แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ตอนนี้ก็มีข่าวสำคัญ ข่าวอะไรครับ ทุบพระพรหม พระพรหมมาแล้ว พระพรหมมีกี่หน้า พระพรหมมี 4 หน้า แล้วพรหมวิหารก็มี 4 ข้อ ก็คือเป็นหลักธรรมะที่มาเทียบเคียงกับพระพรหม พระพรหมนี่เป็นเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ ชื่อก็บอกแล้ว พรหม พราหมณ์ พระพรหมเป็นเทพเจ้าสูงสุด เป็นผู้สร้างสรรค์บันดาลโลก แล้วก็สร้างสรรค์บันดาลสังคมมนุษย์ทั้งหมด นี่ตามหลักศาสนาพราหมณ์ ทางศาสนาพราหมณ์เขาก็มีพระพรหมเป็นผู้สร้างโลกบันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างภาษาไทยเราจะได้ยินอย่างคำว่า พรหมลิขิต เคนยได้ยินไหมครับ คนไทยไม่น้อยเชื่อพรหมลิขิต นึกว่าเราจะเป็นยังไง ชีวิตเราจะเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ประสบความสำเร็จหรือไม่ เป็นยังไง
ก็เป็นที่พรหมลิขิต พรหมลิขิตก็มาจาก พรหม กับ ลิขิต ลิขิตแปลว่าอะไร เขียน ก็แปลว่าชีวิตเรา โชคชะตาของเรา พระพรหมท่านเขียนให้ไว้แล้ว ถูกไหม ก็แก้ไขอะไรไม่ได้สิถ้างั้น ทีนี้พุทธศาสนาไม่ยอมรับหลัก แต่ว่าคนไทยทั้งๆ ที่เป็นพุทธก็ยังไปเชื่อมพรหมลิขิต ผิดไหมครับ ก็ผิดนะสิ ไปเชื่อได้ยังไง ก็ตัวเป็นพุทธ ไปเชื่อศาสนาพราหมณ์ ถ้าพระพรหมลิขิตเอาไว้หมดแล้ว เราก็ทำอะไรได้ล่ะ ก็ต้องเป็นไปตามท่าน แก้ไขไม่ได้ ทางพุทธเราไม่ได้ยอมให้ยอมตามนั้น ต้องเพียรพยายาม ใช้สติปัญญาความสามารถพัฒนาตนเอง เพื่อจะได้สร้างชีวิตให้ดี พัฒนาตัวเองได้ ทีนี่ศาสนาพราหมณ์ก็มีพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก พระพรหมนี่ก็เป็นใหญ่อยู่เดิม แล้วต่อมาศาสนาพราหมณ์ก็วิวัฒนาการตนเองขึ้นมา นานๆ เข้าก็มีเทพเจ้าเกิดขึ้น เทพเจ้าบางองค์ที่เคยเล็กก็ใหญ่ขึ้นมา ใหญ่มากๆ ก็ชักจะข่มพระพรหม พระเจ้าที่ใหญ่ขึ้นมาอีก 2 องค์ ก็คือพระนารายณ์ ก็ใหญ่มากเหมือนกันนะ แต่มาใหญ่ยุคหลัง พระพรหมมีมาแต่เดิม นารายณ์เพิ่งมียุค เอาง่ายๆ ว่าก่อนศาสนาคริสต์ไม่นาน แต่ว่าของพระพรหมนี่มีก่อนพุทธศาสนาตั้งนาน มีมาแต่เดิม พระพรหมท่านใหญ่มาแต่เดิม ต่อมาพระนารายณ์ชักใหญ่ขึ้นมา มีผู้นับถือมากขึ้น ก็เกิดเป็นนิกายที่นับถือพระนารายณ์ ก็ถือว่านารายณ์ใหญ่กว่าพระพรหม พวกที่นับถือพระนารายณ์ เขาก็กลายเป็นสร้างนิกายขึ้นมาใหม่ ให้นารายณ์ใหญ่กว่าพระพรหม พระนารายณ์มีชื่ออีกอย่างว่าพระวิษณุ องค์เดียวกัน จะไว้ด้วย วิษณุ นารายณ์ องค์เดียวกัน สองแล้วนะ พระพรหมกับพระนารายณ์ ทีนี้อีกองค์หนึ่งคือพระอิศวร เคยได้ยินไหม คนไทยได้ยินหมดแหละ พระอิศวรก็ใหญ่มาก อีกพวกหนึ่งก็ไปนับถือพระอิศวร พวกที่นับถือพระอิศวรก็จัดให้พระอิศวรใหญ่กว่าพระนารายณ์ เอาล่ะสิ ทีนี้ก็แข่งกัน ฝ่ายพวกนับถือพระอิศวรก็มีตำนานแต่งขึ้นมาว่าใหญ่กว่าพระนารายณ์ ทีนี้อิศวรมีชื่ออีกชื่อว่าพระศิวะ เคยได้ยินชื่อไหมครับ เคยนะ ตกลงได้ยินหมดแหละ ก็ทวนอีกทีหนึ่ง มีพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์ เดิมมีองค์เดียวคือพระพรหม เป็นผู้สร้างผู้บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง ต่อมามีอีก 2 องค์ ก็คือพระนารายณ์ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่าพระวิษณุ กับพระอิศวรซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่าพระศิวะ เป็น 3 องค์
3 องค์นี้ ต่อมาเขาก็มีวิวัฒนาการ ก็เป็นเรื่องที่อาจจะทำให้มีความสามัคคีอะไรก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของเขา เขาก็ถือว่า 3 องค์นี้ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ทรีอินวัน 3 ใน 1 3ก็เป็นอันเดียวกัน แล้วก็ตั้งชื่อขึ้นมาว่า ตรีมูรติ เคยได้ยินไหมครับ ไปได้ยินจากไหน ตรีมูรติ
สามเณร : ที่โรงเรียนก็มีสอนครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อ้าว ทำไมไปสอนเรื่องนี้ล่ะ
สามเณร : ก็มันอยู่ในวิชาสังคม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ตรีมูรติ บางคนไปได้ยินเพราะว่ามีรูปปั้น พระตรีมูรติ อยู่ที่ไหนแห่งหนึ่ง กรุงเทพฯ นี่ เดี๋ยวนี้มีคนไปนับถือมาก ท่านทราบไหม มีศาลพระตรีมูรติ ก็แบบเดียวกับพระพรหมเอราวัณ แล้วพระนารายณ์มีที่ไหน แล้วก็มีพระตรีมูรติ เดี๋ยวนี้กรุงเทพฯเที่ยวมีกันวุ่นหมด ตั้งศาลกัน ศาลพระตรีมูรตินี่ก็มีคนไปไหว้เยอะ ตรีมูรติก็คือ 3 องค์รวมกัน กลับมาเรื่องพระพรหมอีกนิดหนึ่ง เริ่มต้นไว้แล้วยังพูดไม่จบ พระพรหมณ์เป็นผู้สร้างโลกตามคติศาสนาพราหมณ์ เทพเจ้าสูงสุดนี้ พอพระพรหมท่านยิ่งใหญ่ ก็เป็นเหมือนอุปมาว่าท่านมีดวงตาที่มองเห็นรอบหมดทั่วจักรวาลทุกทิศ ก็เลยสร้างคติว่ามีสี่หน้า สี่หน้าก็ครบทุกทิศใช่ไหม เห็นหมดเลยนะ ถ้าเราหน้าเดียวเราก็เห็นได้ด้านเดียว ทีนี้พระพรหมท่านเห็นหมดสี่ทิศเลย ก็รู้หมดเลย ทีนี้ทางพุทธศาสนาเราก็เกิดขึ้นมาในถิ่นที่นับถือศาสนาพราหมณ์ แต่เราไม่ได้นับถือความยิ่งใหญ่ของพระพรหม แต่ว่าพุทธศาสนาก็ไม่ได้ดูถูกดูหมิ่นใคร ไม่เบียดเบียนใคร พระพรหมก็ยังอยู่ได้ พระพรหมก็เลยเกิดมีฐานะใหม่ เป็นสัตวโลกชั้นสูง สัตวโลกชั้นที่หนึ่ง ชั้นสูง คือหมายความว่าโลกนี้มีสัตว์ประเภทต่างๆ รวมทั้งมนุษย์ด้วยนะ มนุษย์ก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ทีนี้สัตว์ต่างๆ เหล่านี้มีหลายระดับที่มีสติปัญญามีคุณความดี มีธรรมะสูงก็เราเรียกว่าเป็นพวกเทวดา เทวดาก็เป็นระดับขึ้นไป เช่นเทวดาชั้นโลกบาล4 ชั้นดาวดึงส์ ชั้นดุสิต อะไรพวกนี้ เคยได้ยินชื่อไหม จนกระทั่งสูงขึ้นไปก็เป็นพระพรหม แล้วพระพรหมนี่ก็มีอีก 16 ชั้น นี่เป็นชั้นรูปพรหม แล้วยังมี อรูปพรหม อีก 4ชั้น เยอะแยะหมด เป็น 20 ชั้นเลยพระพรหมเนี่ย เอาละ เป็นอันว่าพระพรหมก็เยอะแยะ พระพรหมก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง เป็นสัตว์ชั้นสูง แต่ไม่ใช่เป้นผู้สร้างโลก แล้วพระพรหมนี้ก็เวียนว่ายตายเกิดได้ พระพรหมนี่เมื่อหมดบุญ หมดความดี ก็กลับมาเกิดในภพต่ำ มาเป็นมนุษย์ หรือถ้าทำไม่ดีก็ไปเกิดในนรกได้ ทีนี้คนทุกคนอย่างมนุษย์เรานี่ ถ้าหากว่าพัฒนาจิตใจดี ได้ฌานสมาบัติ สมาธิชั้นสูง ตายก็ไปเกิดเป็นพระพรหมได้ พรพรหมก็ไปจากมนุษย์นี่แหละ ไปจากสัตว์ทั้งหลายนี่ ที่จะพัฒนาจิตใจได้ดี เอาล่ะ นี่ก็พระพรหม ก็มีความหมายใหม่ อย่างพระพรหมที่เอาราวัณเนี่ย ให้ไปดูสิ เขาบอกไว้เลย บอกพระพรหมนี่ท่านจะมาออกรับการไหว้บูชาเซ่นสรวงของมนุษย์ตอนค่ำทุกวัน เว้นวันพระ ท่านอ่านหรือเปล่า รู้ไหม อยู่ต้องรู้ทันเขา ท่านมารับการบูชา ทุกวันเว้นวันพระ แล้ววันพระท่านไปไหนรู้ไหม ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ นี่เขาบอกว่าอย่างนี้นะ เขาบอกเขาเองนะ ไม่ใช่เราว่า เขาว่า แสดงว่าพระพรหมนี่เป็นพระพรหมที่ยอมมานับถือพุทธศาสนาแล้วใช่ไหม วันพระไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพรหมที่เอราวัณนี่แหละ วันพระไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ฉะนั้นใครจะไปหาพระพรหมต้องเว้นวันพระ คนไทยเรานี่เวลานับถืออะไร คิดแต่ว่าจะเอา บูชา อยากได้โน่นได้นี่ แล้วไม่รู้เรื่องสิ่งที่ตัวไปบูชา อย่างพระพรหมที่ตัวไปขอ ไปเซ่น ยังไม่รู้เลยว่าท่านเป็นยังไง ท่านมายังไง ใช่ไหม แย่ คนไทยนี่ขาดการเรียนรู้ ไม่ศึกษาเลย ต้องเตือนโยมนะ วันพระไปขอไม่ได้ ต้องไปขอวันธรรมดา ต้องเว้นวันพระที่จะไปขอพระพรหม วันพระพระพรหมท่านขอโอกาสไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทีนี้ชาวบ้านไม่รู้ก็ปฏิบัติผิด หนึ่ง- ไปขอทุกวันเลย ไม่เว้นวันพระ ผิดแล้วใช่ไหม ขอได้ทุกวันต้องเว้นวันพระ หนึ่งล่ะ สอง-ไม่สนใจพระพรหมบ้าง เอาแต่ใจตัว ขออย่างเดียว ไม่นึกถึงพระพรหมบ้าง มีใจเผื่อแผ่ ใครถามพระพรหมบ้าง พระพรหมครับเมื่อวานนี้วันพระ ท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมอะไรมา ผมจะได้ฟังบ้าง สาม-ที่สำคัญเลยนะ ก็คือเป็นการบอกให้รู้ว่าทั้งพระพรหมและเราชาวบ้าน ก็มาพบกันวันธรรมดา เรามีเรื่องของชาวบ้านมาขอ เดือดร้อนมีทุกข์มีภัย แต่พอวันพระแล้ว ทั้งพระพรหมและทั้งชาวบ้านก็ไปวัด ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าไปไหว้พระพุทธเจ้าด้วยกัน นี่พระพรหมท่านก็เป็นพุทธศาสนิกชน แล้วชาวบ้านก็เหมือนกัน เรามีหน้าที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง ก็คือพอถึงวันพระก็ไปทำหน้าที่ของตน ต่างก็ไปไหว้พระพุทธเจ้า ไปฟังธรรม เอานะวันพระพระพรหมท่านก็ไปไหว้พระพุทธเจ้า เราก็เหมือนกัน ก็มีหน้าที่ไปไหว้พระไปวัดฟังธรรม ก็คือโบราณเขาหาทางออกไว้ให้ ให้มันมีช่องพัฒนาบ้าง ทำได้อย่างนี้ก็เจริญงอกงาม โล่งใจ ยังมีช่องให้เจริญบ้าง ไม่งั้นปิดช่องเจริญหมดเลย ขอผลดลบันดาลท่าเดียว ไม่เอาไหน เอาล่ะ นี่ให้เรารู้ไว้หน่อยว่าพระพรหมที่เอราวัณเนี่ย เขาสร้างกันขึ้น เปิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 กี่ปีแล้ว ตั้งแต่พ.ศ. 2499 มาถึงปัจจุบัน
สามเณร : 50 ปี
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็ถือว่า 50 ปีพอดี นี่พระพรหมเอราวัณได้ 50 ปี หนังสือพิมพ์บอกคู่บ้านคู่เมือง คู่บ้านคู่เมืองอะไร แค่ 50 ปี ว่ากันไปได้ ดูสิคนไทย อย่างนี้เขาเรียกว่าพูดส่งๆ ใช่ไหม ก็เป็นอันว่าท่านมีประวัติมาอยางนี้ ได้ 50 ปี แล้วเรื่องของท่านเองก็บอกอย่างนี้ บอกว่าท่านออกรับเครื่องเซ่นมนุษย์ทุกวันเว้นวันพระ เพราะวันพระไปเฝ้าพระพุทธเจ้า คนไทยไม่ในใจเลย จะเอาอย่างเดียว ก็น่าจะไปถามพระพรหมบ้าง ท่านครับเมื่อวานวันพระท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าแสดงธรรมว่าไงบ้างครับ ผมจะได้ฟังบ้าง ใช่ไหม ว่าเอ้อ
พระพุทธเจ้าฝากคำสอนอะไรมาให้พวกเราบ้างไหม ยังดีใช่ไหม ถามอย่างนี้บ้าง ไม่ถามเลย เอาอย่างเดียว สังคมอย่างนี้ไม่ไหวนะ ต้องพัฒนาแล้ว ไม่รู้ไม่ชี้อะไรทั้งนั้นเลย เอาอย่างเดียว เขาเรียกว่าสังคมรอผลดลบันดาล ต้องระวังนะ หวังลาภลอย คอยผลดลบันดาล คนไทยไม่น้อยเป็นอย่างนี้ จริงไม่จริง หวังลาภลอยก็คือยังไง ก็หวังลาภจากถูกหวย ล็อตเตอรี่ คือมันไม่รู้มันจะถูกไม่ถูก มันแล้วแต่จะลอยมา ก็คือเลื่อนลอยนั่นแหละ ลอยก็คือเลื่อนลอย คอยผลดลบันดาลเป็นยังไง
สามเณร : กราบสักการะให้คำอธิษฐานเป็นจริง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็ไปขอไง ไปเซ่นไหว้ แล้วก็ไปบนเอา เจ้าประคู้ณ เดี๋ยวนี้เลยเรียกว่า คอยผลดลบันดาล ไปขอท่านแล้ว บนแล้ว ใช่ไหม ก็คอยไปสิ เพราะตัวเองทำไม่ได้นี่ ใช่ไหม มันก็ต้องรอให้ท่านดลบันดาลให้ ทีนี้พุทธศาสนานี่เป็นศาสนาแห่งเหตุปัจจัย ใช้ปัญญา เราก็ต้องเรียนให้รู้เหตุปัจจัย แล้วก็ทำเหตุปัจจัยไม่ต้องไปคอย อย่าไปคอยอยู่ ถ้าไปคอยท่านเรียกว่าประมาท ถูกไหม ฉะนั้นลัทธิหวังลาภลอย คอยผลดลบันดาลนี่ มองตามหลักพุทธศาสนาก็คือลัทธิแห่งความประมาท ก็ผิดหลักพุทธศาสนา ทีนี้ชาวพุทธเรานี่มันเลื่อนลอย ไม่ค่อยรู้คำสอนของพุทธศาสนาเอง ก็เลยเที่ยวเฉไฉเข้าไป ประพฤติผิดๆ ถูกๆ ไปเชื่อเรื่องไม่เป็นเรื่อง ที่จริงไม่ใช่พุทธศาสนา อย่างที่ว่าพระพรหมนี่ท่านก็เป็นพุทธเหมือนกัน คือท่านนับถือพุทธศาสนาแล้ว พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาแล้ว พระพุทธศาสนาแผ่ขยายเข้าไป พระพระหมก็เลยกลายมาเป็นพุทธได้เยอะ มีเรื่องในพระไตรปิฎกด้วยนะ
พระโมคคัลลานะไปปราบพระพรหม ไปอ่านดูได้ในพระไตรปิฎก ไปปราบพระพรหม แล้วก็มีเพลงหนึ่ง ที่เราได้ยินบ่อยๆ เพลงนี้ก็เกิดเรื่องระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระพรหม ไม่ใช่เฉพาะพระโมคคัลลานะกับพะพรหมนะ พระพุทธเจ้าก็เคยไปปราบพระพรหม สมัยก่อนเวลาไปปราบอย่างนี้ เขาใช้คำว่าทรมาน พระพุทธเจ้าไปทรมานพระพรหม เอ๊ะ อย่างนั้นพระพุทธเจ้าจะเมตตาหรือ ทำไมไปทรมาน ทรมานแปลว่าอะไรครับ ทำให้เจ็บปวด นี่ภาษาไทยเรานี่ก็เป็นตัวอย่างคำเพี้ยน อ้าว ทำความเข้าใจซะ ทรมานนี่นะ ภาษาบาลีว่า ทะ-มะ-นะ แล้วนี่ตัวเดียวกับคำว่า ทมะ เคยได้ยินไหม ทมะ สัจจะ ทมะ สันติ จาคะ เคยได้ยินไหม ได้ยิน มาในหลักที่เรียกว่าฆาราวาสธรรม 4 ทมะแปลว่าอะไรเอ่ย ทมะแปลว่าฝึก คำว่าทรมานเนี่ยมันก็มีความหมายเป็นทมะนี่แหละ คือไปฝึก หมายความว่าไปทำให้คนดีขึ้น ไปฝึกเขาให้เขาเปลี่ยนแปลงจากที่มันเคยไม่รู้ไม่มีปัญญา มันโง่ ให้มีปัญญาขึ้น เขาเรียกว่าฝึก เขาเป็นคนไม่ดี เป็นคนพาล ก็ทำให้เป็นบัณฑิต ก็เรียกว่าฝึก คำว่าทรมานก็คือไปเปลี่ยนนิสัย ทีนี้พระพุทธเจ้าไปทรมานพระพรหมก็คือ ไปเปลี่ยนแปลงพระพรหมให้ดีขึ้น ให้ท่านเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนความเข้าใจใหม่ให้ถูกต้อง ไม่ใช่ไปทรมานให้เจ็บปวด นี่ภาษาไทยมันเพี้ยนไป เข้าใจซะ ทีนี้เล่าให้ฟังเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องของดนตรีไทยด้วย เวลาพระจะขึ้นเทศน์ ปี่พาทย์เขาจะบรรเลงเพลงหนึ่ง เคยได้ยินไหมเอ่ย ใครใกล้ชิดกับประเพณีไทยบ้าง เคยได้ยินไหมเวลาพระจะเทศน์ เขาเรียกว่าเพลงสาธุการ ไม่ทันแล้วสมัยนี้ เป็นเพลงที่เพราะมาก เวลาพระจะขึ้นเทศน์
ปี่พาทย์เขาจะบรรเลงเพลงสาธุการ ก็เรื่องมันก็เป็นมาอย่างนี้ เดี๋ยวนี้มันเข้ามาเป็นเรื่องตำนาน เข้ากับวัฒนธรรมประเพณี ก็คือมีเรื่องว่าพระพุทธเจ้าไปทรมานพระพรหม พระพรหมองค์นั้นชื่อว่า พกา คนไทยเรียกว่า พกาพรหม ทีนี้พกาพรหม ท่านเป็นพรหมท่านก็ถือว่าท่านยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นผู้สร้างผู้บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วท่านก็ไม่เกิดไม่ตาย ท่านก็อยู่อย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ไปทรมาน ก็คือไปแก้ความเข้าใจผิด ที่จริงท่านไม่ใช่ว่าไม่เกิด ไม่ตายหรอก คือพรหมเข้าใจผิด ตัวเองมีอายุยืนจนกระทั่งว่ามันทวนระลึกไปไม่ไหว นึกไปเมื่อไหร่ ตัวก็ยังอยู่ ก็เลยคิดว่าตัวไม่เกิดไม่ตาย ที่แท้ไม่จริง พระพุทธเข้าไปแก้ความเข้าใจ พระพุทธเจ้าก็ไปสนทนากับพระพรหมชื่อว่า พกาพรหม ตอนหนึ่งก็ทดลองฤทธิ์กัน อันหนึ่งก็คือบอกว่าลองหายตัวกัน แล้วหา เขาเรียกว่าซ่อนหาแหละ ซ่อนหาแบบนี้ก็คือหายตัวไปเลย หายตัวไปแล้วอีกฝ่านต้องบอกได้ว่า อยู่ไหน เรียกตัวกลับมา ถ้าบอกได้ อีกฝ่ายก็ต้องแพ้ ใช่ไหม ตกลง พระพรหมหายตัวก่อน พระพรหมก็หายตัวไป จะไปอยู่สะดือทะเล ใต้มหาสมุทร สุดจักรวาลไหน พระพุทธเจ้าชี้ได้หมด พระพุทธเจ้าเจออยู่นี่ ไปสุดจักรวาลไหนพระพุทธเจ้าเจออยู่นี่ พระพรหมยอมชั้นที่หนึ่ง ก็หนีไม่รอดแล้ว ก็ถึงทีตาพระพุทธเจ้าบ้าง พระพุทธเจ้าหายตัวบ้าง ให้พระพรหมหา พระพุทธเจ้าก็หายตัว หายพระองค์วิบ พระพรหมมี 4 พักตร์ มองเห็นทั่วจักรวาลหมด เอ อย่างนั้นก็ยังมองไม่เห็น จนกระทั่งในที่สุดอ่อนใจ เอาละ ยอมแล้ว พระพุทธเจ้าอยู่บนเศียรพระพรหม พระพรหมบอกว่ายอมแล้ว ออกมาเถอะ พระพุทธเจ้าวางเงื่อนไขว่ายังไม่ลง ต้องเชิญลง ต้องแต่งถ้อยคำให้ไพเราะ เชิญลง นี่แหละก็เป็นที่มาของเพลงสาธุการ ก็คือเพลงที่พระพรหมแต่งขึ้นเพื่ออัญเชิญพระพุทธเจ้ส เพลงสาธุการก็เกิดขึ้นในดนตรีไทย เวลาพระจะขึ้นเทศน์ก็บรรเลงเพลงสาธุการ พระก็เดินขึ้นธรรมมาสน์เทศน์ นี่พระพรหมก็เชิญพระพุทธเจ้าเสด็จลงมา อันนี้ก็เป็นส่วนตำนานของไทยแล้ว แต่ว่าไปเชื่อมกับเรื่องในพระไตรปิฎก เรื่องในพระไตรปิฎกนั่นไม่เหมือนอย่างในไทยหรอก แต่ว่าในไทยนี่เราเอามาเล่าให้คนไทยฟังง่ายๆ เพราะชาวบ้านจะไม่เข้าใจเรื่องลึกซึ้ง ทีนี้พระพุทธเจ้าตรัสในนั้นมันเป็นคำสอนที่เป็นปรัชญา ทีนี้ชาวบ้านจะเข้าใจยังไง คนไทยเราที่เป็นบรรพบุรุษก็ฉลาด จะเอามาสื่อสารกับชาวบ้าน ก็ต้องแต่งเป็นเรื่องให้มันสนุก ก็เป็นเรื่องเป็นราวอีกแบบหนึ่ง นี่เรื่องในวัฒนธรรมประเพณีมีรากฐานมาจากพุทธศาสนา ท่านจะได้รู้ไว้ พระพรหมก็เป็นอันว่ามีสี่พักตร์ เห็นสัตว์ทั่วไปหมด ทั่วจักรวาล ทีนี้พุทธศาสนานั้นไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องพระพรหมและอำนาจยิ่งใหญ่ คือธรรมเป็นใหญ่ ก็เปลี่ยนจากเทพสูงสุดเป็นธรรมะสูงสุด ก็เอาธรรมะคือความจริงนี้มาให้มนุษย์ศึกษาเล่าเรียน ให้รู้ความจริงและปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็เลยเอาหลักเกี่ยวกับเรื่องพระพรหมนี่มาใช้ในความหมายใหม่ พรหมที่มีในพุทธศาสนา หนึ่ง-ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ เป็นสัตวโลกที่แสนประเสริฐ ที่ได้สมาธิ ได้ฌานสมาบัติ ได้สัตวโลกที่ประเสริฐก็ต้องมีคุณธรรมความดี โดยเฉพาะจิตที่สูงที่เป็นสมาธิเนี่ย จิตที่เป็นสมาธิ จิตดีนี่ก็มีคุณสมบัติ ท่านก็ให้หลักที่ว่ามนุษย์จิตยังไงจะเป็นจิตที่ดี จะเป็นจิตที่ช่วยให้อยู่ร่วมกันในโลกอย่างมีสันติสุข มนุษย์แต่ละคนควรจะรับผิดชอบต่อโลกด้วย ไม่ใช่รอให้พระพรหมมาสร้าง ตัวเองได้แต่ทำลาย เราทุกคนนี่แหละสร้างสรรค์บันดาลโลกได้ ด้วยการที่เรากระทำต่างๆ ทำไม่ดีเราก็ทำลายโลก ถูกไหม ที่เราเบียดเบียนกันอย่างนี้ก็คือทำลายโลก ถ้าช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็ช่วยสร้างสรรค์โลกใช่ไหม นี่แหละพระพุทธเจ้าก็ทรงเอาจุดนี้ บอกมนุษย์เรานี่แหละ ไม่ต้องไปมัวมองเทพเจ้าหรอก พวกเธอนี่แหละ ทุกคนเราต้องรับผิดชอบช่วยกันสร้างโลกให้ดี เราก็มาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประพฤติดีต่อกัน มีความสัมพันธ์ที่ดี ก็มาจากคุณธรรมในใจ ก็ต้องมีคุณธรรมที่ดี คุณธรรมที่ดีที่มีต่อกันที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ถ้วนหน้า ก็จะเหมือนพระพรหมที่มี 4 หน้า ตั้งเป็นหลักขึ้นมาเป็นธรรมะ 4 ข้อ ถ้ามีแล้วก็เหมือนพรหม 4 หน้า เมื่อปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย 4 อย่างนี่ สม่ำเสมอทั่วกันหมด รักษาให้โลกนี้อยู่ด้วยดี มนุษย์ทุกคนก็จะมีส่วนสร้างสรรค์บันดาลโลกนี้หมด เราเป็นพรหมเลย ถ้าเรามีคุณธรรม 4 ประการนี้ เราเป็นพรหม ทุกคนเป็นพรหม ไม่ต้องรอให้พระพรหมมาทำให้ เข้าใจไหมครับ นี่หลักพุทธศาสนา ฉะนั้นท่านก็เลยให้พรหมวิหาร 4 วิหารแปลว่าที่อยู่ พรหมก็คือพระพรหม 4 ก็คือธรรมะ 4 ข้อ ที่เป็นที่อยู่ของพระพรหม หมายความว่าพรหมก็อยู่ในนี้ อยู่ในคุณธรรม 4 ประการนี้ เหมือนกับธรรมะ 4 ประการนี้เป็นที่อยู่ของพรหม เราก็เรียกง่ายๆ ว่าประจำใจ ธรรมะประจำใจพระพรหม 4 ข้อ ก็มี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตาม 4 ข้อนี้ เราทุกคนจะทำให้โลกนี้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข มาถึงนี่ก็สั้นแล้ว เอาแต่ความหมายง่ายๆ หนึ่ง- เมตตา แปลว่าอะไรครับ เมตตา ช่วยกันหน่อย พยายาม เดาก็ได้
สามเณร : การช่วยเหลือผู้อื่น
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ช่วยเหลือผู้อื่น ก็ใกล้เข้าไปแล้ว ก็ได้นัยยะ แต่เดี๋ยวจะต้องให้ความหมายมันชัด คือเรียนอะไรนี่ต้องพยายามให้ชัด
สามเณร : การคิดสงสาร
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็จวนๆ ไป เฉียดๆ ไป
สามเณร : เอื้อเฟื้อแบ่งปันครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็เกือบๆ อยู่ แต่ยังไม่ตรงทีเดียว ถ้าเรามีหลักในการเข้าใจนะ มันจะชัดและโยงไปเรื่องอื่นได้หมดเลย ไม่งั้นเราก็จะมาเฉียดๆ อยู่อย่างนี้ จะเข้าใจได้ไงชัดเลย มีวิธีเข้าใจ มันมีหลักที่สำคัญ ไม่งั้นมันจะทั่วเป็น 4 ด้านได้ยังไง 4 หน้ามันก็ 4 ด้าน 4 ด้านมันจึงครบ ถ้าไม่ครบ 4 อย่าง มันก็ไม่ครบ 4 ด้าน ไม่ครบ 4 ด้านมันก็ไม่ทั่วหมด 4 อย่างนี่ต้องครบ ไม่ครบแล้วไม่ทั่วหรอก แค่ผมถามว่าเมตตา กรุณา ต่างกันยังไง เมื่อกี้ผมถามเมตตาแล้วท่านก็ตอบว่าอย่างนี้ ถ้าผมถามกรุณา ท่านก็ตอบแบบนี้อีก ใช่ไหม มันจะเหมือนกันได้ยังไง เมตตาก็อย่างหนึ่ง กรุณาก็อย่างหนึ่ง แล้วเวลาผมถาม เมตตา ก็อันนี้แหละ พอถามกรุณา ก็ตอบเหมือนกัน แสดงว่าไม่ชัดแล้ว คนไทยแยกไม่ออกแล้ว เมตตา กรุณา ต่างกันยังไง เพราะว่าไม่รู้จริง ต้องแยกได้นะ เมตตา กรุณา จะเล่าให้ฟัง เพราะเวลาน้อยแล้ว ให้ได้หลักนี้ไว้ คนเรานี่นะชีวิตของคนเรา ที่เราสัมผัสกันอยู่นี่ เรามองคนอื่น เราจะต้องปฏิบัติต่อเขาให้ดี มีจิตใจต่อเขาให้ถูกต้อง ทีนี้คนเราเขาก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ สถานการณ์ต่างที่คนเราเขาประสบเนี่ย เราจะต้องปฏิบัติกับเขาให้ถูกต้อง ตามสถานการณ์นั้นๆ แล้วสถานการณ์ที่เป็นหลักๆ เนี่ย เขามีอยู่กี่สถานการณ์ ก็พูดง่ายๆ เริ่มต้นมันก็สถานการณ์ปกติ ใช่ไหม ไม่มีอะไรเกิดขึ้น อยู่กันสบายๆ เหมือนกับอยู่ในบ้าน อย่างสามเณรเวลาอยู่บ้านอยู่กับโยม เราก็สุขสบายดี ร่ำเรียนหนังสือไปตามปกติ เราก็ไม่ได้เป็นโรคภัยไข้เจ็บอะไร นี่เรียกว่าสถานการณ์ปกติ สถานการณ์ที่หนึ่ง ต่อไปสถานการณ์ที่สอง ลองคิดดูสิ ไม่ปกติแล้ว สถานการณ์อันไม่ปกติมีกี่แบบ เอ้า ลองดู นี่เอาจากเรื่องธรรมดา ธรรมะมาจากเรื่องธรรมดา สถานการณ์ที่สองจะมาแล้วนะ หนึ่งมันปกติ สองมันก็ต้องไม่ปกติ ใช่ไหม แต่ทีนี้ไม่ปกตินี่มันมีกี่แบบ ช่วยกันคิดสิ
สามเณร : น่าจะสองแบบครับ มี ดี กับ แย่ ครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : นี่แสดงว่าใช่นะ สถานการณ์ไม่ปกติ ใช่ มี 2 ถ้าเราใช้คำให้ชัด หนึ่งมันปกติ มันไม่ปกติก็คือมันตกต่ำลง กับขึ้นสูง ใช่ไหม ก็เป็นอันว่าพอแบ่งซอยไปไม่ปกติ 2 กลุ่ม เป็นเท่าไหร่ รวมด้วยกันเป็นกี่อัน
สามเณร : 3 ครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : 3 สถานการณ์ มนุษย์ทั่วไปนี่อยู่ที่ 3 สถานการณ์ สถานการณ์ที่หนึ่งเป็นปกติ สถานการณ์ที่สองก็ตกต่ำ ตกต่ำนี่คือเดือดร้อนเป็นทุกข์ เขามีปัญหา เขายากจนข้นแค้น เขาเกิดโรคภัยไข้เจ็บ อย่างนี้เรียกว่าสถานการณ์ที่สอง ตกต่ำเดือดร้อน แล้วสถานการณ์ที่สาม ขึ้นสูง คือะไร เจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ ได้ดีมีสุข อย่างเณรอยู่บ้านกับโยม เวลาลาสิกขาไปแล้ว สอบได้ดีอย่างนี้เป็นต้น สอบได้ที่หนึ่งอย่างนี้เรียกว่าสถานการณ์ขึ้นสูงใช่ไหม หรือว่าไปได้งานทำดีๆ ได้เงินมา อย่างนี้สถานการณ์ที่สาม ทวนอีกทีหนึ่ง สถานการณ์ที่หนึ่งเป็นปกติ สถานการณ์ที่สองตกต่ำ สถานการณ์ที่สามขึ้นสูง คนก็มี 3 สถานการณ์นี่แหละ เราก็ต้องปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ให้ถูกต้องตามสถานการณ์ทั้งสามนี้ เราก็ต้องมีคุณธรรม มีจิตใจ 3 อย่าง สำหรับสถานการณ์ที่หนึ่ง ท่านก็ให้มีคุณธรรมเรียกว่าเมตตา เมตตาเวลาให้ความหมายจะต้องเข้าใจสถานการณ์นี้ ต้องตรงกับสถานการณ์เป็นปกติ ถ้าไปบอกสงสารนี่ ตรงสถานการณ์ไหม สงสารมันต้องสถานการณ์ที่เท่าไหร่ สอง เขาต้องเดือดร้อนตกต่ำ มีปัญหา สถานการณ์เป็นปกตินี่ยังไงล่ะทีนี้ ก็คือเรารักใคร่ปรารถนาดี เป็นมิตร เมตตาจะเห็นว่าเขียนเกือบเหมือนกับมิตรเลยใช่ไหม เมตตา มิตตะ ภาษาบาลี มิตตะ ทีนี้เราใช้ มิตตระ เป็น ร แสดงว่าเป็นสันสกฤต บาลี สันสกฤต ต่างกันนิดนึง บาลีเป็น มิตตะ ก็ต่างกับ เมตตา แค่อะไร เป็นสระอิ กับสระเอ มิตตะ เป็น เมตตา อะ เป็น อา อิ เป็น เอ ก็เป็น เมตตา
มิตตะเป็นคน เมตตาก็เป็นคุณธรรม ความเป็นมิตร น้ำใจมิตร เมตตา ถ้าแปลตรงๆ นะ เมตตาก็คือน้ำใจมิตร จำไว้เลย ง่ายนิดเดียว เมตตาก็แปลว่าน้ำใจมิตรหรือความเป็นมิตร ความเป็นมิตรคืออย่างไร คือปรารถนาดีต่อกัน รักกัน อยากให้เขาเป็นสุข ถูกไหม นี่สถานการณ์ที่หนึ่ง เมตตา เมื่อเขาอยู่เป็นปกติ ไม่มีอะไรเดือดร้อน ไม่มีอะไรขึ้นลง ฉะนั้นเราต้องมีความเป็นมิตร มีเมตตา ปรารถนาดี รักกัน ได้แล้วนะข้อหนึ่ง เมตตา ภาษาสันสกฤตเขาใช้คำว่าไมตรี ที่จริงอันเดียวกัน ภาษาบาลีเรียกว่าเมตติ สันสกฤตก็เป็นไมตรี เอาละ ทีนี้ต่อไปสถานการณ์ที่สองก็คือตกต่ำเดือดร้อน เขาเป็นทุกข์ เราก็ต้องมีข้อที่สองมา เราต้องเปลี่ยนแล้ว ย้าย อยู่กับเมตตาไม่ได้แล้ว ทายสิจะไปข้อไหน ไม่ยาก เมตตาไปแล้ว ทีนี้ก็อะไร
สามเณร : กรุณา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : กรุณาก็ได้แล้ว สอง-กรุณาก็คือจิตใจที่พลอยหวั่นไหวในทุกข์ของคนอื่น กรุณานี่แปลอย่างนี้นะ ท่านจำไว้ ถ้าต้องการให้ละเอียดลึกซึ้ง แปลว่า ความมีใจพลอยหวั่นไหวไปกับความทุกข์ของคนอื่น พอเห็นคนอื่นทุกข์ยากเดือดร้อน ยากจนข้นแค้น ประสบภัยอันตราย มีโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ใจหวั่นไหวทนนิ่งอยู่ไม่ได้ ก็ต้องทำไง ต้องหาทางช่วยปลดเปลื้องทุกข์ ใช่ไหม ดึงเขาขึ้นมา ก็คือสถานการณ์ที่สอง เขาตกต่ำ เดือดร้อน เป็นทุกข์ เราก็มีกรุณา มีใจหวั่นไหว แปลเป็นไทยว่า สงสาร ภาษาไทยแปลว่าสงสาร แต่แปลจากภาษาบาลีตรงๆ ว่าความมีใจพลอยหวั่นไหวไปกับความทุกข์ของผู้อื่น แล้วก็หาทางช่วยเหลือ ปลดเปลื้องให้เขาพ้นจากความทุกข์ไป แค่นี้ท่านเห็นไหม ต่างกันไหม เมตตา กรุณา ต่างไหมครับ แล้วต่างชัดไหม ชัดแจ๋วเลยใช่ไหม ไม่ต้องไปถามกันอีกแล้ว เมตตา กรุณา ต่างกันอย่างไร จริงไหม มีหลัก จับหลักนี้ได้ปั๊บ มันชัดแจ๋วแหววเลย ไม่งั้นก็พูดกันอยู่นั่นเมตตา กรุณา มันต่างกันยังไง อธิบายอยู่นั่น ไม่ชัดสักที ก็เป็นการใช้คำพูดเท่านั้นเอง แต่มันไม่ใช่ของจริง อันนี้มันของจริงเลย เอาละทีนี้สองแล้วนะ เมตตาคือภาวะจิตที่ปรารถนาดี มีน้ำใจเป็นมิตรกับผู้อื่นในยามที่เขาเป็นปกติ สอง-กรุณา ก็ความสงสาร จิตใจหวั่นไหวไปในยามที่เขาตกต่ำ เดือดร้อน เป็นทุกข์ อยากจะช่วยเหลือ ทีนี้ต่อไปสถานการณ์ที่สาม ท่านบอกแล้วนี่สถานการณ์อะไร อันที่หนึ่งเป็นปกติ สถานการณ์ที่สองก็ตกต่ำ เดือดร้อน สถานการณ์ที่สาม
สามเณร : ขึ้นสูง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : สถานการณี่สามคือ ขึ้นสูง คือได้ดีมีสุข ประสบความสำเร็จ เราก็เปลี่ยนอีก เปลี่ยนไปเป็นข้อที่สามคืออะไร
สามเณร : ความยินดี
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : พลอยยินดี ได้ภาษาไทยก็เอา เดี๋ยวนี้เขามีนะ เขามีพิธีแสดงอะไร เวลาคนสอบได้ เวลาคนได้ตำแหน่ง อะไรพวกนี้ แล้วก็จะมีพิธีแสดงอะไร
สามเณร : มุทิตาจิต
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : นั่นแหละๆ มาจากอันนี้ มุทิตา ก็แปลว่าพลอยยินดีด้วย ก็หมายความว่าพลอยอนุโมทนา พลอยชื่นชมที่เขาได้ประสบความสุขความสำเร็จ ก็ไปแสดงความยินดี ยินดีด้วยๆ ส่งเสริมสนับสนุน เช่นว่าเห็นคนนี้เขาเล่าเรียนศึกษา ประสบความสำเร็จ สอบได้ดี ก็เป็นมุทิตา แต่ที่จริงมันเป็นเรื่องของจิตใจที่มุทิตา ไม่ใช่ไปแสดงอาการ บางทีไปแสดงอาการ ใจไม่ได้ยินดีด้วยก็มี ใช้ไหม เพราะฉะนั้นมันต้องอยู่ที่ใจ ใจต้องมุทิตา พลอยยินดีด้วย เพราะฉะนั้นคนเขาทำความดีอะไรก็สนับสนุน ส่งเสริมเขา มุทิตาจะทำให้ส่งเสริมคนดี ข้อที่สาม มันจะคล้ายกับอันที่สองที่ว่าพลอย กรุณา ก็คือเขาตกต่ำเดือดร้อนเป็นทุกข์ก็พลอยมีใจหวั่นไหวกับความทุกข์ของเขา อันที่สามก็พลอยอีก เขาประสบความสำเร็จได้ดีมีสุข ก็พลอยมีใจยินดีด้วย สามแล้ว คราบหรือยัง 3 สถานการณ์ครบแล้วใช่ไหม เอ๊ะ แล้วมี 4 ข้อนี่ ทำไมล่ะ เอ๊ะ ทำไมเกินสถานการณ์ จะว่าไงล่ะ นี่ธรรมะ ว่าในแง่หนึ่งก็ลึกซึ้งนะ ถ้าเข้าใจดีแล้วท่านจะชัดเลย ก็ 3 สถานการณ์มันก็น่าจะครบแล้วนะมนุษย์ มันจะมีอะไรอีกล่ะ สถานการณ์ปกติ ตกต่ำ แล้วก็ขึ้นสูง แล้วจะมีอะไรอีกล่ะ สถานการณ์อะไรอีก คนเราก็ครบแล้วนี่ 3 สถานการณ์ จะเอาไงอีกล่ะ แต่ท่านบอกไม่พอ ไม่ครบ ถ้ามีอยู่แค่นี้ผิด วันนี้เราเอาแค่จบหลักนี้ก็พอแล้ว เราจะเป็นพระพรหมได้ทุกคน แล้วเราก็จะช่วยกันให้โลกนี้อยู่เย็นเป็นสุข แค่ 4 ข้อนี้พอ แล้วข้อที่ 4 นี้สำคัญที่สุด ก็คือเป็นการก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง 3 ข้อแรกนี่เราอยู่กับคนด้วยกันนะ เพื่อนมนุษย์เรา พี่น้องเรา เขาก็ หนึ่ง-เป็นปกติ สอง-ตกต่ำเดือดร้อนเป็นทุกข์ สาม-ขึ้นสูงได้ดีมีสุข เราก็อยู่กับเพื่อนมนุษย์ แต่เพื่อนมนุษย์เรานี่รวมเราด้วย เขาเรียกว่าสังคม ใช่ไหม สังคมก็คือหมู่มนุษย์อยู่ร่วมกัน
หมู่มนุษย์อยู่ร่วมกันนี่มีความสัมพันธ์ที่ดีงาม ก็ 3 อันนี้แหละ ต้องมีความรักเมตตาปรารถนาดี เป็นมิตรต่อกัน ช่วยเหลือกันยามเดือดร้อน มีปัญหา แล้วก็ส่งเสริมกันในยามที่ทำความดี ดีแล้วสังคมก็อยู่ดี แต่สังคมมันไม่ได้อยู่ลำพัง สังคมนี้อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ จริงไหม สังคมอยู่ใต้กฎธรรมชาติ สังคมมนุษย์ไม่ได้อยู่ลำพังเอง ถ้าสังคมมนุษย์ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ไม่รู้ธรรม ไม่รู้ความจริงของธรรมชาติ ทำผิดทำถูก มนุษย์ก็อยู่ไม่รอดใช่ไหม นี่สังคมมนุษย์ที่เดือดร้อนเพราะว่ามันไปทำผิด ทำผิดต่อหลักความจริงของธรรมชาติ ผิดกฎธรรมชาติ มันก็เลยยุ่งยาก ปั่นป่วน ทำไงผืด นี่แหละ 3 อันนี้แหละผิดได้ เช่นเราบอกว่าถ้าเขาได้ดีมีสุขขึ้นสูง เราก็ต้องพลอยดีใจด้วย มุทิตา ใช่ไหม บางทีเราคิดไม่ถึงเหมือนกัน ตาคนนั้นมันได้ดีมีสุข มันไปลักขโมยเขามาได้ 5,000 มันได้ดีมีสุข เราก็พลอยยินดีส่งเสริมสนับสนุน ถูกไหม แสดงว่า 3 ข้อเมื่อกี้ชักจะไม่พอแล้ว ทีนี้เราไปเป็นผู้พิพากษา เขาจับโจรมา โจรคนนี้ไปฆ่าคนมา ทีนี้มาขึ้นศาลก็พิจารณา เราเป็นผู้พิพากษา รู้แล้วตาคนนี้ฆ่าเขาจริง แล้วคนที่ฆ่าเขา กฎหมายวางไว้ใช่ไหม ว่าจะต้องรับโทษอย่างแรงอาจจะประหารชีวิต อย่างเบาลงมาติดคุกเท่านั้นเท่านี้ปี เราก็สงสาร นายคนนี้จะตกต่ำเดือดร้อน เขาเป็นทุกข์ ไม่ได้ เราต้องช่วย ให้มันพ้นทุกข์ เราจะต้องตัดสินให้มันไม่ผิด อย่างนี้ใช้ได้ไหม กรุณาใช้ได้ไหม ไม่ได้ ผิด เมื่อกี้มุมทิตาก็ผิด ตอนนี้กรุณาก็ผิด แสดงว่า 3 ข้อตนนี่ไม่แน่เสมอไป เพราะอันนี้แหละ เพราะว่ามันอยู่ได้แค่ในสังคมมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง แต่ว่าสังคมมนุษย์ไม่ได้อยู่ลำพัง มันมีจักรวาล มีธรรมชาติที่ครอบใหญ่กว่านั้นอีก เราเรียกง่ายๆ ว่า ธรรม หมายความว่าสังคมนี่ไม่ได้อยู่กับมนุษย์เท่านั้น แต่อยู่กับธรรมะ คือความจริงของกฎธรรมชาติด้วย แล้วจะต้องปฏิบัติให้ถูก และอันนี้ยิ่งใหญ่มาก ต้องมีปัญญารู้ ถ้าไม่มีปัญญารู้แล้วปฏิบัติไม่ถูก เพราะว่าความจริงของธรรมชาตินี่มันเป็นไปตามเหตุตามผล อย่างที่บอกเมื่อกี้ เป็นไปตามเหตุปัจจัยเป็นต้น ซึ่งถ้ามนุษย์ไม่มีปัญญา ไม่มีทางรู้ มนุษย์จะต้องมีปัญญา ก็รู้ความจริงของมัน เรียกว่ารู้ธรรม แล้วปฏิบัติให้ถูกตามธรรม ตอนนี้พอจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรม ตามหลักความจริง ความถูกต้องดีงามนี้ เราก็ต้องวางใจต่อเพื่อนมนุษย์ที่เราบอกว่าให้มีกรุณา มีมุทิตา ต้องวางใจเป็นกลางเลย ที่จะไปส่งเสริมก็ไม่ส่งเสริม ที่จะไปช่วยอะไรขึ้นมาก็ต้องวางใจเป็นกลาง เฉย นี่คือข้อ 4 คือข้ออะไรครับ
สามเณร : อุเบกขา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อุเบกขา มาแล้วนี่ไง ทำไมอุเบกขาต้องมา เพราะอันนี้ เพราะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ก้าวไปสัมพันธ์กับจักรวาล สัมพันธ์กับความจริงของธรรมชาติ กฎธรรมชาติ ธรรมะทั้งหมด เพื่อจะมารักษาสังคมมนุษย์ไว้อีกที คล้ายๆ ว่าสังคมมนุษย์นี้ มันอยู่บนธรรมะรองรับไว้อีกทีหนึ่ง ถ้าธรรมะนี้ไม่อยู่ สังคมมนุษย์นี้ก็ไปเลย เพราะฉะนั้นมนุษย์ต้องรักษาธรรมะนี้ไว้ด้วย ปฏิบัติให้ถูกต้อง ข้อที่ 4 ก็มาเพื่ออันนี้ เพราะว่า 3 ข้อแรกไม่พอ ก็คือก้าวไปสู่การที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสังคมมนุษย์ทั้งหมดกับธรรมะ ความจริงของธรรมชาติอีกที เอานะ 3 ข้อแรก รักษาความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์เอง แล้วข้อ 4 คือรักษาความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างสังคมมนุษย์ทั้งหมด กับความจริงของธรรมชาติ ทีนี้อันนี้อย่างที่ว่าเราต้องมีปัญญา ต้องมีความรู้เข้าใจ แล้วก็วางใจเป็นกลางกับเพื่อนมนุษย์ เพื่ออะไร เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการ ตามความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นธรรม ความชอบธรรม เพราะฉะนั้นผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์แล้ว ว่าไปตามหลักการ ว่าไปตามกติกา ต้องวางเฉยต่อนายคนนี้ ที่ว่าวางเฉยนั้นเพราะว่าเราจะปฏิบัติตามธรรม ไม่ใช่วางเฉยเฉยๆ อันนี้คนไทยไม่รู้ เฉยคนไทยคือไม่เอาเรื่อง ใช่ไหม ผิด ทางพระท่านให้เราวางเฉยเนี่ยท่านแยกไว้มี 10 อย่าง เรียกว่า อุเบกขามี 10 อย่าง เอาง่ายๆ 2 อย่าง เฉยดี กับ เฉยร้าย เฉยร้ายท่านเรียกว่าเฉยโง่ เฉยโง่คือเฉยไม่รู้เรื่อง ภาษาเต็มเรียกว่า อัญญานุเบกขา เฉยโดยไม่รู้ ก็คือเพราะไม่รู้ก็เลยเฉย จริงไหม คนไม่รู้นี่เฉยไหม เฉยเพราะมันไม่รู้เรื่อง มีอะไรเกิดขึ้นฉันไม่รู้ก็เลยเฉย ถ้าเฉยอย่างนี้ท่านเรียกว่า เฉยโง่ ใช้ไม่ได้ เฉยไม่รู้เรื่อง พอเฉยไม่รู้เรื่อง มันก็เฉยไม่เอาเรื่อง พอเฉยไม่เอาเรื่อง มันก็เฉยไม่ได้เรื่อง เพราะฉะนั้นต้องระวัง คนไทยนี่เข้าใจผิด เอาเฉยอุเบกขา ไปเป็นเฉยที่เรียกว่าเฉยโง่นี่แหละ มันก็ผิดสิ เฉยที่ถูกต้องเฉยด้วยปัญญา รู้แล้วความจริงมันเป็นอย่างนี้ เราจะปฏิบัติให้ถูกต้อง เราจะเอาหมอนี่ไม่ได้แล้ว เราจะไปช่วยไม่ได้แล้ว เราจะส่งเสริมไม่ได้แล้ว เฉยก่อน แล้วธรรมะหลักการถูกต้องเป็นยังไง เราก็รู้เข้าใจ แล้วปฏิบัติตามนั้น ก็คือทำให้ถูกต้องตามธรรม เฉยเพื่อทำให้ถูกต้องตามธรรมะ นี่เรียกว่าอุเบกขา เฉยด้วยปัญญารู้เข้าใจ ครบแล้ว ชัดหรือยัง สามเณร เข้าใจแน่นะ อันนี้ไม่มีสงสัยแล้วนะ ชัดนะ ต้องปฏิบัติให้ถูก อันนี้ถ้าเราจับหลักได้ ไม่มีปัญหาเลย แม้แต่ความคลุมเครือก็ไม่มี สับสนก็ไม่มีระหว่างนั้น ตอนนี้ไม่ต้องไปพูดแล้ว เมตตา กรุณา มันต่างกันยังไง แล้วอุเบกขามันเป็นยังไง ทำไมต้องมีอุเบกขา เราพูดได้เลย ถ้าหากว่าทำตาม 3 ข้อแรก ผิด เพราะว่ามันไปผิดธรรมะ เราก็ต้องอุเบกขา เพื่อรักษาธรรมะความถูกต้องไว้ 3ข้อแรกนี้เป็นความรู้สึกที่ดีต่อกัน ความรู้สึกรักใคร่ ปรารถนาดี สงสารอยากช่วยเหลือ มีความพลอยยินดีด้วย ความรู้สึกอันนั้น แต่ข้อ 4 นี้ต้องมากับปัญญาความรู้ ต้องรู้ความจริง ว่านี่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง หลักการความเป็นธรรม ชอบธรรมมันเป็นยังไง ต้องรู้ พอรู้ด้วยปัญญา แล้วก็ปฏิบัติถูกต้องตามธรรมะ ข้อ4 ก็ต้องอาศัยปัญญา เพราฉะนั้นมนุษย์ต้องดุลกัน ทีนี้หลักการต้องจำไว้อีกอัน คือมนุษย์เรานั้นมีทั้งด้านความรู้สึกกับด้านความรู้ ด้านความรู้สึกนี่ก็เป็นเรื่องที่ว่าเราพัฒนา เป็นความรู้สึกไม่ดี ความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกขุ่นมัว ความรู้สึกเศร้าหมองอะไรนี่ นี่ความรู้สึกไม่ดี ใช่ไหม เราต้องแก้ ไม่เอา เราต้องมีความรู้สึกที่ดี อย่างที่เราพูดไปแล้ว เช่นความรู้สึกร่าเริงเบิกบานผ่องใส ความรู้สึกปลาบปลื้มยินดีปิติอิ่มใจ ความรู้สึกผ่อนคลายสงบเย็น รู้สึกมีความสุข อะไรอย่างนี้ อันนี้ด้านความรู้สึก ก็ต้องเอาที่ดีๆ แต่มีเพียงความรู้สึกไม่พอ ต้องมีความรู้ด้วย ด้านความรู้ก็คือ อะไรเป็นอะไร ความจริงไม่จริง มันถูกต้องไม่ถูกต้อง อะไรเป็นยังไง แล้วด้านความรู้นี่แหละจะมาทำให้ความรู้สึกพอดี ไม่อย่างนั้นความรู้สึกมันจะพอดีไม่ได้ ไม่ควรจะไปดีใจก็ไปดีใจ ที่ไม่ควรเศร้าโศกก็ไปเศร้าโศก เพราะความไม่รู้ ความรู้หรือปัญญามันจะมาปรับความรู้สึก เพราะฉะนั้นมนุษย์เราต้องมีสองด้านให้พอดี ความรู้สึกกับความรู้ แล้วความรู้ก็มาปรับความรู้สึกให้สมดุล เพราะฉะนั้นเราก็มีหลักที่เรียกว่าพรหมวิหาร 4 พอมีก็เท่ากับพระพรหม4 หน้า ก็ครบทุกด้านเลย ปฏิบัติกับเพื่อนมนุษย์ได้พอดีหมด ครบทุกสถานการณ์แล้ว ยิ่งกว่านั้นก็คือยังรักษาความจริงของธรรมชาติ ตัวธรรมะไว้ด้วย รองรับสังคมไว้ได้อีกด้วย ถ้ามนุษย์ปฏิบัติตามหลักพรหมวิหาร 4 ได้ โลกนี้ก็สบาย ถูกไหม พระพุทธเจ้าสอนไว้ก็เป็นความจริง มนุษย์ทุกคนก็เป็นพรหมได้ ไม่ต้องไปรอพระพรหม นี่แหละพุทธศาสนาท่านต้องการให้มนุษย์พัฒนาตัวเอง ให้มนุษย์นี่มารู้จักรับผิดชอบ ทำเองได้ ไม่ต้องไปรอดลบันดาลอยู่ ไม่งั้นก็รออยู่นั่นแหละ อ้อนวอนพระพรหมให้ท่านมาทำให้ เอานะ วันนี้ก็ได้เข้าใจแล้ว พรหมวิหาร 4 เอาเรื่องราวนี้ไปแนะนำญาติโยมด้วย บอกว่าถ้าคุณยังไปว่ายพระพรหม อย่าลืมนะ วันพระอย่าไปเชียว แล้ววันพระ พระพรหมท่านก็ไปวัด เราก็ไปวัดเหมือนกัน ถ้าจะไปหาพระพรหม ต้องถามท่านด้วย เมื่อวานวันพระ พระพรหมบอกว่าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนแสดงธรรมอะไร ไม่ใช่ว่าจะไปเอาอย่างเดียว แล้วผมฝากเป็นการบ้านให้ท่านไป คือพรหมวิหาร4 นี่ ที่ใช้สำคัญมาก แด่ต้นแหล่งที่มาของโลกทั้งหมด มาจากในบ้าน โลกมนุษย์เราที่แท้ก็มาจากครอบครัวนี่แหละ เป็นสังคมต้นแบบ เป็นสังคมแรก พรหมวิหาร 4 ก็เลยต้องใช้ในบ้านก่อน ให้ท่านไปพิจารณาว่าคุณพ่อคุณแม่มีพรหมวิหารอย่างไร นอกจากว่าท่านมีอย่างไรแล้ว ถ้าเราไปเป็นพ่อแม่ เราจะไปปฏิบัติอย่างไร จะได้เลี้ยงลูกให้เจริญเติบโตอย่างดี ฝากไว้ให้เป็นการบ้าน ให้ไปคิด ปฏิบัติอย่างไร ก็คือปฏิบัติระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูก โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่จะปฏิบัติต่อลูกอย่างไร ให้ถูกต้องตามหลักพรหมวิหาร4 ให้ไปคิดนะ ลูกมี 3 สถานการณ์อย่างไร เราปฏิบัติต่อลูกด้วย 3 ข้อแรกอย่างไร แล้วก็ข้อที่ 4 ปฏิบัติต่อลูกเมื่อไหร่ ข้อที่ 4 นี่แหละยาก พ่อแม่จะมีอุเบกขากับลูกเมื่อไหร่อย่างไร ถ้าท่านคิดออกนะ นี่แหละถ้าเป็นพ่อแม่ก็จะเลี้ยงลูกได้อย่างพัฒนาเจริญงอกงาม ก้าวหน้า มีความเข้มแข็ง แล้วมีความสุข ให้เอาหลักนี้ไปคิด ตีให้แตก แล้วถ้ามีโอกาสก็มาคุยเรื่องนี้ต่อ อันนี้ก็ไม่ยาวแล้ว เพราะว่าได้หลักใหญ่แล้ว เอานะ วันนี้ว่าซะยาวเลย เรื่องพระพรหม ก็ดี เป็นการที่ได้มองกว้างๆ ให้เข้าใจแล้วก็ชัดไปเลย เราจะได้เห็นพุทธศาสนาเจริญมายังไง แล้วสอนยังไง ไม่มีอะไรสงสัยนะ วันนี้ก็เอาเท่านี้ก่อน