แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พูดมาแล้วที ซะหน่อย ที่แล้วมาก็พูดแต่เรื่องธรรมะ ทีนี้เริ่มพูดเรื่องคนบ้าง อยากจะถามเณรว่า จำชื่อบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาได้สักคนไหม ให้บอกมาองค์ละ 1 คน บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
เณรวุฒิได้ไหม
เณรวุฒิ : องคุลีมาล
อ้อ นั่นยุคพุทธกาล เอ้า ก็พอยอมให้ เณรวุฒิ เอาองคุลีมาล เณรอนุรักษ์เอาใคร
เณรอนุรักษ์ : ขอคิดก่อนนะครับ
อ่ะ เณรต้นนึกออกไหม
เณรต้น : จำชื่อไม่ได้ แต่พอจำได้ที่ ที่แบบทำบุญสร้าง ... (01.50 เสียงไม่ชัดเจน)
เป็นญาติ พระเจ้าแผ่นดินใช่ไหม เอ้า ติดไว้ก่อนๆ เอาเณรเต็ม จำได้สักคนไหมครับ
เณรเต็ม : นึกไม่ออกครับ
เณรอนุรักษ์ : พระเจ้าอโศกครับ
เอ้า เณรอนุรักษ์ตอบพระเจ้าอโศกมหาราช ก็ดีแล้วที่นึกถึงพระเจ้าอโศกมหาราช สำหรับองคุลีมาลก็เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าสมัยพุทธกาล เวลาเราพูดถึงประวัติศาสตร์เรามักจะพูดถึงว่าหลังจากพุทธกาล แต่ที่จริงในพุทธกาลมันก็เป็นประวัติศาสตร์ แต่ว่าเวลาเราพูดถึงประวัติศาสตร์นี่ก็ บุคคลที่จะพูดถึงในประวัติศาสตร์นี้ก็เอามาเฉพาะพระพุทธเจ้ากับบุคคลเพียง 2-3 คนในยุคพุทธกาล นอกนั้นก็ไม่เอามาพูดมาโมทนา
เณร : ยุคพระพุทธเจ้า ... (02.55 เสียงไม่ชัดเจน) ก็พระสารีบุตร พระโมคคัลลา
พระสารีบุตร พระโมคคัลลา เป็นอัครสาวก แต่ประวัติศาสตร์ทั่วไปบางทีก็ไม่พูดถึงด้วยซ้ำ เอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก มีเด่นมากในประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันทั่วโลกก็พระเจ้าอโศกมหาราช ต่อจากพระพุทธเจ้าก็มาพระเจ้าอโศกมหาราช จริงๆ ก็ยังมีพระเจ้าแผ่นดินอีกองค์หนึ่ง แต่หลังจากพระเจ้าอโศกมหาราชก็มีพระเจ้าเมนันเดอร์เคยได้ยินไหม เป็นกษัตริย์เชื้อชาติกรีก ภาษาบาลี เรียก พระเจ้ามิลินท์
เณร : มิลินทปัญหา
นั่นแหละมิลินท์ นี่ก็ยิ่งใหญ่เหมือนกัน แต่ก็ยังเล็กกว่าพระเจ้าอโศก
เณร : มีปัญญาไหม
อ๋อ มีปัญญา เป็นนักโต้วาที เป็นนักปรัชญา โต้วาทีจนกระทั่งนักปราชญ์ทั้งหลาย นักบวชทั้งหลายหวาดกลัวไปตามๆ กัน จนพระอรหันต์ต้องมาประชุมกันหาตัวคนที่จะไปโต้ ได้พระนาคเสนไปโต้
ทีนี้เอาพระเจ้าอโศกมาเล่านี่ใครจำได้ไหมว่า พ.ศ.สักเท่าไหร่
โยม : 218 เจ้าค่ะ
เอ้อจำ พ.ศ. ได้เก่งเหมือนกัน พ.ศ. 218 ในช่วงนั้น
ฝรั่งก็นับถือมากนะพระเจ้าอโศกนี่ H.G. Wells เป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ The Outline of History ประวัติศาสตร์โลกที่มีชื่อเสียง popular ชุดหนึ่ง เขาบอกเขายอมยกให้บุคคลสำคัญที่สุดของโลก 6 คน เขาเรียก The Greatest Name of History 6 คน มีใครบ้างลองฟังดู 1) ยกให้พระพุทธเจ้า นี่ปราชญ์ฝรั่งนะ 2) โสกราตีส เคยได้ยินชื่อไหม เค้าเป็นนักปราชญ์กรีก เป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่มากของกรีก เป็นยุคหลังจากพระพุทธเจ้านิดเดียว โสกราตีสนี่เป็นที่นับถือของวงการอารายธรรมตะวันตก เอาแต่เล็กๆ น้อยๆ ไปก่อนพอได้ยินชื่อ เป็นปราชญ์ของสังคมตะวันตก บุคคลที่ 3) คือ อริสโตเติล เคยได้ยินชื่อไหม อริสโตเติล ท่านยิ่งใหญ่มากฝรั่งต้องรู้จักหมดล่ะ ในประวัติศาสตร์ของฝรั่งต้องรู้จักอริสโตเติลทั้งนั้น ต่อจากนั้นก็มาพระเจ้าอโศกที่ H.G. Wells เค้ายกให้เป็นคนที่ 4) ต่อไปคนที่ 5) เค้ายกให้นักวิทยาศาสตร์ของอังกฤษชื่อ โรเจอร์ เบคอน ชื่อเบคอน ง่ายๆ เบคอน แล้วก็อีกคน คนที่ 6) ลองทายซิใคร อยู่ในเมืองฝรั่ง
เณร : ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์
ไม่ได้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คนนี้เป็นนักการเมือง
เขายกให้ ลินคอล์น ก็เป็นผู้ที่เลิกทาส ทำให้ประวัติศาสตร์มนุษย์เปลี่ยนแปลง ทำให้มนุษย์มีเสรีภาพ ก็เรียกว่าเป็นบุคคลสำคัญมาก เขายกให้ 6 คน
เณร : เมื่อก่อนต่างประเทศเขามีเลิกทาสเหมือนไทยด้วยหรือครับ
มีสิ ก็อเมริกาเลิกทาสต้องรบกันฆ่าฟันกันตายตั้งเท่าไหร่ สงครามเลิกทาสก็สมัยลินคอล์นนี่ไง ลินคอล์นประกาศให้เลิกทาส
เณร : แต่ไทยเราเลิกทาสไม่มีรบ
ไม่มีรบ นี่แหละความสามารถพิเศษของรัชกาลที่ 5 ที่ว่าสามารถเลิกทาสได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อ
ทีนี้ของอเมริกานี่ ทาสคือพวกไหน ก็พวกนิโกรไง สมัยนั้นเขาค้าทาสจับนิโกรจับแอฟริกา เอาไปขายขึ้นท่าแถวบอสตัน เดี๋ยวนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ทาสอยู่ เวลาขึ้นขายนี้เขาก็ขึ้น มีแท่นตั้งขึ้น ก็เอาทาสขึ้นไปยืนบนนั้น แล้วเขาก็มาประมูลราคากัน เขาก็พรรณนาทาสคนนี้ดีอย่างนี้อย่างนั้น ใช้งานนั้นได้ดี แข็งแรงอย่างนี้อย่างนั้น พรรณนาไป ใครให้ราคาเท่าไหร่ ใครให้สูงสุดก็ได้ไป แล้วก็เอาอีกคนขึ้นไป
เณร : เหมือนสัตว์
มันเหมือนสัตว์ ทีนี้มาด้วยกันบางทีจับมาทั้งครอบครัว ก็มาขึ้นทีละคนอย่างนี้ พ่อก็ไปทาง แม่ก็ไปทาง ลูกคนโตไปทาง กระจัดพัดพรายกันไปหมด นี่มันน่าสงสารยังไงไม่รู้ไปไหนต่อไหน พ่อแม่ไม่มีเหลือพลัดพรากกันหมด ไปแล้วบางทีไปอยู่ก็เหมือนสัตว์ ก็คนที่เป็นเจ้าทาสทำอะไรกับทาสก็ได้เหมือนเป็นทรัพย์สมบัติ
ทีนี้เวลาลินคอล์นจะเลิกทาส พวกรัฐที่อยู่ทางภาคใต้เขาใช้งานทาสมาก เพราะเขาทำการเกษตร รัฐภาคเหนือทำอุตสาหกรรมเขาไม่ค่อยต้องใช้แรงงานคน พวกรัฐภาคเหนือก็ยอมเลิกแต่รัฐภาคใต้ไม่ยอม ก็รบกันตายกันตั้งมากมาย เพราะฉะนั้นอเมริกานี่สงครามใหญ่ เลิกทาส สงคราม Civil War เอาละ นี่ก็เรื่องลินคอล์นนี้ก็ถือว่าเป็นผู้ที่ทำให้มนุษยชาติได้เจริญก้าวหน้าในทางอารายธรรมมีเสรีภาพ ก็เนี่ยเขายกให้ 6 คนนี้เป็น Greatest Men จะเห็นว่ามีพระพุทธเจ้า มีพระเจ้าอโศก ที่เป็นฝ่ายเรา นอกนั้นเป็นฝรั่ง นี่ฝรั่งเขียน
ทีนี้มีนักเขียนอีกคนที่สำคัญ ชื่อ C.E.M. Joad เขียนหนังสือชื่อ The Story of Civilization ใครรู้จักคำว่า civilization คำว่า civilization แปลว่าอะไร เป็นคำสำคัญ
เณร : ไม่ใช่สถานี
ไม่ใช่ อันนั้น station อันนี้ civilization zation เป็นตัวห้อยท้าย ศิวิไลซ์นี่แหละที่สำคัญ เคยได้ยินไหมคำว่า ศิวิไลซ์
เณร : เคยได้ยินในเพลง
นั่นแหละ ศิวิไลซ์ คำไทยที่เพี้ยนมาจากคำฝรั่ง คำฝรั่งศิวิไลซ์ ก็คือ อารยธรรม คำว่า civilization นี่แปลว่า อารยธรรม civilized คือคนที่มีอารยธรรมแล้ว เจริญแล้ว เรามาดัดแปลงเป็นคำไทยว่า ศรีวิไลซ์ ศิวิไลซ์นั่นเอง
ฝรั่งคนนี้มีชื่อเสียงมากเขียนหนังสือเยอะ เช่น The Story of Civilization สมัยก่อนนักเรียนม.6 ซึ่งหลายสิบปีมาแล้วเขาเรียกว่าชั้น ม.8 ต้องเรียนหนังสือเล่มนี้ The Story of Civilization เขาเขียนประวัติอารยธรรมมนุษย์ เขายอมยกให้กษัตริย์องค์เดียวที่ว่าควรนับถือ อีตาคนนี้แกไม่ยอมนับถือกษัตริย์องค์ไหนเลย แกนับถือพระเจ้าอโศกองค์เดียว ยอมเอามากล่าวในหนังสือของแก แกบอกว่ากษัตริย์ทั้งหลายล้วนแต่เป็นผู้แสวงหาอำนาจต้องการโภคสมบัติ แสดงความยิ่งใหญ่อะไรต่างๆ พระเจ้าอโศกนี่ไม่เหมือนกษัตริย์ทั้งหลายอื่นเลย คือเป็นผู้ที่ตั้งใจใช้อำนาจเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชน ไม่ใช่เอาอำนาจมาแสดงความยิ่งใหญ่ให้ตนเอง นี่ก็เป็นกษัตริย์ที่ฝรั่งยกย่องมาก ฝรั่งก็เรียกว่าเชิดชู ฝรั่งรู้จักกันไปทั่วพระเจ้าอโศกนี่
ทีนี้พระเจ้าอโศกนี่ก็เป็นตัวอย่างของกษัตริย์ชาวตะวันออกเราด้วย กษัตริย์ที่ดีๆ ยุคหลังๆ นี่เอาตามอย่างพระเจ้าอโศก ของไทยก็เช่นอย่างพระเจ้ารามคำแหง พระเจ้ารามคำแหงตามประวัติก็ดูว่าเอาอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกนี่เมืองไทยเรานิยมเรียกว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ที่จริงคือพระเจ้าอโศกนั่นเอง ยกย่องเอาศรีเข้าไปใส่เอาธรรมาเข้าไปใส่ ธรรมาก็หมายความว่าทรงธรรมนั่นเอง พระเจ้าอโศกนี่ตอนแรกก็เป็นกษัตริย์โหดร้ายเหมือนกัน เพราะว่าฆ่าพี่น้องเสียแทบหมดเลย ตอนที่จะขึ้นครองราชย์
เณร : ฆ่าทำไม
อ้าว ก็สมัยโบราณก็อย่างนี้ล่ะ การจะใหญ่ขึ้นมาต้องแย่งชิงราชสมบัติกัน อโศกก็กลัวว่าพี่น้องคนอื่นจะเอา พ่อตายนี่ ก็ต้องฆ่ากัน ฆ่าเสียเกือบหมด ตัวเองก็ขึ้นครองราชย์ได้ พอขึ้นครองราชย์ก็แผ่อาณาเขต ยกทัพไปรบเมืองโน้นเมืองนี้ แผ่ไปจนกระทั่งเกือบทั่วอินเดีย จนกระทั่งไปถึงแคว้นหนึ่งชื่อ แคว้นกลิงคะ แคว้นกลิงคะนี้อยู่ทางใต้ เป็นนักรบที่เก่งกล้ามาก พวกกลิงคะนี่ไม่ยอมแพ้แก่อโศกก็รบกัน เป็นการรบที่เหนียวแน่นมาก เป็นสงครามที่เรียกว่าใช้ความรุนแรงอย่างมากทีเดียว เพราะอโศกต้องเอาชนะให้ได้ พวกกลิงคะเป็นนักรบที่เก่งกล้ามาก รบกันเป็นเวลานานตายเป็นแสนเลย จับเชลยได้แสนห้าหมื่นคน ที่ตายถูกฆ่าราวแสนในราวนั้น แล้วที่ล้มตายเพราะเหตุอื่นๆ เช่นว่า ถูกโรคระบาด อดตายอะไรต่างๆ ในสงครามอีกมากมาย
เณร : ฝ่ายพระเจ้าอโศกหรือ
ฝ่ายกลิงคะ รวมทั้ง 2 ฝ่าย ทีนี้อโศกเป็นฝ่ายบุกนี่ ฝ่ายที่ถูกบุกก็ตายมากหน่อยเพราะราษฏรเยอะ ฝ่ายบุกก็เอาแต่ทหารไป ทีนี้พระเจ้าอโศกรบชนะครั้งนี้แล้วมีความสลดพระทัยมาก บอกโอโหนี่ ทำสงครามชนะ แต่คนตายมากมายเดือดร้อนกันเหลือเกิน พระเจ้าอโศกสลดใจเลยเลิกสงครามหันมานับถือพุทธศาสนาและเปลี่ยนนโยบาย การชนะด้วยสงครามเขาเรียก สงครามวิชัย ทีนี้พระเจ้าอโศกก็เปลี่ยนนโยบายใหม่บอกว่าให้เป็น ธรรมวิชัย ชนะด้วยธรรมะ เอาชนะใจ ตอนนั้นก็หันมาบำเพ็ญประโยชน์อย่างไม่ทำร้ายใครแล้ว จิตใจมีแต่เมตตากรุณา ทำประโยชน์แก่ประชาชน
สมัยพ่อขุนรามที่บอกว่าที่หน้าวังหรืออะไรมีกระดิ่งใช่ไหม แล้วก็ใครมีเรื่องเดือดร้อนอะไรก็มาสั่นกระดิ่งได้ทุกเวลา นี่แบบเดียวกับพระเจ้าอโศก พระเจ้าอโศกพูดไว้แบบนี้ ราษฎรเป็นลูก เรื่องราวเดือนร้อนของประชาชนบอกได้ทุกเวลาไม่ว่าอยู่ที่ไหนที่ใดทั้งสิ้น ก็แสดงว่าพ่อขุนรามคำแหงเอาแบบอย่างมาจากพระเจ้าอโศก แล้วก็สร้างถนนหนทาง แล้วก็สร้างโรงพยาบาลทั้งสำหรับคนและสัตว์ แล้วก็สร้างสวน สร้างบ่อน้ำประปาในระหว่างทางให้คนเดินทางได้สะดวก เรียกว่าบริการประชาชนเต็มที่ เรียกว่าการแผ่อำนาจเลิกหมดเลย เอาแต่เรื่องของการทำประโยชน์แก่ประชาชน นี่ล่ะฝรั่งเค้ายอมรับอันนี้ ว่าเป็นกษัตริย์ที่ไม่ได้แสวงหาความยิ่งใหญ่และหาการบำรุงบำเรอตัวเอง เพราะกษัตริย์ส่วนมาก 1. ต้องแสดงความยิ่งใหญ่ ฉันนี่เก่งที่สุด 2. ก็ต้องหาอะไรต่ออะไรมาบำรุงบำเรอตัวเอง ตั้งฮาเล็มเลย กษัตริย์เยอะแยะใช่ไหม กษัตริย์หลายกษัตริย์นี่ตั้งฮาเล็มหาผู้หญิงมาปรนเปรอ
พระเจ้าอโศกไม่ทำอย่างนั้นเลย ก็อำนาจก็ไม่เอา การบำรุงบำเรอตัวเองก็ไม่เอา ก็ใช้เวลาไปในการทำประโยชน์แก่ประชาชน ดังนั้นเวลาก็เป็นประโยชน์มาก แม้แต่พุทธศาสนาก็ไปประเทศต่างๆ เพราะพระเจ้าอโศกสังคายนา เสร็จแล้วจัดการส่งพระออกประกาศศาสนาในประเทศต่างๆ 9 สาย มาสายหนึ่งก็มาทางเรา ทีนี้ก็ทำให้อารยธรรมก้าวหน้าไป และก็นี่แหละก็เป็นกษัตริย์ที่ไม่เหมือนกษัตริย์อื่น ฝรั่งก็ยอมรับ C.E.M. Joad ที่ว่าเขียน The Story of Civilization ยอมให้กษัตริย์องค์เดียวเท่านั้นในประวัติศาสตร์โลกที่แกจะเคารพยกย่องได้
พระเจ้าอโศกนี่ก็เป็นบุคคลที่ทำอะไรไว้เยอะแยะ อันหนึ่งที่สำคัญคือ ศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหงเราก็ทำศิลาจารึกด้วย คล้ายๆ ว่าเอาแบบกันมา ทำศิลาจารึกบอกไว้ให้การศึกษาแก่ประชาชน ศิลาจารึกนี่ไม่ใช่หมายความว่าเขียนเอาไว้ให้พวกเราได้รู้หรอก คือสมัยนั้นไม่มีการพิมพ์หนังสือนี่ จะได้ไปพิมพ์แจก สมัยนั้นก็คือใช้ศิลาจารึกนี่เป็นที่ประกาศแก่ประชาชน หมายความว่ามีเรื่องอะไรพระเจ้าแผ่นดินต้องการให้ประชาชนรู้ ก็เอ้า ให้ช่างไป มีหินผา หน้าผาก็ไปขัด เสร็จแล้วก็ไปเขียนจารึกไว้ใครไปใครมาก็อ่าน หัวหน้าหมู่บ้านก็ไปอ่านข้อความนี้ให้ลูกบ้านฟัง ตอนนี้พระเจ้าแผ่นดิน ราชการบอกมาว่าอย่างนี้นะ ให้ทำกันอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ก็รู้เรื่องกัน ก็คือว่าเป็นการที่บอกข่าวแจ้งความอะไรต่างๆ ประกาศราชการ และก็แนะนำสั่งสอนประชาชนในเรื่องความเป็นอยู่ เรื่องการดำเนินชีวิตและเป็นการให้การศึกษาแก่ประชาชน ฝรั่งเขาเขียนไว้ในประวัติศาสตร์การศึกษาบอกว่า อินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชคนมีการศึกษาดีกว่าอินเดียในยุคปัจจุบัน
เณร : ขนาดนั้นเชียว
เขาบอกว่าอย่างนั้น นี่ว่าตามฝรั่งเขาเขียนไว้ใน Encyclopedia Britannica เขาเขียนไว้ว่าอย่างนั้น อันนี้ก็เอามาเล่าเป็นเรื่องพิเศษ เรื่องเกี่ยวกับบุคคลบ้าง ที่จริงเราเรียนเรื่องของฝรั่งมาก แต่เรื่องของพวกเราเองบางทีเราก็ไม่ค่อยได้เรียน เรื่องของตะวันออกเราไปเรียนรู้จักบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของฝรั่ง เวลาพูดถึงประวัติศาสตร์โลกนี่เรามักนึกถึงฝรั่ง ไม่ใช่โลกทั้งหมด ที่จริงพระเจ้าอโศกก็อยู่ในโลกเหมือนกัน เอาล่ะวันนี้ก็เอาเท่านี้ นิมนต์ฉันกัน
ฝรั่งเค้าก็พยายามหาหลักฐานต่างๆ มาเพื่อจะมาตรวจสอบ แต่อย่างพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ฝรั่งก็ต่างจากเรา ของเขาเอา 483 ปีก่อนคริสศักราชที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ของเราเอา 543 ปี ต่างกัน 60 ปี
โยม : ของเราเอาปีนิพพานเลย
ก็นิพพานนะสิ หมายความว่าปีนิพพานนี่ฝรั่งกับเราไม่เหมือนกัน ต่างกัน 60 ปี
เณร : ฝรั่งเขาไม่ได้เอาวันที่พระเยซูตายเหรอครับ
นั่นสิ เขาเอาพระเยซูมาตั้งมานับ หมายความว่าพระพุทธเจ้าก่อนพระเยซูกี่ปี ทีนี้ของเราคำนวณแล้วจะได้ก่อนพระเยซู 543 ปี พระพุทธเจ้าปรินิพพานก่อนพระเยซูเกิด 543 ปี ของฝรั่งเขาคำนวณได้ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานก่อนพระเยซูเกิด 483 ปี ต่างกันเท่าไร ต่างกัน 60 ปี เนี่ยตัวเลขต่างกันอย่างนี้ ดังนั้นตัวเลขเกี่ยวกับพระเจ้าอโศกก็ต่างกันเหมือนกัน เราจำ 218 ปี ฝรั่งจะเอาต่างจากเรา 60 ปี ฝรั่งเขาพยายามคำนวณ เขาก็อยากให้ได้ตัวเลขที่แน่นอน แต่เรื่องเก่าตั้ง 2000 กว่าปีมันก็ยาก
โอ้ เรื่องพระเจ้าอโศกนี่สนุกมากเพราะปู่พระเจ้าอโศกนี่เป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่เหมือนกัน นักรบที่เก่งมากนักรบคนนี้พบกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ด้วย รู้จักไหมพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชนี่ยกทัพมาบุกเราด้วยนะ จนกระทั่งมาถึงเขตแดนอินเดียก็กะว่าจะตีอินเดียด้วย
เณร : จากยุโรปมา?
นั่นแหละมาตลอดเลย
เณร : ยิ่งใหญ่มาก?
ยิ่งใหญ่ แกก็ตีมาตลอดจนถึงชายแดนอินเดีย ตั้งทัพชุมนุมกองทัพที่นั่นเตรียมบุกอินเดีย ทีนี้ก็วางแผนรบแต่เห็นว่าอินเดียนั้นใหญ่มาก จะรบอินเดียจะต้องหากำลังจากฝ่ายอินเดียมาช่วย แน่ะ วางแผนแบบนี้ เพราะว่ากองทัพแกยกมาไกลกำลังพลก็ยกมาได้ส่วนหนึ่งแม้จะมากก็ยังสู้เจ้าถิ่นไม่ได้กำลังมันจะไม่พอ แกก็จะหาฝ่ายเจ้าถิ่นนี่มาร่วมมือ นี่เป็นแผนยุทธศาสตร์
ทีนี้ตอนนั้น จันทรคุปต์ คือปู่พระเจ้าอโศกกำลังตั้งตัวขึ้นมา ตอนนั้นยังเป็นหัวหน้าเผ่าเท่านั้นล่ะ ไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน จันทรคุปต์ก็คิดคล้ายๆ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เหมือนกันว่า เอ้ เราจะต้องหากำลังมาช่วย ถ้าเรารบทีละน้อยๆ โห กว่าจะได้แผ่นดินทั้งประเทศได้ทั้งอาณาจักรนี่ยากมาก พอรู้ว่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์จะหาความร่วมมือ ก็เลยพบปะ ก็เลยมีการพบปะระหว่างพระเจ้าอเล็กซานเดอร์กับจันทรคุปต์ ปู่พระเจ้าอโศก
เณร : แล้วเค้าคุยกันรู้เรื่อง?
เขาก็คงต้องมีพวกล่าม ธรรมดามันต้องมีพวกนี้ไม่งั้นทำงานใหญ่ได้เหรอ แหม มาขนาดนี้ ก็พอพบกันก็มีปัญหาว่าใครจะเคารพใคร ต่างคนต่างไม่ยอม นี่ เลือดกษัตริย์มันเป็นอย่างนี้แล่ะ จันทรคุปต์ก็ถือว่าฉันก็ใหญ่เหมือนกันไม่ยอมเคารพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก่อน อเล็กซานเดอร์ก็โกรธมากพอเข้าไปในเขตทัพจึงสั่งจับจันทรคุปต์ไม่ยอมเคารพเลยเลิกพูดกัน ไม่ต้องพูดกันถึงเรื่องร่วมมือกันรบ จับจันทรคุปต์ขังเลย ทีนี้จันทรคุปต์ถูกขังแล้วต่อมามีคนช่วยหนีออกมาได้ แกก็เลยเลิกไม่ร่วมมือกันกับอเล็กซานเดอร์ ฝ่ายอเล็กซานเดอร์ต่อมาแกไม่รู้แกคิดอย่างไร แกเลยเลิกทัพกลับไม่เข้าตีอินเดีย แกยกทัพกลับทางเรือ แล้วก็ปล่อยแม่ทัพให้ปกครองดินแดนที่แกรบชนะเป็นจุดๆๆ ไป พวกแม่ทัพเหล่านั้นก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ พออเล็กซานเดอร์กลับไปไม่เท่าไหร่ก็สวรรคต
พวกแม่ทัพที่ในดินแดนต่างๆ ก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ขึ้นมา อย่างดินแดนแห่งหนึ่งที่สืบมาเป็นพระเจ้าเมนันเดอร์ (พระเจ้ามิลินท) นี่ก็เป็นพวกแม่ทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เหมือนกัน รุ่นลูกหลาน
เณร : พระเจ้าอเล็กซานเดอร์อยู่ในช่วงหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน?
หลังๆ เพราะว่าจันทรคุปต์ก็หลังพระพุทธเจ้าแล้ว หลังไม่นานนัก หลังซักคงจะ 100 กว่าปี
เณร : พระเจ้าอเล็กซานเดอร์นี่ ตอนหลังเห็นบอกว่าถูกคนปลงพระชนม์
อันนี้จำไม่ได้ละ แต่สวรรคตในตอนที่กลับจากอินเดีย แล้วพวกแม่ทัพก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ในดินแดนต่างๆ สืบมา ทีนี้ก็พระเจ้าจันทรคุปต์ ก็รบและมีประวัติอีกยาวเลย แกก็ตั้งตัวขึ้นมา ตอนนั้นอาณาจักรมคธกำลังยิ่งใหญ่ แกยกทัพไปรบ แกเคยแพ้ แพ้แทบตายหนีแทบไม่รอด แกยกทัพไปตี ทัพฝ่ายนี้บ้านเมืองเค้าใหญ่กว่าก็ตีแกแตก พระเจ้าจันทรคุปต์หนีเหลือแต่ตัวคนเดียววิ่งม้าไป ซอกซอนไปในชนบท หลบไปซ่อน ไปได้แผนจากความคิดของชาวบ้าน ยายคนหนึ่งแกปิ้งข้าวเกรียบให้หลานกิน ทีนี้หลานพอได้ข้าวเกรียบมาก็กัดกร้วมร้อนจัดก็ร้องจ๊ากเลย ทีนี้ยายก็ด่าหลาน เอ็งมันเหมือนพระเจ้าจันทรคุปต์กินเข้าไปได้ยังไงตรงกลาง มันก็ต้องค่อยๆ กินจากข้างนอกเข้าไป ข้าวเกรียบมันร้อนกัดไปตรงกลางมันร้อนจัด คำด่าคล้ายทำนองนี้ใจความ พระเจ้าจันทรคุปต์ได้ยิน เออ เรามันผิดจริงๆ แหมยายคนนี้มีปัญญาดี เพราะเราไปตีกลางเมืองหลวงเขา ตัวเองมีกำลังทัพเพิ่งตั้งตัวจะไปสู้อะไรได้เห็นว่าตัวเองยิ่งใหญ่ไม่ไหว แกก็เปลี่ยนแผนใหม่คราวนี้แกตีเล็มมาจากข้างนอก เอาบ้านเมืองเล็กๆ น้อยๆ ค่อยๆ ตะล่อมเข้ามาๆ มันได้มากขึ้นๆ ไอ้พวกชนบทชายแดนเผ่าต่างๆ มาขึ้นเป็นพวกมากขึ้นๆ ทีนี้ตัวอาณาจักรที่เป็นศูนย์กลางก็เหลือนิดเดียวเป็นไข่แดง แกล้อมหมดแล้ว พอแกได้กำลังคนข้างนอกร่วมมือแกก็เข้าตีทีเดียวไปเลย ก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของแคว้นมคธ เป็นปู่พระเจ้าอโศก และพอมาถึงอโศกก็แผ่ดินแดนใหญ่ออกไปอีก นี่ก็ประวัติศาสตร์ของอินเดียก็มีเรื่องที่น่าสนใจ
ทีนี้พอเป็นพระเจ้าแผ่นดินยิ่งใหญ่ก็ต้องมีระบบการปกครอง ก็มีมหาอำมาตย์ที่เก่งกล้ามากในการวางระบบการปกครอง คือจาณักยะ ก็มีชื่อมีหนังสือตำรา จาณักยะ ในการปกครองบ้านเมือง สมัยพระเจ้าจันทรคุปต์ สมัยปู่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เรารู้ๆ ไว้เป็นประโยชน์ อย่างน้อยก็ให้ได้ยินชื่อไว้พอเห็นเค้าความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ อ้าว เณรฉันเสร็จละนะ
ระยะนี้ต้องหยุดรายการกันเรื่อย ทั้งรายการทำวัตรบ้าง รายการเรียนหนังสือบ้าง เพราะว่ามีธุระข้างนอกเป็นเรื่องปัจจุบันเฉพาะหน้า ไม่ว่ายังไงก็ตาม เณรก็มีความชำนาญวัตรขึ้น มีความเป็นระเบียบขึ้น การกราบก็รู้สึกว่าตอนนี้ไม่ค่อยมีเสียง แต่ก่อนนี้เวลากราบก็ดังพึบพับๆ เดี๋ยวนี้ก็รู้สึกว่าเงียบดีก็แสดงว่าก้าวหน้าขึ้น เณรวุฒิตอนนี้ก็นั่งถนัดขึ้นเยอะเลยนี่ นั่งคุกเข่าก็ไม่ต้องขยับตัวแสดงว่าอยู่ตัวดีขึ้นแล้ว อันนี้ก็เป็นเรื่องของการฝึกและก็ความชิน ถ้าเราตั้งต้นเริ่มไว้ในลักษณะที่ว่าทำให้ถูกต้อง ความถูกต้องก็จะกลายเป็นความเคยชินต่อ มันก็ยิ่งใช้ปัญญากำหนดคอยระวังคอยพิจารณาทำให้ถูกต้องให้เรียบร้อยยิ่งขึ้นนี่มันก็เกิดเป็นความชำนาญ อย่างการนั่งเราอาจจะบอกว่านั่งให้เรียบร้อยเป็นต้น กำหนดไว้ยังไงตั้งไว้ยังไงก็เคยชินอย่างนั้น ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่ามันมีรายละเอียดอีก จะนั่งให้เรียบร้อยยังไง ขยับยังไงจึงจะดี ขยับยังไงจึงจะดูเรียบร้อย แม้แต่การเปลี่ยนท่านั่ง การย้ายจากซ้ายไปขวาอะไรต่างๆ คนที่คอยระวังและคอยฝึกตัวเองก็จะทำให้ทำได้เรียบร้อยดูงดงาม ยิ่งเวลาออกไปสู่ที่สาธารณะก็ยิ่งดูเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่น่าเกลียด บางคนที่ไม่เคยได้กำหนด ไม่เคยได้สังเกต บางทีก็ทำแล้วก็ดูเคอะเขิน รึว่าไม่งั้นก็บางทีก็น่าอายไปเลย เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็อยู่ที่การฝึกฝนนั่นเอง ฝึกฝนแล้วก็ต้องใช้ความสังเกตการพิจารณา นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งของการที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนา ในวันนี้ที่จริงก็นึกว่าจะคุยต่อแต่พอดีว่าก็มีเรื่องระยะนี้เร่งด่วนที่จะต้องเร่งการพิมพ์หนังสืองานศพที่จะมาถึงในไม่กี่วัน เพราะฉะนั้นวันนี้ก็คุยกันเพียงเล็กๆ น้อยๆ
การบวชเรียนภาคฤดูร้อนของเณรก็จวนจะจบ มาถึงวันนี้ก็เรียกว่าเป็นวันสุดท้ายที่จะอยู่กันเต็มวันจริงๆ พรุ่งนี้ก็ตามกำหนดก็ตกลงกันว่าจะลาสิกขากันแต่เช้า วันนี้ก็ได้ทำกิจวัตรเต็มที่ แต่ทีนี้ก็ไม่เต็มจริงเพราะว่าค่ำนี้พระไม่อยู่ ก็ทำเท่าที่ทำได้ พอดีก็มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมายเกิดขึ้นด้วยอย่างที่รู้กันอยู่แล้ว เณรบวชมาครั้งนี้ถึงแม้จะสั้นหน่อย แต่เราก็ได้เล่าเรียนกันพอสมควร บวชนี้ที่ว่าสั้นนี่ก็ว่าไปตามที่เปรียบเทียบกับช่วงชีวิต เณรเองบางองค์ก็อาจจะรู้สึกยาวก็ได้ จะรู้สึกยาวหรือสั้นก็ขึ้นกับว่าเราพอใจไม่พอใจแค่ไหน คือว่าถ้าเราเกิดความรักความพอใจ เวลาที่ผ่านไปนี่จะรู้สึกว่า ถ้าหากว่าไม่ชอบก็ฝืนใจทำให้รู้สึกว่าช้า เหมือนอย่างคนเดินทาง เดินทางไปมีความสนุกสนานชอบสถานที่นั้นชอบทางนั้นดูอะไรก็เพลิดเพลิน อ่าวเดี๋ยวหมดละ เดินทางเดี๋ยวถึงละ แต่ถ้าเหนื่อยขึ้นมา ไม่ชอบ เบื่อหน่าย รู้สึกว่าทางนิดเดียวก็แย่ละ ยาวไกลเหลือเกิน เพราะฉะนั้นอันนี้อยู่ที่จิตใจของเรานี่มาก วันเวลานี่มันก็ยุติธรรมของมัน จะสั้นหรือยาวมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ในความรู้สึกของคนมันเป็นเรื่องที่สำคัญ ทีนี้จะทำอะไรให้ได้ผลดีนี่ก็ต้องปลุกใจให้มีความรักความพอใจในสิ่งนั้น แล้วก็จะรู้สึกว่าทำสิ่งนั้นด้วยความสุขและเวลาก็จะผ่านไปได้อย่างรวดเร็วคือผ่านไปด้วยความไม่ทุกข์ทรมาน เณรก็รู้สึกอย่างไรว่าเวลาที่ผ่านไปนี้ช้าหรือเร็ว เณรวุฒิว่าไวหรือ เณรอนุรักษ์ล่ะ ไวเหมือนกัน เณรต้นล่ะ ไว เณรเต็มล่ะครับ เณรเต็มตอบช้าองค์เดียวนะ เพราะอะไร
เณร : เพราะว่าวันนี้ไม่ได้ทำอะไรมาก
เหรอ ไม่ได้ทำอะไรมาก แล้วตอนที่ยังไม่ได้บวชทำอะไรมากล่ะ
เณร : ก็เล่น
เล่น นั่นล่ะเล่น เวลาเล่นก็สนุกสนานใช่ไหม สนุกสนานถูกใจเราก็รู้สึกเวลาไม่พอ เวลาไม่พอให้เล่นเดี๋ยวหมดแล้วใช่เปล่า ทีนี้เวลาที่บวชไม่มีโอกาสเล่นเวลาก็ผ่านไปช้า แต่ที่จริงเรามีเรื่องต้องทำเหมือนกันใช่ไหม ที่ต้องทำเป็นกิจวัตร มาเล่าเรียนหนังสือนี่แค่นี้ก็ไม่ใช่น้อยละนะ หรือเณรว่ายังน้อยหรือเปล่าครับ
เณร : ไม่น้อย
ไม่น้อย ที่เราเรียนกันมานี่ก็ในช่วงเวลานี้ ก็อย่างที่บอกมันก็สั้นหน่อย ก็พอว่าเป็นพื้นฐานไว้ พอให้เป็นประโยชน์กันพอสมควร ถ้าหากว่าเรารู้จักเลือกรู้จักนำไปใช้ประโยชน์ ก็เรียนมาก็หลายอย่าง เคยถามว่า เช่น พุทธภาษิตมีบทไหนที่ชอบหรือจำได้แม่น ก่อนนี้ก็ตอบว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ จะเห็นว่าตอบเหมือนกันหมด บทเดียว ตอนนี้ถ้าจะถามใหม่จะมีบทอื่นเพิ่มขึ้นบ้างรึเปล่า อ้าว ถามจากเณรเต็มมาเลย เณรเต็มมีบทอื่นบ้างไหมนอกจากอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ที่จำได้
เณร : นึกดูก่อน
นึกดูก่อน อ้าว ถ้าอย่างนั้นเณรต้นจำบทอะไรได้ไหม
เณร : สุสฺสูสํ ลภเตปญฺญํ
สุสฺสูสํ ลภเตปญฺญํ แล้วแปลได้ไหม
เณร : ฟังได้ดีย่อมได้ปัญญา
ฟังได้ดีย่อมได้ปัญญา ชอบอันนี้ด้วยหรือ อ่อ แหมรู้จักฟัง ฟังได้ดีก็รู้จักฟัง ฟังเป็นตั้งแต่เริ่มแล้วตั้งใจฟัง ถ้าเราไม่ตั้งใจฟังแล้วก็ไม่ได้อะไร มันไม่รู้เรื่อง เราไม่รู้ไม่ได้ยินทั้งๆ ที่ฟังอยู่ไม่ได้ยินก็มีนะ ฉะนั้นก็ต้องตั้งใจและก็ฟังเป็นรู้จักฟังรู้จักกำหนดหมายจับสาระสำคัญ เอาไปพิจารณามันก็ทำให้เกิดปัญญา เอาทีนี้เณรอนุรักษ์ล่ะ
เณร : อตาหิเว คิตังเสโย
จะมีพลาดอะไรซักนิดไหม เอาแปลก่อนๆ
เณร : ชนะตนแลดีกว่า
เอ้อ ชอบบทนี้นะ มันมีตัวผิดไปนิดหนึ่งเณรจำซะให้ถูกต้อง อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย แปลว่า ชนะตนนั่นแลดีกว่า ถ้ามีภาษิตจริงๆ ก็ยาวบอกว่า ถึงบุคคลจะชนะคนอื่นพันคนพันครั้งในสงคราม หมายความว่า ไปรบออกรบเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่แม่ทัพเก่งกล้าทำสงครามตั้งพันครั้งชนะคนเป็นพันๆ ในแต่ละครั้งนั้น ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ประเสริฐเท่าชนะตนคนเดียวได้ เพราะแม่ทัพก็แพ้ตัวเองอีก ไปรบกับใครมาๆ ผลที่สุดก็แพ้ตนเองเอาชนะตัวเองไม่ได้
เณร : ฆ่าความโกรธได้ย่อมอยู่เป็นสุข
ฆ่าความโกรธได้ย่อมอยู่เป็นสุข แล้วเณรเต็มชอบเพราะอะไร ชอบเพราะอะไร ชอบเพราะเณรเต็มโกรธบ่อยหรือไง
เณร : ก็โกรธบ่อย
แล้วก็รู้ว่าโกรธไม่ดีใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นฆ่าความโกรธแล้วสบาย เวลาโกรธแล้วไม่มีความสุข เพราะอย่างงั้นดีละ เอ้าบอกภาษาบาลีให้ เริ่มต้นด้วย “โกธัง” ต่อได้ไหมครับ อ้าวต่อ ให้อีกตัวนึง “ฆตวา” โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ อ้าวเณรเต็มต่อได้ดีละ ไหนลองว่าให้หมดซิ
เณร : โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ
ดีละ โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ ฆ่าความโกรธได้แล้วอยู่เป็นสุข นอนสบายก็ได้ แปลว่านอนสบาย นอนเป็นสุข เพราะคนที่ยังโกรธนี่นอนไม่สบาย นอนกัดฟัน เขาเรียกอะไร ติดเขี้ยวเคี้ยวฟัน นอน ใจไม่สบายอยากจะลุกไป ทำให้เร่าร้อนใจ อ้าวทีนี้ก็เณรวุฒิ นึกไม่ออกเลยบทอื่นนอกจาก อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เอาละ เอาที่เป็นสาระสำคัญ ความหมายที่เป็นสำคัญ เอาเฉพาะความหมายก็ได้ไม่ต้องเอาตัวบาลี หรือไม่มีบทใดประทับใจ หรือว่าชอบหลายบทเกินไปเลยกำหนดไม่ได้
เณร : คนล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร
มีตัวบาลีว่ายังไง เอ้าให้คำต้น วิริเยน
เณร : ทุกฺขมจฺเจติ
อ้าว เณรลองว่าให้เป็น
เณร : วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ
คนล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร หมายความว่า เอาชนะความยากลำบากได้จนกระทั่งสำเร็จผลก็ได้ด้วยความเพียร ชอบบทนี้เหรอ ความหมายดี ชอบก็ต้องเอาจริง อ่อจำบทนี้ได้แม่นกว่า ถ้าประทับใจมากชอบมากก็เอาไปปฏิบัติ อันที่จริงตัวจำก็ไม่ได้สำคัญอะไรมาก มันอยู่ที่เข้าใจความหมายและก็เอาไปใช้ ทีนี้เราเข้าใช้ความหมายและใช้ มันก็ถ้าให้ดีก็ต้องจำตัวหลักได้ ถ้าจำได้แล้วความหมายก็อยู่ การปฏิบัติก็จะได้มีที่กำหนด มีที่ยึด มีหลักให้ เพราะคนเราจะทำอะไรนี่ก็ต้องมีหลักในใจเกิดขึ้นก่อน เริ่มจากความคิด ความคิดก็ต้องมีตัวจับตัวยึดก่อน ก็คือการที่เรามีสติ สติไปกำหนดไประลึก ทีนี้สติก็ต้องมีหลักยึดเหมือนกัน เพราะถ้าไม่มีหลักให้ยึดก็ไม่รู้ไปจับอะไรมา เพราะฉะนั้นเราต้องมีสติ สติก็ต้องมีหลัก เพราะฉะนั้นการที่เราจำพวกหลักใจไว้หรือพุทธภาษิตเอาไว้ ก็เพื่อให้สติเอาไปใช้ได้ง่ายๆ พอมีไว้พร้อมแล้ว มีวัตถุดิบ มีเครื่องมือมีอะไรไว้พร้อม สติมันทำงานมันจับได้ไว เพราะฉะนั้น ค้นควานหาสติมาแล้วควานหาอะไรไม่ได้ มันก็เลยเคว้งคว้างและได้ผลไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นที่เขาให้จำพุทธภาษิต หลักธรรมอะไรต่างๆ ไว้นี่ก็เพื่อให้มีสิ่งสำหรับสติจะได้หยิบฉวยมาใช้ได้ทันที นี่เป็นเรื่องพุทธภาษิตก็ขึ้นกับว่าใครจะชอบอะไร พุทธภาษิตทุกอันก็มีความหมายดีๆ ทั้งนั้น ทีนี้อยากจะถามความหมายของคำบางคำบ้าง คำว่าสังคายนานี่อะไร
เณร : เรียบเรียง จัด
เรียบเรียงจัด ในที่นี้หมายถึงเรียบเรียงจัดอะไร
เณร : ก็พอได้ความ
ใครจะให้ความหมายอื่นได้ไหม คำว่า สังคายนา แปลว่าจัดให้เรียบร้อย จัดให้เป็นหมวดหมู่ ภาษาโบราณ ใช้คำว่า ร้อยกรอง ก็เหมือนอย่างดอกไม้ที่กระจัดกระจายอยู่อย่างนี้ แล้วเราเอามาร้อยกรองก็หมายความว่า เราเอามาเสียบมาร้อยเข้ามันก็เป็นพวงเป็นอะไรให้เรียบร้อย มันก็เป็นระเบียบ เป็นลำดับขึ้นมา ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีลำดับ เป็นระเบียบเป็นลำดับแล้วก็เกิดความเรียบร้อย อย่างพระไตรปิฎกท่านจัดไว้เป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นลำดับแล้ว คนอ่านรู้เข้าใจลำดับก็มาค้นง่ายว่าอะไรอยู่ที่ไหน ถ้าหากว่ามันกระจัดกระจายก็ลำบากเวลาศึกษาเล่าเรียนด้วยตนเอง แล้วมันก็กระจัดกระจายหายไป ของที่ไม่ได้ร้อยกรองไม่ได้จัดไว้ อย่างดอกไม้ที่ว่าเดี๋ยวมันก็กระจายโดนลมปลิวหายไปไหนหมด แต่ถ้าร้อยไว้แล้วมันก็อยู่ด้วยกันเลยเป็นปึกเป็นแผ่น นี่เรียกว่าสังคายนา ใครทำสังคายนา
เณร : คณะสงฆ์
คณะสงฆ์ ครั้งแรกนี่ใครพอจำได้ไหมว่าทำเมื่อไหร่ ครั้งแรกนะครับ ครั้งที่ 1 พระเจ้าอโศกก็ทำเป็นผู้อุปถัมภ์ใหญ่แต่ว่าเป็นครั้งที่ 3 ครั้งที่ 1 เวลาเราพูดถึงสังคายนานี่เราเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลักหลังปรินิพพานไปแล้ว นานซักเท่าไหร่ ไหนครั้งที่ 1 นะหรือ ครั้งแรกเลย เพราะว่าพอพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระผู้ใหญ่ก็เกรงว่าถ้าขืนปล่อยไว้เนี่ยคำสอนกระจัดกระจายหมด
เณร : 3 เดือน
เพราะฉะนั้นท่านก็ไม่ได้แล้ว ขืนปล่อยไว้เดี๋ยวหมด คำสอนหายหมด ท่านก็เลยรีบประชุมทำสังคายนา รวบรวมประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้ามาร้อยกรอง จัดเป็นหมวดเป็นหมู่เป็นพวกให้เรียบร้อย และทรงจำกันไว้ก็อยู่จนกระทั่งบัดนี้ ถ้าไม่มีการสังคายนาก็หมด กระจัดกระจายหายสูญหมด สังคายนานี่ใครพอจะจำบุคคลสำคัญในการสังคายนาได้บ้าง ครั้งที่ 1 ที่จริงก็ไม่จำเป็นต้องจำ แต่ว่าถามเป็นเหมือนความรู้รอบตัว เวลาเขาเอาความรู้รอบตัวทางพุทธศาสนามา ก็จะได้อ้าวนี่คนนี้ ใครเคยได้ยินชื่อพระอานนท์บ้าง พระอานนท์มีบทบาทอะไรในการสังคายนาครั้งที่ 1 หรือเปล่า มีแล้วทำหน้าที่อะไร หลายองค์ก็รวบรวมด้วยกันครั้งนั้น ทีนี้หน้าที่พิเศษของพระอานนท์ที่รวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้า พระอานนท์มีบทบาทพิเศษคือว่าเป็นผู้ที่ตอบคำถาม นำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าธรรมะมาบอกกับที่ประชุมทั้งหมด พระอานนท์ทำหน้าที่คู่กับพระอะไร ธรรมะคู่กับอะไร พระอานนท์เป็นฝ่ายที่รวบรวมธรรมะ ทีนี้ธรรมะคู่กับอะไร
เณร : อธรรม
ไม่ใช่นั่นฝ่ายไม่ดี นี่มันของดีมารวบรวม อธรรมจะรวบรวมไปทำไม รวบรวมอะไรรวบรวมมาเป็นพันปี ที่เราเอามาปฏิบัติ เวลาบวชปั๊บพระก็ต้องให้อะไร ให้อะไร
เณร : ศีล
ศีลนี่คือพวกอะไร
เณร : วินัย
วินัยใช่มะ ธรรมะก็คู่กับวินัย ธรรมะเป็นตัวหลักความจริง เป็นไปตามธรรมดา ตามธรรมชาติ วินัยเป็นบทบัญญัติที่วางกันไว้ในสังคม เราอยู่กันเป็นหมู่คณะเราต้องวางวินัย วินัยก็มีพระที่ทำหน้าที่ ชื่อพระอะไรพอจะจำได้ไหม ชื่อพระอุบาลี เคยได้ยินบ้างไหม พระอุบาลี บุคคลสำคัญที่ทำหน้าที่ในการสังคายนาครั้งที่ 1 ก็มีพระอานนท์ ฝ่ายรวบรวมธรรมะ และพระอุบาลีรวบรวมวินัย แล้วใครเป็นประธาน เป็นพระสำคัญองค์หนึ่ง ชื่อพระอะไร อ้าวบอกให้ พระมหากัสสปะหรือมหากัสสป เคยได้ยินชื่อหรือเปล่า เคยแต่ลืมหมด ก็ 2-3 องค์นี้มีความสำคัญ ที่สำคัญมากก็พระมหากัสสัปปะเป็นประธาน พระอานนท์ก็ตอบเรื่องธรรมะ พระอุบาลีก็ตอบเรื่องวินัย นี่แหละ อ้าวแล้วพระอรหันต์ตั้ง 500 องค์ และ 3 องค์นี้สำคัญ เวลาจัดเป็นพระไตรปิฎกนี่ใครบอกได้ไหมว่าพระไตรปิฎกมีอะไรบ้าง เป็นหลักของพระศาสนาที่สำคัญเราก็ควรจะรู้จัก ธรรมะคู่กับวินัยเวลาเรามาจัดเป็นคัมภีร์ก็แบ่งออกเป็นหมวดเป็นหมู่ เอาว่าไตรปิฎกนี่พอจะทราบความหมายไหมแปลว่าอะไร ไตรแปลว่าอะไรครับ
เณร : สาม
สาม ไตรสาม ไตรลักษณ์ ไตรรัตนะ ไตรรงค์ ไตรอะไรเยอะไปหมด ไตร สาม แล้วปิฎกล่ะ
เณร : คำสอน
ปิฎกแปลว่า ตำราหรือคัมภีร์ มาจากคำว่า ตะกร้า ของเดิมแปลว่า ตะกร้าคือที่รวมของ ตะกร้าคือที่ใส่ของทำให้ของอยู่เป็นที่ ตำรานี่ก็เหมือนตะกร้าเป็นที่เก็บรวบรวมความรู้ไว้ ก็เลยเรียกปิฎก ปิฎกก็คือตำราหรือคัมภีร์ ตำราเรียกทางศาสนามักจะเรียกว่าคัมภีร์ ก็คือคัมภีร์ใหญ่ คัมภีร์สำคัญ 3 คัมภีร์ ใครพอจะทราบว่ามีอะไรบ้าง พอได้ไหม
พระไตรปิฎกเป็นหลักของพระศาสนาเรา ที่เราจะรู้คำสอนของพระพุทธเจ้าก็รู้มาจากพระไตรปิฎก พระที่เรียน เอามาศึกษาเล่าเรียนกันนี่ ธรรมะที่เราเรียนทั้งหมดมาจากพระไตรปิฎก วินัยต่างๆ ปฏิบัติก็มาจากพระไตรปิฎก เหมือนอย่างฝรั่ง คริสต์เขาก็มีคัมภีร์อะไร
เณร : คัมภีร์ไบเบิล
ไบเบิล ชาวพุทธก็มีพระไตรปิฎก ทีนี้ชาวพุทธเรามีพระไตรปิฎก เราก็ต้องรู้ว่าเรามีอะไรเป็นหลัก 3 คัมภีร์ ที่บอก 3 คัมภีร์ ก็ต้องรู้ว่าคัมภีร์อะไรบ้าง เฉลยให้ 1. วินัย เรามักจะเติมพระลงไปข้างหน้า ของที่เราเคารพนับถือจะเติมพระข้างหน้าเรียกว่า พระวินัย ธรรมะนี้เป็นตัวหลักเลย ธรรมะกับวินัย ทีนี้เรามาจัดในคัมภีร์ละ คำสั่งสอนทีนี้เราต้องการแยกประเภท มีพระวินัย แล้วก็ 2. พระสูตร แล้วก็พระอะไรเอ่ย 3. พระอภิธรรม ใช่ไหม พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ถ้าเรียกภาษาพระเขาเรียกว่า พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก เรียกง่ายๆ ว่า พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม
พระวินัยก็รวบรวมเกี่ยวกับบทบัญญัติเกี่ยวกับหมู่คณะ คณะสงฆ์จะอยู่ได้อย่างไร แต่ละองค์ต้องประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไร อย่างไรถูก อย่างไรผิด การประชุมกันต้องทำยังไง จะทำเรื่องกฐินปวารณา เรื่องการบวชจะทำอย่างไร นี่เรื่องวินัยทั้งนั้น เป็นกิจกรรมของการอยู่ร่วมกัน ทีนี้พระสูตรคืออะไร พระสูตรคือคำเทศนาพระพุทธเจ้าที่ไปสั่งสอนคนนั้นคนนี้ ใครมาถามปัญหาพระองค์ตอบไปก็รวบรวมมา ทีนี้ต่อไป พระอภิธรรมคืออะไร ถามเรื่องอะไรก็ตอบเรื่องนั้น แล้วไปพบใครก็ตอบให้เหมาะกับคนนั้น ธรรมะในพระสูตรนี้ก็เรียกว่าไม่สม่ำเสมอ แล้วก็ไม่ได้จัดลำดับชัดเจนเพราะว่าขึ้นกับว่าไปพบกับใครสอนใคร แต่ทีนี้ในอภิธรรมนั่นเขาไม่เอาบุคคลมาเกี่ยวข้องเลย เอาแต่หลักวิชาแท้ๆ บรรยายตามเนื้อหา เอาเนื้อหาเป็นหลักไม่เอาคนเกี่ยวข้องเลย ทีนี้ก็ ก็เนี่ยมีพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ในฐานะชาวพุทธเราควรจะจำได้นะว่าคัมภีร์หลักศาสนาของเราคือพระไตรปิฎก มีพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม อ้าวนี่ถามไปนิดๆ หน่อยๆ อีกอย่างที่อยากจะถาม เรียนธรรมะไปเยอะๆ มีหลายหมวดทีเดียวล่ะ มีหมวดไหนที่ชอบใจเป็นพิเศษ ทีนี้เอาเรื่องหลักธรรมต่างๆ ที่มีอย่างนั้น 3 อย่างนั้น 4 อย่างนั้น 2 อย่างนั้น 5 อะไรอย่างนี้
เณร : รวมที่ท่านสอนด้วยไหม
รวมด้วยก็ได้ เอาหมด ธรรมะเกี่ยวกับอะไรที่จัดเป็นหมวดเป็นข้อที่ชอบ เณรต้นก็เคยบอกทีละที่ชอบ
เณร : อริยสัจสี่
อ่อ ชอบอริยสัจสี่ ชอบในแง่ไหน อ๋อ ดับทุกข์ได้ บางคนก็ชอบในแง่เป็นเหตุเป็นผล เป็นหลักความจริงที่เป็นเหตุเป็นผล อ๋อ ประยุกต์ในการแก้ปัญหาทุกอย่าง ก็เป็นหลักธรรมในการแก้ปัญหา อ้าวคนอื่นองค์อื่น
เณร : ชอบทิศหก
เณรกล้าชอบทิศหก ชอบเพราะอะไร
เณร : เราต้องอยู่กับสังคมอีกมาก
อ่อ เราก็ต้องสัมพันธ์กับเค้าให้ดี ถ้ามีความสัมพันธ์ดีก็ทำให้ชีวิตในสังคมมีความสุข จำได้ไหมทิศหกมีอะไรบ้าง
เณร : มีพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ สามีภรรยา เพื่อน บ่าวไพร่ พระสงฆ์
อ้อ ก็จำได้ดี ก็มีความสัมพันธ์กับทิศเหล่านั้นให้ถูกต้อง ก็จะทำให้มีชีวิตที่เจริญงอกงาม สังคมก็จะมีความสันติสุข เณรวุฒิล่ะ ชอบหลักอะไร
เณร : มิตร
มิตรแท้ มิตรเทียมล่ะ พอจะบอกได้ไหม มิตรแท้มีกี่ประเภท บอกได้สักประเภทไหม มิตรแท้ประเภทไหนที่ชอบที่สุด นั่นสิกัลยาณมิตรประเภทไหน เขามีแยกตั้งหลายแบบใช่ไหม มิตรอะไร มิตรที่มีอุปการะ มิตรแบบว่ามิตรที่มีใจรักใคร่เรา มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์มีไหม ชอบมิตรประเภทไหนมากที่สุด
เณร : มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
เหรอ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ พอจะรู้ไหมลักษณะเป็นยังไง ลักษณะตรงนี้ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ลักษณะเขามีหลายอย่าง ก็เอาไว้ไปทวนนะไปทวนอีกที เณรเต็มล่ะครับ
เณร : สังคหวัตถุ 4
อ้อ ชอบสังคหวัตถุ 4 เป็นยังไงชอบสังคหวัตถุ 4
เณร : ก็เอา ... (57.42 เสียงไม่ชัดเจน)
ไปใช้กับเพื่อนๆ ได้ไหม เณรเต็มพอบอกได้ไหมครับว่ามีอะไรบ้าง
เณร : ทาน ปิยะวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา
จำได้แม่นดีนะ เอ้ ท่องหรือเปล่า หรือถูกใจแล้วจำได้
เณร : จำได้ ทานกับปิยะวาจา อีก 2 อันเณรต้นช่วยตอบ
เหรอ ช่วยเติม พอจะเข้าใจความหมายหรือเปล่า ทานนี้ทำยังไงถึงจะเป็นทาน
เณร : ทาน ก็ให้พวกที่
อย่างอยู่กับพี่น้องกับเพื่อนแล้วเรามีของอะไรก็แบ่งปันกันเผื่อแผ่กันแจกกันอย่างนี้เรียกทานหรือเปล่าครับ เรียกทานไหม เรียกทาน ทานก็ให้แบ่งปันกันเผื่อแผ่กันถึงเรียกว่าทานใช่ไหม ถ้าเราไม่รู้จักให้กันนี่สังคมไม่มีความสุขมันต้องมีการเผื่อแผ่กันบ้าง ปิยะวาจาเกี่ยวกับอะไร
เณร : พูดเพราะ
อ่อ พูดเพราะ พูดคำที่แสดงใจรัก แสดงความปรารถนาดีแนะนำหวังประโยชน์ แล้วอัตถจริยาล่ะ
เณร : ช่วยเหลือ
ช่วยเหลือด้วยเรี่ยวแรงกำลังทั่วๆ ไป พวกประเภทกิจกรรม เพราะเวลาเราช่วยเหลือนี่ 1. เราช่วยเหลือด้วยการแบ่งปันสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทอง หรือแม้แต่ให้ความรู้ก็เป็นทานนะ ทีนี้ 2. ให้ด้วยถ้อยคำ ช่วยด้วยถ้อยคำ 3. ช่วยด้วยเรี่ยวแรงกายของเรา มันเป็นด้านได้ของชีวิต แล้วสมานัตตตา คืออะไร
เณร : วางตัวเสมอต้นเสมอปลาย
อ้า วางตัวดี วางตัวเสมอต้นเสมอปลาย วางตนในทางสมานสามัคคีผูกใจกัน ใช่ไหม 4 ข้อ เอ อันนี้เณรต้นเคยชอบนี่ แต่ก่อนนี้ตอนถามว่าชอบอะไร ชอบสังคหวัตถุ 4 เณรต้น แต่ก็ใช้ได้ มาเรียนอริยสัจเพิ่มก็ไปชอบอริยสัจก็จำได้ก็ดีละ อันไหนก็ทวนๆ กันไว้บ้าง อันที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิต เคยได้ยินอิทธิบาทบ้างไหม
เณร : เคย
แล้วไม่รู้สึกไม่ชอบบ้างเหรออิทธิบาท
เณร : ชอบแต่ชอบไม่มาก
อ๋อ ชอบไม่มาก อิทธิบาทเป็นตัวทำให้เกิดความสำเร็จ ก็ทวนกันแต่พอสมควร นี้ก็เป็นเรื่องต่างๆ ที่เราเล่าเรียนศึกษา ภาษาอังกฤษเราก็มีเรียนบ้างแต่ก็ไม่ได้เรียนลึกซึ้งอะไร เรียนทั่วๆ ไป เรียนนิทานชาดกอะไรพวกนั้น ไม่ได้ในแง่ของตัวศัพท์ธรรมะโดยตรงมากมายอะไร เป็นเพียงว่ามาเสริมความรู้เรื่องภาษาแล้วก็ได้คติธรรมไปในตัว เราเรียนชาดกก็ได้คติไปด้วย บางทีมีภาษิตพ่วงประกอบไป แล้วก็เรียนศาสนพิธี ศาสนพิธีนี่ถ้าจะให้ว่า ว่าได้บ้างหรือเปล่า ใครว่าคำอะไรได้ซักอย่างไหม
เณร : อาราธนาปริตร
อาราธนาปริตร อาราธนาศีล ว่าได้ไหมครับ ได้เหรอ อ่อเณรต้นได้ ก็ได้อย่าง อาราธนาธรรมก็นานๆ ใช้ที อาราธนาอะไรใช้บ่อยที่สุด
เณร : ศีล
อาราธนาศีลใช้บ่อย รองลงไปก็เป็นอาราธนาพระปริตร ได้หมดทุกองค์หรือเปล่าเนี่ย
เณร : ได้แต่อาราธนาศีล
เณรวุฒิได้ไหมครับ
เณร : ได้แต่อาราธนาศีล
ได้แต่ศีล ไหนเณรวุฒิลองว่าซิ
เณร : ต้องพร้อมๆ กัน
เอ้อ ต้องพร้อมกันซะแล้วองค์เดียวว่าไม่ได้ ไหนลองว่าพร้อมกันซิ สมมติว่าตอนนี้เป็นคฤหัสถ์ ก็ให้พนมมือขึ้นพร้อมกันแล้วก็ว่า
เณร : มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
เอาล่ะ สาธุ ใช้ได้ จำได้ ก็ไปได้นะเณรวุฒิน่ะ จริงๆ ต้องกล้าว่าองค์เดียวก็ได้ ไหวนี่เณรวุฒิว่าได้ ทีนี้เวลาว่าต้องว่าเสียงดังชัดถ้อยชัดคำ เราฟังวิทยุตอนเขาออกรายการ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ ใช่ไหม นี่ต้องอย่างนี้ อ้าวใครอาสาอาราธนาพระปริตรมั่ง ได้ไหมครับ อ้างลองดูซิ พนมมือทุกคนต่อด้วย
เณร : วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา สัพพะทุกขะวินาสายะ ปริตตัง พรูถะ มังคะลัง วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา สัพพะภะยะวินาสายะ ปริตตัง พรูถะ มังคะลัง
อ้าวสาธุดีแล้ว ท่องได้แม่นเลยทีนี้ อย่างนี้ก็เรียกว่าอย่างน้อยในแง่ของการปฏิบัติดำเนินชีวิตนี่เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมองไม่เห็น แต่ส่วนที่ชัดก็พวกนี้ พวกพิธีกรรมอะไรต่างๆ การแสดงออกทางกายวาจา พวกคำพูด สิ่งที่จดจำไว้ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงว่า เหมือนกับว่าการบวชเราได้อะไรบ้าง อย่างน้อยก็ได้สิ่งเหล่านี้ไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการที่อยู่ร่วมกับสังคม ในการที่ไปปฏิบัติกิจกรรมของหมู่คณะอะไรต่างๆ มันก็ได้ประโยชน์ละอย่างน้อย อันนี้ก็เป็นส่วนต่างๆ เรามาบวชกันได้แล้วอย่างนี้ก็ แม้เราจะบวชไม่นานแต่มันก็เป็นช่วงหนึ่งของชีวิต ถ้าเราทำให้ดีเราก็ได้กำไรชีวิต ทีนี้เวลาต่อไปภายหน้าเราก็จะมองมาข้างหลังด้วยความจดจำที่ดีงาม ว่าตอนนั้นเราได้บวชอยู่ และเราก็ได้เล่าเรียนศึกษา และเราก็ได้ความรู้อย่างนี้มาบางอย่างก็นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป บางอย่างเราก็ไม่เห็นชัดว่ามันเป็นประโยชน์แต่มันอยู่ลึกๆ เข้าไปข้างใน เป็นเรื่องของการสะสมค่อยๆ สั่งสมไป บางทีมันทำให้เรามีจิตน้อมสนใจในเรื่องนั้น และต่อไปเราก็ไปหาเพิ่มเติมเอาไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่นี้ มันเป็นฐานของการเจริญงอกงามต่อไป เพราะการบวชของเราก็มุ่งที่การฝึกฝนพัฒนา เราก็ต้องถามตัวเองว่า เราเข้ามาบวชนี้ได้สมชื่อแก่การบวชเรียนได้ฝึกฝนพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้นไหม ถ้าเราบวชแล้วเราได้ฝึกฝนพัฒนาก็ถือว่าเป็นประโยชน์ที่สมวัตถุประสงค์ของการบวช อาจจะต้องถามตนเองว่าเราบวชแล้วได้อะไรบ้าง พอได้ตอบตัวเองว่ามีสิ่งที่ได้ละก็มีความปีติอิ่มเอิบใจได้ เอาล่ะก็ขออนุโมทนาเณรทุกองค์ วันนี้ก็คุยมานานเดี๋ยวจะได้เวลา ก็พรุ่งนี้ก็จะถึงกำหนดแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้ก็เลยถามความรู้อะไรต่างๆ ที่เล่าเรียนกันมา ก็เอาล่ะพอสมควรแก่เวลา เณรก็จะได้ไปเตรียมตัวในกิจกรรมส่วนต่อไป เอาเท่านี้