แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร วันนี้รายการเล่าเรื่องให้โยมฟัง ก็มาถึงหลักความเจริญของอารยชน หรือ ความเจริญของอริยสาวก ข้อที่ 5 ซึ่งเป็นข้อสุดท้าย ได้แก่ ปัญญา ปัญญานี้ก็ แปลกันง่ายๆ ว่า ความรู้ แต่ความรู้นั้นมี 2 อย่าง ในหลักความเจริญ 5 ประการที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็มีข้อที่ 3 แปลว่า ความรู้ เหมือนกัน ข้อที่ 3 ก็คือ สุตะ อาตมภาพเคยพูดถึงความแตกต่างระหว่าง สุตะ กับ ปัญญา มาครั้งหนึ่งแล้ว ก็เอามาทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า สุตะ ก็หมายถึงความรู้เหมือนกัน แล้วก็ ปัญญา ก็ความรู้ แล้วความรู้ 2 อย่างนี้ต่างกันอย่างไร
สุตะ คือความรู้ที่ได้สดับมาได้เล่าเรียน ได้ฟัง ได้อ่านมา มาจากคนอื่น มาจากที่อื่น แล้วเรารับเข้ามา อันนี้เราเรียกได้ว่า สุตะนี้เป็นความรู้ของคนอื่น ถึงแม้จะมาอยู่ในตัวเราแล้ว รับเข้ามาแล้ว เรารู้ เราพูดได้ เอามาเล่าให้กันฟัง แต่ว่า มันก็ยังเป็นความรู้ของอื่น เพราะเรารับฟังมา คนอื่นเขาเล่าให้ฟัง หรือว่าเป็นเรื่องที่คนอื่นเขารู้เขาค้นพบ เราได้ยินต่อมา เราเล่าเราก็เล่าเรื่องของคนอื่น หรือว่าเป็นความรู้ของคนอื่น ต่อเมื่อใดเราเข้าใจในสุตะ ในความรู้ที่ได้ฟังมานั้น เกิดเป็นความรู้ ความเข้าใจของตัวเราเอง ความรู้ ความเข้าใจที่กลายเป็นของตัวเราแล้วเนี่ย อันนี้เราเรียกว่า ปัญญา เพราะฉะนั้นในแง่นี้ก็แยกง่ายๆ ก็บอกว่า สุตะคือความรู้ของคนอื่น หรือมาจากที่อื่น ปัญญานั้นคือความรู้ ความเข้าใจของตัวเราเอง
ปัญญานั้นมีความสำคัญมาก ท่านบอกว่า ปัญญานี่แหละเป็นตัววินิจฉัยสุตะ ความรู้ที่ได้รับมาจากคนอื่น ได้เล่าเรียนมา อ่านมาอะไรนั่นนะ ยังใช้การอะไรจริงจังไม่ได้ เอามาก็ได้แต่พูดให้กันฟังไปอย่างนั้นเอง บางทีก็กลายเป็นบอกให้คนอื่นว่า นี่ฉันก็รู้นะ เพราะเราอาจจะใช้ความรู้นั้นไม่เป็น ต่อเมื่อใดมีปัญญาจึงจะเอาสุตะ หรือความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ได้
ปัญญา ความเข้าใจที่สามารถเอาสุตะไปใช้ประโยชน์นี่ ก็เป็นปัญญาเหมือนกัน ก็เป็นปัญญาที่เป็นความรู้ของเรา เริ่มตั้งแต่เราเข้าใจสุตะนั่นแหละ เข้าใจว่ามันคืออะไร แล้วก็เอามาใช้ประโยชน์สำหรับตัวเราได้ ปัญญาที่เอาสุตะ มาใช้นั้น นั่นแหละคือ สิ่งที่เป็นประโยชน์แท้จริง ท่านบอกว่าปัญญาเป็นตัววินิจฉัยสุตะ มีเป็นพุทธพจน์ว่า ปญฺญา สุตวิจฺฉินี ปัญญาเป็นตัววินิจฉัยสุตะ คือว่า บอกได้ว่า ความรู้อันนี้สำหรับใช้กับเรื่องอะไร จะมีประโยชน์อะไร ในกรณีไหน จะเลือกเอาสุตะไหนมาใช้ บางคนมีสุตะมากมาย แต่ใช้ไม่เป็น เพราะว่าไม่มีปัญญา บางคนมีสุตะน้อย ได้ยินได้ฟังความรู้น้อย แต่ปัญญาดี สามารถคิดคาดเหตุการณ์แก้ไขปัญหาได้ ทีนี้ถ้ามีมากทั้ง 2 แบบอย่าง ก็ยิ่งดีที่สุด คือ มีสุตะ มีความรู้ ที่ได้เล่าเรียนมาก็มาก แล้วมีปัญญา สามารถเอาความรู้นั้นมาใช้ด้วย
ปัญญานั้นท่านมาวางไว้เป็นข้อสุดท้าย ในหลักความเจริญ 5 ประการ ก็เพราะเป็นตัวคุม เป็นตัวสำคัญที่สุด ที่เรียงไว้ท้าย ไม่ใช่หมายความว่าเป็นตัวเล็กน้อยที่สุด แต่เป็นตัวใหญ่ที่สุด หมายความว่า คุมท้ายหมด เพื่อจะให้ 4 อย่างข้างต้นนั้นได้ผลดีจริงๆ
อย่างข้อที่ ๑ ศรัทธา ความเชื่อ ก็ต้องมีปัญญากำกับ ถ้าไม่มีปัญญากำกับ ศรัทธาหรือความเชื่อนั้นอาจจะเป็นเชื่อเหลวไหล เชื่องมงาย เชื่อผิดเชื่อถูกอะไรก็ไม่แน่ พอมีปัญญาแล้วก็มีเหตุมีผล รู้จักตัดสินว่า อ๋อ สิ่งนี้ควรเชื่อหรือไม่ แล้วก็ถ้าเชื่อไปแล้ว ต่อมาเราอาจจะเชื่อยังไม่ถูกต้องทีเดียวนัก ก็ขัดเกลาความเชื่อนั้น ให้มันถูกต้องสมบูรณ์ขึ้น หรือละเอียดลออขึ้น
ศีลก็เหมือนกัน ศีลก็ความประพฤติ ศีล ก็ต้องมีปัญญากำกับ มิเช่นนั้นก็รู้แต่หลักความประพฤติ ประพฤติไปประพฤติมา โดยการถือตามตัวอักษร บางทีก็เรียกว่า เป็นสีลัพพตปรามาส คือ ยึดถือศีล ปฏิบัติถือศีล โดยงมงายไปก็มี ศีลก็ต้องรู้จุดหมายว่า อ้อ ศีลประพฤติปฏิบัติเพื่ออะไร ควรประพฤติแค่ไหน แล้วก็รู้ว่า ศีลนี้อย่างไรจึงจะบกพร่อง อย่างไรจึงจะสมบูรณ์ นี่ปัญญาเป็นตัวที่จะช่วยได้ทั้งนั้น ปัญญาก็จะเป็นตัวช่วยในการที่จะประพฤติศีล
สุตะ ก็อย่างที่อธิบายไปแล้วว่า ต้องมีปัญญาเข้าใจความรู้ที่ได้รับมาจากผู้อื่น ที่ได้เล่าเรียน และรู้จักใช้ประโยชน์ สุตะนั้นก็เกิดประโยชน์แท้จริงขึ้น
แล้วก็จาคะ การเสียสละ การเสียสละกิเลสภายในก็ตาม หรือเสียสละวัตถุสิ่งของภายนอกก็ตาม ก็ต้องอาศัยปัญญาทั้งสิ้น ปัญญารู้ว่า อ๋อ อันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเราอันนี้ไม่ดี เศร้าหมองเป็นกิเลส เป็นความชั่วร้าย ควรจะกำจัด แล้วจะกำจัดอย่างไร ก็ต้องรู้วิธีกำจัด ปัญญาก็ต้องมาใช้หมด แล้วก็จะเสียสละภายนอก ก็ต้องรู้ว่าควรจะสละอะไร ในกรณีไหน สละไปแล้วจะเป็นประโยชน์แท้จริงหรือไม่ แล้วก็รู้ว่าในโอกาสใด จะมีเรื่องอะไรให้สละ ถ้าไม่มีปัญญา ก็แม้จะอยากสละ ก็อาจสละไม่เป็น สละไม่ได้ประโยชน์ก็มี ถึงโอกาสที่ควรสละก็ไม่รู้ก็มองผ่านข้ามโอกาสไปเสีย
ตกลงว่าปัญญานี้แหละ เป็นตัวที่กำกับควบคุมสำหรับหลักความเจริญทั้งหมดทั้ง 5 ประการ แล้วเป็นตัวช่วยให้เจริญยิ่งขึ้นไป ทีนี้ปัญญานี้มีมาในหลายชื่อ เช่น มีชื่อเรียกว่า สัมปชัญญะบ้าง มีชื่อเรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิบ้าง มีชื่อเรียกว่าเป็นโยนิโสมนสิการบ้าง เป็นวิปัสสนาบ้าง เป็นปฏิสัมภิทาบ้าง มีชื่อมากมายหลายอย่าง ก็คือปัญญาในระดับต่างๆ กันบ้าง หรือที่ใช้ในโอกาส ในลักษณะต่างๆ กันบ้าง
นี้ในเมื่อปัญญามีเป็นเรื่องกว้างขวางมาก ก็คิดว่าจะเอาปัญญามาพูดเป็น แต่ละแง่ละแง่ ในแต่ละชื่อ ปัญญา ชื่อหนึ่ง ก็คือความฉลาด ความฉลาดก็เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา ภาษาพระท่านเรียกว่า โกศล หรือ โกสัลละ โกศล แปลว่า ความฉลาด ความฉลาด หรือ โกศล หรือเรียกแบบบาลีว่า โกสัลละ มี 3 อย่างคือ
1. ฉลาดในความเจริญ เรียกว่า อายโกศล รู้ว่าอะไรเป็นความเจริญ รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะเจริญ อะไรเป็นเหตุให้เจริญ อย่างนี้เรียกว่า อายโกศล
2. ฉลาดในความเสื่อม เรียกว่า อปายโกศล รู้ว่าอย่างไรจึงจะเรียกว่าเสื่อม ทำอย่างไร เหตุอะไร ทำให้มันเสื่อม
แล้วข้อสุดท้ายก็คือ ฉลาดในวิธีการ เรียกว่า อุปายโกศล หรือฉลาดในอุบายนั่นเอง ได้แก่ ฉลาดในอุบายที่จะหลีกเลี่ยงความเสื่อม แล้วก็ในวิธีการที่จะสร้างทำให้เกิดความเจริญ
คนเราจะต้องมีความฉลาดครบ 3 ประการนี้ ไม่ว่าจะใช้ประโยชน์อย่างที่เรียกว่าในทางโลก หรือว่าจะใช้ในการปฏิบัติทางธรรมะ ก็มีโกศลทั้ง 3 ประการนี้ เช่น อย่างเราทำการค้า คนที่ทำการค้าก็ต้องรู้ว่า ที่กิจการของเราจะเจริญนั้นน่ะ มันมีลักษณะอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้น มีเหตุการณ์อย่างไร นี่แสดงว่าเป็นความเจริญ หรือได้ผลดี เจริญก้าวหน้า ทีนี้ฉลาดในความเสื่อม ก็รู้ว่า ถ้ามีเครื่องหมายอย่างนี้เกิดขึ้น มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น หรือมีอะไรเกิดขึ้นในกิจการของเราอย่างนี้แล้ว แสดงว่านี่จะเสื่อมแล้ว แล้วก็อันสุดท้าย ก็คือ ฉลาดในอุบาย ในวิธีการที่ว่า แล้วทำอย่างไร จึงจะหลีกเลี่ยงความเสื่อม แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วก็ทำให้เจริญต่อไป
มาเทียบเอามาใช้ในทางธรรมะ ในการปฏิบัติ เช่น อยากเจริญกรรมฐาน เจริญกรรมฐานก็ต้องรู้ว่า มันเจริญอย่างไร มันเสื่อมอย่างไร เช่นว่า มานั่งสมาธิ ถ้าเกิดมีความรู้สึกสงบขึ้น จิตใจแน่วแน่มั่นคง มีปีติ ความอิ่มใจ มีปัสสัทธิ เราก็รู้ว่า อ๋อ อันนี้เป็นความเจริญ แสดงว่าการปฏิบัติของเราก้าวหน้าแล้ว แต่ถ้าตรงข้าม มีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น มีความรู้สึกง่วงเหงาต่างๆ เกิดขึ้น เป็นถีนมิทธะ ก็รู้ว่าอันนี้เป็นความเสื่อมเกิดขึ้นแล้ว พอรู้จักทั้งความเจริญ และความเสื่อม เราต้องการแต่ความเจริญ ก็ต้องแก้ปัญหา ก็ต้องฉลาดในวิธีการ โอ ตอนนี้จิตฟุ้งซ่านแล้ว จะเสื่อม จะแก้ไขอย่างไร ก็ฉลาดในวิธีการ ท่านบอกต้องใช้วิธีการอย่างนั้นๆ ก็นำเอาวิธีการนั้นมาแก้ไข แล้วก็จะให้เจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติยิ่งขึ้นไป หรือว่า สิ่งที่ดีงามเกิดขึ้นในใจของเราแล้ว เช่นว่า มีปีติ มีปัสสัทธินี่ หรือมีตลอดจนกระทั่งสมาธิเกิดขึ้นแล้ว เราจะรักษามันไว้ได้อย่างไร ก็มีวิธีการในการทำให้เกิดผลอย่างนั้น ความฉลาดในวิธีการ ก็เป็นอุปายโกศล ก็ต้องมีพร้อมทั้ง 3 ประการนี้
นี้คือหลักเรียกว่า ความฉลาด หรือโกสัลละ 3 ประการ ใช้ได้ทุกอย่าง อย่างที่บอกว่าทั้งในทางโลก และทางธรรม ใช้ได้ในกิจการทั่วไป ในการเจริญกรรมฐาน ในการศึกษาเล่าเรียน อะไรทุกอย่าง เพราะฉะนั้นวันนี้อาตมภาพก็นำเอาหลักเรื่องโกศล 3 ประการนี้ มาเล่าให้โยมฟัง พอเป็นความรู้ประกอบเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องปัญญา เพราะว่าปัญญามีเรื่องมาก อาจจะได้เล่ากันต่อๆ ไป
มันมีเรื่องเล่าพิเศษอันหนึ่ง คือเรื่องเกี่ยวกับปัญญานี้เหมือนกัน ว่า มีเรื่องเล่าพิเศษอันหนึ่งคือเรื่องเกี่ยวกับปัญญานั้นเหมือนกัน ว่า คนที่มีปัญญานั้น บางทีก็อาจจะเผลอไผลได้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือคิดไม่ถึง เขาเล่าบอกว่านักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ใหญ่ ก็แสดงว่ามีปัญญามาก กว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ใหญ่ นี่ก็ต้องมีความรู้ แล้วก็ได้ใช้สติปัญญาทำการค้นคว้าทดลอง มาจนประสบความสำเร็จ ที่บ้านแก ก็ในห้องทำงาน เวลาทำงานแกก็ปิดประตู แกก็มีแมวอยู่ 2 ตัว แมว 2 นี้ ก็ตัวใหญ่ตัวหนึ่ง ตัวเล็กตัวหนึ่ง มันก็คอยจะมาเข้าในห้องแกบ้าง เข้ามาแล้วเดี๋ยวมันก็จะออกบ้าง แกก็ต้องคอยไปเปิดปิดประตูให้มันเรื่อย ทำงานก็อาจจะเสียสมาธิ แล้วก็ทำให้ยุ่งยาก วันหนึ่งแกก็เลยเรียกคนรับใช้มา นี่นะ ช่วยเจาะช่องที่ข้างฝาให้สัก 2 ช่อง เจาะช่องใหญ่สำหรับแมวตัวใหญ่ ช่องเล็กสำหรับแมวตัวเล็ก คนรับใช้ก็บอกว่าท่านครับ ไม่ต้องเจาะ 2 ช่องหรอกครับ เจาะช่องเดียวก็พอ เจาะช่องใหญ่ช่องเดียว แมวตัวใหญ่มันลอดไป ตัวเล็กก็ลอดได้ แกก็จึงนึกขึ้นได้ว่า อ๋อ เราก็โง่เป็นเหมือนกัน แสดงว่าผู้มีปัญญานี่บางทีมันก็เผลอ
ก็อันนี้ก็เป็นเรื่องเล่าเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับเรื่องปัญญา แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องตัดสินว่านักวิทยาศาสตร์ท่านนั้นจะโง่ แต่ว่าแสดงว่าบางทีผู้รู้หรือผู้มีปัญญานี่ก็อาจจะเผลอไผลได้เหมือนกัน ก็เป็นความพลาดพลั้ง อย่างที่เรียกว่าสี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ตัวอย่างนี้ก็เป็นกรณีที่สำหรับให้เห็นว่านักปราชญ์ก็รู้พลั้ง หรือผู้มีปัญญาก็ยังมีการพลาดได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตามปัญญาก็มีคุณมาก ก็อาจจะเป็นได้ว่าตอนนั้นท่านคิดไม่ถึง หรืออาจจะขาดสติมาช่วย ท่านก็เลยสอนไว้ว่า ในการเจริญปัญญานั้นนะ จะต้องมีสติอยู่ด้วยเสมอ ความจริงสติกับปัญญานี้มักจะมาเป็นของคู่กัน ในภาษาไทยเวลาเราพูดเรามักจะมักพูดคู่กันไปว่า สติปัญญา มีอีกคำที่คู่กันบ่อย สติสัมปชัญญะ สัมปชัญญะก็เป็นคำที่มีความหมายเท่ากับคำว่า ปัญญาเหมือนกัน คือเป็นปัญญาในลักษณะหนึ่ง ท่านบอกว่าเป็นคำที่มีความหมายเหมือนกับปัญญา หรือเป็นคำที่ใช้แทนปัญญา ใช้แทนในบางกรณี
นี้เรื่องปัญญาที่มีชื่อเรียกต่างๆ นี้ ถ้ามีโอกาสอาตมภาพก็จะได้นำมาเล่าให้โยมฟังต่อๆ ไปข้างหน้า สำหรับวันนี้ก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขออนุโมทนาโยมเท่านี้ เลิกงาน