แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร สาธุชนทุกท่านผู้มาร่วมประชุมในพิธีไว้อาลัยท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในวาระที่ท่านล่วงลับจากไป นับว่าเป็นการแสดงน้ำใจในวาระสำคัญ ซึ่งเราถือกันว่าเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้ล่วงลับจากไปเมื่อคืนวันที่ 11 พฤษภาคม ย่างขึ้นวันที่ 12 พฤษภาคม ก็ถือกันว่าท่านล่วงลับไป ในวันเกิดของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นสามีของท่าน ซึ่งคงเป็นวันเกิดที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสอายุครบ 106 หรือ 107 ปี และเวลาที่ท่านจากไปนั้นว่าเป็นตีสอง ซึ่งเป็นเวลาที่ตามปกติท่านลุกขึ้นทำงานหรือตื่นขึ้นมาเป็นกิจวัตร เวลาอย่างนี้ก็เท่ากับว่าเป็นเครื่องกำหนดหมาย อย่างน้อยก็ทำให้จำง่าย การที่ท่านล่วงลับจากไปซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญนี้ มิใช่เฉพาะส่วนตัวหรือส่วนครอบครัวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของสังคมประเทศชาติ เพราะเนื่องด้วยฐานะของท่านที่ได้ดำรงมา ในการอดีตยาวไกลเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ของประเทศชาติไทยนี้
แม้มองแคบ ๆ การที่บุคคลซึ่งเป็นที่เคารพรักจากไปนั้น ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดโดยเฉพาะบุคคลในครอบครัว ลูกหลานก็ย่อมมีความเศร้าโศกอาลัยเป็นอย่างมาก ยิ่งท่านเป็นผู้ใหญ่ที่นับว่ามีสุขภาพดีแม้จะมีอายุถึง 95 ปีใกล้จะครบ 96 ปีบริบูรณ์แล้วก็ยังแข็งแรงอยู่ การที่ท่านจากไปในภาวะที่มีสุขภาพอย่างนี้ ก็ถือว่าเป็นการจากไปที่ค่อนข้างฉับพลันทันที คนที่อยู่ใกล้ชิดนี้หลายคนก็อาจจะทำใจได้ยาก ยิ่งมองกว้างออกไปว่า ท่านได้ดำรงชีวิตมายาวนาน และในชีวิตที่ยาวนานนั้นก็มีสถานะสำคัญเกี่ยวกับสังคมประเทศชาติ และก็ได้มีความสัมพันธ์กับผู้คนมากมายกว้างขวาง ได้ทำความดีบำเพ็ญประโยชน์ไว้มาก การล่วงลับจากไปของท่านผู้เช่นนี้ก็ยิ่งก่อให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจมาก เราจึงมาประกอบพิธีไว้อาลัยนี้ขึ้น ในทางพระศาสนานั้นการทำพิธีเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศผู้ล่วงลับอย่างหนึ่ง และในบรรดาวัตถุประสงค์ของการทำบุญเพื่อผู้ล่วงลับนั้น ซึ่งกล่าวไว้ว่ามี ๕ ประการ การจัดพิธีไว้อาลัยนี้ก็ถือได้ว่าตรงกับข้อที่ ๓ คือข้อที่ว่าบูชาท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว ความหมายนี้เป็นเรื่องที่น่าศึกษา อย่างไรก็ตามในที่นี้ ก็ต้องถือว่าเป็นน้ำใจที่ดีงามของท่านผู้มาร่วมประชุม ที่ว่าได้มาแสดงออกซึ่งความระลึกถึง ความระลึกถึงอย่างที่เราเรียกเป็นพิเศษในที่นี้ว่าไว้อาลัย
แต่ว่าคำว่าไว้อาลัยนี้ก็เป็นคำที่มีความหมายน่าสังเกต ซึ่งเราน่าจะมานึกว่าที่เรามาทำพิธีไว้อาลัยกัน ถ้าเรามองตามความหมายที่เข้าใจกัน แม้แต่ตามพจนานุกรมก็จะเป็นเรื่องของการแสดงความระลึกถึงด้วยความเสียดาย ขอพูดถึงความหมายของคำว่าอาลัยเล็กน้อย อาลัยนี้ตามที่มาใช้ในภาษาไทยพจนานุกรมของเราในภาษาไทยก็ย่อมให้ความหมายไปตามที่เราใช้กัน ก็ว่ามีความหมาย ๒ อย่างคือ ๑ ว่าห่วงใยพัวพันระลึกถึงด้วยความเสียดายเหมือนอย่างในกรณีนี้ ในที่นี้ก็คือเรามาทำพิธีไว้อาลัยเป็นการระลึกถึงด้วยความเสียดาย และอีกความหมายหนึ่งอาลัยนั้นแปลว่า ที่พักที่อยู่เช่นในคำว่า หิมาลัยก็แปลว่าที่อยู่ของหิมะ คือภูเขาที่เป็นแดนที่อยู่ของหิมะหรือ ชลาลัยที่อยู่ของน้ำก็ได้แก่ แม่น้ำ และ ทะเล เป็นต้น อันนี้เป็นความหมายที่มาใช้ในภาษาไทย แต่ถ้ามองลึกลงไปแล้วความจริง ความหมายทั้งสองนี้ก็อันเดียวกัน จะสังเกตเห็นว่าความหมายหนึ่งเป็นความหมายทางนามธรรม อีกความหมายหนึ่งเป็นความหมายทางรูปธรรม อาลัยที่แปลว่าห่วงใย พัวพัน ระลึกถึงด้วยความเสียดายนั้น เป็นความหมายทางนามธรรมทางจิตใจ และความหมายที่ว่าที่อยู่ที่พัก เป็นความหมายทางรูปธรรมชัดเจน แต่ ๒ อันนี้ที่จริงเป็นเรื่องเดียวกัน
โดยทั่วไปแล้วความหมายทางนามธรรมนี้ โดยเฉพาะในทางธรรมะมักจะสืบเนื่องหรือโยงต่อมาจากความหมายทางรูปธรรม คือเป็นความหมายทางรูปธรรมก่อน แล้วใช้ไปใช้มาก็ใช้ในความหมายทางนามธรรม นี้ความหมายทางรูปธรรมเมื่อกี้บอกว่า ที่อยู่ที่พัก เช่นที่อยู่ของน้ำ ที่อยู่ของหิมะ ถ้าเรามองกว้างออกไปเดี๋ยวจะเห็น ถ้าแปลให้กว้างอย่างภาษาพระก็บอกว่า อาลัยก็คือ ที่ติด ที่ข้อง ที่ขัง ที่ค้าง ที่พัก ที่อยู่ ที่อาศัย ในที่สุดก็คือแหล่งนั่นเอง ที่อยู่ที่อาศัยของน้ำ ก็แหล่งน้ำ ที่อยู่อาศัยของหิมะก็เป็นแหล่งหิมะแดนหิมะ ทีนี้ความหมายทางรูปธรรมนั้นพอโยงมาทางใจก็คือว่า เวลาเรามีอะไรอยู่ติดค้างในใจก็กลายเป็นอาลัยขึ้นในใจ สิ่งนั้นค้างอยู่ในใจของเราได้ เรามีความใฝ่มีความปรารถนาใจเราก็เลยเป็นที่ค้าง ที่ขัง ที่อยู่ของเรื่องนั้น สิ่งนั้น ที่เราใฝ่หาปรารถนาอย่างที่เราอาลัยในขณะนี้ จะเห็นว่าในที่สุดก็คือความหมายเดียวกัน อันนี้เรื่องที่อยู่ ที่อาศัย ที่ขัง ที่ค้าง ที่ข้อง ที่ติดแหล่งอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เรามาใช้ในทางนามธรรมในความหมายอย่างที่ว่าก็คือว่า สิ่งนั้นบุคคลนั้นยังค้างอยู่ในใจเรา เราก็ระลึกถึงด้วยความห่วงด้วยความปรารถนา ด้วยความอยาก อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นอยากจะให้ท่านยังอยู่ เป็นต้น ก็กลายเป็นความอาลัยไป นี้อาลัยในแง่ว่า ระลึกถึงด้วยความเสียดายนี้ เป็นแง่หนึ่งที่ใช้กันทั่วไป
เรามามองว่าเรามีทางมั้ยที่จะทำให้การไว้อาลัยเนี่ยมีความหมายที่ดีขึ้นไปกว่านี้ มิฉะนั้นแล้ว พิธีไว้อาลัยก็เป็นเพียงมาพบกันแล้วก็แสดงถึงความระลึกถึงคิดถึงท่านผู้ล่วงลับ แล้วก็จากไป เงียบหายกันไป ในเมื่อคำว่าอาลัยนะเป็น ที่อยู่ ที่ค้าง ที่พักแล้ว เราสามารถใช้ในทางที่ดีด้วย ในภาษาพระนะจะเห็นว่ามีเยอะ ในทางรูปธรรมเนี่ย ก็อย่างเมื่อกี้ว่า ชลาลัย หิมาลัย แล้วเราก็เคยได้ยิน เทวาลัย ที่อยู่ของเทวดา แล้วก็ง่าย ๆ ก็ชนาลัย ชนาลัยก็ที่อยู่ของผู้คนหรือชุมชนหมู่ชน เหมือนอย่างเรามาประชุมกันในที่นี้ สถานที่นี้จะเป็นสถาบันปรีดีพนมยงค์ก็กลายเป็นชนาลัยไป ขณะนี้สถานที่นี้ก็กลายเป็นชนาลัยของพวกเราแล้ว ก็คือเป็นที่มาประชุมมารวมกัน มาพักอยู่ด้วยกันของหมู่ชนนี่เป็นความหมายทางรูปธรรม หรือแม้แต่ สามเณราลัยก็เป็นที่อยู่ของสามเณร สมณาลัยก็เป็นที่อยู่ของสมณะ อันนี้ถ้าหากว่าเราไปดูในทางนามธรรม เราก็จะสามารถให้มีคำทางนามธรรม วิทยาลัยก็แปลว่าที่อยู่ของวิชาความรู้ คุณาลัยก็เป็นที่อยู่ของคุณธรรมความดี ธรรมาลัยก็เป็นแดนที่อยู่ที่พักที่อาศัยของธรรมะ
ทีนี้เรามาทำพิธีไว้อาลัยเราคงจะไม่ยอมให้แค่เป็นการระลึกถึงด้วยความเสียดาย แล้วก็จากกันไป แล้วก็หายไปเลือนลับหมดไป ถ้าเราก้าวไปสู่ความหมายที่สูงขึ้นไปเราก็จะจัดให้เกิดอาลัยขึ้นมา เป็นที่อยู่ที่พักของสิ่งที่ดีงามนั้นก็คือว่า ท่านผู้ล่วงลับไปโยมท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้มีประสบการณ์ในชีวิตอย่างที่ว่า ความเป็นมาเป็นไปในชีวิตของท่านนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของสังคมนี้หรือของประเทศนี้ เราก็มาทำให้เป็นอาลัยซะ ก็คือมาเป็น จัดเป็น ที่อยู่ที่พักที่เก็บรักษาประสบการณ์ประวัติของท่านไว้ แม้แต่เราเก็บไว้ในความทรงจำของเราก็เป็นอาลัยอย่างหนึ่งแล้ว แต่ว่าเราอาจจะมีวิธีในทางรูปธรรมที่เก็บไว้ให้ดี นอกจากประสบการณ์ประวัติความเป็นไปในชีวิตก็คือ คุณธรรมความดีที่ท่านได้บำเพ็ญไว้ เราก็ใช้อาลัยตัวนี้มาเป็นที่เก็บที่รักษาด้วยเช่นเดียวกันให้คงอยู่ที่ให้คงอยู่ระยะยาว จะเป็นประวัติประสบการณ์ หรือเป็นคุณธรรมความดีก็ตามนี้ มิใช่เพียงเพื่อในการระลึกถึงท่านผู้ล่วงลับ แต่ที่แท้นั้นก็เพื่อประโยชน์แก่สังคมนั้นเอง คือเราเก็บไว้เพื่อให้เป็นแบบอย่าง เป็นเครื่องเล่าเรียนหาความรู้เช่น ในเชิงประวัติศาสตร์ หรือเป็นแบบอย่างในทางคุณธรรมความดี เป็นต้น อันนี้ก็คือเกิดเป็นอาลัยขึ้นมา ซึ่งจะมีความหมายที่แท้จริง ตอนนี้ก็จะเป็นการไว้อาลัยในความหมายที่ ๒
ไว้อาลัยเมื่อกี้ที่เราพูดกัน ไว้อาลัยเนี่ยมันไม่ไว้นะคือมันอาลัยแล้วจบมันก็หายไปเลยแต่ถ้าอาลัยแบบที่ ๒ นี่มันไว้มันยังอยู่ เพราะฉะนั้นไว้อาลัยที่แท้น่าจะเป็นความหมายอย่างที่ ๒ ถ้าเราปฏิบัติตามความหมายอย่างที่ ๒ นี้จะเป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในทางพระพุทธศาสนา หรือวัตถุประสงค์ในทางธรรมะ เพราะว่าความอาลัยที่ระลึกถึงกันด้วยความเสียดายนั้น แม้จะเป็นเรื่องคุณธรรมความดี ที่แสดงถึงความเคารพรักแต่ในแง่หนึ่ง ก็เป็นความเศร้าโศกเสียใจซึ่งทางพระท่านก็จะสอนว่าให้เรารู้จักทำใจให้หายเศร้า หายโศก ให้ระลึกถึงคติธรรมดาของชีวิต เช่นพุทธภาษิตว่ามรณันตังหิชีวิตัง แปลว่าชีวิตมีความตายเป็นที่สุด อันนี้ก็เป็นภาษิตที่ง่ายที่สุด จะมีภาษิตที่ยาวที่กว้างขวางกว่านี้อีกมากมาย แต่รวมความก็คือว่า ให้เราเนี่ยรู้เท่าทันคติธรรมดา ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติอันแน่นอน เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เราไม่อาจจะให้เป็นไปตามความปรารถนาของเราได้ ซึ่งเราจะต้องรู้เท่าทัน เพราะฉะนั้นการไว้อาลัยในความหมายที่ ๑ ที่ระลึกถึงด้วยความเสียดายนั้นเราก็ต้องยอมรับความจริง แล้วก็เข้ามาถึงธรรมะในแง่ที่ยอมรับความจริงนั้น และทำใจได้เพื่อให้จิตใจของเราไม่ขุ่นมัวเศร้าหมองต่อไป แต่ต้องมานึกถึงในแง่กุศลว่าแล้วจะทำยังไงจึงจะเกิดประโยชน์จากการทำพิธีไว้อาลัยนี้ ก็คือการก้าวไปสู่การไว้อาลัยระดับที่ ๒ ให้เป็นการอาลัยไว้หรือไว้อาลัยอย่างแท้จริง ที่ว่ายังคงอยู่ให้ประสบการณ์ประวัติคุณธรรมความดีที่ท่านบำเพ็ญนี้ทำอย่างไรจะคงอยู่ เพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคมแก่คนอื่นสืบต่อไปในความหมายอย่างนี้แหละที่อาตมภาพกล่าวว่า มาสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการทำบุญอุทิศแด่ท่านผู้ล่วงลับ ที่ว่าเป็นวัตถุประสงค์ประการที่ ๓ คือการบูชาท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว การบูชานั้นแปลว่าการยกย่องเชิดชู ตลอดจนว่าเห็นคุณค่าแล้วเอามาเป็นแบบอย่าง
บูชานี้เป็นธรรมที่สำคัญมาก เราใช้กันมักจะใช้ในความหมายที่แคบเกินไปก็เป็นความดีที่เราใช้ในความหมายที่สูง คือยกขึ้นไปเป็นความหมายคล้ายว่า เหมือนกับขึ้นหิ้งไปเลยหรือขึ้นแท่นแล้วก็กราบไหว้บูชา แต่บูชาในภาษาพระนั้นมิใช่เท่านั้น อันนั้นอาจจะถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ บูชานั้นก็แปลว่ายกย่องเชิดชูนั่นเอง และใช้แม้แต่ในความหมายสามัญ ทีนี้ในภาษาพระนี้คำว่าบูชานั้นก็เป็นคำที่ใช้สามัญในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่นชายหนุ่มคนหนึ่งมีความขยันหมั่นเพียรมาก ได้ตั้งตัวได้มีเงินมีทองหาทรัพย์ได้จนเป็นเศรษฐีด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยสุจริตของตนเอง แล้วเรื่องก็ลงท้ายว่าพระราชาบูชาบุรุษนั้นด้วยตำแหน่งเศรษฐี เนี่ยคำว่าบูชานี้ก็คือยกย่องเชิดชูนั้นเอง นี้คนใดที่ทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ไว้ก็ควรได้รับการยกย่องเชิดชู ท่านเรียกว่าบูชา บูชาก็มีความหมายมิใช่เฉพาะว่าไปบูชายกย่องคนนั้นเท่านั้น แต่ว่าเรามองให้ลึกลงไป บูชาคนดีก็คือบูชาความดีที่มีในตัวคนดีหรือบูชาความดีที่ทำให้เขาเป็นคนดี เพราะฉะนั้นจุดหมายปลายทางของการบูชาคนดีก็คือบูชาธรรมะที่ทำให้คนเป็นคนดี หรือธรรมะที่มีในคนนั้นนั่นแหละ
ถ้าหากว่าสังคมมนุษย์ยังเชิดชูคนดี ซึ่งหมายถึงเชิดชูความดียังเชิดชูธรรมะอยู่ สังคมนั้นก็มีหลักและมีทางที่จะเจริญมั่นคงต่อไปได้ แต่สังคมใดไม่เชิดชูบูชาคนดีไม่ยกย่องคนดี สังคมนั้นก็เสื่อม เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ แม้แต่ในมงคลสูตรซึ่งอยู่ในมงคลข้อต้น ๆ ข้อที่ ๓ ว่าปูชาจะปูชนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง แปลว่าการบูชาคนที่ควรบูชาเป็นอุดมมงคล หรือเป็นมงคลอันสูงสุด นี่แหละ คือคติที่เตือนให้สังคมมนุษย์นี้ได้เชิดชูบูชาคนดี ยกย่องคนดีไว้ เวลานี้ปัญหาสำคัญมากของสังคมก็คือ เราจะเสียหลัก เราไม่บูชาคนดีไม่ยกย่องคนดี ก็คือไม่บูชาธรรม ไม่เคารพธรรม ไม่ยกย่องเชิดชูธรรม เมื่อสังคมไม่เอาธรรมะเป็นหลักไม่นับถือธรรมไม่ให้ความสำคัญแก่ธรรมแล้ว สังคมนั้นเองก็จะเสื่อมสลาย ฉะนั้นเรื่องของการบูชาบุคคลที่ล่วงลับนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญด้วย เมื่อท่านผู้ใดล่วงลับไปก็มีการทำพิธี ซึ่งในการทำพิธีนั้นความประสงค์หรือวัตถุประสงค์ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การบูชาท่านผู้ล่วงลับนั้น ซึ่งเราอาจจะพูดให้ยาวขึ้นว่าบูชาคุณของท่านผู้ล่วงลับ เพราะว่าท่านผู้ล่วงลับนั้นก็จะมีคุณธรรมมีความดี หรือมีพระคุณที่ได้กระทำไว้ต่อบุคคลที่ยังอยู่อย่างน้อยก็ในครอบครัวอย่างน้อยลูก ๆ ก็มาบูชาคุณความดีของคุณพ่อคุณแม่ ว่าท่านได้ทำความดีเอาไว้แล้วคุณความดีที่ทำไว้นี้ก็จะเป็นแบบอย่าง แต่ว่าเราจะต้องมองเห็นด้วยไม่ใช่ไปทำสักแต่ว่ามันเป็นพิธี ก็คือจะต้องอย่างที่บอกเมื่อกี้ว่ามองเห็นคุณค่า และนับถือเอามาเป็นแบบอย่างก็คือ ต้องเจาะให้ได้ว่าอะไรเป็นคุณธรรมความดีของท่าน ที่เราควรจะนำมายึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างต่อไป นี้บุคคลที่อยู่ในสังคมนี้ก็มีคุณธรรมความดีหรือประโยชน์ที่ได้บำเพ็ญไว้แก่ผู้คนทั้งหลายเนี่ย ในวงแคบ-กว้าง กว้างขวางบ้าง ต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นการทำวิธีบูชาคุณผู้ล่วงลับนี้ ก็อยู่โดยสอดคล้องก็เป็นไปโดยสอดคล้องกับสถานะของบุคคลนั้น แต่รวมแล้วก็คือว่าเป็นการบูชาคุณความดีนั้นเอง
ก็คือสาระสำคัญจะต้องมายกย่องเชิดชูคุณความดี หรือธรรมะนี้ซึ่งเมื่อปฏิบัติกันอย่างนี้ต่อไปก็จะเป็นแนวทางของสังคม ที่จะให้สังคมได้มีหลักยึดถือทำให้เราเนี่ยพากันยึดถือธรรมะเป็นใหญ่ นับถือธรรม นับถือธรรมะที่ทำให้คนเป็นคนดี และนับถือคนดีนั่นเอง และการที่เรามาบูชาคนดีที่ท่านล่วงลับไปนั้น นอกจากเป็นการประกาศเกียรติคุณของท่าน ความหมายที่เกิดขึ้นประโยชน์อันแรกก็คือตัวคนแต่ละคนที่มาร่วมพิธีบูชานั้นเมื่อเข้าใจหลักการนี้แล้ว มองเห็นคุณค่าประโยชน์ความดีที่ท่านได้บำเพ็ญ ตนเองก็จะได้ระลึกถึงอะไรที่จะเอาไปเป็นแบบอย่างก็จะได้นำไปเป็นแบบอย่าง หรือแม้แต่ไปเผยแพร่ ถ้าเป็นสังคมส่วนรวมก็จะได้ช่วยกันประกาศความดีนี้ให้กว้างขวางออกไป
ในวันนี้เรามาทำพิธีไว้อาลัยอย่างที่กล่าวเบื้องต้น เมื่อโยงเข้ามาในความหมายนี้ก็จึงเป็นการบูชาคุณความดีของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ซึ่งท่านได้บำเพ็ญไว้แล้ว คุณความดีของท่านนั้นก็ย่อมมีเป็นอเนกประการ เราไม่สามารถจะมาพูดบรรยายกันในที่นี้ได้ แต่ว่าที่นับว่าประจักษ์ชัดตั้งแต่คนใกล้ชิดเป็นต้นไปในประวัติของท่านนี่ เราจะเห็นอันหนึ่งก็คือความเข้มแข็ง
ท่านผู้หญิงเป็นคนที่นับว่าเข้มแข็ง ชีวิตของท่านได้ผ่านความทุกข์ยาก ผจญภัยอันตราย อย่างที่เรียกว่าถึงขั้นลำเค็ญชนิดที่ทั้งหนักและนาน แล้วท่านก็ทนได้ นอกจากทนได้ก็คือเป็นอยู่ผ่านมาได้ แต่ว่าเป็นอยู่ผ่านมาได้เท่านั้นเราคงไม่พอใจ ข้อสำคัญก็คือว่าเป็นอยู่มาได้ด้วยดี โดยยังสามารถรักษาตนให้อยู่ในความดีได้ด้วย อันนี้สิสำคัญคือถ้าเพียงเป็นอยู่ได้รอดมา ก็เป็นเพียงขั้นต้น ยังไม่แน่ แต่ว่าอยู่มาแล้วก็อยู่มาได้ในความดีอีก อยู่ในความถูกต้องรักษาความถูกต้องไว้ได้ อันนี้ก็เป็นข้อที่เป็นความเข้มแข็งที่สำคัญนอกจากรักษาตัวของท่านให้ผ่านมาได้ ก็คือรักษาคนที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ โดยเฉพาะก็ครอบครัวที่ใกล้ชิดที่สุด ครอบครัวของท่านดูก็เป็นครอบครัวที่แม้จะไม่ใหญ่นักก็เป็นครอบครัวที่ปานกลางหรือค่อนข้างใหญ่ แม้จะผ่านความทุกข์ยากลำเค็ญยังไงก็ตามก็อยู่กันมาได้
นอกจากนั้นยังมีความสามัคคีในครอบครัว อยู่กันได้ดี มีความรัก ความเคารพ และก็นับถือบิดามารดาเป็นบุคคลที่เคารพบูชาเป็นแบบอย่าง อันนี้ก็ถือได้ว่าเป็นครอบครัวที่ดำรงตนมาได้ ผ่านภยันตรายมาโดยสวัสดิภาพ แล้วก็ยังดำรงอยู่ในความถูกต้องดีงามได้ด้วย ก็เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา แต่ว่าอันนี้การที่ครอบครัวอยู่ได้ก็ย่อมโยงไปถึงหรือเล็งไปถึงคุณสมบัติของท่านผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว คือบิดามารดาที่ได้ทำหน้าที่ตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ก็คือหนึ่งเป็นพระพรหมของลูก เป็นผู้แสดงโลกแก่ลูกในทางที่ถูกต้อง แล้วก็มีคุณธรรม เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในพรหมวิหารอย่างถูกต้อง พร้อมกันนั้นก็เป็นบูรพาจารย์ เป็นอาจารย์คนแรกของบุตร ซึ่งท่านได้แนะนำสั่งสอนต่าง ๆ เป็นครูที่สำคัญอย่างยิ่ง แล้วในที่สุดก็เป็นอาหุไนยบุคคล คือที่เราเรียกในภาษาไทยว่าเป็นพระอรหันต์ของลูก ก็คือเป็นผู้มีคุณธรรม มีความดี เป็นผู้มีความรัก เป็นต้น ที่บริสุทธิ์ใจต่อลูก ความดีอันนี้ก็เลยทำให้เป็นบุคคลที่น่าบูชา
นี้ครอบครัวดีโยงไปถึงพ่อแม่ที่ดีอันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะครอบครัวที่ดีนั้นเป็นรากฐานของสังคมใหญ่ ถ้าครอบครัวดีก็จะทำให้สังคมใหญ่นี้เป็นปึกแผ่นมั่นคงได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าจะยกขึ้นมาให้เป็นแบบอย่างได้อย่างหนึ่ง แล้วต่อจากนั้น นอกจากรักษาตัวรักษาครอบครัวก็รักษาเกียรติของท่านรัฐบุรุษผู้เป็นสามีไว้ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะดังที่กล่าวแล้วว่าประวัติของท่านทั้งสองท่านนี้ ผ่านความระหกระเหินความลำบากยากเข็ญมามากมาย และตัวท่านเองท่านผู้หญิงฯ เนี่ยนอกจากรักษาตัวท่านจะต้องรักษาเกียรติยศของสามี โดยเฉพาะสามีดำรงสถานะที่สำคัญของประเทศชาติตลอดจนกระทั่งกว้างออกไป แม้แต่ในโลกอย่างปัจจุบันก็บอกว่า ยูเนสโก้ก็ได้ยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกแล้วเนี่ย ท่านผู้หญิงฯ ก็เลยมีภาระผูกพันหรือหน้าที่จะต้องรักษาเกียรติยศของสามีไว้ด้วย แล้วท่านก็มีความสามารถที่จะรักษาไว้ได้ ก็เป็นความดีประการนึงแล้วต่อจากนั้นกว้างออกไปก็คือ รักษาเกียรติยศของสังคมประเทศชาติ ยิ่งตนเองดำรงอยู่ในสถานะใหญ่โต เช่นว่าเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นภริยาของนายกรัฐมนตรี เป็นภริยาของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อะไรเป็นต้น รวมแล้วก็คือเป็นสถานะที่สำคัญต่อประเทศชาติสังคม แม้แต่ว่าในวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะต้องรักษาเกียรติยศความเป็นไปของส่วนตัวนี้ กลายเป็นเกียรติยศของประเทศชาติด้วย เมื่อท่านรักษาตัวได้ดีก็เท่ากับรักษาเกียรติยศของประเทศชาติสังคมเช่นเดียวกัน ก็นับว่าท่านผู้หญิงฯ ก็ได้รักษาเกียรติยศของสังคมประเทศชาตินี้ไว้ได้ด้วย เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเป็นความเข้มแข็งของท่านที่ได้ประกาศออกมาให้ปรากฏในการที่ได้สามารถรักษาทั้งตัว ทั้งครอบครัว ทั้งเกียรติยศของท่านรัฐบุรุษอาวุโส เกียรติยศของสังคมไทยไว้ได้ และรวมทั้งหมดนี้รักษาไว้ได้ก็เพราะรักษาธรรมนั้นเอง
การที่จะให้เกียรติยศตั้งแต่ตนเองเป็นต้นไปนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยดี ก็ต้องมีธรรมะก็คือต้องรักษาธรรมะ เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ที่กล่าวมาก็คือการที่ท่านรักษาธรรมะ เมื่อบุคคลใดรักษาธรรมะก็มีธรรมะอยู่ในตัวก็เป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชา ก็มาเข้าตรงนี้เมื่อเป็นบุคคลที่ควรบูชาจึงเป็นหน้าที่ของสังคมที่ว่าจะให้สังคมมีหลัก และดำรงอยู่ได้ดีเนี่ยเราจะต้องยกย่องคนดีหรือยกย่องความดีที่มีในตัวคนนั้น จุดหมายก็อยู่ที่นั่น แล้วก็เมื่อถึงโอกาสเราก็มาเอาความดีนี้ออกมาแสดงมาชี้แจงกัน จุดมุ่งหมายก็เพื่อประโยชน์แก่สังคมนั่นแหละ หรือแม้แต่ตั้งแต่ตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาร่วมพิธี เป็นต้น นี้เป็นต้นไปจะต้องได้รับประโยชน์อันนี้ ถ้ามิฉะนั้นก็คงไม่เข้าถึงสาระของการทำพิธีไว้อาลัยที่ว่า เป็นการบูชาบุคคลที่ควรบูชาซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการประกอบพิธีอย่างที่กล่าวนี้ ซึ่งทำอุทิศแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว เมื่อเรามาบูชาบุคคลที่ควรบูชากันอย่างนี้ก็ถือว่าเรานี้ได้ทำหน้าที่ต่อสังคมเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าในเมื่อเราทำต่อท่านผู้ล่วงลับนี้ เราก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติทางสังคม การปฏิบัติ หรือเรียกว่าปฏิบัติการทางสังคมหรือหน้าที่ต่อสังคมนี้จะต้องมีความหมายในทางธรรมให้ชัดออกมา เราจะต้องให้เห็นชัดว่า อ๋อ! นี่คือตัวธรรมะที่เราได้ปฏิบัติในโอกาสนื้ คือการบูชาคนที่ควรบูชา ยกย่องเชิดชูธรรมะ ยกย่องเชิดชูความดีแล้วก็จะได้เป็นหลักของสังคมต่อไป
บุคคลที่ควรบูชาเมื่อเรารักษาไว้ได้ก็จะได้เป็นแบบอย่างของสังคม ก็มีแบบอย่างที่จะได้นับถือแล้วนำไปปฏิบัติ เรามีคนดีไว้เป็นแบบอย่างมากเท่าไรสังคมก็มีทิศทางเดินไปในทางที่ดีเท่านั้น ขณะนี้สังคมของเราเนี่ยน่ากลัว กำลังจะไม่มีทิศทาง กำลังจะเลื่อนลอย ขาดหลัก ไม่เพียงจำเพาะจะไปถึงธรรมะ แม้แต่ไปเจอแค่คนดีก็ชักจะไม่ค่อยเจอชัด นี้พอไปถึงคนดีแล้วก็คนดีนี่เป็นรูปธรรมที่จะไปตื่นตัวแสดงเป็นประจักษ์พยาน เป็นหลักฐานที่จะโยงเราเข้าไปหาตัวธรรมะเป็นตัวความดีอีกทีนึง เพราะฉะนั้นความดีเนี่ย เอ้ย! บุคคลดีหรือคนดีนี่เป็นสื่อถึงธรรมะ หรือตัวความดีนั้นเอง นี่ก็เป็นเรื่องของสังคมซึ่งเราควรจะประกอบพิธีนี้ให้ได้สาระที่แท้จริงอย่างที่กล่าวมานี้ แต่ว่าทั้งนี้ก็เลยเกิดเป็นหน้าที่ของแต่ละบุคคลละ ตอนนี้ในเมื่อแต่ละคนมาแล้วเราบอกว่าเราทำหน้าที่ทางสังคม สังคมกำลังทำพิธีที่แสดงถึงการเชิดชูธรรม เชิดชูคนดีเนี่ยก็คือแต่ละคนนี้จะต้องมีจิตสำนึกอันนี้อยู่ ก็คือจิตสำนึกที่จะเชิดชูธรรมะ เชิดชูคนดีต้องมีอยู่ในตัวทุกคน นี่จิตสำนึกอันนี้ก็คือจิตสำนึกต่อสังคม
จิตสำนึกต่อสังคมนี้มันก็มองได้ ๒ อย่างคือ มองจากตัวเองออกไป มองที่ตัวเองกับมองที่ผู้อื่น ถ้าอย่างนี้แล้วเราก็แยกเป็นสอง การที่เรามองในแง่ว่ามาทำการบูชาคนที่ควรบูชาลึกลงไปถึงความหมายถึงว่า บูชาธรรมะ บูชาความดีในคนดีเนี่ยเป็นการแสดงออกของเราต่อผู้อื่น ซึ่งเป็นหน้าที่ต่อสังคมอย่างหนึ่ง แต่ที่นี้ตัวเราล่ะ ตัวเราไม่ใช่แค่ว่าเอาอย่างคนดีเท่านั้นแต่ว่าเราจะต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างในทางที่ดีต่อไปด้วย เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนนักในหลักการนี้ซึ่งเราเรียกได้ว่าเป็นคู่กัน ก็คือจิตสำนึกของแต่ละคนที่เป็น ๒ ด้าน ด้านตนเองก็มีหน้าที่โดยเฉพาะท่านที่เป็นผู้ใหญ่จะต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่าง ศัพท์พระนี่ท่านถือเป็นสำคัญ พระพุทธเจ้าก็ตาม พระสาวกผู้ใหญ่เนี่ยจะมีคติอันนี้ก็คือเริ่มต้นด้วยว่าคำนึงถึงหมู่ชนผู้จะเกิดตามมาภายหลัง อันนี้เป็นศัพท์ทางพระขอบอกภาษาบาลีเลย ท่านใช้คำว่าปัจฉิมาชนัตตา มีใจอนุเคราะห์หรือหวังดี หวังประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง หรือปัจจุบันเราอาจจะใช้คำว่าอนุชน หวังดีต่อคนรุ่นหลังแล้วก็ประพฤติตนให้เขาถือเป็นทิฏฐานุคติได้ วันนี้ให้ศัพท์พระมากหน่อย จะต้องให้สังคมนี้มีทิฏฐานุคติ ก็คือแบบอย่างนั่นเอง ตัวอย่างที่ดีที่เขามองเห็น ว่าคนเราจะเอาธรรมะเป็นนามธรรมทีเดียวนี่ยาก ก็เลยต้องเอาตัวคนที่เป็นรูปธรรมที่เป็นตัวอย่างมองเห็น ๆ กันเนี่ยมาเป็นเครื่องยึดถือเป็นแบบอย่างที่จะปฏิบัติตาม เราเรียกกันปัจจุบันก็คือ ตัวอย่างที่เห็น ๆ เพราะคำทิฏฐานุคติก็มาจากคำว่าทิฏฐอนุคติ อนุคติก็แปลว่าดำเนินตาม ทิฏฐคือสิ่งที่มองเห็นหรือตัวคนที่มองเห็น เดินตามคนที่มองเห็น นี้ถ้าไม่มีตัวคนที่มองเห็นให้เดินตาม สังคมนี้แย่แล้ว
ตอนนี้เราก็ต้องมาถามว่า เรามีตัวคนที่จะเป็นที่เดินตามมั้ย ถ้ามีก็อุ่นใจได้หน่อยนึง งั้นทุกคนมีหน้าที่อันนี้อันที่ ๑ ก็คือว่าต้องประพฤติตนที่จะให้เป็นแบบอย่างแก่สังคม โดยเฉพาะด้วยหวังประโยชน์กับคนรุ่นหลังแล้วก็เฉพาะอย่างยิ่ง ท่านผู้เป็นผู้ใหญ่จะต้องยึดถือหลักอันนี้ แล้วก็คู่กันอันที่ ๒ แง่ที่ ๒ ก็คือด้านมองที่ผู้อื่น เมื่อกี้มองที่ตัวเอง มองที่ผู้อื่นก็คือการที่ว่าจะต้องช่วยกันเชิดชูบูชาบุคคลที่มีความดี จนกระทั่งถึงกับบูชาธรรมะอย่างที่กล่าวมาแล้วถ้า ๒ อันนี้ได้แล้วก็ครบ สังคมนี้ก็ดำเนินไปได้ด้วยดี สังคมก็สืบต่อไปในคุณธรรมความดี ธรรมะก็ดำรงอยู่คู่สังคมได้ ก็ต้องให้เรามาสำรวจสังคมปัจจุบันของเราว่าสังคมของเราเนี่ยมี ๒ ด้านนี้มั้ย ก็คือมีทั้งคนที่ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่จะเป็นแนวทางที่จะดำเนินตามกันชนิดมองเห็น ๆ แล้วก็ ๒ ก็คือสังคมนี้มีความยกย่องเชิดชูคนดีหรือไม่ จนกระทั่งลึกลงไปก็คือเชิดชูธรรมะ หรือเชิดชูความดีนั้นเอง
วันนี้เราได้ยกตัวอย่างเรื่องคุณธรรมความดีที่สำคัญมาเป็นอุทาหรณ์ ก็คือเรื่องความเข้มแข็งและเป็นความเข้มแข็งในธรรมะ หรือความเข้มแข็งในความดี อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่า เข้มแข็งในธรรมะในการดำรงรักษาความดีก็คือรักษาธรรม เพราะดำรงรักษาธรรมแล้วเป็นไง รักษาธรรมแล้วก็จะเข้าคติพุทธภาษิต มีพุทธภาษิตบทหนึ่งบอกว่า ธัมโมหเว รักขะติธัมมะจาริง แปลว่า ธรรมนั่นแลรักษาผู้ประพฤติธรรม ปรากฏว่าตามประวัติของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ยึดถือพุทธภาษิตข้อนี้ พูดอีกทีหนึ่ง เพราะว่าท่านเอง ท่านพูดบ่อยมากคือพุทธภาษิตว่า ธัมโมหเวรักขะติ ธัมมะจาริง แปลว่าธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ที่นี้ท่านรักษาธรรมก่อน ก็ท่านรักษาธรรม ธรรมก็รักษาท่านสิ ใช่มั้ย ที่ว่า ธรรมนั้นแลรักษาผู้ประพฤติธรรม ก็คือรักษาผู้ประพฤติรักษาธรรมนั่นเอง หรือรักษาผู้ประพฤติธรรมรักษาธรรมเมื่อเราประพฤติธรรมรักษาธรรมธรรมะก็รักษาเรา ก็เหมือนกับทหารเนี่ย ทหารรักษาป้อมไว้ได้ป้อมมันก็รักษาทหารไว้ได้ หรือกองทัพรักษาฐานที่มั่นไว้ได้ฐานที่มั่นก็รักษากองทัพไว้ได้อันนี้ธรรมะก็เช่นเดียวกัน แล้วธรรมะยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ ไม่ใช่แค่กองทหาร ไม่ใช่แค่ฐานทัพ ไม่ใช่แค่กองทัพเท่านั้น เป็นของจริงในธรรมชาติที่ยั่งยืนเป็นของแท้ที่แน่นอน เพราะฉะนั้นเมื่อเรารักษาธรรมะธรรมะก็รักษาเรา อันนี้ก็เป็นหลักเป็นคติธรรมดาอันนี้เราก็มายึดถือว่าจะต้องมาช่วยกันรักษาธรรม รักษาธรรมแล้วถ้าเป็นบุคคลรักษาธรรม ธรรมะก็รักษาคนนั้น ถ้าเป็นสังคม สังคมรักษาธรรม ธรรมะก็รักษาสังคมนั้นไว้ให้เอง
นี้ธรรมะข้อหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้เรารักษาธรรมะได้ก็คือ ความเข้มแข็งที่จะตั้งตัวมั่นอยู่ในธรรมะอันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่มาก ความเข้มแข็งนี้เป็นสิ่งที่ต้องการ แล้วเวลานี้เราต้องการให้สังคมเข้มแข็ง เราพูดกันนักว่าให้ชุมชนเข้มแข็งครอบครัวเข้มแข็ง นี้เราจะให้ครอบครัวสังคมชุมชนเข้มแข็งได้อย่างไร ก็ต้องให้ชุมชนครอบครัวสังคมนั้นเข้มแข็งในธรรมะนั่นเอง ยืนหยัดตั้งมั่นอยู่ในธรรมะได้ตั้งมั่นอยู่ในความดี ถ้าเราตั้งมั่นอยู่ในธรรมะ ตั้งมั่นอยู่ในความดีได้ก็แน่นอนว่า นั่นคือว่าเรารักษาธรรมะซึ่งจะเป็นเหตุให้ธรรมะมารักษาเรา และรักษาสังคมของเราต่อไปนี้ความเข้มแข็งนี้ปัจจุบันเป็นเรื่องที่จะต้องเน้นย้ำกันมาก เพราะมองไปแล้วสังคมไทยของเรานี้เวลานี้ดูคล้ายว่าจะอ่อนแอมาก อ่อนแออะไร? อ่อนแอไปตามกระแสต่าง ๆ มีกระแสอะไรมาก็ไหลไป เป็นคนที่หล่นกระแสได้ง่าย พลัดเดี๋ยวก็กระแสอะไรมาก็หล่นไปแล้ว หล่นแล้วก็ถูกกระแสนั้นฉุดลากกระชากไป พัดพาเลื่อนลอยไป ทิศต่าง ๆ จะเคว้งคว้างไม่มีทิศทางของตัวเอง ไม่มีจุดหมาย ฉะนั้นสังคมอย่างนี้ก็ไม่ไหว ไม่มีความเข้มแข็ง แล้วจะสร้างสรรค์ตัวเองให้แม้แต่ยืนหยัดตั้งอยู่ได้ ก็ไม่ได้ จะก้าวหน้าไปไม่ต้องพูดถึง ฉะนั้นจะต้องมีความเข้มแข็งนี้ก่อน เวลานี้เราจึงต้องมาพูดกันว่าเราจะต้องทำให้คนในสังคมของเรานี้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้สังคมมีความเข้มแข็ง เราจะต้องบอกทุกคนว่าจะต้องช่วยสังคมนี้ เวลานี้ต้องเตือนกันแน่นอนว่าทุกคนต้องช่วยสังคมนี้ จะช่วยอย่างไรทุกคนช่วยได้เริ่มต้น ๑ อย่าคิดแต่จะได้จะเอาต้องคิดให้บ้าง เวลานี้ความโน้มเอียงเป็นไปในทางที่จะได้จะเอา มองอะไรก็นึกถึงตัวเองก่อนว่าจะได้อะไร เปลี่ยนทิศทางการคิดบ้างว่าให้ คิดจะให้ แล้วการให้นั้นไม่จำเป็นจะต้องให้แค่วัตถุ บางทีบางคนไม่มีวัตถุไม่มีเงินจะให้ให้อะไรได้บ้าง ให้กำลังก็ได้ ให้ความมีส่วนร่วมก็ได้ ให้ส่วนร่วมในเรื่องการทำความดีในสิ่งที่ดี ในการสร้างสรรค์ให้กำลัง อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ บางครั้งมันสำคัญยิ่งกว่าการให้วัตถุให้เงินทองด้วยซ้ำไป เรามีความสามารถมีสิ่งที่จะให้ได้แก่สังคมนี้เราต้องช่วยกันให้ แล้วที่ให้ได้สำคัญก็คือให้อันนี้แหละ ก็ให้กำลังก็คือความเข้มแข็งของเรา เพียงแต่เรามีความเข้มแข็งเราก็ให้กำลังให้ส่วนร่วมกับสังคมนี้แล้ว เราก็ร่วมสร้างสังคมนี้ แล้วบอกว่าเราจะยอมแก่ความอ่อนแออะไรก็ตามที่จะทำให้เราอ่อนแอเราไม่ยอม ตั้งใจไว้อย่างนี้ในกระแสความอ่อนแอมาแล้วเราไม่ยอมตาม เราก็เรียกว่าตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ไม่ประมาทก็คือไม่ยอมปล่อยตัว ไม่ยอมปล่อยตัวให้หล่น ให้พลัดหลุดลงไปในกระแสกระแสอะไรกระแส ๑ กระแสรวยทางลัด หวังลาภลอย คอยผลดลบันดาล หรือว่ารวยลัด ลาภลอย นอนคอยโชคอันนี้เป็นมาก สังคมไทยถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเป็นน่าเป็นห่วง เพราะนี่คือความอ่อนแออย่างยิ่ง คืออยากจะได้โดยไม่ต้องทำ ไม่มีความเพียรพยายามที่จะทำอะไรให้สำเร็จด้วยตนเอง
สังคมที่จะเข้มแข็งมันก็มาจากแต่ละคนที่เข้มแข็งแต่ละคนมีความเพียรพยายามที่จะทำการให้สำเร็จ ด้วยความเพียรของตนเองแน่นอนว่าความเข้มแข็งก็เกิดขึ้นมา เมื่อตัวเองเข้มแข็งแล้วก็แต่ละคนเข้มแข็งนี่แหละสังคมก็เข้มแข็งกระแสที่ ๑ นี้จะต้องไม่ยอม พอกระแสนี้มาเราบอกว่าฉันไม่ยอมแก่ความอ่อนแออะไรก็ตามที่จะทำให้อ่อนแอไม่ยอม ลัทธิรอผลดลบันดาลอันนี้น่ากลัวมากสำหรับสังคมไทย ต่อไปกระแสที่ ๒ อ้อขอแทรกนิดนึง ในกระแสที่ ๑ นี่แหละมันมีอีกกระแส ๑ ซ่อนมาด้วย มันมาด้วยกัน ควบกันมาเลยก็คือกระแสตื่นตูม เพราะว่าอะไรตื่นตูมขึ้นมาก็เป็นเรื่องของการได้ลาภลอย นอนคอยโชคไปตามกระแสนั้น ตื่นตูมได้ง่าย อันนี้ก็น่ากลัวมากแสดงว่าเป็นคนไม่หนักแน่นไม่ใช้ปัญญาไม่ใช้เหตุผลพิจารณากระแสที่ ๑ รวมกระแสที่ ๒ เข้าด้วยกันก็เป็นกระแสอะไร เป็นกระแสรวยทางลัด หวังลาภลอย นอนคอยโชค หรือลัทธิรอผลดลบันดาลพร้อมด้วยกระแสความตื่นตูม
ต่อไปกระแสที่ ๒ กระแสใหญ่ก็คือกระแสบริโภคนิยม หรือกระแสลัทธิเสพบริโภคเห็นแก่การเสพ เห็นแก่การบำรุงบำเรอเห็นแก่การหลงเพลิดเพลินมัวเมาบำรุงบำเรอปรนเปรอต่าง ๆ เอาง่ายเข้าว่า อยากจะได้ฝ่ายเดียว อันนี้ก็เป็นที่มาของความที่เอาแต่ได้เพราะเมื่อเราติดในลัทธิบริโภคนิยม เอาแต่เสพบริโภคคิดจะบำรุงบำเรอตัวเองมันก็คิดเอาแต่ได้อย่างเดียวไม่คิดจะให้ งั้นเราแก้นิสัยคิดจะให้ซะ แล้วก็มาช่วยแก้นิสัยไม่ให้ตกกระแสอันนี้ได้ง่ายด้วย ก็เป็นคนเข้มแข็งขึ้นมา นั้นเราจะต้องมาช่วยกันแก้ปัญหาเหล่านี้อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับสังคมไทยในขณะนี้ จะต้องสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาสร้างความเข้มแข็งขึ้นมานี้ก็คือ เราก็ยืนหยัดอยู่ได้ในธรรมะนั่นเองก็คือ ความเข้มแข็งที่จะรักษาธรรมะไว้ได้ ถ้าเราไม่เข้มแข็งที่จะรักษาธรรมะแล้วเราจะรอให้ธรรมะมารักษาเราได้ยังไง เมื่อเราตกลงมีความเข้มแข็งรักษาธรรมะ ธรรมะก็รักษาเราและรักษาสังคมของเราไว้ได้ สังคมก็จะเจริญเป็นปึกแผ่นมั่นคงต่อไป แล้วรวมกันก็จะเอาไอ้ความเข้มแข็งต่าง ๆ มารวมกัน แล้วถ้ามีจุดหมายขึ้นมาก็เกิดเป็นความสามัคคี ความเข้มแข็งแต่ละคนที่จะยืนหยัดในความดี ในธรรมะ ในการที่จะก้าวไปในความดีในการสร้างสรรค์ต่าง ๆ เนี่ย จะเกิดเป็นความสามัคคีขึ้น ในเมื่อมารวมกันจะรวมกันอย่างไร
สามัคคีนั้นมีความหมายว่า มีจุดรวมหรือมียอดเดียวกันมียอดร่วม อัคคะตัวนั้น สามัคคี ก็ง่าย ๆ สัง แยกศัพท์ให้ก็ได้ สัง แปลว่าร่วม อัคคะ แปลว่า ยอด แล้วก็ไปทำตามวิธีไวยากรณ์เป็นนาม เป็นสามัคคี ความที่คนเนี่ยมีจุดหมายร่วมหรือมียอดรวมกัน ยอดรวมก็คือจุดหมายนั่นเองแต่ว่าต้องเป็นจุดหมายที่เป็นธรรม ถ้าสังคมนี้มีจุดหมายดีที่เป็นธรรม เป็นจุดรวมกันแล้วเรามีความเข้มแข็งแต่ละคนมารวมกันก็เกิดความสามัคคี สังคมนั้นก็เจริญก้าวหน้าได้แน่นอน
เวลานี้เราพูดกันนักถึงคำว่าสะ มา นะ ฉัน หรืออ่านว่าสะ หมาน นะ ฉัน พจนานุกรมบอกว่าอ่านได้ทั้ง 2 อย่างจะอ่านว่าสะ มา นะ ฉัน หรืออ่านว่าสะ หมาน นะ ฉัน ก็ได้ ที่นี้สมานฉันท์เนี่ยกล่าวได้ว่าเวลานี้เรายังคลุมเครือ พร่ามาก สมานฉันท์มาจากสมานะ + ฉันท์ ฉันทะแปลว่าความพอใจที่จะทำ ถ้าไม่มีอะไรจะทำจะเรียกสมานฉันท์ไม่ได้ เพราะว่าฉันทะนั้นเป็นความพอใจที่จะทำ หรือความอยากจะทำ แล้วเมื่อความอยากจะทำหรือพอใจจะทำนี้มันมาตรงกัน สมานะตรงกันเสมอกันเท่ากันจึงเรียกว่าสมานฉันท์ ก็คือมีความพอใจที่จะทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งตรงกัน ใช้ได้ทั้งทางดีและทางร้ายยกตัวอย่างเช่น โจร โจรมีสมานฉันท์ในการปล้นก็จะมีทางปล้นได้สำเร็จ ถ้าโจรไม่มีสมานฉันท์ในการปล้น ความพอใจอยากจะทำการปล้นไม่ตรงกัน มันก็ปล้นได้สำเร็จได้ยาก แต่ถ้าโจรมีสมานฉันท์ก็ปล้นได้ดี อันนั้นใช้ในทางร้าย ใช้ในทางดีก็เช่นเดียวกันเช่น พระโพธิสัตว์นี้นำหมู่คนที่นับถือนี้ทำบุญโดยมีสมานฉันท์หรือว่า คนเหล่านั้นมีสมานฉันท์กับพระโพธิสัตว์ในการทำบุญตั้งแต่ สร้างถนน ขุดบ่อ สร้างสะพาน จัดพาหนะให้คนไปนู่นไปนี่ อย่างสังคมไทยโบราณ เราทำบุญแบบนี้กันเยอะ คนไทยปัจจุบันนี้ลืม คนไทยสมัยก่อนที่ว่ามีน้ำใจเนี่ยเขาทำบุญกันตั้งแต่ขั้นนี้เลย แต่ว่าสร้างสะพาน สร้างถนน ขุดบ่อ สร้างสะพาน ปลูกสวน ปลูกป่า อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยอำนวยความสะดวกแล้วก็มารวมที่ทาน ศีล ภาวนา ก็สูงขึ้นไปตามลำดับ เวลานี้คนไทยแม้แต่คำว่าบุญก็ไม่รู้จัก ก็ไปคิดถึงบุญที่มักจะเป็นนามธรรมที่ไม่ชัดเจน แม้แต่เป็นวัตถุก็มาเชื่อมต่อวัตถุที่มันไม่ชัด เช่นให้ทานก็ให้ทานไม่ชัด ว่ามีความมุ่งหมายวัตถุประสงค์อะไร นั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องมาสะสางชำระกันมากเรื่องสังคมไทยเนี่ยความหมายต่าง ๆ มันเพี้ยน
เวลานี้เมื่อใช้สมานฉันท์ก็กลัวว่าเดี๋ยวจะเพี้ยนอีก ศัพท์อะไรต่ออะไรมาในภาษาไทยนี่เพี้ยนหมดเคลื่อนคลาดไป ความหมายแปลกไปไม่ตรงตามเดิม นั้นสมานฉันท์คงจะต้องมาทำความเข้าใจกันให้ชัดว่าต้องมีอะไรที่จะทำตรงกันแล้วอยากจะทำอันนั้น แล้วทำร่วมกันก็เกิดเป็นสมานฉันท์ ถ้าไม่มีอะไรจะทำอย่าไปเรียกสมานฉันท์ แล้วก็สมานฉันท์มันจะแคบกว่าสามัคคี เพราะมันต้องมีอะไรจะทำเป็นเรื่อง ๆ ไปก็มีสมานฉันท์ในเรื่องนั้น ๆๆ ไปนี่สามัคคีนี่มันไปที่จุดหมายเลย จุดหมายรวมเลย เรามีจุดหมายรวมกัน ในกรณีนี้เราต้องการให้เป็นจุดหมายที่เป็นธรรม ถ้าไม่เป็นจุดหมายที่เป็นธรรมก็สามัคคีในทางร้ายได้เหมือนกัน สามัคคีก็มีทั้งทางร้ายและทางดี เพราะจุดหมายที่รวมคนเข้าด้วยกันนี่เป็นจุดหมายร้ายก็มี ที่เราต้องการจุดหมายที่ดี จุดหมายที่จะมารวมคนเป็นเหมือนยอดที่จะทำให้คนเนี่ยไปรวมกัน เราสร้างอะไรต่ออะไรก็เหมือนกันไปรวมกันที่ยอด นั้นสามัคคีก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สังคมไทยที่ผ่านมานี่เราเน้นคำว่าสามัคคีมากกว่าสมานฉันท์ สมานฉันท์นี้เป็นเพียงองค์ประกอบหรือเป็นปัจจัยย่อย แต่ละครั้งแต่ละคราวที่มารวมกันเข้าเป็นความสามัคคีเท่านั้น นั้นคิดว่าเราบางทีก็เพลินไปกับความอะไร ตื่นเหมือนกันนะเนี่ย นี่ก็เป็นตื่นชนิดหนึ่งเป็นความนิยมของยุคสมัย เวลานี้อะไร ๆ ก็สมานฉันท์ทั้ง ๆ ที่ความหมายก็ไม่ชัดสักหน่อย ถ้าจริง ๆ แล้วเนี่ยมันต้องทั้งสมานฉันท์และทั้งสามัคคีก็ต้องให้ถึงสามัคคีให้ได้ สมานฉันท์ไม่พอต้องไปให้ถึงสามัคคี สามัคคีก็ต้องให้มีธรรมะหรือสิ่งที่ดีงามเป็นจุดหมายที่รวมคนเข้าด้วยกัน และสังคมนี้มีมั้ย จุดหมายที่ดีงามที่รวมคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่จะพาคนทั้งหมดไปด้วยกันนี่ เวลานี้ถ้าสำรวจดูแล้วอาจจะขาดก็ได้ สังคมนี้เท่าที่มองดูนี่ไม่ค่อยมีจุดหมายร่วมกัน ทิศทางที่จะไปร่วมกันไม่มี ก็เป็นสังคมที่เคว้งคว้างได้ง่าย เพราะฉะนั้นจะต้องมาสะสางสังคมของเรากันให้จริงจัง แล้วจะต้องก้าวไปให้ดี เวลานี้ก็เป็นอันว่าเรามาถึงจุดที่สำคัญเนี่ยจะต้องรักษาธรรมด้วยความเข้มแข็งในการยืนหยัดในการทำความดี และทำความดีร่วมกันก็เป็นสมานฉันท์ สมานฉันท์ทำความดีตรงกัน มีใจเดียวกัน แล้วก็มารวมกันเข้าถึงจุดหมายที่เป็นความสามัคคี สังคมนั้นก็มีความเข้มแข็งที่แท้จริงก็เป็นพลังก้าวหน้าต่อไป เหมือนอย่างเรามาในวันนี้ ท่านทุกท่านที่มาร่วมในที่ประชุมนี้มาแล้วก็เกิดความสามัคคีขึ้น ทุกท่านมีจุดหมายร่วมกัน ทุกท่านมีจุดหมายร่วมกันอยู่ที่การระลึกถึงท่านผู้ล่วงลับและคุณความดีพระคุณของท่านอันนี้เป็นจุดรวมใจ แล้วก็พาให้ท่านมาเกิดความสามัคคี
สามัคคีที่ ๑ ก็เรียกว่าสามัคคีทางกายก็คือพาตัวมาร่วมประชุม ทางพระเรียกว่าเกิดกายสามัคคีขึ้น คือความสามัคคีทางกายก็คือมาประชุมกันพร้อม ถ้ากายสามัคคีแต่ใจไม่สามัคคีก็ไม่สำเร็จ
๒ ก็คือมีจิตสามัคคี ใจสามัคคีก็คือใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างนี้ก็เกิดความสามัคคีที่แท้จริง เป็นความเข้มแข็ง เราต้องการอันนี้และสังคมเวลานี้ถ้าเราระลึกถึงท่านผู้ล่วงลับนี้มาเป็นเครื่องเตือนใจแล้วจะโยงไปเองถึงประวัติชีวิตของท่าน โยงไปเองถึงคติธรรมที่ท่านระลึกถึง อย่าง ธัมโมหเวรักขติ ธัมมจาริง ธรรมบทนี้ก็จะโยงไปเองถึงหลักธรรมทั้งหลายที่สังคมและชีวิตของเราแต่ละคนควรจะปฏิบัติ ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วจึงจะเป็นที่น่าอนุโมทนา
แต่เบื้องต้นก็ขออนุโมทนาน้ำใจของทุกท่านที่ได้มาร่วมในที่ประชุมนี้เป็นการแสดงถึงความมีจิตใจกุศลดีงามระลึกถึงพระคุณความดีของท่านผู้ที่ตนเคารพนับถือ แล้วไม่นิ่งดูดาย ยังได้อุตส่าห์หรือมีอุตสาหะก็คือมีน้ำใจนั่นเองมาร่วมกันแสดงออกในโอกาสนี้ แต่ว่าดังที่กล่าวแล้วเราก็ควรจะทำให้สิ่งที่เรียกว่าพิธีไว้อาลัยนั้นมีความหมายยิ่งขึ้น ก็คือว่าเราไม่ใช่ไว้อาลัยเพียงว่า แสดงความระลึกถึงด้วยความเสียดายท่านเท่านั้น ว่าท่านได้จากไปเสียแล้ว ถ้าได้แค่นี้ก็ดังที่กล่าวเบื้องต้นว่า ก็จะละลายหายไปในไม่ช้า แต่เราควรจะก้าวไปสู่การไว้อาลัยให้อาลัยนั้นยังไว้อยู่ด้วยโดยประการที่ ๒ หรือขั้นที่ ๒ ก็คือว่าทำหรือจัดสร้าง ทำให้มีแหล่งที่ค้างที่พักที่อยู่แห่งประวัติชีวิตคุณธรรมความดี ที่ท่านทำไว้เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมกว้างขวางสืบต่อไป อันนี้ก็จะได้ความหมายของการอาลัยในความหมายที่แท้จริงซึ่งจะเป็นประโยชน์คุ้มค่าอย่างแท้จริงกับการทำพิธีแล้วก็ดังที่กล่าวแล้ว เมื่อเราทำอย่างนี้ธรรมะก็รักษาเรา และอาตมภาพได้กล่าวไปแล้วว่าท่านผู้หญิงฯ ถือหลักธรรมพุทธภาษิตนี้เป็นคติประจำใจท่านว่า ธรรมนั่นแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมะก็รักษาตัวท่านไว้ให้ท่านยังคงอยู่แล้วปรากฏคุณความดีจนบัดนี้ แต่ว่าในความหมายที่ลึกลงไปอีกก็คือว่า มิใช่เท่านั้นหรอก ธรรมะนั้นเป็นของจริง ของแท้ดำรงอยู่ยั่งยืน เราพูดว่าเป็นอมตะ เมื่อไรกี่ร้อยกี่พันปีในยุคไหนสมัยไหนธรรมะก็อยู่อย่างนั้น วันนี้คนใดมาประพฤติธรรมรักษาธรรมคนนั้นก็เลยไปอยู่กับธรรมะด้วย พอไปอยู่กับธรรมะแล้วที่ว่าธรรมะรักษาผู้ประพฤติธรรม ก็คือธรรมะที่เป็นอมตะพลอยทำให้คนนั้นเป็นอมตะไปด้วย อันนี้ก็คือความหมายที่สูงขึ้นไปลึกลงไปอีก มิใช่เฉพาะว่ารักษาให้ท่านรอดตัวมั่นคงอยู่ได้จนตลอดมาจนกระทั่งถึงบั้นปลายชีวิตถึงวาระสุดท้ายเท่านั้น แต่ยังรักษาท่านที่มีความดีทำไว้เนี่ยให้เป็นเหมือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมะ เลยอยู่กับธรรมะเป็นอันเดียวกับธรรมะไป อันนี้แหละคือความหมายของคำว่าธรรมาลัย ตอนนี้อาลัยก็จะมาบรรจบกับคติ ธัมโมหะเวรักขะติ ธัมมะจาริง ว่าอาลัยของเราเนี่ยมาถึงตัวธรรมะ ที่ธรรมะเนี่ยมารักษาผู้ประพฤติธรรมไว้ให้เป็นอมตะยั่งยืนได้ ถ้าเราสามารถประพฤติปฏิบัติตามธรรมะนั้นแล้วก็เราก็อยู่ในธรรมะ ธรรมะนั้นเป็นที่อยู่เป็นที่พักพิงเป็นที่ติดค้างอยู่ของบุคคลนั้นก็เลยเป็นธรรมาลัย ถ้าเราปฏิบัติให้ถูกต้องเราก็จะได้อาลัยหลายอย่าง ไม่ใช่แค่อาลัยระลึกถึงท่านผู้ล่วงลับด้วยความเสียดายแต่ว่าได้อะไรบ้างที่ว่ามาแล้ว ถ้าเรามองในแง่ประวัติคุณความดีประสบการณ์ชีวิตของท่านซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษา แค่นี้ก็ได้วิทยาลัยแล้ว คือว่าเป็นอาลัยเป็นแหล่งของความรู้แม้แต่รู้ข้อมูลประวัติ อันนี้ ๒ ในแง่ของความดีว่าเป็นที่ติดค้างอยู่เป็นที่พัก ที่อาศัยของคุณธรรมความดีก็ได้แง่ที่ ๒ เรียกว่าคุณาลัย คุณาลัยก็เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ที่พัก ที่ติดค้างอยู่ของความดีหรือคุณความดีและสุดท้ายก็มารวมกันที่ธรรมาลัยก็คือเป็นที่อยู่เป็นแหล่งที่อยู่ของธรรมะนั่นเอง เพราะฉะนั้นในที่สุดเราก็ไปรวมกันที่ธรรมาลัย สังคมปัจจุบันนี้ก็ต้องให้ชวนกันมาอยู่ที่ธรรมาลัยซะเพราะมิฉะนั้นจะไหลไปอยู่ที่ธนาลัย ธนาลัยคืออะไร ธนาลัยก็แปลว่าที่อยู่ของเงิน ธนาลัยก็คือธนาคาร เป็นต้น อันนั้นเรียกว่าธนาลัย ที่นี่ตอนนี้เราบอกว่าเราไปอยู่ธนาลัยกันมาก ไปแล้วมาชวนกันมาอยู่ธรรมาลัยให้มากขึ้นสักหน่อย แต่ว่าถ้าจะให้สังคมนี้ปลอดภัยอยู่รอดมั่นคงจริง ๆ แล้วต้องมาช่วยกันสร้างธรรมาลัย สร้างธรรมาลัยแล้วก็ชวนกันมาอยู่ในธรรมาลัยแล้วสังคมของเราเนี่ยรับรองดีแน่เจริญงอกงามมั่นคงสืบต่อไป
อาตมภาพก็ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่งต่อทุกท่านที่มาร่วมประชุมในวันนี้ ในพิธีไว้อาลัย ซึ่งหวังว่าเราจะได้เดินก้าวหน้าไปสู่อาลัยในความหมายที่แท้จริง ซึ่งเป็นการที่เราจะช่วยให้อาลัยนั้นเป็นที่มีธรรมะ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของธรรมะ แล้วธรรมะก็จะได้ดำรงรักษาชีวิตของเราแต่ละคน และรักษาสังคมนี้ไว้ให้เจริญมั่นคงสืบต่อไป อย่างน้อยการที่ทุกท่านได้มาร่วมประชุมในวันนี้ก็เข้าหลักตามวัตถุประสงค์ในทางพระศาสนาในทางธรรมะที่ว่า บูชาคนที่ควรบูชา การบูชาคนที่ควรบูชาเป็นอุดมมงคล เป็นมงคลอันสูงสุดประการหนึ่งที่จะนำเราไปสู่ความสุขความเจริญ นำชีวิตของแต่ละคน และสังคมนี้ไปสู่ความสุขความเจริญยิ่งขึ้นไป ก็ถือว่าทุกท่านได้มีส่วนร่วมในการกระทำการปฏิบัติรักษาธรรม ดังที่กล่าวมานี้แล้วก็ขออนุโมทนาและขอให้การกระทำของท่านอันเป็นกุศลนี้ซึ่งเป็นมงคลดังที่กล่าวมา จงเป็นเครื่องอำนวยพรให้ท่านทั้งหลายได้มีความสุขความเจริญยิ่งขึ้นสืบไปและขอให้ทุกท่านได้น้อมใจสงบ รำลึกถึงคุณความดีรำลึกถึงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ผู้ล่วงลับไปแล้ว ตั้งใจรำลึกน้อมอุทิศกุศลแก่ท่าน พร้อมทั้งน้อมใจที่จะนำเอาคุณความดีของท่านจะไปปฏิบัติด้วยตนเองก็ตาม ไปเผยแพร่ก็ตาม และช่วยกันที่จะทำให้เกิดเป็นธรรมาลัยไว้สืบต่อไป เพื่อประโยชน์ระยะยาวของอนุชนรุ่นหลัง เพื่อความเจริญก้าวหน้าของสังคมนี้ ก็ขอให้ทุกท่านจงมีความสุขความเจริญงอกงามในธรรมทุกท่านทุกเมื่อ เทอญ