แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพรวันนี้จะหันมาเล่าเรื่องชาดกดูบ้าง และก็เป็นชาดกเป็นบางแง่ในเมืองไทยนี่สมัยก่อนเราได้ยินเรื่องชาดกกันเรื่อย และชาดกที่นำมาเล่ากันบ่อยที่สุดเป็นประจำทุกปีก็คือเวสสันดรชาดก เป็นชาดกเรื่องที่ยาวที่สุด เรียกกันว่าเทศน์มหาชาติ มหาชาติก็แปลว่าพระชาติใหญ่ ก็หมายความว่าการที่พระพทุธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรเนี่ยเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็เรียกอีกอย่างนึงว่าคาถาพัน คาถาพันก็เพราะว่ามีพันคาถา คือเวสสันเนี่ยมีทั้งหมดหนึ่งพันคาถาพอดี ชาดกเรื่องอื่นๆก็มีคาถาน้อยลงไปตามลำดับ จนกระทั่งเรื่องสั้นๆก็มีคาถาเดียว เทศน์มหาชาติ หรือคาถาพัน หรือมหาเวสสันดรชาดกนี้ก็ทำกันมาเป็นประเพณี เวสสันดรชาดกนั้นท่านถือว่าเป็นชาติที่บำเพ็ญทาน เป็นทานบารมีนั่นก็การเทศน์มหาชาติเรื่องเวสสันดรนี้ก็เท่ากันเป็นการหล่อหลอมอุปนิสัยใจคอคนไทย ให้เป็นผู้ที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบบริจาคทาน คนไทยเราก็เลยได้ชื่อว่าเป็นคนใจคอโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจคอกว้างขวาง ก็เป็นที่รู้กันทั่วไป ก็เป็นเรียกกันว่ามีน้ำใจดี เป็นหนักในเรื่องมีน้ำใจ ทีนี้ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกนั้นตอนนี้สำหรับคนไทยสมัยใหม่ก็ไม่ค่อยได้พูดถึงกันบ่อยแล้วกลายป็นเรื่องของคนเก่าๆ และมาตอนนี้ได้ทราบว่ามีการทำออกโทรทัศน์ทำเป็นบทภาพยนตร์โทรทัศน์ขึ้น ก็มีการปรึกษาถึงเนื้อความบางตอนก็มีตอนหนึ่งอะที่เขาเป็นปัญหากันว่า เออพระโพธิสัตว์หรือพระเวสสันดรนั้นอะทำอย่างนี้ถูกไหม หรือมีเหตุผลอย่างไร ตอนนี้ก็คือตอนที่บริจาคพระโอรสธิดาแล้วก็พระมเหสีเป็นทานไป พระโอรสก็คือพระชาลีแล้วก็ธิดาก็กัณหา แล้วพระมเหสีหรือพระชายาก็คือพระนางมัทรี เรื่องบริจาคโอรสธิดาแล้วชายาไปเป็นทานนี้ก็ อาตมาก็เคยถูกฝรั่งถามเหมือนกันเขามักจะว่า เอ้ พระเวสสันดรทำอย่างนี้ไม่ถูก เรื่องอะไรไปสละลูกเมียให้คนอื่นเป็นทาน อย่างนี้จะถือว่าเป็นการที่ทำทานแท้หรือเปล่า มันก็เป็นการเห็นแก่ตัวหรือเปล่าอะไรอย่างเนี้ย ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา ถ้าเรามองในแง่การบำเพ็ญบารมี บารมีแปลว่าคุณธรรมที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด ปกติก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก การบริจาคโอรสธิดาแล้วก็ชายาเนี่ยย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ยากแน่นอน เพราะว่าคนเราก็ย่อมรักลูกรักเมีย ทีนี้พระเวสสันดรนี่ท่านสามารถสละได้ ก็เป็นเรื่องที่ใหญ่โตมาก ที่นี้พระเวสสันดรมีเหตุผลอย่างไรในการสละ ท่านก็รักของท่าน ท่านรักมากทีเดียวไม่ใช่ว่าไม่รักที่สละนั้นก็มีความรัก แต่ตามเรื่องนั่นท่านบอกว่าเพราะท่านเห็นแก่โพธิญาณ เห็นแก่ความตรัสรู้ เห็นแก่ประโยชน์ของคนจำนวนมาก เพราะว่าท่านจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วท่านจะได้ช่วยเหลือมนุษย์จำนวนมากมายให้พ้นจากความทุกข์ ท่านยอมสละบุคคลที่ใกล้ชิดสองสามคน เพื่อเห็นแก่คนจำนวนมากเพื่อเห็นแก่โพธิญาณ เพื่อเห็นแก่หลักการ อันนี้ก็เป็นการที่ว่าตามหลักฐานเหตุผลเบื้องต้น เพราะฉะนั้นจึงมีคำกล่าวว่าพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์นั้นต้องเห็นแก่โพธิญาณมากกว่าเห็นแก่สิ่งที่รักใคร่หวงแหนอาดูรทั้งหมด และก็ว่าที่จริงผู้ที่ว่าจะตรัสรู้ได้เป็นพระพทุธเจ้าก็จะต้องหมดความหวงแหนด้วย ก็จะต้องไม่มีความหวงแหนอยู่ในใจหมายความว่า จะสละได้แม้แต่สิ่งที่คนทั่วไปเขาทำไม่ได้ ทำได้อย่างยากเย็นที่สุด ในการเอาชนะจิตใจตนเองขั้นสุดท้าย แล้วก็โพธิสัตว์ก็ได้พิสูจน์ตนเองว่าทำได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของบุคคลผู้มีจิตใจยิ่งใหญ่ หมายความจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วถ้าทำขั้นนี้ไม่ได้ก็ไม่สามารถบรรลุโพธิญาณ ก็เป็นผูกพันเครื่องพันธนาการขั้นสุดท้าย นี้พระโพธิสัตว์ก็เอาชนะใจตนเองได้สามารถสละได้แม้แต่สิ่งที่รักใคร่หวงแหนที่สุด เป็นอันว่าเป็นผู้มีจิตใจพร้อมแล้วที่จะได้บรรลุโพธิญาณ แต่ทีนี้นอกจากเหตุผลอย่างนี้แล้วยังมีเหตุผลอะไรอีก ถ้าหากว่าพระโพธิสัตว์ทำไปโดยไม่พิจารณาสละไปแล้วก็ปล่อยให้ลูกเมียไปตกระกำลำบาก อย่างงี้ก็จะถือว่าเป็นการทำถูกต้องได้หรือ เพราะว่าพระโอรสธิดานั้น ก็ธรรมดาพ่อแม่กับลูก พ่อแม่นี่ก็จะต้องมีความรับผิดชอบต่อลูก สามีก็จะต้องมีความรับผิดชอบต่อภรรยา การที่จะสละละทิ้งเขานี่ตามปกติทางโลกก็ถือว่าไม่ใช่สิ่งสมควร อ้าวละที่ว่าสละสิ่งที่หวงแหนที่สุดนี่แสดงว่าความมีจิตใจยิ่งใหญ่นั่นก็เป็นอันยอมรับ แต่ที่นี้การที่ว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อบุตรภรรยานี่จะถือว่าดีได้อย่างไร ก็มาลองพิจารณาในแง่ความรับผิดชอบ ก็พระเวสสันดรนี่ทำต่อลูกต่อเมียโดยไม่มีความรับผิดชอบปล่อยให้เขาตกระกำลำบากหรือเปล่า พอพิจารณาเรื่องพระเวสสันดรบริจาคพระชาลีกัณหาแก่พราหมณ์ชูชก ตอนนั้นพระเวสสันดรอยู่ในป่า อยู่ในป่านี่ก็เพราะถูกเนรเทศไป พระบิดาคือพระเจ้ากรุงสนชัยนั้น ต้องขับไล่เพราะว่าประชามติ เสียงประชาชนให้ขับไล่ ก็ไปอยู่ในป่าที่เขาวงกตแล้วก็ไปบำเพ็ญพจน์ พระเวสสันดรก็เป็นฤาษี แล้วก็เก็บผลไม้รับประทาน ตามเรื่องก็ว่าเป็นอยู่ด้วยความลำบากอดอยากยากแค้น นี่ก็เป็นอันว่าทั้งครอบครัวโดยเฉพาะเด็กเล็กๆสองคนกัณหาชาลีนั้นก็ต้องพลอยตกระกำลำบากด้วย ลองพิจารณาในทางเหตุผลว่าเมื่อพระเวสสันดรบริจาคชาลีแก่กัณหากับพารหณ์ชูชกนั้น เพราะว่าพราหมณ์ชูชกเป็นคนดุร้าย คอยชอบคอยเฆี่ยนตี แล้วก็เป็นพราหณ์ที่รูปร่างไม่น่าดู แต่ว่าจะทำไงได้ก็มีพราหณ์ชูชกนี่แหละเข้ามาถึงที่นั่นแล้วมาขอ นี่พิจารณาในแง่พระโพธิสัตว์นึกถึงว่าถ้ารักลูกจริงหวังดีต่อลูก คนที่หวังดีต่อลูกนั้น มิใช่หมายความว่าจะต้องรักผูกพัน มีความรักแล้วจะต้องให้อยู่ใกล้ๆ แต่จะต้องคิดถึงอนาคตของลูก อนาคตของลูกก็คือชาลีกัณหานั้นจะต้องเติบโตไป แล้วก็เป็นลูกกษัตริย์สมควรจะได้ครอบครองแผ่นดินหรืออย่างน้องก็ได้มีโชคชะตาชีวิตที่มีสมควรแก่ชาติกำเนิดของตน แล้วถ้ามาอยู่ในป่าอย่างนั้นอยู่กับพ่อกับแม่ก็ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนอะไร แล้วก็ไม่รู้จักสังคม ไม่รู้จักการเป็นอยู่ร่วมกับผู้อื่น เติบโตขึ้นมาต่อไป ถ้าโตขึ้นแล้วไปเข้าสังคมจะเป็นอยู่กับคนอื่นปรับตัวได้หรือ แล้วก็ไม่เคยได้ดิ้นรนต่อสู้ในสังคมก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามองในแง่นี้แล้ว พระเวสสันดรก็ต้องพิจารณาว่า จะต้องหาทางให้ชาลีกัณหานั้นเข้าไปอยู่ในเมืองได้เติบโตขึ้นในท่ามกลางผู้คน ได้รู้จักดิ้นรนต่อสู้ รู้จักฝึกฝนอบรมตน จะได้ดำเนินชีวิตที่ประสบความสำเร็จในบ้านเมืองได้ ท่านก็ต้องพิจารณาว่ายังไงก็ตามเนี่ย เมื่อเด็กทั้งสองนี้ได้เข้าไปอยู่ในเมือง ห่างไกลพ่อแม่ก็เหมือนอย่างกับเด็กลูกคนบ้านนอกปัจจุบันเนี่ยมาอยู่ห่างไกลพ่อแม่มาเพื่อการศึกษาเล่าเรียน ถึงแม้จะตกระกำลำบากบ้างแต่ก็ยังมีทางเป็นไปแล้วท่านก็เห็นอยู่แล้วว่าถึงไงชูชกนี่ก็เป็นคนวรรณะพราหณ์ วรรณะพราหมณ์ก็เป็นคนวรรณะสูง ถึงยังไงก็มีฐานะพอเป็นอยู่ได้ แล้วก็เด็กนี่ก็จะได้เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เรียกว่ามีทางที่ได้รับการศึกษาอบรมตนอยู่พอสมควร ก็พระโพธิสัตว์คงได้พิจารณาแล้วว่าจะต้องพยายามให้เด็กทั้งสองนี่ได้เข้าไปอยู่ในสังคมบ้างเมือง ไปเติบโตมีการศึกษา ไม่เป็นการศึกษาในชั้นเรียนโดนตรงก็เป็นการศึกษาโดยอ้อม โดยการที่ว่าได้รับความรู้ได้ประสบการณ์ได้พบเห็นสิ่งต่างๆเนี่ย ฝึกฝนพัฒนาตนขึ้นไป นี่ก็เป็นแง่หนึ่งที่ว่าท่านต้องคำนึงถึงอนาคตของชาลีกัณหาเหมือนกันจึงให้ไปได้ ว่าถึงยังไงก็ยังดีกว่าจะปล่อยให้อยู่ในป่าอยู่กับพ่อแม่เอาแต่ความรักกันเข้าว่า เสร็จแล้วต่อไปลูกอาจจะไปประสบปัญหาชีวิตในเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ก็ได้ งั้นยอมให้เด็กเนี่ยต้องลำบากบ้างดีกว่า ก็ตัดความรักกันออกไป นี่ก็ในงี้ก็เท่ากับว่าเอาเหตุผลเอาประโยชน์ของลูกมา มาเป็นเครื่อง มาเป็นเหตุผลใหญ่มาเป็นหลักในการพิจารณาตัดสินที่จะเอาชนะความรักใคร่ผูกพันส่วนตัวก็ยอมให้ไป แล้วประการที่สองก็คืออย่างที่กล่าวเมี่อกี้ ก็คือที่เป็นอยู่ในป่านั้นก็มีความอดอยากยากแค้นที่นี้เมื่อให้ลูกไปอยู่ในบ้านในเมืองแล้วถึงยังไงก็คงจะมีความเป็นอยู่ดีขึ้นบ้าง แล้วพระโพธิสัตว์ก็เตรียมการไว้พร้อม จะเห็นว่าตอนที่ท่านจะให้แก่ชูชกไปเนี่ย ท่านให้แล้วท่านก็บอกแม่นเลยทีเดี่ยว นี่นะท่านเอาเด็กทั้งสองเนี่ยไปขายให้แก่พระเจ้าแผ่นดินสญชัย ท่านจะได้รับพระราชทานทรัพย์เป็นอันมากเพราะว่าชูชกนี่แกต้องการเงิน ที่นี้พระโพธิสัตว์ก็รู้ว่าแม้ว่าให้ไปที่พระเจ้าสญชัยแล้วไปขายเด็กนี่ก็จะได้เงินบ้าง แต่ชูชกก็กลัวว่าเดียวพระเจ้าสญชัยหาว่าไปลักลูกเขามาก็จะโดนลงโทษอาจจะประหารชีวิตเสีย แกก็ไม่ยอมจะเอาไปเป็นทาสให้ภรรยารับใช้ ก็แต่ยังไงก็ตามพระโพธิสัตว์ก็วางขั้นตอนไว้อีกขั้นหนึ่ง ในการที่จะหาทางให้ลูกได้คือทางที่จะได้มีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองเกิดขึ้นก็คือตีราคา เมื่อเขาเอาไปเป็นทาสก็ตีราคาว่าจะมีคนมาไถ่ให้เป็นไทได้เนี่ย ตีค่าตัวท่านก็ตีค่าตัวให้สูง ว่าชาลีนั้นต้องทองคำพันลิ่มแล้วก็กัณหานั้นมีช้างม้าวัวควายทาสีทาสาอะไรอะอย่างรวมทั้งทองคำอย่างละหนึ่งร้อย นี่ตีราคาไปว่าจะไถ่ตัวได้ด้วยมูลค่าเท่านี้ แล้วจึงยอมให้ไปเพราะมูลค่าที่ท่านให้ไปเนี่ย ก็หมายความว่าต้องเป็นชนชั้นสูงต้องเป็นชนชั้นมหากษัตริย์เท่านั้นจึงจะมาสามารถไถ่ตัวไปได้ ก็ไถ่ตัวไปแล้วก็จะได้ไปเป็นอยู่ดีขึ้น นี่ท่านก็เตรียมทางของท่านไว้อย่างนี้ แสดงว่าหนึ่งท่านก็เห็นแก่โพธิญาณด้วย สามารถที่จะทดสอบความเข้มแข็งของจิตใจของตนเองในการที่จะมีความเสียสละได้อย่างถึงที่สุด แม้กระทั่งบริจาคบุตรภรรยา เพราะฉะนั้นท่านก็ทำอย่างมีเหตุผลเพื่อให้ลูกของตัวเองเนี่ยได้มีทางที่จะเจริญก้าวหน้าต่อไปด้วย อันนี้ก็เป็นส่วนที่เกี่ยวกับลูก แล้วที่นี้ก็เกี่ยวกะชายาล่ะ คือพระนางมัทรีต่อมาพระอินทร์ก็แปลงมาเป็นพราหมณ์แล้วก็มาของพระนางมัทรี พระนางมัทรีก็พระเวสสันดรก็มอบให้กับพรหมณ์นั้นไปอีก แต่ว่าพราหมณ์นั้นเป็นพระอินทร์ปลอมมา พระอินทร์ก็เลยถวายคืน อันนี้จะแก้ว่ายังไง อันที่หนึ่งก็เหมือนกับเมื่อกี้ก็คือแสดงว่าท่านมีน้ำใจมีจิตใจยิ่งใหญ่ที่สามารถเอาชนะตนเองกำจัดความหวงแหน ความผูกพันในทางส่วนตัวได้ แต่ประการที่สองต้องมองในแง่ว่าท่านเสียสละที่ว่าท่านอยู่ป่า แล้วถ้ามีเพื่อนอยู่ด้วยท่านก็สบายขึ้น พระนางมัทรีก็มาช่วยหุงหาอาหารมาช่วยเก็บผักผลไม้มา นี้ถ้าหากว่าพระนางมัทรีไปแล้วพระเวสสันดรจะสบายขึ้นหรือ หามิได้ก็ตอบยิ่งยากลำบาก นี่ก็แสดงว่าท่านเสียสละยอมให้ตัวลำบากและก็คิดถึงพระนางมัทรีว่าอยู่ร่วมกับพระองค์เนี่ยลำบากมากอยู่ในป่าอดๆอยากๆถ้าไปกับพราหมณ์เสียก็จะได้มีความสุขสบายขึ้น นี่ก็เป็นแง่พิจารณา ว่าท่านมองท่านเล็งเหตุผลส่วนโลกุตระที่จะบำเพ็ญคุณธรรมคือบารมีให้ถึงที่สุดเอาชนะจิตใจตนเองในแง่กำจัดความหวงแหนได้ แล้วก็พิจารณาในแง่ประโยชน์ของผู้อื่นที่ท่านเกี่ยวข้องนั้นด้วย นี่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระเวสสันดรเป็นข้อพิจารณาเหตุผลในการที่ท่านได้ทำบุตรทานและภริยาทาน นี่ก็มีผู้มากล่าวถึงแม้แต่พระพุทธเจ้าในภพชาติปัจจุบันมีบางคนกล่าวหาบอกว่าพระพุทธเจ้าเนี่ย เป็นเจ้าชายสิทธัตถะตอนนั้นหนีออกบวชก็ละทิ้งลูกเมียก็แสดงว่าไม่มีความรับผิดชอบ ทิ้งพระนางยโสธราพิมพาไว้ในวัง ทิ้งพระราหุลที่พึ่งเกิดใหม่ให้อยู่ในวังเป็นพ่อที่ไม่มีความรับผิดชอบ โดยมีผู้กล่าวหาทำนองนี้เหมือนกัน นี้เราจะดูว่าใครเป็นจะทิ่งหรือไม่เนี่ยจะต้องดูว่าทำให้เขาลำบากหรือเปล่า พระพุทธเจ้าไปตอนนั้นเป็นเจ้าชายสิทธัตถะหนีออกบวชไปสบายหรือไปลำบาก เราก็เห็นได้ชัดว่าพระองค์ไปลำบาก ไปต้องสละความเป็นอยู่สุขสบายทรัพย์สินสมบัติอยู่ในวังอันแสนสบาย มีอาหารการรับประทานมีวังอยู่อะไรแต่เสร็จแล้วสละออกบวชต้องนุ่งห่มอย่างพวกยาจก แล้วก็อาหารก็ต้องขอทานเขารับประทานแล้วก็อยู่ในป่าที่นอนที่อยู่อาศัยก็ไม่มี ก็อยู่ด้วยความลำบากยากแค้นแสนสาหัสแล้วเร่ร่อนไปเรื่อยๆ เจ้าชายสิทธัตถะนี่สละความเป็นอยู่ที่สุขสบายไปลำบาก ฉะนั้นจะเรียกว่าละทิ้งได้ยังไงในเมื่อตัวเองไปลำบาก ส่วนลูกเมียก็ปล่อยให้อยู่กะวังให้อยู่ในความดูแลของพ่อแม่ก็มีความสุขในทางร่างกายต่อไป ถ้าจะว่าก็จะพลัดพรากกันในทางจิตใจเท่านั้นละที่จะมีความทุกข์ แล้วที่คนที่ว่าอย่างงี้มักจะเป็นฝรั่ง เพราะฝรั่งนั้นมีประเพณีที่ว่าเมื่อใครมีครอบครัวแล้วต้องไปรับผิดชอบกันเอง พ่อแม่เขาไม่เกี่ยวข้องที่มันไม่เหมือนประเพณีทางตะวันออก มันมีประเพณีทางตะวันออกนั้นเมื่อแต่งงานแล้วก็ยังอยู่กับพ่อกับแม่ พ่อแม่ก็ยังช่วยเหลือคุ้มครองดูแลเต็มที่ เพราะฉะนั้นพระนางยโสธราพิมพากับพระราหุลก็อยู่ในความดูแลคุ้มครองของพระเจ้าสุทโธทนะต่อไป ก็เป็นอยู่สุขสำราญในทางกายได้ไม่เหมือนอย่างของฝรั่งที่ว่าแต่งงานไปแล้วพ่อแม่ก็ไม่ยุ่งด้วย งั้นจะเอาประเพณีของฝรั่งมาตัดสินไม่ได้ เป็นอันว่าพระโพธิสัตว์นั้นสละไป เป็นการเสียสละไม่ใช่เป็นการละทิ้งเพราะตนเองเป็นฝ่ายไปอยู่ด้วยความสำบากยากแค้น และก็ปล่อยให้ภรรยาและบุตรอยู่ในความสุขสบายต่อไป ที่นี้พิจารณาอีกแง่หนึ่งเราลองมองดูว่า อย่างผู้ที่ไปรบเมื่อเกิดสงครามขึ้นก็มีทหาร ทหารนี่ก็ต้องละทิ้งบ้านเรือนต้องสละลูกเมียออกไปทำการรบราฆ่าฟัน มีใครติเตียนทหารบ้างว่าเห็นแก่ตัว ก็ติเตียนไม่ได้มีแต่ต้องยกย่องกัน ว่าทหารนี่เสียสละไป เสียสละต้องจากลูกจากเมียไป รอนแรมไปในสนามรบ ต้องรบราฆ่าฟันบางทีถึงสละชีวิต ก็คนที่ยอมเสียสละไปทำสงครามไปรบกันเนี่ยเรายังยกย่องสรรเสริญ ที่นี้พระโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะเนี่ยท่านเสียสละทรัพย์สมบัติละทิ้งลูกเมียไปเนี่ย เพื่อไปช่วยทำให้คนไม่ต้องรบกันแล้วเราจะไม่ยกย่องได้อย่างไร พระองค์ก็ต้องเสียสละพระองค์เหมือนกัน ตอนที่ออกไปนั้นก็ยอมแล้วว่าจะเป็นตายร้ายดีก็ไป ก็เพื่อจะค้นหาโพธิญาณให้สำเร็จจะช่วยเหลือมุนษยชาติ และการช่วยเหลืออย่างหนึ่งก็คือเพื่อให้โลกมีสันติมีความสงบสุข เพื่อให้เขาไม่ต้องทำสงครามกัน หรือถ้ามีสงครามก็ให้มันน้อยลงไป ก็เท่ากับว่าพระองค์นี่ไปเพื่อจะช่วยให้คนไม่ต้องรบกัน เป็นการช่วยสงวนชีวิตคนอื่นไว้เป็นอีกจำนวนมาก เป็นคราวที่ห้ามสงครามระหว่างพระญาติก็ช่วยชีวิตโลก ทหารนักรบเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินไว้เป็นอันมากมาย อันนี้ก็เป็นเรื่องของการเสียสละ ถ้าพิจารณาไม่เข้าใจก็อาจจะเข้าใจเป็นว่าพระเวสสันดรหรือพระโพธิสัตว์รวมถึงเจ้าชายสิทธัตถะเนี่ยไม่มีความรับผิดชอบ แต่ความจริงนั้นท่านทำการเสียสละแล้วได้พิจารณาแล้วเป็นอย่างดี อันเนี้ยอาตมาภาพก็เลยนำเอาข้อคิดเรื่องพระเวสสันดรและเรื่องพระโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะมากล่าวไว้เป็นความรู้ประกอบอันหนึ่งในรายการเล่าเรื่องให้โยมฟังนี้ ก็คติที่สำคัญก็คือเรื่องของความเข้มแข็งของจิตใจที่ว่า ผู้ที่จะมีจิตใจยิ่งใหญ่อย่างพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีจิตใจเป็นอิสระหลุดพ้นอย่างแท้จริงนั้นจะต้องเอาชนะความทุกข์ยากเดือดร้อนทั้งทางร่างกายและจิตใจ จะต้องเอาชนะกิเลสในใจของตัวเอง ความรู้สึกแม้แต่ความยึดถือผูกพันส่วนตัวความรักใคร่หวงแหนในที่สุดก็ต้องเอาชนะได้ เพื่อจะได้บรรลุคุณความดีที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น อันนี้ก็เป็นคติอย่างหนึ่ง เราเห็นคติปทาของพระพุทธเจ้าว่าท่านทำมาได้แล้วเราเป็นสาวกก็จะได้มีกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องและทำได้อย่างพระองค์ถึงแม้ทำไม่ได้เต็มที่เท่าพระองค์ก็ทำได้แต่เพียงบางส่วนก็จะช่วยให้ชีวิตของเรา มีความสุขความเจริญงอกงามหรือมีความเป็นอิสระแล้วก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายมากขึ้นก็อยู่ได้ด้วยความสงบสุขแล้วก็เมื่อเราตัดปัญหาเหล่านี้แล้วเราก็จะคิดทำในสิ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์สุขอย่างอื่นๆต่อไปไม่หยุดยั้ง ก็จะเกิดเป็นบังเกิดเป็นผลดีต่อไป สำหรับวันนี้อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาโยมได้เล่าเรื่อไว้ในรายการพระโพธิสัวต์พระเวสสันดรและเจ้าชายสิทธัตถะเพียงเท่านี้ ขออนุโมทนา