แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร ท่านผู้สนใจเจริญภาวนาทุกท่าน การบรรยายคราวนี้ก็จะได้พูดต่อ ในเรื่อง จากจิตภาวนาสู่ปัญญาภาวนาตามวิธีสติปัฏฐาน ในคราวที่แล้วนั้นได้พูดค้างไว้ในหัวข้อใหญ่ ว่าด้วยหลักทั่วไปของวิปัสสนา ได้พูดจบไป 2 หัวข้อย่อย คือ เรื่องความหมายของวิปัสสนากับเรื่องอารมณ์ของวิปัสสนา ซึ่งได้แก่วิปัสสนาภูมิ
คราวนี้ก็จะได้พูดในหัวข้อย่อยที่ 3 คือเรื่องตัวทำงานกับวิปัสสนา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน เพราะว่าในเมื่อเราได้พูดเกี่ยวกับอารมณ์ของวิปัสสนาแล้ว ก็หมายถึงการที่เราได้พูดมาในเรื่องสิ่งที่ถูกพิจารณา เมื่อพูดถึงสิ่งที่ถูกพิจารณาแล้ว สิ่งที่ควรจะพูดไว้ด้วยก็คือ ตัวผู้พิจารณา ว่าจะเอาอะไรมาเป็นตัวสำหรับพิจารณาวิปัสสนาภูมิเหล่านั้น นี่แหละก็คือหัวข้อที่จะพูดในคราวนี้
ตัวทำงานของวิปัสสนา หรือ องค์ธรรมที่เรานำมาใช้ในการพิจารณานี้ ว่าที่จริงนั้น ถ้าตอบง่ายๆ ก็เหมือนกับที่ได้พูดมาแล้วนั่นเอง ก็คือ สติกับปัญญา เพราะว่าเรื่องของวิปัสสนานั้น เรามุ่งไปที่ปัญญา ปัญญาต้องเป็นตัวทำงานสำคัญ แต่พร้อมกันนั้นก็ปัญญาทำงานอาศัยสติ สติเป็นตัวเด่นอย่างที่เราพูดกันไปแล้ว และสติปัญญาก็ทำงานคู่เคียงกันไป สติกับปัญญานี้ก็มาเป็นตัวพิจารณา เป็นตัวกระทำต่อวิปัสสนาภูมิหรือต่ออารมณ์ของวิปัสสนา แต่นอกเหนือจากสติกับปัญญาที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญแล้ว รองลงไปก็ยังมี วิริยะ คือความเพียร เป็นตัวที่คอยประกบอยู่ เป็นตัวที่คอยช่วยให้กำลังอย่างสำคัญ ทำให้รุดหน้าก้าวหน้าไป แล้วนอก จากนั้นก็คือ ต้องมีจิตที่เป็นสมาธิเป็นพื้นอยู่ สมาธินี้ก็จึงเป็นตัวรองรับการทำงานอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นในที่นี้ก็เท่ากับว่าเรามีสติและก็ปัญญา และก็มีความเพียร พร้อมทั้งสมาธิด้วย ตัวทำงานพวกนี้เราได้พูดกันไปหมดแล้ว แต่อันนี้เท่ากับว่าเรายกเฉพาะตัวเด่นมาพูด ถ้าจะพูดกันให้ครบกระบวนทีเดียวแล้ว ก็จะต้องมีมาก กว่านี้ วันนี้เราจะมาพูดกันให้ครบกระบวนทีเดียว อันนี้ถ้าจะตอบกันอย่างครบ ถ้วนบริบูรณ์ ก็สามารถให้คำตอบสั้นๆ ว่า
ตัวทำงานของวิปัสสนาก็คือ องค์ธรรมที่เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ฟังดูจำนวนก็มาก ก็จะทำให้ผู้ฟังนี่อาจจะท้อใจได้ ก็ให้ทำใจกันอย่างที่เคยพูดมาแล้วบอกว่า เรื่องจำนวนและก็เรื่องชื่อหัวข้อธรรมเนี่ย ในที่นี้เรามาฟังกันผ่านๆ ให้ได้เค้าความให้ได้ภาพรวมไว้ ไม่ต้องไปจดจำรายละเอียด ขอให้มีความเข้าใจเป็นพื้นฐานไว้เท่านั้น
ทีนี้โพธิปักขิยธรรม ที่เป็นตัวทำงานเนี่ย ถ้าว่ากันไปแล้วก็คือ หมายความว่า เราพูดถึงตัวทำงานที่แท้ พร้อมทั้งตัวประกอบที่มาช่วยสนับสนุนทั้งหมดด้วย ทีนี้ โพธิปักขิยธรรมนี้ก็มีความหมายว่า ธรรมที่เป็นฝ่ายของการตรัสรู้ ก็คือ ธรรมะที่เป็นพวกของการตรัสรู้ หรือพูดให้เป็นภาษาที่สละสลวยขึ้นก็คือว่า ธรรมะต่างๆ ที่เกื้อหนุนการตรัสรู้นั่นเอง หมายความว่า ธรรมะเหล่านี้มารวมกำลังกัน ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดการตรัสรู้ บางตัวก็เป็นตัวนำตัวเด่นตัวทำงานออกหน้า บางตัวก็เป็นตัวที่ประกอบ ประกอบช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุน มีจำนวนถึง 37 แม้จะมีจำนวนมาก แต่ว่าในการทำงานใหญ่ๆ นี้ ถ้าเราเทียบแล้วก็เป็นเรื่องธรรมดา เราได้เคยพูดมาว่า การที่ปฏิบัติธรรมนี้ มองแง่หนึ่ง ก็คือเป็นการสู้รบกับกิเลส หรือว่าสู้รบกับปัญหา แก้ไขปัญหาต่างๆ
ในการสงครามนั้นถ้าสงครามใหญ่ๆ ก็จะต้องมีกำลังพลมาก และก็จะต้องมีแม่ทัพต่างๆ มีนายพลต่างๆ มากมาย ทีนี้ถ้าเรามองในแง่นี้แล้ว ในการทำสงครามรบกับกิเลส ก็เหมือนกับเป็นทัพใหญ่ ที่มีนายพลมากมาย มองในแง่หนึ่งอาจจะเปรียบเหมือนกับว่า โพธิปักขิยธรรม 37 นี้เป็นเหมือนนายพลทั้งหลาย ๓๗ คน ที่มาทำหน้าที่อยู่ในหน่วยต่างๆ ของกำลังรบ ในการที่จะทำสงครามนั้น นายพลเหล่านี้ก็อาจจะต้องถูกจัดไปอยู่ในฝ่ายต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ตำแหน่งต่างๆ กัน เป็นฝ่ายเสนาธิการบ้าง เป็นฝ่ายออกรบบ้าง เป็นฝ่ายพลาธิการบ้าง หลายอย่าง หรือแม้ยังจัดเป็น กองทัพเรือ กองทัพบก กองทัพอากาศ เป็นต้น อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นการแบ่งตามหน้าที่
โพธิปักขิยธรรมนี้ก็พอจะเทียบคล้ายได้ในบางแง่ ก็คือว่า องค์ธรรมทั้ง 37 ประการนั้น ก็มีหน้าที่ต่างๆ กัน ในการทำงานร่วมกัน เพื่อจะให้ได้บรรลุผลสำเร็จ คือ การตรัสรู้ หรือการที่จะทำให้เข้าถึงสัจธรรม นั่นเอง
นี้โพธิปักขิยธรรม 37 ประการนั้น ท่านก็จัดเป็น 7 หมวด คือ แบ่งเป็นประเภทๆ ได้ ๗ หมวดด้วยกัน อาตมาก็เลยจะขอแจกแจงเรื่องหัวข้อของโพธิปักขิยธรรมนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเบื้องต้น จะทำความเข้าใจกันอย่างที่เคยพูดมาแล้วว่า เราจะไม่ต้องมาเรียนรายละเอียดกันมาก พอให้มีพื้นความเข้าใจไว้
โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ จัดเป็น 7 หมวด
หมวดที่ 1 หรือ ชุดที่ 1 ก็คือ สติปัฏฐาน 4 สติปัฏฐาน 4 ก็คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณา
แล้วหมวดต่อไปที่ 2 ก็ สัมมัปปธาน 4 สัมมัปปธานนี้ก็เป็นเรื่องของความเพียร ถ้าจะแปลแบบสมัย ใหม่ก็คือ ความเพียรสมบูรณ์แบบ ขั้นที่ 1 สติปัฏฐานน่ะเป็นเรื่องของสติ สติเป็นตัวเด่นชัดทีเดียว มาหมวดที่ 2 นี้เป็นเรื่องของความเพียร คล้ายๆ ว่า เราก็พูดถึงทั้งสติมาแล้ว ความเพียรมาแล้ว แต่ว่าสตินั้นน่ะ แจกแจงออกไปอย่างไรนี่เรายังไม่ได้พูด มาในที่นี้เท่ากับว่าเรามาแจกแจงให้ชัด ความเพียรก็แจกแจงออกไปว่ามีกี่อย่างกี่ด้าน ทำงานกี่แบบ
หมวดต่อไปก็อิทธิบาท 4 อิทธิบาท 4 ธรรมะที่ทำให้ถึงความสำเร็จ อันนี้เป็นตัวที่หนุนสมาธิอย่างสำคัญ ก็มี 4 ประการ
ก็ต่อไปก็อินทรีย์ 5 อินทรีย์นั้นก็เคยแปลกันมาแล้ว แปลว่าธรรมะที่เป็นใหญ่ในกิจหน้าที่ของตน แต่นี้อินทรีย์นี้ก็เป็นธรรมะที่เป็นใหญ่ในการที่จะไปกำจัดกิเลสที่เป็นข้าศึก เป็นตัวออกหน้าหรือเป็นเจ้าการ มี 5 ประการด้วยกัน ตอนนี้เราก็จะยังไม่พูดถึงรายชื่อทั้ง 5 ข้อนั้น ผ่านไปก่อน
ต่อไปก็ พละ 5 พละ 5 ก็แปลว่า กำลัง คือเหมือนกับเป็นกองพลที่เป็นทุนของเราในการที่จะไปออกรบสู้สงคราม ซึ่งเมื่อมีพลอยู่เท่าไร กำลังเท่าไร ก็สามารถที่จะออกไปทำงานได้เท่านั้น แล้วก็นอกจากว่าจะออกไปทำงานแล้วก็เป็นกำลังอยู่ในตัวที่จะทำให้ฝ่ายศัตรูไม่สามารถเข้ามากำจัด เข้ามาครอบงำได้ ก็เป็นกำลังที่คุ้มครองตัวเองด้วย
ทีนี้ต่อไปก็คือ โพชฌงค์ 7 โพชฌงค์นั้นแปลว่า ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ซึ่งมี ๗ ประการด้วย กัน อันนี้ก็เป็นตัวทำงานที่สำคัญ เพราะตรงเลยทีเดียว คือชื่อบอกเลยว่าเป็นองค์ของการตรัสรู้ เป็นตัวทำงานให้เกิดการตรัสรู้ ให้เกิดผลสำเร็จที่เราต้องการเป็นจุดหมาย
แล้วข้อสุดท้ายก็คือ มรรคมีองค์ 8 ที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว มีองค์ธรรมหรือข้อธรรมรวมกันเข้าเป็นระบบ มี 8 หัวข้อ หรือว่าองค์ทั้ง 8 รวมกันเป็นมรรค หรือเป็นทางอันเดียวกัน อันนี้ก็คือหลักที่เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ จัดเป็น 7 หมวด สติปัฏฐาน 4 สัมมปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 มรรคมีองค์ 8
ทีนี้เพื่อให้ชัดเจนขึ้น ก็จะขอขยายความลงไปในหัวข้อย่อย เราก็จะได้เข้าใจเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย
หัวข้อที่ 1 หมวดที่ 1 สติปัฏฐาน 4 สติปัฏฐานนั้นก็แปลว่าการตั้งสติ คือเอาสติมาเป็นตัวกำหนดอารมณ์ จับอารมณ์ เพื่อปัญญาจะได้พิจารณาอย่างที่พูดมาแล้ว ทีนี้การตั้งสติพิจารณาเนี่ย ก็แยกออกไปให้เห็นรายละเอียดจากหัวข้อย่อย เราก็จะรู้ว่าตั้งสติไปพิจารณาอะไรบ้าง 4 หัวข้อนั้นก็คือ
ข้อ 1 กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย หรือ ตั้งสติตามดูรู้ทันกาย ร่าง กายของเราเป็นส่วนสำคัญของชีวิต มีความเคลื่อนไหวเป็นไป มีองค์ประกอบอะไรอย่างไรนี่ก็เอาสติมากำหนดพิจารณา ตามดูรู้ทัน
ต่อไป ข้อที่ 2 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติตามดูรู้ทันเวทนา คือตามดูรู้ทันความรู้สึก สุข ทุกข์ สบาย ไม่สบาย หรือเฉยๆ ที่เป็นไปอยู่ในร่างกาย จิตใจของเรา
ข้อต่อไป 3 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติตามดูรู้ทันจิต หรือรู้ทันสภาพจิตใจของเรา เวลานั้นขณะนั้นๆ จิตใจของเรามีสภาพเป็นอย่างไร เป็นจิตใจที่เศร้าหมอง ผ่องใส อะไรต่างๆ นี้ เราก็ตามดูรู้ทัน ตาม ที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างที่พูดมาแล้วว่า วิปัสสนานั้นกำหนดอารมณ์ปัจจุบัน
ข้อต่อไป 4 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติตามดูรู้ทันธรรม ธรรมก็คือสิ่งที่จิตใจของเราเนี่ยได้นึกได้คิด สิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของเรา แม้แต่เป็นความดีความชั่วที่มันเกิดมีขึ้นในจิตใจของเรานี้ ตามดูรู้ทันมันหมด นี่ก็เป็นเรื่องของสติปัฏฐานซึ่งเราจะได้พูดกันต่อไปข้างหน้าอีก ในที่นี้ก็เป็นเพียงให้ได้ยินหัวข้อไว้
ต่อไปหมวดที่ / สัมมัปปธาน 4 สัมมัปปธานนี่เมื้อกี้บอกแล้วว่า แปลว่าความเพียรแบบสมบูรณ์แบบ หรือความเพียรชอบ ความเพียรสมบูรณ์แบบนี้ก็คือ ความเพียรที่มี 4 ด้านด้วยกัน เราใช้ความเพียรพยายามนี่เพื่ออะไรบ้าง
อันที่ 1 ก็คือว่า สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ไม่เป็นประโยชน์ เป็นโทษ เป็นความเสียหาย เราก็ต้องระมัดระวังเพียรพยายามระมัดระวังป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น ความเพียรข้อที่ 1 ก็คือความเพียรแบบนี้ คือ ความเพียรระวังป้องกัน สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม สิ่งที่เสียหายเป็นโทษไม่ให้เกิดขึ้น สิ่งที่ไม่ดีไม่งามเป็นโทษเสียหายนี้เราเรียกว่า “อกุศล” เพราะฉะนั้นความเพียรข้อที่ 1 ก็คือ การเพียรพยายามระวังป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น เรียกเป็นภาษาพระว่า สัง-วะ-ระ-ปะ-ธาน หรือ สัง-วอ-ระ-ปะ-ธาน ( สังวรปธาน )
ต่อไปประการที่ 2 ก็คือว่า ในกรณีที่อกุศล คือสิ่งที่ไม่ดีไม่งามเป็นโทษเสียหายนั้นเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไร เราก็ต้องเพียรพยายามที่จะแก้ไขกำจัดทำให้หมดสิ้นไป เพราะฉะนั้นก็มีความเพียรประเภทที่ 2 คือ ความเพียร พยายามแก้ไขกำจัดอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดสิ้นไป อันนี้เรียกว่า “ปหานปธาน”
ต่อไปประการที่ 3 ฝ่ายกุศลบ้าง สิ่งที่ดีงามเกื้อกูลเป็นประโยชน์ที่เรียกว่า “กุศล” นั้น ที่ยังไม่เกิด เราก็ควรเพียรพยายามทำให้เกิดขึ้น การเพียรพยายามทำสิ่งที่ดีงามเกื้อกูลเป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้น หรือทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้มันเกิดขึ้นนี้ ก็เป็นความเพียรข้อที่ 3 เรียกว่า “ภาวนาปธาน” แปลว่า ความเพียรพยายามที่จะเจริญหรือทำให้เกิดให้มีขึ้น
ต่อไป ทีนี้ ในกรณีที่กุศล หรือสิ่งที่ดีงามเกื้อกูลเป็นคุณประโยชน์นั้น มีเกิดขึ้นแล้ว เราก็ควรจะเพียรพยายามที่จะรักษาไว้ แล้วส่งเสริมให้เพิ่มพูนขึ้นไปจนกระทั่งบริบูรณ์ไพบูลย์ ก็เป็นความเพียรประเภทที่ 4หรือด้านที่ 4 เรียกชื่อว่า “อนุรักขนาปธาน” แปลว่า ความเพียรในการรักษา
ตกลงว่าเขามีความเพียร 4 อย่าง
1. สังวรปธาน เพียรระวังป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
2. ปหานปธาน เพียรกำจัดอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป
3. ภาวนาปธาน เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
4. อนุรักขนาปธาน เพียรทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญเพิ่มพูนขึ้นไปจนกระทั่งเจริญไพบูลย์
นี่ก็เป็นความเพียร 4 ด้าน ความเพียรพยายามอย่างนี้จึงเรียกว่าสมบูรณ์แบบ เพราะความเพียรอะไรก็คงไม่มีเกินไปจากนี้ หลักความเพียรอันนี้เอามาใช้ในชีวิตเป็นประจำวันก็จะเป็นประโยชน์ได้มาก
นี้ต่อไปหมวดที่ 3 ก็เรียกว่า อิทธิบาท 4 อิทธิบาทนั้นเราได้รู้จักกันมากแล้ว ก็แปลว่า ธรรมะที่ทำให้ถึงความสำเร็จ สิ่งที่ช่วยให้เกิดผลสำเร็จ ที่ทำให้เราถึงความสำเร็จนี้ เรียกว่า อิทธิบาท ก็มี 4 ข้อ คือ
1. ฉันทะ ได้แก่ความพอใจ พอใจรักในสิ่งที่ทำ หรือว่า อย่างในการปฏิบัตินี้ เจริญภาวนาทำวิปัสสนา เราก็มีฉันทะ มีความพอใจในการเจริญวิปัสสนา เราต้องการเราพอใจในกุศลธรรม ต้องการเจริญกุศลให้มากขึ้น เมื่อเห็นสิ่งใดเป็นประโยชน์เราต้องการทำสิ่งนั้น อย่างนี้ก็เรียกว่าฉันทะ ฉันทะนี่เป็นสิ่งสำคัญ เป็นตัวที่จะทำให้เราเกิดความเพียรพยายาม และก็เป็นตัวหนุนสมาธิอย่างสำคัญ
ทีนี้ต่อจาก ฉันทะ ก็คือ วิริยะ ความเพียร ความเพียร ความมีใจกล้าหาญ เข้มแข็ง มีกำลังใจ สู้ เดิน หน้าไม่ท้อถอย มีภาระก็แบกก็หามไป เรียกว่าสู้กิจสู้งาน อันนี้เรียกว่าเป็น วิริยะ เป็นอิทธิบาทประการที่ 2
ต่อไปประการที่ 3 ก็จิตตะ คือความมีใจฝักใฝ่ เอาใจจดจ่อ มีใจรับผิดชอบกับเรื่องที่ทำนั้น ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่นๆ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกันในการที่จะสร้างความสำเร็จ
แล้วต่อไปประการที่ 4 ก็วิมังสา วิมังสาก็แปลว่า ความสอดส่อง การตรวจตรา การไตร่ตรองพิจารณา อันนี้เป็นเรื่องของปัญญา ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้การกระทำต่างๆ สำเร็จได้ อิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นี้ถือว่าเป็นตัวหนุนสำคัญของสมาธิ เราสามารถทำสมาธิให้เกิดขึ้นได้ด้วยอาศัยอิทธิบาท 4 นี้ ก็เป็นโพธิปักขิยธรรมอีกหมวดหนึ่ง
ต่อไปหมวดที่ 4 ก็คือหมวดที่เรียกว่า อินทรีย์ 5 อินทรีย์ 5 แปลแล้วว่า ธรรมะที่เป็นใหญ่ในกิจในหน้าที่ของตน ซึ่งได้แก่ หน้าที่ในการที่จะไปกำจัดกิเลส หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ มี 5 ประการด้วยกัน ก็คือ
ศรัทธา ความเชื่อ ความเชื่อคือมีใจที่มุ่งแน่วไปในสิ่งที่กระทำนั้น มีศรัทธาในเรื่องของการบำเพ็ญวิปัสสนา เชื่อมั่นว่าจะทำให้เกิดผลดี อย่างนี้ก็เป็นตัวที่จะทำให้ไปกำจัดสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการปฏิบัติ ก็คือ ความไม่เชื่อ ความไร้ศรัทธา ศรัทธาก็เป็นตัวสำคัญที่จะทำงาน ต่อจากศรัทธา ก็คือ วิริยะ ความเพียร ก็เป็นตัวสำคัญเหมือนกันในการทำหน้าที่ ในการที่จะออกหน้าไปรบกับกิเลส และก็สติ สติก็เป็นความระลึกได้ แล้วต่อจากนั้นก็ สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น แล้วสุดท้ายก็ ปัญญา ความรู้เข้าใจถ่องแท้ รู้เข้าใจตามความเป็นจริง
อันนี้เรียกว่าเป็นอินทรีย์ เป็นตัวเจ้าการในการที่จะทำงาน เราจะดูว่าบุคคลนั้นมีความพร้อมที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในการที่จะทำกิจงานให้สำเร็จ โดยเฉพาะในการทำงานทางด้านภาวนานี้ ก็ต้องดูที่อินทรีย์นี้ว่าเค้ามีอินทรีย์แก่กล้าเพียงพอหรือไม่ ถ้าเค้ามีอินทรีย์แก่กล้าก็หมายความว่าเค้าพร้อมที่จะออกหน้า หรือออกเดินไปในการที่จะปฏิบัติบำเพ็ญภาวนาได้ นี่ถ้าหากว่ามันย่อหย่อน ก็ต้องพยายามบ่มอินทรีย์ให้แก่กล้าขึ้นไป
นี้ต่อไปหมวดที่ 5 เรียกว่า พละ 5 พละก็คือกำลัง กำลังที่เป็นทุนของเราอยู่ อยู่ในตัวของเรา เราก็ดูว่าทุนในตัวที่เป็นกำลังนี้ เรามีมากมีน้อยแค่ไหน ก็ดูจากองค์ธรรมที่เป็นพละ5 ได้แก่ 1.ศรัทธา ความเชื่อมั่น 2.วิริยะ ความเพียร 3.สติ ความระลึกได้ 4.สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น แล้วก็ 5.ปัญญา ความรู้เข้าใจถ่องแท้ชัดเจนตามเป็นจริง
5 ข้อนี้จะสังเกตเห็นว่า ทุกข้อเหมือนกับ อินทรีย์ 5 คือองค์ธรรมทั้งหมดซ้ำกันหมด ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ก็อาจจะตั้งคำถามขึ้นมาเป็นข้อสงสัย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่าเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ องค์ธรรมเดียวกันเมื่อทำหน้าที่คนละอย่างก็อาจจะเรียกชื่อต่างกันไป ในกรณีที่องค์ธรรม 5 ข้อนี้ ทำหน้าที่ในการออกหน้า เป็นเจ้าการในการที่ไปสู้รบกับกิเลส ในการที่จะไปปฏิบัติบำเพ็ญภาวนา อันนั้นเราเรียกว่าเป็น อินทรีย์ เป็นตัวที่จะไปกำจัดกิเลสที่เป็นข้าศึก
แต่ในกรณีที่มันเป็นทุนอยู่ภายในตัวเรา เป็นกำลังอยู่ภายใน ที่จะคุ้มกันตัวเรา ให้เราไม่อยู่ในอิทธิพลความครอบงำของกิเลส กิเลสไม่สามารถเข้ามาทำลายเราได้หรือครอบงำเราได้ ในกรณีนั้นถือว่าทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นพละ ก็ให้มองความแตกต่างโดยการทำหน้าที่อย่างนี้ ว่าเป็นอินทรีย์๕ กับ พละ๕ นั้น องค์ธรรมเดียวกันทำหน้าที่คนละสถาน
นี้ต่อไป หมวดที่ 6 โพชฌงค์ 7 โพชฌงค์ 7 ก็ธรรมะที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ธรรมะที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้นี้แสดงว่ามีความสำคัญมาก เป็นตัวประกอบกัน ที่จะทำให้บรรลุจุดหมายของการเจริญภาวนา คือจะทำให้เกิดปัญญาหยั่งรู้แจ้ง เข้าถึงสัจธรรมอย่างแท้จริง โพชฌงค์นี้มี 7 ประการด้วยกัน คือ
1. สติ ความระลึกได้ แล้วก็
2. ธัมมวิจยะ แปลว่า การวิจัยธรรม หรือการเฟ้นธรรม คือ หมายความว่าเฟ้นให้เข้าถึงความจริง เฟ้นเอาธรรมะออกไป เอาตัวความจริงออกมาให้เห็นได้ และก็เฟ้นที่จะเอาตัวธรรมะมาใช้ให้ถูกต้อง สอดคล้องกับเรื่องราวให้เป็นประโยชน์ ให้แก้ไขปัญหาสำเร็จในกรณีนั้นๆ อันนี้ก็เรียกว่าเป็น ธัมมวิจยะ การเฟ้นธรรม
ต่อไปก็ วิริยะ ความเพียร และก็ต่อจากนั้นก็ ปีติ ความอิ่มใจ หรือความปลื้มใจ ต่อจากปีติ ความอิ่มใจความปลื้มใจ ก็เป็น
ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย สงบเย็นกายใจ แล้วจากนั้นก็มี สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น
สุดท้ายก็อุเบกขา ความมีใจเป็นกลาง วางใจลงได้เป็นกลาง ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างนี้เป็นไปตามที่ควรจะเป็น เรียกว่า องค์ธรรมต่างๆ ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเรียบร้อย ประสานกลมกลืนกันดี เดินหน้าไปได้ดีแล้ว ก็จะถึงเวลาที่วางอุเบกขา คือวางใจเป็นกลาง คอยดูว่าถ้ามีตอนไหนเวลาไหนที่ต้องแก้ไขก็พร้อมที่จะแก้ไขปัญหา แต่เมื่อทุกสิ่งเดินหน้าไปด้วยดี ก็วางใจเป็นกลาง คอยดูอยู่ อันนี้เป็นสภาพจิตที่สำคัญมาก
ซึ่งโพชฌงค์ 7 นี้ คงจะได้มีโอกาสที่จะอธิบายกันต่อไปอีก ในที่นี้ก็ให้แต่เพียงหัวข้อไว้ ความจริงนั้นโพชฌงค์ 7 นั้นทำงานที่ต่อเนื่องกันไป รับส่งกันไปเป็นทอดเป็นลำดับ กลมกลืนกัน มีความสำคัญมาก เอาล่ะ ให้ทราบแต่หัวข้อไว้ก่อน
นี้ต่อไป บทสุดท้ายก็คือ มรรคมีองค์ 8 ประการ คือ ทางเดียวแต่ประกอบด้วยส่วนประกอบ ๘ อย่าง เหมือนกับเชือก 8 เกลียวรวมกันเข้าเป็นเชือกเส้นเดียว หรือว่า อาจจะเทียบกับถนน ๘ เลนอะไรทำนองนั้น คือ ถนนทางเดียว เป็นมรรคทางเดียว แต่ว่ามีองค์ประกอบ 8 อย่าง อันนี้ก็เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปแล้ว มรรคมีองค์ 8 นี้ก็ได้แก่
สัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ
สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
สัมมาวาจา เจรจาชอบ
สัมมาวาจา เจรจาชอบ และ สัมมากัมมันตะ การกระทำที่ชอบ และ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ 3 อย่างนี้ที่จริงเป็นเรื่องของศีล ซึ่งเป็นการแสดงออกทางกายวาจา หรือควบคุมกายวาจา
แต่ในที่นี้ แม้ในเวลาที่ปฏิบัติ เพียรพยายามทำภาวนาทางจิตใจ ทางปัญญาเนี่ยซึ่งเป็นด้านในของชีวิต เมื่อได้ออกไปกระทำอะไรทางกายวาจา มันจะต้องมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะอยู่ในตัว อยู่ในอาการที่เรียกว่าเป็นเจตนา เป็นเจตนาอยู่ภายใน
เพราะศีลนั้นที่จริงก็อยู่ที่เจตนา คือ เจตนาที่จะงดเว้นจากสิ่งที่ไม่ถูกไม่ต้อง เว้นจากทุจริต เจตนาที่จะตั้งอยู่ในสุจริตนั่นเอง นี้การสำรวมควบคุมกายวาจาของเราให้อยู่ในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ให้เกื้อกูลต่อการบำเพ็ญภาวนา ก็เป็นเรื่องของศีล เป็น สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ในการปฏิบัติบำเพ็ญภาวนาของเรา เราก็จะต้องมีการใช้กาย วาจา ของเราด้วย ก็จะต้องมีการควบคุมให้อยู่ในความเรียบร้อย มีความสังวรหรือสำรวม เพื่อให้เกื้อหนุนแก่การปฏิบัติ เพื่อว่าให้การปฏิบัตินี้เดินไปในทางที่มันถูกต้องที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จได้ อันนี้เป็นเรื่องขององค์ประกอบของมรรค ที่เรียกว่า สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ โยงเข้ามาหากันด้านที่มันเป็นฐานของมันในจิตใจ
ต่อไปก็ สัมมาวายามะ คือ ความเพียรชอบ
แล้วก็ สัมมาสติ ความระลึกชอบ
สัมมาสมาธิ ความมีจิตตั้งมั่นชอบ ก็มี 8 ประการเนี่ยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้รวมกันเข้าเป็นมรรค เป็นหนทางที่จะนำไปสู่อิสรภาพ การที่จะกำจัดกิเลสและความทุกข์ให้หมดสิ้นไปได้
นี้แหละคือ องค์ธรรม 37 ประการที่จัดเป็น 7 หมวด วันนี้ก็จะพูดแต่เพียงเป็นหัวข้อ พอให้เข้าใจเป็นพื้นฐานเท่านั้นเอง ยังไม่ได้ลงรายละเอียด
จะมีข้อสังเกตเพียงเล็กน้อย ก็คือว่า ผู้ที่ได้ฟังแล้วก็จะมีความสงสัยว่า ในหัวข้อธรรมะเหล่านี้มีชื่อซ้ำๆ กันมากมายเหลือเกิน 37 ประการนั้น ธรรมะข้อเดียวกันเนี่ย ไปกระจายกันอยู่ในหมวดต่างๆ หลายหมวด ซ้ำๆกัน ก็จะสงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมจะต้องไปจัดไว้ที่โน่นบ้างที่นี่บ้างที่นั่นบ้าง ซ้ำๆ กันไป ทำให้มากแล้วก็จำยาก
อันนี้ก็มีเหตุผลคือว่า เราได้บอกแล้วว่า ธรรมะต่างๆ เนี่ย เรียกชื่อต่างกันไปตามการทำหน้าที่ หรือว่าตามตำแหน่งของมันในการทำงาน แม้แต่ในชีวิตประจำวันเนี่ยเราก็พอมองเห็น เช่นว่า บุคคลคนเดียวกันเนี่ย อาจจะมีตำแหน่งหลายตำแหน่ง ตำแหน่งนี้ก็ทำงานในหน้าที่อย่างนี้ อีกตำแหน่งหนึ่งก็ทำงานในหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง แต่ก็เป็นบุคคลเดียวกัน เหมือนกับองค์ธรรมเดียวกันที่ไปทำหน้าที่คนละตำแหน่ง
หรืออีกอย่างหนึ่งอาจจะเปรียบเทียบอย่างนี้ เหมือนอย่างกับว่าในหน่วยงานองค์กรอะไรต่างๆ เนี่ย ซึ่งแตกต่างกันไปมากมายเนี่ย แต่ก็จะมีตำแหน่งงานที่ต้องการบุคคลประเภทเดียวกันมาทำงาน บุคคลที่มีคุณสมบัติอย่างเดียวกันมาทำงาน เช่นอย่างหน่วยงานโน้นก็ดี หน่วยงานนี้ก็ดี องค์กรนั้นก็ดี ต่างก็มีสารบัญด้วยกัน ต่างก็มีเลขานุการด้วยกัน ต่างก็มีเหรัญญิกด้วยกัน อะไรตำแหน่งต่างๆ เหล่าเนี้ย ก็อยู่คนละหน่วย งาน อยู่ในองค์กรคนละอย่าง แต่เสร็จแล้วก็ชื่อก็ซ้ำๆ กัน เหมือนกับว่าเป็นอันเดียวกัน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างในชีวิตประจำวัน
นี่ก็เหมือนกัน ในเรื่องของธรรมะที่เป็นระบบก็เช่นเดียวกัน ที่จัดเป็นหมวดเป็นหมู่ต่างๆ กันไป ก็มีองค์ธรรมที่ชื่อเดียวกัน ที่มาทำหน้าที่ในแง่ต่างๆ จะยกตัวอย่างเช่นว่า สติ
สตินี้จะเห็นว่ามีอยู่ในหมวดธรรมหลายหมวดในโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ เริ่มตั้งแต่ในสติปัฏฐาน 4 ก็มีสติ แล้วสติก็เป็นตัวเด่นในสติปัฏฐาน ต่อจากนั้น สติก็จะมาอีกในอินทรีย์ 5 อินทรีย์ 5 ข้อที่ 3 ก็สติ และก็มาในพละ ก็มีสติอยู่ แล้วต่อไปในโพชฌงค์ สติก็มาเป็นข้อที่ 1 แล้วก็ในมรรคมีองค์๘ ก็มีสติมาในข้อสัมมาสติ เป็นองค์มรรคข้อที่ 7 นี้ก็จะเห็นว่า สติชื่อเดียวกันเนี่ย มาในหมวดธรรมตั้ง 5 หมวด ฉะนั้นคือมา 5 ครั้ง ชื่อซ้ำกัน 5 ครั้ง อย่างที่บอกเมื่อกี้บอกว่าที่มาอย่างนี้เพราะว่าทำหน้าที่ต่างกัน
เราก็จะเห็นความแตกต่างในการทำงานของมันว่า ในตอนที่สติอยู่ในสติปัฏฐานนั้น สติก็เป็นตัวเด่นในการที่จะจับอารมณ์กำหนดอารมณ์ เอามาส่งให้ปัญญาพิจารณา ทีนี้ในพละล่ะ พละ 5 ก็มีสติ พละ 5 นั้นเป็นสติในฐานะที่เป็นกำลัง เป็นทุนอยู่ในตัวของเรา เรามีสติเป็นกำลังทุนอยู่ในตัวเท่าไร ก็หมายความว่า เราก็จะเอาสติไปใช้การได้เท่านั้น เหมือนกับว่าทุนของเรามันมีน้อยเราก็ใช้ได้น้อย ถ้าทุนของเราดี สติของเราเป็นทุนดีเข้มแข็งอยู่แล้ว สติปัฏฐานของเราก็จะทำงานได้ผลดีด้วย เพราะฉะนั้นการทำงานของสติปัฏฐานนี่ ก็จะต้องขึ้นต่อสติที่เป็นพละที่เป็นทุนอยู่ในตัว ทีนี้เมื่อเราฝึกสติของเราด้วยสติปัฏฐานให้ทำงานไป สติของเราก็จะมีความเข้ม มีกำลังมากขึ้น มีความทันมากขึ้น สติที่เป็นพละนั้นก็จะพลอยมีกำลังเข้มแข็งขึ้นด้วย เท่ากับว่ากำลังทุนฝ่ายสติของเราก็เพิ่มไป
อันนี้ในแง่ที่ว่าสตินั้นออกมาทำงานเป็นตัวที่ไปกำจัดธรรมะที่เป็นอกุศลที่เป็นปฏิปักษ์เป็นคู่ปรับกำจัดความลืม ความหลง ความลอย ความเลื่อนลอยต่างๆ นี้มันก็ทำหน้าที่เป็นอินทรีย์ อันนี้ก็เป็นความแตกต่างกัน
หรืออย่างในกรณีที่เป็นโพชฌงค์ ก็คือว่า ตอนที่เป็นสติปัฏฐานนี้ เรายังอยู่ในขั้นที่ว่าตั้งสติกำหนดอันนั้นอันนี้ สติของเราก็พยายามทำให้ทันไป แต่มันก็อยู่ในกระบวนการฝึก ทีนี้ในตอนที่ฝึกอย่างนี้ เราก็ยังไม่สามารถที่จะได้บรรลุจุดหมายทำงานที่ในขั้นสูงให้สำเร็จได้ ในขั้นลึกซึ้งละเอียดอ่อนในการที่จะกำจัดกิเลสเนี่ย ต้องอาศัยสติที่คมชัดต่อเนื่องทันกันเป็นอย่างดี ตอนที่เป็นสติปัฏฐานนี่มันอยู่ระยะของการตั้งสติ เอาสติมาตั้ง มากำหนด จับอารมณ์กันอยู่ด้วยไปพิจารณากันไป
ต่อมาเมื่อสตินั้นมันคมชัดทันขึ้น จนกระทั่งเรียกได้ว่าไม่มีความหลงลืม สติปรากฎเด่นชัดขึ้นมาเนี่ย มันจะสามารถทำงานในขั้นสูงที่เข้าถึงจุดหมายได้ ก็คือทำงานในขั้นที่จะได้ตรัสรู้ หยั่งเห็นหยั่งรู้ในสัจธรรม สติตอนที่เข้มคมชัดขึ้นมาด้วยการที่เจริญสติปัฏฐานจนถึงที่แล้วเนี่ย จะกลายเป็นสติที่เรียกว่าสติสัมโพชฌงค์ คือ สติที่เป็นโพชฌงค์ ซึ่งสามารถที่จะทำงานในขั้นที่จะกำจัดกิเลสในการที่จะทำให้เกิดญาณ ความรู้แจ้งเห็นจริงในขั้นสูงได้ เพราะฉะนั้นสติในสัมโพชฌงค์นี้ ก็จะต่อด้วยธัมมวิจยะ การเฟ้นธรรมที่จะให้เข้าถึงตัวแท้ตัวจริงของธรรมะ อันนี้เป็นสติในโพชฌงค์
ต่อไปสุดท้ายก็คือ สติในมรรค นี้ในมรรคนี่จะเห็นว่าได้ใช้ชื่อสัมมาสติ เมื่อสตินั้นเราฝึกเราปฏิบัติเราใช้งานกันไปเนี่ย ในที่สุดแล้ว มันจะต้องมาประสานสอดคล้องกลมกลืนกับองค์ธรรมอื่นๆ ที่อยู่ในกระบวนของระบบที่เรียกว่ามรรค หมายความว่าองค์ธรรมต่างๆ นั้น ในการที่จะเข้าถึงจุดหมายเนี่ย มันเป็นเหมือนกับกระบวนวิธีที่จะให้เกิดผลสำเร็จ กระบวนวิธีนี้องค์ประกอบต่างๆ จะต้องสอดคล้องกลมกลืนพอดีๆ สมดุลกัน จึงจะให้สำเร็จผลที่ประสงค์ได้ เป็นวิธีการเป็นหนทางที่จะนำเข้าถึงจุดหมาย ทีนี้สตินั้นเราก็เจริญมาจนถึงขั้นหนึ่ง ถ้าหากว่าได้ถึงความพอเหมาะพอดี ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ มันก็จะเข้าลักษณะที่เรียกว่าเป็น สัมมาสติ เป็นสติที่สมบูรณ์แบบ ที่ถูกต้อง ที่ชอบ ที่พอดี ซึ่งจะกลมกลืนกับองค์ธรรมข้ออื่น ในกระบวนวิธีการที่จะให้ปฏิบัติสำเร็จผลในความมุ่งหมายของเรา
ก็หมายความว่ากระบวนวิธีของเรานี้ จะสำเร็จผลดีก็ต่อเมื่อองค์ธรรม เช่น สติ เป็นต้น เนี่ย มันประสานกลมกลืนสอดคล้องพอเหมาะพอดีกันทั้งหมด แล้วมันต้องมาทำงานร่วมกันในขั้นสุดท้าย เพราะ ฉะนั้นในแง่นี้ เมื่อมาเป็นมรรค ก็เท่ากับว่า เป็นตัวที่ตรวจสอบให้เห็นว่า สติของเรานั้น มันได้เข้าสู่ภาวะที่สมดุลพอดี ที่จะทำงานประสานกับองค์ธรรม หรือ องค์ประกอบข้ออื่นๆ ในการที่จะทำให้สำเร็จเป็นกระบวนวิธีที่จะบรรลุจุดหมายได้
เพราะฉะนั้นการที่องค์ธรรมข้อเดียวกันไปปรากฏอยู่ในหมวดต่างๆ นี้ก็จะต่างกันโดยการทำหน้าที่การงานบ้าง โดยระดับความเข้มคมของมันในการทำงานบ้าง ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันไปอย่างที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งอันนี้นอกจากว่า เราจะได้เห็นความแตกต่างในแง่การทำหน้าที่ในตำแหน่งของมันแล้ว มันยังมาช่วยในการที่ว่าเป็นเหมือนเครื่องมือตรวจสอบด้วย ทำให้เรามีเกณฑ์หรือมีคล้ายๆ ว่า เป็นกรอบในการที่จะมาตรวจสอบ ว่า องค์ธรรมแต่ละอย่างนั้น มันได้ที่ ได้พอดี ได้ความเจริญแก่กล้าเพียงพอแก่การที่จะทำให้บรรลุจุดหมายหรือยัง
ถ้ามองในแง่ อ้อ เป็นสัมมาสติ เป็นมรรค นี่เป็นยังไง มองในแง่เป็นโพชฌงค์เป็นยังไง การทำหน้าที่ในฐานะเป็นอินทรีย์เป็นยังไง ในฐานะที่เป็นพละเป็นทุนเป็นกำลังภายในอยู่เนี่ยมีความพร้อมแค่ไหน แล้วก็ตอนออกมาทำหน้าที่ข้างนอกก็คือ เป็นสติปัฏฐาน ที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นก็สติปัฏฐานจะทำงานได้แค่ไหนเพียงไร มันก็ต้องอาศัยทุนเดิมที่มีสติอยู่เป็นกำลัง แล้วเสร็จแล้วพอทำสติปัฏฐานก้าวไป สตินั้นก็เจริญขึ้น มาจนกระทั่งกลายเป็น สติสัมโพชฌงค์ อย่างนี้เป็นต้น นี้ก็เป็นตัวอย่าง อาตมาก็ยกเรื่องสติมาเป็นข้อตัวอย่างให้เห็นเหตุผลในการที่เราจะต้องมีองค์ธรรมชื่อเดียวกันอยู่ในหมวดธรรมต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ เอาล่ะคิดว่าตอนนี้ก็จะขอผ่านไปก่อน
ทีนี้โพธิปักขิยธรรมที่เป็นตัวทำงาน 37 ประการนี้น่ะ หมวดแรกก็คือ สติปัฏฐาน 4 แล้วต่อไปเนี่ย เราก็จะยกเอาเรื่อง สติปัฏฐานนี้มาเป็นองค์ธรรมหลักในการทำงาน หรือเป็นตัวทำงาน เพราะฉะนั้นก็เท่ากับว่าต่อไปนี้ เราจะเอาสติปัฏฐานมาเป็นหลักหรือเป็นแกน หรือเป็นสนามทำงานในการเจริญปัญญาภาวนาของเรา แล้วองค์ธรรมข้ออี่นๆ หมวดอื่นๆ ก็จะมาเป็นตัวหนุนตัวรับช่วงในการทำงานกันต่อๆ ไป ให้สำเร็จผลเป็นมรรค เป็นกระบวนวิธีอันเดียวกันที่จะให้บรรลุจุดหมายดังที่กล่าวมาแล้ว
ทีนี้เมื่อเราเอาสติปัฏฐานมาเป็นตัวตั้ง แล้วพอดีสติปัฏฐานก็เป็นหมวดแรกด้วย ในธรรมะหมวดที่เรียก ว่า โพธิปักขิยธรรมนี้ เราก็จะได้เอาสติปัฏฐานนี้เป็นหัวข้อหลักในการพิจารณาและก็เป็นหลักในการปฏิบัติ และก็เมื่อเจริญสติปัฏฐานไป องค์ธรรมต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร องค์ธรรมเหล่านั้นในโพธิปักขิยธรรมหมวดอื่นๆ นั้น มีความเจริญมาทำหน้าที่ประสานสอดคล้องอย่างไรนี้ เราก็จะพูดกันไปตามโอกาส แล้วแต่ความสมควร
แต่นี้เรื่องขององค์ธรรมที่มาประสานสอดคล้องก็เป็นอันว่า ตอนนี้จะพูดเพียงเท่านี้ก่อน ในตอนที่บำเพ็ญสติปัฏฐานจริงๆ นั้น ก็จะได้นำเอามาพูดตามจังหวะ และก็ตามความสมควร แต่สำหรับผู้ที่ปฏิบัติในเบื้องต้น นี่ก็ขอพูดไว้ก่อนว่าคงจะเอามาพูดไม่มาก เพราะว่าเราก็คงจะเน้นเรื่องสติปัฏฐานนี่แหละ เพียง
สติปัฏฐานที่เป็นองค์ธรรมหลักอย่างเดียวนี่ก็มีเนื้อหาที่ต้องพูดกันมากมายอยู่แล้ว ก็เป็นอันในตอนนี้ก็ให้เข้าใจกันว่า ในการบำเพ็ญปัญญาภาวนานั้น เราก็มาถึงจุดที่ว่า เราจะเอาสติปัฏฐานเป็นหลักแล้ว เพราะ ฉะนั้นตอนนี้ก็เข้าสู่สาระสำคัญของหัวข้อเรื่องที่ตั้งไว้แต่ต้นว่า จากจิตภาวนาสู่ปัญญาภาวนาตามวิธีสติปัฏฐาน นี่ก็คือเราจะพูดถึง ปัญญาภาวนาตามวิธีสติปัฏฐาน สติปัฏฐานก็มาปรากฏตัวให้เราเห็นในตอนนี้แล้ว
ทีนี้ก่อนที่จะพูดถึง การปฏิบัติตามวิธีสติปัฏฐาน ก็ยังมีหัวข้อย่อย ในเรื่องหลักทั่วไปของวิปัสสนาที่จะต้องพูดต่อไปอีก เพราะฉะนั้นก็จะขอพูดในหัวข้อย่อยต่อไปในหลักทั่วไปของวิปัสสนา