แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร วันนี้อาตมภาพก็ขออนุโมทนา โยมอาจารย์ลดา แล้วก็โยมหม่อมมาลุนี ที่ได้นิมนต์มาถวายภัตตาหาร ในโอกาสนี้ สำหรับวันนี้ ก็เลยถือโอกาสเล่าเรื่องให้โยมฟังต่อ อาตมภาพได้พูดเรื่อง อริยวัฑฒิ หรือว่าหลักความเจริญอันประเสริฐ แปลอีกอย่างหนึ่งว่า หลักความเจริญของอริยชน ซึ่งใช้สำหรับตรวจสอบความเจริญก้าวหน้าของอริยสาวก ว่ามีความเจริญก้าวหน้างอกงามในการปฏิบัติธรรมแค่ไหนเพียงไร ซึ่งมีอยู่ห้าประการ คือ
1. ศรัทธา
2.ศีล
3.สุตะ
4.จาคะ
5.ปัญญา
หลังจากที่ได้กล่าวถึงหัวข้อแล้ว ก็ได้อธิบายขยายความไปแล้วสองข้อ คือข้อที่หนึ่ง ศรัทธา ความเชื่อ และข้อที่สอง ศีล ความประพฤติที่ดีงาม หรือการเว้นจากความชั่ว วันนี้ก็เลยเห็นเป็นโอกาสที่จะกล่าวถึงข้อที่สามคือ สุตะ
สุตะนั้นแปลตามศัพท์ก็ว่า ความรู้ที่เกิดจากการสดับตรับฟัง คือ สิ่งที่ได้เล่าเรียนศึกษา ได้อ่านแล้วก็ได้ติดตามสดับตรับฟังต่างๆ การสะสมความรู้เหล่านั้นไว้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นสุตะ สุตะนี้เป็นธรรมะที่เกื้อกูล แก่หลักความเจริญข้ออื่นๆ ทั้งหมด ท่านผู้มีศรัทธาอยู่แล้ว เมื่อได้สดับคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้เรียนรู้มากขึ้น ก็ทำให้ศรัทธายิ่งมั่นคงเพิ่มพูนขึ้น มีความประพฤติดีงาม เมื่อได้เล่าเรียนศึกษาได้อ่านได้เข้าใจก็ทำให้ประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้องยิ่งขึ้น และก็สามารถที่จะฝึกฝนตนในทางความประพฤตินั้นให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป
ในด้านจาคะก็เช่นเดียวกัน ผู้มีสุตะ ได้เรียนรู้ได้สดับตรับฟัง เมื่อเพิ่มพูนศรัทธาและก็เพิ่มพูนจาคะไปด้วย มีความเสียสละ และก็รู้ว่าควรจะบริจาคควรจะสละในเรื่องอะไร รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่สมไม่ควรบริจาคไม่ควรสละ ควรสละให้กับที่ใดจึงจะเป็นประโยชน์มากอย่างนี้ เป็นต้น สุตะก็ช่วยได้ทั้งนั้น
แล้วข้อสุดท้าย ปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นก็มักอาศัยสุตะ คืออาศัยความรู้ที่ได้เล่าเรียนได้สดับตรับฟัง ยิ่งเข้าใจสิ่งที่ได้เล่าเรียนมากขึ้นเท่าไร ปัญญาก็ยิ่งเพิ่มพูนเท่านั้น ก็คือสิ่งที่ได้สดับตรับฟังมานี่เอง เราเข้าใจในสิ่งนั้นๆ ตอนแรกสุตะก็เหมือนเป็นความรู้ของผู้อื่น พอได้พิจารณาไตร่ตรองเกิดความเข้าใจแล้ว ความรู้นั้นก็กลายเป็นของตัวเราเอง ความรู้ที่ยังเป็นของผู้อื่นก็เป็นสุตะ พอเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นในตัวเราก็กลายเป็นปัญญาขึ้น สุตะก็เป็นสิ่งที่เกื้อกูล เป็นทางมาของปัญญา
ตกลงว่าสุตะนี้เป็นธรรมที่มีคุณประโยชน์มาก อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมนั้น ก็จะต้องมีการเลือกเฟ้น สุตะ คือสิ่งที่ได้สดับฟังมา ก็อาจจะมีการเลือกว่าสิ่งใดเหมาะกับตนที่จะประพฤติปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่จะทำกรรมฐาน เรียนกรรมฐานก็ต้องเลือกเอาสิ่งที่เหมาะกับตน นั่นก็คือต้องเลือกเฟ้นสุตะ แล้วก็เจาะจงเอาในส่วนนั้นที่เหมาะกับตนนำไปปฏิบัติ นำไปทำกรรมฐานก็เจริญก้าวหน้า
พระพุทธเจ้าเคยตรัสในคาถาธรรมบถบอกว่า คำพูดแม้แต่คำเดียวหรือประโยคเดียว แต่ประกอบด้วยประโยชน์ ฟังแล้วหายข้องขัด จิตใจโล่งโปร่งสงบได้ ประเสริฐกว่าคำพูดแม้ตั้งร้อยตั้งพันที่ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นสุตะนี้ ที่มีประโยชน์ก็จะต้องรู้จักเลือกเฟ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นคำที่มีประโยชน์แล้ว ยิ่งฟังมากเท่าไรมีเป็นร้อยเป็นพันก็ยิ่งดี ยิ่งมีประโยชน์เป็นร้อยเป็นพัน เพราะฉะนั้นท่านจึงนิยม หรือยกย่อง สนับสนุนให้สั่งสมสุตะ เพราะว่าสุตะนี้เมื่อได้ฟังมากๆ ขึ้น ก็มาช่วยความรู้ที่มีอยู่เก่าให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย
มีพุทธพจน์ตรัสถึงอานิสงส์ของการฟังธรรมท่านเรียก ธรรมะสวนานิสงส์ห้าประการ
ข้อที่หนึ่ง ท่านบอกว่าทำให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ฟัง นี่ก็เป็นประโยชน์ของการสุตะ ข้อที่สอง สิ่งที่ได้ฟังแล้วเคยฟังมาก่อนก็เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น สุตะที่มาภายหลังก็มาช่วยเสริม ประการที่สาม บรรเทาความสงสัยเสียได้ บางทีเรามีข้อสงสัยอยู่ แล้วก็ยังไม่ได้ถาม ยังไม่ได้แก้ข้อสงสัยนั้นให้เสร็จสิ้นไป บางครั้งท่านเล่าเรื่อง หรือว่าแสดงธรรมะตรงกับสิ่งที่สงสัยนั้นก็แก้ข้อสงสัยให้เสร็จสิ้นจบไป ประการที่สี่ บอกว่าทำความเห็นให้ตรงได้ หรือทำความเห็นให้ถูกต้อง บางทีเรายังมีความเห็นไม่ค่อยถูกต้องในเรื่องบางอย่างหรือเกี่ยวกับธรรมะ เมื่อได้ยินได้ฟังท่านอธิบายหรือชี้แจงอยู่เสมอๆ ก็ทำให้ความเข้าใจนั้นถูกต้อง เรียกว่าทำความเห็นให้ตรง และประการสุดท้าย ท่านบอกว่าทำให้จิตใจของผู้ฟังนั้นผ่องใส เรื่องของธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่ดีงามได้ยินได้ฟังแล้วใจก็สบาย แม้เพียงเท่านี้ก็ผ่องใส ยิ่งถ้ามีความสงสัยอะไรๆ ไม่แจ่มแจ้ง เกิดความเข้าใจขึ้นมาหรือบรรเทาความสงสัยนั้นหมดสิ้นไป จิตใจก็ยิ่งผ่องใสมากขึ้น บางทีก็เกิดปีติ คือความเอิบอิ่มปลาบปลื้มใจ อันนั้นก็ยิ่งทำให้จิตใจผ่องใสมากเป็นกรณีพิเศษ อันนี้ก็เป็นอานิสงค์ของสุตะ การสดับตรับฟังซึ่งมีมากมายหลายประการ
ท่านที่ได้สดับตรับฟังมากๆ นี้ มีศัพท์เรียกพิเศษท่าน เรียก พหูสูต พหูสูตตัวนี้เขียนเป็น พ.พาน ห.หีบ สระอู ส.เสือ สระอู ต.เต่า ไม่มีรอตามหลัง เพราะมักจะมีการเขียนผิดเป็นว่าเอารอใส่ไปด้วย คล้ายๆ กับคำว่าสูตหรือสุตะ พหูสูตตัวนี้ไม่ต้องใส่ รอ พหูสูต ก็แปลว่า ผู้มีสุตะมาก แปลว่าผู้ได้สดับตรับฟังมาก หรือบางทีก็แปลว่าผู้คงแก่เรียน ท่านยังแสดงลักษณะของผู้เป็นพหูสูตไว้อีก ว่าผู้ที่จะได้ชื่อว่าสดับตรับฟังมากหรือคงแก่เรียนนั้น ต้องมีองค์คุณสมบัติห้าประการด้วยกัน
ข้อที่หนึ่ง ก็คือ พหุสสุตา แปลว่าได้ยินได้ฟังมาก อาจจะได้ยินหรือได้ฟัง ได้อ่านสะสมความรู้ไว้มาก นี่ก็เรียกว่าเป็นข้อที่หนึ่ง ก็ตรงตามศัพท์ พหุสสุตา
ข้อที่สอง ธตา แปลว่า ทรงจำไว้ได้ด้วย คือไม่ใช่เพียงฟังผ่านๆ เท่านั้นบางทีฟังมาก แต่ว่าอาจจะจับอะไรไม่ได้ก็ได้ ก็ต้องมีข้อที่สอง คือฟังแล้วก็จับได้ด้วย ทรงจำไว้ อาจจะทรงจำไว้ได้หมดก็ยิ่งดี แต่ว่าก็ไม่ถึงกับจำเป็นต้องจำหมด ท่านบอกว่า จับสาระให้ได้จับใจความให้ได้ ทรงเอาไว้ ก็เรียกว่าเก็บเอาสาระของเรื่องนั้นๆ ที่ตนฟังไว้ได้ ถ้าจับสาระจับหลักได้แล้วก็ยังดีกว่าฟังจำไว้หมด แต่ว่าเป็นนกแก้วนกขุนทอง ก็ไม่ได้อะไรเหมือนกัน ก็ถ้าท่องจำได้หมดแล้วก็ได้สาระด้วยก็ยิ่งดี แต่ถ้าจำไม่ได้หมดก็จับสาระทรงไว้ได้ก็เป็นข้อที่น่าพอใจแล้ว นี่เป็นประการที่สอง
ประการที่สามว่า วจสา ปริจิตา แปลว่าคล่องปาก หมายความว่าใช้พูด ใช้อาจจะท่องบ่นก็ได้ หรืออาจจะใช้พูดบ่อยๆ จนกระทั่งคล่องปาก ใครมาถามเรื่องนั้นๆ ก็สามารถอธิบายชี้แจงให้เขาฟัง หรือบอกให้เขาฟังได้ตามที่ได้เล่าเรียนมา อันนี้เรียกว่า วจสา ปริจิตา
ข้อที่สี่ว่า มนสานุเปกขิตา แปลว่า เจนใจ เจนใจอันนี้หมายความว่า มองเห็นด้วยใจเลย เมื่อได้นึกถึงเรื่องนั้นขึ้นมา เช่น ศึกษาธรรมะเรื่องอะไร อย่างเรื่องศรัทธา เรื่องศีล หรือเรื่องสันโดษ หรือเรื่องสติ พอนึกถึงเรื่องหัวข้อธรรมะนั้นก็มองเห็นสว่างโล่งในใจ ว่า อ้อ มีความหมายอย่างนั้นๆ อย่างงี้เรียกว่าเป็น มนสานุเปกขิตา มองเห็นเจนใจ สว่างตลอดปลอดโปร่งไปทั้งเรื่อง
และข้อสุดท้ายว่า ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา แปลว่า คบได้ด้วยทฤษฎี หรือ แปลอีกอย่างว่า แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ อันนี้ท่านหมายความว่ามีความเข้าใจในเหตุในผล คือนอกจากเข้าใจความหมายของเรื่องนั้นโดยเฉพาะ และยังเข้าใจเหตุผลรู้ที่ไปที่มาของเรื่องนั้น รู้เรื่องนั้นสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเรื่องอื่นอย่างไร เช่นอย่าง นึกถึงเรื่องสันโดษ ก็หยั่งรู้ความหมายแล้วก็ยังไม่พอ อย่างนี้จึงต้องรู้อีกว่าทำไมจึงต้องสันโดษ สันโดษมีประโยชน์อย่างไร สันโดษมีความสัมพันธ์กับข้ออื่นอย่างไร เช่น สันโดษกับความเพียร ความพยายามเนี่ย มีความสัมพันธ์อย่างไร สันโดษแล้วจะช่วยให้เพียร หรือจะช่วยให้เกียจคร้านได้อย่างไร เป็นต้น เข้าใจตลอด เชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ให้เห็นเหตุเห็นผลได้ทั้งหมด อย่างนี้เรียกว่า ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา
ถ้าครบทั้งห้าข้อนี้ ท่านเรียกว่าเป็นผู้พหูสูต หรือผู้ที่ได้คงแก่เรียน หรือเล่าเรียนสดับตรับฟังมาก อันนี้ก็เป็นหลักที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ อาตมภาพก็นำมาแสดงไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ท่านก็บอกว่า เนี่ยเรื่องพหูสูตเนี่ย มีสองอย่าง คือ
หนึ่ง ท่านเรียกว่า ปริยัติพหูสูต พหูสูตโดยปริยัติโดยการเล่าเรียน แล้วข้อที่สองปฏิบัติพหูสูต พหูสูติโดยการปฏิบัติ
บางคนอาจจะเล่าเรียนมามากก็ได้แต่สุตะด้านนี้ ก็ฟังมากอาจารย์อธิบายชี้แจงสอนหรือว่าอ่านมาก ก็เป็นพหูสูตโดยการเล่าเรียน แต่ว่าบางทีไม่เคยปฏิบัติเลย เหมือนอย่างกับคนที่อ่านหนังสือภูมิศาสตร์ แต่ไม่เคยเดินทางด้วยตนเอง อาจจะเป็นครู ก็เอาเรื่องที่ได้เรียนมาในวิชาภูมิศาสตร์มาเล่าให้นักเรียนฟังได้ ประเทศนั้นเป็นอย่างนั้น ประเทศนี้เป็นอย่างนี้ เล่าได้หมดมีพื้นที่เท่าไร มีภูมิประเทศเป็นภูเขาเป็นน้ำอะไรอย่างไร ที่ลุ่มที่ดอน แต่ว่าตัวเองก็ไม่เคยเห็นไม่เคยได้ดู ท่านก็บอกว่าอย่างนี้ก็เป็นด้านนึง แต่ยังมีพหูสูตอีกแบบนึง คือปฏิบัติพหูสูต พหูสูตโดยการปฏิบัติ หมายความว่าได้ลงมือทำด้วยตนเอง ก็เหมือนอย่างคนที่ได้เดินทางไปด้วยตนเอง อาจจะไม่ได้เรียนวิชาภูมิศาสตร์ ได้เดินทางไปด้วยตนเอง ไปที่ช่ำชองในที่ที่ไปนั้น จนมีความชำนาญจัดเจนก็รู้ว่าสถานที่นั้นเป็นอย่างไร อันนี้ก็เรียกว่า ได้เข้าถึงด้วยตนเองแล้ว เป็นพหูสูตที่น่าจะมีประโยชน์ยิ่งกว่าปริยัติ ท่านจึงสรรเสริญ ปฏิบัติพหูสูตมาก
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องระวังบางทีไปผิดที่เข้าใจว่าตัวไปถึงที่นั่นแล้ว เอามาเล่าว่านั่นที่นั่นที่นั่นเป็นอย่างนั้น แต่ที่จริงที่นั่นเป็นอีกที่นึง ไม่ใช่ที่ที่ต้องการจะไป ไม่ใช่จุดหมายที่แท้จริง ผู้ปฏิบัติบางทีก็หลงได้เหมือนกัน ก็เลยเอาอย่างนึงไปเป็นอีกอย่างนึง ก็เขวได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ดี ท่านก็เลยบอกว่าให้มีทั้ง ปริยัติและปฏิบัติ ก่อนปฏิบัติได้รู้ปริยัติแล้วได้รู้เล่าเรียน เหมือนกับว่าสถานที่ที่จะไปก็รู้จักไว้ รู้เป็นอันดีแล้ว ไปถึงที่นั่น ก็สามารถศึกษาได้เข้าใจชัดเจนเพราะมีพื้นความรู้ สามารถเลือกเฟ้น เจาะจงว่าเราควรจะศึกษาเรื่องอะไรบ้าง หรือควรจะทำอะไรที่นั่นได้บ้าง ก็ทำให้ปฏิบัติได้ผลดียิ่งขึ้น ปริยัติก็เป็นฐานรองรับการปฏิบัติ หนุนให้การปฏิบัติได้ผลดียิ่งขึ้น แต่ว่าปริยัติอย่างเดียวก็อย่างที่กล่าวข้างต้น ว่าไม่ให้ผลอะไรถ้าหากว่าไม่ได้ทำ ก็ต้องนำมาปฏิบัติด้วย มาปฏิบัติแล้วก็ได้ผล คือปฏิเวธ นี่ก็เรียก พระพุทธเจ้าจึงตรัสหลักเรื่องพหูสูตไว้ ท่านก็เลยแบ่ง พหูสูต ว่าเป็น ปริยัติพหูสูต พหูสูตโดยปริยัติ และก็พหูสูตโดยการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นหลักหรือคติในเรื่องนี้ก็คือว่า สุตะ หรือ ความรู้ที่ได้เล่าเรียนนั้น ที่สำคัญก็คือ ต้องนำไปใช้ปฏิบัติด้วยจึงเกิดผลแท้จริง และความรู้ที่เรียกว่าปริยัตินี้ ท่านก็เลยเอามาสัมพันธ์ให้เห็นความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ แบ่งผู้ที่เล่าเรียนปริยัติ หรือเล่าเรียนสุตะนี้ว่า มีสามประเภทด้วยกัน มีพระสูตร พระสูตรหนึ่งตรัสไว้โดยเฉพาะเรียกว่า อลคัททูปมสูตร ตรัสเปรียบเทียบการเล่าเรียนปริยัติ
อย่างที่หนึ่งว่า ท่านเรียกว่า อลคัททูอุปมา ปริยัติที่เปรียบเหมือนกับการจับงูที่ขนดหาง คือการจับงูที่หางนั้น ก็จะ งูก็แว้งมากัดตัวเราให้ได้รับอันตราย อาจจะถึงแก่ความตายก็ได้ เหมือนกับบุคคลบางคนที่เรียนปริยัติ เรียนความรู้ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เอาไว้ค่อนขอดว่าผู้อื่น เป็นต้น เรียนแล้วไม่ใช้ปฏิบัติก็เลยไม่มีประโยชน์ ท่านบอกว่าเป็น อลคัททูอุปมาปริยัติ
อันนี้สอง ท่านบอกว่าเป็น นิสสรณัตถปริยัติ ปริยัติที่มีประโยชน์เพื่อนำออกไปให้พ้นจากปัญหา หรือพ้นจากทุกข์ แก้ไขปัญหาทำให้หมดกิเลสได้ อันนี้ก็คือ ปริยัติของผู้ปฏิบัติที่อาตมภาพได้กล่าวมานั้น เรียนแล้วก็เอาไปใช้ประโยชน์ แก้ปัญหา แก้ความทุกข์ของตนเอง ปฏิบัติธรรมให้เจริญก้าวหน้าจนบรรลุอริยมรรคอริยผล
แล้วประการที่สาม ท่านเรียกว่า ภัณฑาคาริกปริยัติ ปริยัติของขุนคลัง หรือนายเรือนคลัง คือท่านที่ได้ปฏิบัติดีแล้ว เช่นพระอรหันต์เป็นต้น แม้จะเป็นพระอรหันต์ ท่านก็เล่าเรียนปริยัติอีก เช่นอย่าง พระสาวกผู้ใหญ่ในสมัยพุทธกาลท่านบรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ท่านก็ยังสดับตรับฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อท่านจะได้นำไปใช้ประโยชน์เอาไว้สอนคนรุ่นหลัง เอาไว้สั่งสอนประชาชน เพราะว่าคนที่รับฟังคำสั่งสอนนั้นก็มีพื้นเพอัธยาศัยต่างๆ กัน เมื่อนำคำสอนไปให้นั้น ก็ต้องนำคำสอนที่เหมาะแก่อุปนิสัยไปให้ พระพุทธเจ้านั้นทรงแสดงธรรมไว้ มีนัยยะต่างๆ มากมายก็สอนให้เหมาะกับบุคคล พระอรหันต์องค์นั้นท่านอาจจะเข้าใจธรรมะตามที่ท่านปฏิบัติ ท่านได้สอนอย่างเดียว อย่างที่ท่านชำนาญมา คนที่เขามีพื้นเพไม่เหมาะ เขาก็อาจจะไม่เข้าใจ ถ้าท่านได้เล่าเรียนมากขึ้น ได้เล่าเรียนคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้ยักเยื้องไปต่างๆ ก็นำคำสอนไปสอนให้เหมาะสมกับภูมิปัญญาและพื้นเพอัธยาศัย ก็ทำให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ก็เป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาไว้ด้วย ปริยัติหรือการเล่าเรียนอย่างท้ายนี้ ท่านเรียกว่า ภัณฑาคาริกปริยัติ ปริยัติที่เหมือนกับเป็นของขุนคลัง หรือนายเรือนคลัง เป็นประโยชน์ในการแจกจ่ายให้ผู้อื่นสืบต่อไป
วันนี้อาตมภาพก็ได้แสดงเรื่องสุตะ ซึ่งเป็นหลักอริยวัฑฒิ ความเจริญของอารยชน ซึ่งใช้สำหรับวัดความเจริญ ก้าวหน้าของพุทธสาวกในการปฏิบัติธรรม ก็นับว่าเป็นข้อที่สาม ก็สมควรแก่เวลา ก็ขออนุโมทนาคุณโยม แล้วก็ขออานุภาพคุณพระรัตนตรัย อภิบาลรักษาให้โยมได้เจริญงอกงามในธรรมะ มีสุตะเป็นต้นนี้ ตลอดกาลนานเทอญ