แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
หัวข้อต่อไปเป็นหัวข้อที่ 4 นี้ก็คือ ความก้าวหน้าหรือขั้นตอนในการปฏิบัติ ในเมื่อเราทำปัญญาภาวนาไป เจริญวิปัสสนาไป ก็มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ความก้าวหน้านั้นเป็นอย่างไร ขั้นตอนในความก้าวหน้าเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่เราจะมาพูดกันตอนนี้
ทีนี้ถ้าจะตอบกันง่ายๆ ว่าขั้นตอนในการก้าวหน้าของการเจริญวิปัสสนาเป็นอย่างไร เราก็ตอบได้ในเหตุผลที่มองเห็นอยู่แล้ว ได้พูดมาแต่ต้นแล้ว พูดย้ำแล้วย้ำอีก บอกว่า หัวใจของการเจริญวิปัสสนาก็คือ การทำปัญญาที่รู้เข้าใจ หยั่งรู้ความจริงให้เกิดขึ้น ให้เจริญเพิ่มพูนขึ้น เพราะฉะนั้นสาระสำคัญที่เราต้องการในการเจริญวิปัสสนาก็คือ ความเจริญปัญญาให้เจริญเพิ่มพูนขึ้นไป นี้ปัญญาที่เจริญเพิ่มพูนขึ้นไปจนกระทั่งเกิดเป็นความหยั่งรู้หยั่งเห็นในสัจธรรมในความจริงเนี่ย เราก็เรียกว่า ญาณ
ทีนี้ญาณก็มีหลายระดับหลายขั้นตอน เมื่อเราเจริญวิปัสสนาก้าวหน้าไป เราก็เกิดปัญญาที่เรียกว่าญาณนี้ขึ้นมา เป็นขั้นเป็นตอน เพราะฉะนั้นญาณก็มีหลายระดับหลายขั้นหลายตอนมีหลายอย่าง แต่รวมแล้วเราก็สามารถพูดได้ว่า ขั้นตอนความเจริญก้าวหน้าในการเจริญวิปัสสนาก็คือ การได้ญาณต่างๆ นั่นเอง
อันนี้คือคำตอบอย่างง่ายๆ แต่ว่าการตอบอย่างนี้ก็อาจจะง่ายไป ง่ายนั้นก็ดีหรอก แต่ทีนี้สำคัญก็คือง่ายแล้วไม่ชัดเจน คือมันก็จะมีข้อสงสัยต่อไปอีกว่า ญาณที่ว่าหยั่งรู้ในระดับขั้นตอนต่างๆ นี้ อันไหนเป็นขั้นไหนล่ะ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าตอนนี้เราได้ญาณนั้น ญาณนั้น ถึงขั้นนั้นแล้ว เช่นว่า ได้เข้าถึงสัจธรรมแค่ไหน บรรลุโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล บรรลุเป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์หรือยัง อะไรทำนองนี้ ก็จะเกิดข้อสงสัย มีความไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นมันก็เลยจะต้องมีการจัดลำดับขึ้นมา
นี้ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นี้ การที่จะต้องมาจัดลำดับขั้นตอนอะไรต่ออะไรกันออก ไปให้ละเอียดถี่ถ้วนนี้ ก็ไม่ค่อยมีความจำเป็น เพราะว่าจุดหมายของการที่เจริญวิปัสสนาก็คือ การเข้าถึงความจริง รู้สัจธรรม รู้เห็นตามที่เป็นจริง แล้วก็มีองค์พระศาสดาที่จะเป็นผู้ที่ตรวจสอบให้ แล้วก็มองดูกันไม่ยาก
แต่ทีนี้เมื่อการเรียนการสอนการปฏิบัติขยายวงกว้างออกไปสู่คนหมู่มาก มันก็จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น ผู้เรียนก็ต้องการความชัดเจนว่า เขาปฏิบัตินี้จะมีลำดับขั้นตอนอย่างไร แล้วก็ผู้ที่นำไปปฏิบัติเองก็ต้องการรู้ว่าตัวปฏิบัตินี่ ตอนนี้ไปถึงขั้นไหน จะเอาอะไรมาวัดอย่างนี้ เป็นต้น มันก็เลยทำให้เกิดมีการที่เหมือนกับว่า จำเป็นจะต้องจัดเป็นลำดับเป็นขั้นเป็นตอนเรียกว่าเป็นระบบขึ้นมา ซึ่งความเป็นระบบนี้ก็สอดคล้องกับลักษณะของพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว พระพุทธศาสนานั้นมักจะจัดอะไรต่ออะไรเป็นระบบไปหมด
ทีนี้ในเรื่องของความก้าวหน้าหรือขั้นตอนในการทำวิปัสสนาก็เช่นเดียวกัน ในเวลาที่ผ่านไป ผ่านไป ก็มีการจัด ระบบจัดลำดับขั้นตอนให้ชัดเจนขึ้น เพื่อความสะดวกแก่ผู้เรียนผู้ปฏิบัติ แล้วการจัดลำดับเหล่านี้ก็มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ความมุ่งหมายเดิมนั้นต้องการให้เกิดความชัดเจน สะดวก แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้เกิดความสลับซับซ้อน กลายเป็นเรื่องยาก ทำให้คนที่เกิดมาภายหลังนี้ บางทีถึงกับท้อใจ พอไปเห็นระบบข้อปฏิบัติขั้นตอนญาณต่างๆ มากมายหลายชื่อ ก็ชักจะรู้สึกว่าสับสน แล้วก็รู้สึกว่าท้อใจที่จะไปเรียนไปจำ เพราะว่ารู้สึกว่ามากมายเหลือเกิน แล้วกว่าจะเรียนจบนี้ ก็ไม่ทราบว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ อะไรทำนองนี้
เพราะฉะนั้นในตอนนี้ก็อย่าเพิ่งท้อใจ เพราะได้บอกไว้แล้วบอกว่า ในการที่ทำความเข้าใจเบื้องต้นนี้พอจะให้ผ่านๆ หูไว้เป็นพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้นเอง แล้วเราก็มีความเข้าใจอย่างที่ว่า ว่าโดยสาระหลักการแล้ว การเจริญวิปัสสนาที่ก้าวหน้าก็คือการมีปัญญาหยั่งรู้ มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงเท่านั้นเอง นี้การที่ท่านจัดลำดับมานี้ก็เพื่อความสะดวกในการที่เราจะได้เห็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ถ้ามองในแง่นี้แล้ว มันก็กลายเป็นสิ่งเกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่เรา
ทีนี้ได้บอกแล้วว่าในสมัยพุทธกาลนั้น ในความจำเป็นในการที่จะมาแบ่งซอยเรื่องลำดับขั้นตอนนี้ก็น้อย แม้จะมีการจัดขึ้นมาก็ยังนับว่าค่อนข้างจะคร่าวๆ สักหน่อย คือมีหัวข้อน้อย แต่อาตมาก็จะยกมาให้เห็น คือในสมัยพุทธกาลก็มีการที่ได้มีการจัดลำดับความก้าวหน้าในการปฏิบัติ หรือการทำปัญญาภาวนานี้ ตั้งแต่ขั้นต้นไปจนกระทั่งถึงการบรรลุจุดหมาย
หลักนี้ก็เป็นเรื่องที่พระสาวกองค์หนึ่งท่านได้แสดงขึ้น คือ พระปุณณมันตานีบุตร อยู่ในพระสูตรพระสูตรหนึ่ง พระสูตรนี้ก็แสดงถึงลำดับขั้นความเจริญก้าวหน้าในการเจริญวิปัสสนา เรียกกันว่า วิสุทธิ มี ๗ ขั้น ก็เลยเรียกว่าวิสุทธิ ๗ วิสุทธินั้นก็แปลว่าความบริสุทธิ์ หมายความว่าเป็นความบริสุทธิ์หมดจด ที่ชำระกิเลสออกไป ที่ทำให้ปัญญารู้เห็นแจ่มชัด ซึ่งจะเลยขึ้นมาเป็นขั้นเป็นตอน 7 ขั้นด้วยกัน และ 7 ขั้นนี้ก็ส่งทอดกันไปตามลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด และในการจัดลำดับของญาณความรู้ต่างๆ ที่มาเป็นวิสุทธินี้ ท่านก็จัดมาแต่ต้นอย่างที่ว่าแล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้จัดเฉพาะในระดับของญาณเท่านั้น จัดแม้แต่ก่อนญาณด้วย คือจัดมาตั้งแต่ระดับศีลทีเดียว ตั้งแต่เริ่มต้น ว่าเราจะต้องมีศีล แล้วก็ต่อจากมีศีลแล้วก็มาบำเพ็ญสมาธิให้เกิดขึ้น แล้วก็มาสู่ขั้นมีปัญญาเกิดญาณต่างๆ อันนี้ก็เลยเป็นวิสุทธิทั้งหมด ๗ ขั้นตอนด้วยกัน อาตมาก็จะขอบอกหัวข้อวิสุทธิ 7 นี้ แล้วก็ให้ความหมายโดยย่อ
ข้อที่ 1 สีลวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งศีล ความบริสุทธิ์แห่งศีลนี้จะเห็นว่าตอนนี้ยังไม่ถึงวิปัสสนาเลย ก็เป็นการปูพื้นฐาน เป็นการที่ปฏิบัติในขั้นต้น ซึ่งถือว่าในกระบวนการปฏิบัตินั้น ก็จำเป็นจะต้องมีครบ ศีล สมาธิ ปัญญา ในการจัด วิสุทธิ 7 นี้ ก็เป็นการที่แสดงถึงขั้นตอนของความเจริญในกระบวนการของการปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง เหมือนกับมาแบ่งซอยศีล สมาธิ ปัญญา ให้เห็นความก้าวหน้าไปตามลำดับ ก็เริ่มลำดับตั้งแต่มีสีลวิสุทธิ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งศีล ก็คือความประพฤติทางกายวาจา
ก็หมายถึง การมีความประพฤติทางกายวาจาที่บริสุทธิ์หมดจดตามลำดับของการดำเนินชีวิตของตน หมายความว่า ถ้าเป็นคฤหัสถ์เป็นชาวบ้านก็รักษาศีล 5 อย่างถูกต้องก็เพียงพอ นี้ถ้าหากว่าเป็นพระนี้ ท่านก็จะให้รักษาศีลตามสภาวะของพระ ตามที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ทีนี้ในหนังสือในคัมภีร์ที่อธิบายนี้ ท่านจะถือเอาพระเป็นหลัก เมื่อพระเป็นหลัก ท่านก็เลยแสดงสีลวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งศีลนี้ ในระดับของศีลพระ ศีลพระนี้ท่านบอกว่าจัดได้เป็น 4 หมวดด้วยกัน อาตมาก็เอามาบอกเป็นความรู้ไว้ ซึ่งประยุกต์ใช้กับชาวบ้านได้ด้วย
ศีลสำหรับพระ 4 หมวดนี้เรียกว่า ปาริสุทธิศีล มี 4 อย่าง ศีลที่ทำให้เกิดความบริสุทธิ์ 1) ปาฏิโมกขสังวรศีล
ศีลคือความสำรวมในปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์ก็ศีลแม่บท หรือวินัยแม่บท ปาฏิโมกขสังวรศีล ศีลคือความสำรวมตั้งอยู่ในศีลแม่บทของพระ อย่างที่เราเรียกว่าศีล 227 ข้อ อันนี้ก็เป็นเรื่องของชีวิตของพระ วินัยของพระสงฆ์
ทีนี้หมวดที่ 2) ท่านเรียกว่า อินทรียสังวรศีล ศีลคือความสำรวมอินทรีย์ สำรวมอินทรีย์ก็คือการใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี้เอง การสำรวมนี้ ในที่นี้ก็คือการใช้อินทรีย์นี้ในการรับรู้ไม่ให้เกิดโทษ ท่านเรียกว่าไม่ให้อกุศลธรรมเข้ามาครอบงำ โดยเฉพาะก็คือความยินดียินร้าย ชอบชัง ให้เกิดการรับรู้ที่ตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง
จะเห็นว่าอินทรียสังวรศีลนี้ มันจะมาสัมพันธ์กับการเจริญวิปัสสนาด้วย ถ้าเราระมัดระวังการใช้อินทรีย์อย่างถูกต้อง มันก็เกื้อกูลต่อการที่เข้าถึงความจริงแต่ต้นแล้ว คือการรับรู้ของเรานี้จะไม่ลำเอียงไปตามความชอบชัง ก็ทำให้มันเข้าสู่แนวทางของการที่จะเห็นความจริงได้ ทีนี้ถ้าเราไม่มีศีลอินทรียสังวร การรับรู้ของเราก็จะเอนเอียงลำเอียงไปด้วย ความชอบความชัง ก็บิดเบือนความจริงไป ฉะนั้นอินทรียสังวรศีลนี้ก็มีความสำคัญ ก็เป็นการควบคุมกายวาจาของตน เป็นการสำรวมกายในแง่ของอินทรีย์
นี้ต่อไปก็ อาชีวปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งการเลี้ยงชีพ การดำเนินชีวิตของตนให้ถูกต้อง อันนี้ก็การเว้นจากอาชีพที่ทุจริต พระก็คือการแสวงหาลาภในทางที่ไม่สมควร การไปหลอกลวงชาวบ้านหาลาภหาผล เป็นต้น ก็ต้องดำเนินชีวิตอยู่ในวิถีทางที่ถูกต้อง ที่ให้ชาวบ้านเขาศรัทธาเลื่อมใส แล้วก็มาบำรุงเลี้ยงด้วยปัจจัย 4 โดยที่พระก็ทำหน้าที่ปฏิบัติธรรม แล้วก็ให้ธรรมทานไป นี้ถ้าเป็นชาวบ้าน การเลี้ยงชีพบริสุทธิ์ก็คือการประกอบอาชีพสุจริตนั่นเอง อันนี้ก็จะไม่บรรยายยืดยาว
ทีนี้สุดท้ายก็ ปัจจัยสันนิสิตศีล ศีลที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัย ๔ ปัจจัย ๔ ก็คือเครื่องเลี้ยงชีวิตของเรา ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค แล้วก็จะขยายกว้างไปถึงสิ่งที่เราอาศัยเลี้ยงชีวิตในการเป็นอยู่ประจำวัน อำนวยความสะดวกต่างๆ ก็ได้ ศีลในแง่นี้ก็คือ การที่จะต้องใช้สิ่งเหล่านั้นให้ถูกต้องตามความมุ่งหมาย ตามคุณค่าที่แท้จริงของมัน หมายความว่า
อาหารนั้นเรากินเพื่ออะไร วัตถุประสงค์ในการรับประทานอาหารนั้น ก็เพื่อจะได้บำรุงร่างกายให้มีสุขภาพดีแข็งแรง จะได้อยู่ผาสุก ชีวิตของเราผาสุกในทางร่างกาย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ แล้วเสร็จแล้ว ร่างกายนั้นก็จะเกื้อกูลแก่การที่จะมาทำกิจทำหน้าที่ของเรา อย่างมาเจริญภาวนานี้ก็ต้องอาศัยร่างกายมีสุขภาพดีพอสมควร ถ้ามีโรคภัยไข้เจ็บเบียด เบียนมากก็จะเป็นอุปสรรคได้ ฉะนั้นการรับประทานอาหารของเรานี้ ก็ให้ถูกต้องตามคุณค่าที่แท้จริงของมัน ไม่ใช่มุ่งเพื่อเอร็ดอร่อย สนุกสนานมัวเมา ปรนเปรอบำรุงบำเรอ จนกระทั่งกลายเป็นการเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่นไป
นี้เครื่องนุ่งห่มก็เช่นเดียวกัน ใช้สอยให้มันถูกตามความมุ่งหมายคุณค่าที่แท้จริง คือการที่ป้องกันความหนาว ความร้อน ป้องกันเหลือบ ยุง ริ้น อะไรต่างๆ เป็นต้น ตลอดจนกระทั่งว่าป้องกันความละอาย ก็ใช้ให้ถูกต้องตามความประสงค์ ไม่เอามาเป็นเครื่องอวดการฟุ้งเฟ้ออะไรต่างๆ
แล้วก็ที่อยู่อาศัยก็เช่นเดียวกัน ใช้เพื่อว่าจะได้ป้องกันอันตราย มีที่อยู่เป็นส่วนตัว ที่จะทำกิจส่วนตัวได้อย่างเหมาะสม พักผ่อนหลับนอนได้ เกื้อกูลแก่ชีวิตอย่างแท้จริง ก็มุ่งไปอย่างนี้ ตลอดจนกระทั่งยารักษาโรค
การใช้ปัจจัย 4 ต่างๆ นี้ให้ถูกต้องตามคุณค่า เพื่อคุณค่าที่แท้จริง ประโยชน์ที่แท้จริงกับชีวิต ไม่ใช่เพื่อความมุ่งหมายที่เกิดเป็นความฟุ้งเฟ้อ สนุกสนานมัวเมา ลุ่มหลง อะไรต่างๆ เหล่านี้แหละ คือศีลในแง่นี้ อันนี้ก็เป็นศีล 4 อย่างที่เรียกว่าปาริสุทธิศีล 4 ถ้าพระปฏิบัติตามนี้ ท่านก็ถือว่ามีสีลวิสุทธิ คือมีความหมดจดแห่งศีลเป็นพื้นฐาน
ทีนี้ต่อจากนั้นแล้ว ก็มีจิตตวิสุทธิเป็นข้อที่ 2 จิตตวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งจิตใจ ก็หมายถึงการที่ได้เจริญจิตภาวนา ได้พัฒนาจิตใจของตนให้ดีงามขึ้นมา ประณีตขึ้นมา จนกระทั่งมีสมาธิเป็นแกน สมาธิที่ท่านมุ่งหมายในที่นี้ ท่านบอกว่า เอาอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ซึ่งมันพอแก่การที่จะช่วยให้การเจริญวิปัสสนานี้เป็นไปด้วยดี เพราะฉะนั้นเราได้พูดกันมาแล้วในตอนสมถะ ว่ามุ่งเพื่อจะได้ทำให้สมาธิเกิดขึ้น อันนั้นก็จะมาช่วยให้เกิดจิตวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งจิตก็คือการมีสมาธิ นี้ก็เป็นข้อที่ 2
ทีนี้ต่อไป ข้อที่ 3 ตอนนี้เรามาเข้าถึงเรื่องของปัญญาแท้ๆ เป็นเรื่องที่จะเกิดญาณขั้นต่างๆ เราก็มาดูขั้นตอนของความก้าวหน้าในการพัฒนาปัญญา การพัฒนาปัญญาขั้นต้น ที่ท่านแสดงไว้เป็นวิสุทธิเรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิที่เป็นข้อที่ 3 แปลว่าความบริสุทธิ์แห่งทิฏฐิ ทิฏฐิก็คือความเห็นความเข้าใจ ความเห็นความเข้าใจในที่นี้ก็คือ เมื่อมีความบริสุทธิ์ก็คือความเห็นที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ตรงตามความเป็นจริงตามสภาวะของสิ่งทั้งหลายที่มันเป็น เป็นอย่างไร
คนเรานี้ตามปกติเมื่อยังไม่ได้พัฒนาปัญญาหรือวิปัสสนา ก็จะมีความเห็นที่เป็นไปตามที่สั่งสมมา จากการที่ดำรงชีวิตอยู่ในโลก แล้วก็มีการสมมติบัญญัติกันต่างๆ เมื่อสมมติบัญญัติไปยังไง ยังไง เสร็จแล้วเราก็จะเชื่อถือไปตามนั้น จนกระทั่งสร้างเป็นความเห็นขึ้นมา แล้วก็เห็นไปตามสมมติบัญญัติเหล่านั้น ซึ่งไม่ใช่ของแท้ของจริง แต่เราสมมติกันขึ้นว่ามีตำแหน่งเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มียศเป็นชั้นนั้นชั้นนี้ มีหน้าที่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตลอดจนกระทั่งแม้ลึกลงไปถึงพื้นฐานก็คือว่า บัญญัติกันมา แล้วก็สมมติรู้ร่วมกันว่า อันนี้เป็นคน อันนี้เป็นสัตว์ อันนี้เป็นผู้หญิงผู้ชาย เป็นนายดำนายแดง อะไร ชื่อนั้นชื่อนี้ เป็นต้น
อันนี้เป็นเรื่องของสมมติบัญญัติ แต่เมื่อสมมติบัญญัติขึ้นมาแล้ว คนเรานี้ก็ยึดถือไปตามนั้น จนกระทั่งกลายเป็นทิฏฐิขึ้นมา แล้วเราก็ตกอยู่ในอำนาจของทิฏฐินั้นโดยไม่รู้ตัว ไม่ได้มองเห็นความจริงว่าที่แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้นั้น เป็นสิ่งที่บัญญัติกันขึ้น แล้วก็ใช้โดยถือว่าเป็นเรื่องสมมติรู้ร่วมกัน สังคมยอมรับ เราใช้สมมติบัญญัติโดยที่ใจนี้เห็นไปตามนั้น ตกอยู่ในอำนาจของมันไปเลย แทนที่เราจะรู้ตามความเป็นจริงว่า อ๋อ นี่เราใช้เพื่อประโยชน์ในการที่อยู่ร่วมกันในโลก ในสังคม ในการดำเนินชีวิตนี้ให้มันเป็นไปด้วยดีเท่านั้น เราไม่รู้เท่าทันความจริงนี้ อย่างนี้ก็ถือว่า ก็เป็นการที่ว่ามีความเห็นผิด หรือทิฏฐิไม่ถูกต้อง
ความมีทิฏฐิบริสุทธิ์ถูกต้อง ก็คือการที่ว่า เราเนี่ยได้มองเห็นความจริง เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามสภาวะของมัน ทีนี้การเข้าใจตามสภาวะของมันตามธรรมชาติที่แท้จริงคืออย่างไร ก็คือการที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ที่เราเรียกกันไปต่างๆ มีชื่อมากมายเนี่ย ที่แท้จริงแล้วมันก็เป็นรูปธรรมนามธรรมเท่านั้นเอง เราเรียกกันว่าเป็นนามรูปหรือรูปนาม
ฉะนั้นการที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องขึ้นมา ในตอนนี้ก็คือ การที่ว่ามีปัญญารู้เข้าใจ เห็นความจริงตามสภาวะที่เป็นรูปเป็นนามธรรมเท่านั้น แล้วก็ไม่หลงไปตามสมมติบัญญัติ ไม่หลงไปตามชื่อเสียงยศตำแหน่งยศอะไร เป็นต้น ที่ได้ตกลงบัญญัติกันขึ้นมา เรียกว่าถ้าใช้สิ่งเหล่านั้นก็ใช้อย่างรู้เท่าทัน เรียกว่า มีปัญญารู้เท่าทันสมมติบัญญัติ ไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเข้ามาครอบงำจิตใจ แล้วก็ชักพาจิตใจของเราให้เกิดปัญหาไปตามมัน อันนี้ก็เป็นเรื่องของทิฏฐิวิสุทธิ เป็นขั้นที่มองเห็นสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามความเป็นจริง ที่เป็นนามธรรมรูปธรรมตามสภาวะ
แล้วต่อจากนั้น ก็จะก้าวไปสู่อีกขั้นหนึ่ง คือขั้นที่เรียกว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ แปลว่าความวิสุทธิแห่งญาณที่ทำให้ข้ามพ้นความสงสัยได้ อันนี้เป็นการก้าวอีกขั้นหนึ่ง คือเมื่อกี้นี้ แม้ว่าเราจะมีความรู้เข้าใจถูกต้องตามเป็นจริงตามสภาวะว่าสิ่งทั้งหลายเป็นรูปธรรมนามธรรมแล้ว แต่ถึงงั้นเราก็ยังไม่เห็นความเป็นมาเป็นไปของมัน การได้เห็นแต่สภาวะแต่ไม่รู้ความเป็นมาเป็นไปของมันนี้ ก็ทำให้เกิดความสงสัย เพราะคนเรานี้มันจะมีความสงสัยเกี่ยวข้องกับกาละทั้ง 3 คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต
อดีต ปัจจุบัน อนาคต ก็คือเรื่องของความเป็นไป ทีนี้เมื่อมาถึงขั้นวิสุทธิข้อที่ 4 นี้ที่เรียกว่ากังขาวิตรณวิสุทธิ ก็จะเกิดมีปัญญาเป็นญาณขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง คือรู้ภาวะที่นามธรรมรูปธรรมทั้งหลาย หรือสภาวธรรมทั้งหลายนี้เป็นไปตามเหตุปัจจัย รู้เหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย มองสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย การที่รู้เข้าใจความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ มันทำให้ปัญญาก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ทำให้หมดความสงสัยในความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย แล้วจะมองสิ่งทั้งหลายเนี่ยตามแนวทางของเหตุปัจจัย
อย่างแม้แต่การรับรู้ต่างๆ ของเรานี้ เราก็จะมองเห็นความสัมพันธ์ในทางความเป็นเหตุเป็นปัจจัยว่า อ้อ อันนี้ที่เรามองเห็นก็เกิดจากตาเป็นอายตนะภายใน เข้ากระทบกับรูปที่เป็นอายตนะภายนอก แล้วก็เกิดวิญญาณการเห็นขึ้นประจวบกัน นี้เรียกว่าเกิดการรับรู้ทางตาในการเห็น แล้วเมื่อการรับรู้ทางตามีขึ้นแล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกเป็นเวทนา จากเวทนานี้ถ้าหากว่าไม่รู้เข้าใจเท่าทัน ก็จะเกิดตัณหา ความอยาก ความยึด ความชอบ ความชัง อะไรขึ้นมา อย่างนี้เป็นต้น
มันก็จะมองเห็นความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามกระบวนการเพราะเหตุปัจจัยนี้ แม้ในทางความคิดมันก็จะแล่นไปได้ ในระดับนี้ก็เป็นความก้าวหน้าของปัญญา เป็นญาณอีกขั้นหนึ่ง ที่เรียกว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเหตุข้ามพ้นความสงสัย เป็นขั้นที่ 4
ต่อไปเป็นขั้นที่ 5 เรียกว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณ คือความหยั่งรู้ทัศนะความหยั่งเห็น ที่แยกได้ว่าอะไรเป็นทาง อะไรมิใช่ทาง เมื่อเราเข้าใจเรื่องสภาวธรรมตามเป็นจริง จนกระทั่งเห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ เราจะรู้ชัดถึงทางปฏิบัติของเราที่จะเดินไปสู่จุดหมาย คือการกำจัดกิเลส และกองทุกข์ได้ หรือการเข้าถึง สัจธรรม ฉะนั้นอันนี้มันก็ส่งผลมาทำให้เกิดญาณในขั้นที่เรียกว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ นี้ หยั่งรู้หยั่งเห็น แยกได้ว่าอะไรเป็นทาง อะไรมิใช่ทาง
อันนี้ขั้นนี้ก็ผ่านไป ขั้นนี้ก็เป็นขั้นที่ว่าจะมีปัญญาที่รู้เข้าใจไตรลักษณ์ คือจะมองเห็นเรื่องของการที่สิ่งทั้งหลายมีความเกิดดับ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีการเปลี่ยนแปลง อะไรต่างๆ มีความที่คงอยู่สภาพเดิมไม่ได้ ตลอดจนกระทั่งว่าการที่มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นเอง อันนี้ก็สัมพันธ์กับที่กล่าวมาแล้ว คือมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีตัวตน ไม่เป็นอัตตา เป็นอนัตตา ปัญญาในระดับนี้ก็จะเข้าถึงขั้นที่จะมองเห็นไตรลักษณ์ขึ้นมาในระดับหนึ่ง เป็นการมองเห็นไตรลักษณ์ในระดับต้นๆ ซึ่งการเห็นไตรลักษณ์เนี่ย ทำให้ทิศทางของชีวิตจิตใจเนี่ยไปในทางที่ถูกต้อง อันนี้ก็เลยเรียกว่ามัคคามัคค-ญาณทัสสนวิสุทธิ
ต่อไปก็จะส่งไปสู่ญาณที่เป็นความบริสุทธิ์ในขั้นที่ 6 เรียกว่า ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความหยั่งรู้หยั่งเห็น ที่ให้รู้ทางดำเนินที่ถูกต้อง คือตัวปฏิปทาตัวมรรค ก็ตอนนี้ก็ตัวญาณนี้จะเป็นตัวทางที่ถูกต้อง เป็นทางดำเนิน หมายความว่าตอนนี้ก็แน่วไปในทางที่ถูกต้องแล้ว ก็ต่อจากเมื่อกี้นี้ว่าเห็นอะไรทาง ไม่ใช่ทาง ตอนนี้ก็เข้าสู่แนว ทางที่ถูกต้อง ก็เข้าสู่ทางที่ถูกต้อง แล่นไปแล้ว ในที่สุดก็ถึงจุดหมาย
ก็จะมาถึงข้อที่ 7 เป็นความบริสุทธิ์ขั้นที่ 7 เรียกว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความหยั่งรู้หยั่งเห็น ซึ่งเกิดปัญญาหยั่งรู้หยั่งเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงอย่างแท้จริง เข้าถึงไตรลักษณ์อย่างสมบูรณ์ อันนี้ก็เป็นปัญญาในขั้นที่เป็นจุดหมาย ซึ่งทำให้สำเร็จมรรคผล เราเรียกได้ว่าเป็นมรรคญาณ ทำให้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เป็นต้น อันนี้ก็คือว่า มาถึงจุดนี้ก็เท่ากับว่า สำเร็จจุดหมายแล้ว ญาณนี้ก็ถือว่าเป็นญาณสุดท้าย
นี้คือการจัดลำดับ จะเรียกว่าคร่าวๆ ก็ได้ เป็น 7 ระดับด้วยกัน ไปเป็นศีล กับไปเป็นสมาธิ 2 แล้วที่เหลือ 5 นี้ก็เป็นความก้าวหน้าของปัญญา ซึ่งเป็นญาณในระดับต่างๆ อันนี้เป็นลำดับที่ท่านถือเป็นแบบทีเดียว มาในชั้นอรรถกถา ท่านก็เอาอันนี้มาวางเป็นแผนใหญ่ไว้ เป็นเกณฑ์อันใหญ่สำหรับที่จะวัดความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติตามหลักวิปัสสนา การปฏิบัติวิปัสสนาก็จะเอาอันนี้เป็นแนวทาง เป็นขั้นเป็นตอน ให้เราปฏิบัติดำเนินก้าวหน้าไปเป็นขั้นๆ ตามวิสุทธิทั้ง 7