แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ทีนี้ในระยะต่อมา อย่างที่อาตมากล่าวเบื้องต้นว่า ยิ่งเวลานานผ่านไปเราห่างพระพุทธเจ้าออกมา การศึกษาเล่าเรียนการปฏิบัติขยายวงออกไป เราต้องการสิ่งที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ให้ชัดเจนมากขึ้น มีลำดับขั้นตอนที่มันซอยละเอียดขึ้น เราก็เลยมีการแบ่งลำดับออกไปให้ชัดยิ่งขึ้นอีก ฉะนั้นในวิสุทธิ 7 ในระยะหลังต่อมา ในคัมภีร์ซึ่งถือว่าอยู่ในพระไตรปิฎกเองก็อย่างคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคนี้ เป็นพระไตรปิฎกเล่มหนึ่ง อยู่ในเล่มที่ 31 ก็จะมีการแบ่งซอยเรื่องญาณขึ้นมา แล้วก็คัมภีร์รุ่นหลังก็รับเอามาใช้วางเป็นแบบไว้ อย่างคัมภีร์วิสุทธิมรรค แล้วก็คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งถือเป็นแม่บท เป็นหลักในการปฏิบัติ ในการเล่าเรียนศึกษาในวงการพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนี้ยึดถือกันตามนี้
อันนี้ก็มีการซอยที่สำคัญก็คือ ในวิสุทธิข้อที่ 6 เรียกว่า ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ตอนที่ว่าความบริสุทธิ์แห่งความหยั่งรู้หยั่งเห็นที่แน่วไปในทาง อันนี้ได้มีการซอยว่ามีญาณเกิดขึ้นหลายอย่าง ญาณในระหว่างนี้ทั้งหมด เรียกว่าเป็นวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณคือญาณที่เป็นวิปัสสนา หมายความว่าจะเป็นวิปัสสนาแท้นี้ ก็คือมาถึงวิสุทธิข้อที่ 6 ที่เรียกว่า ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ก็คือตัวปฏิปทานั้นคือตัววิปัสสนานี้ มาเกิดขึ้นในตอนนี้ เพราะวิปัสสนานี้ก็เป็นตัวปฏิปทา เป็นทางปฏิบัติ เป็นข้อปฏิบัติที่จะให้บรรลุจุดหมาย เป็นตัวแท้ตัวจริง แล้ววิปัสสนาก็มาเกิดขึ้นตอนนี้ นี้วิปัสสนาญาณ ญาณที่นับว่าเป็นวิปัสสนานี้ ท่านแบ่งซอยถึง 9 อย่างด้วยกัน อาตมาก็เลยจะเอามาอ่านให้ฟัง หรือเอามาพูด เล่าให้ฟัง อย่างที่บอกแล้วว่าอย่าไปมัวติดอยู่กับชื่อ แล้วก็ไม่ต้องมาพะวงกับเรื่องจำนวนตัวเลขมากนัก
วิปัสสนาญาณ 9 ก็เริ่มตั้งแต่ 1. อุทยัพพยญาณ แปลว่าญาณที่หยั่งรู้ถึงการเกิดขึ้นแล้วก็สลายไป หมายความว่าตอนนี้ปัญญาจะพัฒนาถึงขั้นที่มองเห็นรูปธรรมนามธรรมนี้เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป ตอนก่อนนี้ได้พูดมาแล้วว่าทิฏฐิวิสุทธิก็มีปัญญาหยั่งเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นเพียงรูปธรรมนามธรรม มองเห็นนามรูป มองเห็นตามสภาวะแล้ว ทำให้ไม่หลงติดในสมมติบัญญัติ อันนั้นก็เห็นเป็นนามรูปจริง แต่ว่ายังไม่มองเห็นความเกิดขึ้นดับไป ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญซึ่งจะทำให้เห็นไตรลักษณ์ ให้เห็นอนิจจัง ตอนนี้มาถึงอุทยัพพยญาณนี้ ก็เป็นอันว่าได้มองเห็นอาการที่รูปธรรมนามธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับสลายไป เกิดขึ้นดับไป เพราะอันนี้ก็เกิดจากการปฏิบัติที่ว่าได้เอาสติไปกำหนดดูอารมณ์ปัจจุบัน ดูการที่มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปจนกระทั่งเห็นความจริงของการที่มันไม่เที่ยงนั้น
นี้ต่อจากการมีญาณเห็นการเกิดขึ้นดับไปแล้ว ก็ไปสู่ญาณที่ 2 ท่านเรียก ภังคญาณ ญาณหยั่งเห็นความสลาย อันนี้ก็ต่อเนื่องจากข้อที่ 1 หยั่งเห็นความสลาย คือเห็นความดับ เมื่อกี้นี้เห็นความเกิดและความดับ เมื่อได้ใช้ปัญญาพิจารณาและคอยตามดูรู้ทันสิ่งต่างๆ เนี่ย ต่อมาส่วนที่เด่นก็คือความดับ แล้วก็ปัญญาจะหยั่งเห็นชัดในส่วนของความดับนั้น เพราะว่าคนเรานี้ตามปกติ คนนี้จะมองตามสามัญของชีวิตปุถุชนนี้ ไปยึดถือมองแต่การเกิดขึ้นใหม่ แล้วก็กลัวความสลาย อันนี้ผู้ที่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาตามดูรู้ทันก็จะค่อยๆ มองเห็นชัด ความเกิดขึ้น ความดับไป แล้วก็มาชัดในส่วนที่เป็นความดับไป ดับไป ทีนี้เมื่อเกิดการเห็นความดับแล้ว กิเลสเก่าของคนเรานี้ยังมีอยู่เพราะเรากำลังอยู่ในระหว่างปฏิบัติ ก็จะเกิดญาณประเภทที่เป็น ถ้าเราพูดอย่างง่ายๆ ก็เป็นฝ่ายปฏิกิริยาตรงข้ามเกิดขึ้น ต่อไปจะเกิดญาณที่เรียกว่า ภยญาณ
ภยญาณ ก็แปลว่าความหยั่งรู้หยั่งเห็นภัย หรือความหยั่งรู้หยั่งเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะคนเราธรรมดานี้กลัวต่อการดับการสลาย อย่างชีวิตนี้ถ้าสลายก็หมายถึงความตาย โดยมากคนเรานี้จะกลัวความสลาย ความแตก ความดับ อันนี้พอมองเห็นความดับความสลายไปนี้ ก็จะเกิดความหยั่งรู้หยั่งเห็นว่านามรูปหรือสภาวธรรมสิ่งทั้งหลายนี้ล้วนเป็นของที่น่ากลัว มองเห็นเป็นภัยไป พอเกิดความเห็นอย่างนี้แล้ว ก็จะสืบทอดไปด้วยญาณข้อต่อไปที่เรียกว่า อาทีนวญาณ
อาทีนวญาณ ก็คือการมองเห็นโทษ การมองเห็นส่วนเสียข้อบกพร่อง ก็คือการที่มีปัญญาไปหยั่งเห็นหยั่งรู้ในข้อเสียข้อบกพร่องของสภาวธรรมทั้งหลาย มองเห็นว่ารูปธรรมนามธรรมนี้ โอ้ ที่เรายึดถือไว้ แล้วมองแต่ในส่วนข้างดี หลงใหลยึดถือมัวเมาอะไรต่างๆ นั้น สภาวะที่แท้จริงแล้ว เป็นสิ่งที่มีโทษ เป็นสิ่งที่มีข้อบกพร่อง ไม่น่าเอา ไม่น่ายึดถือ ไม่น่าลุ่มหลงมัวเมา อันนี้มันจะเกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมา อันนี้เป็นญาณในข้อที่ 4 ที่เรียกว่า อาทีนวญาณ จึงจะทำให้เกิดความไม่ลุ่มหลงมัวเมา อันนี้จะเป็นเหตุให้เกิดญาณข้อต่อไป เป็นข้อที่ 5 เรียกว่า นิพพิทาญาณ
นิพพิทาญาณ ก็ความหยั่งรู้ที่ทำให้เกิดความหน่าย ความหน่าย ความปล่อยออกไปได้ ในเมื่อเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นรูปธรรมนามธรรมทั้งหลายนี้ มีส่วนที่เป็นโทษ มีข้อเสียข้อบกพร่องต่าง ๆ แล้ว แล้วก็ไม่ควรจะลุ่มหลงมัวเมา ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น มันก็เป็นธรรมดาที่จะเกิดความหน่ายออกไป ที่เคยยึดเคยติดผูกพัน ก็จะหน่ายออกมา ตอนนี้ก็จะเป็นญาณที่ทำให้เกิดความหน่าย ซึ่งเป็นต้นทางที่จะทำให้เกิดความเป็นอิสระ สลัดตัวออกมาได้ แต่ตอนนี้เรายังถือว่า เป็นญาณประเภทปฏิกิริยาอยู่ เขาว่ามันเหมือนกับว่าเคยยึดถือเคยหลงมาตอนนี้ พอเห็นความจริงแบบนี้ กลับเหมือนจะแล่นไปในทางตรงข้าม ทีนี้ความแล่นไปในทางปฏิกิริยานี้ก็ยังมีต่อไปอีก ต่อไปก็จะมีญาณตามจากนิพพิทาญาณที่เป็นความหน่ายนั้น มาเป็น มุญจิ-ตุกัมยตาญาณ
มุญจิตุกัมยตาญาณ แปลว่าความหยั่งรู้ที่ทำให้เกิดความปรารถรถนาจะพ้นไปเสีย อันนี้แหละ พอหน่ายแล้วทีนี้แรงขึ้นไปอีก ก็คืออยากจะพ้นไปเสียเลย อยากจะหนี อยากจะหลุด อยากจะพ้นไป อยากจะเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านั้น อยากจะเป็นอิสระจากนามรูป จากรูปนามทั้งหลาย แล้วต่อจากนั้นเมื่ออยากจะพ้น อยากจะหลุดไป ก็ต้องหาทางออกว่าจะพ้นได้อย่างไร
เมื่อคิดหาทางออก พิจารณาหาทางที่จะพ้นไปเสียก็พิจารณาทบทวนอีก ก็นำรูปธรรมนามธรรมหรือสังขารทั้งหลายนั้นมาพิจารณาด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความจริง ตอนนี้ปัญญาที่พิจารณาเหมือนกับทบทวนความจริง ปัญญาที่พิจารณาเหมือน กับทบทวนความจริงของสภาวธรรมของสังขารหรือรูปนามนี้ ก็เป็นญาณอีกอันหนึ่งเรียกว่า ปฏิสังขาญาณ พอปฏิสังขาญาณ พิจารณาทบทวนความจริงแล้ว ก็จะทำให้เกิดความหยั่งรู้ขั้นต่อไป
ความหยั่งรู้ขั้นต่อไปนี้จะหายปฏิกิริยา จะเกิดภาวะที่มาจากญาณที่เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ สังขารุเปกขาญาณก็คือญาณที่ทำให้วางใจเป็นกลางต่อสังขาร ตอนนี้ในความหยั่งรู้ที่ถึงสัจธรรมมากขึ้น เพราะว่าเมื่อพิจารณาถึงความจริงอย่างแท้จริงแล้วเนี่ย มันก็จะไม่มีปฏิกิริยา ก็มองเห็นว่ารูปธรรมนามธรรมสังขารสิ่งทั้งหลายนี้ มันก็เป็นไปตามสภาวะ เป็นไปตามธรรมชาติของมัน มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปมีปฏิกิริยาทั้ง 2 ด้าน จะไปยึด ไปถือ ไปจับ ไปเอาเป็นของเรามันก็เป็นไม่ได้ มันก็ไม่ถูกต้อง แต่ว่าจะไปเกลียด ไปชัง ไปหน่าย ไปแหนง อะไรต่อมัน มันก็ไม่ถูกต้องเหมือนกัน ฉะนั้นก็จะเกิดการวางใจอย่างถูกต้องต่อสังขาร ต่อรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย
อันนี้คือภาวะที่เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ ญาณที่ทำให้เกิดการวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ตอนนี้วางใจได้ถูกต้องพอดีแล้ว แต่ก่อนนี้ ตอนต้นทีเดียว ก็รักใคร่ลุ่มหลง ยึดถือไปตาม มัวเมาไปตาม ถูกมันชักจูงไป ตอนนี้ ต่อมาก็เกิดปฏิกิริยาอยากจะผลัก จะหนี รังเกียจ หน่าย ต่อมาถึงตอนนี้เกิดความรู้จริงถึงขั้นสมบูรณ์แล้ว วางใจเป็นกลางว่ามันก็เป็นไปตามสภาวะของมัน อันนี้พอวางใจเป็นกลางได้เนี่ย จิตก็จะเห็นทางเป็นอิสระ คือมันพร้อมที่จะเป็นอิสระ การที่วางใจเป็นกลาง โดยเข้าใจเท่าทันความจริง วางใจถูกต้องมันก็โน้มไปสู่ความเป็นอิสระ โดยที่จะเข้าถึงสัจธรรมที่แท้จริง
ตอนนี้เราจะได้มาถึงขั้นที่เกิดญาณอันใหม่ เป็นข้อสุดท้าย ข้อที่ 9 ในวิปัสสนาญาณ เรียกกันง่ายๆ ว่า อนุโลมญาณ หรือเรียกเต็มว่า สัจจานุโลมิกญาณ แปลว่าญาณที่สอดคล้องกับการที่จะได้เห็นสัจธรรมหรือว่าญาณที่สอดคล้องกับการหยั่งรู้อริยสัจ เพราะว่าเมื่อใจวางถูกต้องแล้ว เห็นความจริงถ่องแท้ มันก็มีความพร้อม สอดคล้องกับการที่จะเข้าถึงสัจธรรมโดยสมบูรณ์ อันนี้ก็เป็นอันว่าจบวิปัสสนาญาณ 9
นี้คือเป็นการซอย ให้เห็นรายละเอียดของวิสุทธิข้อที่ ๖ อย่างเดียว อันนี้วางเป็นหลักกันมาเรียกว่า วิปัสสนาญาณ 9 มี 9 ประการนี้