แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ ก็จะขอต่อ ในเรื่องอริยวัฑฒิ หลักความเจริญของอริยสาวก มีห้าประการ คราวนี้ก็มาถึงข้อที่สี่ ข้อที่ 1.ก็ ศรัทธา พูดไปแล้ว 2.ศีล พูดไปแล้ว 3.สุตะ ก็พูดไปแล้ว ทีนี้มาถึงข้อที่ 4 คือจาคะ
จาคะแปลว่าความเสียสละ บางครั้งเราใช้คู่กับคำว่าทาน หรือแทนคำว่าทาน แต่สองคำนี้มีความหมายลึกซึ้งไม่เท่ากัน ทานนี่รู้จักกันมาก ทานเนี่ยแปลว่าการให้ จาคะแปลว่าการเสียสละ ทานนั้นเรามักจะมองเน้นที่ภายนอก ดูการกระทำ เช่น เอาของไปให้ เอาไปถวายพระอะไรเนี้ย เรียกว่าทาน แต่จาคะนี่มองตลอดตั้งแต่ข้างนอกไปถึงข้างใน มันแปลว่าความสละ ทานนั้นยังไม่ชัดเจน เป็นแต่เพียงว่าบอกว่าให้ แต่บางทีเราให้เราอาจต้องการผลตอบแทนก็ได้ แต่จาคะแปลว่าสละเลย และความหมายก็ลึกซึ้งกว่า ถ้ามีจาคะแล้วก็เป็นเหตุให้ทำทานได้อย่างเต็มที่ แต่ว่ามีทานไม่แน่ว่ามีจาคะหรือไม่
เพราะฉะนั้นในทางหลักธรรมลึกซึ้งแล้ว ที่มองถึงจิตใจ มองถึงสภาพทางจิตด้วยเนี่ย จะใช้จาคะเป็นหลัก และในที่นี้ก็พูดถึงคำว่าจาคะ
จาคะที่แปลว่าสละนั้น อาจจะแบ่งคร่าวๆ ได้เป็นสองอย่าง คือสละภายในกับสละภายนอก ก่อนที่จะสละภาย นอก ก็ต้องสละภายในก่อน สละภายในก็คือสละกิเลส คือในจิตใจของคนเรา ปกติก็ย่อมมีกิเลสต่างๆ ที่ตรงข้ามกับจาคะ นั่นคือความโลภ ความอยากได้ มีอภิชชา อภิชชาก็ไม่ค่อยรู้จักกัน ไม่ค่อยได้ยินกันบ่อย มาในแนวอกุศลธรรมบท แปลว่าการจ้องจะเอาของคนอื่น แล้วก็ตลอดจนกระทั่ง มัจฉริยะ แปลว่า ความตระหนี่ กิเลสพวกนี้มันก็เป็นธรรมดา ถ้าเป็นมนุษย์ปุถุชนก็ต้องมี ธรรมะที่จะมาช่วยกำจัดกิเลสเหล่านี้ ตัวสำคัญก็คือจาคะนี่แหละ
ที่ว่าจาคะสละภายใน ก็คือตอนแรก สละความโลภ สละตัวนี้ พอสละกิเลสภายในได้ ก็เรียกว่ามีความพร้อมที่จะสละภายนอก สละภายนอกก็คือสละทรัพย์สินสิ่งของ คือทำเป็นทานบ้าง บริจาคให้ แม้กระทั่งสละทางด้านความสุขส่วนตัว นี้มีความหมายกว้าง สละความสุขส่วนตัวเพื่อผู้อื่น เขาเรียกมีน้ำใจ ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อคนอื่น อย่างคนที่ใกล้ชิดกัน แล้วก็คนนึงเจ็บไข้ได้ป่วย อีกคนหนึ่งก็อดหลับอดนอนพยาบาลรักษา คนที่อดหลับอดนอนพยาบาลรักษานั้นก็ต้องมีน้ำใจ ก็เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อผู้อื่น อย่างนี้ก็เป็นจาคะเหมือนกัน แล้วก็แม้แต่ในทางความคิดเห็น คนเรานั้นก็มีความคิดเห็นในทางที่ว่ายึดติดในความคิดเห็นของตัวเอง คนอื่นพูดมาอย่างไรก็ไม่ค่อยจะฟัง แต่ถ้ามีจาคะแล้วก็สละได้ สละความเห็นของตัวเอง ความยึดติดในความเห็นของตัวเอง ถ้ามองเห็นเหตุผลแล้วเราอาจไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดพลาดก็สละความเห็นที่ผิดนั้นเสียได้ อันนี้ก็เป็นจาคะ
จะเห็นว่าจาคะในความหมายกว้างมาก ใช้ได้ ทั้งวัตถุ ทั้งนามธรรม โดยเฉพาะที่สำคัญก็คือสละกิเลส ก็เลยถือว่าจาคะเนี่ย เป็นฐานเบื้องต้นที่จะออกมาเป็นทาน แล้วก็จะออกมาสู่คุณธรรมอื่นๆ เมื่อสละกิเลส สละสิ่งที่ไม่ดีออกไปแล้ว ก็เปิดทางให้คุณธรรมความดีเข้ามาแทนที่ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเนี่ยทรงสรรเสริญจาคะเป็นอย่างมาก ไม่ว่าเฉพาะในทางวัตถุ สำหรับพระอริยสาวกนั้น ต้องยินดีในการสละในการบริจาค เพราะจิตใจไม่มีความตระหนี่ ท่านวัดความเป็นพระโสดาบันอย่างหนึ่ง ว่าจิตใจเนี่ยไม่มีความตระหนี่ ละความตระหนี่ ความขี้เหนียว ความเห็นแก่ตัวไปเสียได้ ก็มีความเสียสละได้เต็มที่
จนกระทั่งถึงขนาดที่ว่า อยู่กับคนที่ดีมีศีลมีธรรมด้วยกันแล้ว ทรัพย์สมบัตินี้เหมือนกับเป็นของร่วมกัน ไม่ได้ยึดถือเป็นของตนเอง ตอนนี้ท่านบอกว่าสำหรับคนที่มีศีลมีกัลยาณธรรมด้วยกัน อยู่ร่วมกันใช้ของ ทำเหมือนกับว่าเป็นสมบัติของทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องถือกันและกัน ถ้าเป็นความเจริญของจาคะ ถึงระดับที่ว่าเป็นพระโสดาบันทีเดียว
แต่อันนี้ก็ต้องอยู่ที่ความพร้อมของจิตใจ คือเราจะต้องสละความโลภออกไป สละความตระหนี่ออกไปจากใจเสียก่อน มิฉะนั้นใจไม่พร้อมแล้วก็ทำได้ยาก ที่นี้เมื่อสละวัตถุสละสิ่งภายนอกออกไปได้ ถ้าหากว่าใจเราพร้อมด้วย เราก็จะมีความสุขในการสละนั้น ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าการสละของเรานั้นเป็นสิ่งสมควร เป็นประโยชน์เช่นว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนจำนวนมาก หรือเป็นไปเพื่อให้ธรรมะดำรงอยู่ยั่งยืนนาน เรามองเห็นคุณประโยชน์อย่างนี้แล้วสละออกไป ถ้าสละออกไปแล้วจิตใจก็มีความสุข
คนเรานั้นโดยปกติก็มีความสุขในการได้ เราได้โน่นได้นี่มา เราก็มีความสุข อันนี้ก็ธรรมดาเรามีความอยากได้อยู่ในจิตใจ แต่ถ้าเมื่อไรจิตใจเราพร้อม มีความเสียสละ เราจะรู้สึกเป็นสุขในการให้ด้วย เพราะจิตใจที่มีความสุขในการให้นั้น คนธรรมดาก็มีพอเห็นๆ กันอยู่ คือเรามีความรักพอใจในใคร เช่นว่า พ่อแม่รัก รักลูก ถ้าได้ให้อะไรสละอะไรให้กับลูก ก็จะมีความสุขในการให้นั้นด้วย แต่ถ้าเราไม่ได้มีความรักความพอใจเราก็ให้ได้ยาก ให้ก็อาจมีความทุกข์เพราะฝืนใจ
แต่ทีนี้ถ้าเราได้บำเพ็ญคุณธรรมมากขึ้น เราแผ่เมตตาจิตตั้งออกไป เช่นว่า ตอนแรกก็รักลูก แล้วก็ให้กับลูกก็เป็นความสุข รักพี่รักน้อง ให้กับพี่น้องก็มีความสุข รักพ่อรักแม่ ให้กับพ่อแม่ก็มีความสุข ต่อมามีเมตตาจิตแผ่ขยายออกไป รักเพื่อนมนุษย์ทั่วไป เห็นใครได้ทุกข์ได้ยาก ให้เขา เขาสบายแล้วเราก็มีความสุขอันนี้ ก็จะมีความสุขแค่ไหน ก็อยู่ที่ใจเราพร้อม มีจาคะธรรมในใจ มีเมตตา
ที่รักอย่างพระพุทธเจ้า รักสรรพสัตว์ รักสัตว์ทั่วโลกทั้งหมด เพราะฉะนั้นพระองค์ก็เลยมีจิตพร้อมที่จะให้ ให้ก็มีความสุขทุกครั้ง ตลอดจนกระทั่งไม่ได้ให้แต่ทรัพย์สินเท่านั้น พระพุทธเจ้านั้นให้แม้กระทั่งชีวิตของพระองค์ เราจะเห็นว่าในประวัติของพระพุทธเจ้านั้น ในเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์นั้น สละทุกอย่างจนกระทั่งว่าชีวิตของพระองค์เองก็เคยสละเพื่อให้ผู้อื่นได้รับความสุข
อันนี้ก็เป็นความเจริญของอริยชนที่ก้าวไปเป็นขั้นๆ เมื่อสละทรัพย์ภายนอกไปแล้ว เราก็มีทรัพย์อยู่ในใจของเรา ก็คือคุณธรรมเหล่านี้ที่ทำให้เรามีความสุข ทำให้รู้สึกว่ามีความสมบูรณ์ ไม่ได้อ้างว้าง ไม่ได้ขัดสน ไม่ได้ยากจน ไม่ได้ยากไร้ ท่านจะเรียกทรัพย์ภายในนี้ว่าอริยทรัพย์ แปลว่า ทรัพย์อันประเสริฐ หรือทรัพย์ของอริยชน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเนี่ยแม้จะทรงให้คนเราขยันหมั่นเพียรทำมาหาเลี้ยงชีพ เพื่อจะมีทรัพย์ภายนอกจะได้พึ่งพาตนเองได้ แต่ก็ให้เราเนี่ยก้าวหน้าในคุณธรรมความดีด้วย โดยสร้างอริยทรัพย์ หรือทรัพย์ภายในใจ ให้ใจเรามีความสุขผ่องใส จากการที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น จากการที่ได้สั่งสมคุณธรรมความดีขึ้นมาในตนเอง
วันนี้อาตมาก็ได้พูดมาในเรื่องจาคะ ก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา พอเป็นความเข้าใจทั่วๆ ไป ก็ให้เห็นความหมายของจาคะ แล้วก็ความสำคัญของจาคะ เห็นประโยชน์ของจาคะ เมื่อจิตใจสละพร้อมทุกอย่างแล้วเนี่ย จึงจะสามารถบำเพ็ญบารมีได้เต็มที่ เพราะถ้าเรายังไม่สามารถเสียสละ เรายังติดโน่นติดนี่แล้ว การที่จะบำเพ็ญบารมีได้จริงจังคุณธรรมต่างๆ จะให้ครบถ้วนทุกอย่างก็ทำได้ยาก ถ้าจิตใจพร้อมสละได้แล้ว เราก็ทำคุณธรรมได้ทุกอย่าง ดูเหมือนว่าจะไม่มีติดขัดอะไรทั้งสิ้น อาตมาก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา สำหรับวันนี้ก็จะขอจบเรื่องจาคะไว้เท่านี้ และก็ขออนุโมทนาโยม เจริญพร