แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร วันนี้อาตมภาพก็จะกล่าวธรรมกถาเล็กน้อย พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ทรงสอนไว้มากมาย แล้วก็มีความลุ่มลึกเป็นขั้นเป็นลำดับ อย่างเช่น ทรงสอนคฤหัสถ์ ก็สอนเป็นขั้นๆ โดยสรุปเป็น ทาน ศีล ภาวนา
‘ทาน’ ก็เป็นเรื่องที่แสดงออกในภายนอก เป็นการปฏิบัติต่อกัน ช่วยเหลือกันในระหว่างมนุษย์ เป็นไปในทางสังคม พอสูงขึ้นไปก็ว่าด้วย ‘ศีล’ ให้ประพฤติปฏิบัติตนเอง ควบคุมตนเอง ให้มีกาย วาจา ระเบียบเรียบร้อยงดงาม ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนกัน หลังจากนั้นก็ประณีตลึกซึ้งเข้าไปอีก เข้าไปถึงข้างใน เรียกว่า ‘ภาวนา’ คือการฝึกอบรมจิต และฝึกอบรมปัญญา ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น
เมื่อสอนพระภิกษุก็มาเน้นด้านในมากขึ้น แทนที่จะตัดสอนเป็น ทาน ศีล ภาวนา ก็สอนเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา คือ ตรัสข้อที่เกี่ยวกับภายนอกเพียงข้อ ‘ศีล’ ตรงข้ามกับของคฤหัสถ์ที่สอนในด้านภายนอก 2 ข้อ เป็น ‘ทาน’ กับ ‘ศีล’ ของพระภายนอก เหลือ ‘ศีล’ และสอนละเอียดในด้านใน คือแยกการฝึกอบรม ภายในออกเป็น 2 อย่างได้แก่ ‘สมาธิ’ และ ‘ปัญญา’ ฝึกจิต จิตก็เป็นเรื่องของ’สมาธิ’ และฝึกความรู้ ความเข้าใจให้เห็นแจ้ง ก็เรียกว่า ‘ปัญญา’
นี่ก็เป็นตัวอย่าง เป็นการสอนที่ลึกซึ้งขึ้นไปเป็นลำดับขั้น แม้แต่ว่าแต่ละเรื่อง อย่างเรื่อง ‘ศีล’ ก็ยังมีการซอยเป็นระดับไป ‘ศีล’ สำหรับคนทั่วไป อย่าง ศีล 5 ก็เป็นศีลสำหรับทุกๆ คนที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำ ที่เรียกว่า นิจศีล จากนั้นก็ยังมี ‘ศีล’ ที่ประณีตขึ้นไปว่าควรจะปฏิบัติตามโอกาส หรือว่าตามความสามารถอย่าง ศีล 8 ศีลอุโบสถ สูงขึ้นไปก็ยังมี ศีล 10 ของเณร แล้วก็มีศีลของพระสงฆ์ เป็นศีลสำหรับพระภิกษุ 227 ของพระภิกษุณี 311 ก็จะเห็นแต่ละเรื่องๆ มีความประณีตลึกซึ้งเป็นลำดับขั้นตอน
อาตมภาพก็จะยกหมวดธรรมะ หรือว่าข้อธรรมที่แสดงถึงความลุ่มลึกเป็นลำดับนี้มาอีกอย่างหนึ่ง คือพระพุทธเจ้าแสดงธรรมสำหรับสัตว์ทั้งหลาย หรือว่าบุคคลทั้งหลายที่ดำรงอยู่ในภูมิธรรมระดับต่างๆ กันเป็นหลายขั้น สำหรับคนที่นับว่าเจริญแล้ว คือมนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่เรียกว่า ประเสริฐ ก็จะเริ่มต้น ตั้งแต่ธรรมสำหรับมนุษย์ก็คือ ‘มนุษยธรรม’ หลังจากมนุษย์นี้สูงขึ้นไปก็ยังมี ‘เทวธรรม’ ธรรมสำหรับเทวดา และสูงขึ้นไปกว่านั้นก็ยังมีธรรมสำหรับให้เป็นพรหม อย่างที่เราเรียกว่า ‘พรหมวิหารธรรม’
แล้วก็ยังมีท่านที่เป็นผู้อริยะ เป็นผู้ประเสริฐซึ่งสูงขึ้นไปยิ่งกว่าพรหมเรียกว่า ‘อริยธรรม’ เราจะเห็นว่าธรรมสำหรับบุคคลต่างระดับนี้ก็มีทั้ง’มนุษยธรรม’ มี ‘เทวธรรม’ มี ‘พรหมวิหารธรรม’ และก็มี ‘อริยธรรม’
ก็จะเริ่มต้นด้วย ‘มนุษยธรรม’ อะไรคือ ‘มนุษยธรรม’ ในขั้นมนุษย์นั้นขอแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรกก่อนที่จะเป็นขั้นมนุษยธรรมโดยตรงก็เรียกว่า เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เป็นมนุษย์ หรือข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความเป็นมนุษย์ ภาษาพระก็จะเรียกว่า “มนุสฺสงํ วตฺตนิกา ปฏิปทา” ข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความเป็นมนุษย์นั้น ท่านกล่าวว่าก็ได้แก่ ศีล 5 นี่เอง คือมนุษย์นั้นได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ชั้นสูง เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ พ้นจากความป่าเถื่อน ก็ไม่เบียดเบียนกัน อยู่ร่วมกันได้สงบได้ การที่จะร่วมกันโดยสงบได้นั้น ข้อปฏิบัติที่จะทำให้มีความประพฤติดีงามเช่นนี้ก็คือ ศีล 5 ศีล 5 จึงเป็นข้อประพฤติปฏิบัติเบื้องต้นที่จะทำให้เป็นมนุษย์ ท่านจึงเรียกว่า ศีล 5 นี่แหละ คือข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความเป็นมนุษย์
ครั้นเป็นมนุษย์แล้วต้องมีธรรมของความเป็นมนุษย์ที่เรียกว่า ‘มนุษยธรรม’ มนุษยธรรมนี้ ท่านกล่าวว่า ได้แก่ กุศลธรรมบท 10 ประการ กุศลธรรมบท 10 ประการนั้นก็คือ ข้อปฏิบัติที่ขยายออกไปจากเรื่องศีล 5 เพราะศีล 5 นั้นก็มี การเว้นจากการฆ่า การสังหารกัน ที่เรียกว่า ‘ปาณาติบาต’ แล้วก็เว้นจากการละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เรียกว่า ‘ทินนาทาน’ เว้นจากการประพฤติผิดในคู่ครองที่เรียกว่า ‘กาเมสุมิจฺฉาจาร’ เว้นจากการพูดเท็จที่เรียกว่า ‘มุสาวาท’ แล้วก็เว้นจากเครื่องดองของเมาสิ่งเสพติดที่เรียกว่า ‘สุราเมรยมชฺปมาทฏฺฐาน’
ทีนี้ ในกุศลกรรมบถนั้นก็เพิ่มเข้าไป แยกเป็นส่วนกาย ส่วนวาจา ส่วนใจ ส่วนกายนั้นก็มีการงดเว้นจาก ‘ปาณาติบาต’ ก็เหมือนกันกับในศีล 5 เว้นจาก ‘อทินนาทาน’ ก็เหมือนกัน เว้นจาก ‘กาเมสุมิจฺฉาจาร’ ก็เหมือนกัน ก็แสดงว่ากุศลธรรมบทข้อต้นๆ นี่เหมือนกันกับในศีล 5 นี้
ต่อไปในด้านวาจา จะซอยละเอียดยิ่งขึ้น ในศีล 5 นั้นมีเว้นแต่ ‘มุสาวาท’ เว้นแต่พูดเท็จ พอถึงในกุศลกรรมบทนี้ ท่านก็ซอยแยกออกไปว่า 1. เว้นจากการพูดเท็จที่เรียกว่า ‘มุสาวาท’ นอกจากเว้นจากพูดเท็จแล้ว ก็จะมีเว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำยุยงให้คนแตกร้าวขาดสามัคคี แล้วก็เว้นจากการพูดคำหยาบ คำเผ็ดร้อนรุนแรง แล้วก็เว้นจากการพูดคำเพ้อเจ้อ คำไร้สาระไม่มีเหตุผล ก็ให้พูดคำที่ตรงข้าม คือ คำที่เป็นสัตย์จริง คำที่ช่วยปรองดองประสานสามัคคี คำสุภาพอ่อนหวาน และคำที่มีเหตุผล มีสาระ มีประโยชน์ อันนี้ก็เป็นด้านวาจา
จากนี้ขึ้นไปจะเห็นว่าไม่มีในศีล 5 แล้ว เป็นเรื่องภายในก็คือ ทางใจ มนุษยธรรมนั้นยังเพิ่มคุณธรรมในใจเข้ามาอีก 3 ข้อ 3 ข้อนั้นได้แก่ ‘อภิชฌา’ ความไม่เพ่งเล็ง ไม่จ้องจะเอาของคนอื่น อันนี้ไม่ได้ละเมิดออกมาทางกาย แต่ว่าในทางจิตใจ แม้แต่ว่ามีความโลภจัด ถ้ามีความโลภธรรมดาก็ยังถือว่าเป็นเรื่องของมนุษย์ปุถุชน ก็ต้องมีกิเลสบ้าง แต่ถ้าเป็นโลภ จัดจ้องจะเอาแต่ของผู้อื่นอยู่เสมอ อย่างนี้ถือว่า ผิดกุศลกรรมบถ ก็เป็นความผิดทางจิตใจเรียกว่า ‘มีอภิชฌา’ สำหรับกุศลกรรมบทแล้วก็ให้มีจิตใจที่ปราศจากความละโมบโลภจัดอย่างนั้น นี่เป็นข้อที่หนึ่งในทางจิตใจ
และข้อที่ 2 ก็มี ‘อพยาบาท’ ความไม่ขัดเคือง ไม่คิดร้ายผู้อื่น มุ่งหมายเอาธรรมะเข้าเมตตา ความเมตตา อย่างน้อยในเบื้องต้นที่ว่าไม่คิดจะเบียดเบียนกัน มีการคิดช่วยเหลือกัน มีความปรารถนาดีต่อกันแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังอยู่ในกุศลกรรมบถ คือมีจิตใจที่มีความประณีตอ่อนโยนขึ้น ลักษณะความอ่อนโยน ไม่ดุร้าย อยู่ที่ข้อ ‘อพยาบาท’ นี้ ก็เป็นลักษณะของมนุษยธรรมอย่างหนึ่ง
และข้อสุดท้ายก็คือ ‘สัมมาทิฏฐิ’ เป็นผู้มีความเห็นถูกต้องตามคลองธรรม ที่จะให้ดำรงอยู่ในศีลธรรม มีความเชื่อกรรม เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เพราะว่าคนถ้ามีความเห็นผิดแล้ว ก็จะทำให้ประพฤติผิดได้ง่าย เมื่อเห็นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว ก็จะประพฤติตามอำนาจความปรารถนาของตน ที่มีความอยากได้เป็นโลภะบ้าง มีความขัดเคืองเป็นโทสะบ้าง ก็จะทำการไปตามความปรารถนาหรือตามกิเลสโดยไม่ยับยั้ง แต่เมื่อมีสัมมาทิฏฐิเห็นชอบตามคลองธรรมแล้ว ก็จะช่วยควบคุมให้ตนเองนั้นอยู่ในศีลในธรรมได้ เพราะเชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นี่คือหลัก 10 ประการที่เรียกว่า ‘กุศลกรรมบถ’ ท่านกล่าวว่ากุศลกรรมบถนี้เป็นมนุษยธรรม เป็นธรรมของมนุษย์ นี้เป็นการประณีตขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
ต่อไปก็ไปสู่ขั้นที่เรียกว่า ‘เทวธรรม’ เทวธรรมก็คือ ธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา ธรรมะที่ทำให้เป็นเทวดานี้ โดยปกติท่านแสดงไว้ที่เป็นหลักสำคัญก็ 2 ข้อ บอกว่า “หิริโอตฺตฺปปสมฺปนฺนา” และลงท้ายว่า “เทวธมฺมาติวจฺจฺเร” แปลว่า ผู้ที่ประกอบด้วย หิริ โอตตัปปะ ท่านเรียกว่า เป็นผู้มีเทวธรรม ก็เป็นอันว่า ‘เทว ธรรม’ นั้นก็ได้แก่ หิริโอตตัปปะ นี้เอง ธรรมะ 2 ประการคือ ‘หิริ’ ความละอายต่อบาป และ ‘โอตตัปปะ’ ความเกรงกลัวต่อบาป อันนี้เรียกว่าเป็นธรรมะที่ทำให้เป็นเทวดา เป็นผู้มีจิตใจประณีต ดำรงอยู่ในระเบียบได้โดยธรรมชาติเอง
เพราะว่าธรรมะ 2 ประการนี้ ท่านเรียกว่า เป็นธรรมะ เป็นโลกบาล คือคุ้มครองโลก ทำให้โลกอยู่ในความเป็นระเบียบไม่สับสนวุ่นวาย เป็นหลักประกัน แม้ต่อเรื่องศีลที่กล่าวมาเมื่อกี้ ศีลสำหรับมนุษย์ก็จะต้องพยายามที่จะควบคุมกันให้ประพฤติอยู่ ไม่ละเมิด ไม่เบียดเบียนกัน แต่ถ้าเรามีหิริโอตตัปปะแล้ว จะเป็นหลักประกันอยู่ในจิตใจที่ลึกซึ้ง ทำให้ศีลนั้นมีความมั่นคงได้ ก็คือความละอายต่อบาป และความเกรงกลัวต่อบาป
‘หิริ’ ความละอายต่อบาป หรือความละอายแก่ใจนั้น ท่านบอกว่าเป็นธรรมะที่เกิดจากความเคารพตนเอง ‘หิริ’ นั้นเกิดจากความเคารพตน เพราะว่าเราเคารพตนว่าเราเป็นมนุษย์ก็ดี หรือเคารพตนว่าเราเป็นผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนมีศีลธรรม เป็นพุทธศาสนิกชน หรือเป็นผู้อยู่ในฐานะเช่นนี้ เป็นผู้ที่ควรเคารพนับถืออย่างนี้ จะทำชั่วอย่างนี้ไม่ได้ หรือสิ่งนี้ไม่สมควรแก่เรา เราไม่ควรประพฤติ และก็ยับยั้งตนเองได้ ไม่ล่วงละเมิด ไม่ทำความผิด การเคารพตนเองนี้เรียกว่า ‘มีหิริ’
ทีนี้ประการที่ 2 มีโอตตัปปะ โอตตัปปะนั้นท่านบอกว่า เป็นการเคารพโลก คือเห็นความสำคัญของชาวโลก จะทำบาปก็เห็นว่าชาวโลกเขาติเตียนเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนกระทั่งอย่างหยาบก็คือ กลัวต่อการลงโทษ อย่างนี้ท่านเรียกว่า กลัวโลก หรือเคารพโลก เป็นโลกาธิปไตย อำนาจของการเคารพโลกก็ทำให้ดำรงอยู่ในโอตตัปปะ ก็ไม่ทำชั่วเช่นเดียวกัน แต่เป็นเคารพตนเองในหิริ ความละอายต่อบาปก็ดี หรือการเคารพโลก ตัวตัดสินตำหนิติเตียนตลอดเป็นการลงโทษ และก็ไม่ทำบาปก็ดี อันนี้ก็คือตัวประคับประคองไว้ให้ดำรงอยู่ในศีลในธรรม ก็เป็นธรรมะขั้นที่เรียกว่าทำให้เป็นเทวดา หรือธรรมะของเทวดาที่เรียกว่า ‘เทวธรรม’
ทีนี้ขอผ่านต่อไปอีกลึกซึ้งขึ้นไปอีก ก็ถึงธรรมะที่ทำให้เป็นพรหม ได้แก่ ‘พรหมวิหารธรรม’ ‘พรหมวิหารธรรม’ นั้นก็มี 4 อย่าง อย่างที่พุทธศาสนิกชนก็ได้ทราบกันทั่วไป ได้แก่ ‘เมตตา’ ความปรารถนาดี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข มีไมตรีจิตมิตรภาพ แล้วก็ ‘กรุณา’ ความมีใจหวั่นไหวเมื่อเห็นผู้อื่นประสบความทุกข์ มีความสงสารอยากจะช่วยเหลือให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้น แล้วก็ 3 ‘มุทิตา’ ความยินดีบันเทิงใจเมื่อเห็นผู้อื่นได้ประสบผลดี ได้มีความสุข เห็นเขาได้ดีมีความสุขก็พลอยแช่มชื่นบันเทิงใจด้วย เรียกว่า “มีมุทิตาจิต” และประการสุดท้าย ‘อุเบกขา’ มีใจเป็นกลาง ราบเรียบ วางเฉยได้ เมื่อเห็นผู้อื่นเขาสามารถรับผิดชอบตัวเองได้ หรือว่าเขาควรจะรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง ก็มี 4 ประการ ธรรมะ 4 ประการนี้ ท่านบอกว่า ทำให้เป็นผู้มีจิตใจเสมอเหมือนกับพระพรหม
‘พรหม’ นั้นเป็นเทพที่ในศาสนาพราหมณ์ หรือศาสนาเดิมของอินเดียก่อนพุทธกาล ถือว่าสูงสุด เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้างโลก พราหมณ์ทั้งหลายนั้นก็มีความมุ่งหมายที่จะเข้าถึงพรหม สอนกันว่าจะต้องประพฤติปฏิบัติเพื่อจะเข้าถึงความเป็นพรหม หรือไปอยู่ร่วมกับพรหม ทีนี้วิธีปฏิบัติของพราหมณ์ทั้งหลายนั้น ที่จะไปอยู่ร่วมกับพระพรหม ก็บอกว่าจะต้องรู้จัก ‘พระเวทย์’ ‘พระเวทย์’ คือคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ 3 อย่าง เขาก็ถือกันมาอย่างนั้น พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาแล้ว ก็เคยมาสนทนากับพราหมณ์ทั้งหลายในเรื่องนี้ บอกว่า “ท่านทั้งหลายอยากจะอยู่กับพระพรหม ท่านจะไปด้วยอะไร” พราหมณ์ก็บอกว่า “ต้องไปด้วยรู้พระเวทย์ศาสตร์” พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกว่า “การที่จะไปอยู่กับพระพรหมนั้นน่ะ ท่านรู้จักพระพรหมไหม เป็นอย่างไร” ถ้าไม่รู้จักว่าพระพรหมเป็นอย่างไรแล้ว มันก็เหมือนกับว่า เราบอกว่าเราจะไปหาอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่เราก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน แล้วเราก็ทำบันได แล้วก็เอาบันไดนี้ร่อนไปเรื่อย ไม่มีที่ที่จะไปวาง ว่าจะวางขึ้นไป ณ ที่ใด คือไม่รู้จุดหมาย ก็ไม่มีประโยชน์
ทีนี้ การที่จะไปเป็นพรหมนั้น ก็ควรจะรู้ว่าพรหมเป็นอย่างไร ที่นี้ถ้าพรหมเป็นอย่างไร แล้วเราเอง ปัจจุบันนี้ เราประพฤติปฏิบัติเหมือนพรหมไหม ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติเหมือนพรหม เราจะไปอยู่กับพระพรหมได้อย่างไร ตรงกันข้าม ถ้าหากว่าพรหมมีความเป็นอยู่อย่างไร มีจิตใจอย่างไร เราก็ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น มีจิตใจอย่างนั้น ไม่ต้องพูดถึงสิ้นชีวิตแล้ว แม้ปัจจุบันนี้เราก็มีความเป็นอยู่ มีสภาพจิตใจเหมือนพรหมอยู่แล้ว เมื่อตายแล้ว มันก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ถ้าหากว่าจะไปเกิด ก็ต้องไปเกิดอยู่กับพรหม เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าท่านต้องการจะไปอยู่กับพรหม ท่านก็ต้องประพฤติ หรือทำจิตใจของตนเองให้เหมือนพรหม
พรหมนั้นก็ประกอบด้วยหลักธรรม คุณธรรมข้อสำคัญก็คือ มี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี้ ถ้าหากว่าในขณะท่านยังมีชีวิตอยู่นี้ ท่านก็มีจิตใจที่ฝึกอบรมให้ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อยู่แล้ว ท่านก็เป็นเหมือนพรหม หรือเสมอด้วยพรหมแต่บัดนี้แล้ว เพราะฉะนั้นท่านก็ไม่ต้องไปวิตกกังวลว่าเมื่อท่านตายแล้ว ท่านจะไม่ได้ไปอยู่ร่วมกับพระพรหม
พระพุทธเจ้าจึงสอนเขาให้ฝึกอบรมตนเองให้มีชีวิตจิตใจให้เหมือนพรหมแต่บัดนี้ นี่คือหลักปฏิบัติที่เรียกว่า ‘พรหมวิหารธรรม’ หรือธรรมประจำใจของพรหม ในทางพระพุทธศาสนาก็ได้เน้นหลักเรื่องพรหมวิหารนี้เป็นอันมาก ถ้าหากว่าเราทำจิตใจให้ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขานี้แล้ว ตนเองก็จะมีความสุข จิตใจมีความสุขสบายแช่มชื่นด้วย เมตตา กรุณา แล้วก็มีความบันเทิงด้วยมุทิตา แล้วก็มีความปล่อยวาง ราบเรียบ สงบเย็น ด้วยอุเบกขา ก็เป็นคุณธรรม เป็นสมบัติที่ดีงาม นอกจากว่าตนเองจะสงบสบายมีความสุข ก็แผ่ความร่มเย็นเป็นสุขนั้นไปยังเพื่อนมนุษย์ด้วย เพราะอยู่กันด้วยธรรมะ ด้วยคุณความดี ด้วยการที่ปรารถนาดีต่อกัน นี่เรียกว่าเป็น ‘พรหมวิหารธรรม’
ทีนี้ต่อจาก ‘พรหมวิหารธรรม’ ก็ถึงมาธรรมที่เรียกว่า ‘อริยธรรม’ ธรรมที่ทำให้เป็นอริยะ ธรรมที่ทำให้เป็นอริยะคืออะไร ธรรมที่เป็นอริยะนั้นในขั้นต้นที่สุด ท่านบอกว่า ก็คือศีล 5 นี่แหละ นี่มองดูคล้ายๆ ว่ากลับลงมาต่ำอีกแล้ว เมื่อกี้ขึ้นไปถึงพรหมแล้ว พอมาถึงอริยะ อ้าว กลับลงมาศีล 5 ยังกับข้อปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อทำให้เป็นมนุษย์ เพราะอริยะนั้นอาจจะมีความหมายได้ถึง 2 ระดับ คือ มีความหมาย มีขอบเขตกว้างขวาง ขั้นต้นที่สุดนั้น อริยะนั้นอาจจะแปลว่า ทำให้เป็นผู้ห่างไกล ห่างไกลในที่นี้คือ ห่างไกลจากความป่าเถื่อน ถ้าหากว่ามีศีล 5 แล้ว ก็ทำให้ห่างไกลจากความป่าเถื่อน เพราะสัตว์ทั้งหลายที่เรียกว่าเป็นสัตว์ป่านั้นก็เพราะว่ามีความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เอาแต่ความเห็นแก่ตัวเข้าว่า ก็อยู่ด้วยกันด้วยความเดือดร้อน ข่มเหงรังแกซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา แต่นี้เมื่อเป็นมนุษย์แล้วก็มีใจสูง ก็พ้นจากความป่าเถื่อนนั้น
การที่จะพ้นความป่าเถื่อนก็พ้นได้ด้วยศีล 5 เป็นข้อปฏิบัติเบื้องแรก เพราะฉะนั้นศีล 5 ก็กล่าวได้ว่า ‘เป็นอริยธรรม’ หรือทำคนให้เป็นอารยะ อารยะก็คือ ไกลจากความป่าเถื่อน ก็หมดความป่าเถื่อน หรือพ้นความป่าเถื่อนนั้นไป แต่ว่าในระดับสูงขึ้นมา อริยธรรมนั้นมีความหมายว่า ทำให้เป็นอริยะ คือทำให้เป็นผู้ห่างไกลจากกิเลสและความทุกข์ อันนี้ลึกซึ้งเข้าไปอีกเป็นเรื่องประณีตงดงาม เป็นอริยะในความหมายสูงสุด ถ้าเราพ้นจากความป่าเถื่อนมาได้แล้ว เราก็มีข้อปฏิบัติที่จะทำให้เป็นเทวดา เป็นพรหม ขึ้นมาตามลำดับ เราก็มีความประณีตลึกซึ้งมาเป็นขั้นตอน ตอนนี้ก็จะถึงตอนสุดท้าย ก็คือ ทำใจของเราเนี่ยให้พ้นจากกิเลสและความทุกข์ทั้งหมด ให้เป็นจิตที่ห่างไกลจากกิเลสและความทุกข์ จะห่างไกลจากกิเลสและความทุกข์ได้ ก็ด้วยอริยธรรม
อริยธรรมนี้มีอะไรบ้าง ท่านก็บอกว่าก็คือ ‘ธรรมะมีสติปัฏฐานเป็นต้น’ ธรรมะมีสติปัฏฐานเป็นต้น ก็คือ ‘โพธิปักขิยธรรม’ อย่างที่อาตมภาพได้เคยเล่าให้คุณโยมฟังแล้ว ก็คือ เรื่องโพชฌงค์ โพชฌงค์นั้นก็รวมอยู่ในโพธิปักขิยธรรม 37 ประการนี้ด้วย เป็นธรรมที่จะทำให้ห่างไกลจากกิเลสและความทุกข์ ถ้าจิตห่างจากกิเลสและความทุกข์ พ้นไปจากกิเลสและความทุกข์ได้ก็เป็นจิตที่สมบูรณ์ เป็นจิตที่พึงปรารถนาเป็นที่สุดนั่นเอง ฉะนั้นความเป็นอริยะก็มาอยู่ที่ขั้นสุดท้ายนี้
เพราะฉะนั้น ผู้ที่หวังความเจริญก้าวหน้างอกงามในการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา มุ่งหมายถึงความสุขอันสูงสุด ก็พึงปฏิบัติบำเพ็ญตามหลักอริยธรรม ได้แก่ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการนี้ มีสติปัฏฐาน 4 เป็นหมวดธรรมหมวดแรก สติปัฏฐาน 4 นั้นก็เป็นธรรมที่ว่าด้วยการตั้งสติหรือเจริญสติโดยเฉพาะ อย่างในโพชชงค์ที่กล่าวมานั้น อาตมภาพได้ชี้แจงไป จะเห็นว่ามี 7 ข้อ ข้อแรกเริ่มด้วย สติ สติเป็นข้อหนึ่งในโพชฌงค์ แต่ในหมวดสติปัฏฐานนี้ สติทั้งหมดเลย ทั้ง 4 ข้อ หมายความว่าเป็นเรื่องสติ เอามาขยายพิสดารไปข้อปฏิบัติอย่างเดียวล้วน
ในวันนี้อาตมภาพก็เลยกล่าวถึงลำดับการเจริญงอกงามของการประพฤติการก้าวหน้าในธรรมะ คำสอนของพระพุทธเจ้าสำหรับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย แต่สำหรับอริยธรรมในที่นี้ก็กล่าวแต่เพียงหัวข้อเท่านั้น นี้จะชี้แจงถึงตัวอริยธรรมถึง 37 ประการนั้นก็ไม่สมควรในเวลาอันสั้นนี้ ก็จะยกตัวอย่างแต่เพียงเรื่องสติมาพูดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นหัวข้อที่ 1 ในโพชฌงค์ที่กล่าวมาแล้ว แล้วก็เผอิญมาเป็นหมวดธรรมหมวดแรกในนี้ที่เรียกว่า “สติปัฏฐาน 4” อีก
‘สติ’ นั้น อาตมภาพได้กล่าวมาแล้วว่า มีลักษณะหน้าที่ในการที่ว่า จะดึงจิตเอาไว้กับอารมณ์ หรือดึงอารมณ์เอาไว้ให้จิต คือกล่าวในครั้งก่อนก็มี 2 ด้าน ก็คือ 1. ดึงอารมณ์ที่ผ่านไปแล้วมา ได้แก่ระลึกเรื่องอดีต ไม่ว่าคำสอนอะไร สิ่งที่ได้สดับตรับฟังเป็นความรู้ก็ระลึกขึ้นมา ดึงเอามาให้จิตอยู่ในบัดนี้ นั่นก็เรียกว่า ‘สติ’ หรือว่าสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เอาสติไปจับไว้ แล้วเอามาพิจารณา อันนั้นก็เรียกว่า ‘สติ’
ทีนี้จะเพิ่มการใช้งานสติอีกสัก 2 อย่าง สติใช้งานอีก 2 อย่างก็คือ การดึง การระลึกเอาอะไรสักอย่างหนึ่งไว้ให้เป็นหลักของจิต ระลึกอยู่เสมอ เช่น อย่างพุทธศาสนิกชนระลึกถึง พระรัตนตรัย ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เวลาจะทำอะไรต่ออะไร จิตพอนึกถึงพระพุทธเจ้า ถ้าจะทำชั่วก็หยุด หรือว่ามีความท้อแท้ที่จะทำดี พอนึกถึงพระรัตนตรัย จิตใจก็แช่มชื่น มีกำลังใจขึ้น อะไรก็ตามที่กำหนดไว้ให้จิตจับไว้เป็นหลักอยู่เสมอ นี่เป็นการใช้สติในแง่นี้ เหมือนอย่างบางท่านอาจจะตั้งจิตไว้บอกว่า ตั้งกำกับไว้ก่อนว่าเราจะไม่โกรธ พอตั้งเป็นหลักอย่างนี้แล้ว เวลาไปประสบอารมณ์อะไรก็ตามที่ยั่วยวนกวนใจ จิตก็มาระลึกถึงหลักที่ตัวตั้งไว้ให้นี้ ก็เราเรียกว่า ได้สติ ใจก็อยู่ ไม่ลุอำนาจความโกรธ เป็นต้น
คติธรรมอะไรก็ตามเป็นสุภาษิตอะไรเนี่ย ก็มีความมุ่งหมายในแง่นี้ คือเอามาให้สติจับไว้เพื่อจะได้เอามาใช้ในเวลาที่เกิดกรณีจำเป็น เพราะฉะนั้น คติธรรม คำสุภาษิตอะไรก็ตามที่โยมเห็นว่ามีประโยชน์ ก็เอามาไว้ประจำใจเสีย อย่างบางท่านตั้งไว้ว่า ระลึกถึงพุทธภาษิตว่า “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา” บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน พอนึกอย่างนี้แล้ว ใจก็ระลึกอยู่ในภาษิตนี้เสมอ ทำงานทำการอะไรก็เป็นไปเพื่อฝึกตน
ทีนี้บางท่านตั้งสุภาษิตว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ตนเป็นที่พึ่งของตน ตั้งไว้ประจำใจ เวลาทำอะไร ใจก็มาระลึกถึงอันนี้อยู่เสมอ ก็ทำให้เป็นคนที่พยายามทำอะไรเพื่อพึ่งตนเอง นี้เป็นลักษณะการใช้สติเหมือนกัน และเป็นวิธีเจริญสติด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการให้สติเจริญงอกงามก็เอาอะไรมาอย่างหนึ่ง ตั้งเป็นคติไว้ให้จิตจับ และระลึกอยู่เสมอ อย่างนี้ ระลึกอยู่เนืองๆ ก็เป็นอนุสสติไป นี้เป็นวิธีหนึ่ง
แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ แทนที่จะเอาอะไรมาตั้งไว้เป็นหลักให้แน่นอน แล้วเอาจิตนี้เข้าไปจับอันนั้น ก็กลับเป็นว่าเอาสติเนี่ยไปจับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตามตลอดเวลาเลย อันนี้ได้แก่วิธีปฏิบัติที่เรียกว่า อยู่กับปัจจุบัน เราจะทำงานทำการอะไร แม้แต่ขยับเขยื้อน เคลื่อนไหว ก็ให้มีสติกำหนด จิตอยู่กับสิ่งนั้นไม่เลื่อนลอยไป เพราะธรรมดาจิตใจของเรา มักจะติดไปในอารมณ์ที่เข้ามากระทบ เมื่ออะไรมากระทบแรง จิตของเราจะไปข้องอยู่กับสิ่งนั้น ทั้งๆ ที่เวลานี้เรากำลังทำสิ่งอื่น หรือว่าเราผ่านสิ่งนั้นไปแล้ว แต่จิตของเราก็ไปข้องขัดอยู่กับสิ่งที่กระทบนั้น ก็เลยไม่อยู่กับปัจจุบัน ท่านเรียกว่า “ตกอดีต” หรือคิดสร้างภาพไปกับสิ่งนั้น ไปถึงกาลข้างหน้า ก็เป็นลอยไปในอนาคต การที่ตกอดีตก็ตาม ลอยไปในอนาคตก็ตาม เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความทุกข์ ทุกข์ของเราส่วนมากเกิดจากการตกอดีตและลอยไปในอนาคต จากการปรุงแต่ง นี่ถ้าสามารถทำจิตให้เกาะอยู่กับปัจจุบัน สิ่งกำลังเกิดขึ้น กำลังกระทำอยู่ได้ จิตก็จะหายจากความกระทบกระทั่งนั้น หายจากความทุกข์ จิตที่อยู่กับปัจจุบันได้จะเป็นจิตที่ไม่มีทุกข์
เพราะฉะนั้น วิธีใช้สติอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เอาสติมากำหนดกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบัน กำลังเคลื่อนไหว เช่น กำลังรับประทานอาหารอยู่ ถ้าอยู่คนเดียวบางทีใจฟุ้งซ่าน โกรธอะไรมา ทั้งๆ ที่กำลังรับประทานอาหาร มือกำลังตักอาหารอยู่แต่ใจไม่ได้อยู่ที่นั่น ใจไประลึกถึงเรื่องที่กระทบกระเทือนใจนั้น แล้วก็คิดปรุงแต่งไป ก็บีบคั้นใจตัวเอง ก็มีความทุกข์ มีความคับข้องต่างๆ ขุ่นหมอง ถ้าได้สติก็คือว่าเอาสตินี้มาใช้กำหนดการกระทำของตนเอง กำลังรับประทานอาหาร ตอนนี้มือยกขึ้น กำลังมือยกออกไป กำลังตัก ตักแกง ยกขึ้นมา เอามาใส่ปาก กำลังเคี้ยว จิตอยู่กับการกระทำปัจจุบันตลอดเวลา ถ้าอย่างนี้แล้ว ความทุกข์ที่เกิดจากการปรุงแต่งในอดีตนั้นก็หายไปทันที นี้เป็นวิธีแก้ปัญหาได้อย่างหนึ่ง แก้ความทุกข์ได้อย่างหนึ่ง เป็นการทดลองได้เห็นผลฉับพลันทันที ถ้าหากว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจิตปรุงแต่ง หรือเกี่ยวกับการตกอดีตอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าทำได้อย่างนี้ ให้หันมากำหนดปัจจุบันในทันที ทุกข์นั้นจะหายไป
อันนี้ก็เป็นวิธีใช้สติให้เป็นประโยชน์ ซึ่งก็เข้าหลักสำคัญที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า “สติปัฏฐาน” นั่นเอง คือการใช้สติกำหนดสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบัน หรือให้สติอยู่กับปัจจุบัน นี้เป็นวิธีการ แสดงว่าธรรมะนั้นมีวิธีใช้บางทีก็ใช้ได้มากมายหลายอย่าง อย่างสติอย่างเดียวนี้ก็มีวิธีปฏิบัติได้อย่างที่ อาตมภาพแสดงมาโดยหลักใหญ่ๆ ถึง 4 ประการแล้ว แต่อันสุดท้ายนี้เป็นการเข้าสู่หลักสำคัญที่เรียกว่า “สติปัฏฐาน” ที่เป็นธรรมะอันเป็นอริยธรรม หรือทำใจให้เป็นอริยะ ให้ห่างไกลจากกิเลสและความทุกข์ เมื่อปฏิบัติได้จิตใจก็จะห่างจากกิเลสและความทุกข์ หรือพ้นจากกิเลสและความทุกข์นั้นไปจริงๆ
อาตมภาพก็นำมาแสดงพอเป็นตัวอย่างให้เห็นแนวทางของการปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้า วันนี้ยกเอาสติมาเป็นตัวอย่างของอริยธรรม ก็ได้แสดงมาเป็นขั้นเป็นตอนโดยลำดับถึงธรรมะที่จะทำให้บุคคลเจริญขึ้นมาเป็นมนุษย์เรียกว่า “มนุษยธรรม” ทำให้เป็นเทวดาเรียกว่าเป็น “เทวธรรม” ทำให้เป็นพรหมเรียกว่า “พรหมวิหารธรรม” และทำให้เป็นพระอริยะ เรียกว่า “อริยธรรม” ก็คิดว่าพอจะเป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติและก็พอสมควรแก่เวลา ก็ขออนุโมทนาโยมเท่านี้ เจริญพร