แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร ระยะที่ผ่านมานี้ มีงานประเพณีสำคัญงานหนึ่ง คืองานลอยกระทง การลอยกระทงนั้น ก็มีคำถามว่า ลอยไปเพื่ออะไร ลอยไปไหน ก็มีคำตอบกันหลายอย่าง บ้างก็บอกว่าเป็นการขอขมาลาโทษพระแม่ คงคา เพราะว่าในแต่ละปีนั้นเราเป็นอยู่เราก็ทิ้งข้าวของสกปรกลงไปมาก และก็เราก็ เล่นในน้ำทำการไรสมควรบ้างไม่สมควรบ้าง ถึงปี เราก็มาขอขมาโทษท่านครั้งหนึ่ง หรือบ้างก็ว่า เป็นการลอยกระทงไปเพื่ออุทิศบูชาแด่รอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทา ที่ชายหาดฝั่งน้ำนัมมทา
ที่นี้อาตมภาพก็เลยมานึกถึงเรื่อง พระพุทธบาทนี่แหละ อันนี้เข้าคติพระพุทธศาสนา แม่น้ำนัมมทานั้นก็อยู่โน่น อยู่ในประเทศอินเดีย เป็นแม่น้ำตั้งแต่สมัยพุทธกาล และพระพุทธบาทที่อยู่ชายหาดฝั่งแม่น้ำนัมมทานี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นรอยพระพุทธบาทแห่งแรกที่พระพุทธเจ้าได้ประทับไว้ วันนี้อาตมภาพก็เลยคิดว่าจะเล่าเรื่องพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทา
เรื่องนี้ก็ไปเกี่ยวข้องกับประวัติของพระมหาสาวกองค์หนึ่ง ชื่อว่าพระปุณณะ เรียกเต็มว่าปุณณะสุนาปรันตะ ก็มีความเป็นมาว่า ท่านพระปุณณะเนี่ย เกิดอยู่ที่เมืองท่าชื่อสุปปารกะ เมืองท่าก็อยู่ชายทะเล และก็อยู่ในแคว้นสุนาปรันตะ ท่านมีน้องอยู่คนหนึ่งเป็นผู้ชายเหมือนกัน สองคนนี้เติบโตขึ้นมาแล้วก็ประกอบการค้าขาย โดยเป็นหัวหน้ากองเกวียน นำกองเกวียนจำนวนมาก ตำนานเค้าบอกว่า 500 เล่ม แต่ในภาษาบาลีเรื่องอะไรๆ ก็ 500 กันทั้งนั้น โจรก็ 500 พระอรหันต์ก็ 500 เนี่ยเกวียนก็ 500 ก็คือมากนั่นเอง ก็นำกองเกวียนเนี่ย จำนวนมาก ไปค้าขายตามหัวเมืองต่างๆ เวลาไปก็ผลัดกัน คราวนี้พี่ชายปุณณะนำกองเกวียนไป อีกคราวหนึ่งก็ให้น้องนำไป ก็ทำกันมาอย่างนี้ จนกระทั่ง คราวหนึ่งท่านปุณณะก็เป็นผู้นำกองเกวียน ก็ค้าขายไปตามหัวเมืองต่างๆ เรื่อยไปรายทาง จนกระทั่งมาถึงเมืองสาวัตถี และก็บังเอิญก็มาพักกองเกวียนอยู่ใกล้ ใกล้พระเชตวัน พระเชตวันนี้เป็นวัดใหญ่ วัดที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับมากที่สุด และก็หุงหาอาหารรับประทานกันตอนเช้า พอรับประทานอาหารเสร็จก็นั่งพักกัน
ทีนี้คนชาวเมืองสาวัตถีนั้น เค้ารับประทานอาหารเช้าเสร็จ เค้าก็จะแต่งกายเรียบร้อย ถือธูปเทียน และก็เดินทางมายังพระเชตวัน ไปที่พระวิหาร เพื่อที่จะฟังธรรม ขณะที่นำนักการบริวารกำลังนั่งพักอยู่นั้น ก็มองเห็นชาวเมืองสาวัตถีนี่แหละ พากันแต่งตัวเรียบร้อย เดินกันมาเดินกันมาไปที่พระเชตวัน ก็สงสัยว่าเค้าเดินไปไหน ก็อดไม่ได้ ก็ถามว่า พวกท่านเดินทางไปไหนกัน แต่งตัวเรียบร้อยสวยงามถือดอกไม้ของหอมไป ชาวพวกนั้นก็บอกว่าจะเดินทางไปฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าที่พระวิหารในเชตวัน
ปุณณะได้ฟังก็เกิดความสนใจ ก็นึกอยากจะไปฟังบ้าง ก็เลยชวนบริวาร และก็พาบริวาร ไปที่พระเชตวัน พอไปถึงก็ในพระวิหารนั้น คนก็มากแล้ว ก็จะเต็ม แกก็เลยไปยืนอยู่ท้ายที่ประชุม และก็ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ปุณณะได้ฟังแล้วก็มีความเลื่อมใสมาก เลื่อมใสถึงขนาดว่าอยากจะบวช ก็เลยเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า หลังจากฟังพระธรรมเทศนาเสร็จ และก็ทูลนิมนต์ว่าวันรุ่งขึ้นขอถวายทานแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นิมนต์ไปที่บริเวณที่ตั้งกองเกวียนนั้น ก็ถวายภัตตาหารเสร็จแล้ว จากนั้นแล้วก็ได้ทูลขอพระพุทธเจ้าว่าอยากจะขอบวช ก็เลยตกลง ก็เรียกคนคุมของมา และก็มอบหมายทรัพย์สมบัติข้าวของต่างๆ บอกว่าให้นำกองเกวียนนี้ กลับไปมอบสมบัติให้แก่น้องชาย และตนเองก็เลยมาบวชอยู่กับพระพุทธเจ้า
ก็เป็นอันว่านายปุณณะ ชาวแคว้นสุนาปรันตะเนี่ย ก็ได้บวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า บวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติบำเพ็ญกรรมฐาน แต่ท่านบำเพ็ญกรรมฐานอยู่ที่สาวัตถียังไงๆ ก็ไม่สำเร็จผล คราวหนึ่งก็เลยมาคิดว่า เอ้ เราอยู่ที่นี่ ที่มันไม่เหมาะกันเนี่ย เดินทางกลับไปบ้านเราเดิมดีกว่า ไปบำเพ็ญภาวนาที่นั่นอาจจะได้ผลดีกว่าก็ได้
คิดอย่างนี้แล้วก็เลยจะไปลาพระพุทธเจ้า ก็เข้าไปขอพระโอวาทว่า ข้าพเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจะไปอยู่ถิ่นห่างไกล ก็ขอโอวาทไว้จะได้นำไปประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็สั่งสอนและตรัสถามบอกว่าท่านจะไปอยู่เมืองไหนล่ะ ท่านปุณณะก็ตอบบอกว่า จะไปอยู่ที่แคว้นสุนาปรันตะ พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกว่า เนี่ยนะ แคว้นสุนา
ปรันตะเนี่ย มีชื่อเสียงขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่คนดุร้าย นี่ถ้าตอนปุณณะเนี่ย เป็นผู้มาบวชในพุทธศาสนา แปลกจากชาวท้องถิ่น ตอนนั้นชาวสุนาปรันตะเค้าคงยังไม่รู้จักพุทธศาสนา ท่านไปนี่คนจะแปลก เป็นคนแปลกหน้า และก็ชาวสุนาตะ สุนาปรันตะเค้าอาจจะทำร้ายหรืออะไรก็ได้
ท่านก็เลยถาม ถามพระปุณณะบอกว่า นี่นะ ชาวสุนาปรันตะ ที่เค้าดุร้ายน่ะ ถ้าท่านไปแล้วเค้าด่าว่าท่านเนี่ย บริภาษท่านต่างๆ ท่านจะตั้งใจอย่างไร พระพุทธเจ้าก็ทดสอบดูว่า พระปุณณะไปอยู่โน่นจะเกิดปัญหาหรือไม่ ปุณณะก็ตอบบอกว่าถ้าหากว่าข้าพเจ้าไปอยู่ในแคว้นสุนาปรันตะแล้ว ชาวบ้านแถวนั้นเค้าดุร้ายแล้ว เค้าด่าว่าข้าพเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าก็จะตั้งใจว่า นี่นะยังเป็นการดีนักหนาที่เค้าแค่ด่าว่าเค้าไม่ตบตีเอา
พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามต่อไปว่า เออ และก็ถ้าเค้าตบตีล่ะ แล้วท่านจะว่ายังไง จะคิดยังไง ท่านปุณณะก็ตอบว่า ข้าพเจ้าก็จะคิดว่าที่เค้าตบตีนี้ยังดีนักหนา ดีกว่าเค้าเอาก้อนหินก้อนดินขว้างเอา
พระพุทธเจ้าก็ตรัสรุกต่อไป อ้าว แล้วถ้าเค้าเอาก้อนดินก้อนหินขว้าง ท่านจะคิดยังไง ปุณณะก็ตอบบอกว่าข้าพเจ้าก็จะคิดว่า นี่ก็ยังดีนักหนา ดีกว่าเค้าเอาท่อนไม้มาทุบตีเอา
พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามต่อไปอีก แล้วถ้าเค้าเอาท่อนไม้ทุบตีล่ะ ท่านจะคิดอย่างไร พระปุณณะก็ตอบบอกว่า ก็คิดว่า ยังดีที่เค้าไม่เอามีด ไม่เอาศัสตรามาแทงฟันเอา
พระพุทธเจ้าก็ถามอีก แล้วถ้าเค้าเอามีดเอาศัสตรามาแทงฟันเอา แล้วท่านจะว่ายังไง คิดยังไง พระปุณณะก็บอกว่า ก็ยังดีที่เค้าไม่ฆ่าซะให้ตายเลย
พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามจนถึงที่สุด เอ้า แล้วถ้าเค้าฆ่าท่านให้ตาย แล้วท่านจะคิดยังไง พระปุณณะก็บอกว่า มีหลายท่าน บางท่านเนี่ย บางคนคิดอยากจะฆ่าตัวตาย ก็ยังต้องไปเที่ยวหามีดหาพร้าหาศัสตรามา แต่คราวนี้ เราเนี่ย ไม่ต้องหามีดหาศัสตรา ก็มีคนเอามีดเอาศัสตรามาช่วยแทงฟันฆ่าให้ตายเอง เนี่ย พระปุณณะก็ตอบพระพุทธเจ้าอย่างนี้ แสดงถึงการมีความอดทนอย่างถึงที่สุด
พระพุทธเจ้าเมื่อได้ฟังพระปุณณะทูลตอบอย่างนั้นแล้วก็ประทานสาธุการ บอกว่า ดีละ ดีละ ปุณณะ อย่างนี้ท่านจะอยู่ได้ในแคว้นสุนาปรันตะ ก็เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าก็อนุโมทนา อนุญาตให้พระปุณณะเดินทางไป
พระปุณณะก็เดินทางกลับไป แล้วท่านก็กลับไปอยู่ที่ถิ่นเดิมของท่าน ซึ่งก็มีน้องชายอยู่แล้ว และก็ไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ จนกระทั่งถึงเข้าพรรษา
ทีนี้ต่อมา ก็มีเรื่องราวทางฝ่ายน้องชายว่า เมื่อเข้าพรรษาแล้วนั้น น้องชายของท่านเกิดคิดจะไปแสวงโชคเสี่ยงภัยในทางทะเลบ้าง ตามปรกตินั้นเป็นคนที่ไปหากินทางบกนำกองเกวียน แต่คราวนี้จะลงทะเล นี้ในสมัยโบราณนั้น การเดินทางทางทะเลเนี่ยเป็นการเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเรือก็เล็ก แล้วก็การเดินทางก็ยังต้องอาศัยความชำนาญ ไม่มีเครื่องมืออย่างดีเหมือนสมัยนี้ น้องชายของท่านปุณณะเนี่ยก็จะลงทะเลไปเสี่ยงโชคพร้อมกับคนอื่นๆ อีกจำนวนมาก ก็จะลงเรือ เมื่อจะลงเรือ น้องชายของท่านปุณณะก็มาหาพี่ชายบอกว่า นี่นะ ผมจะขอลา ลงเรือไปเสี่ยงภัยแสวงโชคในถิ่นห่างไกล ขอหลวงพี่ช่วยสอดส่องด้วยนะ และก็ลาไป
ทีนี้ก็ลงเรือใหญ่พากันไปในทะเล จะไปห่างไกลมาก แต่ว่าระหว่างทางนั้น ไปไม่นานเท่าไหร่ก็ไปถึงเกาะแห่งหนึ่ง พอไปถึงเกาะแห่งหนึ่งนั้น ก็เห็นว่าควรจะพักผ่อนกัน และเกาะนั้นก็มีต้นไม้ดูร่มรื่นดี ก็คิดว่าจะไปพักผ่อนสักระยะหนึ่ง ก็แวะที่เกาะนั้น ขึ้นไปบนเกาะ ระหว่างที่พักผ่อนกันนั้น ก็มีคนหนึ่งเข้าไปในป่า แล้วก็ไปเจอต้นไม้จันทร์แดง ต้นจันทร์แดงนั้นอ่ะมีค่ามาก ราคาแพงเหลือเกิน ทีนี้ปรากฏว่า ป่าบนเกาะนั้นเต็มไปด้วยไม้จันทร์แดง พวกพ่อค้าเหล่านี้ มีน้องชายของท่านปุณณะ เป็นต้น พอรู้ว่าเกาะนั้นมีป่าไม้จันทร์แดงมากก็ดีใจมาก ก็คิดว่าเราไม่ต้องเดินทางต่อไปแล้ว เอาแค่เกาะนี้ก็พอ ตัดไม้จันทร์แดง เอาลง สินค้าอะไรที่มันไม่จำเป็นก็ทิ้งมันไปเลย ไม้จันทร์แดงมีค่ามากกว่าเยอะแยะ เอาไปก็รวยแล้ว ก็เลยตกลงช่วยกันตัดไม้จันทร์เนี่ยลงเรือจนเต็ม แล้วก็เดินทางกลับ ไม่เดินทางต่อกันแล้ว เลิกเสี่ยงภัยกัน
แต่ทีนี้ตำนานท่านเล่าบอกว่า พวกเทวดาที่รักษาป่าไม้จันทร์แดงนั่นอ่ะ เมื่อพวกพ่อค้าทั้งหลายมาโค่นต้นไม้ในป่านี้ ก็มีความโกรธเป็นอันมาก ก็คิดจะทำอันตราย แต่ก็คิดว่า ถ้าหากจะทำซะให้ตายบนเกาะก็จะเหม็นเน่าบนเกาะนี้ น่ารังเกียจเปล่าๆ ก็รอให้ลงเรือไปในทะเล และจะให้ตายในกลางทะเล จะได้หมดเรื่อง ไม่เลอะเทอะเกาะ ด้วย พอพวกพ่อค้าเหล่านี้ลงเรือ ออกเดินทางจากเกาะไปได้ไม่นาน พวกอมนุษย์เทวดาเหล่านี้ ก็บันดาลให้เกิดพายุแรง พายุมาจนน่ากลัว และก็แสดงตนหลอกหลอนด้วยประการต่างๆ พวกพ่อค้าเหล่านี้ก็มีความหวาดกลัวเป็นอันมาก ก็พากันอ้อนวอนเทวดาต่างๆ ฝ่ายน้องชายของพระปุณณะนี้ก็เลยระลึกถึงพี่ชาย
ส่วนพระปุณณะนั้น ตอนนี้ก็เป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญฌาน ได้บำเพ็ญธรรมมามากแล้ว เป็นผู้ที่กล่าวว่ามีฤทธิ์ ท่านก็รู้เหตุการณ์นั้น ท่านรู้ว่าน้องชายนั้นระลึกถึง อยากจะขอความคุ้มครองให้ปลอดภัย ท่านก็เลยเหาะมา แล้วก็ปรากฏตัวขึ้นที่หน้าเรือนั้น พอปรากฏตัวขึ้นที่หน้าเรือนั้น พวกอมนุษย์ทั้งหลายก็หวาดกลัว ก็พากันหลบ หนีกลับไป ลมพายุก็สงบ ก็เป็นอันว่าเรือนั้นก็ปลอดภัย
เมื่อเรือนั้นปลอดภัยแล้ว พวกพ่อค้า รวมทั้งน้องชายของพระปุณณะ ก็เดินทางกลับมายังถิ่นเดิมโดยสวัสดิภาพ เมื่อเดินทางกลับมาถึงแล้ว ก็มีความสำนึกในคุณของท่านปุณณะเป็นอันมาก ต่างก็พากันพาครอบครัวของตนเอง และก็พากันขอเคารพนับถือ เอาพระปุณณะเป็นที่พึ่ง พระปุณณะก็เลยบอกว่าให้นับถือพระรัตนตรัย ก็เลยพากันถือสรณคมน์ เป็นอุบาสกอุบาสิกา
ทีนี้ก็ นอกจากนั้นแล้ว พ่อค้าเหล่านั้นก็เลยคิดอยากจะตอบแทนคุณท่านปุณณะ ก็เอาไม้จันทร์แดงจำนวนหนึ่งเนี่ย ที่ตนเอามาในเรือ แบ่งเอามาถวายท่านปุณณะ พระปุณณะก็บอกว่า ท่านไม่มีกิจไม่มีงานอะไรที่ต้องใช้ไม้จันทร์เหล่านี้หรอก ก็เลยแนะบอกว่า เอาอย่างนี้ดีกว่า เอาไม้จันทร์เหล่านี้ สร้างศาลาถวายพระพุทธ เจ้า ก็ตกลงเป็นอันว่า ให้เอาไม้จันทร์นั้น ซึ่งเป็นจันทร์แดง สร้างศาลาถวายพระพุทธเจ้า ให้ชื่อว่าจันทนศาลา
พระปุณณะก็ถามคนเหล่านั้นว่า นี่ พวกท่านทั้งหลายเนี่ย อยากจะเห็นพระพุทธเจ้ามั้ย คนเหล่านั้นก็บอกว่าอยากจะเห็น ปุณณะก็บอกว่า ถ้ายังนั้นนะ ฉันจะไปนิมนต์พระพุทธเจ้ามา พวกท่านจะได้เฝ้าแล้วจะได้ฟังธรรมของพระองค์ด้วย ก็เป็นอันว่าตกลง พระปุณณะก็ไปนิมนต์พระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าก็เลยเดินทางเสด็จมาพร้อมด้วยพระสาวกเป็นอันมาก นี้เมื่อเดินทางมานั้น ก็เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวกจำนวนมาก เดินทางมายังแคว้นสุนาปรันตะ ก็เดินทางมา ในระหว่างทางพระพุทธเจ้าได้เสด็จแวะที่ภูเขาลูกหนึ่ง ชื่อว่า ภูเขาสัจจพันธ์คีรี ที่ภูเขานี้มีดาบสท่านหนึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนในถิ่นนั้น ดาบสผู้นี้ก็สั่งสอนประชาชนในลัทธิของตน พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงก็เห็นว่า ท่านสอนเป็นมิจฉาทิฐิทำให้คนเชื่อถือผิด ก็เลยมาโปรดท่านดาบสสัจจพันธ์นี้จนกระทั่งท่านสัจจพันธ์นี้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็ได้บวช และเป็นพระอรหันต์
พระพุทธเจ้าก็พาท่านสัจจพันธ์พระดาบส ซึ่งบวชเป็นพระแล้วเนี่ย เดินทางมายังแคว้นสุนาปรันตะด้วย ก็เดินทางมาถึงแคว้นสุนาปรันตะ ก็ไปพักอยู่ที่จันทนศาลานี้ ก็ได้แสดงธรรมโปรดชาวบ้าน และก็ได้เสด็จเที่ยวบิณฑบาต พักอยู่นั้นสองสามวัน แล้วเสร็จแล้วพระองค์ก็เสด็จกลับ
ระหว่างทางที่เสด็จกลับมาเนี่ย ก็ผ่านที่แม่น้ำนัมมทา เนี่ย เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพระพุทธบาท เสด็จมาถึงที่แม่น้ำนัมมทา ที่แม่น้ำนัมมทานั้น ตำนานกล่าวว่ามีนาคราชผู้หนึ่งอาศัยอยู่ นาคราชนี้ก็เลยต้อนรับพระพุทธเจ้า แล้วก็นำไปสู่ที่อยู่ของตน เมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับ นาคราชนี้ก็บอกว่า ขอสิ่งของไว้เป็นที่ระลึก ไว้บูชาสักอย่างหนึ่ง ก็เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่ชายหาดริมแม่น้ำนัมมทา
นี่เป็นรอยพระพุทธบาทที่กล่าวว่าเป็นแห่งแรก เป็นที่ระลึกสำหรับพระยานาคราชที่แม่น้ำนัมมทานั้น หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าก็เสด็จเดินทางต่อไป และก็ย้อนมาก็มาถึงภูเขาสัจจพันธ์ที่ขาไปได้แวะทีหนึ่งแล้ว เมื่อถึงภูเขาสัจจพันธ์ พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกท่านสัจจพันธ์พระดาบสที่บวชเป็นพระแล้ว ซึ่งเป็นพระอรหันต์แล้ว
พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งบอกว่า ท่านสัจจพันธ์ เนี่ย จงอยู่ที่นี่แหละ สั่งสอนโปรดประชาชนที่ถิ่นของท่านเดิม จะได้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง ไม่ต้องตามไปกับพระองค์ไปยังสาวัตถี ตกลงพระอรหันต์สัจจพันธ์ก็เลยอยู่ประจำที่ภูเขาสัจจพันธ์ แต่ท่านก็ได้ขอร้องพระพุทธเจ้าว่า ขอสิ่งของที่ระลึกไว้สำหรับบูชาต่อไปด้วยพระพุทธเจ้าก็จึงได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้เป็นแห่งที่สองที่ภูเขาสัจจพันธ์นั้น ยังมีคาถาที่เราสวดกันเวลาพระทำวัตรเนี่ย ท่านก็จะสวดถึงรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าประทับไว้ที่ต่างๆ ก็จะสวดถึงแม่น้ำนัมมทา และก็ภูเขาสัจจพันธ์คีรีนี้ด้วย
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่สัจจพันธ์พอสมควรแล้ว ก็เดินทางพร้อมด้วยพระอรหันต์ทั้งหลายที่เหลือนั้น กลับสู่พระเชตวันดังเดิม
เรื่องราวของพระสุนาปรันตะ และก็เรื่องพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทาก็นับว่าจบลงได้ ส่วนท่านปุณณะนั้น ท่านก็อยู่ที่แคว้นของท่าน และต่อมา ก็ได้ปรินิพานก่อนพระพุทธเจ้า คืออายุน้อย อายุสั้นกว่าพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่ทราบว่า ตอนที่ท่านบวชนั้นท่านอายุเท่าไหร่ ก็ไม่ได้บอกไว้ชัดเจนในตำนาน
เรื่องราวของพระปุณณะก็เป็นอันว่ามีเท่านี้ เป็นอันว่าเราได้รู้จักประวัติของพระสาวกสำคัญองค์หนึ่ง ซึ่งท่านอยู่ในจำนวนที่เราเรียกว่าอสีติมหาสาวก แปลว่า มหาสาวก 80 องค์ ที่เป็นชั้นผู้ใหญ่ ก็อยู่เช่น พระสารีบุตร พระโมคัลลานะ พระอานนท์ อะไรเนี่ย ก็อยู่ในจำพวกอสีติมหาสาวกนี้
อาตมาก็ได้เล่าเรื่องรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทามาเป็นเวลาพอสมควร พระพุทธศาสนิกชนก็ลอยกระทงกันทุกปี ซึ่งตำนานก็กล่าวว่าการลอยกระทงนี้ จุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งก็เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทาด้วย ลอยกระทงที่เราลอยนั้นอ่ะ มันคงไปไม่ถึงหรอก เพราะแม่น้ำนัมมทาอยู่ถึงประเทศอินเดีย ถ้าจะไปถึงก็ต้องผ่านทะเลไปด้วย แต่นี่เป็นกุศลเจตนา คือความตั้งใจอุทิศ หมายความว่าเราลอยกระทงนี้ จิตของเราอุทิศบูชาแด่รอยพระพุทธบาทนั้นที่แม่น้ำนัมมทานั้น ก็เมื่อตั้งใจเป็นกุศลอย่างนี้แล้ว ก็ถือว่าจิตเป็นบุญ เมื่อจิตเป็นบุญแล้ว ก็เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ทำให้เกิดอานิสงส์ เช่นจิตใจผ่องใสเบิกบานเป็นสุข ก็นับว่าเป็นผลที่ดีงามเกิดแก่ตน
อาตมาแสดงเรื่องพระมหาสาวกชื่อ ปุณณะ และรอยพระพุทธบาทที่ริมแม่น้ำนัมมทา ก็พอสมควรแก่เวลา วันนี้ก็ขอยุติแต่เพียงเท่านี้