แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
สวัสดี เด็ก ๆ หนู ๆ แห่งบ้านมุทิตาทุกคนวันนี้อาตมาได้มาพบปะกับเด็ก ๆ อีกครั้งหนึ่ง โดยมาที่บ้านนี้เมื่อหลายปีมาแล้ว กับพระสามองค์ชุดเดียวกัน นึกจะเป็นสามหรือสี่ปีมาแล้ว ตอนนี้ก็มาอีกครั้งหนึ่ง ตอนแรกก็นึกไม่ค่อยออก รู้แต่ว่ามาแล้ว พอมาถึงก็จำบรรยากาศได้ คุยกันคราวนี้เนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เมื่อกี้นี้ท่านผู้ดำเนินการก็บอกแล้วว่า เป็นวันมาฆบูชา
ก่อนจะคุยกันก็เลยถือเป็นธรรมเนียมว่าต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องวันที่เรามาพูดกันซะก่อน เมื่อมาพูดกันในวันมาฆบูชาก็ต้องทำความเข้าใจในเรื่องวันมาฆบูชาว่าคืออะไร ที่จริงไม่ต้องทำความเข้าใจอะไรกันหรอก ถือว่าทบทวน เพราะว่าเด็กๆ เนี่ยเป็นชาวพุทธ ก็ย่อมรู้จักวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญในทางพุทธศาสนา ปีๆ หนึ่งนี้เรามีวันสำคัญทางพุทธศาสนากันหลายวัน
อยากจะทายเป็นการทบทวนอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ว่าวันสำคัญในทางพุทธศาสนา มีวันอะไรบ้าง จำได้ไหม หนึ่งวันอะไร ใครจำได้ยกมือขึ้น วันอะไรบ้าง เริ่มตั้งแต่มกราไปเนี่ย วันสำคัญทางพุทธศาสนา มีอะไรบ้าง ยกมือสิ
ใครจำได้ยกมือขึ้น ไม่มีเลยเหรอ แปลว่ายังอายมั้ง บางคนยิ้ม ๆ แปลว่ายังจำได้ แต่ยังอายไม่กล้าจะตอบนะ
ก็วันนี้แหละ ก็นับจากมกราไปใช่ไหม นี่เราพึ่งขึ้นปีใหม่มาได้เดือนกว่าจะครบสองเดือน นี่วันนี้วันที่เท่าไหร่ ๒๘ ใช่ไหม แล้วปีนี้เดือนกุมภาพันธ์พอดี เป็นปีที่เขาเรียกว่าอะไร ปีพิเศษอะ เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้มี ๒๙ วัน ตามปกติมันมี ๒๘ วัน ปีนี้มี ๒๙ วัน แล้วก็วันนี้วันที่ ๒๘ เป็นวันมาฆบูชา แต่ที่จริงไม่ตรงเดือนนะ
เมื่อกี้นี้ท่านประธานก็ได้บอกแล้วว่า เราจัดเพื่อให้เหมาะสม เพื่อความสะดวก ความจริงวันมาฆบูชาในปีนี้ที่แท้คือวันที่ ๓ มีนาคม ซึ่งอยู่อีกในราว ๔ วันข้างหน้า เราจัดซะก่อน เพราะว่าผู้ใหญ่หรือพระอาจจะมีธุระในวันนั้น เรามาจัดพบกันซะวันนี้ เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา
นี่พึ่งขึ้นปีใหม่มาได้สองเดือน วันมาฆบูชานี่ก็เป็นวันสำคัญวันแรกสำหรับปี ต่อจากวันมาฆบูชาเป็นวันอะไร วันอะไรต่อ ก็ไปเดือนกุมภา แล้วก็ไปมีนา เมษา
มีนามีไหมวันสำคัญ ก็มี ก็นี่แหละที่จะถึง ก็มาฆบูชาที่เรามาชิงจัดซะวันนี้ก่อน
เมษามีไหม ไม่มี เมษามีแต่วันสำคัญทั่วไป วันสงกรานต์
วันสำคัญทางพุทธศาสนาที่ลงว่าบูชา ๆ น่ะ แล้วก็พฤษภา มิถุนาน่ะมีไหม
เด็ก ๆ : มี
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : มีคือวันอะไร
เด็ก ๆ : อาสาฬหบูชา
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : จวนและ ๆ
เด็ก ๆ : วิสาขบูชา
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : วิสาขบูชา ใช่แล้ว นี่ อย่างนี้ใช้ได้ ตอบวิสาขบูชา แล้วต่อจากนั้นอะไร
เด็ก ๆ : อาสาฬหบูชา
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : อาสาฬหบูชานะ อาสาฬหบูชา อยู่เดือนกรกฎาโน่น ต่อไปก็สิงหา กันยา ตุลา มีอีกไหม พฤศจิกา ธันวา
เด็ก ๆ : เข้าพรรษา
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : ก็มีวันเข้าพรรษา แล้วก็วันออกพรรษา
เด็ก ๆ : ??
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : พอแล้ว ในที่นี้ เราเอาวันที่ลงว่าบูชา พอเราเอาวันที่มีคำว่าบูชาเนี่ยมันจะมีสามวัน คือวันมาฆบูชานี้ แล้วก็วันวิสาขบูชา แล้วก็วันอาสาฬหบูชาสามวัน
ตอนนี้เรามาถึง วันมาฆบูชา วันมาฆบูชานี่มีความสำคัญอย่างไร เพราะว่าอยู่กันมากก็จะตอบลำบาก ก็จะทบทวนให้ นึกในใจ เป็นการทวนความรู้ในตัวเอง แล้วก็ฟังว่าตรงไหม
วันมาฆบูชานี้แปลว่า การบูชา ในเดือนมาฆะ
เดือนมาฆะ เดือนอะไร เดือนมาฆะก็เดือนสาม เดือนสามนี้หมายถึงเดือนสามแบบโบราณเขานับ คนโบราณเนี่ยเขานับตามพระจันทร์ สมัยนี้ชอบนับตามพระอาทิตย์ ตามพระอาทิตย์นี้เขาเรียกว่าอะไร เรียกว่า สุริยคติ นับตามพระจันทร์เรียกว่าอะไร เรียกว่า จันทรคติ นับตามพระอาทิตย์นี้เขาเรียกเป็นวันที่ วัน ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เป็นต้น ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ เป็นต้น ที่นี้ถ้านับตามพระจันทร์ จันทรคติ เขาจะเรียกเป็นค่ำ ก็มีขึ้นกี่ค่ำ แรมกี่ค่ำ
เดือนมาฆะ เป็นเดือนทางพระจันทร์ เรียกว่าจันทรคติ ก็นับตามค่ำแรม วันมาฆบูชานี้ก็คือ วันที่พระจันทร์เต็มดวง ในเดือนมาฆะ วันพระจันทร์เต็มดวงนี้กี่ค่ำ ขั้น ๑๕ ค่ำ เดือนมาฆะก็คือเดือน ๓ เพราะฉะนั้น วันมาฆบูชา ก็เป็นการบูชาในวันพระจันทร์เต็มดวงของเดือน ๓ คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓
สำหรับปีนี้นั้นพิเศษที่ว่ามีเดือน ๘ สองหน เมื่อปีใดมีเดือน ๘ สองหน ก็จะเลื่อนวันมาฆบูชาไปหนึ่งเดือน เพราะฉะนั้น แทนที่จะจัดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ก็ไปจัดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ แล้วก็ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีนี้ ตรงกับวันที่ ๓ มีนาคม นี้เรานับตามพระอาทิตย์ เราจะเรียกว่า วันที่ ๓ มีนาคม แต่ถ้านับตามพระจันทร์ ก็เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ สำหรับปีนี้ นี่แหละ เรื่องวันมาฆบูชา เกี่ยวกับเรื่องปฏิทิน
ทีนี้มาดูความหมายว่า ในวันมาฆบูชานี้ ที่ว่าบูชาในวันกลางเดือน ๓ กลางเดือน ๔ วันเพ็ญ วันพระจันทร์เต็มดวงนี้ บูชาอะไร บูชาทำไม
วันนั้นมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้น เราถึงมาทำพิธีวันมาฆบูชา มาทบทวนให้ ว่าวันนั้นมีพระสงฆ์มาประชุมกัน
ครั้งใหญ่ จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เมื่อพระมาประชุมกันมาก แล้วก็ล้วนแต่เป็นพระที่ได้เป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นพระที่ว่าบริสุทธิ์ แล้วก็เป็นผู้มีความสามารถอย่างสูง สามารถที่จะทำงานสอนธรรมะ เผยแผ่พระศาสนาได้ผลดี พระพุทธเจ้าก็เลยทรงแสดงหลักการของพระพุทธศาสนา หลักการสำคัญของพุทธศาสนาให้พระได้รู้ร่วมกัน เพราะคนที่จะทำงานร่วมกันนี้ต้องมีหลักร่วมกัน เวลาจะได้ไปสอนไปทำงานจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงแสดงหลักสำคัญพุทธศาสนา เราเรียกกันว่าหัวใจพุทธศาสนา อันนี้ก็เป็นเรื่องของมาฆบูชาโดยย่อ เอาแค่นี้ก็พอแล้ว
แต่ที่อยากจะถามก็คือว่า พุทธเจ้าที่สอนหัวใจพุทธศาสนานี้ สอนว่าอย่างไรบ้าง อะไรคือหัวใจพุทธศาสนา ใครจำได้บ้าง ยกมือขึ้น
ไม่ยกนี่ ก็ไม่เป็นไร เอาไว้ก่อน ถามให้ทวนไว้ในใจ
เมื่อกี้นี้ที่น่าสังเกตก็คือว่า พระที่มาประชุมกัน ๑,๒๕๐ รูป เวลาฟังพระพุทธเจ้าแล้ว ต่อไปนั้น ท่านไปทำอะไร
ท่านก็ออกเดินทางไป เขาเรียกว่าไป เผยแผ่พุทธศาสนา ก็คือไปสอนธรรมะนั่นเอง ไปสอนเขาเพื่อประโยชน์ของเขา ไปช่วยให้เขาได้รู้จักธรรมะ รู้จักความดี ความชั่ว รู้จักว่าอะไรเป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ สอนให้ทำความดี สอนให้เว้นความชั่ว สอนให้ปฏิบัติดีงาม ให้พัฒนาชีวิต ให้ประสบความสุข ก็ไปสอนเขา ไปช่วยเขา ให้มีความสุขนั่นเอง หมายความว่าพระที่มาประชุมกันนี้ เตรียมตัวเพื่อจะไปทำงาน ไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ตอนนี้ท่านไม่ได้คิดเพื่อทำอะไรให้ตัวเองเลย นี่ข้อสังเกตที่สำคัญนะ
พระทั้งหมดนี้ พระพุทธเจ้าสอน ก็ไม่ได้สอนเพื่อประโยชน์ของพระเหล่านั้นเลยนะ ดูคำสอนนั้นน่ะ ท่านสอนเพื่อจะให้พระอรหันต์เหล่านั้น ท่านเอาไปเพื่อจะไปสอนผู้อื่น ไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทั้งนั้น นี่แหละเราถึงได้เคารพนับถือ เราทำมาฆบูชา เราระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่พระพุทธเจ้าสอนหลักหัวใจของพุทธศาสนา แก่พระสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งท่านจะไปทำงานสั่งสอนประชาชน เราเคารพบูชาพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระสงฆ์เหล่านั้น พร้อมททั้งพระธรรมที่พระองค์แสดง ก็เพราะว่า ท่านไม่ได้ทำเพื่อตัวท่านเลย ท่านทำเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น คือพระเหล่านั้นคิดแต่เพียงว่า จะไปสอนใครที่ไหน จะไปช่วยยังไงให้เขามีความสุข ทำไงให้เขาทำความดี ให้เขาเว้นความชั่ว ให้มีชีวิตที่ดีงาม มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป ท่านคิดกันแต่อย่างนี้ เราระลึกถึงความดีของท่าน เราถึงได้มาทำการบูชา
เราทำการบูชา เราก็จะได้ นำเอาหลัก เอาสิ่งที่ท่านได้สอนนั้น มาใช้ประโยชน์ในชีวิต เสร็จแล้วมันก็เป็นประโยชน์ในชีวิตของเรา แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นคติก็คือว่า เราก็ควรจะทำอย่างท่านด้วย คือพระอรหันต์เหล่านั้น ท่านไม่คิดถึงประโยชน์ของตัวเอง ท่านคิดแต่ว่าจะไปทำให้ผู้อื่นมีความสุขได้อย่างไร คนเราถ้าคิดว่าจะทำให้คนอื่นมีความสุขได้อย่างไร เนี่ยใจดี เพราะเวลาวันหนึ่งคิดขึ้นมาก็จะคิดแต่เพียงว่า จะทำอย่างไรให้เขามีความสุข จะไปช่วยใครได้อย่างไร
คนเรานี้มีความคิดสองแบบ คือ ๑ คิดจะเอา คิดจะได้ ข้อ ๒ คิดจะให้หรือคิดจะทำให้ผู้อื่น
คนที่อยู่ในโลกเนี่ยเป็นธรรมดา เราต้องคิดเอาคิดได้บ้าง เพราะว่ายังต้องอาศัยมีชีวิตอยู่ เราจะต้องอาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม เราต้องมีเงิน มีทอง เลี้ยงชีวิตบ้างเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องคิดบ้างเรื่องได้เรื่องเอา
แต่ว่าถ้าเราคิดจะได้จะเอาอย่างเดียว แล้วทุกคนคิดเหมือนกันนี้ โลกนี้จะไม่มีความสุข เพราะอะไร เพราะเมื่อแต่ละคนคิดได้คิดเอาก็ต้องแย่งกันใช่ไหม ต้องเบียดเบียนกัน ทำไง เราก็ต้องคิดในทางให้บ้างสิ ถ้าเราคิดในทางให้บ้าง แล้วมันจะเกิดความพอดึขึ้นมา อะไรทุกอย่างในโลกนี้มันจะต้องมีความพอดี ถ้าเราคิดเอาอย่างเดียว ก็เกิดปัญหา มันเอียงดิ่งไปข้างหนึ่ง เพราะฉะนั้นจะต้องคิดให้ด้วย ถ้าเราคิดให้ด้วย ทุกอย่างมันก็พอดีขึ้นมา
อย่างที่ถ้าจัดงานวันนี้ ถ้าไม่มีความคิดให้ หรือทำให้ งานเกิดไม่ได้ อย่างท่านผู้พิพากษา ท่านก็ผลัดกันมา การที่ผลัดกันมาที่นี่ก็เพราะคิดถึงเด็กๆ คิดถึงนักเรียนทั้งหลาย ทำยังไงจะให้พวกเราที่อยู่ที่นี่ ได้สนุกสนานบ้าง ได้ทำกิจกรรมบ้าง ได้พบปะสังสรรค์กันบ้าง เพราะว่าเด็กอยู่ที่นี่ก็อาจจะเหงาได้เหมือนกัน แล้วเราก็เรียน เราก็ฝึกหัดอะไรต่างๆ ขึ้นมา
มันก็เป็นสิ่งที่ดี เราต้องฝึกต้องเรียน แต่ว่าเราควรมีกิจกรรมบ้าง เราควรจะมีการสนุกสนาน รื่นเริงบ้าง ท่านก็นึกถึง ก็เลยจัดกิจกรรมขึ้น จัดหลายอย่าง เวียนกันมา ท่านผู้พิพากษาคนนั้นจัด คนนี้จัด ก่อนจะจัดอาจจะต้องมามีการตั้งหลักกันก่อน มีการประชุม การพิจารณา เป็นต้น
จากการคิดจะให้และทำให้ ก็ทำให้เกิดมีกิจกรรม เช่น การประชุมวันนี้ขึ้นมา ถ้าเราคิดถึงกัน ในการที่จะให้แก่กันเนี่ย มันก็จะทำให้มีการมีสัมพันธ์ที่ดี เขาเรียกว่า มีไมตรีจิต มิตรภาพ ก็จะเกิดความสุขขึ้นมา ถ้าคนเราคิดจะได้ จะเอาอย่างเดียว ก็ต้องแย่งกัน ชิงกัน ก็มีแต่การคิดเบียดเบียน มีแต่โทสะ มีแต่ความโกรธ มีแต่การคิดอาฆาต คิดร้าย มันก็เป็นจิตใจที่เร่าร้อนตลอดเวลา ตัวเองก็เร่าร้อนไม่สบายใจ เราอยู่ร่วมกันก็เป็นทุกข์ หวาดระแวง ไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นจะต้องมีการคิดให้
ถ้าพูดถึงในชีวิตของเราแต่ละคน โดยทั่วไปแล้วพ่อแม่ก็เป็นคนที่คิดที่จะให้ พ่อแม่คิดจะให้แก่ลูก ให้ชัดๆ ตรงๆ บ้าง บางทีก็ให้โดยอ้อมบาง บางทีก็ไปทำมาหากิน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ให้โดยตรง ที่ไปทำมาหากิน หาเงิน หาทอง ก็เพื่อจะให้ ทำเพื่อจะให้แก่ลูก ฉะนั้นคนเราที่จะทำให้โลกอยู่ได้ ก็เพราะมีการที่ยังให้กันอยู่ จะเอาอย่างเดียว เราก็อยู่ไม่ได้เลย
ท่านพระอรหันต์ทั้งหลายนี้ ท่านคิดจะให้ และทำเพื่อจะให้เขามีความสุข เพราะฉะนั้นเราจึงนึกถึงความดีของท่าน แล้วเราก็เลยมาทำพิธีบูชา นึกถึงท่าน แล้วก็นึกถึงคำสอนของท่าน พยายามที่จะเอามาปฏิบัติตาม
ฉะนั้นอย่างน้อย เด็ก ๆ เราก็ให้ได้คติอันนี้ บอกว่าพระอรหันต์ทั้งหลายนี้ ท่านไม่ได้คิดจะเอาอย่างเดียว ท่านคิดจะให้ด้วย ฉะนั้นเราก็เช่นเดียวกัน ต้องไม่คิดแต่เพียงจะเอา ต้องคิดจะให้ด้วย แต่พระอรหันต์นั้นท่านยิ่งขึ้นไปอีก ท่านเหนือกว่านั้น ก็คือว่า ท่านหมดกิเลสแล้ว ท่านไม่คิดจะเอาเลย ท่านคิดจะให้อย่างเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นท่านก็สละเวลาไปเที่ยวสั่งสอน เดินทางไปลำบากลำบนอย่างพระพุทธเจ้านี้ ทำอะไรรู้ไหม กิจวัตร เขาเรียกว่ากิจวัตร กิจวัตรก็คือสิ่งที่ทำเป็นประจำทุกวัน
กิจวัตรของพระพุทธเจ้าก็คือ พุทธเจ้าก็ตื่นก่อนสว่าง สิ่งที่พระพุทธเจ้าทำอย่างแรกที่สุดก็คิดว่า พิจารณา เขาเรียกว่าตรวจดูชาวโลก มองดูว่าวันนี้ ใครสมควรที่จะได้ฟังคำสอนของพระองค์ ใครมีปัญหา ควรได้รับการแก้ไข พระองค์พิจารณาแล้ว ตกลงว่าคนนี้เหมาะ พอเช้าขึ้น พระพุทธเจ้าก็เสด็จเดินทางไป บางทีไปไกล ๆ แล้วสมัยก่อนไม่มีรถรา พาหนะที่เดินทางง่ายเหมือนสมัยนี้ ทรงเดินทางไปเหน็ดเหนื่อย ก็ไปเพื่อจะไปสอนเขา เดินทางไปซะไกล แล้วเสร็จแล้ว เหนื่อยแทบแย่ พระพุทธเจ้าก็ไปสอนคนนั้นคนเดียว เนี่ยเห็นแก่คน ๆ เดียวพระพุทธเจ้าก็เดินทางไปทั้งวัน
ฉะนั้นคนที่เสียสละให้ผู้อื่น ยอมทำให้ผู้อื่นถึงขนาดนี้ ทำไมเราจะไม่เคารพนับถือ เพราะคนเราโดยมากนี้ ทำเพื่อตัวเองเท่านั้น ที่จะสละไปทำให้แก่ผู้อื่นนี้ นิดๆหน่อยๆก็ไม่เต็มใจแล้ว แต่พระพุทธเจ้า ยอมสละเวลาทั้งวันเพื่อคนเดียวก็ทำได้ เพราะนั้นเป็นตัวอย่างก่อนที่พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ เราเรียกว่าพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ก็ต้องทำความดีอย่างนี้แหละ เสียสละตัวเองเพื่อผู้อื่นได้ จนกระทั่งเราถือเป็นหลักว่า ถ้าเราจะเอาอย่างพระพุทธเจ้า เราจะต้องตั้งใจทำความดี คนที่ทำความดีได้สำเร็จ เขาเรียกว่าต้อง ตั้งใจมั่น ตั้งใจ จริงจัง เด็ดเดี่ยว การตั้งใจอย่างนี้นะ ศัพท์ภาษาพระเขามีคำหนึ่ง เด็ก ๆ จำไว้ คนเราจะทำอะไรให้สำเร็จ มันต้องมีความตั้งใจ แน่วแน่ มั่นคง การตั้งใจอย่างนี้เขาเรียกว่า ปณิธาน ตั้งปณิธาน เคยได้ยินไหมคำว่าปณิธาน
เด็ก ๆ : เคยค่ะ
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : คนไหนเคยได้ยิน ยกมือขึ้น อยู่โน้น ข้างหลังโน่น ที่จริงได้ยินกันมาหลายคนแหละ แต่ว่ายังอายอยู่ ไม่กล้ายกมือ
ปณิธานนั้นก็คือ การตั้งใจ แน่วแน่ มั่นคง เด็ดเดี่ยว เราจะทำอะไร ถ้าเราไม่มีปณิธานนี้ ทำสำเร็จยาก เพราะเรายังไม่เคย เราจะทำได้ก็สิ่งที่เคยชิน ทีนี้ถ้าเราเคยชินดีแล้วก็จะสบาย ทำดีเรื่อยไป ถ้าเราเคยชินในเรื่องไม่ดี ใจเราก็อยากจะทำสิ่งที่ไม่ดีนั่นแหละ
ถ้าเราอยากจะเลิกทำสิ่งที่ไม่ดี สมมติเราเคยชินสิ่งที่ไม่ดีซักอย่าง แล้วเราอยากจะเลิก เราจะทำยังไงให้สำเร็จ ต้องตั้งปณิธาน เราตั้งปณิธานว่า เราจะละเลิก ความชั่วอันนี้เราจะไม่ทำอีกต่อไป เราตั้งใจเด็ดเดี่ยว พอตั้งใจเด็ดเดี่ยวเราก็ทำสำเร็จ
นอกจากตั้งใจละความชั่ว ก็ตั้งใจทำความดี ความดีอันนั้นเราไม่เคยชินกับมัน เพราะฉะนั้นใจเราเนี่ยไม่ค่อยอยากทำ เพราะนั้นเราต้องตั้งใจเด็ดเดี่ยว ตั้งปณิธาน พอตั้งปณิธาน คราวนี้เราทำได้
อย่างสมัยโบราณนี้ มีตัวอย่างคนที่พระสอนให้เห็นว่า คนเรานี่ต้องให้บ้างนะ อย่ารับอย่างเดียว ทีนี้เขาก็เห็นชอบด้วย แล้วจะทำยังไงจึงจะสำเร็จล่ะ เขาเอาขนาดนี้นะ ยกตัวอย่างให้ฟัง เขาบอกว่า วัน ๆ หนึ่งเนี่ย ก่อนที่จะทำอะไร ตื่นขึ้นมา ก่อนจะกินอะไรด้วยตนเองเนี่ย เขาจะต้องให้อะไรซักอย่างแก่คนอื่นก่อน เนี่ยตั้งใจอย่างนี้ แล้วจึงจะกินด้วยตนเอง ถ้ายังไม่ได้ให้อะไรแก่ใครซักนิดหนึ่ง ฉันจะไม่กินอะไรด้วยตนเอง แล้วเขาตั้งเป็นปณิธานขึ้นมา เป็นข้อปฏิบัติประจำวันอย่างนี้แล้วเขาก็ทำได้ ต่อมามันก็เป็นนิสัย ก่อนที่จะกินอะไรด้วยตนเอง ต้องให้อะไรแก่ผู้อื่นก่อน อย่างน้อยก็นิดหน่อย นี่แหละคือวิธีการทำความดี ต้องให้ การทำอย่างนี้ก็เป็นวิธีฝึกนะ แต่เป็นวิธีฝึกที่เราเรียกว่า ตั้งปณิธาน
มนุษย์เรานั้น เราจะประสบความสำเร็จ ชีวิตเราจะดีงามได้นั้น เราต้องฝึกฝน ใครไม่ฝึกตัวเองแล้ว จะมีชีวิตที่ดีงามได้ยาก เพราะอะไร มนุษย์เรานี่ เด็ก ๆ คงเคยได้ยิน เขาถือกันว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ประเสริฐยังไง ความประเสริฐของมนุษย์อยู่ตรงไหน ใครตอบได้ เด็ก ๆ ได้ยินมาทุกคนแหละ ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่ถ้าถามว่าแล้วประเสริฐยังไง ตอบได้ไหม ใครตอบได้บ้างว่าประเสริฐยังไง ตอบเลย
เด็ก ๆ : ความประเสริฐของมนุษย์คือ ทำความดี รู้จักให้ และรู้จัก ???
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : แล้วทีนี้ถ้าเกิดคนนั้นไม่ทำดีเลยล่ะ เอาแต่แย่งชิงคนอื่นอย่างเดียว ทำความชั่วอย่างเดียว แล้วจะประเสริฐไหม
เด็ก ๆ : ไม่ครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : ไม่ประเสริฐ
เด็ก ๆ : ???
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : เอาล่ะสิ ทีนี้แสดงว่า ชักมีปัญหาแล้ว เอานะนักเรียนฟัง
เราได้ยินว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่ว่า เอ๊ ที่ว่าประเสริฐนั้น ประเสริฐอย่างไร ประเสริฐก็เพราะว่า ทำความดี รู้จักให้ รู้จักประพฤติศีลธรรม นี้ถ้าทำแต่ความชั่ว แย่งชิงคนอื่นอย่างเดียว กลายเป็นไม่ประเสริฐไปแล้ว แสดงว่าไม่แน่ล่ะสิ ใช่ไหม บอกว่ามนุษย์ประเสริฐนี่ไม่จริงเสมอไป มนุษย์ไม่ประเสริฐก็มี
เอาล่ะทีนี้ มาดูกันว่า แล้วทำยังไง มนุษย์จึงจะประเสริฐล่ะ คนเราเนี่ยนะ มันไม่ใช่ว่าประเสริฐขึ้นมาเฉย ๆ หรอก ความประเสริฐของมนุษย์นั้น อยู่ที่การทำความดี และมนุษย์จะดีขึ้นมาเฉย ๆ ได้ไหม
เด็ก ๆ : ???
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : อยู่เฉย ๆ ดีขึ้นมาได้เลย
เด็ก ๆ : ไม่ได้ครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : มันต้องมีการอะไร ต้องมีการฝึกนั่นเองแหละ คนเราจะดีขึ้นมาเนี่ย มันดีขึ้นมาลอย ๆ ไม่ได้ ต้องฝึก ฉะนั้นที่บอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐเนี่ย มันไม่ได้ประเสริฐลอย ๆ หรอก ทางพระนั้นบอกว่า มนุษย์นั้นประเสริฐด้วยการฝึกนะ เนี่ย ที่เขาบอกว่ามนุษย์ประเสริฐเนี่ย เป็นคำพูดที่ยังไม่สมบูรณ์ ยังพูดไม่เต็มประโยค ถ้าพูดให้เต็มประโยคต้องพูดต่อ ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก (ถ้าไม่ฝึก หาประเสริฐไม่) ว่างั้นนะ แล้วบางทีแย่ยิ่งกว่าสัตว์อื่นด้วย โอ้ หนักเข้าใจอีกใช่ไหม ฉะนั้นอย่าพึ่งไปเชื่อว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ
ทำไมจึงตอบแบบนี้ ให้ดูธรรมชาติของมนุษย์นะ นักเรียนทั้งหลายลองพิจารณาว่า จริงไม่จริง มนุษย์เรามีธรรมชาติอย่างไร มนุษย์นี้ไม่เหมือนสัตว์อื่น แตกต่างกันอย่างไร ขอให้ดู เด็ก ๆ นักเรียนนะ ลองคิดดูถึงสัตว์อื่นนะ มนุษย์เราต่างจากสัตว์อื่นอย่างไร มนุษย์เราแปลกจากสัตว์อื่นตรงไหน ตรงที่ว่า
มนุษย์เนี่ยนะ เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เชื่อไหม แต่สัตว์ชนิดอื่นนั้น ไม่ต้องฝึก
ทำไมจึงว่าอย่างนี้ สัตว์ชนิดอื่นนั้น เขาเกิดมานะ เขาไม่ต้องฝึก คำว่าฝึกเนี่ยหมายถึงเรียนรู้ ฝึกหัด แล้วก็เจริญพัฒนาขึ้นมา นี่สัตว์ชนิดอื่นเนี่ย เขาเกิดขึ้นมาแล้ว เขาอยู่ได้โดยไม่ต้องเรียนรู้ ไม่ต้องฝึก เขาเรียนรู้น้อยที่สุด เรียนนิดเดียว เขาก็อยู่ได้
เด็กนักเรียนนึกถึง ยกตัวอย่างได้ไหม ช้าง ม้า วัว ควายเนี่ย อย่างวัวเนี่ยนะ ออกจากท้องแม่ ประเดี๋ยวเดียวแหละ ลุกขึ้นเดินเลยเชื่อไหม ใช่เปล่า ใช่
อย่างลูกห่านเนี่ยนะ ออกจากไข่นะ เช้าเนี่ยนะ พอสายแม่มันออกจากเล้า มันออกจากไข่เมื่อเช้านะ มันวิ่งตามนะ มันวิ่งตามแม่มันออกมา แล้วแม่มันวิ่งลงสระน้ำมันก็ลงสระ แม่มันว่ายน้ำ มันก็ว่ายน้ำ แม่มันหากิน มันก็หากินตาม เอาล่ะสิ นี่แหละสัตว์ชนิดอื่นเนี่ย มันไม่ต้องเรียนรู้ ไม่ต้องฝึกหัด คือมันเรียนรู้บ้าง นิดหน่อย นิดเดียว แล้วมันก็อยู่ได้ อยู่รอด มันอาศัยอะไร สัตว์เหล่านี้ อาศัยอะไรเอ่ย เขาเรียกว่า สัญชาตญาณ ใช่ไหม เคยได้ยินไหม คำว่าสัญชาตญาณ เคยได้ยินแล้ว สัตว์อื่นนั้น สามารถอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ เรียนรู้ฝึกหัดน้อย เรียกได้ว่า ไม่ต้องฝึกหัด แต่มนุษย์นี้อยู่ได้ไหมอย่างนั้น เกิดมาแล้วเป็นไง ต้องมีคนดูแลใช่ไหม ต้องมีพ่อแม่คอยดูแลเลี้ยง เดือนหนึ่งก็แล้ว ปีหนึ่งก็แล้ว ยังอยู่ไม่รอดเลย ใช่รึเปล่า ปีหนึ่งอยู่รอดมั้ย
เด็ก ๆ : ไม่รอด
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : ไม่รอดนะ นี่คือมนุษย์ แพ้สัตว์อื่นหมดเลย
นี่นะ อย่าไปนึกว่ามนุษย์นี้เก่งนะ มนุษย์เนี่ย แย่กว่าสัตว์ชนิดอื่นหมดเลย สัตว์ชนิดอื่นนั้นเขาเกิดมาแล้ว เขาไม่ต้องฝึกหัดเรียนรู้อะไรมาก เขาก็อยู่ได้ เลี้ยงชีวิตได้ เพราะเขามีสัญชาตญาณให้อาศัย
แต่มนุษย์นั้น ถ้าไม่มีคนอื่นช่วยเหลือแล้ว ตาย อยู่ไม่รอด ปีหนึ่งยังไม่รอด สองปีก็ไม่รอด ต้องมีคนประคบประหงมเลี้ยงดูตลอดมา ฉะนั้นในแง่นี้แล้วมนุษย์แย่ แพ้สัตว์อื่นหมดเลย คือเขาเรียกว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก
ฉะนั้นมนุษย์ที่ได้เรียนรู้ ที่เป็นอยู่ได้เนี่ย ต้องฝึกหัดทั้งนั้น เด็กที่เรามานั่งกันอยู่เนี่ย เราเรียนรู้ฝึกหัดกันทั้งนั้นแหละ นั่งก็ต้องหัดใช่ไหม นอนยังต้องหัดเลยนะ กินข้าวก็ต้องฝึกหัด ไอ ขับถ่ายก็ต้องฝึกหัด ต้องสอนทั้งนั้น พ่อแม่ก็ต้องสอน แล้วมาต่อมา พอได้จวนปีหนึ่ง ฝึกเดิน ฝึกเดินแล้ว ฝึกพูดอีก หัดทั้งนั้นเลย นี้ตกลงว่า คนเราเนี่ยต้องฝึก นี่แหละที่ท่านเรียกว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก คือต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหัดเอา จึงจะได้ เพราะฉะนั้นที่ดำเนินชีวิตอยู่ได้เนี่ย เราอาศัยการเรียนรู้และการฝึกหัดทั้งสิ้น แต่การ ยืน เดิน นั่ง นอน การพูดจาอะไรต่าง ๆ เนี่ยต้องฝึกหัดทั้งนั้น อันนี้เราตรงนี้ที่ว่า เราไม่สามารถอยู่ได้โดยใช้สัญชาตญาณอย่างเดียว เอาล่ะสิทีนี้ แล้วมนุษย์ประเสริฐยังไง
มนุษย์แย่กว่าสัตว์อื่นตรงที่ต้องฝึก แต่มนุษย์ก็เก่งกว่าสัตว์อื่นตรงที่ฝึกนี่แหละ คือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ต้องฝึกแต่ฝึกได้ สัตว์ชนิดอื่นไม่ต้องฝึก แต่ฝึกไม่ได้ ใช่ไหม สัตว์ชนิดอื่นนั้น ฝึกไม่ได้หรอก ถ้าฝึก ก็ฝึกได้นิดเดียว ฝึกได้นิดเดียวแล้วต้องอาศัยคนฝึกให้นะ ฝึกตัวเองไม่ได้
เด็ก ๆ ยกตัวอย่างสัตว์บางชนิดที่ฝึกได้มาซิ มีอะไรบ้าง
เด็ก ๆ : ลิง
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : ลิงแล้วอะไรอีก
เด็ก ๆ : สุนัข ช้าง
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : สุนัข ช้าง ม้า มีหลายอย่างเหมือนกัน เอาแล้วพอแล้วหนู ได้หลายอย่างแล้วนะ
ทีนี้ฝึก มันฝึกตัวเองได้มั้ย ฝึกตัวเองหรือเปล่า มนุษย์ฝึกให้ใช่ไหม นี่แหละสัตว์ชนิดอื่นเนี่ยมันฝึกตัวเองไม่เป็น แล้วมันฝึกได้แค่ไหน มันฝึกได้ อย่างนกนี่ นกขุนทอง นกแก้ว มันก็พูดได้อยู่แค่นั้นแหละ มันจะพูดต่อ พูดเองต่อไป ที่มนุษย์ไม่สอน ที่มันไม่ได้ยินจากมนุษย์ มันทำได้ไหม
เด็ก ๆ : ไม่ได้ครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : ไม่ได้ เห็นไหม นี่มันแพ้ตรงนี้
สัตว์อื่นมันไม่ต้องฝึก มันอยู่ได้ แต่มันแย่ตรงที่ว่า มันฝึกไม่ได้ ฝึกได้นิดเดียว ทีนี้มนุษย์เป็นยังไงล่ะ มนุษย์นี้มันพิเศษตรงที่ว่า ต้องฝึกก็จริง แต่มันฝึกได้ ที่นี้พอฝึกได้ คราวนี้ฝึกตัวเองได้ด้วย เราต้องการจะทำอะไรเราก็เอา เราเรียนรู้เอา แล้วเราก็ทำได้หมด ทีนี้พอเราฝึกนะ มนุษย์ตอนนี้เก่งกว่าสัตว์อื่น ไม่มีสัตว์ชนิดไหนสู้ได้แล้ว ไอตรงที่มนุษย์ฝึกได้เนี่ยแหละ ต่อจากนั้นพอมนุษย์ฝึกแล้วนะ ทิ้งสัตว์ชนิดอื่นลิบลิ่วเลย เราฝึกได้ สร้างสรรค์อะไรได้ ทำได้หมดทุกอย่างเนี่ย โลกมนุษย์มันถึงเจริญขึ้นมา เห็นไหม เรามีเสื้อผ้าใส่ เรามีตึกรามบ้านช่องอยู่ มีพัดลม มีโทรทัศน์ มีดาวเทียม มีคอมพิวเตอร์เนี่ยมนุษย์ฝึกการเรียนกัน แล้วก็ทำกันขึ้นมา ทิ้งสัตว์ทั้งหลายอื่นไปหมดเลย นี่แหละความสามารถพิเศษของมนุษย์อยู่ที่ฝึก ฝึกก็หมายความว่า เรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา จำไว้เลยนะ เรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา นี่คือการฝึกของมนุษย์ แล้วมนุษย์ก็ประเสริฐตรงนี้ ตกลงว่าเราได้แล้ว ตรงที่ว่าความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่ไหน เพราะอยู่ที่ตรงที่ฝึกนี่เอง พอเราฝึกแล้ว คราวนี้เราก็ไม่รู้จักสิ้นสุด
มนุษย์นั้นแทบจะว่า ฝึกอย่างไร ได้อย่างนั้น สัตว์ชนิดอื่นนั้น มันมีสูตรว่าอย่างนี้ เกิดมาด้วยสัญชาตญาณใด ตายไปด้วยสัญชาตญาณนั้น นี่สัตว์ชนิดอื่นนะ จำไว้ จำไว้
ส่วนมนุษย์นั้นมีสูตรว่า ฝึกอย่างไร ได้อย่างนั้น นี่ถ้าเราต้องการให้ชีวิตของเราดีงาม เจริญก้าวหน้าประเสริฐ เราต้องฝึก ถ้าเราใช้หลักการนี้แล้วชีวิตของเราจะก้าวหน้า นี้คนจำนวนมากนี่น่าเสียดาย เขาไม่ใช้หลักการฝึกให้เป็นประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่เรานี้มีความสามารถนี้อยู่ ภาษาสมัยนี้เขาเรียกว่า มีศักยภาพ มีศักยภาพก็มีความสามารถที่จะฝึกได้ แต่เสร็จแล้วไม่ใช้ความสามารถนี้ ปล่อยทิ้งเสียนี่ ชีวิตมันก็เลยจมอยู่เท่าไหร่เท่านั้น หลายคนเนี่ยเขาจะฝึกเท่าที่เขาจำเป็นจะอยู่ได้ เพราะว่ามนุษย์นี่บอกแล้วว่าถ้าไม่ฝึกเลยนี่อยู่ไม่ได้ ใช่ไหม เพราะว่าแม้แต่ กิน เดิน นั่ง นอน นี่ต้องฝึกทั้งนั้น นี่ถ้าเราไม่ฝึกไว้เลยเนี่ย เราอยู่ไม่ได้ เราตายไปแล้ว ทีนี้ระหว่างที่พ่อแม่ท่านดูเรา ให้อาหารเรา ฝ่ายตัวเรานั้น เราก็เรียนรู้ฝึกหัดมาตลอด เพราะนั้นเราไม่ได้อยู่เฉย ๆ นะ ตลอดเวลาที่พ่อแม่เลี้ยงดูเราอะ เราก็เรียนรู้ เราก็ฝึกหัด ฝึกไป ๆ เราก็พูดได้ เราก็เดินได้ เราก็ทำอะไรต่อไรเป็น อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ แต่มันน่าเสียดายที่ว่าคนจำนวนมากเนี่ย ฝึกเท่าที่จำเป็นพออยู่ได้ พออยู่รอดได้ฉันก็หยุดฝึกซะแล้ว นี่มันก็เลยไม่ได้อะไรอีก นี่ถ้าคนที่เขารู้หลักอันนี้ เอ้อมนุษย์ที่นี่ประเสริฐด้วยการฝึกนี่ เราอย่าไปหยุดฝึกนะ เราต้องการจะเป็นอะไรเราก็ฝึกหัดเอา เรียนรู้เรา เราก็ฝึกเรื่อยไป คราวนี้ล่ะเราจะเก่งเลย เขามีอย่างคำว่า พูดได้กับพูดเป็นนี่ไม่เหมือนกัน ฝึกพอให้พูดได้ อ้าวหยุดซะแล้ว นี่หากเราจะพูดให้เป็น เราต้องฝึกต่อ เราก็พูดเป็นพูดเก่งใช่ไหม ทำงานก็เหมือนกัน ทำได้กับทำเป็นนี่มันไม่เหมือนกัน คนที่ทำได้เนี่ยฝึกนิดเดียวทำได้แล้ว แต่จะให้ทำเป็นนี่ต้องฝึกมากหน่อย เราต้องฝึกตัวเรา พอใช้สูตร เป็นสูตรของชีวิตมนุษย์เลยว่า เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และฝึกได้ ที่นี่คนที่ใช้หลักนี้ จะมีชีวิตที่เจริญงอกงาม เราก็ถือเอาว่า เราอยู่ในโลกนี้ เราต้องเรียนรู้ต้องฝึกหัดตัวเราตลอดเวลา เราควรจะทำอะไรได้ เราก็เรียนรู้เราก็ฝึกหัดเราก็ทำได้หมด ทีนี้คนที่สร้างความรู้สึกอันนี้เข้ามาตลอดเวลาเนี่ย เขาเรียกว่ามีจิตสำนึกในการฝึกตน การฝึกตนหรือเรียนรู้เนี่ย ก็คือคำว่า ศึกษา นั่นเอง ที่ว่าศึกษาก็คือเรียนรู้ แล้วก็ฝึกฝน พัฒนาตัวเอง เรามีจิตสำนึกในการฝึกตนเนี่ย เราพบเห็นอะไร เราไปเกี่ยวข้องสถานการณ์อะไรเนี่ย เรามองเป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้ และฝึกตัวไปหมดเลย แล้วเราจะได้จากทุกอย่างไม่ว่าดีหรือร้าย เราไปประสบสถานการณ์ที่ไม่ดี ถ้าเราตั้งใจว่าเราจะเรียนรู้จะฝึกตนเนี่ย เราได้ทันทีเลย แม้แต่สิ่งที่ไม่ดี เราก็ได้ แต่ถ้าคนที่ไม่มีจิตสำนึกอันนี้ ไม่มีความคิดจะฝึกตน ไม่รู้จักเรียนรู้ ไม่ได้อะไรเลย เจออะไรก็มีแต่ชอบใจ ไม่ชอบใจ เสร็จแล้วก็จบกันเท่านั้น ทีนี้ชอบใจไม่ชอบใจ บางทีชอบก็จะเอา ไม่ชอบก็เกลียด จะทำลาย ก็เกิดปัญหา ฉะนั้น คนก็จะมีสองแบบ คนประเภทหนึ่งก็คือ คนที่เจออะไรแล้วก็มีแต่ความชอบใจไม่ชอบใจ เจอสถานการณ์ มองสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรู้สึก ว่าชอบใจไม่ชอบใจ ถ้าคนอีกแบบหนึ่งก็คือ เจออะไรมองด้วยการเรียนรู้และฝึกฝน สองคนเนี่ย ชีวิตจะต่างกันไปคนละทิศทางเลย คนหนึ่งนั้นชีวิตจะอยู่ในวงจรของความจมอยู่ในไม่มีไม่งาม หรือความชั่ว เพราะเขามีแต่แค่ความชอบใจไม่ชอบใจ ก็จบไปเท่านั้น ทีนี้พอเราเจออะไรเรามองเป็นเรียนรู้และได้ฝึกเนี่ย เราได้ทุกอย่างเลย เราอยู่ที่ไหน สถานที่นั้นเราชอบใจไม่ชอบใจก็ตามเนี่ย เราถือเป็นโอกาสได้เรียนรู้ได้ฝึกตน แล้วเราจะได้ทุกอย่าง ฉะนั้นถือเป็นสูตรนี้ไว้เลย แล้วเราอยู่ในโลกนี้เราต้องทำงาน เราต้องเรียนหนังสืออะไรต่าง ๆ เนี่ย เรามองว่าชีวิตของเราเนี่ย เราต้องฝึกฝน ต้องเรียนรู้ แล้วเราจะเจริญงอกงาม เพราะฉะนั้นเราเจออะไรเนี่ย เราต้องตั้งใจอย่างนี้ พอตั้งใจอย่างนี้นะ เราได้เสมอ
คนสองคน เด็กสองคน เจอบทเรียนเดียวกัน เจองานเดียวกัน เจอปัญหาเดียวกัน คนหนึ่งนะ พอเจอก็รู้สึกว่าเอาละสิ เราจะต้องทำและ มันยาก ใจไม่สู้ ไม่เอา พอใจไม่สู้ ต้องทำ เป็นไง สมมติว่าเราจะต้องทำงานซักชิ้นหนึ่งเนี่ย พอเราเจอแล้วเรารู้สึกว่า แหม จะต้องทำอีกแล้ว มันยาก เราก็ไม่ชอบใจ ไม่สบายใจ พอต้องทำ ก็จำใจทำใช่ไหม พอจำใจทำเป็นยังไง ก็มีความทุกข์ แล้วไม่เต็มใจ ไม่เต็มใจก็ไม่ตั้งใจทำ ไม่ตั้งใจทำเป็นไง ก็ไม่ได้ผลดี
ทีนี้เด็กอีกคนหนึ่ง พอเจอสิ่งที่ยาก บอกว่าเอ้อ เราจะได้ฝึกตัวเอง พอจะรู้สึกว่าเราจะได้ฝึกตัวเอง เราจะได้แล้ว เราก็ชอบใจ พอชอบใจก็มีความสุข ก็ตั้งใจทำ เต็มใจทำ ทำก็ได้ผลด้วย ใจเราก็เป็นสุข แล้วก็ทำได้ผลด้วย เพราะฉะนั้นคนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตนเองเนี่ย จะได้ แล้วก็มีความสุขด้วย แล้วลองดูเถอะ อะไรที่มันยากเนี่ย เรายิ่งได้มากเชื่อไหม อะไรที่มันง่าย มันไม่ได้อะไรเท่าไหร่ พอมันง่าย เราไม่ต้องคิด เราไม่ได้ใช้ความสามารถ เราก็ไม่พัฒนา แต่อะไรที่ยาก เราได้ทำ เราต้องคิด เราต้องใช้ความสามารถ เราจะพัฒนา เราจะเก่ง เพราะฉะนั้นเด็กที่มีจิตสำนึกในการฝึกเนี่ย ก็จะไม่กลัวสิ่งยาก อะไรที่ยาก อะไรที่ลำบาก เขาจะสู้ แล้วเขาจะเต็มใจ เขาจะรู้สึกว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก ถามอีกทีนึงนะนักเรียนอันนี้เป็นความจริงไหม งานยากกับงานง่าย อันไหนเราได้พัฒนาตัวมากกว่ากัน
เด็ก ๆ : ยาก
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : งานยาก นี่ทุกคนยอมรับใช่ไหม
เพราะฉะนั้นจำไว้เลย อย่าไปกลัวสิ่งยาก เพราะว่า ยิ่งยาก ยิ่งได้มาก จำไว้เป็นสูตรนะ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ ถ้าเราต้องการพัฒนาชีวิต เราต้องใช้สูตรนี้ อย่าไปกลัวเลยสิ่งยาก ปัญหาก็เช่นเดียวกัน ปัญหานั้น ถ้าเราไปกลัวซะ เราก็ไม่ได้อะไร แล้วเราต้องเจอ เราก็ทุกข์ใช่ไหม ทีนี้ถ้าเราเจอปัญหา เราคิดว่า ปัญหาคือเวทีพัฒนาตัวเรา ปัญหานี่พัฒนาอะไรได้มากที่สุด นี่ก็พัฒนาตัวเรา พัฒนา จุดไหนของตัวเราที่จะได้รับการพัฒนามากที่สุดเวลาเจอปัญหา ปัญหาคือเวทีพัฒนาตัวเรา แต่ว่าพัฒนาจุดไหนในตัวเรามากที่สุด ใครตอบได้บ้าง ปัญหาพัฒนาอะไร
เด็ก ๆ : ความคิด
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : ความคิด ความคิดเสร็จได้อะไร
เด็ก ๆ : ได้ความรู้
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : ความรู้ ความรู้คืออะไร เรียก
เด็ก ๆ : ปัญญา
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : ปัญญา นี่แหละใช่แล้ว ปัญหาคือเวทีพัฒนาปัญญา เชื่อไหม
ปัญหากับปัญญาเนี่ย มันเกือบจะเหมือนกันเลยนะ เปลี่ยนตัวเดียวเท่านั้น ปัญหา ปัญญาเนี่ย ผิดกันตัวเดียว ใช่เปล่า เพราะฉะนั้นเจอปัญหาอย่าไปกลัว เดี๋ยวเราจะได้ปัญญา พอเราสู้ปัญหา เราคิด เราหาทางแก้ปัญหา เดี๋ยวเราก็ค่อย ๆ ได้ปัญญาใช่ไหม พอปัญญามา เรียบร้อย ปัญหาหมด ปัญญาก็มาแทนปัญหาซะ เพราะฉะนั้นปัญหาเป็นเวทีพัฒนาปัญญา ปัญหามา ปัญญายังไม่มี แต่พอปัญญาเกิดขึ้นมา ปัญญามาปัญหาหมด เพราะฉะนั้นคนที่จะพัฒนาตนต้องใช้สูตรว่าเราจะเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา คนไหนใช้สูตรนี้ คนนั้นเก่ง เจริญก้าวหน้า อย่าไปกลัวปัญหา ฉะนั้นเนี่ยแหละ เวลานีเราอยู่ในวัยเด็กเนี่ย เป็นเวลา เป็นโอกาสสำคัญทีเดียว ที่เราจะได้ฝึกฝนพัฒนาตัวเอง อย่างคนเป็นผู้ใหญ่แล้วนี่โอกาสพัฒนาน้อยแล้ว เด็ก ๆ นี่มีโอกาสมาก เพราะฉะนั้นเรา วางแนวชีวิตให้ถูกต้องเสีย เนี่ยถ้ารู้หลักการนี้นะ ธรรมชาติของมนุษย์นะ เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก แล้วก็ฝึกได้ เพราะฉะนั้นเราใช้ธรรมชาติของเราเนี่ยให้เป็นประโยชน์ แล้วเราก็มองทุกอย่าง ประสบการณ์ทุกอย่างเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ฝึกฝน พัฒนาตนเอง งานยิ่งยาก บทเรียนก็ยิ่งยาก เราก็ยิ่งได้ฝึกตนมาก เราได้พัฒนาตัวเองมากเราก็ยิ่งเจริญ เราเจอปัญหาเราอย่าไปท้อ เราต้องสู้ปัญหา หาทางแก้ปัญหา เปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญาซะ
พวกมหาบุรุษที่เก่ง ๆ กันน่ะ ล้วนแต่เป็นคนที่ผ่านปัญหามาอย่างหนัก ๆ บางคนนี้มีความแร้นแค้นยากจนอย่างยิ่ง แล้วเขาไม่ท้อถอย เขาก็สามารถสร้างความสำเร็จได้ มหาเศรษฐีหลายคน แม้แต่ในเมืองไทยเนี่ย เมื่อก่อนนี้ก็เสื่อผืนหมอนใบ แร้นแค้น อดมื้อ กินมื้อ แต่เขาอดทน เขาเข้มแข็ง เขาไม่แก่ ไอ้ทฤษฎีอย่างหนึ่งที่ว่า เอาชอบใจไม่ชอบใจเข้าว่าที่ว่าเมื่อกี้ พวกนี้ไปไม่ไหว ไปไม่รอด แต่ว่าพวกที่ชอบฝึกตนเองเนี่ย ไปรอด เพราะฉะนั้นคนที่จะฝึกนี่จะต้องมีความขยัน อดทน เข้มแข็ง สู้ ฉะนั้นอะไรที่มันไม่ดีนี่ เข้มแข็ง ควบคุมตัวเองได้ ไม่ยอม ??? ไม่ยอมแพ้มัน อะไรที่ดีฉันจะต้องทำให้สำเร็จ ตั้งใจอย่างนี้แล้วฝึกตัวเองให้ทำได้ แล้วเราไม่มี ไม่มีต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น ปัญหาก็ไม่ต้องกลัว เพราะว่าปัญหาเรามองแล้วก็คิดเราจะได้ ยิ่งยาก ยิ่งได้มากบอกแล้ว ฉะนั้นนี่แหละเป็นการที่จะทำให้ชีวิตของเราให้เจริญงอกงาม เด็ก ๆ เนี่ยล่ะต้องใช้หลักนี้ ต้องฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ ทีนี้นอกจากนั้นแล้ว แม้แต่สิ่งที่ไม่ดีนี้เราก็ได้ด้วย เรามองทุกอย่าง แม้แต่ความทุกข์ เราประสบเคราะห์ ชะตากรรมอะไรไม่ดีเนี่ยนะ ถ้าเราไปมัวแต่ว่า ท้อถอย เศร้าโศก เสียใจอยู่ นั่นเรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง ไม่มีประโยชน์ ถ้าเราประสบความทุกข์ ประสบเคราะห์กรรมนะ มีหลัก คนที่ชอบฝึกตนนี้จะได้อยู่แล้ว คือคนเราอยู่ในโลกเนี่ย มันจะมีสองอย่าง ได้สิ่งที่ชอบใจอย่างหนึ่งกับได้สิ่งที่ไม่ชอบใจอย่างหนึ่ง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เจอโชคอย่างหนึ่ง แล้วก็เจอเคราะห์อย่างหนึ่ง ใคร ๆ ก็อยากได้โชค ไม่อยากเจอเคราะห์ แต่นี้ว่า คนที่ฉลาดนะ ไม่กลัวเคราะห์ แล้วต้องใช้โชคให้เป็น ถ้าเป็นคนฉลาด ได้ประโยชน์ทั้งเคราะห์ ทั้งโชค แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ฉลาด โชคมาก็ไม่ได้ประโยชน์ กลับทำให้เกิดโทษซะอีกด้วย ฉะนั้นอย่าไปเอาแต่เพียงว่า เอ้อ เราอยากจะได้โชค ไม่ เจอเคราะห์ อย่าให้เจอเคราะห์เลย บางทีไม่แน่หรอก ไอ้โชคนั่นแหละกลับเป็นตัวร้าย ทำให้ตัวเองแย่ลง ส่วนคนที่เขาดี เขาเป็นนั้นน่ะ เขาได้ประโยชน์หมด ฉะนั้นเคราะห์มาก็ตาม โชคมาก็ตาม เราต้องหาประโยชน์ให้ได้ คนเรานี้อยู่ที่วิธีมอง คนที่เรียนรู้ ฝึกตนแล้วรู้จักมองสิ่งต่าง ๆ การมองสิ่งต่าง ๆ นี้ มองให้เป็น เมื่อกี้บอกแล้วว่า อย่ามองแค่ชอบใจ ไม่ชอบใจ ถ้ามองแค่ชอบใจ ไม่ชอบใจ จม จบ ต้องมองให้เป็น มองให้เป็นต้องมองเรียนรู้ แล้วมองหาประโยชน์ให้ได้
การมองของคนนั้น หนึ่งเรามองเพื่ออะไร เรามองเพื่อหาความจริงใช่ไหม หนึ่งแล้วนะ สอง มองยังไง มองหาประโยชน์ให้ได้ เอานะ มีหลักสูตรอยู่สองหลักเนี่ย ทบทวนอีกทีนะ หนึ่งอย่ามองตามชอบใจ ไม่ชอบใจ คนที่ไม่ฝึกตัวเองนี้มองแค่ชอบใจ ไม่ชอบใจ เขาเรียกว่าตกอยู่ในวงจรร้าย ไปไม่รอด ทีนี้ไม่ติดอยู่กับมองตามชอบใจ ไม่ชอบใจ หนึ่งมองให้ได้ความจริง มองอะไรต้องพิจารณาหาว่า อันนี้มันคืออะไร มันเป็นอย่างไร มันเป็นเพราะอะไร ทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ มันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร จะไปใช้ประโยชน์ยังไงได้ นี่มองหาความจริง ทีนี้มองให้เห็นประโยชน์ มองหาประโยชน์ให้ได้ อะไรต่าง ๆ ที่เราเจอนี้ต้องมองหาประโยชน์ เอามาใช้ให้เป็นประโยขน์ให้ได้ แม้แต่สิ่งที่ไม่ดีนะ เรามองเป็นก็ได้ประโยชน์ นี่คนเราเมื่อกี้บอกแล้วว่ามันมีสองอย่าง คือที่เราพบเนี่ยมันมีเคราะห์อย่างหนึ่ง มันมีโชคอย่างหนึ่ง คนที่ไม่ฉลาด เคราะห์มา ไม่ชอบใจ มีความระทมใจ มีความทุกข์ใจ นี้ทุกข์ไป เศร้าไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็ซ้ำเติมตัวเอง ยิ่งหม่นหมอง แล้วก็แก้อะไรไม่ได้ นี่ก็ผิดแล้ว ทีนี้โชคมา โชคมาคนไม่ฉลาดก็ไม่ได้ประโยชน์อีก คนที่ไม่ฉลาด พอโชคมา ได้อะไรดีมานะ ก็ดีใจ หลงระเริง เพลิดเพลินมัวเมา มัวเมาในสิ่งนั้น ก็เลยใช้เวลาหมดไปเปล่า ๆ ด้วยความลุ่มหลง ติด แล้วนอกจากนั้นเป็นยังไง ก็คิดว่า บางทีก็เอาเป็นเหตุให้ดูถูกคนอื่น เอาเป็นเบียดเบียนคนอื่น ตัวเอง แหมมีเงินมีทอง ได้อำนาจขึ้นมาก็ไปข่มเหงรังแกคนอื่น อันนี้ก็เรียกว่า เป็นคนไม่ฉลาด ใช้ผิด ทีนี้คนฉลาดทำไง ถ้าเจอเคราะห์ เคราะห์มา เราเป็นนักฝึกตัวเองนี่ หนึ่งมองยังไงเคราะห์ มันจึงจะเป็นประโยชน์ มองให้เป็นประโยชน์ เคราะห์มาหรือ หนึ่ง มันเป็นบททดสอบตัวเรา ชีวิตเราจะต้องฝึก ตอนนี้เรามีบท แบบฝึกหัดแล้ว แบบฝึกหัดก็คือควาทุกข์หรือเคราะห์เนี่ย พอเราเจอขึ้นแล้ว เราทดสอบตัวเองว่าเราเข้มแข็งพอจะผ่านได้ไหม เราจะควบคุมตัวเองให้เราเนี่ย ไม่ตกอยู่เป็นทาสของมัน เราจะไม่ทำความชั่ว ไม่ทำสิ่งเสียหาย ในเมื่อเราเจอเคราะห์ร้าย เราจะเข้มแข็งพอไหม เราจะอดทนได้ไหม แล้วเราจะผ่านความทุกข์นี้ไปได้ไหม อันที่หนึ่งต้องได้อันนี้ ใช้เป็นบททดสอบ ถ้าเราผ่านได้แต่ละวัน เราจะมีความดีใจว่าวันนี้ เราเจอความทุกข์ เราเจอความยากลำบาก เราเจอเคราะห์ เราผ่านได้ เรามีความเข้มแข็ง นี่เรามีความดีใจแล้ว ได้ความสุขเลย เราจะสามารถหาความสุขได้แม้จากความทุกข์ หนึ่งใช้เป็นบททดสอบ หนึ่งเอานะคิดไว้ สองใช้เป็นแบบฝึกหัด เมื่อกี้นี้ใช้เป็นบททดสอบ ขออภัย เมื่อกี้ใช้เป็นบททดสอบ ทีนี้ใช้เป็นบททดสอบยังไม่พอ ใช้เป็นแบบฝึกหัด ใช้เป็นแบบฝึกหัด ก็คือใช้พัฒนาตัวเอง เราจะฝึกหัดว่า เราจะพัฒนาตัวเองได้มั้ย จากสถานการณ์ที่ไม่ดี ที่ทุกข์ยาก ที่เดือดร้อน ที่เป็นปัญหาเนี่ย เราใช้ฝึกหัดตัวเรา เวลามันยาก เราก็ฝึกหัดทำความดี แล้วเราก็พยายามทำอะไรต่าง ๆ ให้มันได้ผลขึ้นมาเนี่ย ใช้เป็นแบบฝึกหัด ก็พัฒนาตัวเองได้ ก็เจริญก้าวหน้า เพราะฉะนั้นคนที่เขาประสบความสำเร็จเนี่ย เขาได้จากเคราะห์ ส่วนมากได้ยิ่งกว่าโชค จากโชคนี้คนได้น้อยกว่าจะเคราะห์นะ เพราะฉะนั้นเคราะห์กรรมนี้ทำให้คนเข้มแข็ง แล้วก็ทำให้ได้ปัญญา แล้วก็จะสามารถพัฒนาตัวเองได้ ตกลงว่าอย่าไปกลัวเรื่องเคราะห์กรรม เรื่องความทุกข์ยากลำบาก ให้ใช้สูตรนี้นะ มองเป็นบททดสอบหนึ่ง มองเป็นแบบฝึกหัดได้พัฒนาตัวเองหนึ่ง เอาละ แค่นี้ก็พอใช้ได้
ทีนี้ต่อไปโชคล่ะ โชค คนฉลาดนี้ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ใช้ยังไงให้เป็นประโยชน์ ก็ถือโอกาสว่า โชคมาเราได้เงินทอง เป็นต้น เราได้อำนาจเป็นต้น เราก็รีบสร้างสรรค์ความดี เพราะว่าเงินทอง อำนาจเนี่ย เป็นเครื่องมือในการทำประโยชน์ ถ้าคนไม่ฉลาด คนชั่ว เขาก็เอาเงินทอง เอาอำนาจมาเป็นเพียง เครื่องบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัว แล้วก็รังแกข่มเหงผู้อื่น ใช่ไหม แต่คนดีนั้น เวลาโชคมา เงินทองมา อำนาจ ถือเป็นโอกาสจะได้ใช้สร้างสรรค์ความดีงาม คนที่มีความคิดดี ๆ มีความดีแต่ไม่มีเงินทอง ไม่มีอำนาจ ไม่มีพรรคพวกบริวาร จะทำอะไรก็ทำไม่ค่อยได้ ทำได้นิด ๆ หน่อย ๆ เท่านั้นเอง แต่ทีนี้ถ้าเขามีเงินทอง มีอำนาจ มีพรรคพวกบริวาร ไอ้ความคิดดี ๆ ของเขาก็สำเร็จ เขาก็ทำงานได้ผลมาก ๆ ได้กว้างขวาง เพราะฉะนั้นเวลามีโชคขึ้นมาเนี่ย เราถือว่ามีโอกาสที่จะสร้างสรรค์ทำความดีได้มาก ๆ สร้างสรรค์ประโยชน์ได้มาก ก็กลายเป็นว่า ได้ประโยชน์ ทั้งจากเคราะห์ และจากโชค
ฉะนั้นเด็ก ๆ เนี่ยจะต้อง ฝึกหัดพัฒนาชีวิตของตัวเอง แล้วมองให้ถูกต้อง ถ้ามองถูกต้องแล้วเนี่ย ทุกอย่างดีสำหรับหมู่เราหมดเลย คนที่มองไม่เป็นนะ ก็เสียหมด อะไรมาเป็นโชคเป็นเคราะห์ก็เสียหมด แต่คนที่มองเป็นแล้ว โชคมาก็ได้ เคราะห์มาก็ได้เพราะนั้นอย่าไปกลัวเลย คนที่เป็นนักฝึกหัดพัฒนาตนเองนี้ได้เสมอ นี่วันนี้ก็เอาเรื่องนี้มาพูดกับเด็กนักเรียนเพราะว่า เราอยู่ในวัยที่กำลังฝึกฝนพัฒนา เขาเรียกเป็นวัยศึกษา วัยศึกษาก็เหมาะแล้วที่เราจะได้เรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา ชีวิตของเราจะเจริญก้าวหน้า อย่าไปกลัวเลยเรื่องเคราะห์กรรมเนี่ย เวลาอย่างนักเรียนมาอยู่ในที่นี้เนี่ย ต่อไปข้างหน้า เรามองมา หวนหลังกลับมามองเนี่ย เป็นเวลาสั้นนิดเดียวนะ เด็กนักเรียนอาจจะรู้สึกว่า เอ๊ะ ก็อยู่อย่างนี้มานาน จริง ๆ ไม่เท่าไหร่หรอก ต่อไปข้างหน้าเนี่ย เรามามองมันเป็น ??? ให้เราเนี่ย ฉะนั้นเป็นโอกาสให้เราจะได้ฝึกฝน พัฒนาตัวเอง อย่างมีวิชาการให้เรียน เรารีบเรียนซะ อย่าไปกลัวมัน เพราะนั่นเป็นโอกาสดีที่สุดแล้ว ใช้สูตรที่ว่าเนี่ย ชีวิตมนุษย์จะเจริญงอกงามได้ ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหัดพัฒนา ไม่มีอะไรได้มาเปล่า ๆ เพราะฉะนั้นเราก็ใช้สถานการณ์นี้ให้เป็นประโยชน์ อย่าให้เวลามันผ่านไปเปล่า เรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา ทำทุกอย่าง ยิ่งยาก ยิ่งได้มาก สูตรที่ว่ามานี้ใช้ให้เป็นประโยชน์ แล้วเราจะเจริญงอกงาม
วันนี้ได้คุยกันมาก็เป็นเวลาคิดว่า พอสมควรแล้ว แต่ว่าตอนท้ายนี้อยากจะพูดถึงความหมายของนี่ซักนิดหนึ่ง เพราะว่าเด็ก ๆ เนี่ยมาอยู่ในบ้านนี้นะ เชาเรียนว่าบ้านมุทิตาตานะ คงจะเข้าใจความหมายของคำว่า มุทิตา แปลว่าอะไร มุทิตา
เด็ก ๆ : ???
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : อะไรจ๊ะ มุทิตา จวนแล้ว ๆ เฉียดๆ
เด็ก ๆ : พลอยยินดี
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : พลอยยินดี เป็นอันหนึ่ง เป็นธรรมะข้อหนึ่งนะ แต่ว่าธรรมะที่มีมุทิตาด้วยนะ มันมีหลายข้อ เป็นชุด มันไม่ได้มีแต่มุทตาข้อเดียว อยากจะทราบว่า ชุดของวันเนี่ยมีกี่ข้อ มุทิตานี้เป็นข้อหนึ่ง ในธรรมะชุดหนึ่ง มีกี่ข้อ
เด็ก ๆ : ???
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : กี่ข้อ
เด็ก ๆ : ๔ ข้อครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : ๔ ข้อ ๔ ข้อมีอะไรบ้าง
เด็ก ๆ : เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : เก่ง เก่ง เก่งมาก จำได้ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ทีนี้เรามาอยู่ในบ้านมุทิตา เป็นข้อที่สามนะ เราจะต้องรู้จักความหมาย เพราะว่า เราไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใด เราต้องรู้จักสิ่งนั้น นี่เป็นสูตรของนักเรียน นี่เรามาอยู่นี่ทั้งที เราไม่รู้จักความหมาย ออกไปก็แย่สิ เพราะฉะนั้นต้องรู้จัก มุทิตาก็ต้องรู้ความหมาย ทีนี้มันมาในชุด ๔ ข้อ เพราะนั้นเราก็ต้องรู้ทั้งชุด ทีนี้มาเรียนรู้กันให้ครบ เมื่อกี้มีคนหนึ่งตอบว่า มุทิตา แปลว่า พลอยยินดี ก็ถูกกต้อง แต่ทีนี้ทำไงจะเข้าใจชัดเจน การแปลได้มันแสดงว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะรู้จริงไหม เพราะฉะนั้นจะต้องเรียนรู้ให้จริง ก็ต้องไล่มาตั้งแต่ข้อ ๑ เลยนะ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แปลว่าอะไรบ้าง
หนึ่ง เมตตา แปลว่าอะไร ตอนนี้จะพูดให้ฟังเลยเพราะเวลาจำกัดแล้ว ลองฟังดูว่าตรงกับที่เข้าใจไหม ๔ ช้อ เราจะรู้จักความหมายของ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ๔ ข้อนี้ได้ชัดเจนอย่างไร วิธีดูความหมายนั้น อย่างนี้ คือธรรมะ ๔ ข้อนี้ ใช้สำหรับ ปฏิบัติกับผู้อื่นใช่ไหม ธรรมะ ๔ ข้อนี้ ใช้ปฏิบัติต่อผู้อื่นนะ จำไว้ ๆ ในเมื่อมันใช้ปฏิบัติต่อผู้อื่น ความหมายมันจะชัดเมื่อดูสถานการณ์ที่ผู้อื่นเขาประสบอยู่ ความหมายต้องดูที่คนอื่น ไม่ใช่มาดูที่ตัวเรา เป็นยังไง คนอื่นเขาเป็นยังไง เราจึงมีเมตตา คนอื่นเขาเป็นยังไง เราจึงมีกรุณา คนอื่นเขาเป็นยังไง เราจึงมีมุทิตา คนอื่นเขาเป็นยังไง เราจึงมีอุเบกขา นี่วิธีดูความหมาย
หนึ่ง คนอื่นเขาเป็นยังไงเรามีเมตตา คนอื่นอยู่ปกติ เขาไม่ได้เป็นอะไร เขาไม่ได้ทุกข์ยาก เดือดร้อน เขาก็ไม่ได้ดีมีสุขอะไร เขาอยู่เป็นปกติ เนี่ยเรามีเมตตา เอาละนะ เมตตาเนี่ยมาจากคำว่า มิตร (มิตตะ) กับเมตตา แปลง อิ เป็น เอ (มิตตะ) ก็เป็นเมตตาใช่ไหม แล้วทำหางให้ยาวขึ้นก็เป็น เมตตา เพราะฉะนั้นเมตตาก็คือความเป็นมิตร แปลว่าน้ำใจมิตร หรือคุณธรรมของมิตร เขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา
ต่อไป เขาเป็นอย่างไร มีกรุณา สอง สถานการณ์เปลี่ยนไป เมื่อกี้เขาอยู่เป็นปกติ คราวนี้เขาตกทุกข์ ได้ยาก เดือดร้อน เขาตกต่ำลง เขาตกต่ำลง เราก็ไปข้อสอง ก็มีกรุณา นี่นะวิธีศึกษาง่าย ๆ บางคนแยกไม่ออก เมตตากับกรุณาต่างกันอย่างไร อันนี้แยกได้ยัง เขาอยู่เป็นปกติเรามีเมตตา เขาตกต่ำเดือดร้อน เรามีกรุณา กรุณาแปลว่า พลอยมีใจหวั่นไหวในทุกข์ของผู้อื่น นี่แปลว่ากรุณา เห็นคนอื่นทุกข์แล้วเราใจหวั่นไหวไปด้วย แล้วก็คิดช่วยเหลือหาทางให้เขาพ้นจากความทุกข์ นี่เรียกกรุณานะ จำไว้ สองแล้วนะ
ต่อไปสาม เขาเป็นอย่างไรเราจึงมีมุทิตา เป็นยังไง สถานการณ์ที่หนึ่ง เป็นปกติ สถานการณ์ที่สอง ตกต่ำ สถานการณ์ที่สาม ลองทายสิเป็นยังไง เป็นปกติ แล้วก็ตกต่ำ แล้วทีนี้อะไรล่ะทีนี้ ก็ต้องขึ้นสิทีนี้ เมื่อปกติ แล้วก็ตกต่ำ ทีนี้สามก็ต้องขึ้น เขาดีขึ้น เขาดีขึ้น มีความสุขขึ้น ประสบความสำเร็จขึ้น อย่างนี้เราก็มุทิตา พลอยยินดีด้วย ส่งเสริม สนับสนุน อย่างผู้ใหญ่เห็นเด็กประพฤติดี ทำดี มีความสุขขึ้นแตกต่างกับแต่ก่อน เรียนรู้ได้ความรู้มากกว่าแต่ก่อน ผู้ใหญ่ก็พลอยมุทิตา ยินดีด้วย แล้วก็ส่งเสริม สนับสนุน เพื่อนกันก็เหมือนกันแหละ เพื่อนของเราคนไหนเขามาแล้วเขาดีขึ้น มีปัญญาขึ้น ประพฤติตัวดีขึ้น มีความสุขมากขึ้นแล้วเนี่ย เราก็พลอยยินดี ส่งเสริมด้วย เนี่ยเรียกว่ามุทิตา สามข้อแล้ว เข้าใจแล้วนะ
แล้วทีนี้ คนอื่นเป็นยังไงเรามีอุเบกขา ข้อ ๔ ตอบได้ไหม อันนี้ยากที่สุดนะ บอกไว้ก่อน ใครอาสาตอบ ใครอาสา ทวนอีกทีนะ
หนึ่ง เขาอยู่เป็นปกติ เรามีเมตตา เป็นมิตร
สอง เขาตกต่ำเดือดร้อน เรามีกรุณา
สาม เขาขึ้นสูง ดีขึ้น สุขขึ้น สำเร็จขึ้น เรามีมุทิตา
เอ๊มันก็น่าจะควรแล้วนี่ใช่ไหม คนเรามันก็สามอย่างเนี่ย แล้วยังจะเอายังไงกันอีก ใครตอบได้นี่เก่งมากเลย สุดยอดเลยนะ อุเบกขานี่
เด็ก ๆ : วางเฉย
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : วางเฉยนี่เราแสดงกับเขา ตอนนี้ถามว่าเขาเป็นยังไงเราจึงอุเบกขา เขาเป็นยังไง
เด็ก ๆ : ??
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต : คนไหนตอบอันนี้ได้เนี่ย แสดงว่าสมบูรณ์เลย ครบชุด เอ้าเดี๋ยวจะบอกให้นะ คอยฟังให้ดีนะ สามข้อเนี่ยก็เยอะดีมากแล้วนะ มนุษย์อยู่กันด้วย เมตตา กรุณา มุทิตานี่ โลกจะร่มเย็นเป็นสุขพอสมควรทีเดียว เพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีงามต่อกัน ช่วยเหลือต่อกัน ส่งเสริมกัน แต่มันไม่พอ ทำไมมันจึงไม่พอ นี่นะ มนุษย์เราจะอยู่ด้วยกันลำพังมนุษย์ไม่ได้ มนุษย์นี่ถึงมีความสัมพันธ์ดีต่อกัน ช่วยเหลือกันเต็มที่แล้วเนี่ย ก็ยังไม่พอให้โลกนี้ร่มเย็นเป็นสุขเชื่อไหม เอ้า ทำไม เอ๊ช่วยเหลือกันแล้ว ไม่พอยังไง เอ้า โลกนี้มันอยู่ด้วยอะไรบ้าง ถามอย่างนี้ หนึ่งอยู่ด้วยมนุษย์ที่ช่วยเหลือกันดี ถูกไหม แต่สองอะไร สังคมมนุษย์ โลกมนุษย์เนี่ยนะ มันต้องมีอะไรรองรับ เป็นฐานอยู่อีกอันนึง เบื้องหลังสังคม สิ่งที่รองรับสังคมให้อยู่ได้เนี่ย คืออะไร ไม่ใช่แค่ช่วยเหลือกันเท่านั้นนะ อะไรทำให้สังคมมนุษย์อยู่ได้ ใครตอบได้บ้าง คือ ธรรมะ นะ
ธรรมะ คืออะไร คือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม หลักการ กฎเกณฑ์ กติกา เรามีกฎหมาย เรามีกติกาสังคมเพื่ออะไร เขาเรียกว่าเพื่อความเป็นธรรม ใช่ไหม เพราะนั้นถึงแม้มนุษย์ช่วยเหลือกันเนี่ยนะ แต่ถ้าไปทำลายธรรมะนะ โลกนี้ก็อยู่ไม่ได้ เราช่วยเหลือกัน แล้วก็ช่วยเหลือไปทำลายกฎเกณฑ์ กติกาสังคมนี่ ก็เสีย หรือทำให้เสียความเป็นธรรม อย่างว่า หนูสองคนทะเลาะกัน ผู้ใหญ่มาช่วยคนหนึ่ง อ่าวก็ช่วยแล้วนี้ ใช่ไหม เสร็จแล้วเป็นยังไง ช่วยแล้วลำเอียง เสียความเป็นธรรม แล้วก็เกิดความเดือดร้อนสิ อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องไม่ชอบใจ ไม่ถูกต้อง ฉะนั้นจะต้องมีอีกอันหนึ่งด้วย จะช่วยเหลือกันอย่างเดียวไม่ได้ ช่วยเหลืออย่างเดียว แล้วถ้าเสียธรรมะนี่ สังคมนี่ก็เสื่อม เพราะฉะนั้นจะต้องรักษาอีกตัวหนึ่ง ก็คือรักษาความเป็นธรรม ทีนี้ข้อที่สี่จึงมาตอนนี้แหละ คือว่าถ้ามนุษย์ช่วยเหลือกันแล้ว ทำให้เสียธรรมะเมื่อไร ต้องหยุด จะช่วยกันไม่ได้ ต้องตั้งอุเบกขา คือ เฉยต่อคนนั้น แล้วว่าไปตามกฎ กฎเกณฑ์ กติกา ความเป็นธรรม ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม นี่คือตัวธรรมะ มนุษย์ต้องรักษา มิฉะนั้นสังคมอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสมมติว่า เด็กคนหนึ่งไปลักขโมยเขาได้เงินมา ๗,๐๐๐ บาท สมมติว่าอย่างนั้นนะ ลักเงินเขามาได้ ๗,๐๐๐ บาท เอ้านี่ประสบความสำเร็จนี่ เรียกว่าประสบความสำเร็จ ได้ดีมีสุขใช่ไหม แล้วเราต้องมุทิตารึเปล่า ถ้าเราเอาหลักเมื่อกี้บอกว่า เขาอยู่เป็นปกติ มีเมตตา เขาทุกข์เดือดร้อนเรามีกรุณา เขาประสบความสำเร็จ เราก็มุทิตา ทีนี้เด็กคนหนึ่งไปขโมยเงินเขามาได้ ๗,๐๐๐ บาท ประสบความสำเร็จนี่ มุทิตาสิ ใช่ไหม อย่างนี้ไม่ได้แล้ว เพราะมุทิตาอย่างนี้มันไปเสียธรรมะ ทำให้เสียหลักการ เสียกฎเกณฑ์ กติกาสังคม เพราะฉะนั้นต้องหยุด มุทิตาไม่ได้ ก็คือต้องถึงอุเบกขา ทีนี้ตอบได้ยัง อุเบกขาคือยังไง เขาเป็นยังไงเราจึงมีอุเบกขาตอบได้ยัง ตอบได้มั้ย อ้าวสรุปให้ฟัง ตอบว่า ถ้าการช่วยเหลือกันในกรณีใดก็ตาม จะไปส่งผลกระทบเสียหายกับธรรมะ ต้องใช้อุเบกขา ก็คือว่า ต้องเฉยต่อคนนั้น บอกว่า กฎว่าไปตามกฎ กฎต้องเป็นกฎ เพื่อจะรักษาธรรมะไว้ ก็ต้องตั้งอุเบกขา เพื่ออะไร เพื่อจะได้ปฏิบัติตามธรรมะ ธรรมะว่าอย่างไร ให้ปฏิบัติอย่างไร ทำไปตามนั้น อย่างนี้สังคมจึงอยู่ได้ เพราะนั้นเราอยู่ในสังคมต่อไปนี้ เราต้องใช้ธรรมะชุดนี้ให้ครบ ถ้าไม่งั้นแล้วก็จะเกิดความเดือดร้อน ระส่ำระสาย อย่างบางทีเรามีเมตตา กรุณากันก็จริง แต่ว่าเพื่อนเราทำผิด หรือว่าเด็กของเราทำผิด แล้วเราไปช่วยเหลือเขาเนี่ย ก็เสียธรรมะ เพราะฉะนั้นสังคมจะต้องรักษาไว้ อย่างผู้พิพากษาก็ต้องมีอุเบกขา เพื่อจะรักษาความเป็นธรรม ทั้ง ๆ ที่สงสารนะ คนที่ไปทำความผิดมา จะลงโทษก็สงสาร แต่จะทำไงได้เพราะว่าเขาทำผิดธรรมะ ก็ต้องรักษาธรรมะไว้ ก็เลยต้องมีอุเบกขา ก็ต้องตัดสินไปตามธรรมะ นี่คือสถานการณ์ที่สี่ เรียกว่าอุเบกขา วางใจเป็นกลาง เอาธรรมะเป็นมาตรฐาน ทีนี้ก็จบ โลกมนุษย์เนี่ย อยู่ด้วยธรรมะสี่ข้อนี้นะ ถ้าไม่ครบสี่ข้อนี้โลกอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นเด็กต้องเรียนไว้ เราจะต้องปฏิบัติธรรมะให้ครบสี่ข้อนี้ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อย่างเวลานี้ผู้ใหญ่ที่ท่านมีธรรมะ ท่านก็ปฏิบัติต่อเราด้วยสี่ข้อนี้แหละ ท่านก็ปฏิบัติรักษาธรรมะด้วย แต่เวลาเดียวกัน ก็ไม่ทอดทิ้ง ก็พยายามช่วยเหลือด้วย โลกก็อยู่ได้ด้วยดี ทีนี้สังคมเนี่ยนะ มันก็มีทั้งคนดี คนชั่ว แต่ว่ามันไม่ได้มีแต่คนชั่วอย่างเดียว ถ้ามีคนชั่วอย่างเดียวโลกอยู่ไม่ได้ ต้องมีคนดี คนดีก็ต้องรักษาตามธรรมะสี่ข้อนี้ เป็นอันว่าวันนี้ได้พูดให้ฟังแล้ว พอสมควรนะ อย่างน้อยก็ให้ได้ไว้สองอันก็แล้วกันนะ
ข้อหนึ่ง ถือว่าชีวิตเรานี่ จะดีงามมีสุข มีความเจริญ จะต้องเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา ถือไว้เป็นหลัก แล้วถ้าใครเก่งนะ ใช้หลักเมื่อกี้บอกว่า ยิ่งยากยิ่งได้มาก แล้วก็เจอปัญหาใช้สูตรว่า เราจะเป็นนักเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา เจอปัญหาแล้วบอกว่าฉันจะเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา แล้วก็เจอเคราะห์เจอโชค ต้องใช้มันให้เป็นประโยชน์หมด เจอเคราะห์ใช้เป็นบททดสอบ ใช้เป็นแบบฝึกหัด แล้วเราจะเก่ง ไม่ต้องกลัว อย่าไปกลัวเรื่องเคราะห์ร้าย นี่โอกาสที่เราจะได้แข็งแรง เข้มแข็ง พัฒนาต่อไปข้างหน้า มหาบุรุษเยอะแยะมีไว้ให้กำลังใจเรา แม้แต่พระพุทธเจ้า ประสบทุกข์เดือดร้อนมาหนักหนา คนเราทำความผิดได้ แต่ว่าไม่เป็นไร ความผิดเป็นบทเรียน เอาออกมาเป็นบทเรียน แล้วเราพัฒนายิ่งขึ้น เราจะประสบความสำเร็จ มีชีวิตที่ดีงาม ไม่ต้องกลัว แล้วก็ปฏิบัติธรรมให้ควรสี่ข้อที่ว่ามาเมื่อกี้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เราก็จะได้เป็นพรหม เป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อภิบาลโลก วันนี้ก็ฝากแง่คิดไว้ให้แก่ เด็ก ๆ ทั้งหลายหวังว่าคงจะใช้ประโยชน์ได้ แล้วก็ตั้งความปรารถนาดี ตามหลักเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ขอให้ทุกคนนี้ ได้ประสบความสุข ความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็ถือว่าวันนี่เรามาประกอบพิธีมงคล ในโอกาสมาฆบูชานี้ เป็นการทำความดีแล้ว วันมาฆบูชาก็มาสรุปตรงนี้ เมื่อกี้นี้บอกว่าให้เด็กทบทวนในใจว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไรในวันมาฆบูชาใช่ไหม เนี่ยมันจบตรงเนี้ย คำถามแรกเนี่ยมาจบที่นี่ พระพุทธเจ้าสอนอะไรในวันมาฆบูชา สอนว่าไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใสใช่ไหม สามข้อนี้จะสำเร็จได้ต้องฝึกฝน เด็กต้องเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา มีความเข้มแข็ง แล้วจะสำเร็จทุกอย่าง เพราะฉะนั้นให้เราพยายามทำตามนี้ ตั้งใจเลยวันนี้วันมาฆบูชาแล้ว เราจะปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าสอน เราจะละชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ แล้วก็ฝึกฝนตนเอง ในทางที่จะสร้างความสุข ความเจริญ เมื่อเป็นวันมงคลดีงามแล้วก็ขอตั้งใจ ปรารถนาดี ต่อเด็ก ๆ ทุกคน อวยชัยให้พร ขอให้คุณพระรัตนตรัย มาอภิบาลรักษา ให้คุณความดี โดยเฉพาะความตั้งใจดีของเด็ก ๆ เนี่ย ที่มีในตัวเองเนี่ย ได้มาเป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องอุดหนุนให้ เด็ก ๆ ทุกคนเนี่ย ได้ประสบความเจริญก้าวหน้า งอกงามความดี ความสำเร็จในชีวิต มีความสุข ทั้งในความที่จะมีการเจริญก้าวหน้าด้วยตนเอง แล้วไปช่วยกัน ร่วมสร้างสรรค์สังคมให้มีความร่มเย็นเป็นสุข โดยที่เรามีจิตที่ปรารถนาจะทำประโยชน์ให้กว้างชวางยิ่งขึ้นไป ก็ขอให้ทุกคนนี้มีความเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา โดยชอบธรรม ทั่วกันทุกคน ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ สาธุ