แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : วันนี้เป็นวันสำคัญที่คุณโยม หม่อมราชวงศ์ชัยวัฒน์ ชัยยันต์ ได้ถึงแก่กรรมไปครบ 100 วัน และครอบครัวมีคุณจริยา ชัยยันต์ เป็นประธาน พร้อมด้วยบุตรหลานญาติมิตรและคนที่เคารพนับถือ ก็ได้บำเพ็ญกุศลตามประเพณี ตามหลักพระพุทธศาสนา เพื่อจะอุทิศกุศลให้แก่ท่าน แสดงออกซึ่งน้ำใจที่ประกอบด้วยธรรมะ หัวข้อใหญ่ก็คือ กตัญญูกตเวทิตาธรรม ได้แก่การระลึกถึงคุณความดีของท่านแล้ว แสดงออกให้ปรากฏ พร้อมทั้งธรรมะอื่นๆ มีสังคหธรรม มิตรธรรม เป็นต้น โดยเฉพาะสำหรับบุตรธิดานั้น ก็เป็นการทำหน้าที่ตามหลักความสัมพันธ์ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในวินัยชาวพุทธ ตามหลักทิศ 6 คือหน้าที่ของบุตรธิดาต่อบิดามารดาที่ว่า หนึ่ง-ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เมื่อมีกำลังก็เลี้ยงท่านตอบแทน สอง-ช่วยเหลือทำธุรการงานของท่าน สาม-ดำรงรักษาวงศ์ตระกูล สี่-ประพฤติตนให้สมกับเป็นทายาท และข้อสุดท้าย ข้อที่ห้า-เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน วันนี้ก็เหมือนกับว่าบุตรหลานก็ทำหน้าที่มาครบถ้วนถึงข้อที่ห้า คือท่านจากไปก็ทำบุญอุทิศให้แก่ท่าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำกันไม่รู้จักจบสิ้น เพราะว่าความสัมพันธ์นี้คงอยู่ตลอดชีวิตของลูกหลาน เมื่อมีโอกาสก็แสดงออกด้วยการอุทิศกุศล ในการอุทิศกุศลก็ไม่ได้มีแต่พิธีเท่านั้น แต่หมายถึงการอุทิศด้วยใจที่ทำได้ตลอดเวลา คือระลึกถึงคุณความดีของท่าน มีน้ำใจ ก็ทำความดีโดยมุ่งหมายไปที่ตัวท่าน แล้วเมื่อเราทำความดีนี้ใจระลึกถึงท่าน ก็เป็นการแสดงออกที่เรียกว่าอุทิศกุศล อุทิศก็แปลว่าเจาะจง หรือใจมุ่งไปที่ท่านนั่นเอง เรียกว่าอุทิศ อุทิศกุศลก็คือนำความดีที่เราทำทางกาย วาจา และทางใจ นี้แหละ มุ่งว่าเราทำโดยมีใจระลึกถึงท่าน ทำเพื่อท่าน ระลึกถึงท่านก็คือว่าตัวท่านบิดามารดาเป็นผู้ที่ทำให้เรา ใจอยู่กับความดี เช่นท่านได้สั่งสอนแนะนำไว้ ระลึกถึงความดีแล้ว ก็ทำด้วยใจที่ระลึกถึงท่าน ความระลึกนั้นทำให้ใจเรามีแต่ความดี แล้วก็ทำเพื่อท่าน เพราะใจของบิดามารดานั้นนึกถึงลูกก็ด้วยความรักเมตตาอยากให้ลูกมีความสุข ให้ลูกเป็นคนดี เมื่อทำก็เท่ากับว่าสนองน้ำใจท่าน เหมือนอย่างพ่อแม่จะอยู่หรือจะไปก็ตาม เมื่อลูกมีความดีทำความดี มีความสุขความเจริญ จิตใจของท่านก็มีความเอิบอิ่มเป็นสุข ฉะนั้นลูกที่มีความเคารพรักกตัญญูกตเวที ก็ทำความดี การทำความดีนั้นก็ทำเพื่อท่านไปในตัว ทำเพื่อให้ท่านมีจิตใจที่สบาย มีความสุข มีความอบอุ่นใจ มีความปลาบปลื้มใจ เห็นลูกดีงามมีความสุขความเจริญ พ่อแม่ก็ยิ่งมีความสุข แม้แต่ยังไม่ทำอะไรก็ทำให้ท่านมีความสุขในตัวแล้ว เป็นการตอบแทนพระคุณที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่าเลี้ยงใจ แม้แต่ตัวเองจะไม่มีกำลังไปเลี้ยงดูท่านทางกาย ลูกตัวนิดๆ เดียวก็เลี้ยงพ่อแม่ได้ คือเลี้ยงทางใจ ด้วยการตั้งใจทำหน้าที่ เช่นการศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น การทำดีงาม ไม่ทำให้ท่านหนักใจ อันนี้การทำบุญการกุศลแต่ละครั้งที่ทำพิธีนี้ก็เท่ากับเป็นการเตือนใจของเราให้ระลึกถึงความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างบิดามารดาปู่ย่าตายาย ลูกหลาน นี่ก็เป็นไปตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เท่ากับว่าพิธีกรรมนี้มาเป็นสื่อสำหรับทำให้จิตใจของเราเนี่ย โยงมาระลึกถึงธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า โยงไปถึงตัวท่านผู้ล่วงลับไป แล้วก็คุณธรรมความดีต่างๆ พรั่งพร้อมมา เราก็ทำความดีเหล่านั้น การปฏิบัติอย่างนี้ในพิธีอุทิศกุศลนี้ ถ้ากล่าวตามที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ก็ถือว่ามีวัตถุประสงค์ 5 ประการด้วยกัน ซึ่งชาวพุทธควรจะได้นำมาทบทวนกันอยู่เสมอๆ อาจจะทบทวนทุกครั้งที่ทำพิธีจะได้ไม่ลืม วัตถุประสงค์ 5 ประการนั้น ก็มีในคำบาลีที่พระสงฆ์สวดกันเสมอๆ แต่ว่าสวดเป็นภาษาบาลีว่า อะ-ยัน-จะ-โข-ทัก-ขิ-นา-ทำ-มา อะ-ยัน-จะ-โข-ทัก-ขิ-นา-ทิน-นา-สัง-คา-มี-สะ-ถิ-ติ-ตา เป็นต้น รวมความก็คือวัตถุประสงค์ข้อที่หนึ่งว่า การทำบุญที่เรียกว่าบำเพ็ญทักษิณานุประทานนี้ ก็เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว อันนี้เป็นข้อที่หนึ่ง คือเพื่อเกื้อหนุนท่านในภพที่เราเรียกว่าสัมปรายะ ประการที่สอง-เป็นการแสดงออกซึ่งญาติธรรม ญาติธรรมก็แปลว่าธรรมะต่อญาติ หน้าที่ต่อญาติ ตามฐานะนั้นๆ ถ้าเป็นบิดามารดาก็คือทำหน้าที่ของลูกหลานที่แสดงความกตัญญูกตเวที เรียกว่าแสดงออกซึ่งญาติธรรม อันนี้เมื่อได้ทำพิธีแล้วก็ได้ทำบำเพ็ญหน้าที่นี้ ประการที่สาม- เป-ตา-นะ-บู-ชา-จะ-กะ-ตา-ดา-รา แปลว่าได้กระทำการบูชาพระคุณของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว นี่ก็หมายความว่าลูกหลานหรือคนที่เคารพนับถือมาทำพิธี ก็เป็นการประกาศพระคุณของผู้ล่วงลับว่าท่านมีคุณความดีที่ทำไว้ เช่น ได้เลี้ยงดูเรามาหรือว่าเป็นผู้มีความสัมพันธ์ที่ดีงาม เมื่อระลึกถึงท่านก็ทำให้เราจะต้องมาแสดงออก การแสดงออกนี้ก็คือการบูชาพระคุณความดีของท่านไปในตัว แสดงว่าเราเชิดชูยกย่องให้ความสำคัญ ไม่ใช่ละเลยทอดทิ้ง ไม่ใช่ว่าเราไม่เอาใจใส่ เราแสดงออกแล้ว ให้ความสำคัญเทิดทูนบูชาว่าเป็นการบูชาพระคุณของท่าน และถ้ากว้างขวางออกไปมากจะทำให้เป็นแบบอย่าง คนที่รู้เข้าใจก็จะเป็นโอกาสได้ระลึกถึงความดีของท่านที่ล่วงลับ ลูกหลานก็จะได้มาเตือนใจแล้วก็คอยประพฤติปฏิบัติระลึกถึงคำสอน สิ่งที่ท่านเตือนไว้อะไร แล้วก็พยายามประพฤติปฏิบัติตามนั้น เมื่อประพฤติปฏิบัติตามเมื่อไหร่เราก็เรียกว่าเป็นการบูชาพระคุณของท่านทุกครั้งไป ต่อไปวัตถุประสงค์ประการที่สี่-พะ-ลัน-จะ-ภิก-โข-มะ-นุด-ตะ-ทิน-นัง ก็แปลว่าการทำพิธีทักษิณานุประทานนี้ เป็นการถวายกำลังแก่พระสงฆ์ ที่จะได้ปฏิบัติศาสนกิจสืบต่ออายุพระศาสนาต่อไป เพราะว่าพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยพุทธบริษัทสี่ แล้วก็ในพุทธบริษัทสี่นั้น ผู้ใกล้ชิดเหมือนกับว่าเป็นส่วนกลาง แกนกลาง สืบต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้นี้ แล้วก็ทำหน้าที่ศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติ เผยแพร่ธรรมก็คือพระสงฆ์ ญาติโยมก็จะได้มาอุปถัมภ์เกื้อหนุนถวายกำลังแก่พระสงฆ์ในโอกาสต่างๆ พิธีบำเพ็ญทักษิณานุประทานแด่ท่านผู้ล่วงลับนี้ ก็เป็นโอกาสสำคัญครั้งหนึ่งที่จะได้ถวายกำลังแก่พระสงฆ์ด้วยปัจจัยสี่ มีการเลี้ยงภัตตาหารเป็นต้น ให้สามารถมีสุขภาพร่างกาย เพียงพอไม่ต้องกังวลเรื่องวัตถุ ทำหน้าที่ศึกษาปฏิบัติเผยแผ่คำสอนนั้น แล้วเราก็ได้ชื่อว่าช่วยกันสืบต่ออายุพระศาสนาไปเบื้องหน้าให้ยาวนาน นี่ก็คือวัตถุประสงค์ประการที่สี่ ต่อไปประการสุดท้าย ตุม-เห-อิ-ปุน-ยัง-ปะ-สุ-ตัง-อะ-นับ-ปะ-การ ก็แปลว่าตัวท่านเจ้าภาพเองก็ขวบขวายทำคุณความดี คือบุญต่างๆ ไว้ ถือว่าตัวเจ้าภาพเองก็ได้บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ก็เป็นบุญแก่ตัวเอง ก็มาลงที่ข้อที่ห้า รวมแล้วทำเพื่อผู้โน้นผู้นี้ เพื่อท่านผู้ล่วงลับ เพื่อพระศาสนา อะไรต่างๆ ในที่สุดก็มาลงที่ตัวเอง ก็คือเรานี่แหละได้ทำความดี นี่คือวัตถุประสงค์ 5 ประการที่เกี่ยวเนื่องกับการทำพิธีบำเพ็ญกุศลที่พระพุทธเจ้าจัดแสดงไว้ แล้วพระสงฆ์ก็มาสวดเป็นภาษาบาลีทุกครั้งๆ แต่บางทีเราไม่ได้แปลกัน แล้วก็เลยไม่ทราบ แล้วชาวพุทธเราก็มาทวนกันไว้ ทีนี้วัตถุประสงค์ 5 ประการนี้ ถ้าจะมาจับแยกอย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าวัตถุประสงค์ด้านต่างๆ คือโดยลำดับที่หนึ่งส่วนมากเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเจ้าภาพผู้ยังอยู่กับท่านผู้ล่วงลับจากไป เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีเป็นต้น อันนี้อันดับที่หนึ่ง ต่อจากนั้นก็เป็นการทำเพื่อสังคม ซึ่งมีความหมายกว้างออกไปก็คือการปฏิบัติที่แสดงความสัมพันธ์มีคุณธรรมมีความกตัญญูกตเวที เป็นต้นนี้ ก็เป็นธรรมะสำคัญที่จะดำรงรักษาสังคม เริ่มตั้งแต่วงแคบที่สุดก็คือครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีศูนย์รวม มีที่รวมจิตใจให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บรรพบุรุษบุพการีจากไปแล้ว ลูกหลานไม่ลืม มีการทำพิธี อย่างโบราณนี้ก็ทำให้ลูกหลาน แม้จะจากไปอยู่ไกลๆ ก็ได้มารวมกันครั้งหนึ่ง บุพการีนี่เป็นศูนย์รวมของลูกหลานที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะอยู่หรือจากไป จากไปแล้วก็ทำให้รวมใจกัน ก็มาพบปะกัน ทำให้ครอบครัววงศ์ตระกูลนี้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ลูกหลานสมัครสมานสามัคคี อันนี้ก็เป็นประเพณีแต่โบราณ ทำให้เรามีการยึดเหนี่ยวกันไว้ เป็นสังคหธรรม ประการหนึ่ง แล้วกว้างต่อไปก็คือยึดเหนี่ยวสังคมนั่นเอง เมื่อวงศ์ตระกูลยึดเหนี่ยว ต่อไปก็ท้องถิ่นชุมชนก็รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คนที่มีความสัมพันธ์กว้างออกไปก็ทำให้คนจำนวนมากมารวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นานๆ ก็มีพิธีที่ทำให้ได้มาพบปะสังสรรค์ แล้วทำการที่มีใจระลึกเพื่อวัตถุประสงค์และเป้าหมายอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อทำไปๆ ก็กลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวสังคมให้มีความเป็นเอกภาพ แล้วก็ทำให้เกิดมีวัฒนธรรมประเพณี ทำให้สังคมมีเอกลักษณ์ มีความงดงาม มีวัฒนธรรมของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นมาจากตรงนี้ สิ่งเหล่านี้รวมกันแล้วก็เป็นเครื่องรักษาสังคมนั้น แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าของสังคมเองด้วย แล้วก็ทำให้สังคมมีความดีงามของตนเอง ซึ่งทำให้สามารถแสดงออกถึงความเจริญงอกงามนั้นออกไป แล้วก็ทำให้คนใหม่ที่จะเข้ามาในสังคมนี้ได้มีแบบแผน ได้มีเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงภูมิหลัง ความดีงาม ประวัติศาสตร์ อะไรต่ออะไร ของชาติ ของสังคมของตัวเอง โยงกันไปหมดเลย ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ก็จะมีความหมายอย่างมาก นี่เป็นเรื่องของความหมายทางด้านสังคม แล้วความหมายอีกด้านหนึ่งก็คือทางด้านพระศาสนา อย่างที่กล่าวแล้วก็เมื่อเราได้ทำบุญทำกุศลนี้ เป็นการเกื้อหนุนพระศาสนา นั่นเอง หมายความว่าชาวพุทธเราจะระลึกถึงหน้าที่ของพุทธบริษัทอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าญาติโยมอุบาสกอุบาสิกา มีเวลาน้อย ต้องขวนขวายกับเรื่องธุรกิจการงานการประกอบอาชีพเป็นต้น งานการก็ไม่อนุญาต ไม่เปิดโอกาสให้มาทำบุญทำกุศลได้สม่ำเสมอนัก มีแต่บางท่านที่มีโอกาสมีเวลาก็ใกล้ชิดขึ้นมาก็ช่วยเหลือได้เต็มที่ แต่หลายท่านก็ไม่มีเวลา ก็เลยอาศัยโอกาสสำคัญอย่างนี้ ที่เป็นวันสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชีวิต กับครอบครัว เป็นต้น ได้มาประกอบพิธี แล้วก็ปรารภโอกาสนั้นเพื่อจะได้อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา คนนั้นวันนั้น คนนี้วันนี้ ได้คนละนิดละหน่อย ไปๆ มาๆ ก็คือว่าได้ทั้งสังคม แล้วก็ทำให้พระสงฆ์มีกำลังที่จะสืบต่อพระศาสนาได้ แต่ทั้งนี้ก็หมายความว่า ญาติโยมต้องทำด้วยความตั้งใจ ความมุ่งหมาย เมื่อทำด้วยความรู้ตระหนักในความมุ่งหมาย เราก็จะไม่เขวแล้วก็ไม่เป็นโอกาสที่จะไปหนุนคนที่มีเจตนาร้าย เพราะว่าในเมื่อญาติโยมมีศรัทธาอุปถัมภ์บำรุงมาก ก็กลายเป็นโอกาสให้เกิดความเสื่อมเหมือนกัน ถ้าเราทำกันเรื่อยเปื่อยอุปถัมภ์บำรุงไปก็กลายเป็นว่าไปให้ทางให้ช่องกับคนที่มีความมุ่งหมายในทางที่ไม่ดี เข้ามาใช้พระศาสนาเป็นทางของการทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นต้น เพราะฉะนั้นการทำบุญด้วยการใช้วิจารณญาณจึงเป็นข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ว่า วิ-จา-ยะ-ทา-นัง-สุข-ขะ-ตับ-ปะ-เสส-ปะ-สะ-ถัง ก็แปลว่า การให้ด้วยวิจัยหรือให้ด้วยพิจารณาให้จึงจะเป็นทานที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ เมื่อญาติโยมทำด้วยใจพิจารณา เห็นความมุ่งหมายชัดเจนแล้ว มีปัญญาเข้าใจชัดว่าทำเพื่อคุณค่าประโยชน์อย่างนี้ ก็จะทำให้เราช่วยรักษาพระศาสนาไว้ด้วย อันนี้ก็เป็นวัตถุประสงค์ด้านพระศาสนา แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่าในที่สุดนั้น ผลรวมก็มาที่ตัวเราเอง ก็คือว่าเป็นการที่ตัวท่านเจ้าภาพพวกเราทุกคนที่ร่วมพิธีนี่ได้ทำบุญ คำว่าทำบุญนี้ก็เป็นคำที่กว้างมาก ทำบุญก็คือ ภาษาไทยก็บอกว่าทำความดี แต่ว่าบางทีก็ไม่ครอบคลุม ความดีนี้ก็จะกินความคำว่าบุญนี้ก็ไม่ครบ เพราะบุญนั้นหมายถึงว่าคุณสมบัติที่ทำให้ชีวิตเจริญงอกงามดียิ่งขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้ก็มีหลายอย่าง ซึ่งท่านจำแนกไว้ในหลายระดับ แต่สำหรับทั่วไปนี้เราก็จะจำแนกเป็นทาน ศีล ภาวนา
ทาน ก็คือการอยู่ร่วมสังคมด้วยการเกื้อหนุนกัน การที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ด้วยทางวัตถุ ทางทรัพย์สินสิ่งของ แม้แต่ว่าวิทยาความรู้ก็ถือเป็นการให้ทาน เราเรียกว่าวิทยาทาน แล้วก็ธรรมทาน
ศีล ก็คือเรื่องพฤติกรรมความประพฤติทั่วไป ความสัมพันธ์ที่ดีงามในสังคม การอยู่ร่วมกันด้วยการไม่เบียดเบียน ด้วยการขวนขวายเกื้อหนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์
ภาวนา ลึกเข้าไป เบื้องหลังพฤติกรรมก็คือเจตนาต่างๆ ที่ดี ซึ่งอยู่ในจิตใจ เราก็พัฒนาเจตนา ความตั้งใจต่างๆ แรงจูงใจต่างๆ คุณธรรมความดีต่างๆ สร้างขึ้นมาให้เป็นจิตใจที่ดีงาม ตอนนี้ก็จะเข้าสู่ขั้นที่สาม เรียกว่า ภาวนา ก็เป็นเรื่องที่เป็นด้านจิตใจอย่างหนึ่ง แล้วก็ด้านปัญญาอย่างหนึ่ง พัฒนาคุณสมบัติต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องของความดีงาม ความเจริญ ความเข้มแข็งความสามารถของจิตใจ แล้วก็พัฒนาด้านปัญญา ความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เราทำ เพราะฉะนั้นในสมัยเดิมเมื่อทำอะไร ท่านก็จะเน้นเรื่องปัญญา ก็คือจะต้องมาชี้แจงอธิบายว่าที่ทำกันนี้วันนี้ เราทำอะไรกัน เพื่อความมุ่งหมายอะไรกัน สมัยโบราณพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าฉันภัตตาหารเสร็จ ทรงอนุโมทนา ก็คือกล่าวธรรมกถาชี้แจงอธิบายให้ญาติโยมได้ความรู้ความเข้าใจ เพิ่มพูนปัญญา อันนี้ก็เรียกว่าเป็นภาวนาส่วนหนึ่ง ปัญญาครบนี้ ก็เรียกว่าได้ทั้ง จิตภาวนา และปัญญาภาวนา ผู้ที่มาแล้วจิตใจก็มีความสงบอยู่ ด้วยความดีงามก็เป็นจิตใจที่ดีแล้วก็มีความสัมพันธ์ที่ดีงาม แล้วก็จิตใจก็เอิบอิ่ม มีความสดชื่นผ่องใสในการทำความดี เช่นแสดงความกตัญญูกตเวทีเป็นต้น รวมแล้วก็เจริญจิตใจ เจริญปัญญา ทั้งหมดนี้ทำให้ชีวิตของเราเจริญงอกงาม เราก็พูดสั้นๆ ว่าทาน ศีล ภาวนา ซึ่งเมื่อทำได้ถูกต้องแล้ว ก็ไม่รู้จบ ฉะนั้นมาทำบุญครั้งหนึ่งนี่ ได้ความรู้ความเข้าใจ ยิ่งปัญญาของเราเข้าใจกว้างขวางเท่าไหร่ บุญของเราก็ยิ่งขยายเพิ่มพูน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็เลยตรัส ปุน-ยะ ไว้คู่กับปัญญา ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลีก็เป็น ปุน-ยัง กับ ปัญญา ปัญญานี่ก็เป็นยอดสุดของ ปุน-ยัง นั่นเอง แต่ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงแยกเอามา ถือว่าปัญญาเป็นส่วนสำคัญของปุน-ยัง ปุน-ยัง ก็คือบุญ นี่เอง บุญนี้มีปัญญาเป็นยอด แล้วปัญญาก็จะเป็นตัวชี้ เป็นตัวบอก เป็นตัวขยายช่องทางให้ความสว่าง ให้บุญของเราขยายไป คนที่ยิ่งรู้เข้าใจทำอะไรก็ยิ่งได้ผลดีเพิ่มขึ้น
อย่างโยมมาได้ทำพิธีบำเพ็ญกุศลนี้ เรื่อง ปุน-ยัง ปัญญา ทีเนื่องกันนี่ จะเห็นชัด เพราะว่าเวลาทำบุญทำกุศลไปแล้ว นอกจากทำเพื่อท่านผู้ล่วงลับ นอกจากทำเพื่อสังคม ตั้งแต่ครอบครัวเป็นต้นไป นอกจากทำเพื่อพระศาสนาแล้ว ตัวเองก็ได้ทำความดี ทำความดีที่แสดงออกอย่างที่เมื่อกี้นี่ก็ เวลาทำให้ผู้อื่น แล้วตัวเองก็ทำความดีอยู่แล้ว แต่นอกเหนือจากนั้นก็คือลึกเข้าไป จิตใจดีงาม จิตใจที่มีความเอิบอิ่ม ก็เป็นบุญเป็นกุศล แล้วก็จิตใจที่มีความรู้เข้าใจ ก็มองอย่างเช่นเรื่องกาลเวลา แม้แต่นึกถึงเรื่องเกี่ยวกับความตาย การจากล่วงลับไป ก็เกิดมรณสติ ท่านก็สอนไว้ต่างๆ อย่างน้อยได้สติ กาลเวลาผ่านไป ท่านทั้งหลายก็เปลี่ยนแปลงไป อย่างท่านผู้ล่วงลับคุณโยม ล่วงลับไปบัดนี้ 100 วันแล้ว สำหรับหลายท่านคงนึกว่าเวลาล่วงไปรวดเร็วเหลือเกิน เดี๋ยวเดียวก็ 100 วันแล้ว เหตุการณ์ที่มีอย่างนี้จะเตือนใจเรา บางทีถ้าเราไม่ได้ทำอะไร ก็ไม่รู้สึก เรื่องกาลเวลาก็ไปเรื่อยๆ เหมือนกับอยู่อย่างเรื่อยเฉื่อย พอมีเหตุการณ์สำคัญเราจะรู้สึกขึ้นมา อย่างน้อยก็ได้คิด นี่ล่วงไปถึงเท่านี้แล้วหรือเนี่ย เดี๋ยวเดือนหนึ่ง เดี๋ยวสองเดือน เดี๋ยวสามเดือน 100 วัน เดี๋ยวปี ไม่ช้าหรอก เดี๋ยวก็เป็นสองปี สามปี ห้าปี สิบปี พอนึกขึ้นมานี้ เวลาผ่านไปถึงอย่างนี้แล้วหรือ ทีนี้เวลาที่ผ่านไปนี้จะเป็นเครื่องเตือนใจเรา นำไปสู่คติ หนึ่ง-ก็ให้เห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เปลี่ยนแปลง แล้วก็ทำให้ระลึกถึงความสำคัญของกาลเวลา แล้วก็มาสู่หลักของการไม่ประมาท ว่าชีวิตก็ตาม สิ่งทั้งหลายแวดล้อมก็ตาม เปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เราจะไว้วางใจนอนใจไม่ได้ มีกิจธุระอะไรจะทำก็รีบทำ อันนี้ก็เป็นเรื่องของคติสำคัญของเรื่องของกาลเวลาที่เกี่ยวเนื่องกับหลักอนิจจัง ก็คือเตือนใจให้ไม่ประมาท ฉะนั้นผู้ที่ระลึกถึงหลักอนิจจังแล้ว ถ้าจะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องรีบโยงไปสู่ความไม่ประมาททันที บอกอนิจจังเตือนเราให้ไม่ประมาท สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง นอนใจอยู่ไม่ได้ มีกิจธุระหน้าที่ความดีอะไรที่จะต้องทำ ต้องรีบทำ อย่ามัวผัดผ่อนนอนใจไม่ได้ อย่างที่นักเรียนเด็กๆ เล่าเรียนศึกษาเดี๋ยวก็ปีหนึ่ง จะมามัวนอนใจอยู่ไม่ได้ ก็ทำให้เราขยันหมั่นเพียร ท่านเรียกรวมในคำว่าไม่ประมาท นี่ก็เป็นคติที่หนึ่ง
ต่อไปในทางปัญญาทำให้เห็นความจริงของสิ่งทั้งหลายว่ามันก็เป็นอย่างนี้ เมื่อเราเห็นความจริงของชีวิต อย่างเรื่องของมรณสติเนี่ย ทำให้เรารู้จักปล่อยวาง จิตใจจะได้ไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย ก็เบา เบาสบายลง ไม่ถือสาหาความอะไรนัก ในที่สุดก็ทำไปตามเหตุตามผล ด้วยปัญญา อันนี้ต้องโยงกับความไม่ประมาท คนที่ไม่ถือสาหาความอะไรนี่ ปล่อยเรื่อยเปื่อยกลายเป็นประมาทเหมือนกัน ฉะนั้นท่านให้ระวัง ถ้าหากว่าเราทำใจได้ พอใจสบายชักเรื่อยเฉื่อย ตอนนี้กลายเป็นอกุศลเกิด เรียกว่าเกิดความประมาท ฉะนั้นกุศลกับอกุศลนี่มันคอยวิ่งคู่กันมาตลอดเลย คอยชิง จะเรียกเหมือนเป็นคนก็ชิงไหวชิงพริบกัน อกุศลกับกุศลมาคู่กันตลอดเวลา ถ้ากุศลมา เจ้าอกุศลมันรออยู่ตลอดเวลา อย่าไปประมาทคนที่ทำกุศลเนี่ย ถ้าทำไม่ดีอกุศลได้ช่อง แม้แต่ทำความดีขั้นสูง อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ พอนึกถึงหลักขนาดอนิจจัง ธรรมะขั้นพระไตรลักษณ์แล้ว วางใจได้ ก็เลยบอกว่าปล่อยวาง พอปล่อยวางก็เลยเรื่อยเฉื่อย กลายเป็นปล่อยปละละเลย พอปล่อยปละละเลยก็เป็นประมาทไป พอเป็นประมาทก็เป็นอกุศล แสดงว่ากุศลมา แต่ว่าเปิดช่องให้อกุศลซะแล้ว เสียเลย เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจะย้ำเรื่อยเรื่องว่าเมื่อระลึกถึงหลักพระไตรลักษณ์ อนิจจัง รู้ความไม่เที่ยง ใจสบาย วางใจได้ ไม่ยึดติดถือมั่น แต่พร้อมกันนั้น ต้องรู้ทันความจริงว่า กาลเวลาล่วงผ่านไป สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันไม่รอเรา เพราะฉะนั้นเราจะต้องรีบ มีอะไรจะทำ ต้องทำ ใช้ปัญญา เขาเรียกว่าอยู่ด้วยปัญญา ไม่ได้อยู่ด้วยเพียงความรู้สึก ถ้าทำได้อย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็นพระสาวกที่เป็นอริยสาวก เป็นผู้ที่พัฒนาแล้ว เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของกุศล อกุศล ที่จะเดินคู่เคียงกันไป ต้องระวังตลอดเวลา แต่ว่าผู้ที่เป็นพุทธสาวกเนี่ย เมื่อได้มาทำบุญทำกุศล อย่างที่เรียกว่าร่วมพิธีต่างๆ ก็ได้ประโยชน์ที่จะได้เจริญทาน ศีล ภาวนา โดยเฉพาะข้อภาวนานี้ จะกว้างขวางไม่รู้จักจบเลย จนกระทั่งทำให้เรานี้เจริญก้าวหน้าไปสู่โพธิ อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ปัญญาตรัสรู้ ก็เพราะที่ได้ปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นในบทสวดสำหรับพิธีบำเพ็ญกุศล อุทิศแด่ท่านผู้ล่วงลับนี้ ก็จะมีบทต่างๆ ที่มาเตือนใจเราที่จะให้เรานี้ได้เจริญภาวนามากมาย ถ้าโยมสังเกตดูว่ามีบทอะไรบ้าง วันนี้อาตมาภาพก็จะนำมาพูดทบทวนนิดๆหน่อยๆ พอให้เห็นหลัก เวลามีพิธีอย่างนี้พระท่านจะให้บทอะไร
หนึ่ง ยะ-ถา-ปิ-เส-ลา-วิ-ตุ-ลา เป็นต้น นี่ก็บอกว่านี่นะชีวิตคนเราเหมือนกับอยู่ท่ามกลางภูเขาสี่ทิศที่แวดล้อมอยู่ เจ้าภูเขาใหญ่มันวิ่งมาจากทิศทั้งสี่ มันก็เป็นก้อนหินใหญ่ จะเรียกว่าภูเขาก็ไม่ถูก ต้องเรียกว่าก้อนศิลาก้อนใหญ่ มันกลิ้งมาจากทิศทั้งสี่เข้ามาบดขยี้สัตว์ทั้งหลาย อันนี้เราไม่มีทางพ้นไปได้ อันนี้ท่านก็บอกว่าให้เราเร่งขวนขวาย อย่ามัวนอนใจนะ เร่งทำความดีในสิ่งที่เรียกว่าบุญกุศล ทางกาย วาจา ใจนี่ ให้เจริญงอกงาม ให้ทันกับกาลเวลานั้น ทีนี้บทสวดที่หนึ่ง ท่านเตือนแล้ว ให้ญาติโยมได้คติจากงานพิธีเกี่ยวกับการจากไป
ต่อไปท่านก็บอกว่าจากหลักเล็กหลักน้อยเกี่ยวกับชีวิตของเราทั่วไป เรื่องของความไม่เที่ยง การเกิดแก่เจ็บตาย ก็โยงไปหาหลักใหญ่ หลักใหญ่ก็คือพระไตรลักษณ์นั่นเอง สรรพสิ่งทั้งหลายมันไม่เฉพาะที่เรามองเห็นกว้างๆ เกิด แก่ เจ็บ ตาย หรอก ทุกเวลา ทุกขณะ ทั้งรูปธรรม นามธรรม ก็มีการเกิดดับเปลี่ยนแปลงไป อันนี้พระก็สวดบทที่สองเรียกว่า เอ-วัง-เม-สุต-ตัง-สะ-มะ-ยัง เป็นต้น บอกว่าพระพุทธเจ้าสมัยหนึ่งได้ตรัสพระสูตรนี้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ความจริงมันก็เป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลายว่า สิ่งทั้งหลายนี้เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ เกิดขึ้นก็ดับไป เป็นทุกขัง ก็อยู่ภายใต้การบีบคั้นของปัจจัยแวดล้อมที่เข้ามาขัดแย้ง คงทนอยู่ตลอดไปไม่ได้ แล้วก็เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนที่ยืนอยู่ตลอดไป แต่ว่าต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ปรากฏขึ้นมาตามเหตุปัจจัยนั้น อันนี้ก็เป็นหลักพระไตรลักษณ์ เรียกว่า ธรรมนิยามสูตร ต่อไปพระสงฆ์ก็จะสวดอีก บอกให้โยมรู้ บอกว่าการที่สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันแสดงถึงกฎธรรมชาติที่อยู่เบื้องหลังที่สำคัญ ก็คือการที่สิ่งทั้งหลายเนี่ย เกิดขึ้นเป็นอยู่ เป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วก็หลักปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา
ต่อจากนั้นพระสงฆ์ก็จะสวดบท อะ-วิด-ชา-ปัด-จะ-ยา-สัง-ขา-รา เป็นต้น บอกให้คิดให้ลึกลงไปว่าเบื้องหลังความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี้ คือกฎธรรมชาติ ได้แก่ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยหรือการที่สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นมา เพราะเหตุปัจจัยพรั่งพร้อม แล้วเราจะได้มองสิ่งทั้งหลายด้วยสายตาที่ถูกต้อง ด้วยการเจริญปัญญา ไม่มองแค่ชอบใจ ไม่ชอบใจ มองอะไรใช้ปัญญาสืบสาวหาเหตุปัจจัยว่าเกิดขึ้นมาอย่างไร พอสวดต่อไปอีก ท่านก็บอกว่าพระไตรลักษณ์ทั้งหลายเหล่านี้ก็มาเตือนเราในการประพฤติปฏิบัติให้เจริญ พัฒนาชีวิตของตัวเอง ปฏิบัติธรรมไปจนกระทั่งว่าในที่สุด ก็สามารถที่จะบรรลุถึงฝั่ง ข้ามฝั่งนี้ไปสู่ฝั่งโน้นอย่างปลอดภัย คือฝั่งพระนิพพานได้
แล้วก็บทสุดท้ายยังมีอีก บอกว่าเรายังไม่ถึงขนาดนั้น อย่างน้อยก็เรื่องของกาลเวลา เรื่องของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่ ให้เราปฏิบัติได้ถูกต้อง บทสุดท้ายบอกว่า อะ-ตี-ตัง-นาน-วา-ทา-มา-ยา-นะ-ปะ-ติ-กัง-เข-???-อะ-ขะ-นา-ยะ-ตัง เป็นต้น ก็บอกว่า ไม่มัว อย่ามัว ไม่พึงมัวหวนระห้อยความหลัง ไม่มัวเพ้อหวังอนาคต สิ่งใดล่วงแล้วก็ผ่านไป สิ่งใดยังไม่ถึงสิ่งนั้นก็ทำไม่ได้ สิ่งที่ทำได้แน่นอนคือปัจจุบันนี้ ให้มองเห็น ให้พิจารณา ให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง เมื่อมองเห็นเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วทำ แล้วก็ให้คำนึงว่า เวลาแต่ละวันนี้สำคัญมาก ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ เรียกว่าเป็นผู้ที่ไม่นอนใจ ทำขวนขวายตลอดเวลา ท่านเรียกว่า พัด-เท-กะ-ระ-ทะ-ชน แปลว่าคนที่มีราตรีเดียวเจริญ หมายความว่าแม้แต่อยู่วันเดียวก็โชคดี ต้องให้เป็นได้ถึงขั้นนั้น คนไม่ประมาท รู้จักหลักพระไตรลักษณ์ เข้าใจชีวิตถูกต้องเนี่ย แม้แต่อยู่วันเดียวก็มีชีวิตที่ดีงามประเสริฐ เพราะว่าเป็นชีวิตที่ไม่ว่างเปล่า เวลาผ่านไปนี้เป็นไปอย่างมีคุณค่า ได้เจริญกาย เจริญศีล เจริญจิต เจริญปัญญา อันนี้ก็เป็นคติต่างๆ ที่เราสามารถจะได้จากการพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน ซึ่งมาในรูปต่างๆ วัฒนธรรม ประเพณี แล้วก็มาอยู่ที่ประชุม ก็คือบทสวดที่พระนำมาสาธยายให้โยมฟัง ซึ่งมีสาระสำคัญนี้ ถ้าโยมได้อ่านได้เข้าใจ แปลแล้วก็จะเป็นประโยชน์ ยิ่งได้ไปขยายความอธิบายแล้วก็นำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตจริงได้ ก็เรียกว่าหลักธรรมที่พระนำมาสวดในวันนี้ ในพิธีนี้ เป็นบทสวดที่เป็นหลักใหญ่ ที่ครอบคลุมพระพุทธศาสนาพอสมควร
วันนี้อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาคุณโยมจริยา ชัยยันต์ พร้อมด้วยบุตรหลานทุกท่าน และญาติมิตรที่ได้มาร่วมกันประกอบพิธีทำบุญ 100 วัน บำเพ็ญกุศลแก่คุณโยมหม่อมราชวงศ์ชัยวัฒน์ ชัยยันต์ ที่ท่านได้จากไปครบ 100 วันแล้ว เป็นการแสดงออกซึ่งน้ำใจที่ประกอบด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม ญาติธรรม สังคหธรรม ก็ควรจะได้มีจิตใจยินดี จิตใจสงบผ่องใสว่า ความดีงาม หน้าที่ที่ควรทำ ได้ทำแล้ว คือว่าสิ่งที่ควรทำเราได้ทำแล้ว สบายใจไปขั้นหนึ่ง ต่อจากนั้นจิตใจก็ปลาบปลื้มผ่องใส แล้วก็นึกถึงบุญกุศลที่ได้ทำ ได้เจริญทาน ศีล ภาวนา ด้านจิตใจและปัญญา จิตใจก็มีความสุขสดชื่น แจ่มใส ให้เป็นปัจจัยแห่งความสุขความเจริญยิ่งขึ้นไป ให้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องผูกพัน ระหว่างบุพการีบิดามารดากับลูกหลาน แล้วก็วงศ์ตระกูล แล้วก็ญาติมิตรทั้งหลายที่มาทำบุญด้วยกัน ก็แสดงน้ำใจในพรหมวิหารธรรมแล้ว สิ่งหล่านี้ก็จะผูกพันให้เราอยู่กันด้วยความสุข ก็ขอให้โยมทุกท่านได้มีจิตใจที่ประกอบด้วยความผ่องใสชื่นบาน เป็นสุขยิ่งๆ ขึ้นไป โดยเฉพาะได้ทำบุญอุทิศกุศลแด่ท่านผู้ล่วงลับแล้ว จิตใจก็สดชื่นผ่องใสด้วยตนเอง แล้วก็นำความดีนี้ไป เป็นพื้นของจิตใจที่จะขยายด้วย อะ-ปะ-รา-ปา-ยะ-เจ-ตะ-นา เพื่อให้บุญนี้ได้เพิ่มพูนพัฒนามีภิญโญภาพ ขณะนี้อาตมาภาพในนามของพระสงฆ์ ขออนุโมทนาบุญกุศลที่โยมญาติมิตรเจ้าภาพได้บำเพ็ญแล้ว ขอบุญกุศลนี้ที่เจ้าภาพคุณโยมลูกหลานญาติมิตรได้ตั้งใจอุทิศแด่คุณโยมผู้ล่วงลับไป ก็จงได้เป็นปัจจัยให้ท่านได้มีความสุขในสัมปรายภพ ขอท่านหากได้รับทราบก็จงได้อนุโมทนา ได้ชื่นชมยินดี แล้วก็ขอให้ครอบครัวลูกหลานญาติมิตรเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา กำลังสามัคคีที่จะได้ดำเนินชีวิต ได้บริหารครอบครัว กิจการ แล้วก็งานต่างๆ ให้เจริญก้าวหน้า บรรลุผลสำเร็จ สมความมุ่งหมาย สามารถทำประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต แก่ครอบครัว แก่สังคมประเทศชาติ และแก่ชาวโลก ให้มีสันติสุขแผ่ขยายไป ให้ทุกท่านร่มเย็นงอกงามในธรรมทั่วกันทุกท่านตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ