แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
คุยกันต่อวันนี้ก็เอาเรื่องง่าย ๆ อีก คิดว่าเรื่องที่พูดครั้งนี้จะง่ายกว่าเมื่อเช้าอีก เมื่อเช้าเรื่องอิทธิบาท 4 ก็เป็นเรื่องที่ง่าย แต่ก็ยังพูดน้อยกว่าเรื่องที่จะพูดตอนค่ำนี้ ที่เอามาพูดก็เพราะเป็นเรื่องสืบเนื่องเกี่ยวกับเรื่องฉันทะด้วย ก็คือเรื่องพรหมวิหาร 4 คิดว่าทุกท่านก็รู้จักมันแต่เดิมแล้วก็บางทีก็ได้ฟัง ได้ฟังที่พูดกันที่นี่บ่อยแทบจะว่าไม่จำเป็นต้องพูดอีกแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรจะนำมาเหมือนกับทบทวนกันในเรื่องพรหมวิหาร 4 ว่าสืบเนื่องมาจากฉันทะ ก็คือว่าฉันทะนี่บอกแล้วว่าเป็นความปรารถนาดีอยากให้มันดีหรือใฝ่ดี มีความอยากให้มันดีต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เราไปเจออะไรไปเกี่ยวข้องกับอะไรก็อยากให้มันดีไปหมด ทีนี้สิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องก็มีทั้งวัตถุสิ่งของกิจการงานแล้วก็มาคน ทีนี้ในกรณีที่ความใฝ่ดีหรืออยากให้มันดีนี่มาเกี่ยวข้องกับคนเข้า มันก็กลายเป็นว่าความหวังดีปรารถนาดี คืออยากให้เขาอยู่ในภาวะที่ดี เช่นให้ร่างกายเขาสุขสมบูรณ์ ให้เขามีความสุข ให้เขาอยู่ในภาวะที่ดีงาม นี้ความอยากให้มันดีที่มีต่อคนสัตว์ ก็เลยมีชื่อพิเศษเราเรียกว่าเมตตา ฉะนั้นเมตตาก็เป็นเรื่องของฉันทะนี่แหละ ที่มาแสดงออกต่อเพื่อนมนุษย์หรือตลอดจนกระทั่งสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่มีความต่อเนื่องกับเรื่องฉันทะที่พูดไปแล้ว อันนี้ความอยากให้มันดี อยากให้คนเขาอยู่ในภาวะที่ดีงามนี้ เริ่มต้นก็คือตัวเมตตานี้อยากให้เขาเป็นสุข ซึ่งรวมไปถึงการที่ว่าอยากให้เขามีสุขภาพดีแข็งแรงในทางกาย แล้วก็ให้มีชีวิตที่มีความสุขรวมไปทั้งจิตใจด้วย ที่นี้ในกรณีที่คนนั้นเขาไม่ได้อยู่ในสภาวะที่เป็นปกติยังไม่เป็นสุขตามที่ควรจะเป็น คุณธรรมข้อนี้ก็จะมีตัวโยงไปอีกก็คือว่าพอเขาไม่เป็นปกติ เขาเดือดร้อนตกต่ำในความทุกข์เราก็อยากจะให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้นเข้ามาสู่ภาวะที่เป็นสุข นี้จิตใจที่ปรารถนาดีต่อคนที่มีความทุกข์ อยากให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้นก็มีศัพท์เพิ่มขึ้นมาอีกเรียกว่ากรุณา กรุณานี่มันเป็นตัวที่ว่ามาเสริมแล้ว คือว่าพอเห็นเขาทุกข์เราก็มีความหวั่นใจพลอยหวั่นใจไปกับทุกข์ของเขา ซึ่งเราเรียกว่าความสงสาร ที่จริงคำว่าสงสารเองก็เป็นคำที่เพี้ยน เพราะว่าสงสารในภาษาบาลีนั้นถ้าจะเอากันจริง ๆ ก็มาจากคำว่าสังสาระ สังสาระแปลว่าการท่องเที่ยว โดยเฉพาะก็ที่เราเรียกว่าเวียนว่ายตายเกิด ไป ๆ มา ๆ คำว่าสงสารมาอย่างไง้กลายเป็นว่า มีความหมายว่า หวั่นใจในทุกข์ของผู้อื่น อยากจะให้เขาพ้นจากความทุกข์ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษาว่าเพราะว่า มันเพี้ยนมาได้อย่างไร แต่ก็เอาว่าความหมายตามภาษาบาลีก็คือคำว่ากรุณาแปลว่าพลอยหวั่นใจในทุกข์ของผู้อื่นอยากให้ผู้อื่นพ้นความทุกข์นั้น เมื่ออยากให้เขาพ้นทุกข์ ก็อยากให้เขากลับคืนมาสู่สภาพปกติที่มีความสุข ทีนี้ต่อไปเราอยากให้เขาเป็นสุข อยากให้เขาอยู่ในภาวะที่ดี ทีนี้ถ้าเขาเกิดได้มีความสุขจริง ๆ ประสพความสำเร็จหรือว่ามีความสุขยิ่งขึ้นไปอย่างนี้ล่ะจิตของเราก็พลอยยินดีสมปรารถนาไปด้วย ก็เกิดภาวะจิตขึ้นมาอีกอันหนึ่ง ภาวะจิตนี้เรียกว่ามุทิตา แปลว่าพลอยยินดีในการที่เขาได้ดีมีสุขประสบความสำเร็จ ถ้าเกิดมีเป็น 3 ข้อขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตามความปรารถนาดีหวังดีของคนเรานี่ ก็ย่อมไม่สามารถจะให้พ้นไปจากขอบเขตของความเป็นจริง หรือกฎธรรมชาติได้คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เราจะปรารถนาดียังไงก็ตามทั้งหมดเนี่ยมันก็อยู่ในขอบเขตของกฎธรรมชาติที่เป็นไปได้ตามเหตุปัจจัยเท่านั้น เพราะฉะนั้นคนเราก็จะต้องยอมรับตระหนักต่อความจริงอันนี้ด้วย นี้ถ้าหากว่ามันจะเกินเลยจากความเป็นจริงใจจากความเป็นเหตุเป็นผลตามเหตุปัจจัย ก็ต้องมีท่าทีอีกตัวหนึ่งมาสร้างดุลยภาพไว้หรือมาคุมไว้ เพราะฉะนั้นก็เลยมีหลักข้อที่ 4 ที่เราเรียกว่าอุเบกขา มาคุมให้ความปรารถนาดีต่อกัน ซึ่งเริ่มต้นจากเมตตาที่มีฉันทะอยากให้เขาอยู่ในภาวะที่ดีมีความสุขตลอดจนกระทั่งเรื่องกรุณามุทิตาเนี่ยมันไม่เกินขอบเขตแห่งความสมเหตุสมผล แห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของกฏธรรมชาติ ซึ่งถ้าหากว่าเราไม่มีภาวะจิตนี้ก็จะเป็นผลเสียกับตัวเราเองด้วย เมื่อมันไม่เป็นไปตามปรารถนาของเรา เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เราอยากจะให้เขาดีมีความสุข แต่ว่าเขาก็ตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติ ถ้าเขาปฏิบัติผิดจากกฎธรรมชาติ มันก็มีอันเป็นไปตามกฎธรรมชาตินั้น ความปรารถนาดีของเราก็ถูกขัดขวาง เราก็จะเกิดความทุกข์จิตใจเราก็เสีย นี่เป็นผลเสียต่อเราเอง แล้วอีกอย่างหนึ่งก็ผลเสียต่อสังคมต่อผู้อื่น ก็คือเราไปทำเกินที่มันควรจะเป็น ทำในความหมายว่าความดีงามความเป็นไปตามเหตุตามผลที่มันจะส่งผลให้เกิดความดีงามในหมู่มนุษย์ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ในการรักษาความเป็นธรรม ความยุติธรรม ความถูกต้อง ความดีงามต่าง ๆ เราคิดจะช่วยเขาอย่างเดียว ก็อาจจะเกิดผลร้ายไปละเมิดต่อธรรมะนี้ ไปละเมิดต่อความเป็นธรรม ความชอบธรรม เราก็เป็นการไปทำลายหลักความถูกต้องดีงามเข้าก็เกิดผลเสียอีก เพราะฉะนั้นมันจึงมีข้อที่ 4 มาคุมไว้คือข้อที่เรียกว่าอุเบกขาคือ การที่วางใจเป็นกลาง แล้วก็ดูตามที่มันควรจะเป็นของมัน ตามเหตุปัจจัยนั้นหรือตามความถูกต้อง ตามกฎเกณฑ์กติกาที่มาวางกันขึ้น ในเมื่อเราเห็นว่าความดีมันเป็นอย่างนี้ สิ่งทั้งหลายควรจะเป็นอย่างนี้เรามาวางกฎเกณฑ์กติกาในสังคมแล้ว เราก็มีอุเบกขาเพื่อจะรักษาความเป็นธรรมอันนี้ไว้ รักษากฎเกณฑ์กติกาอันนี้
ข้อ 1, 2, 3 เมตตากรุณามุทิตาก็เท่ากันถูกคลุมไว้ให้อยู่ในขอบเขตของธรรมะไม่ละเมิดธรรมะ ข้อที่ 4 ก็มาถึงข้ออุเบกขา นี่ทั้งหมด 4 ข้อเนี่ย ก็เป็นหลักที่เราเรียกว่าพรหมวิหาร 4 เพราะเหตุว่าพรหมวิหาร 4 มาเกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์ก็เลยเป็นหลักธรรมสำหรับใช้ในการมีความสัมพันธ์กันในสังคมในหมู่มนุษย์ เพื่อจะรักษาสังคมนี้ให้อยู่ในความดีงาม เพราะว่าการที่เป็นสังคมก็คือการที่มนุษย์นั้นมามีความสัมพันธ์กัน มนุษย์จะสัมพันธ์กันได้ดีก็ต้องเป็นไปตามหลักที่ว่า 4 ประการนี้ ถ้ามนุษย์สัมพันธ์กันไม่ดีนั้น ก็จะทำให้เกิดโทษ สังคมก็จะไม่มีความมั่นคงจะตั้งอยู่ดีไม่ได้ เรียกว่าไม่มีความเป็นเอกภาพหรือว่าเกิดความเสื่อมเสียด้วยประการต่าง ๆ เพราะฉะนั้นก็เลยต้องมีธรรม 4 ประการนี้มาสำหรับรักษาสังคมให้อยู่ในภาวะที่ดีงาม
ทีนี้สังคมนี้ในศัพท์พุทธศาสนาใช้คำว่าโลก คำว่าสังคมนี้เป็นศัพท์สมัยใหม่ หมู่มนุษ์มาอยู่รวมกันทั้งหมดเรียกว่าโลก คำว่าสังคมหรือสังคะโมในภาษาบาลีเดิมมีความหมายเป็นเพียงว่า คนนั้นมาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในภาวะปกติธรรมดามาเกี่ยวข้องกัน มาไปด้วยกัน หรือมาพบปะกันไปพบกันในที่ใดที่หนึ่งเรียกว่าสังคะโม ไม่ได้มีความหมายเป็นสังคมอย่างที่เราใช้กันในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่หมายความว่าสมัยก่อนท่านไม่มี ท่านใช้คำว่าโลกนั่นเอง โลกะนี่โลก อย่างพระพุทธศาสนาสอนว่าให้เราประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูลเพื่ออนุเคราะห์โลก ก็หมายความว่าเพื่อจะอุดหนุนเกื้อกูลต่อโลกให้โลกคือสังคมที่อยู่ได้ดี โลกนี้คือสังคมเนี่ยจะอยู่ได้ดีก็ด้วยการที่มนุษย์แต่ละคนนี้ได้ปฏิบัติตามหลัก 4 ประการ ที่เรียกว่าพรหมวิหาร เมื่อเราปฏิบัติตามหลัก 4 ประการนี้ก็เท่ากับว่าเราเนี่ยได้ช่วยกันรักษาให้โลกคือสังคมนี้อยู่ในภาวะดีงามเป็นปกติ ทีนี้ในสมัยก่อนศาสนาพราหมณ์เขาสอนว่า ผู้ที่จะดูแลรักษาอภิบาลให้โลกอยู่ด้วยดี นี่ก็คือพระพรหม นอกจากอภิบาลรักษาดูแลแล้วก็ผู้สร้างด้วย นี่เป็นความเชื่อถือในเรื่องเทพเจ้า นี้พระพุทธเจ้ามาตรัสหลักธรรมะนี้ขึ้นมาก็ถือว่าคนแต่ละคนนี่แหละ จะช่วยกันรักษาดูแลให้โลกนี้เป็นปกติสุขได้ ก็เท่ากับว่ามาช่วยกันสร้างสรรค์โลกให้เป็นโลกที่อยู่ดีมีความร่มเย็นเป็นสุข นั้นก็ถือว่ามนุษย์แต่ละคนเนี่ยผู้ปฏิบัติตามหลักนี้ก็เป็นพรหม ก็เลยใช้คำว่าพรหมมาหมายถึงมนุษย์ทุกคนที่ประพฤติตามหลักธรรมเหล่านี้ หรือมีคุณธรรม 4 ประการนี้ แล้วเราก็เรียกหลักธรรม 4 ประการนี้ว่าพรหมวิหาร แปลว่าธรรมประจำใจหรือธรรมเครื่องอยู่ของพรหม ก็ย้ายจากความเชื่อเรื่องเทพเจ้าหรือการรอให้เทพเจ้ามาใช้อำนาจดลบันดาลดูแลรักษาโลกหรือสังคมนี้ไว้ให้มนุษย์นี่มามีความรับผิดชอบ มาช่วยกันสร้างสรรค์ดูแลโลกนี้ด้วยฝีมือของมนุษย์กันเอง นี่ก็กลายเป็นว่าเราไม่รอให้เทพเจ้านี่ มาสร้างสรรค์ดูแลโลกให้มนุษย์นี่ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบ ก็เหมือนอย่างหลักที่พูดไปแล้วว่า หลักพุทธศาสนานี่ก็ให้มนุษย์เนี่ยมา 1 มาเอาใจใส่ต่อการกระทำของตนเองให้เป็นการกระทำที่ดีงามถูกต้องแล้วก็ทำด้วยความเพียรพยายามให้สำเร็จผลที่ต้องการ แล้วอีกแง่หนึ่งก็คือว่าให้มาเอาใจใส่กันในหมู่มนุษย์เองมาช่วยเหลือการร่วมมือกัน เพื่อจะสร้างสรรค์สังคมให้อยู่ด้วยดี ก็เป็นการย้ายจากจุดสัมพันธ์จากเทพเจ้าที่มองไม่เห็นที่เราจะต้องไปขอความช่วยเหลือมาเป็นเพื่อนมนุษย์ที่จะร่วมมือกัน มาทำการสร้างสรรค์ด้วยกัน
นี่เราก็เอามาพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าธรรมะ 4 ประการนี้ใช้กับเพื่อนมนุษย์ในสถานการณ์ต่าง ๆ 4 สถานการณ์ด้วยกัน ก็สรุปได้ว่า
1 สถานการณ์ที่เพื่อนมนุษย์อยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา มีความเป็นมิตร มีความปรารถนาดีอยากให้เขาเป็นสุขอย่างที่ว่าไปแล้ว ก็ย้ำอีกทีว่าเมตตาก็เป็นศัพท์ที่มีรากเดียวกันกับคำว่ามิตะ มิตะแปลว่ามิตร คือเพื่อน แปลงอีกเมตตะ ตามหลักไวยากรณ์เป็นภาวนามก็เป็นเมตตา มิตะเป็นคน เมตตาก็เป็นคุณธรรม เป็นสภาวะ มิตะเป็นมิตร เมตตาก็เป็นความเป็นมิตรหรือน้ำใจมิตร หรือคุณธรรมของมิตร ได้แก่ความรักความปรารถนาดี อันนี้ก็คือว่าใช้กับสถานการณ์ที่ 1 ที่ว่าเพื่อนมนุษย์เขาอยู่เป็นปกติ นี้ต่อไปสถานการณ์ที่
2 เพื่อนมนุษย์นั้นตกต่ำลงไป ตกจากสถานะเดิมที่เป็นปกติต่ำลงไปสู่ภาวะที่เดือดร้อนเป็นทุกข์ เราก็ใช้คุณธรรมข้อที่ 2 ก็คือกรุณา ที่แปลว่าความหวั่นใจในทุกข์ของผู้อื่นแล้วก็คิดหาทางที่จะช่วยเหลืออยากจะทำให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้น
3 สถานการณ์ที่ขึ้นสูงก็คือว่า จากปกติก็กลายเป็นว่าดีงามยิ่งขึ้นไป มีความสุขยิ่งขึ้นไป หรือประสบความสำเร็จ อันนี้เราก็ย้ายไปสู่คุณธรรมข้อที่ 3 ก็คือมุทิตา ก็พลอยยินดีด้วย ในความสุขของเขาเรียกว่าโมทนา เราก็พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน นี้ได้ 3 แล้วทีนี่ต่อไปก็สถานการณ์ที่
4 สถานการณ์ที่ 4 ก็บอกแล้วว่ามนุษย์เรานี่ถึงยังไงก็จะต้องอยู่ภายใต้ความเป็นจริงของกฏธรรมชาติที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยความปรารถนาดีต่อกันยังไงก็ตามการช่วยเหลือกันก็ต้องไม่พ้นไปจากอันนี้ หนึ่งในแง่ความเป็นไปได้มันก็ต้องอยู่ในขอบเขตของกฎธรรมชาติ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น สองในแง่ควรจะเป็นก็มีธรรมะในอีกความหมายหนึ่งว่าหลักความดีงามความถูกต้องที่สังคมที่จะต้องอาศัย ถ้าสังคมไม่ประพฤติปฏิบัติตามสิ่งที่ดีงามถูกต้อง สังคมนั้นก็จะวิปลาศไปเอง นั้นในแง่ความเป็นไปได้ก็อยู่ในขอบเขตของธรรมะ ในแง่ความควรจะเป็นก็ต้องอยู่ในขอบเขตของธรรมะเช่นเดียวกัน ฉะนั้นถ้าหากว่าจะช่วยเหลือกันด้วยเมตตากรุณามุทิตา ก็จะต้องไม่ให้เกินขอบเขตของธรรมะนี้ไม่ให้เสียธรรมะไม่ละเมิดธรรมะ ภาวะจิตที่วางใจเพื่อจะอยู่ในธรรมะนี้คือภาวะที่รักษาธรรมะไว้ด้วยใจที่เป็นกลางต่อบุคคล เมื่อเรามองที่ธรรมะความจริงความดีงามถูกต้องแล้วใจจะเป็นกลางต่อบุคคล ใจจะเป็นกลางต่อบุคคลนี้แสดงออกในการที่ออกมาเป็นการปฏิบัติก็เท่ากับไม่ขวนขวาย คือว่า อ้อเรื่องนี้มันจำเป็นต้องเป็นไปตามธรรมนะ ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งความดีงามถูกต้องชอบธรรม พอเราพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว เราก็ไม่ขวนขวาย เพราะว่าจะต้องให้เป็นไปตามธรรมะไม่ขวนขวายที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงต่อธรรมะ ภาวะนี้เราก็เรียกว่าเฉย กลายเป็นว่าอุเบกขาเป็นเฉย แต่การแปลว่าอุเบกขาว่าเฉยนี่ ต้องระวังอย่างที่ว่า คือต้องรู้ว่าที่เฉยเพราะอะไร เฉยก็คือว่าไม่ขวนขวายในการไปช่วยเหลือเขาเพราะจะรักษาธรรมะไว้ด้วยการที่มีปัญญาพิจารณาเห็นความจริงความถูกต้องดีงามแล้ว ฉะนั้นก็มนุษย์นี่ถ้าเห็นว่าคนอื่นเขาควรจะต้องช่วยตัวเองมันจึงจะสมเหตุสมผลในกรณีอย่างนี้ เราไม่เข้าไปช่วยเหลือ อย่างนี้เราก็เรียกธรรมะปฏบัติถูกต้องตามธรรม ถ้าเราไม่ทำตามที่ควรจะเป็นตามเหตุตามผลก็ทำให้ช่วยเกินขอบเขต แม้แต่ว่า อย่าว่าแต่คนอื่นแม้แต่ลูกช่วยเหลือเกิตความสมเหตุสมผลก็เสีย แล้วก็ 1 ความสมเหตุสมผล 2 ก็คือว่า ช่วยเหลือไปแล้วเสียความเป็นธรรม เสียความถูกต้อง เพราะว่าที่เขาทำนั้นมันไปละเมิดกฏเกณฑ์กติกาสังคมหรือละเมิดหลักแห่งความดีงามเข้าแล้วเราไปช่วยเหลือ ไปส่งเสริมเขาก็ผิดอีก ข้อที่ 4 ก็เลยเป็นตัวสำคัญที่มาคุมให้เมตตากรุณามุทิตานี้อยู่ในขอบเขตที่ถูกต้องตกลงว่าข้อที่ 4 นั้นก็คือรักษาธรรมะเราเรียกว่าอุเบกขา
4 ข้อนี้ก็เป็นระบบที่เราเรียกว่าดุลยภาพทำให้เกิดความพอดี ถ้าหากไม่มีครบ 4 ข้อก็ไม่พอดี มันเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามสถานการณ์ เมื่อถูกต้องตามสถานการณ์ก็เกิดความพอดีขึ้นมาหรือจะมองอย่างเป็นชุดก็ได้ 4 ข้อนี้ก็ 3 ข้อต้น เมตตากรุณามุทิตาก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ต่อบุคคล และก็ข้อ 4 อุเบกขาก็เป็นความสัมพันธ์กับธรรมะ คือความสัมพันธ์กับคนนั่นแหละในกรณีที่ไปเกี่ยวข้องกับธรรมะเข้า ก็ต้องไปเอาธรรมะเป็นหลัก ให้คนนี้ทั้งหมดนี้ได้อยู่ในธรรม ในแง่นี้ก็การรักษาธรรมะตัวหลักการนี้ก็จะมาสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในการช่วยเหลือระหว่างมนุษย์ว่าไม่ให้มันเกินพอดี ทีนี้ถ้ามองดูอย่างนี้ก็สามารถมองกว้างออกไปอีก บอกว่าคนเรานี่ชีวิตแต่ละคนเนี่ยที่เป็นอยู่เนี่ยเราอยู่ในสภาพแวดล้อมชีวิตของเรานี้ดำเนินไปแล้วเป็นอยู่ทุกวันทุกวันก็เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมี 2 ด้านก็คือหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์ หรือทางพระเรียกว่า คือสัตว์ทั้งหลายมีความสัมพันธ์กัน เพื่อจะให้อยู่ด้วยดีก็จะต้องมีความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลายนี้ให้ดีให้ถูกต้อง แต่อีกด้านหนึ่งก็คือชีวิตมนุษย์นั้นก็จะต้องอยู่กับความเป็นจริงอยู่กับกฎธรรมชาติความเป็นไปตามเหตุปัจจัยและนี้ไปกฏที่ใหญ่กว่าอีก ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้นยังเป็นรอง ความสัมพันธ์กับความเป็นจริง อยู่กับกฎธรรมชาติความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่ใหญ่ที่สุดครอบคลุมหมด แม้กระทั่งสังคมมนุษย์ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์กติกา หรือกฏธรรมชาติอันนี้ สังคมมนุษย์ก็ทำอะไรสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันทั้งสิ้น ถ้าสังคมมนุษย์นี้ดำเนินในทางผิดเหตุปัจจัยก็นำสังคมไปสู่ความเสื่อม ถ้าหากทำเหตุปัจจัยดีสังคมก็เจริญ นั้นชีวิตแต่ละคนนี่ก็จะมีความสัมพันธ์กับ 2 ด้าน หนึ่ง สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ สอง สัมพันธ์กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต ทีนี้ในเมื่อเราสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ในแง่ความสัมพันธ์เพื่อนมนุษย์นี้ก็ต้องสัมพันธ์ให้ดี หลักการสำคัญก็คือเริ่มด้วยเมตตาอย่างที่ว่า แล้วก็มีกรุณามุทิตาก็มีการช่วยเหลือกันอย่างดี ถ้าอย่างนี้แล้วก็ใช้ได้ แต่อีกด้านหนึ่งมนุษย์ต้องอยู่กับความเป็นจริง แต่ละคนนี้ชีวิตของตัวเองก็ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาตินั้นต้องรับผิดชอบต่อเหตุปัจจัย แม้แต่ร่างกายของเขาจะมีสุขภาพดีแข็งแรงจะมีโรคภัยไข้เจ็บก็ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งความปรารถนาดีของมนุษย์อย่างเดียวว่าเป็นไปไม่ได้ มนุษ์จะมีความปรารถนาดีต่อกันยังไงก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเหตุปัจจัยอันนี้ตามกฎธรรมชาติ นั้นชีวิตที่มีความสัมพันธ์ 2 ด้านนี่แหละต้องปฏิบัติให้ถูก ปฏิบัตต่อเพื่อนมนุษย์ในความสัมพันธ์ต่อกัน ก็เป็นไปด้วยเมตตากรุณามุทิตา นี้ความสัมพันธ์กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตอันนี้ อุเบกขาจะต้องมา อันนี้เรามาใช้กับการพัฒนาคนด้วย
อันนี้เราเริ่มแต่ว่า พรหมวิหารใช้เป็นคุณธรรมสำหรับมนุษย์ที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบสร้างสรรค์และรักษาสังคมนี้ไว้เนี่ยก็พูดเป็นกลาง ๆ ว่ามีต่อกันในระหว่างทุกคน เราก็มีต่อทุกคน แต่ในกรณีที่เป็นการพัฒนามนุษย์ก็คือเริ่มตั้งแต่พ่อแม่จะต้องเลี้ยงดูลูก เมื่อพ่อแม่เลี้ยงดูลูกก็ต้องใช้หลักพรหมวิหารนี้มา เพราะว่ามองในแง่หนึ่งก็ลูกนั้นก็เป็นคนที่อยู่ในโลกอยู่ในสังคมเหมือนกัน เราก็ต้องมีธรรมะ 4 ประการนี้ แต่อีกประการหนึ่งที่เป็นกรณีพิเศษก็คือว่าพ่อแม่นั้นมีความรับผิดชอบที่จะพัฒนาลูกเลี้ยงดูอบรมลูกให้ไปเป็นส่วนร่วมในสังคมอีก ให้เด็กนี้ไปเป็นพรหมหรือเป็นผู้ที่สามารถที่จะสร้างสรรค์รักษาสังคมนี้ได้ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ก็จะต้องมาพัฒนาลูกด้วยหลักพรหมวิหาร การที่จะพัฒนาลูกในหลักพรหมวิหาร ให้ลูกไปพรหมต่อไปข้างหน้าด้วย แล้วก็เจริญเติบโตขึ้นด้วยการที่ปฏิบัติต่อลูกด้วยพรหมวิหาร 4 ก็อย่างถูกต้องด้วย ก็เลยต้องคำนึงถึง 2 ด้านที่ว่านี้ ที่ว่าลูกในฐานะเป็นมนุษย์ ก็มีความชีวิตเขามีความสัมพันธ์ 2 ด้าน 1 ความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทั้งคือพ่อแม่เป็นต้นไป แล้วก็ 2 ลูกจะต้องสัมพันธ์กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตคือกฎธรรมชาติความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ ที่นี้ในแง่ที่ 1 หรือในด้านที่ 1 ที่สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ก็เมื่ออยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่ก็เป็นตัวอย่างในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วยพรหมวิหาร 3 ข้อต้น เมตตากรุณามุทิตา ยามลูกเป็นปกติก็เลี้ยงดูให้ความอบอุ่นมีความสุข ซึ่งเมื่อลูกได้รับการอบรมดูแลอย่างนี้แล้วมันก็ฝังไว้ในจิตใจที่จะรู้จักรักผู้อื่น เช่นว่าเมื่อพ่อแม่รักก็รักพ่อแม่ตอบแทน นี้ก็ต่อไปก็จะขยายไปรักเพื่อนมนุษย์ เริ่มตั้งแต่มีพี่มีน้องเกิดมาร่วมกันก็ขยายความรักไปยังพี่น้องแล้วก็ขยายไปเหลือเพื่อนมนุษย์ ถ้าพัฒนาอย่างถูกต้องความรักนี้ก็ขยายออกไป ก็รวมทั้งกรุณาก็ขยายออกไป มุทิตาก็ขยายออกไป นี้ด้านนี้พ่อแม่ก็ให้ต่อลูกด้วยเป็นแบบอย่างแก่ลูกแล้วก็พัฒนาคุณธรรมเหล่านี้ขึ้นมาในโลกให้เขาพร้อมที่จะไปดีกับเพื่อนมนุษยย์ ถ้าพร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่งของชีวิตของเขาก็คือด้านที่ชีวิตของเขานี่ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติความเป็นจริง ทีนี้อันนี้แหละที่พ่อแม่จะต้องใช้ปัญญาคือจะต้องดูว่า อ้อเขาจะต้องไปรับผิดชอบชีวิตของเขาเองได้ รับผิดชอบชีวิตของเขาต่อความเป็นจริงของกฎธรรมชาติในการข้างหน้า รับผิดชอบต่อการอยู่ในสังคมมนุษย์อะไรนี่ ทีนี้ในการรับผิดชอบต่อความเป็นจริงเนี่ย มันจะเป็นความรับผิดชอบต่อชีวิตของเขาเองซึ่งคนอื่นจะไปช่วยไม่ได้ ฉะนั้นทำไงเราก็ต้องฝึกให้เขามีความสามารถที่จะรับผิดชอบชีวิตของเขาได้ด้วย เพราะว่าคนอื่นจะไปทำให้ตลอดเวลาไม่ได้อย่างพ่อแม่นี้แน่นอนไม่ต้องพูดถึงว่าจะอยู่กับลูกไม่ได้ตลอดไปหรอก แม้แต่ว่าในขณะที่อยู่ด้วยกันก็ไม่ใช่ว่าไปทำแทนให้ได้หมด ถ้าลูกไม่รู้จักรับผิดชอบชีวิตตนเองเลยนี่ ลูกนั้นก็จะไม่สามารถมีชีวิตที่ดีได้จริงแล้วจะไม่พัฒนาเพราะฉะนั้นในด้านนี้ได้ที่ 2 ก็คือการที่ว่าต้องรู้ว่าอีกด้านหนึ่งของชีวิตของเขานี่ต้องอยู่กับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติเป็นต้นที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ในเมื่อเป็นอย่างนี้แล้วเราจะต้องให้เขาพร้อมที่จะไปรับผิดชอบชีวิตของตนเอง
ตอนนี้ที่พ่อแม่จะต้องมองกาลไกล ถ้าเมตตากรุณามุทิตานี้มันก็ได้ด้วยความรู้สึกที่อยู่ด้วยกันนี้ว่าเขาอยู่เป็นปกติเราก็รักเขาเดือดร้อนเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นทุกข์ เราก็ต้องช่วยเหลือแก้ไขด้วยกรุณา ถ้าเขาได้ดีมีสุขประสบความสำเร็จสอบได้ดี ๆ เป็นต้น ก็พลอยดีใจด้วยส่งเสริมสนับสนุน อันนี้มันก็ได้ในขอบเขตที่ว่าเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แล้วก็ปลูกฝังเป็นนิสัย เป็นคุณธรรมเป็นสภาพจิตให้แก่เขาระยะยาว แต่ทีนี้ในการรับผิดชอบต่อชีวิตของเขาระยะยาวเนี่ย อันเนี้ยจะต้องฝึกต้องพัฒนาในตัวเขาเอง เขาจะฝึกฝน เขาจะพัฒนาตัวเองด้วยการที่ต้องทำเป็นต้น คือว่าคนเรานี่จะมีความสามารถขึ้นมาก็ต้องฝึกฝนพัฒนา จะทำอะไรเป็นก็ต้องหัดทำต้องฝึกทำ นี้ถ้าเขาไม่เคยฝึกไม่เคยหัดต่อไปเขาก็ทำไม่เป็น นี่เป็นเรื่องระยะยาว เมื่อจะต้องรับผิดชอบทำไงก็ต้องฝึก เพื่อให้เป็นก็ต้องทำ ต้องหัดต้องฝึกทำให้เป็น นั้นพ่อแม่ก็เลยต้องคอยดูว่า ต่อไปลูกจะต้องรับผิดชอบตัวเองในอนาคตเขาจะรับผิดชอบตัวเองได้ไหมเขามีความเข้มแข็งมีความพร้อมแค่ไหน มีอะไรที่เขาจะต้องทำให้เป็น เราก็ต้องดูแล้วก็ต้องหัดให้เขาทำ เมื่อเขาอยู่กับเรานี้เรายังเห็นว่าเขาทำถูกทำผิดแล้วก็ทำได้ทำไม่ได้ เราสามารถช่วยเขาเวลาเขาทำ เมื่อเขาทำไม่ถูกก็จะได้ช่วยแนะนำแก้ไขให้ทำให้ถูก เขาทำไม่เป็นทำไม่ได้ผลดีทำให้มีประสิทธิภาพเราก็ใช้ความรู้ความสามารถประสพการณ์ไปช่วยเขาได้ นี่แหละเป็นการใช้อุเบกขาคือข้อที่ 4 ก็เคยดูแล้วก็ให้เขาทำไม่ใช่ทำแทนให้เขา นี่เป็นการช่วยเขาระยะยาว เรียกเป็นความรักก็เป็นความรักระยะยาว เพราะว่าต่อไปข้างหน้านี้พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วย ถ้าไม่ได้ฝึกไม่หัดไม่ได้ให้เขาทำให้เป็นแต่บัดนี้ ต่อไปเขาเผชิญชีวิตของตนเองในสังคมมนุษย์ เผชิญกับความเป็นจริงของโลกและตัวชีวิตเขาเอง เขาไม่เคยฝึกเขาไม่รู้จะทำยังไง ตอนนั้นพ่อแม่ก็ไม่ได้อยู่ด้วย ก็ไปช่วยเขาไม่ได้ เขาทำผิดทำถูกก็เลยเป็นว่า ทำผิดทำถูกปล่อยปละละเลย ซึ่งเป็นความปล่อยปละละเลยของพ่อแม่แต่บัดนี้นั่นเอง ก็เท่ากับพ่อแม่ไม่ได้เตรียมลูก ไม่ได้รักลูกจริงในระยะยาวเพราะฉะนั้นพ่อแม่ที่มีปัญญาก็จะต้องมาใช้อุเบกขา แล้วก็พิจารณาว่าอะไรที่เขาควรจะต้องทำให้เป็น จะต้องมีความสามารถมีความพร้อมมีสติปัญญา ก็หัดเขาไว้ให้เขาทำ โดยที่ตัวเองก็คอยดูอยู่ใกล้ ๆ ซึ่งจะเข้ากับความหมายของศัพท์ว่าอุเบกขา เพราะอุเบกขานั้นแปลว่าดูอยู่ใกล้ ๆ หรือเข้าไปดูอยู่หรือคอยดูอยู่ มาจากคำว่าอุปะ แปลว่าเข้าไปหรือใกล้ แล้วก็อีกขะ แปลว่ามอง อุปะอิขะรวมกันเป็นอุเบกขะ แล้วก็ทำตามไวยากรณ์เป็นอุเบกขา เป็นไทย ก็เอาปอเป็นบอ ก็เป็นอุเบกขา แปลว่าคอยมองดูหรือดูอยู่ใกล้ ๆ หมายความว่า คอยดูเพื่อให้มันเป็นไปตามที่มันควรจะเป็น ถ้าเขาผิดพลาดก็จะช่วยแก้ไขทำให้เขาถูกแนะนำเขาเป็นต้น นั้นอุเบกขาก็เลยกลายเป็นธรรมะที่สำคัญอย่างยิ่ง ในแง่เกี่ยวกับเด็กก็เป็นตัวที่เปิดโอกาสให้เด็กนี้พัฒนา เพราะว่า 3 ข้อต้นนี้เป็นตัวที่เราไปทำแทนเขาซะ เด็กก็ทำไม่เป็นเขาก็เลยไม่พัฒนา แต่ว่ามันได้ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่อยู่ด้วยความอบอุ่นมีความสุข ซี่งก็จำเป็นมาก แต่ว่าอันที่ 4 ต้องมาคลุมาดูให้อยู่กับความพอดี นี้อุเบกขาก็จะมาเปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนา ถ้าพ่อแม่มีแต่พรหมวิหาร 3 ข้อต้นก็จะรักลูกมากแล้วก็จะทำแทนทำให้หรือให้คนทำให้หมด เด็กก็เลยทำไม่เป็นไม่พัฒนา ก็กลายเป็นว่าด้วยความรักของตัวเอง พ่อแม่ไปขัดขวางการพัฒนาของลูกไปเสีย ก็เรีกว่ารักลูกไม่ถูกทาง งั้นถ้ารักลูกให้ถูกทางก็ต้องใช้ธรรมะให้ครบ 4 ข้อ กลายเป็นว่าถ้าใช้เป็นอุเบกขาเป็นตัวสำคัญที่ช่วยให้เด็กพัฒนาได้ดี เป็นการรักลูกระยะยาวด้วย เด็กที่พ่อแม่ไม่มีอุเบกขาตามสถานการณ์ที่เหมาะแล้วก็จะทำให้เป็นคนที่มีความเข้มแข็งช่วยตัวเองได้ดีรับผิดชอบชีวิตของตนเองได้ ท่านก็เลยให้ใช้อุเบกขาเนี่ย เราว่าตามหลักใหญ่ก็ในสถานการณ์ที่ว่าในเมื่อมันควรจะเป็นไปตามเหตุตามผลตามธรรมะตามหลักแห่งความจริงความถูกต้องดีงาม
ทีนี้ความเป็นเหตุเป็นผลสมเหตุสมผลความถูกต้องดีงาม ความเป็นธรรมชอบธรรม มันจะแสดงออกในกรณีไหนบ้าง ก็แยกแยะออกไปเป็น 3 กรณีสำหรับพ่อแม่ต่อลูก
กรณีที่ 1 ก็คือกรณีที่บอกไปแล้วว่าเมื่อลูกควรจะฝึกหัดทำอะไรต่ออะไรให้เป็นด้วยตนเองจะได้รับผิดชอบตนเองได้ และมีความสามารถที่จะพัฒนาเจริญก้าวหน้าต่อไป กรณีที่ 1 ก็คือว่าจะต้องหัดลูกให้เขาทำสิ่งที่ควรจะทำให้เป็นอันนี้กรณีที่ 1 ทีนี้ต่อไป
กรณีที่ 2 ก็คือกรณีที่ว่าให้เขารับผิดชอบการกระทำของเขา อันที่ 1 เป็นการฝึกหัดให้รู้จักรับผิดชอบ 2 ก็คือกรณีที่ต้องรับผิดชอบการกระทำของเขาเลย ก็คือว่าเด็กก็จะต้องไปเติบโตอยู่ในสังคมต่อไป สังคมก็มีกฏเกณฑ์กติกาใครผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก นี้ครอบครัวนี้เป็นสังคมย่อยเป็นสังคมตัวแทนสังคมใหญ่ ก็ต้องฝึกเด็กให้ไปอยู่ร่วมในสังคมใหญ่ต้องรู้จักกฎเกณฑ์กติกาของสังคม ต้องรู้จักวินัย ฉะนั้นวินัยในครอบครัวก็ต้องมีขึ้น มีกฎเกณฑ์กติกาที่ว่าเมื่อเด็กทำถูกทำผิดก็ต้องได้รับผลตามกฎเกณฑ์กติกาที่ตั้งไว้นั้น ก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง อย่างที่ว่าเมื่อทำผิดไป กฎก็ต้องเป็นกฎ ไม่ใช่เอาเมตตากรุณามาแล้วก็เลยทำให้เสียหลักเสียงธรรมะไป ทีนี้ต่อไป
กรณีที่ 3 ก็คือว่าเมื่อเด็กเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วรับผิดชอบตัวเองได้ คือว่าจบการศึกษาเล่าเรียนแล้ว มีการมีงานมีการทำแล้ว แล้วก็มีครอบครัวของเขาแล้ว อย่างนี้ถือว่าเขาต้องรับผิดชอบชีวิตตนเองแล้ว แล้วเขาเราก็ได้ฝึกได้หัดได้เลี้ยงดูมาให้พร้อมแล้ว ก็ต้องถึงกรณีที่เราจะต้องวางอุเบกขาอีกครั้งหนึ่ง ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในชีวิตของเขาในครอบครัวเขา ให้ลูกนี้รับผิดชอบชีวิตของเขาเอง คอยดูอยู่ แต่ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง ไม่เข้าไปวุ่นวายในชีวิตส่วนตัวหรือครอบครัวของเขา ไม่เข้าไปจัดแจงนู่นวุ่นวายว่าจะเอาอย่างโน้นควรอยู่อย่างนั้นอย่างนี้นะ ให้ตั้งจิตว่าถึงเวลาที่เขาต้องรับผิดชอบชีวิตของเขาและครอบครัวเขาเอง นี้เขาเรียกว่าเป็นการวางอุเบกขาในกรณีที่ 3
ถ้าพ่อแม่ไม่รู้จักวางอุเบกขา ลูกเป็นผู้ใหญ่มีครอบครัวแล้ว ก็จะเข้าไปจุ่นจ้านเข้าไปวุ่นวายในครอบครัวในชีวิตของเขาไปจัดนู่นจัดนี่ก็ทำให้เขาอึดอัด ทำให้ชีวิตของเขาไม่มีความสุข แล้วก็เกิดความอึดอัดต่อกันหลายฝ่าย เพราะว่าเขามีคู่ครอง แล้วมีฝ่ายที่ 3 เข้ามาเขาก็อึดอัดคู่ครองของเขา แล้วมาอึดอัดกับพ่อแม่อีก ก็จะเกิดปัญหาขัดแย้งกันเสียความสุขด้วยกันทุกฝ่าย เพราะฉะนั้นก็เป็นวางอุเบกขา
นี่แหล่ะก็เป็นเรื่องของอุเบกขาที่เป็นตัวคุมสำคัญ แต่ว่าเราต้องเริ่มจากเมตตากรุณามุทิตาโดยเฉพาะเมตตานี้จะเป็นธรรมะที่เป็นพื้นเลย ก็เพราะว่าตามปกตินี่มนุษย์เรามีความสัมพันธ์กันในแง่ที่ว่า ถือว่าทุกคนอยู่ในภาวะเป็นปกติ เพราะฉะนั้นความเป็นมิตรหรือเมตตาก็จะต้องเป็นตัวพื้นฐานมีก่อนอื่น ความเป็นมิตร การถือว่ามนุษย์อื่นก็เป็นสัตว์ที่ร่วมโลกกับเราเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายร่วมกฎธรรมชาติเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นหลักการในทางธรรมชาติที่ทำให้เราต้องมีเมตตา มีความเป็นมิตร ธรรมะคือเมตตานี้เป็นพื้น แล้วต่อไปก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่ว่า พอเขาย้ายไปสู่ความตกต่ำก็กรุณา เขาย้ายขึ้นสูงสุด เราก็มีมุทิต แล้วก็ไปอยู่ในขอบเขตของสุดท้ายก็มีอุเบกขา จากที่ว่าไปนี้ก็ให้เห็นลักษณะของธรรมะ 4 ประการที่ว่าเป็น 2 ชุด ข้อ 1-3 เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์หรือระหว่างบุคคลต่อบุคคล และข้อที่ 4 ก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ในกรณีที่ผู้เกี่ยวข้องกับตัวธรรมะ อันนี้จะมีลักษณะเด่นที่ว่า 3 ข้อต้นนี้เป็นเรื่องที่เด่นทางด้านความรู้สึก พอเขาเป็นปกติก็รู้สึกเป็นมิตรปรารถนาดี พอเขามีความทุกข์ก็รู้สึกสงสารหวั่นใจในทุกข์เขาอยากช่วยเหลือ แล้วพอเขาได้ดีมีสุขก็รู้สึกดีใจด้วยจะส่งเสริมสนับสนุน 3 ข้อต้นนี้ใช้ด้านความรู้สึกเน้นหนัก แต่ว่าข้อที่ 4 อุเบกขานี้มาหนักด้านความรู้ ด้านความรู้ก็คือปัญญา เพราะว่าเราจะรู้ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผล มันควรจะเป็นยังไง ธรรมะคืออะไรหลักการ ความถูกต้องชอบธรรมเป็นยังไงกติกาสังคมเป็นไง อันนี้ต้องใช้ปัญญาทั้งนั้นต้องใช้ความรู้ นั้นอุเบกขานี้อยู่ได้ด้วยปัญญาต้องมีปัญญาจึงจะรักษาอุเบกขาได้
ทีนี้ในทางพุทธศาสนาแล้วก็เห็นได้ว่าชีวิตมนุษย์ที่พัฒนานั้นปัญญาเป็นตัวสำคัญ มนุษย์ที่พัฒนายิ่งพัฒนาไปก็ปัญญาจะมาเป็นตัวหลักมากขึ้น เพราะฉะนั้นอุเบกขาจะเจริญยิ่งขึ้น แล้วก็ปัญญาก็จะเป็นตัวคุมเพื่อจะให้ได้ด้านความรู้สึกนี้มันไม่เกินพอดี ถ้ามนุษย์ไม่มีปัญญาไม่มีตัวความรู้นี้มาก่อนคุมแล้วความรู้สึกจะเกินพอดี แม้แต่ในตัวเองก็จะทำให้เกิดทุกข์ได้ อย่างเรารู้สึกมีกรุณาเห็นเขาเป็นทุกข์ก็หวั่นใจในความทุกข์ของเขาอยากจะช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์ ทีนี้ถ้าเราไม่มีปัญญาไม่รู้ว่าเหตุผลที่ควรจะเป็น ๆ ยังไง ความถูกต้องเป็นธรรมเป็นยังไง ไอ้ตัวความรู้ปัญญาไม่มีก็ไม่มาช่วยจิตใจเราก็จะนึกว่าเราจะต้องช่วยเขาให้ได้ถ้าช่วยเขาไม่ได้เราก็เกิดความรู้สึกเดือดร้อนใจกระวนกระวายใจ แต่พอเรามีปัญญารู้ว่า อ้อโดยเหตุผลความทุกข์ควรจะเป็นความชอบธรรมความชอบความเป็นธรรมมันเป็นอย่างนี้ มันจะต้องเป็นอย่างนี้โดยธรรมะไอ้ตัวปัญญาที่รู้ความจริงความสมควรความถูกต้องโดยเหตุผลนี่ มันทำให้เราวางใจได้หายทุกข์หายเดือดร้อนไม่เดือดร้อนไปเพราะความรู้สึก เช่นความสงสารเป็นต้น ปลับใจได้พอดี ปัญญามันก็ปรับความรู้สึกให้พอดี มันก็ปรับทั้งความรู้สึกในตัวเองที่ว่าทำให้ไม่มีความทุกข์ด้วยจิตก็ราบเรียบสงบด้วย แล้วก็ทำให้การปฏิบัติก็มีความพอดีปรับการปฏิบัติต่อกันในสังคมต่อเพื่อนมนุษย์ให้พอดีหมด ข้อที่ 4 จึงเป็นเรื่องตัวที่สำคัญมาก เป็นตัวคุ้มสุดท้าย
อันนี้ก็มองในแง่ของสังคมมนุษย์อีกทีหนึ่งว่า ในเมื่อสังคมมนุษย์ที่จะอยู่ดีได้ก็ต้องครบ 4 ข้อ ทีนี้ในกรณีทั่ว ๆ ไปเราจะเห็นว่าสังคมมนุษย์นี่ ก็ยากที่จะให้ปฏิบัติพรหมวิหารได้ครบ 4 ข้อ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นภาวะสังคมที่ไม่ค่อยมีดุลยสภาพสังคมที่พัฒนา แม้กระทั่งคนทั้งหลายนี่ปฏิบัติถูกต้องทั้ง 4 ประการหาได้ยาก ฉะนั้นบางสังคมก็จะมาได้แค่ข้อ 1 บางสังคมก็ได้ข้อ 1 ข้อ 2 บางสังคมก็ได้ข้อ 1,2,3 บางสังคมก็ไปได้ข้อ 4 อย่างเดียว แต่ไม่มีข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 หรืออะไรเงี้ย คือมันเว้า ๆ แหว่ง ๆ หาเต็มยาก แต่ถ้าดูไปแล้วเนี่ยมันมักจะมีเป็นสังคม 2 แบบ ก็คือว่าสังคมที่หนักในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในข้อ 1, 2, 3 อย่างหนึ่ง และสังคมที่หนักในเรื่องของการรักษาตัวหลักการกฎเกณฑ์กติกาอีกแบบหนึ่ง ในด้านสังคมที่หนักในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกันก็จะหนักในความเมตตากรุณามุทิตา ซึ่งอาจจะไม่เต็มด้วย อย่างที่ว่าบางสังคมก็ได้แค่เมตตากรุณา ส่วนสังคมที่หนักข้อ 4 ก็จะเป็นสังคมที่หนักในการที่รักษากฎเกณฑ์กติกา โดยที่ว่าไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ไม่ค่อยเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เราเอาหลักการณ์นี้มาพิจารณานี้เราก็จะเห็นได้ว่า สังคมต่าง ๆ ก็จะเป็นอย่างนี้ มีความเอียงเสียดุล เราก็เลยพูดกันถึงสังคมไทยนี่ ก็น่าพิจารณาว่าเป็นสังคมที่อาจจะเสียดุลหรือเปล่า คือเป็นสังคมที่หนักในด้านความสัมพันธ์ระหว่างคน โดยเฉพาะข้อ 1 ข้อ 2 เมตตากรุณา สังคมไทยในนี้แง่ของถ้อยคำเราก็เห็นได้ว่าใช้คำว่าเมตตากรุณานี้มาก ใช้จนเหลือเฟือใช้จนกระทั่งชีวิตประจำวัน ใช้จนกระทั่งความหมายนี่ไม่ชัดเจน แม้แต่เมตตากรุณาต่างกันอย่างไรก็แยกไม่ออก ใช้เป็นคำสามัญไป ทีนี้ด้วยความที่หนักในเมตตากรุณาก็มีความรักใคร่ปรารถนาดีต่อกันเป็นเพื่อนเป็นมิตร แล้วก็ช่วยเหลือกันเวลามีทุกข์มียากก็พร้อมช่วยเหลือ ทีนี้ถ้าหนักในเมตตากรุณาในความสัมพันธ์ระหว่างคนโดยที่ว่าไม่มีอุเบกขาการรักษาธรรมมาคอยคุมไว้การช่วยเหลือกันระหว่างคนนี้มันก็จะเกิดการเสียดุลที่ว่า ช่วยกันจนกระทั่งว่า ลองจะช่วยสักอย่างเดียวก็ช่วยกันไปจนกระทั่งไม่มีขอบเขตหลักการกฎเกณฑ์กติกาไม่เอาทั้งนั้นละเมิดกฎหมาย ละเมิดธรรมะ ละเมิดความถูกต้องเป็นธรรมหมดเลย ซึ่งเห็นได้ว่าในสังคมไทยที่น่าจะมีมากพอสมควร ก็แสดงว่าเป็นสังคมที่เสียดุล จะช่วยเหลือกันในระหว่างคน โดยมุ่งที่เมตตากรุณาเท่านั้น แล้วสังคมไทยก็มีคนบ่นหลายคนว่าไม่ค่อยมีมุทิตาคือคนประสบความสำเร็จทำสิ่งที่ดีงามไม่ค่อยจะสนับสนุนใช่ไหม ก็เป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณา แต่ว่ารวมแล้วก็คือมาอยู่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างคนไม่ถึงอุเบกขา
อุเบกขานั้นคนไทยเข้าใจผิดเป็นเพียงว่าเฉย ๆ ก็คือเฉยไม่เอาเรื่องเอาราว เฉยไม่เอาเรื่องเอาราว เฉยก็เกิดจากการไม่รู้เรื่อง ก็เลยไม่รู้เรื่องแล้ว เมื่อไม่รู้เรื่องและไม่เอาเรื่องมันก็เลยไม่ได้เรื่องก็เสีย นี้ภาวะอย่างนี้ก็เลยเป็นว่าเฉยด้วความไม่รู้ก็ไปเป็นอกุศธรรม ท่านเรียกว่าอัญญานุเบกขา แปลว่าเฉยโง่ เฉยไม่รู้ ฉะนั้นสังคมไทยก็มักจะรู้จักคำว่าเฉยในความหมายนี้ คือ เฉยโง่ เฉยไม่รู้ ซึ่งผิดธรรมะ ทั้ง ๆ ที่ตัวอุเบกเป็นตัวที่ต้องอาศัยธรรม ตัวปัญญาเป็นตัวที่ตั้งอยู่ได้ด้วยปัญญา ปัญญาเป็นสำคัญที่สุดข้ออุเบกขานี้ ฉะนั้นสังคมไทยถ้าเป็นอย่างนี้จริงก็ต้องถือว่าเสียดุลแล้วเป็นสังคมที่เอียงไป ก็จะเกิดผลร้ายก็คือรักษาธรรมะ รักษากฎเกณฑ์กติกา รักษาความเป็นธรรมไว้ไม่ได้ อีกประการหนึ่งก็เพราะว่าช่วยกันแม้ไม่สมเหตุสมผล ทำให้คนหวังพึ่งผู้อื่นมากไป ก็จะทำให้อ่อนแอไม่ขวนขวาย การช่วยเหลือกันแม้แต่ไม่ผิดหลักการ ก็จะต้องอยู่ในเหตุในผลว่า อันนี้เขาควรจะรับผิดชอบตนเองไหม ถ้าเขาควรรับผิดชอบตัวเองเราต้องให้เขาทำ อย่างนี้อุเบกขามันก็มาช่วยอีก นี้ถ้าไม่มีอุเบกขาก็จะช่วยด้วยเกินจำเป็นไม่สมเหตุสมผล เมื่อคนไม่มีขอบในการช่วยเหลือก็หวังผู้อื่นมากไป เมื่อหวังพึ่งก็ไม่ขวนขวายทำการด้วยตนเองก็อ่อนแอ ฉะนั้นก็เป็นมองเป็นผลส่วนรวมแก่สังคม สังคมนั้นก็จะอ่อนแอ ฉะนั้นเมื่อเอาแต่ด้านความรู้สึกในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยข้อ 1, 2 หรือ 1, 2, 3 ก็จะเสียดุลยภาพแก่สังคมในแง่
1 ไม่สามารถรักษาหลักการหรือตัวธรรมะไว้ได้
2 ทำให้คนอ่อนแอเพราะหวังพึ่งผู้อื่น ก็สังคมนั้นไม่เข้มแข็งก็เจริญก้าวหน้าได้ยาก
นี้เราไปดูอีกสังคมหนึ่ง สังคมที่หนักในอุเบกขาเอาแต่รักษากฎเกณฑ์กติกาบางทีพวกนี้ก็ไม่ได้รักษาด้วยปัญญาหรอก ก็เป็นเฉยโง่ก็มีเป็นแต่เพียงว่าเพราะว่าไม่มีน้ำใจต่อกัน ก็เลยต้องเอาแต่กฎเกณฑ์กติกามาใช่ไหม เพราะว่ามันต้องมีมาตรฐานในการอยู่ร่วมกัน เมื่อไม่มีน้ำใจต่อกันก็ให้เป็นไปตามกฎหมายกฎว่าอย่างนั้น เอากฏมาเพื่อเป็นเส้นแบ่ง ก็รักษากฎเกณฑ์กติกามีอุเบกขา เอากฎเกณฑ์กติกาเข้าว่าไม่มีน้ำใจต่อกัน พวกนี้ก็ดีอย่างก็มีกฎเกณฑ์เป็นมาตรฐานบรรทัดฐานอยู่ก็รักษากฎเกณฑ์กติกาได้ มันก็ช่วยรักษาความเป็นธรรมในสังคม แต่ถ้ามีปัญญาขึ้นมาอีกด้วย มีความใฝ่ความปรารถนารักความเป็นธรรมก็จะช่วยให้สังคมนั้นรักษาธรรมะไว้ได้อยู่ในกฎเกณฑ์อยู่ในหลักการด้วยดี แต่ว่าเพราะเหตุที่ขาดน้ำใจ ขาดเมตตากรุณามุทิตา ขาดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ดีก็จะทำให้เกิดความแห้งแล้ง เกิดความเครียดไม่มีความอบอุ่นจะเป็นสังคมที่คนเป็นโรคเส้นประสาทมาก เป็นโรคจิตมากมีความทุกข์มาก ซึ่งเราเห็นได้มากในสังคมฝรั่งเ เช่นสังคมอเมริกันเป็นสังคมที่ถือกฎเกณฑ์กติกาเป็นใหญ่ จนกระทั่งเรียกสังคมของตนว่าเป็นสังคมที่อยู่ด้วย The rule of the law แล้วก็ภูมิใจในอันนี้ แล้วเขาก็มีแง่ดีอย่างที่ว่าก็รักษาตัวหลักการหรือตัวธรรมะไว้ได้ แต่ว่าทำให้คนมีความเครียดสูงอย่างที่ว่าแล้ว แต่ละคนก็ต้องมาขวนขวายด้วยตนเอง มันก็ทำให้เกิดผลอีกอย่างหนึ่งก็คือนอกจากรักษาตัวธรรมตัวหลักการณ์ไว้ได้แล้ว ก็คือทำให้แต่ละคนตัวใครตัวมันต้องดิ้นรนขวนขวายเพราะว่าถ้าไม่ดิ้นรนไม่ช่วยเหลือตัวเองก็อยู่ไม่รอด เมื่อต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่ออยู่รอดก็เลยเข้มแข็งขึ้นมา ก็สร้างสรรค์สังคมให้เจริญก้าวหน้าไปได้ก็มีแง่ดีเหมือนกัน
ทีนี้ถ้าสังคมไทยอยากจะให้คนเข้มแข็ง ก็แล้วแต่จะเอาวิธีไหน ถ้าเอาวิธีที่ไม่ต้องใช้คุณธรรม ไม่ต้องใช้เมตตากรุณามุทิตา แล้วก็ไม่ต้องใช้ปัญญา ก็ไม่ต้องเอาใจใส่กันตัวใครตัวมัน ต่อไปก็เข้มแข็งเหมือนกัน ก็ดิ้นรนกันเต็มที่ ทีนี้เราควรจะเอาแบบไหน เราน่าจะทำด้วยปัญญาแล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักพรหมวิหาร 4 ประการให้สังคมมีดุลยภาพไม่งั้นมันก็เอียงไปเอียงมาอยู่เนี่ยเป็นสังคมแบบไทยเอียงไปข้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นสังคมแบบอเมริกันเอียงไปข้างของอุเบกขารักษาตัวหลักการกฎเกณฑ์กติกาและก็ได้อย่างเสียอย่างกันไปเรื่อย และสังคมมนุษย์ที่เอียงอย่างนี้มันก็ไม่มี ไม่มีความเจริญที่ถูกต้องไม่มีความพอดี ในที่สุดมันก็ต้องเกิดปัญหาแล้ว เมื่อมันเอียงไปแล้วมันก็ไปสู่ความเสื่อมเสีย ถ้ารุนแรงก็ถึงแก่ความวิบัติ สังคมที่รักษาหลักการกติกากฎเกณฑ์ไม่ได้ต่อไปก็อาจจะวิปลาสวิปริตและวิบัติ นี้สังคมที่เอาแต่กฎเกณฑ์กติกาไม่มีน้ำใจตัวใครตัวมันเกินไป ถ้ามันถึงขนาดหนึ่งคนมันก็จะไม่เอาแม้แต่กฏเกณฑ์กติกา เพราะโทสะมันจะรุนแรง เพราะมนุษย์ไม่มีน้ำใจต่อกันเลย ฉะนั้นมันก็จะมุ่งแต่เอาตัวเองเข้าว่า ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มมีปัญหาเมื่อคุณธรรมที่เป็นฐานในด้านอื่นก็มาเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงไม่มี มนุษย์ก็จะเกิดการที่มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ตัวเอง การเอาตัวรอด การที่จะทำร้ายผู้อื่นโดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น จะเอาแต่ผลประโยชน์ของตัวเองเข้าว่า แม้แต่กฎเกณฑ์กติกาก็จะไปกลายเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์ ซึ่งในขณะนี้ประเทศอเมริกาก็กำลังเป็นแล้ว ต่อไปสัมคมอเมริกาถ้าอยู่ในภาวะนี้ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ก็สามารถวิบัติได้เช่นเดียวกัน ก็เป็นสังคมที่เสียดุลยภาพ ฉะนั้นตกลงว่าหลักพรหมวิหารนี้มีความหมายมาก จึงถือว่าเป็นธรรมประจำใจของพรหม ในฐานะที่มนุษย์แต่ละคนนั้นมีส่วนร่วมในการที่จะสร้างสรรค์แล้วก็อภิบาลรักษาไว้ซึ่งโลกนี้ให้อยู่ในภาวะที่ดีมีสันติสุขก็คือสังคมนี้นั่นเอง จะอยู่ดีได้ด้วยคนแต่ละคนนี้มีพรหมวิหาร 4 ประการ แล้วพรหมวิหารก็จะช่วยตั้งแต่สังคมเล็กที่สุดคือครอบครัวเป็นต้นไป จนกระทั่งว่าสังคมใหญ่ให้อยู่ด้วยดี
ก็วันนี้ก็พูดเรื่องพระวิหารมาสืบเนื่องมาจากเรื่องฉันทะ ก็คิดว่าด้วยหลักการใหญ่ ๆ ก็ได้แล้ว ก็เห็นจะเอาเท่านี้ก่อน ถ้าท่านผู้ใดมีอะไรสงสัยก็มาคุยกัน มีไหมครับ ก็ฟังซ้ำ ๆ นะ ฟังไปบ่อยแล้ว เรื่องนี้ เรื่องพรหมวิหาร 4 เท่ากับมาทวนกันอีกทีหนึ่ง
(1)
คนฟังถาม พรหมวิหารเป็นคุณธรรมในใจ ไม่ทราบว่าการแสดงออกหรืออะไรมันจะมี
พระตอบ ก็ไว้ อีกชุดหนึ่ง ต้องไว้อีกหลักหนึ่งเลย ก็อันนี้มันจะสืบทอดเหมือนกันพอจะเป็นพรหมวิหารคุณธรรมในใจก็จะแสดงออกมาในปฏิบัติการ ในปฏิบัติการในการอยู่ร่วมกันในสังคมมันก็จะมีหลักธรรมอีกชุดหนึ่งเป็นภาคปฏิบัติการมารับ ซึ่งเราจะพูดกันต่อไป ก็เรียกว่าสังฆะวัตถุ 4 น่ะครับ ก็ได้ยินกันมาแล้ว แต่ว่าเอามาทวนกันเท่านั้นเอง
(2)
คนฟังถาม ในกรณีที่สังคมคนที่ทำไม่ดีเราต้องใช้หลักข้ออุเบกขา ก็คือปล่อยให้เขาเป็นไปตามกติกาของสังคม ในขณะเดียวกัน ในความรู้สึกตนเองที่ นอกจากจะรู้เข้าใจก็ปล่อยให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกาสังคม เราต้องมีเมตตาในกรณีนั้นด้วยไหมครับ
พระตอบ เมตตาเป็นพื้นอยู่แล้ว
(3)
คนฟังถาม เขาก็คงต้องมีทีท่าเมตตา
พระตอบ คือหมายความว่าในกรณีที่มันไม่ไปละเมิดธรรมะใช่ไหม เขาก็เป็นเพื่อนมนุษย์มีอะไรที่เราจะเกื้อกูลอะไรต่ออะไร เราก็ทำไป แต่ว่าไม่ให้ไปละเมิดตัวหลักการ
(4)
คนฟังถาม แม้เขาจะละเมิดธรรมชาติกฎเกณฑ์กติกาแล้ว เราต้องรักษาที่ท่าของความเมตตาต่อเขา ก็ให้อภัยในกรณีว่าแม้เขาจะทำ ผิดไปก็ตาม เขาได้บทลงโทษตามสังคมแล้ว เราก็ควรมีทีท่าของความเมตตาอยู่ด้วย
พระตอบ ความเมตตาเป็นธรรมประจำใจอยู่แล้ว เป็นพื้นเลย มีความเป็นมิตร เขาก็ยังเป็นเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมชาติ
(5)
คนฟังถาม ตัวเองไม่เข้าใจใช้อุเบกขา ถ้าทิ้งเมตตาเลย
พระตอบ อ๋อ มันก็กลายเป็น เดี๋ยวอุเบกขานั้นก็กลายเป็นความชาเย็นไปซิใช่ไหม เพราะฉะนั้นอุเบกขาเป็นตัวปัญญาเพิ่มมาปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามเหตุตามผล ตามหลักการ ตามที่มันควรจะเป็น หรือเพื่อรักษาธรรมะไว้ ทีนี้ในส่วนท่าที่ปกติไอ้เมตตาก็เป็นพื้นอยู่ แต่ว่ามันจะถูกคุมด้วยอุเบกขา ไม่ให้เกินไป ไม่เลยขอบเขต ไม่ให้ไปทำให้ละเมิดธรรมะใช่ไหม ถ้าไม่มีอุเบกขามาคุมก็ละเมิดธรรมะ ฉะนั้นเหมือนสมมุติว่าเหมือนกับว่าเอาลูกของเราเนี่ยไปทำผิดใช่ไหม ก็ควรได้รับโทษ แต่ว่าเราก็ต้องมีเมตตา คล้าย ๆ ว่าเขาจะต้องเข้าคุกแล้ว เราก็ต้องยังต้องไปส่งเสีย ต้องไปเอาอาหารไปให้ หรืออะไรต่ออะไร เราก็ยังต้องมีเมตตาอยู่ใช่ไหม ใม่ใช่ปล่อยเขาเลยใช่ไหม เมตตาในกรณีนี้จะกรุณาจะมามาก เพราะว่าการที่เขาได้รับทุกข์แล้วใช่ไหม จะต้องมีใจหวั่นไหวในทุกข์ก็ช่วยเขา แต่ว่าไม่ให้ละเมิดธรรมะ
(6)
คนฟังถาม ในสังคมถ้าอุเบกขา พอเขาเป็นอะไรก็สะใจเขา ก็เลยถูกต้อง
พระตอบ ก็จะเป็นแบบสังคมฝรั่งไงล่ะ อุเบกขาเป็นแบบนั้นเสียดุลอีกใช่ไหม ก็หมายความว่าแกรับผิดชอบตัวเองก็ตัวใครตัวมันนะว่าไปตามกฎใช่ไหม เมื่อแกทำผิดอันนี้แกก็รับผิดชอบรับโทษไปตามกฎก็หมดเรื่องไปไม่เกี่ยวใช่ไหม ถ้าอย่างนี้ก็เป็นอุเบกขาแบบฝรั่ง เราอาจจะว่าเขารุนแรงไป ที่จริงเขาก็ไม่ถึงจะแห้งแล้งน้ำใจขนาดนี้เลยนะ เขาก็ยังมีน้ำใจนะ แต่ว่าโดยเปรียบเทียบโดยสภาพทั่วไปแล้ว เขาค่อนข้างจะน้อยหรือหย่อนในเรื่องเมตตากรุณาใช่ไหม น้ำใจมันน้อยไป แต่เราก็ได้ยินกรณีของฝรั่งที่มีเรื่อง การที่อุเบกขาแบบชาเย็นนี้เยอะนะ เมตตากรุณาขาดมากทีเดียวมีกรณีเยอะ
(7)
คนฟังถาม พระเดชพระคุณอาจารย์ ขอย้อนกลับมาสู่อุเบกขาและกฎเกณฑ์ของสังคมมาตรการลงโทษที่เราพิจารณาลงโทษถึงขั้นของการประหารชีวิต ไม่ทราบว่าถ้าเราพูดถึงตามหลักของพุทธศาสนานี้ เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร ที่จะมีมาตรกาลงโทษขั้นประหารชีวิตที่ควรทำ
พระตอบ คือเราต้องพูดถึงในแง่ความจริงแล้ว 1 เป็นฐานนะ 1 เป็นความจริง 2 เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้แล้วเรา ตัวเราเป็นบุคคลก็ตาม ตัวเราคือสังคมทั้งหมดร่วมกันก็ตามจะเอาอย่างไร อันนี่เป็นขั้นที่ 2 1 ความจริงมันเป็นอย่างนี้ 2 เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้จะเอาอย่างไร อันนี้ก็เหมือนกัน ความจริงเป็นอย่างนี้คือว่า เอ้าการฆ่าปาณาติบาตก็เป็นบาป อันนี้ความจริงก็เป็นความจริงอยู่อย่างนั้น เมื่อฆ่ามนุษ์ก็บาป ทีนี้ก็ความจริงเป็นอย่างนี้ เราก็บอกว่า เอ้จำเป็นจะต้องรักษาหลักการของสังคม รักษาความดีงาม รักษาธรรมให้อยู่ในสังคม เราเห็นว่ามันคุ้มค่าบาปเท่านี้ ฉันคิดว่าถ้าหากว่าไม่ฆ่า ไม่ประหารนี่ การแก้ปัญหาสังคมในเรื่องนี้จะไม่สำเร็จ แล้วก็ลงมติว่าควรประหารทั้ง ๆ ที่บาปก็บาป ยอมเสียสละ อย่างนี้ก็เป็นการรู้ความจริงแล้วจะเอายังไงใช่ไหม สังคมต้องมาตกลงกัน นี่คือพุทธศาสนานี่ให้ใช้ปัญญา ปัญญาเริ่มตั้งแต่การรู้ความจริง 2 ท่านจะเอายังไง ท่านต้องคำนึงถึงความจริงความถูกต้อง ความดีงาม ประโยชน์ที่พึงได้ท่านหวังประโยชน์แก่สังคม โดยเหตุโดยผลอย่างนี้ชัดแล้ว จึงตัดสินใจอย่างนี้ เมื่อท่านตัดสินใจอย่างนี้ท่านต้องรับผิดชอบด้วยนะใช่ไหม ก็อย่างนี้ก็แล้วซิแล้วแต่จะเอาไง สังคมก็รับผิดชอบตัวเอง สังคมนั้นก็บอกว่าเราพูดได้เลยบอกว่าในเมื่อมีการประหารชีวิต การประหารชีวิตนี้ก็เป็นบาปเป็นปาณาติบาต ที่พูดในแง่ความจริง 2 ท่านจะเอาอย่างไรคิดดูซิ ใช้ปัญญาใช่ไหม
(8)
คนฟังถาม พระคุณอาจารย์ครับ ในกรณีการฆ่ามนุษย์นี้เป็นปาณาติบาต มีเมตตา เอ้าทำ การฆ่ากัน
พระตอบ ค่ามนุษย์ ยังไม่เป็นอนันตริยกรรม การฆ่ามนุษย์นี้ก็บาป เป็นปาณาติบาต การฆ่ามนุษย์ก็มีบาปมากกว่าฆ่าสัตว์เดียรัจฉานใช่ไหม ก็ขึ้นต่อว่าสัตว์นั้นมีคุณความดีมาก คุณความดีน้อย ถ้าสัตว์นั้นมีโทษมากมีคุณความดีน้อยก็บาปน้อยใช่ไหม อันนี้ก็พุทธศาสนาก็ นี่แหละให้มนุษย์รู้จักใช้วิจารณญาณใช้ปัญญาของตนเองที่จะตัดสิน เพราะฉะนั้นในแง่สังคมส่วนใหญ่นี่ ซึ่งขึ้นต่อยุคสมัยกาละเทศะปัจจัยแวดล้อมพุทธศาสนาจึงไม่ได้วางข้อปฏิบัติที่ตายตัวที่เรียกว่าวินัยไว้ให้ใช่ไหม จะให้แต่หลักการกว้าง ๆ แต่สังคมเฉพาะก็คือชุมชนสงฆ์นี่ เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการอยู่ต้องมีกฎเกณฑ์ขึ้นมาชัดเจน เพราะพระพุทธเจ้าตั้งขึ้นมา เพราะฉะนั้นพระองค์ก็ต้องวางวินัยชัดเจน แต่ว่าสำหรับสังคมคฤหัสนี้ให้มนุษย์รู้จักใช้ปัญญาของตัวเองพิจารณา แต่ว่าบางทีสังคมมนุษย์ก็ไม่ได้ใช้ปัญญาที่วางวินัยของตนเองขึ้นมาใช่ไหม อย่างสังคมพุทธเรานิเป็นสังคมที่ขาดวินัยเลย ไม่เอาใจใส่ ก็เลยอย่างที่พูดไปวันนี้ ความเป็นพุทธไม่รู้จะกำหนดด้วยอะไรไม่มีข้อปฏิบัติที่แน่นอนว่าเออถ้าเป็นพุทธแล้วน่ะจะต้องทำอย่างนี้ ๆ ซึ่งในแง่ของชุมชนพุทธน่าจะสามารถกำหนดวางได้ ว่าในสภาพสังคมยุคนี้สมัยนี้สภาพแวดล้อมอย่างนี้ การมีชีวิตที่ดีงามอย่างต่ำควรมีมาตรฐานความประพฤติอย่างนี้ใช่ไหม แล้วก็ใช้อันนี้เป็นเกณฑ์ไปเลย วินัยก็เกิดขึ้น ทีนี้ชุมชนพุทธนี่อ่อนตรงนี้ ขาดในฝ่ายคฤหัสถ์ ขาดวินัย ขาดการจัดตั้ง ขาดการวางระบบแบบแผน สังคมก็หลวมมาก สังคมพุทธชุมชนพุทธนี้หลวมมาก หลวมมันก็อ่อนแอไปในตัว อันนี้ก็อาศัยชุมชนสงฆ์นี้เป็นแกนรักษาไว้ ชุมชนสงฆ์มีวินัยกฎเกณฑ์มีมาตรฐานชัดเจน ทีนี้ถ้าเขาทำลายชุมชนสงฆ์เสียได้เมื่อไหร่ก็สังคมพุทธหมดเลย ขาดแกน เหมือนในอินเดียพอทำลายพระสงฆ์ชุมชนสงฆ์หมดปั้บ นี่พุทธศาสนาสลายเลย อันนั้นเป็นข้อบกพร่องอันหนึ่งทำไงจะให้ชุมชนพุทธอยู่ได้โดยที่ว่าสังคมคฤหัสจะมีวินัยมีมาตรฐานความประพฤติของตนเอง ที่ชาวพุทธนี่มาจัดวางกันขึ้น ซึ่งสามารถเอาจากที่พระพุทธเจ้าวางไว้ให้แล้วด้วย พระพุทธเจ้าจัดตั้งไว้อย่างที่พระอรรถกถาจารย์ท่านบอกว่าเนี่ยหลักปฏิบัติตามพี่ปฏิบัติในโน่น ตามหลักในสิงคารัตตสูตร ซึ่งมีหลายอย่างทั้งหมดนะเรียกว่า คีวินัย เป็นวินัยของคฤหัสถ์ พระอรรถกถาจารย์ว่าอย่างนั้น แสดงว่าถ้าถือตามมติพระอรรถกถาจาร์นี้ ข้อปฏิบัติในสิงคารัตตสูตรมีเรื่องทิศ 6 เป็นต้น ก็เป็นวินัยสำหรับชุมชนชาวไทยที่เป็นคฤหัสถ์ แต่เราก็ไม่ได้เอามาเลย ก็ศัพท์ที่ท่านพูดไว้ใช้อยู่ในคัมภีร์ นั่นแหละ
(9)
คนฟังถาม ขออาราธนาพระเดชพระคุณ รายละเอียดเรื่องคีวินัย
พระตอบ ถึงไม่พูดตอนนี้ ก็ต้องพูดอยู่ดี พูดตอนลาสิกขา เพราะไปเป็นคฤหัสถ์แล้ว ก็จะต้องพูดให้ฟัง
(10)
คนฟังถาม พระเดชพระคุณครับอย่างวินัย ที่พระพุทธบัญญัติมันค่อนข้างชัดเจน โดยมากจะบัญญัติคน หลักของธรรมะ แต่ตอนนี้ในสังคมเป็นอยู่ในขณะนี้ กฎเกณฑ์ที่พยายามจะบัญญัติกันขึ้นมา มันห่างไกลจากกฏของธรรมะไปทุกที ๆ สังคมสมัยหน้า คนเลวก็จะข่มเหงคนดี ถ้าใช้หลักของกฎเกณฑ์ เป็นคนเลวที่กำหนดกฏเกณฑ์คนเลวในหมู่บ้าน คนดีก็ลำบากไปด้วย
พระตอบ ก็นี่แหละหลักที่จะพูดไปอีกหลักหนึ่ง ก็คือเรื่องวินัย ความสัมพันธ์ที่เป็นระบบการจัดตั้งกฎเกณฑ์กติกาในสังคมมนุษย์กับตัวธรรมะคือหลักแห่งความเป็นจริงของธรรมชาติ 2 อันนี้จะต้องสัมพันธ์กันอยู่เสมอ วินัยที่เป็นกฎเกณฑ์ของมนุษย์จะต้องตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริงในกฎธรรมชาติ ทีนี้มนุษย์ยุคปัจจุบันนี่ มันเกิดการแปลกแยกจากความเป็นจริงของธรรมชาติ มันตั้งกติกาสังคมขึ้นมาเรียกว่าวินัย ซึ่งจะเรียกว่าระบบเศรษฐกิจระบบการเมืองการปกครอง ถ้าเสร็จแล้วมันไม่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ฉะนันนวินัยที่ตั้งขึ้นมามันก็ขาดฐานมันก็วิปลาส เพราะฉะนั้นก็ไม่สำเร็จประโยชน์ไม่สามารถนำสังคมมนุษย์ไปสู่สันติสุขได้เพราะมันไม่ตั้งอยู่บนฐานการตัวธรรมะ ก็นี่เป็นเรื่องของการแปลกแยกจากธรรมชาติอย่างหนึ่ง การที่เสียดุลเหมือนกัน คือระบบการจัดตั้งในสังคมมนุษย์นั้นไม่ได้เกิดจากปัญญาที่เข้าถึงความจริงแท้ใช่ไหม มนุษ์ก็จะวางระบบจัดตั้งในสังคมได้ถูกต้อง ก็ต้องเข้าถึงความจริงของความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของกฏธรรมชาติ เพราะว่าถึงอย่างไง สังคมตนเองก็ต้องอยู่ภายใต้กฏธรรมชาติ ถ้าตัวเองว่างไม่ถูกต้อง จัดไม่ถูกต้องระบบมันไม่เป็นไปสอดคล้องความเป็นจริงของธรรมชาติมันก็วิปริตแล้วก็ไม่เกิดผลตามที่ต้องการ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งซึ่งจะพูด
(11)
คนฟังถาม คือผมมองคนเลวอยู่กับวินัยเลว ๆ มันก็เหมาะสมกันดี แต่คนดีบังเอิญที่ต้องเข้าไปอยู่ในสังคมที่มีกติกา ไม่ยุติธรรมไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ คนดีก็ถูกสังคมในกลุ่มใหญ่ เท่ากับโดนสังคมไม่ดีทำร้ายตลอดเวลา
พระตอบ ก็กฏเกฎฑ์กติกา เป็นเครื่องมือประโยชน์ให้แก่ตัวเอง ชุมชนกลุ่มหนึ่งที่จะกลั่นแกล้งทำร้ายผู้อื่นไป ฉะนั้นวินัยกฎเกณฑ์กติกาในสังคมมนุษย์ก็จะต้องตั้งอยู่บนฐานสำคัญ 2 อัน หนึ่งปัญญา ปัญญาที่รู้เข้าใจเข้าถึงตัวธรรมะความจริงของกฏธรรมชาติ 2 อาศัยเจตนาที่บริสุทธิ์ เจตนาที่ดีตั้งใจวาง จัดตั้งเพื่อประโยชน์ของสังคม เพื่อประโยชน์ร่วมกันไม่ใช่เพื่อสนองความต้องการของตนเอง เช่นผลประโยชนเป็นต้นใช่ไหม ทีนี้ถ้าเจตนาเสีย วางกฏหมายออกกฏหมายเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มของตนอย่างนี้เป็นต้น ก็ไปแล้วใช่ไหม 2 ไม่รู้ธรรมะ ไม่รู้เข้าถึงความจริงของกฏธรรมชาติ วางไม่ถูกต้อง ก็เกิดความขัดแย้งในตัวเองก็ไม่มั่นคง นั้นข้อสำคัญ 2 อย่างนี้ คือปัญญากับเจตนา ในการที่จะวางกฎกติกาหรือวินัยในหมู่สังคมมนุษย์ 1 ปัญญาเข้าถึงความจริงไหม 2 เจตนาบริสุทธิ์หวังดีปรารถนาดีต่อสังคมแท้จริงหรือเปล่า แต่ที่จะเป็นอีกเรื่องนึงนะที่จะพูดในเรื่องความสัมพันธ์ธรรมะกับวินัย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เลยเป็นฐานเลยเป็นตัวบทสรุปหรือแม่บทใหญ่ของพุทธศาสนาทั้งหมด พุทธศาสนาก็มีแค่นี้มีธรรมะกับวินัยรวมเข้าเป็นอันเดียวกัน วันนี้เอาเฉพาะเรื่องนี้ก่อน เรื่องนี้เรื่องของตัวพรหมวิหารความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับธรรมะ มีก็อะไรไหมครับ
มันก็มีแง่มุมอื่นอีกน่ะ สิงคโปร์ก็ดีอยู่แง่หนึ่ แต่ว่าถ้าไม่ระวัง คนไม่พร้อมกลายเป็นใช้ระบบบังคับ พอเป็นระบบบังคับนี่คนคุณภาพจริงไม่ ก็จะเกิดความเครียดในจิตใจ แล้วกลายเป็นว่าที่ปฏิบัตินั้น เพราะถูกบีบ ถูกบีบก็จะมีความกดดันอยู่เสมอ พอได้โอกาสเมื่อไหร่ระเบิด ฉะนั้นสิงคโปร์มีคำหนึ่งที่เขาพูดตอนนั้น ตอนนั้นผมก็ไปสิงคโปร์ว่าในถนนนี้เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ในบ้านในส้วมของบ้านนี่เละเทะหมดเลย ว่่าอย่างงั้นน่ะ คือหมาความว่ารักษากฏเกณฑ์กติกานี้รักษาเพราะว่าถูกบีบเท่านั้นใช่ไหม เพราะฉะนั้นอย่าลืมพัฒนาคนไปด้วย คนทำอย่างไงให้มีฉันทะ ความใฝ่ดีอยากให้มันใฝ่ดีใช่ไหม มันจะเป็นตัวทำให้เกิดการปฏิบัติจากแรงภายในใช่ไหม ไม่ใช่แรงกดบีบภายนอก แต่ว่าถ้าสังคมไม่มีตัววินัยกฏเกณฑ์มาช่วยตร่อมไว้ ก็การพัฒนาคนก็อาจจะได้ยากเพราะสภาพแวดล้อมเป็นเอื้อใช่ไหม สภาพสังคมแวดล้อมสังคมไม่มีวินัยนี้มันเปิดโอกาสให้คนถเลเฉไฉต่ำชักชวนไปทางต่ำ มันก็ได้โอกาสช่องทางความชั่ว พอเปิดโอกาสให้มันมันก็ไหลไปมันก็เลยไม่พัฒนาตัวเองไม่มีการฝึกฝนไม่มีการพัฒนาพฤติกรรมเสียอีก ฉะนั้นทำไงจะให้ 2 ด้านนี้ การพัฒนาภายในบุคคลกับการวางระบบรูปแบบสังคมนี่มาประสานกันไปด้วยกัน
(12)
คุณฟังถาม พระอาจารย์ผมขอเสนอว่า ถ้าเราพูดถึงอุเบกขา เราพูดให้ชัดเจนลงไปเลยว่า อุเบกขาใช้สำหรับเมื่อมนุษย์ได้ร่วมธรรมนัย ให้มันชัดไปเลยว่า ไม่ใช่ถึงขั้นธรรมถูกต้องอยู่แล้ว แต่ถ้าวินัยและควรจะเป็นธรรมวินัย หรือวินัยเป็นตัวยุติธรรม
พระตอบ ก็ใช้ได้ ที่พูดไปแล้วหลักการความเป็นจริงถูกต้องในธรรมชาติก็ดี หลักการกฎเกณฑ์กติกาที่มาวางแบบแผนของสังคมก็ตาม หลักการที่เป็นกฏความจริงในกฏธรรมชาติก็คือธรรมะ หลักการที่มาวางระเบียบแบบแผนกติกาในสังคมก็คือวินัย ก็พูดสั้นก็บอกว่าละเมิดธรรมะวินัย
(13)
คนฟังถาม ในกฎเกณฑ์ข้อ 2 มันเบี้ยวไป มันอาจจะขาดธรรม
พระตอบ อันนี้เป็นอีกหัวข้อหนึ่ง คือเราต้องอธิบายแยกแยะก่อนใช่ไหม คือในกรณีที่เราถือว่ากฎเกณฑ์กติกาของสังคม มันในเชิงปฏิบัติการแล้ว คือเราต้องยอมรับว่า คือในกรณีที่เราถือว่า กฎเกณฑ์กติกาวางของสังคมนี้วางไว้บนฐานของความถูกต้องแล้ว เมื่อการละเมิดเกิดขึ้นก็ถือว่าต้องใช้อุเบกขา ทีนี้บางครั้งก็ไม่ต้องไปพิจารณามันต้องตามแบบแผนนี้เลยใช่ไหม ถ้าว่าด้วยสาระแล้ว สาระแต่ว่ามันไม่ใช่เฉพาะต้องละเมิดน่ะ แม้แต่ให้เพื่อให้เป็นไปตามธรรม เช่นในกรณีที่ว่าจะช่วยเหลือ ถ้าช่วยเหลือไปแล้วกรณีนี้เขาควรจะรับผิดชอบตัวเอง เราไปช่วยยังไม่ถึงกับละเมิดโดยชัดเจนลงมาใช่ไหม กฏเกณฑ์กติกาเขาไม่ได้ละเมิด แต่ว่าจะทำให้เขาไม่รู้จักรับผิดชอบ แม้แต่ลูกของเรา ก็กลายเป็นว่าช่วยโดยไม่สมเหตุสมผลใช่ไหม มันก็กลายเป็นว่าขาดอุเบกขาเหมือนกัน ฉะนั้นอุเบกขานี้มันก็แม้แต่กรณีในชีวิตประจำวันในการสัมพันธ์ระหว่างคนในกรณีเล็ก ๆ น้อย ๆ อะไรที่เขาควรจะรับผิดชอบตัวเองได้ตามเหตุตามผลก็ให้เขาทำ แล้วเขาก็จะได้ไม่กลายเป็นคนอ่อนแอที่เอาแต่หวังพึ่งคนอื่นเรื่อยไป ที่นี้พ่อแม่ช่วยเกินเหตุผลที่สมควรก็จะเป็นกรณีที่ปัญหาอย่างนี้ ทำให้ลูกไม่รู้จักโตช่วยตัวเองไม่ได้ เอาละมั้งน่ะ