักษา แล้วก็อาการที่รักษาก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา นำมาพูดเป็นหลักวิชาการเพียงเท่านี้ ขอเจริญพร