แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร วันนี้คุณอุไรรัตน์นิมนต์อาตมภาพมาฉันภัตตาหารเพล และก็เชิญโยมญาติมิตรที่เคารพนับถือมารับประทานอาหารด้วย ก็เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศอย่างหนึ่ง อากาศที่นี่ก็ปลอดโปร่งลมเย็นสบาย ก็เป็นสิ่งที่เกื้อกูลแก่สุขภาพทั้งทางกายและทางจิตใจ อาตมภาพก็ขออนุโมทนาด้วย
ที่เรามานั่งกันอยู่นี้ญาติโยมรวมทั้งอาตมภาพเองก็เรียกกันว่าเป็นชาวพุทธ เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งก็คือนับถือพระพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงเป็นพระศาสดาเอก ได้ทรงตรัสรู้ ก็เปลี่ยนจากมนุษย์ธรรมดา มีนามใหม่ที่เราเรียกว่าเป็นพุทธะ ในการตรัสรู้ของพระองค์นั้น ก็มีคำบรรยายไว้ในพระไตรปิฎกว่าได้ทรงปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอน ว่าเฉพาะวันที่ตรัสรู้นั้นเองคือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ก็มีกล่าวถึงว่าพระองค์ได้เข้าฌาน ก็เข้าฌานตั้งแต่ฌานที่ 1 ไปจนถึงฌานที่ 4 แล้วต่อจากนั้นก็โน้มพระทัยไปเพื่อบรรลุญาณต่างๆ แล้วก็ได้บรรลุญาณ อันที่ 1 เรียกว่า บุพเพนิวาสานุสติญาณ อันนั้นบรรลุในยามที่ 1 แล้วพอถึงยามที่ 2 ก็บรรลุญาณที่ 2 เรียกว่า จุตูปปาตญาณ และยามสุดท้ายก็บรรลุอาสวักขยญาณ
ทีนี้ความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ที่บรรลุญาณขั้นสุดท้ายคืออาสวักขยญาณ อาสวักขยญาณก็เป็นญาณสำคัญที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า แม้พระสาวกอื่นที่มาตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าในภายหลัง ก็จะต้องเข้าถึงอาสวักขยญาณนี้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นอาสวักขยญาณนั้นเป็นญาณที่เป็นตัวตัดสิน เป็นความรู้พิเศษที่จะทำคนให้พ้นจากความเป็นปุถุชน เป็นพระอริยะ แล้วไม่ใช่เป็นพระอริยะขั้นต้นๆ แต่เป็นพระอริยะขั้นสูงสุดคือเป็นพระอรหันต์ ทีนี้อาสวักขยญาณนั้น แปลว่าญาณที่ทำอาสวะให้สิ้นไป หรือญาณที่กำจัดอาสวะได้ ข้อสำคัญที่จะต้องศึกษาก็คือว่า ความเป็นพระพุทธเจ้านั้นอยู่ที่ความรู้ซึ่งทำให้กำจัดอาสวะได้หมด เพราะฉะนั้นอาสวะนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งสำคัญในทางที่ไม่ดีเพราะจะต้องกำจัด เมื่อกำจัดหมดแล้ว จึงจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ จึงจะเป็นพระอรหันต์ได้
วันนี้อาตมภาพก็เลยคิดว่ามาพูดเรื่องอาสวะหน่อย อาสวะนั้นเป็นคำที่ไม่ค่อยดี เป็นพวกกิเลสแต่ว่าสำคัญ ถ้าเราต้องการความดี เราก็ต้องกำจัดสิ่งที่ไม่ดีนี้ให้หมด เมื่อเราต้องการความดีก็เลยจำเป็นจะต้องพูดเรื่องไม่ดี พระพุทธศาสนาเลยมีการพูดถึงเรื่องไม่ดีบ่อยๆ ที่พูดเรื่องไม่ดีนั้นไม่ใช่หมายความว่าจะให้ไม่สบายใจ หรือว่าไปพูดเรื่องที่ไม่เป็นศิริมงคล แต่พูดเพื่อจะได้ให้เราได้สิ่งที่ดีที่วิเศษ เพราะคนเรานั้นจิตใจก็พร้อมที่จะดีอยู่แล้ว สภาวะของมันนั้นพร้อมที่จะผ่องใสเบิกบาน ความผ่องใสเบิกบานเป็นสุขนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่มันไม่ดีอย่างนั้น มันไม่ผ่องใส ไม่เบิกบาน ไม่สดชื่นบริสุทธิ์อย่างนั้น เพราะมันมีของไม่ดีมาเคลือบมาแฝงมาปนอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเรากำจัดนำเอาสิ่งที่ไม่ดีนี้ออกไปเสีย เราก็จะต้องได้สิ่งที่ดีแน่ๆ เพราะว่าเราพร้อมที่จะดีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสสอนสิ่งที่ไม่ดีนี้ให้เรารู้จัก แล้วก็จะได้นำมันออกไปกำจัดเสีย อาสวะนี้ก็คือตัวสำคัญที่เป็นเรื่องไม่ดี ในใจของเรานี้เจ้าอาสวะนี้มารบกวน มาแอบแฝง มาซ่อนเร้น มาก่อกวนอยู่เสมอ ทำให้เราไม่ได้สิ่งที่ดี ก็ต้องรู้จักมัน พอรู้จักแล้วเราก็แก้ไขได้ พระพุทธเจ้านั้นทรงสอนทั้งให้รู้จักอาสวะและก็รู้จักวิธีที่จะกำจัดอาสวะด้วย
อาสวะนั้นแปลว่าอะไร อาสวะแปลขั้นที่ 1 ว่าสิ่งที่หมักดอง หมักดองก็คือหมักหมม เหมือนกับเราเอาผักเอาของไปดองไว้เนี่ย สิ่งที่ถูกดองนั้นก็จะมีกลิ่น มีสี มีรสไปตามสภาพที่ถูกดอง เปลี่ยนไปจากสภาพเดิม ทีนี้จิตใจของเราก็เหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิดอะไรต่างๆ เนี่ย ถ้ามีกิเลสที่หมักดองนี้มาอยู่ มันก็หมักก็ดองให้มันมีสภาพเปลี่ยนไปจากสภาพที่เป็นจริงที่บริสุทธิ์ จิตใจของเรามีกิเลสตัวนี้เรียกว่าอาสวะนี้หมักดองอยู่ สิ่งที่หมักดองนี้ นอกจากว่าหมักหมมอยู่ในใจแล้ว เวลาเราไปเดินเหิน มาคิดนึกอะไร หรือมารับรู้อารมณ์ภายนอก มันก็ก่อความไม่สงบขึ้นมา ก็มาสู่ความหมายที่ 2 คือนอกจากหมักดองอยู่ข้างในแล้ว พอจิตใจของเราไปคิดนึกอะไร รับรู้อะไรข้างนอก มันก็เริ่มทำงาน ท่านให้ความหมายที่ 2 ว่าไหลซ่านออกมา คราวนี้ไหลซ่านออกมาแล้ว ความหมายที่ 2 ของอาสวะก็ไหลซ่าน กิเลสที่หมักดองอยู่ในใจลึกๆ พอเรารับรู้เรื่องภายนอก ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังอะไรต่างๆ ขึ้นมา มันก็ไหลซ่านออกมาทางอายตนะทางอินทรีย์ที่รับรู้นั้น เข้ามาเคลือบมาแฝงมาปะปนมาผสม พอมันมาเคลือบมาแฝงมาปะปนมาผสม สิ่งที่เราเห็น ได้ยิน ได้รู้อะไรนั้น มันก็ไม่บริสุทธิ์ เรียกว่าไม่เห็นตามเป็นจริง ไม่เห็นตามเป็นจริงคือว่าไม่รู้ไม่เห็นตามที่สิ่งนั้นเป็นแท้ๆ แต่รู้เห็นไปตามเจ้ากิเลสหมักดองที่ไหลซ่านออกมาเคลือบมาแฝงมาปะมาปนมาผสมนี้ มันก็เห็นเปลี่ยนไป เห็นเปลี่ยนไปอย่างอื่นไม่บริสุทธิ์ แล้วก็คิดปรุงแต่งไปต่างๆ แล้วก็ก่อเหตุก่อปัญหาเรื่องราวขึ้นมามากมาย อันนี้คือความหมายของอาสวะ หมักดองและไหลซ่านออกมา
ทีนี้มีอะไรบ้าง เจ้ากิเลสที่หมักดองและไหลซ่านออกมา อาสวะนั้นท่านจำแนกไว้ 3 อย่าง อย่างที่ 1 เรียกว่ากามาสวะ อาสวะคือกาม กามก็คือความปรารถนา ความอยากได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่น่าใคร่น่าชอบใจ ก็คืออยากจะได้ของที่เราชอบ เจอแล้วก็อยากจะได้เอาไว้ เจ้ากิเลสตัวนี้ที่เรียกอาสวะนี้หมักดองอยู่ในใจตลอดเวลา จิตใจก็จะมีความปรารถนาซ่อนเร้นแฝงอยู่ เวลาไปพบอะไรเข้ามันก็ออกฤทธิ์ทำงาน ไปเคลือบไปปรุงสิ่งที่เห็น ถ้าเห็นนั้นเป็นที่ชอบใจก็อยากจะได้ ก็ไปคลุมเอาสิ่งที่ชอบใจไว้ ถ้าไม่ตรงกับที่ชอบใจก็ขัดใจ ก็เกิดโทสะขึ้นมา เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่ว่าจะทำให้ชอบได้อย่างเดียว แต่ว่าทำให้เกิดโทสะความไม่ชอบด้วย ท่านบอกว่าโทสะนั้นก็เกิดจากราคะนั่นเอง เพราะชอบเมื่อเจอสิ่งที่ขัดกับชอบ ก็กลายเป็นไม่ชอบ ก็กลายเป็นโกรธเป็นเกลียดไป นี่อาสวะที่ 1
อาสวะที่ 2 ก็ได้แก่ภวาสวะ อาสวะคือภพ ภพก็คือความเป็น “เป็น” ในที่นี้หมายถึงว่าอยากให้เราได้เป็นอยู่คงอยู่ยั่งยืนตลอดไป ก็คือความเข้าใจว่าเรามีตัวตน ความยึดถือในตัวตนของเรานี่แหละ อยากให้ตัวตนของเราเนี่ย คงอยู่ยั่งยืนถาวรตลอดไป ก็แสดงออกมาในรูปของการที่อยากจะให้ชีวิตมีความมั่นคง ให้ชีวิตนี้เป็นชีวิตพิเศษมีความยิ่งใหญ่อะไรต่างๆ มันก็เป็นไปล่ะ คือจากเจ้าความมีกิเลสเกี่ยวกับตัวตนที่จะเป็นโน่นเป็นนี่จะยั่งยืนอยู่นี้ มันก็สร้างความมั่นคงให้แก่ตนเองขึ้น เพราะฉะนั้นการที่จะไปเกี่ยวข้องรับรู้รับเห็นอะไร คิดอะไรต่างๆ เนี่ย มันจะคิดในรูปที่เกี่ยวกับเรื่องตัวเรื่องตนของตนเอง ทำไงจะให้ตัวได้เป็นอย่างงั้นเป็นอย่างงี้ จะได้ใหญ่ได้โต จะได้มั่นคงยั่งยืน นี่มันก็เป็นอีกอันหนึ่ง แล้วพอมาในลักษณะที่ไม่เสริมไม่สนองมันก็ขัด มันก็เกิดความรู้สึกเป็นปฏิกิริยาขึ้นมา อยากจะกำจัดบ้าง อยากจะไปให้พ้นอะไรต่างๆ ก็มาจากอันนี้
และอันสุดท้ายก็คืออวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ได้แก่ความไม่รู้เท่าทันสภาวะของสิ่งทั้งหลาย ไม่รู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายนั้น เช่นว่ามันเป็นไปตามไตรลักษณ์ มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นของเราแท้จริงไม่ได้ จะไปยึดถือเอามาครอบครองนั้นมันไม่เป็นของ เป็นไปตามสภาวะ ไม่เป็นธรรมชาติที่แท้จริง ธรรมชาติมันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เราไปขืนมันไปฝืนมัน อันนี้ก็เป็นกิเลสความไม่รู้เท่าทัน เจ้ากิเลสความไม่รู้เท่าทันนี้ที่เรียกว่าอวิชชานั้นเป็นตัวแฝงไปหมด ปนอยู่กับกามกับภพ จะมีกามก็ตามภพก็ตาม อวิชชาต้องปะปนอยู่เสมอ เป็นตัวยืนเป็นตัวหลัก
นี่คือกิเลสใหญ่ 3 อัน ได้แก่ กาม ภพ และอวิชชาที่เรียกว่าอาสวะ เป็นกิเลสที่เรียกว่าหมักดองอยู่ในใจ แล้วก็ไหลซ่านออกมา ในการที่ว่าเราจะดำเนินชีวิตเกี่ยวข้องคิดนึกอะไร จะคิดอยู่ในใจก็ตาม ทำออกมาทางวาจา หรือทำทางกายก็ตาม บางทีเราก็ไม่รู้ตัวหรอกว่าเจ้ากิเลส 3 ตัวนี้มันเป็นตัวบงการบังคับเรา ทำให้เรามีพฤติกรรมเป็นไปต่างๆ แต่ถ้าว่ากันไปแล้วมนุษย์ปุถุชนนั้น เราก็เป็นอยู่ด้วยอาศัยเจ้ากิเลสอาสวะเหล่านี้แหละ ที่เราดำรงชีวิตอยู่ได้ที่ทำการต่างๆ นี้ก็เพื่อให้ได้สิ่งที่ปรารถนาบ้าง เพื่อเสริมความคงอยู่ดำรงอยู่มั่นคงของตัวตนของเราบ้างเนี่ย แล้วก็ด้วยความไม่รู้เราก็ทำกันไป มนุษย์ปุถุชนก็อาศัยกิเลสเป็นอยู่ พร้อมกันนั้นกิเลสเหล่านี้ก็ทำให้เราวุ่นด้วยทั้งสองอย่าง
ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างความกลัว นี่ก็เป็นเรื่องของปุถุชน ความกลัวนั้นมีคุณต่อปุถุชนทำให้ปุถุชนดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ดีพอสมควร แต่ในเวลาเดียวกันก็มีโทษ เช่นว่าเราไม่ทำอะไรบางอย่างที่มันไม่ดีหรือเป็นโทษแก่ชีวิตเราก็เพราะความกลัว แล้วเราทำอะไรบางอย่าง เช่นว่าเรารีบสร้างสรรค์ รีบสร้างตัวมีหลักฐานอะไร บางทีก็เป็นเพราะความกลัวเหมือนกัน กลัวว่าชีวิตเราจะไม่ได้ดี กลัวจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ กลัวจะตกต่ำ ความกลัวก็มาช่วยเรา แต่ในเวลาเดียวกันความกลัวก็ทำให้เราเกิดความทุกข์เป็นอย่างน้อย แล้วก็ทำให้เรามีปัญหา ทำให้ทำอะไรได้ไม่ถูกต้อง ไม่เต็มที่ ไม่ถูกตามความเป็นจริง เพราะตราบใดที่มีความกลัวก็เพราะมีความไม่รู้ เพราะฉะนั้นความกลัวก็เป็นทั้งคุณทั้งโทษแก่ปุถุชน
ปุถุชนก็อาศัยกิเลสเป็นอยู่ ดำรงชีวิตอยู่และทำการต่างๆ แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ปลอดภัย ตราบใดที่ยังเป็นอยู่ด้วยกิเลสแล้วตราบนั้นก็ (1) ก็มีความทุกข์ (2) ก็มีปัญหา ก่อเรื่องวุ่นวายเพราะแต่ละคนก็มีกิเลสด้วยกัน เอากิเลสเอามาแสดงต่อกัน ก็ทำให้เกิดความขัดแยัง เกิดความวุ่นวาย เช่นว่า ความอยากได้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ละคนอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด ต่างก็หาเมื่อหากันก็ขัดแย้งกัน แย่งชิงผลประโยชน์ เป็นต้น หรือต้องการให้ตัวตนดำรงอยู่มั่นคงยั่งยืน ต่างคนก็ทำการเพื่อให้ดำรงตนได้มั่นคงนั้นก็ขัดแย้งกัน กลายเป็นว่าต้องเอาอำนาจ ต้องหาอำนาจ เสร็จแล้วก็เอาอำนาจนั้นมาข่ม มาปราบ มาทำลายซึ่งกันและกัน เนี่ย ก็ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นเรื่องของความเดือดร้อน ตกลงว่ากิเลสนี้นะ ไม่ปลอดภัย
ทีนี้มนุษย์ที่เจริญยิ่งขึ้น ก็คือว่าต้องเป็นอยู่ด้วยปัญญามากขึ้น ปัญญานี้เป็นตัวอาศัยใหม่ที่เป็นที่พึ่งแก่มนุษย์ที่เราจะไม่ต้องเป็นอยู่ด้วยอาศัยกิเลส เพราะฉะนั้นที่เป็นอริยชนนั้นก็คือเป็นอยู่ด้วยปัญญามากขึ้น จนกระทั่งถึงเป็นพระอรหันต์ก็เป็นอยู่ด้วยปัญญาโดยสมบูรณ์ คือเป็นอยู่ด้วยปัญญารู้เท่าทัน จะทำการอะไรก็ทำไปตามเหตุตามผล แต่ก่อนนี้เคยทำไปตามอำนาจกิเลส อาศัยกิเลสเป็นอยู่ เมื่อเจริญมากขึ้นก็อาศัยปัญญาเป็นอยู่มากยิ่งๆ ขึ้น อันนี้ก็คือความเปลี่ยนแปลงจากมนุษย์ปุถุชนไปเป็นพระอริยะ และเป็นพระอรหันต์ในที่สุด นี้ก็เป็นเรื่องของความหมายของอาสวะ
พระพุทธเจ้านั้นทรงสอนให้เราพัฒนาปัญญาให้มากขึ้นๆ เรียกว่าอบรมเจริญปัญญา จะเป็นปัญญาที่เรียกชื่ออะไรก็ตามก็เป็นปัญญาทั้งนั้น เช่น ปัญญาที่เป็นความฉลาด ท่านเรียกว่าโกศล ปัญญาที่เป็นความหยั่งรู้เรียกว่าเป็นญาณ ปัญญาที่เป็นความตรัสรู้เรียกว่าโพธิ อะไรทำนองนี้ ปัญญาก็มีลักษณะมีด้านต่างๆ ตลอดจนกระทั่งปัญญาที่รู้เข้าใจในการกระทำแต่ละขณะประจำวันนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ นี่ก็เป็นตัวปัญญาเหมือนกัน เมื่อเราเจริญปัญญาขึ้นมาจนในที่สุดเราก็อยู่ได้ด้วยปัญญาแท้จริง ที่สำคัญที่จะอยู่ด้วยปัญญานั้น ก็เป็นอันว่าต้องทำลายอาสวะไปด้วย พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกว่าการทำลายอาสวะนั้น เป็นเรื่องของผู้รู้ ผู้เห็น คือทำด้วยปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องของความไม่รู้ไม่เข้าใจ ทีนี้พระพุทธเจ้าก็เป็นอันว่ามีความประสงค์ว่า ให้เราทำลายอาสวะพร้อมไปกับการเจริญปัญญา แล้วพระพุทธเจ้าก็สอนวิธีที่จะกำจัดอาสวะไว้ให้ในพระสูตรหนึ่ง เรียกว่าสัพพาสวสังวรสูตร แปลว่าพระสูตรว่าด้วยการปิดกั้นอาสวะทั้งปวง
พระองค์ทรงสอนถึงวิธีการถึง 7 วิธีในการที่จะแก้ไขเรื่องอาสวะ
อาสวะนั้น ขอทบทวนเมื่อกี้อาตมภาพให้ความหมายว่า เป็นกิเลสที่หมักดองในใจแล้วไหลซ่านออกมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาครอบงำมาแอบแฝงเคลือบคลุมผสมปนเปกับสิ่งที่เรารู้ เราเห็น เราคิดนึกต่างๆ ให้แปดเปื้อน ให้เป็นไปตามอำนาจของมันไปหมด อาสวะความหมายก็กว้างไปจนกระทั่งถึงว่า ความเสียหายโทษทุกข์ภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาจากกิเลสเหล่านั้นด้วย ทั้งหมดนี้จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร พระพุทธเจ้าก็สอนวิธีไว้ ๗ ประการด้วยกัน พระองค์ตรัสไว้ในพระสูตรนี้บอกว่า กิเลสหรืออาสวะที่จะพึงละด้วยทัสสนะก็มี ทัสสนะแปลว่าการเห็น เห็นด้วยปัญญา กิเลสที่จะพึงละด้วยสังวรการระวังป้องกันก็มี กิเลสที่พึงละด้วยการเสพการใช้ก็มี อาสวะที่พึงละด้วยความอดทนอดกลั้นก็มี อาสวะที่พึงละด้วยการหลีกเว้นเสียก็มี อาสวะที่พึงละด้วยการบรรเทากำจัดให้หมดสิ้นไปก็มี และอาสวะที่พึงละด้วยการเจริญอบรมให้เพิ่มพูนขึ้นก็มี อาตมภาพก็จะแสดงความหมายโดยย่อๆ แต่ละอย่าง
อย่างที่ 1 วิธีแรก พระพุทธเจ้าตรัสว่า อาสวะที่พึงละด้วยการเห็นด้วยปัญญา หมายความว่าใช้การเห็นเนี่ย เป็นวิธีการในการกำจัดอาสวะ ธรรมดาคนเรานั้น สิ่งที่ประจำอยู่ก็คือว่า มันจะต้องมีความคิด ถึงไม่ทำอะไร ไม่แสดงออกทางกายทางวาจาเนี่ย ก็มีความคิดอยู่เรื่อย ความคิดนี่เป็นกิจกรรมประจำของมนุษย์ ตื่นอยู่ก็คิดตลอดเวลา บางทียังไปคิด คล้ายๆ คิดอย่างไม่รู้ตัว ตอนหลับฝันอะไรต่างๆ นี้เอาที่คิดกันอยู่ธรรมดาเลย
ทีนี้คนเราคิด ถ้าไม่มีวิธีคิดแล้วมันก็ทำให้อาสวะเกิดขึ้น ท่านเรียกว่าเป็นอโยนิโสมนสิการ พิจารณาโดยไม่ถูกวิธี หรือทำในใจไม่แยบคาย พอคิดไปคิดอะไรต่ออะไร ก็อย่างที่อาตมภาพว่าเมื่อกี้ คิดในทางอยากจะได้จะเอา คิดในทางตัวเราจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ในทางที่ดีจะได้จะเป็นอย่างโน้นบ้าง หรือว่าในทางที่ไม่ดีก็อาจจะเสื่อมเสียเป็นอย่างนั้น ถูกเขาทำถูกเขารังแกอะไรต่างๆ นี้ คิดไปมามันก็วนเวียนอยู่กับเรื่องตัวตนนี่ คิดไปมากขึ้นเกี่ยวกับตัวตนก็สร้างปมมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าคิดไม่ถูกต้อง ความคิดนี้ก็สร้างอาสวะ สร้างปมขึ้นในใจมีปัญหามากขึ้น
พระพุทธเจ้าก็สอนบอกว่า จะต้องปฏิบัติต่อความคิดให้ถูกต้อง ก็ต้องทำในใจโดยแยบคาย ที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ คิดโดยถูกต้อง โดยถูกวิธี ก็คิดยังไง คิดตามแนวอริยสัจ 4 คิดเรื่องที่มันเกิดขึ้น คิดไปตามเหตุปัจจัยของมันเป็นยังไง สืบสาวหาเหตุปัจจัย คิดว่ามันควรจะเป็นอะไร อะไรดี ความพ้นไปจากปัญหาคืออะไร ความพ้นจากทุกข์เป็นยังไง แล้วก็คิดหาวิธีการว่าทำยังไงจึงจะทำให้สำเร็จตามนั้น ก็เรียกว่าคิดตามแนวอริยสัจ ถ้าคิดอย่างนี้ คิดเป็นเหตุเป็นผลแล้วคิดไปในทางคลายปม หรือละลายปมก็ทำให้หมดปัญหาไป เพราะฉะนั้นจะต้องคิดให้ถูกวิธี ถ้าคิดได้ถูกวิธีแล้ว ก็จะทำลายกิเลสไปทีละน้อยๆ
ท่านเรียกว่ากิเลสเบื้องต้นที่สำคัญที่จะละได้ด้วยการเห็นด้วยปัญญา ก็ละสักกายทิฏฐิได้ ความคิดเห็นในทางที่เกี่ยวพัวพันเวียนวนอยู่กับตัวตน ความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตนนี้จะหมดไป จะคิดแต่เป็นตามสภาวะตามเหตุปัจจัยตามที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมันแท้จริง แล้วก็จะละวิจิกิจฉาความลังเลสงสัยได้ และจะละความประพฤติผิดที่ยึดมั่นตามศีลพรต ที่เรียกว่าสีลัพพตปรามาส ถืออะไรก็ถือสักแต่ว่ายึดตามๆ กันไป หรือคิดว่าทำอย่างนี้แล้วตามที่ยึดมาแล้ว จะทำให้แก้ปัญหาพ้นทุกข์ไปได้อะไรนี่ ความยึดมั่นความหลงอยู่ในข้อปฏิบัติอะไรต่างๆ ก็จะคลายไป
สรุปแล้วก็คือว่าเป็นหลักใหญ่ สิ่งทั้งหลายที่เข้ามาเป็นอารมณ์ของความคิดแล้ว ก็ควรจะคิดให้ถูกต้อง คิดในทางเป็นเหตุเป็นผลไปเป็นตามกระแสเหตุปัจจัยของมันอย่างที่กล่าวมานั้น นี่ก็เป็นวิธีแก้อาสวะหรือละอาสวะประการที่ 1 ที่เรียกว่า ละด้วยทัสสนะ
ต่อไปประการที่ 2 ท่านบอกว่า อาสวะทั้งหลายที่พึงละด้วยสังวร คือการระวังป้องกันก็มี การป้องกันนี้ก็ปฏิบัติต่อสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องภายนอก คนเราเกี่ยวข้องขั้นแรก ก็คือการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะรับรู้อารมณ์เข้ามา ถ้าหากว่ารับรู้แล้วไม่มีวิธีการแก้ไข ก็จะถูกอาสวะนี้ซึ่งหมักดองใจอยู่แล้ว ไหลซ่านออกมาครอบงำทันที แล้วก็จะเกิดกิเลสขึ้น รับรู้ก็รับรู้ในทางที่เกิดกิเลส เห็นแล้วก็เกิดกิเลส ถ้าไม่เกิดความชอบก็เกิดความชัง ได้ยินได้ฟังอะไรถ้าไม่ชอบก็ชัง อะไรก็จะเป็นไปในทำนองนี้
ท่านก็ใช้สังวรเข้ามาคือความสำรวมระวัง สำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย สำรวมใจ สำรวมนี้ก็คือระวัง รู้ตัวมีสติไว้เมื่อรับรู้อารมณ์ จะเห็นก็ตาม ได้ยินก็ตาม ไม่ยอมให้กิเลสมีความชอบความชัง เป็นต้น เข้ามาครอบงำจิตใจ พอรับรู้พอจะเกิดชอบ รู้ทันที “อ้อ นี่ใจของเราจะตกไปในอำนาจของกิเลสแล้ว” หยุด รู้ มองตามเป็นจริงว่า “อ๋อ นี่เราเห็น เห็นอะไรมันก็เป็นอันนั้น แต่ว่าอย่าไปปรุงแต่งต่อ” ถ้าอย่างนี้ กิเลสชอบชัง เป็นต้น ไม่มา เมื่อไม่มาแล้ว การปรุงแต่งตามอำนาจกิเลสก็ไม่มา เรียกว่าสังวร ทางอายตนะอื่นก็เหมือนกัน
ก็เป็นอันว่าวิธีที่ 2 นี้ก็คือว่า การรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เอาสติไปกำกับไว้ แล้วก็ระวังปิดกั้นเสียไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำ
ต่อไปอย่างที่ 3 อาสวะที่พึงละด้วยการเสพด้วยการใช้สอย คนเรามีชีวิตอยู่ก็ต้องอาศัยปัจจัย 4 เป็นต้น เป็นเครื่องดำรงชีวิต เราจะต้องรับประทานอาหาร จะต้องใช้เครื่องนุ่งห่ม หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ว่าถ้าหากว่าไม่มีวิธีการที่จะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น การใช้การสอยการเสพเหล่านั้น ทำให้เกิดกิเลสได้เหมือนกัน อาสวะเข้ามาครอบงำ เช่นว่า การรับประทานอาหารก็อาจจะไปเห็นแก่ความเอร็ดอร่อย มัวเมาในรสไป หรือว่าแม้เครื่องนุ่งห่ม เสนาสนะอะไรก็ตามทุกอย่างจะเป็นไปตามอำนาจกิเลสหมด
ท่านก็สอนเลย บอกว่าเมื่อจะใช้สอยอะไรให้พิจารณาโดยแยบคาย พิจารณาอย่างไร ปะฏิสังขา โยนิโส ปิณฑะปาตัง อย่างเป็นพระก็พิจารณาโดยแยบคายจึงรับประทานหรือฉันอาหารว่า ที่เราฉันอาหารนี้น่ะ ฉันเพื่อจะให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ มีชีวิตอยู่ได้ ให้ร่างกายเป็นอยู่ผาสุก มิใช่รับประทานเพื่อเห็นแก่เอร็ดอร่อย เพื่อสนุกสนานมัวเมา เป็นต้น หรือใช้เครื่องนุ่งห่มจีวรอะไรก็ตาม ก็รู้ว่าประโยชน์ของจีวร หรือคุณค่าของเครื่องนุ่งห่มนั้นอยู่ที่ไหน เราใช้เพื่ออะไร เพื่อปกปิดร่างกาย เพื่อระวังหนาวระวังร้อน อะไรก็ใช้ให้มันเป็นตามความมุ่งหมายนั้น อย่าใช้เพื่ออย่างอื่น อย่าใช้เพื่อโก้เพื่อเก๋อะไร เป็นต้น ถ้าหากว่าทำอย่างนี้แล้ว กิเลสที่เกี่ยวกับการใช้ปัจจัย 4 ก็ไม่เกิดขึ้น ก็ใช้ถูกต้องตามความมุ่งหมาย ก็พอดีๆ ไม่เกิดโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นี้เรียกว่าการละอาสวะด้วยการเสพการใช้
ต่อไปท่านบอกว่า อาสวะที่พึงละด้วยการอดทนอดกลั้นก็มี เราดำรงชีวิตอยู่ เราก็ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม มันไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนาเสมอไป เช่น บางทีก็หนาว บางทีก็ร้อน หรือว่าอาจจะมียุง มีอะไรมารบกวนต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องการความอดทน มิฉะนั้นแล้วจิตใจก็จะหงุดหงิดเป็นต่างๆ มากมาย แล้วไม่ใช่เฉพาะสภาพแวดล้อมเท่านั้น แม้แต่คนที่เราเกี่ยวข้องพูดอะไรมา บางทีก็ถูกหูเราบ้าง ไม่ถูกหูเราบ้าง กระทบกระเทือนใจก็มี ถ้าหากว่าเราไม่มีวิธีการที่จะระวังตัวเองหรือแก้ไขปัญหาแล้ว ก็จะเกิดภัยอันตรายแก่จิตใจไม่รู้จักสิ้นสุด วันๆ หนึ่งจะต้องเกิดความเดือดร้อนใจอยู่เสมอตลอดเวลา ท่านก็สอนวิธีไว้ว่า วิธีหนึ่งในการเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องพบต้องเกี่ยวข้อง มันเกิดมีขึ้นมาไม่อยู่ในวิสัยอำนาจของเราที่จะไปบังคับได้ ก็คือเราจะต้องรู้จักอดทนอดกลั้น เพราะฉะนั้นเราก็อดทนอดกลั้นต่อความหนาวความร้อนบ้าง อดทนต่อสิ่งสัมผัสทางร่างกายที่ไม่น่าพึงปรารถนาบ้าง อดทนต่อถ้อยคำของผู้อื่นบ้าง ตลอดจนกระทั่งอดทนต่อทุกขเวทนาต่างๆ เช่นว่า เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยต้องรู้จักอดทน มิฉะนั้นแล้วจิตใจจะยิ่งไม่สบายมีความเดือดร้อน เดือดร้อนตนเองไม่พอก็เดือดร้อนคนอื่นไปด้วย กลายเป็นคนไข้ เช่นว่า คนไข้ก็เป็นคนไข้ที่พยาบาลยาก อะไรไปอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความอดทน ทีนี้เจ้าพวกสิ่งเหล่านี้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องประเภทนี้ เราจะแก้ไขได้ด้วยวิธีการที่เรียกว่าอธิวาสนะ คือความอดทนอดกลั้น
ต่อไปท่านบอกว่า อาสวะบางอย่างพึงละได้ด้วยการหลีกเว้น บางอย่างต้องหลีกเลี่ยงเสียเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว ก็อาจจะเกิดเป็นอันตรายแก่ตน อันตรายทางกายก็มี อันตรายทางใจก็มี อันตรายทางกาย เช่น ทำให้ถึงแก่สิ้นชีวิตเป็นอันตราย อย่างที่ท่านยกตัวอย่างในสมัยโบราณ เช่น ช้างร้าย ม้าร้าย หรือสัตว์ดุร้ายอะไรต่างๆ ถ้าคนไปป่าก็ต้องรู้จักหลีกเลี่ยงเว้น ไม่ไปเผชิญกับมัน หรือว่าถ้าเป็นพระสงฆ์ก็รู้จักหลีกเว้นสถานที่ไม่ควรไป ท่านเรียกว่าเป็นอโคจร เป็นโรงเหล้า โรงสุรา การพนันอะไรพวกนี้ต้องรู้จักหลีกเว้นเสีย ไม่ไปเสียเลย เมื่อไม่ไปแล้วก็ไม่เกิดโทษ เช่นไม่ถูกตำหนิติเตียน เป็นต้น แต่ถ้าไปแล้วก็เกิดปัญหา หรือที่ไม่ควรนั่งก็อย่าไปนั่ง คนไม่ควรคบก็อย่าไปคบ ไปคบแล้วเกิดโทษ อย่างนี้เรียกว่าสิ่งที่ควรหลีกเว้นก็หลีกเว้นเสีย อันนี้ก็ต้องพิจารณาเองว่าอะไรเป็นสิ่งที่เป็นโทษไม่ดีไม่งาม ไปคบหาเกี่ยวข้องแล้วจะเป็นโทษแก่ชีวิตเป็นโทษแก่จิตใจก็หลีกเว้นเสีย อาสวะหรือสิ่งที่เป็นโทษทุกข์ภัยเสียหายนั้นเราก็จะหลีกเว้นเสียได้ ก็จะกำจัดเสียได้ อันนี้เรียกว่าเป็นการกำจัดอาสวะด้วยการหลีกเว้น
ข้อต่อไปข้อที่ 6 ท่านบอกว่า กิเลสบางพวก หรือว่าอาสวะที่จะพึงละด้วยการบรรเทาเสียก็มี อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว บางอย่างนั้นอาสวะมันเกิดขึ้นในใจแล้วเราก็จะต้องหาทางแก้ไขกำจัด ที่ท่านบอกไว้ก็มี “กามวิตก” ความตริตรึกในทางกาม ความอยากได้โน่นได้นี่ คิดขึ้นมาแล้ว มันบังคับบีบจิตใจของเราทำให้มีความทุกข์ได้ อาจจะทำให้ไปทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามขึ้น หรือว่า “พยาบาทวิตก” ความตริตรึกในการขัดเคือง ไม่ชอบใจในการที่จะไปทำร้ายเขาคิดร้ายเขา อันนี้ขัดเคืองขัดใจใครเอามาคิดปรุงแต่ง ก็ต้องรู้จักบรรเทาแก้ไข มิเช่นนั้นจิตใจของตัวเองก็เป็นทุกข์เป็นเดือดร้อน และอาจจะทำให้ไปทำสิ่งที่ไม่ดี และอันสุดท้ายก็ “วิหิงสาวิตก” ความตริตรึกในการที่จะไปเบียดเบียนข่มเหงรังแกผู้อื่น ทั้ง 3 ประการนี้ท่านเรียกว่า “อกุศลวิตก” อกุศลวิตกนี้เกิดขึ้นในใจคนได้เสมอ เมื่อเกิดขึ้นแล้วท่านก็ให้บรรเทาเสียกำจัดเสียด้วยการที่ว่าเลิกเสีย ไปตริตรึกสิ่งที่ดีงามแทน เช่น ไปตริตรึกในทาง “เนกขัมมวิตก” ในการที่จะเสียสละ ในการที่จะเป็น “อพยาบาทวิตก” ตริตรึกในทางที่จะมีเมตตา ที่จะช่วยเหลือกันใน “อวิหิงสาวิตก” อย่างนี้ นี่ก็เรียกว่าเป็นการบรรเทาแก้ไขอาสวะ ใช้วิธีของการบรรเทาปัดเป่าให้หมดสิ้นไป
แล้วข้อสุดท้าย อาสวะที่พึงละด้วยการเจริญอบรมก็มี ที่ว่าเจริญอบรมนี้ มิใช่ไปเจริญอบรมอาสวะ แต่เป็นการที่เจริญอบรมสิ่งที่ดีให้มีขึ้นในใจของเรา เมื่อเจริญอบรมเอาสิ่งที่ดีมาปลูกมาฝังสร้างขึ้นในใจแล้ว สิ่งไม่ดีก็เกิดขึ้นไม่ได้ อาสวะก็ไม่ได้ช่อง มันก็ไม่มีโอกาสจะเกิดขึ้น แล้วนอกจากนั้นจิตใจก็จะเจริญงอกงามในทางที่เป็นบุญเป็นกุศลจนกระทั่งทำลายกิเลสได้
พระองค์ก็ให้ตัวอย่างไว้ว่า การกำจัดอาสวะด้วยการเจริญอบรมหรือภาวนานี้ เช่น อบรมเจริญโพชฌงค์ ขึ้นในใจของตนเอง โพชฌงค์ 7 คือองค์ของการตรัสรู้ มีสติเป็นต้น เมื่อเจริญสติ เจริญธัมมวิจยะ ความใช้ปัญญาสอดส่องเลือกเฟ้นธรรม คิดไตร่ตรองธรรม เป็นต้น ใน 7 ประการนี้ เมื่อคิดมาพิจารณาเจริญขึ้นในใจของตัวเองแล้ว กิเลสมีแต่จะหมดไป อาสวะนั้นไม่ใช่เพียงไม่ได้ช่องเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ที่มีก็จะหมดไปด้วย แล้วก็จิตใจก็เจริญขึ้นจนกระทั่งว่า ถ้าโพชฌงค์เต็มบริบูรณ์ก็จะได้ตรัสรู้
นี้ก็เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนวิธีแก้ไขกำจัดกิเลสไว้โดยประการต่างๆ ถึง 7 ประการด้วยกัน แต่ที่เป็นหลักสำคัญนั้นก็คือ ข้อต้นกับข้อสุดท้าย ข้อที่ 1 ก็คือทัสสนะ การเห็นด้วยปัญญา และข้อสุดท้าย ภาวนา การเจริญอบรมสิ่งที่ดีขึ้นมาในใจ สองข้อนี้เป็นข้อหลัก ข้อที่ 1 นั้นอย่างที่อาตมภาพกล่าวแล้ว คือว่าคนเราจิตใจนี่มันทำงานของมัน หรือมันก็ยุ่งของมันอยู่ตลอดเวลา มันต้องมีอะไรคิดนึก เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดนึก ใช้วิธีคิดนึกให้ถูกอย่างที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการแล้ว มันก็เกิดเป็นคุณขึ้นมา เป็นสิ่งที่จะต้องทำอยู่เสมอในข้อแรกเป็นหลัก อันนี้ปฏิบัติต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจในความคิดของเรา แต่ประการสุดท้าย ภาวนานั้นเดินหน้าไปอีก คือไปปลูกฝังความดีงามให้เกิดขึ้นในจิตใจในความนึกคิดของเรา
สองข้อนี้ก็เรียกว่าพอตัวแล้ว อันที่ 1 ปฏิบัติต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจให้ถูก อันที่ 2 สร้างสิ่งที่ดีงามขึ้น สร้างศีล สร้างสมาธิ สร้างปัญญาขึ้นมาในใจของเรา สองอันนี้เป็นหลัก ส่วนที่เหลือนั้นเป็นวิธีการที่ท่านเรียกว่า เป็นเครื่องประกอบ เป็นตัวช่วยเท่านั้นเอง เพราะเป็นเรื่องโดยมากเกี่ยวข้องกับสิ่งภายนอก อย่างที่ว่าสังวรเนี่ย ใช้เวลาที่เรารับรู้สิ่งภายนอก เช่นเห็น ได้ยิน เป็นต้น ระวังด้วยสติไม่ให้กิเลสมาครอบงำ หรือว่าอดทน ก็ไปอดทนสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องที่มันทำให้เกิดทุกขเวทนา หรือสิ่งที่เราจำทนแต่ว่าอดทนเสีย มันก็ไม่เกิดพิษกำเริบ หรือว่าสิ่งที่เป็นภัยภายนอกใช้วิธีหลีกเลี่ยงเว้นซะ อะไรอย่างนี้ อันนี้สิ่งพวกนี้โดยมากใช้กับเรื่องเฉพาะกรณีไป เรียกว่าต้องมีลักษณะเฉพาะอย่าง เป็นอย่างนั้นแล้วก็ใช้วิธีอย่างนั้นๆ เป็น 5 ประการ เป็นวิธีที่เข้ามาช่วย เป็นวิธีเสริม แต่วิธีหลักก็มี 2 วิธีคือ ทัสสนะกับภาวนา ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมา
นี้ก็เป็นวิธีการที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้สำหรับการที่จะแก้ไขกำจัดอาสวะ ถ้าหากว่าทำได้สำเร็จตามนี้แล้ว ก็จะเป็นอยู่ด้วยปัญญามากขึ้นทุกที อาสวะก็จะลดน้อยลง อย่างน้อยมันจะคลายอำนาจ อำนาจที่จะเข้ามาครอบงำจิตใจ ที่จะเข้ามาทำให้เลอะให้เปื้อน มาผสมในจิตใจให้ขุ่นมัวก็ไม่มี เมื่ออาสวะไม่ครอบงำ จะไม่ครอบงำเฉพาะเวลาที่เรียกว่า
ตทังคะก็ดี หรือจะไม่ครอบงำเพราะมันหมดหายไปสิ้นเชิงก็ดี ในเวลานั้นก็จะทำให้จิตใจผ่องใสบริสุทธิ์ปลอดโปร่ง ก็เป็นสุข ถ้าหากว่าทำได้เฉพาะคราว ก็เป็นสุขเบิกบานผ่องใสเฉพาะเวลานั้น ถ้าหากว่ากำจัดได้โดยสิ้นเชิง ก็จะมีจิตใจที่สะอาดผ่องใสบริสุทธิ์สะอาดโดยสิ้นเชิงตลอดไป
อาตมภาพก็เห็นว่าหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เรื่องวิธีกำจัดหรือละอาสวะนี้เป็นสิ่งสำคัญที่พุทธศาสนิกชนพึงนำมาใช้ ปฏิบัติได้มากเท่าไรก็เป็นประโยชน์เท่านั้น มีถึง 7 วิธีการด้วยกันดังที่อาตมภาพได้แสดงมา อย่างไรก็ตามก็พยายามให้มีวิธีหลัก 2 วิธีไว้ คือทัสสนะและภาวนา พร้อมกันนั้นก็พยายามใช้วิธีทั้ง 5 อีก 5 อย่างนั้นมาเสริมตามโอกาสและตามที่จะสามารถทำได้ ก็จะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตจิตใจของตนเอง และก็จะแผ่ความดีงามนี้ให้แก่ผู้อื่นด้วย ก็จะเกิดความร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน อาตมภาพได้แสดงมาในเรื่องของการปิดกั้นอาสวะตามนัย “สัพพาสวสังวรสูตร” นี้ ก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขออนุโมทนาคุณโยมทุกท่านที่ได้มีศรัทธาในพระศาสนา ตั้งใจบำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล บำเพ็ญภาวนา ก็ขอให้ทุกท่านเจริญงอกงามในการปฏิบัติในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งๆ ขึ้นไปตลอดกาลเทอญ.