แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
วันนี้คิดว่าจะพูดเรื่องพระบ้าง สร้างพระก็คือการบวช บวชแล้วก็ประพฤติปฏิบัติธรรม ให้เรียกว่าบำเพ็ญสมณธรรมหรือประพฤติพรหมจรรย์ นี้การที่ปฏิบัติธรรมของพระนี่ต้องมีจุดมุ่งหมาย จุดมุ่งหมายที่แท้นั้นอยู่ที่ไหน ถ้าหากไม่รู้จุดมุ่งหมายที่แท้การปฏิบัติก็ผิดพลาดหรือไม่ก็ไปหลงอยู่ท่ามกลางในระหว่างในสิ่งที่ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาในพระสูตรหนึ่งของพระพุทธเจ้าก็ตรัสถึงสิ่งที่เป็นจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะสำหรับพระสงฆ์ เรียกสิ่งที่เป็นจุดมุ่งหมายนั้นว่าเป็นแก่นหรือเป็นตัวสาระแล้วก็เปรียบเทียบกับการที่คนเข้าป่าไปหาต้นไม้เพื่อจะตัดเอาแก่นไม้ไป เข้าอุปมานั้นก็มีว่า เหมือนกับคนผู้หนึ่งเข้าไปป่าเพื่อจะไปตัดเอาแก่นไม้แล้วก็เจอเอากิ่งใบของต้นไม้เข้า ก็ไปพอใจเข้าแค่กิ่งใบเหล่านั้นแล้วก็เลยตัดเอาแต่กิ่งไม้ ใบไม้ แบกกลับบ้านก็เลยไม่ได้แก่นไม้ นี่ก็แบบหนึ่งมีอีกคนหนึ่งก็มุ่งจะไปตัดแก่นเอาแก่นไม้เหมือนกันแต่ว่า ไปเจอเอาเขาเรียกกะเทาะไม้ กะเทาะไม้นี่ก็เป็นส่วนที่อยู่ด้านนอกของเปลือกอีกทีหนึ่ง ไปพบกะเทาะไม้ก็ไปตัดเอ้ยไปขูดหรือไปแคะเอาแค่กะเทาะไม้ไปเอามาแล้วก็ขนกลับบ้านก็พอใจแค่นั้น แล้วอีกคนหนึ่งก็ไปด้วยความประสงค์เช่นเดียวกัน แล้วก็ไปได้เอาเปลือกไม้มา อีกคนหนึ่งไปได้ลึกเข้ามาอีกหน่อยได้เอากระพี้ไม้มา แล้วคนสุดท้ายได้เขาถึงแก่นที่แท้จริงก็ตัดได้แก่นไม้มา คำอุปมาเหล่านี้พระองค์ตรัสขึ้นเพื่อจะเปรียบเทียบเหมือนกับคนที่ได้เข้ามาบวชหรือมาปฏิบัติในพระพุทธศาสนา บางทีก็มาติดอยู่แค่กิ่งใบของพระพุทธศาสนา หรือกิ่งใบของธรรมะ อะไรคือกิ่งใบของพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าตรัสว่า กิ่งใบนั้นก็คือ ลาภสักการะ ชื่อเสียง เพราะว่าผู้ที่เข้ามาบวชแล้วนี้ก็ได้รับความเคารพนับถือประชาชนก็มีศรัทธาเลื่อมใส ตนเองก็อาจจะประพฤติปฏิบัติดีพอสมควรก็ได้เกิดลาภสักการะ ได้รับชื่อเสียงเกียรติยศ ความยกย่องนับถือต่างๆถ้าเกิดความหลงความเพลิดเพลินอยู่ในลาภสักการะชื่อเสียงเหล่านั้น อาจจะลืมถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริง ถ้าลืมก็หยุดอยู่แค่นั้นก็เลยไม่ก้าวหน้าต่อไปนี้ก็เหมือนกับคนที่เข้าป่า จะไปตัดเอาแก่นไม้แต่ว่าไปได้แค่กิ่งและใบของต้นไม้ต้นนั้น คราวนี้ต่อไปผู้ที่สอง ผู้ที่สองนั้นก็ไม่หลงเพลิดเพลินในลาภสักการะและชื่อเสียง แต่ก็ไปติดในความดีแค่ความประพฤติภายนอก ที่เรียกว่าศีล เพราะศีลนั้นก็เป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญไม่ว่าพระสงฆ์หรือชาวบ้านถ้าเป็นผู้มีศีลมีความประพฤติดีงามก็ได้รับความยกย่องในทางธรรมะมาก โดยเฉพาะพระสงฆ์นั้นศีลก็เป็นเรื่องใหญ่ก็เป็นข้อปฏิบัติที่ปรากฏที่มองเห็นได้ง่าย หลายท่านก็เลยไปติดอยู่แค่ศีลเพลิดเพลินหรือว่าพอใจ ในการที่ตนได้รักษาศีลได้ดีการรักษาศีลได้ดีนั้นก็เรียกว่ามี ศีลสัมปทา ความถึงพร้อมหรือสมบูรณ์ด้วยศีล เมื่อไปเพลิดเพลินพอใจในศีลของตนแล้วก็จะเป็นเหตุให้หยุดชะงัก ไม่ได้ขวนขวายที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่สูงขึ้นไป พระองค์เปรียบบุคคลที่พอใจในการปฏิบัติแค่ศีลนี้ว่าเหมือนกับได้แค่กะเทาะไม้แล้วก็หยุดแค่นั้น ขนเอากลับบ้านไป ต่อไปบางท่านก็ไม่ได้หลงเพลิดเพลินอยู่แค่ศีลก็ยังปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปอีก คือบำเพ็ญในเรื่องสมาธิ บำเพ็ญสมาธิก็อาจจะได้ผลสำเร็จชั้นสูงเช่น พวก ฌาน สมาบัติ สมาธินั้นก็เป็นเหตุให้ได้ความสุขได้ความสงบ ก็อาจจะทำให้เกิดความพอใจได้เป็นอย่างมาก เมื่อพอใจเพลิดเพลินก็อาจจะติดอยู่แค่นั้น ผู้ปฏิบัติธรรมไม่น้อยก็มาติดอยู่แค่สมาธิ บำเพ็ญสมาธิได้สมบูรณ์เรียกว่าสมาธิสัมปทา แล้วก็เป็นอันว่าไม่งอกงามต่อไป ไม่ก้าวไปสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเปรียบท่านที่มาติดอยู่แค่สมาธิว่าเหมือนกับได้เปลือกไม้ไป ก็ยังไม่ถึงแก่นไม้ ต่อไปอีกบางท่านก็ไม่ติดอยู่แค่สมาธิ บำเพ็ญสมาธิแล้วก็ยังมีสติระลึกรู้ ว่าจะต้องปฏิบัติต่อไปให้ก้าวหน้าในพระพุทธศาสนาก็บำเพ็ญในขั้นปัญญา ในขั้นปัญญาก็บำเพ็ญจนกระทั่งได้ในสิ่งที่เรียกว่า ญานทัศนะ ญานทัศนะนั้นก็แปรว่าการรู้การเห็น แต่การรู้การเห็นที่เรียกว่า ญานทัศนะ ท่านอธิบายไว้หลายอย่าง อย่างง่ายก็เรียกว่าได้วิปัสสนา ได้วิปัสสนาญาน ที่เกิดจากการบำเพ็ญวิปัสสนาบางที่ท่านก็อธิบายว่าได้ ทิพยจักษุ คือการที่มีตาทิพย์มองเห็นสิ่งทั้งหลายที่ไกลๆ ผ่านทะลุสิ่งกั้นขวางไปได้การได้ตาทิพย์ก็ดีหรือการได้ปัญญาที่เกิดจากวิปัสสนา เรียกว่าวิปัสสนาญานอะไรก็ตาม จะรวมอยู่ในคำว่าญานทัศนะนี้ ก็เอากันง่ายๆว่าต่อจากสมาธิก็คือเจริญก้าวหน้าในปัญญา ปัญญานั้นก็เป็นธรรมะชั้นสูงแล้วปกติก็ถือว่าเป็นธรรมะที่สำคัญยิ่งในการที่จะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาแต่มันก็ยังเป็นเพียงอุปกรณ์เป็นเครื่องมือที่จะให้เข้าถึง ก็ยังไม่นับว่าเป็นการเข้าถึงที่แท้จริง บางท่านก็เลยกังวลกับเรื่องปัญญาในขั้นญานทัศนะนี้ พอใจที่ได้ญานทัศนะก็เลยหยุดอยู่แค่นั้นอีกอันนี้พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับคนที่เข้าป่าจะไปตัดเอาแก่น เอาแก่นไม้แล้วก็ได้แค่กระพี้ไป ทีนี้อะไรเล่าคือแก่นของพระพุทธศาสนา ที่เป็นจุดหมายที่แท้จริง ก็ตรัสต่อไปว่า บางคนก็ไม่เพลิดเพลินไม่หลงติดอยู่แค่ญานทัศนะ ไม่หลงตลอดแหละ ลาภสักการะก็ไม่หลงติด ศีลก็ไม่หยุดไม่ทำให้หยุดอยู่ สมาธิก็ไม่เป็นเครื่องกีดกั้น ปัญญาก็ไม่ทำให้ท่านหยุดพอใจปฏิบัติต่อไปจนกระทั่งในที่สุดก็ได้บรรลุจุดหมาย จุดหมายในที่นี้ท่านเรียกว่า เจโตวิมุตติที่ไม่กำเริบ หรือ อาสญวิโมกข์(อา-สา-ยะ-วิ-โมก) ความหลุดพ้นของจิต จิตที่หลุดพ้นเป็นอิสระจากกิเลสและความทุกข์ทั้งปวงอันนั้นคือแก่นของพรหมจรรย์จุดหมายของพระพุทธศาสนาเมื่อใดที่สามารถทำจิตใจให้หลุดพ้นเป็นอิสระได้ ให้พ้นจากกิเลสและความทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงนั่นจึงจะถึงจุดหมาย ธรรมะที่กล่าวมานั้นเบื้องต้นก็ล้วนแต่สำคัญทั้งนั้นจะเป็นปัญญา เป็นสมาธิ เป็นศีลก็มีความสำคัญที่จะให้เข้าถึงจุดหมายนี้ แม้แต่ลาภสักการะก็เป็นเครื่องใช้ ถ้าใช้ให้ถูกต้องก็เป็นเครื่องเอื้ออำนวยเกื้อกูลที่จะให้ปฏิบัติให้ก้าวหน้าเหมือนกัน ก็ต้องใช้ให้ถูกต้อง ตกลงว่าสิ่งเหล่านี้ในเบื้องต้นนั้นเป็นสิ่งเกื้อกูลแต่ต้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกแล้วก็ ต้องระลึกไว้เสมอว่าจุดหมายของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ใด จุดหมายนั้นก็คือความมีจิตหลุดพ้นเป็นอิสระดังกล่าวแล้วผู้ใดได้ปฏิบัติมาจนกระทั่งเข้าถึงความหลุดพ้นที่กล่าวนี้ก็เรียกว่าเข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนา เหมือนกับคนที่เข้าป่าไปเพื่อจะตัดเอาแก่นไม้แล้วก็ได้แก่นไม้สมความปรารถนาแบกกลับบ้านไป อันนี้ก็เนื้อความของพระสูตรหนึ่งที่ท่านเรียกชื่อว่า มหาสาโรปมสูตร พระสูตรที่เปรียบมีข้อเปรียบเทียบกับแก่นไม้ อาตมาภาพก็นำมาแสดงพอเป็นเครื่องประดับความรู้ให้เห็นแนวทางของข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาพอสมควรแก่เวลาวันนี้ก็ขอยุติเพียงเท่านี้