แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ตอนนี้เราก็จะมาพูดถึงเรื่อง ปัญญาภาวนา หรือวิปัสสนากันละ เอาล่ะ ขอทำความเข้าใจกันว่า ต่อแต่นี้พูดเรื่องวิปัสสนา ทีนี้เรื่องวิปัสสนา ตอนนี้ก็จะพูดถึงหลักทั่วไปก่อน
หลักทั่วไปของวิปัสสนาเป็นอย่างไร ก็ต้องพูดถึงความหมายอีกที ก็เน้น คราวที่แล้วก็พูดไปแล้วความหมายของวิปัสสนา เทียบกับสมถะ คราวนี้จะพูดถึงเรื่องวิปัสสนาโดยเฉพาะ ก็พูดความหมายซะอีกทีนึง
วิปัสสนา นั้นแปลตามตัว ตามรูปศัพท์แปลว่า การเห็นแจ้ง ก็คือ ปัญญาที่เห็นแจ้งสิ่งทั้งหลาย ตามเป็นจริง หรือปัญญาที่เห็นแจ้งสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น นี่แหละวิปัสสนา
ทีนี้ก็มีการให้ความหมายเพื่อให้ชัดยิ่งขึ้นอีก เพื่อให้ศัพท์หรือถ้อยคำมันโยงไปถึงตัวสภาวะหนักแน่นยิ่งขึ้น จะว่าเห็นแจ้งสิ่งทั้งหลายนั้น บางทีท่านก็จะใช้คำว่าเห็นแจ้งสังขาร บางทีก็ใช้คำว่าเห็นแจ้งอารมณ์ เพราะว่าเวลาเอาสังขารนั้นมาพิจารณาอยู่ต่อหน้าเรา มันก็กลายเป็นอารมณ์ของจิตของเรา ก็บอกเห็นแจ้งอารมณ์ อารมณ์จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส อะไรก็ได้ เข้ามาทางไหนก็ได้ เห็นแจ้งอารมณ์ โดยเป็นนามรูป คือ หมายความเห็นตามสภาวะที่มันเป็น ที่ว่า เห็นแจ้งตามเป็นจริง หรือเห็นแจ้งตามสภาวะตามที่มันเป็นนั่นคืออย่างไร ในที่นี้ก็เท่ากับบอก กำหนดลงไปว่า เห็นแจ้งโดยเป็นนามรูป
ก็หมายความว่าสิ่งทั้งหลายเนี่ย ที่เราเรียกชื่อกันไปต่างๆ เราถือว่าเป็นสมมติบัญญัติ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นนาย ก นาย ข เป็น รัฐมนตรี เป็นคนขับรถ เป็นอะไรต่างๆ เนี่ย เรียกว่าเป็นเรื่องของสมมติบัญญัติ คือบัญญัติกันขึ้นมา แล้วก็รับรู้ ใช้กันตามนั้น บัญญัติวางไว้ แล้วก็สมมติ รู้ร่วมกันอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องของสมมติบัญญัติ แต่ตัวความจริงคืออะไร ถ้าพิจารณาแยกแยะไป เสร็จแล้ว เราก็จะเห็นว่า มันก็เป็นเพียงรูปธรรมนามธรรมเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นที่บอกว่า เห็นแจ้งตามเป็นจริง หรือเห็นแจ้งตามที่มันเป็น คือเห็นแจ้งอารมณ์ทั้งหลาย เห็นแจ้งสังขารทั้งหลายโดยเป็นนามรูป ไม่หลงผิดไปว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นาย ก นาย ข คือไม่หลงไปตามสมมติบัญญัติ รู้เท่าทันสมมติบัญญัติ อันนี้คืออาการของวิปัสสนา ที่ทำให้รู้เท่าทันความจริง คือรู้เท่าทันสมมติบัญญัติ จะใช้คำว่า ปรมัติก็ได้ คือหมายความว่า รู้เท่าทันสมมติบัญญัติ ก็ไม่ติดในสมมติบัญญัติ ก็รู้เข้าไปถึงปรมัตถ์ คือความหมายที่แท้จริงอย่างสูงสุด
อันนี้ก็เป็นการที่พยายามให้ความหมายของวิปัสสนามันคมชัดเข้มขึ้น ก็บอกว่า วิปัสสนาคือปัญญาที่เห็นแจ้งอารมณ์ทั้งหลาย โดยเป็นนามรูปเท่านั้น นี่ก็คือรู้เท่าทันสมมติบัญญัติ ไม่หลงติดไปตามนั้นนะ เขาเรียกชื่ออย่างนั้น ได้สมมติเราเป็นตำแหน่งนั้น ชั้นนั้น อะไรต่ออะไร ไม่หลงไปตามสมมติบัญญัติเหล่านั้น แม้กระทั่งเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เรียกเป็นหญิงเป็นชาย เป็นอะไรต่างๆ ก็รู้ทัน จนกระทั่งในที่สุดก็เห็นว่า อ๋อ มันก็เป็นนามรูปเท่านั้นเอง นี่เห็นจนกระทั่งถึงพื้นฐานความจริง ถ้าจะใช้คำสมัยปัจจุบันคือ เห็นแจ้งโลกและชีวิตตามเป็นจริง เป็นเพียงนามธรรมรูปธรรม ไม่หลงสมมติบัญญัติ
ทีนี้อีกนัยหนึ่ง ท่านก็ให้บอกว่า เห็นแจ้งอารมณ์ทั้งหลาย หรือเห็นขันธ์ 5 ทั้งหลายโดยอาการที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เอาแหละ ที่ว่าเป็นนามรูปนั้นยังลึกเข้าไปอีก คือที่เป็นนามรูป เป็นสิ่งต่างๆ เป็นสภาวะรูปธรรมนามธรรมนั้น มันเป็นสิ่งที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่เป็นตัวเป็นตน เป็นไปตามเหตุปัจจัย อันนี้ก็คือเรื่องของวิปัสสนา
ซึ่งการที่ว่าไม่เที่ยงไม่คงที่ ไม่เป็นตัวเป็นตน เป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ เราเรียกว่าไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้น วิปัสสนานี้ก็เลยไปสัมพันธ์กับไตรลักษณ์อย่างมากทีเดียว การบำเพ็ญวิปัสสนานี้จะทำให้เราเห็นไตรลักษณ์ ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า วิปัสสนานี้ทำให้เห็นไตรลักษณ์ นี่พูดภาษาง่ายๆ แต่ว่าจะขยายความหมายก็บอกว่า ปัญญาเห็นแจ้งขันธ์ 5
ขันธ์ 5 ก็คือนามรูปหรือสังขาร จะใช้คำอะไรดิ้นได้ทั้งนั้น เห็นแจ้งอารมณ์ทั้งหลาย เห็นแจ้งขันธ์ 5 เห็นแจ้งนามรูป เห็นแจ้งโลกและชีวิต เห็นแจ้งสังขารใช้ได้ทั้งนั้น โดยอาการที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยอาการที่ไม่เที่ยง คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่เป็นตัวเป็นตน แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย อันนี้ก็เป็นเรื่องของความหมายของวิปัสสนา ความหมายนี้มันส่องหลักการอะไรๆ ไปในตัวเสร็จ
เอาล่ะ เมื่อได้ความหมายแล้ว ต่อล่ะทีนี้ ต่อไป หลักทั่วไปของวิปัสสนาประการต่อไปก็คือ เวลาเราจะพิจารณาอะไรก็ตาม เราก็ต้องเอาสิ่งนั้นมาให้จิตของเรานี้ ดู แต่ดูด้วยตาปัญญา ให้มาอยู่ที่จิตของเรา อยู่ต่อหน้าจิตของเรา เหมือนกับเราจะมองอะไรพิจารณา เราก็ต้องเอาวางไว้ข้างหน้า อันนี้ก็ให้สิ่งนั้นมาอยู่กับจิตกับใจของเราเนี่ย สิ่งที่มาให้จิตเรารับรู้นี้ได้บอกแล้วเรียกว่าอะไร เรียกว่า อารมณ์ และอารมณ์นั้นในฐานะที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำงานภาวนานี้ หรือเป็นที่ตั้งแห่งการทำงานวิปัสสนา เราเรียกว่าอะไร
ได้บอกไปคราวที่แล้วบอกว่า สิ่งที่เราเอามาให้เป็นที่ตั้งแห่งการทำงานของภาวนาเรียกว่า กรรมฐาน อย่างคราวที่แล้ว เราพูดถึงสมถะ เราก็มีกรรมฐาน 40 เราเอาอารมณ์มาเป็นที่ตั้ง การทำงานภาวนาของสมถะ 40 อย่าง คราวนี้ วิปัสสนาก็มีกรรมฐานเหมือนกัน ก็มีอารมณ์เหมือนกัน ก็คือว่า
เราจะต้องเอาสิ่งนั้นมาให้จิตของเราเนี่ย ได้กำหนดจับ และใช้ปัญญาพิจารณาดู เราก็เลยมาถึงเรื่องอารมณ์ของวิปัสสนา หรือกรรมฐานของวิปัสสนา เช่นเดียวกับที่เรามีกรรมฐานของสมถะฉันใด เราก็มีกรรมฐานของวิปัสสนาฉันนั้น แต่ว่ากรรมฐานของวิปัสสนาก็คงไม่เหมือนกับกรรมฐานของสมถะ เพราะว่าเพ่งความมุ่งหมายคนละอย่าง
ทีนี้ ตัวกรรมฐานหรืออารมณ์ของวิปัสสนานี้ เอาอะไรมา เอาอะไรมาใช้ เอามาให้จิตกำหนดตาปัญญาดู เอ้า ก็จะบอกต่อไป ท่านเรียกว่า อ้อ อย่าเพิ่งไปลึกซึ้งเลย เอาง่ายๆ ก่อน ไม่มีอะไรเลย รูปธรรมนามธรรมนี่เอง อารมณ์กรรมฐานของวิปัสสนา หรือกรรมฐานของวิปัสสนาก็คือ รูปนามหรือนามรูป รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายก็คือสิ่งทั้งหลายทุกอย่างเนี่ย ที่มันเป็นแค่ตัวสภาวะ
ก็หมายความว่าอะไรก็ได้ ทุกอย่างนี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้หมด เพราะเป็นรูปธรรมนามธรรม แล้วก็ ท่านก็กำกับไว้ด้วย บอกว่า ต้องรูปธรรมนามธรรมที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น ที่กำลังเกิดขึ้น เป็นไปอยู่ อดีตไม่เอา อนาคตไม่เอา ก็เลยจำกัดลงไปอีกบอกว่า
อารมณ์ของวิปัสสนา หรือกรรมฐานของวิปัสสนา ก็คือ รูปนามที่กำลังเป็นไปอยู่เฉพาะหน้า หรือรูปนามที่เป็นปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเราพูดอีกสำนวนหนึ่งบอกว่า วิปัสสนานี้กำหนดอารมณ์ปัจจุบัน เพราะรูปนามนั้นก็มาเป็นอารมณ์ที่จิตกำหนด แล้วก็เลยเรียกว่าอารมณ์ และมันเป็นปัจจุบัน ก็คือสิ่งทั้งหลายเนี่ย สิ่งทั้งหลายนี่ ที่มันเป็นปัจจุบันนี้เราเรียกว่าปัจจุบันธรรม คำว่าธรรมนี้เป็นคำกลางๆ ที่หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างก็คือ เราพูดว่านามรูป
นามรูปก็คือ นามธรรมรูปธรรม ถ้านามธรรมรูปธรรมนั้น พูดกันไปให้ช้าทำไม พูดแต่ธรรมตัวเดียวก็พอ แล้ว เพราะฉะนั้น คำว่าธรรมนี้ก็รวมหมดทั้งรูปธรรมและนามธรรม เมื่อกี้เราบอกว่า นามรูป ก็คือนามธรรมรูปธรรม เอ้า แล้วนามธรรมรูปธรรม พูดให้สั้นก็เหลือแค่ ธรรม ตัวเดียว
นี้ ก็หมายความว่าธรรมก็คือสิ่งทั้งหลายนี่แหละ เอามาให้วิปัสสนาพิจารณา และต้องเป็นธรรมที่เป็นปัจจุบัน ก็เลยเรียกว่า ปัจจุบันธรรม วิปัสสนาก็กำหนดปัจจุบันธรรม ปัจจุบันธรรมนี่เข้ามาให้จิตของเรากำหนดเราก็กลายเป็นปัจจุบันอารมณ์ หรืออารมณ์ปัจจุบัน เข้าใจว่าแยกได้อะไรประมาณนี้ คำว่าปัจจุบันธรรมก็พูดโดยไม่เกี่ยวกับตัวเรา ไม่เกี่ยวกับจิตใจของเรา คือสิ่งทั้งหลายเป็นของมันอย่างนั้น ที่กำลังเป็นไปอยู่ เราเรียกว่าปัจจุบันธรรม ทีนี้ปัจจุบันธรรมนั้น เราเอามาเป็นสิ่งที่จิตของเรากำหนด ก็กลายเป็นปัจจุบันอารมณ์ หรืออารมณ์ปัจจุบัน
เป็นอันว่า วิปัสสนานั้นกำหนดอารมณ์ปัจจุบัน คือรูปนามที่เป็นปัจจุบัน เพราะฉะนั้น อาตมาจะพูดว่า วิปัสสนากำหนดอารมณ์ปัจจุบัน หรือวิปัสสนากำหนดนามรูปที่เป็นปัจจุบัน หรือวิปัสสนากำหนดธรรมะที่เป็นปัจจุบัน ก็แล้วแต่พูด เข้าใจว่าผู้ฟังเมื่อรู้พื้นฐานอย่างนี้แล้วก็เข้าใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทีนี้ก็เลยกลายเป็นเรื่องง่าย เป็นอันว่าวิปัสสนานี้ พูดง่ายๆ ก็สิ่งที่มาเป็นกรรมฐานก็คือ รูปธรรมนามธรรมที่กำลังเป็นปัจจุบัน คืออารมณ์ปัจจุบันนี้