แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร วันก่อนนี้อาตมภาพได้เล่าเรื่องพระสาวกองค์หนึ่งคือ พระปุณณสุนาปรันตะ วันนี้ก็เลยคิดจะเล่าเรื่องสาวกอีกบ้าง สาวกของพระพุทธเจ้านั้นมีมาก ทีนี้วันก่อนเล่าเรื่องสาวกที่เป็นพระ วันนี้เล่าเรื่องสาวกที่เป็นคฤหัสถ์บ้าง จะเล่าฝ่ายอุบาสิกาสักท่านหนึ่งซึ่งน่าสนใจเหมือนกัน
อุบาสิกาที่เราได้ยินชื่อมากก็คือ อุบาสิกาวิสาขา ก็เรียกกันว่ามหาอุบาสิกา ฉะนั้นก็ ประวัติบางทีก็จะคุ้นๆ กันอยู่แล้ว ในที่นี้ก็อยากจะเล่าท่านอื่นบ้าง ท่านนี้ชื่อว่าอุตตรานันทมารดา ได้ชื่อว่าเป็นอุปัฏฐายิกกาของพระพุทธเจ้า
คือพระพุทธเจ้านั้นนะก็มีสาวกที่เป็นอุปัฏฐากคือเป็นผู้คอยรับใช้ดูแล ปฏิบัติอยู่ใกล้ชิด ท่านที่เป็นอุปัฏฐากสำคัญเรารู้จักกันทั่วไปก็คือพระอานนท์ เรียกกันว่าพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก แต่นั้นเป็นอุปัฏฐากที่เป็นพระ ความจริงพระองค์ยังมีอุปัฏฐากที่เป็นอุบาสกและก็อุบาสิกาด้วย อุบาสกที่เป็นอุปัฏฐากก็ชื่อว่า จิตตะ ,หัตถาฬวกะ อุบาสก
ที่นี้ในฝ่ายอุบาสิกาก็มีเหมือนกัน ชื่อว่าอุตตรานันทมารดานี้ เรียกว่าเป็นอัครอุปัฏฐายิกา คือเป็น อุปัฏฐายิกาคนเอก หรือคนสำคัญที่สุด ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง มีชื่อคนละอย่าง มีชื่อเสียงคนละด้านกับนางวิสาขา แต่เรากลับได้ยินชื่อนางวิสาขามากกว่า มหาอุบาวิสาขานั้น ท่านเป็นผู้บำรุงคณะสงฆ์ทั้งหมด ก็เรียกว่าเป็นเอตทัคคะ คือเป็นผู้ยอดหรือสูงสุดในฝ่ายทายิกา เป็นผู้ที่บำรุงพระสงฆ์ทั้งหมดหรือบำรุงพระศาสนา
แต่ว่าสำหรับผู้ปฏิบัติพระองค์นี้ ก็คือนางอุตตรานันทมารดานี้ ในประวัตินางอุตตรานันทมารดานี้ก็น่าสนใจ ตามชื่ออุตตรา แสดงว่าชื่อตัวก็อุตตรา นี้นันทมารดานั้นก็แปลว่า มารดาของนันทะ แสดงว่าท่านมีลูกชื่อว่า นันทะ แต่ว่าจะเป็นนันทะท่านไหนก็ไม่ทราบชัดเจน ประวัติก็ไม่ได้บอกไว้ ก็คงเป็นการเอาคำว่านันทมารดามาใส่ไว้เพื่อให้รู้ว่าเป็นอุตตราไหน เพราะอุตตราอาจจะมีหลายท่านก็ได้ ก็อุปัฏฐายิกาคนสำคัญนี้ก็เป็นอุตตราที่เป็นมารดาของท่านนันทะนี้
ที่นี้นางอุตตรานันทมารดานี้ ตามเรื่องก็ว่าเป็นลูกของนายปุณณะ ซึ่งเป็นเศรษฐีใหญ่อยู่คนหนึ่งในเมืองราชคฤห์ ความจริงปุณณะนี้เดิมเป็นคนรับใช้ เป็นคนจน เป็นคนรับใช้ของเศรษฐีชื่อว่าสุมนะ ซึ่งก็อยู่ในเมืองราชคฤห์เหมือนกัน ต่อมา ปุณณะนี้ได้ถวายทานแก่พระสารีบุตร เมื่อคราวออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ ซึ่งตามปกติ พระอรหันต์ออกจากนิโรธสมาบัตินี่ถือว่าใครถวายทานก็ได้บุญแรง ก็นายปุณณะนี้ต่อมาก็เลยได้เป็นเศรษฐี จากคนรับใช้ของเศรษฐีก็กลายมาเป็นเศรษฐีเอง
เมื่อได้เป็นเศรษฐีแล้ว ต่อมาท่านสุมนเศรษฐีซึ่งเป็นนายเก่านั้นนะ มีลูกชาย ก็มาขอลูกสาวของปุณณะกับเศรษฐีนี้ คือนางอุตตรา ที่นี้สุมนเศรษฐีนั้นไม่ได้นับถือพุทธศาสนา ปุณณเศรษฐีก็มีความกลัวว่า ถ้าลูกสาวไปแต่งงานอยู่กับลูกชายของสุมนเศรษฐีแล้ว ก็จะไม่มีโอกาสไปวัดไปวา ไม่มีโอกาสไปฟังธรรมไปหาพระสงฆ์ เพราะว่าสุมนะนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็คงจะกีดกั้นไว้ ก็เลยจะไม่ยอมให้ลูกสาว แต่ได้มีความสัมพันธ์กันมาแต่เดิม คนทั้งหลายเค้าก็มาอ้อนวอน บอกว่า เนี่ยท่าน อย่าให้เสียความสัมพันธ์กันเลย ให้ลูกสาวไปเถอะ ผลที่สุดปุณณเศรษฐีก็จำใจ ก็เลยต้องยกลูกสาวให้แก่ลูกชายของสุมนเศรษฐี
พอแต่งงานไปแล้ว เรื่องก็เป็นไปตามที่ปุณณเศรษฐีหวาดหวั่น คือว่าทางบ้านของสามีไม่ยอมให้ไปวัด ก็เลยต้องจำใจอยู่กับบ้านตลอดมา ตัวเองนั้นเคยไปวัดทุกวัน ท่านเล่าว่านางอุตตราเนี่ย สมัยที่ยังไม่ได้แต่งงาน จะต้องเอาดอกไม้ไปถวายพระพุทธเจ้าเป็นประจำทุกวัน ที่นี้เมื่อแต่งงานแล้วไม่ได้มีโอกาสจะไป ก็มีความรู้สึกไม่สบายใจ ก็ทนอยู่ระยะหนึ่ง
ต่อมา มาถึงพรรษาหนึ่ง ซึ่งในระยะพรรษานั้น คนก็จะไปวัดเป็นพิเศษ นี้วันหนึ่งก็ถามคนรับใช้ บอกว่า นี่พรรษาเข้ามากี่วันแล้ว กี่วันจะออกพรรษา เค้าก็บอกว่านี่พรรษาหมดไปแล้วสองเดือนครึ่ง เหลืออีกครึ่งเดือนเท่านั้น นางอุตตราก็เลยยิ่งรู้สึกว่าจะร้อนใจมากขึ้น ก็ในพรรษานี้ ก็อยากจะไปวัดบ้าง ก็เลยอดรนทนไม่ได้ ก็เลยแจ้งเรื่องไปพ่อ ร้องทุกข์กับพ่อ บอกว่า เนี่ยฉันอยู่บ้านเค้านี้ไปไหนไม่ได้ ไปวัดไม่ได้เลย ฝ่ายพ่อก็เห็นใจลูกสาวมาก เพราะตัวเองก็เดิมก็ไม่อยากให้ลูกต้องมาแต่งงาน อย่างนี้คิดคาดการณ์ไว้ว่าต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ก็เลยจะต้องช่วยคิดหาทาง ก็ส่งเงินไปจำนวนหนึ่งไปให้นางอุตตรา แล้วก็แนะอุบาย บอกเอาอย่างนี้สิ บอกว่า ไปจ้างผู้หญิงมาสักคนหนึ่ง ให้มาปฏิบัติรับใช้สามี เฉพาะตอนที่เราต้องการจะไปวัดเนี่ย
นางอุตตราก็เลยเอาเงินไปจ้างนางสิริมาซึ่งเป็นอัครโสเภณี อัครโสเภณีสมัยก่อน ในสมัยพุทธกาลนั้นเป็นคนมีเกียรติ ก็เอาเงินไปจ้าง บอกว่าขอให้มาอยู่ปฏิบัติสามีของตนสักสิบห้าวัน แล้วตัวเองก็จะได้เป็นอิสระ ไปวัดไปวา นางสิริมานี้ก็เป็นคนมีชื่อเสียงว่าสวยงามมาก นางอุตตราก็พานางสิริมามาที่สามี แล้วก็แจ้งเรื่องให้ทราบ สามีก็ยอมตกลงเพราะเห็นนางสิริมาสวยมาก ตกลงว่าให้นางอุตตราเนี่ย ไปวัดทำทานไรตามความปรารถนาสิบห้าวัน
ก็เป็นอันว่า นางอุตตราก็ได้โอกาส ก็เลยทำทานเป็นการใหญ่ แล้วก็ได้ฟังธรรม ตลอดระยะเวลาสิบห้าวัน ทุกๆ วันก็จะไปบัญชาการในครัว ทำอาหารอะไรต่ออะไรเพื่อจะไปถวายพระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์ นี้อยู่มาจนกระทั่งจะครบสิบห้าวันอยู่แล้ว วันสุดท้ายนั้นเอง สามีกับนางสิริมาก็มามองดูทางหน้าต่าง มองเข้าไปที่โรงครัว ซึ่งนางอุตตรากับคนรับใช้กำลังทำอาหารกันอยู่ สามีโผล่หน้าออกมาทางหน้าต่าง แล้วก็มองเห็นนางอุตตราตัวขะมุกขะมอม เหงื่อไหลไคลย้อย กำลังทำอาหาร กำลังทำงานอะไรต่างๆ อยู่ ก็นึกในใจว่า ดูนางคนนี้สิ สบายดีอยู่ก็ไม่ชอบ ทรัพย์สมบัติก็มีตั้งเยอะแยะ กลับต้องไปลำบากลำบน ไปเที่ยวทำอาหาร ไปออกแรงออกกำลัง จะไปปฏิบัติพระสงฆ์ ก็เลยนึกยิ้มเยาะขึ้นในใจ แล้วก็ยิ้มออกมาที่ใบหน้า หรือหัวร่อออกมาเล็กน้อย ด้วยความรู้สึกสมเพชอะไรทำนองนั้น
นี้ฝ่ายนางสิริมาตอนนี้เกิดรู้สึกมีความหึงหวงซะแล้ว เห็นสามีของนางอุตตราเนี่ย หัวเราะ ยิ้ม ก็เลยมองไปตามทิศทางเดียวกัน ก็เห็นนางอุตตรา ก็เลยนึกว่า สามีชั่วคราวของตนนั้นยิ้มกับนางอุตตรา ก็เกิดความโกรธ ด้วยความหึงหวงก็โกรธนางอุตตราเป็นอันมาก ว่าตอนนี้นั้น ผู้ชายคนนี้เป็นสิทธิของเรา ทำไมนางอุตตรามาทำอย่างนี้ ก็เลย ด้วยความโกรธนั้น ก็ลงไปข้างล่าง ไปที่โรงครัว แล้วก็จับเอาทัพพีเนี่ย ไปตักเอาเนยใสที่กำลังร้อน วิ่งรี่เข้าไป เอาเนยใสรดหัวนางอุตตรา
ฝ่ายนางอุตตรานั้นป้องกันตัวไม่ทัน แต่พอเห็นนางสิริมาเข้ามาใกล้ ก็มีความ เป็นคนที่มีจิตสูงมาก ประกอบด้วยเมตตา แทนที่มีความโกรธแค้นก็ตั้งจิตตอบแทน นางทำใจประกอบด้วยเมตตา แผ่เมตตาให้แก่นาง
สิริมา บอกว่า นางสิริมาเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก การที่เราได้มีโอกาสเป็นอิสระ มาทำบุญทำทาน ฟังธรรมในระยะเวลาสิบห้าวันนี้ ก็เพราะอาศัยนางสิริมามาช่วย เพราะฉะนั้น เราไม่มีจิตโกรธตอบด้วย ด้วยอานุภาพของเมตตานั้น ท่านกล่าวว่า เนยใสก็ไม่ทำอันตรายร่างกายนางอุตตรา
ฝ่ายนางสิริมาก็โกรธยิ่งขึ้นไปอีก บอกว่า เอ ท่าเนยใสนี้คงจะเย็นเกินไป ก็เลยจะไปตักเนยใสมารดอีก ตอนนี้คนที่อยู่ที่นั้นก็หายตกตะลึงแล้ว พวกนางคนรับใช้คนอื่นๆ พอเห็นนางสิริมาจะทำอย่างนั้นอีก ก็โกรธมาก พากันมารุมประชาทัณฑ์ คนละทีสองที ปรากฏว่าบ้องจนนางสิริมาเนี่ย ลงไปนอนล้มอยู่กับพื้น แต่ระหว่างนั้นนางอุตตราก็ร้องห้ามตลอดเวลา แล้วก็ พอห้ามได้ก็ปรากฏว่า นางสิริมาก็ลงไปนอนคว่ำอยู่กับพื้นแล้ว ก็บาดเจ็บ ก็เลยเอาไปรักษา
ฝ่ายนางสิริมานั้น พอเหตุการณ์นี้ผ่านไปก็ได้สำนึก รู้สึกตัวว่า โอ้ นางอุตตรานี้เป็นคนดีมาก เราทำร้ายเค้าก็ไม่โกรธ แถมยังมาช่วยห้ามไม่ให้คนอื่นทำร้ายเรา เค้ามีน้ำใจดีมาก เรานี่ทำความผิด ทำร้ายเค้าไปแล้ว ก็เลยจะขอโทษ ก็เป็นอันว่าจะขอขมาโทษนางอุตตรา นางอุตตราก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก แต่ว่าฉันจะยกโทษให้ ก็ต้องขอให้พ่อของฉันนะยกโทษให้ซะก่อน ก็นางสิริมาก็บอก จ้ะ ฉันยินดี ฉันจะไปขอโทษท่านปุณณเศรษฐีด้วย นางอุตตราก็บอกว่า ไม่ใช่ พ่อปุณณะนั้นเป็นพ่อในวัฏฏะ แต่ฉันมีพ่อในวิวัฏฏะอยู่ วิวัฏฏะก็คือว่า ทางที่จะพ้นไปจากสังสารวัฏ หมายถึงพระพุทธเจ้า
นางสิริมาก็ถามว่า พ่อที่ว่านี้คือใคร นางอุตตราก็บอกว่าพ่อในวิวัฏฏะนั้นก็คือพระพุทธเจ้า นางสิริมาก็บอกว่าฉันไม่รู้จัก ฉันจะไปหาได้ยังไง นางอุตตราก็บอกว่าไม่เป็นไร ฉันจะพาไป ก็เลย นางอุตตราก็พานางสิริมาไปหาพระพุทธเจ้า ก็ไปเล่าเรื่องให้ฟัง นางสิริมาก็สารภาพโทษความผิดของตัวเอง แล้วขอขมาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสแสดงพระธรรมเทศนาให้ฟัง ในที่สุดพระธรรมเทศนานั้น นางสิริมาก็เลยพลอยได้บรรลุโสดาปัตติผลด้วย ก็เลยกลายเป็นเรื่องก็จบลงด้วยดี
นี้ก็เป็นเรื่องประวัติส่วนหนึ่งของนางอุตตรา ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติพระพุทธเจ้าที่ได้ชื่อว่าเป็นอัครอุปัฏฐายิกา เป็นประวัติตอนหนึ่งที่ ตอนที่เธอได้กลับมาปฏิบัติพระพุทธเจ้าอีก แล้วหลังจากนั้นก็ คงจะมีโอกาสที่ว่าเศรษฐีสามีก็คงจะปล่อยมาได้เรื่อยๆ มากขึ้น แต่ว่าท่านก็ไม่ได้เล่ารายละเอียดไว้ ก็เล่าไว้เฉพาะเหตุการณ์ตอนสำคัญนี้
นี้อาตมภาพก็เลยนำเอาประวัติของนางอุตตรามาเล่าให้โยมฟังไว้
คติจากเรื่องของนางอุตตราก็คือ แสดงให้เห็นการทำใจได้ดี คือการที่นางนั้นไม่มีความโกรธ สามารถทำจิตให้ประกอบด้วยเมตตาได้ วิธีคิดของนางก็คือว่า ไปคิดในทางที่ว่า นางสิริมานั้นไม่ได้คิดในแง่จะมาทำร้าย แต่ไปคิดในแง่ที่ว่านางสิริมานั้น เค้ามีประโยชน์ หรือว่าทำคุณแก่ตน ทำคุณในแง่ที่ว่าทำให้นางได้สามารถทำบุญทำทานได้ตามปรารถนา ความจริงจะถือว่ามีบุญคุณนักก็ไม่เชิง เพราะว่านางสิริมานี่ก็เหมือนรับจ้างมา ก็ได้เงินเป็นค่าตอบ แทน แต่ว่านางอุตตรานั้นคิดอย่างนั้น ก็เป็นวิธีทำใจเพื่อไม่ให้โกรธ ให้ประกอบด้วยเมตตา
พระพุทธเจ้าก็ตรัสเป็นคำสอนไว้ พระองค์เคยตรัสไว้ว่า คนที่ไม่โกรธตอบคนที่โกรธนั้นนะ ก็เท่ากับทำประโยชน์ให้คนทั้งสองฝ่าย คือตัวเองก็จิตใจสบาย แล้วยังทำประโยชน์แก่ฝ่ายผู้ที่มาโกรธนั้นด้วย ทำให้เค้าอาจจะได้หายโกรธลงไป หรือเค้าอาจจะไม่ต้องทำอะไรที่เป็นเรื่องเดือดร้อนยิ่งขึ้น
แต่สำหรับกรณีนางอุตตรานี้ก็ชัดเจนว่า นางอุตตรานั้นได้ทำประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะทำประโยชน์แก่นางสิริมาเป็นอันมาก ทำให้นางสิริมานั้นได้คิดได้สำนึก แล้วก็ยังไปได้บรรลุธรรมเป็นโสดาบันอีกด้วย ก็นับว่าเป็นการบำเพ็ญประโยชน์อย่างดีของพระสาวิกาท่านนี้ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีนามอันสำคัญในพระพุทธศาสนา อาตมาก็เลยเล่าเรื่องของนางอุตตรานันทมารดามาเป็นเครื่องประดับความรู้ เกี่ยวกับประวัติในพระพุทธศาสนาส่วนหนึ่ง แล้วเป็นแง่คิดทางธรรมะด้วย ก็พอสมควรแก่เวลา อนุโมทนาโยมเท่านี้ เจริญพร